เรื่อง: ศุทธวีร์ ตันติวงศ์ชัย
“แปลงร่าง!”
เสียงตะโกนดังลั่นของชายหนุ่มมาดเข้มในชุดแจ็คเก็ตหนังที่สะท้อนแสงแวววับ ข้างกายของเขามีรถจักรยานยนต์ประจำกายจอดเด่นเป็นสง่า บางครั้งบางคราเขาก็ขี่จักรยานยนต์คันดังกล่าวพลางกู่ร้อง “แปลงร่าง” อย่างไม่อายสายตาใคร – นั่นคือปฐมบทตำนานไรเดอร์ของ ฮอนโก ทาเคชิ ในร่างมนุษย์ดัดแปลง มาสค์ไรเดอร์ V1
ภายหลังจากการแปลงร่างผ่านพ้น ร่างกายของเขาแปรเปลี่ยนเป็นบางสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ ใบหน้าที่ไม่เหมือนเดิม ร่างกายที่แตกต่างไป เขาหาได้สนใจในรูปลักษณ์ที่แปลกไปของตนเองแม้แต่น้อย ชายหนุ่มกระโดดขึ้นคร่อมรถจักรยานยนต์คู่ใจ เร่งเครื่องยนต์พุ่งถลาลงไปกลางหมู่ชายชุดดำท่าทางประหลาด
เขาใช้กำลัง เขาใช้ความรุนแรง และพุ่งเข้าต่อสู้กับสิ่งที่คล้ายกับตนเอง – สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์…
แม้เขาจะใช้ความรุนแรง – แต่นั่นก็ใช้เพื่อปกป้องผู้อื่น แม้ร่างกายจะผิดแผกไปจากมนุษย์ทั่วไป – แต่เขาก็ยังคงใช้พลังนั้นเพื่อปกป้องเพื่อนมนุษย์ มันช่างเจ็บปวดยิ่งนัก ที่เราทำได้เพียงแค่เฝ้ามองดูเขาเผชิญหน้ากับเหล่าร้ายที่หมายจะครองโลกและทำลายมนุษยชาติ โดยไม่อาจยื่นมือเข้าช่วยเหลือได้…
หลังจากกรำศึกอย่างสาหัส ในที่สุดชายหนุ่มก็โค่นเหล่าร้ายลงได้ แต่ถึงกระนั้นองค์กรชั่วร้ายยังคงอยู่ เขาหันหลังให้กับเราและเดินจากไปในทิศที่ตะวันกำลังลับขอบฟ้า…
หน้ากากมด
หน้ากากมด ไอ้มดแดง หรือไอ้มดแดงอาละวาด หนึ่งในสุดยอดซูเปอร์ฮีโร่จากดินแดนปลาดิบที่คอยปกป้องผู้คนจากองค์กรชั่วร้าย หากใครอยู่ในช่วง Gen-X ตอนปลาย หรือ Gen-Y ตอนต้น คงคุ้นหูกับชื่อนี้เป็นอย่างดี
ภาพยนตร์การ์ตูนชุดที่ใช้ชื่อภาษาไทยว่า ไอ้มดแดงอาละวาด เป็นภาพยนตร์ประเภทโทะกุซะสึ (特撮) หมายถึงละครโทรทัศน์ที่มีโครงเรื่องเด่นเป็นแนวทางวิทยาศาสตร์และจินตนาการ มีจุดเด่นในการใช้สเปเชียลเอฟเฟ็กต์ที่สมจริง ยกตัวอย่างเช่นการระเบิดภูเขา ทำลายข้าวของ อีกทั้งยังประกอบไปด้วยฉากต่อสู้ที่เตะต่อยกันอย่างถึงลูกถึงคน
หากพูดถึงภาพยนตร์การ์ตูนชุดมาสค์ไรเดอร์ (Mask Rider) คาเมนไรเดอร์ (Kamen Rider) หน้ากากมด หรือไอ้มดแดงอาละวาด สิ่งที่นึกถึงคงหนีไม่พ้นหน้ากากที่ใช้ปกปิดใบหน้าแท้จริง (ไม่ว่าจะลอกเลียนรูปแบบมาจากแมลงชนิดไหนก็แล้วแต่) ผ้าพันคอ รถจักรยานยนต์ ท่วงท่าในการแปลงร่างที่แหวกแนวไม่เหมือนใคร และหน้าที่หลักของพวกเขา – หน้าที่ในการปราบเหล่าร้าย
‘เหล่าร้าย’ คือกลุ่มคนที่วางแผนคุกคามความเป็นอยู่ของเพื่อนมนุษย์ และกลุ่มคนเหล่านี้ยังมีพฤติกรรมที่ชอบใช้กำลังข่มเหงผู้ที่อ่อนแอกว่าตน จนไม่แคล้วต้องให้เหล่าไรเดอร์ออกมาปราบปราม…แม้ในความเป็นจริงแล้วการตีตราสาดสีให้กลุ่มคนหรือใครบางคนมันอาจเป็นเรื่องที่ไม่สมควรสักเท่าไร แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า กลุ่มคนที่เรียกว่า ‘เหล่าร้าย’ นี้ จะเป็นสีอื่นสีใดไม่ได้นอกจากสีดำ
สังคมต้องการซูเปอร์ฮีโร่
แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านไปนานสักเท่าไร แต่สิ่งหนึ่งที่สังคมไม่เคยเปลี่ยนไปเลยคือความต้องการ ‘ฮีโร่’
ฮีโร่ คำคำนี้หากพูดในมุมมองด้านสื่อบันเทิงอย่างเช่น การ์ตูน ภาพยนตร์ จะมีการตีความในฐานะผู้มีลักษณะพิเศษ พลังพิเศษ และมีความสามารถเหนือกว่ามนุษย์ปกติทั่วไป แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้นไม่ใช่ เราไม่อาจพบผู้มีพลังพิเศษได้ตามท้องถนนเฉกเช่นเดียวกับในภาพยนตร์การ์ตูน เราไม่อาจพบเจอมหาเศรษฐีที่ยอมเสียสละทรัพย์สินจำนวนมากเพื่อประดิษฐ์สิ่งต่างๆ และออกช่วยผู้คนยามค่ำคืน…เราไม่อาจพบได้…
กระนั้นแล้วคำว่า ‘ฮีโร่’ ในสื่อบันเทิงก็มาจากความต้องการของมนุษย์โดยแท้ ในหลายๆ โอกาส มนุษย์มักเรียกร้องต้องการความช่วยเหลือหรือพึ่งพิงใครบางคน มนุษย์ต้องการต่อสู้กับความหวาดกลัวในจิตใจก็หวังหาที่พึ่ง มนุษย์มักเรียกร้องต้องการในหลายๆ สิ่งที่ตนไม่สามารถทำได้…
ในหลายๆ ประเทศมีการสร้างสรรค์ตัวละครฮีโร่ใหม่ๆ ขึ้นมาอยู่เสมอ ก็อย่างที่ได้กล่าวไป ฮีโร่เกิดจากความอยากของมนุษย์ เราเพียงต้องการเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายหรือกระตุ้นอะไรบางอย่างให้ตื่นขึ้น ฮีโร่ในจอก็เป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นจิตใจของคนในสังคม…มาสค์ไรเดอร์ก็เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่ใช้กระตุ้นสังคมเช่นกัน
กายพ่ายแต่ใจยังอยู่
ในอดีตที่ผ่านมา โลกเราเกิดสงครามขึ้นแทบทุกยุคทุกสมัย หากจะกล่าวว่าการศึกเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์มนุษยชาติก็คงได้
หากเปรียบเทียบการทำศึกสงครามเป็นเหมือนการลงทุนในตลาดหุ้น ก็ดูจะไม่ผิดแปลกไปสักเท่าไร หากสงครามครั้งนี้ได้รับชัย ผลประโยชน์จำนวนมากต้องตกถึงมือเป็นแน่ แต่กระนั้นตลาดหุ้นหาใช่น้ำนิ่งสนิท ทุกอย่างมีการผันผวนชวนปวดเศียร และเป็นที่แน่ชัดว่า หากการศึกไม่เป็นดังหวัง ผลที่ได้รับย่อมไม่งดงาม
และประเทศญี่ปุ่นได้สอนเรื่องนี้ให้โลกรู้
สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นสงครามที่รุนแรงเจ็บปวดจนแทบไม่อยากจะจดจำ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น หนึ่งในชาติผู้เริ่มต้นสงครามครั้งใหญ่ และสุดท้ายก็จบลงด้วยความปราชัย ความปราชัยที่เปลี่ยนแปลงสภาพสังคม ชนิดที่คำว่า ‘เปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ’ ยังน้อยไปเสียด้วยซ้ำ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์นภสินธุ์ แผลงศร แห่งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น มองเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของระบบต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่น ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรือแม้แต่ระบบจักพรรดิ
“ภายหลังจบสงคราม อเมริกาเข้ามาควบคุมญี่ปุ่น ควบคุมสื่อ ปรับเปลี่ยนและพัฒนาระบบหลายๆ อย่าง ทางด้านคนญี่ปุ่นนั้นรับรู้ได้ว่าประเทศของตนอยู่ในสภาพล่มสลายแต่พวกเขาไม่ได้หมดกำลังใจ พวกเขาสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบ รู้สึกถึงความผิดของตนที่ได้ก่อสงคราม พวกเขาเจ็บปวดมากแต่ก็ช่วยกันพัฒนาประเทศขึ้นอีกครั้งและให้การช่วยเหลือประเทศอื่นๆ ที่ตนเคยรุกราน…”
ด้วยผลกระทบครั้งใหญ่จากสงคราม สภาพสังคมโดยรวมของประเทศญี่ปุ่นอยู่ในสภาวะสับสน การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างกระหน่ำเข้ามาโดยไม่ทันตั้งตัว เหล่าผู้คนในยุคสมัยดังกล่าวต่างก็ได้รับผลกระทบทางจิตใจไม่มากก็น้อย
แล้วใครจะช่วยได้หากไม่ใช่เหล่าซูเปอร์ฮีโร่
ภาระหน้าที่ของมาสค์ไรเดอร์
เด็กๆ จำนวนไม่น้อยนับวันรอที่จะพบเหล่าฮีโร่ของพวกเขา ฮีโร่ที่ชื่อว่า ‘มาสค์ไรเดอร์’ ยอดมนุษย์ที่ปรากฏกายอย่างว่องไว วิ่งฝ่าวงล้อมศัตรูมากมายและช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์จากกลุ่มองค์กรชั่วร้าย นั่นคือหน้าที่ของพวกเขาที่เราเฝ้ามองผ่านจอแก้ว แต่มีหน้าที่สำคัญอีกอย่างที่พวกเขากระทำ – หน้าที่ที่เรียกว่า ‘การปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งจิตสำนึก’
ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประชาชนญี่ปุ่นเป็นกลุ่มคนที่รู้ซึ้งถึงความโหดร้ายของสงครามเป็นอย่างดี และด้วยความรู้สึกนี้ทำให้สื่อในสังคมญี่ปุ่นยุคนั้นเลือกที่จะนำเสนอ ‘ภาพความโหดร้ายของสงคราม’ มากกว่าการปลุกระดมประชาชนให้แข็งข้อกับผู้ชนะเสียมากกว่า
“สื่อมีบทบาทสูงในการสื่อสารไปถึงประชาชนว่าผลร้ายของสงครามเป็นอย่างไร สื่อมีส่วนสำคัญมากในการกระตุ้นความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ความมุ่งมั่น จิตสำนึกในการพัฒนาสังคมและประเทศ”
คำกล่าวของอาจารย์นภสินธุ์ แผลงศร สอดคล้องกับสิ่งที่ นายแพทย์เชริด แย้มรับบุญ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ J–Hero เว็บไซต์รวบรวมข่าวสารและศูนย์รวมเหล่าผู้นิยมชมชอบซูเปอร์ฮีโร่แดนอาทิตย์อุทัย กล่าวกับเรา
“ในยุคนั้นประเทศญี่ปุ่นกำลังตั้งตัวได้ในทางเศรษฐกิจ อีกทั้งประเทศกำลังค่อยๆ พัฒนา จึงได้มีการสอดแทรกเนื้อหาในแง่การสร้างคนให้ประเทศ ปลูกฝังให้รักความถูกต้อง เสียสละแก่ส่วนรวม เน้นในการสร้างจิตสำนึกต่อสังคม”
เป้าประสงค์ของการปลูกฝังจิตสำนึกนี้จะเป็นอื่นไม่ได้นอกจากเหล่าเด็กๆ ในยุคหลังสงคราม แต่ด้วยสภาพสังคมที่ย่ำแย่ทำให้เกิดคำถามมากมายต่อเหล่าเด็กๆ ถึงการกระทำดังกล่าวนั้นคุ้มค่าที่จะลงมือทำหรือไม่ หากเราลงมือทำแล้วเราจะได้สิ่งใดกลับมา นั่นจึงเป็นที่มาของกลุ่ม ‘ยุวชนไรเดอร์’
อย่าดูถูกพลังของเด็กๆ
ยุวชนไรเดอร์ คือกลุ่มเด็กๆ ที่มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือมาสค์ไรเดอร์ พวกเขาไม่มีพลังพิเศษเหมือนเหล่าไรเดอร์ แต่พวกเขามีสิ่งสำคัญที่เรียกว่า ‘จิตสำนึกต่อสังคม’
เหล่าเด็กน้อยที่ไร้ซึ่งพลัง เหตุใดจึงกล้าต่อกรกับปีศาจร้าย แน่นอนว่านั่นคือการแสดง แต่การแสดงดังกล่าวก็ได้หว่านเมล็ดพันธุ์เล็กๆ ลงในพื้นที่เพาะปลูกที่เรียกว่าจิตใจ
ทุกครั้งที่รับชมการต่อสู้ของเหล่ามาสค์ไรเดอร์ผ่านจอแก้ว มักมีคำถามตามมาว่า ตัวเรานั้นไร้ซึ่งพลังพิเศษแล้วเราจะช่วยเหลือสังคมได้อย่างไร แต่สิ่งที่ทำให้คำถามนั้นจางหายไปคือสิ่งที่เหล่ายุวชนไรเดอร์ได้กระทำ พวกเขาไม่มีพลังพิเศษ พวกเขาไม่สามารถแปลงกายได้ แต่พวกเขากลับลุกขึ้นสู้ต่อกรกับสิ่งชั่วร้ายอย่างกล้าหาญ พวกเขารู้ตัวว่าไร้พลังกาย แต่จิตสำนึกต่อสังคมและครอบครัวไม่ได้แปรผันตาม
พวกเขากล้าที่จะยืนต่อต้านปีศาจร้าย ความกล้าหาญ ภาพการต่อสู้ที่องอาจของผู้ไร้พลังช่วยกระตุ้นให้เมล็ดพันธุ์ของจิตสำนึกต่อสังคม ค่อยๆ แตกต้นอ่อนขึ้นในจิตใจผู้รับชม
แม้จะเป็นเด็กก็สามารถทำเพื่อส่วนรวมได้…
สิ่งสะท้อนที่ชื่อว่า ‘มาสค์ไรเดอร์’
นอกเหนือหน้าที่ในการกระตุ้นสภาพสังคมแล้ว มาสค์ไรเดอร์ยังมีหน้าที่ในการสะท้อนให้ผู้คนได้รับรู้ถึงผลกระทบอันเลวร้ายจากสงคราม ไม่เพียงแต่มาสค์ไรเดอร์เท่านั้น สื่อบันเทิงมากมายในญี่ปุ่นต่างสอดแทรกผลกระทบอันเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากสงครามให้ผู้คนได้รับรู้ แต่วันคืนเหล่านั้นได้ผ่านพ้นไป ประเทศญี่ปุ่นได้ก้าวขึ้นมาสู่แถวหน้าของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจ แม้จะผ่านพ้นภาวะฟื้นฟูประเทศจากช่วงสงคราม แต่มาสค์ไรเดอร์ยังคงไม่จากไป…
การแบ่งยุคสมัยของมาสค์ไรเดอร์ออกเป็น 2 ช่วงเวลา คือ ยุคโชวะ* และ ยุคเฮเซย์** ในยุคสมัยโชวะเป็นช่วงยุคสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเหล่าไรเดอร์ในยุคสมัยนั้นเริ่มต้นตั้งแต่มาสค์ไรเดอร์อิจิโกะ หรือที่เรียกแบบไทยๆ ว่า ‘V1’ ไปจนถึงมาสค์ไรเดอร์ ZX (ซีครอส) มีเนื้อหามุ่งเน้นในการปราบเหล่าร้ายและเสริมสร้างจิตสำนึกต่อสังคม แต่ในยุคเฮเซย์นั้นไม่ใช่…
มาสค์ไรเดอร์ในยุคเฮเซย์เริ่มต้นครั้งแรกกับมาสค์ไรเดอร์ Black แต่กระนั้นเนื้อหาอาจไม่หนีไปจากเหล่ารุ่นพี่ จนกาลเวลาผ่านพ้นไปและประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของเหล่ามาสค์ไรเดอร์ก็ได้เริ่มขึ้นในปี 2000 กับมาสค์ไรเดอร์คูกะจนถึงปัจจุบัน (มาสค์ไรเดอร์วิซาร์ด)
ในช่วงหลังสงครามเป็นที่แน่ชัดว่ามาสค์ไรเดอร์มีหน้าที่หลักในการสะท้อนภาพสงครามและปลูกฝังจิตสำนึกดีต่อสังคม แต่ในวันนี้สังคมได้เปลี่ยนไป แล้วในวันนี้พวกเขาสื่ออะไรให้สังคม…
ก้าวย่างอย่างไรเดอร์
ในยุคหลังสงคราม ภาพของมาสค์ไรเดอร์ได้ติดตราฝังใจใครหลายๆ คน ภาพจำของเหล่าฮีโร่ที่ก้าวออกมาข้างหน้าและปกป้องผู้คนที่อยู่เบื้องหลังอย่างไม่ลดละ กาลเวลาผันเปลี่ยนพวกเขายังคงอยู่เบื้องหน้าเราเช่นเคย แผ่นหลังนั้นยังคงเป็นภาพจำในสายตา แม้ยุคสงครามจะผ่านพ้น เราอาจไม่ต้องดิ้นรนเหมือนเช่นสมัยก่อน แต่ไรเดอร์ยังคงผลักดันให้เราต่อสู้เสมอ ต่อสู้กับสิ่งที่เรียกว่า ‘จิตใจ’
ภาพตะวันที่ค่อยๆ ลับขอบฟ้าและการจากไปของชายผู้เสียสละร่างกายของตนปกป้องผู้อื่น เป็นฉากจบที่ประทับตราลงไปในจิตใจของใครหลายคน เขาไม่ทวงถามสิ่งตอบแทน เขาไม่ปริปากบ่นในยามเผชิญหน้ากับปัญหา แม้ร่างกายต้องเจ็บปวดเพียงใด สุดท้ายแล้วเขายังคงยืนกรานต่อสู้กับปัญหาต่างๆ จนสำเร็จ
หลังจากนั่งมองภาพนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า…ลองถามใจตนเองอีกสักครั้ง เราพร้อมที่จะก้าวเดินอย่างพวกเขาแล้วหรือยัง
つづく。
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร WAY ฉบับที่ 65/2013
หมายเหตุ:
* ยุคโชวะ ปี ค.ศ. 1926 – 1989 ครองราชย์โดยสมเด็จพระจักรพรรดิโชวะ
(ฮิโระฮิโตะ) เป็นระยะเวลา 63 ปี
** ยุคเฮเซย์ ปี ค.ศ. 1989 – ปัจจุบัน ครองราชย์โดยจักรพรรดิอะกิฮิโตะ
อ้างอิง: การนับปีแบบญี่ปุ่น (Japanese Year) เขียนโดย The 13th Ronin
http://www.marumura.com/culture/?id=2550