โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
สัปดาห์ก่อน ผมมีโอกาสรับฟังการบรรยายของ อาจารย์วีระ สมบูรณ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับการคิดเชิงระบบหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Systems Thinking ทำให้รู้สึกว่าตัวเองฉลาดขึ้นหลายเรื่อง
อาจารย์วีระบอกว่า การคิดเชิงระบบที่ใครๆ คิดว่าเป็นเรื่องยากนั้น ความจริงมันไม่ใช่เรื่องพิเศษพิศดารอะไรเลย เพราะมนุษย์เรา ถ้าจะมีชีวิตอยู่โดยไม่บ้า ก็คิดเชิงระบบได้ทั้งนั้น
การคิดเชิงระบบที่ว่านี้หมายความว่า เวลาที่เราคิดเกี่ยวกับ ‘อะไรสักอย่าง’ การรู้เพียงแค่ว่ามันเป็นอะไรนั้นยังไม่พอครับ ต้องรู้ว่า ‘อะไรสักอย่าง’ ที่ว่านั่น มันเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งอื่นๆ อย่างไรด้วย
พูดง่ายๆ คือรู้ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของระบบอะไร
ถ้ารู้แค่ว่าสิ่งนั้นคืออะไร โดยไม่สามารถบูรณาการเข้ากับระบบที่เกี่ยวข้องได้ เราก็จะไม่รู้ว่าสิ่งนั้นมีความหมายอะไร เพราะเป็นการรู้แบบแยกเป็นส่วนๆ ไม่เชื่อมโยงกันเลย อาการอย่างนี้เข้าข่ายเป็นโรคทางจิตที่เรียกว่า Schizophrenia หรือ จิตเภทนั่นเองครับ
อาจารย์วีระยกตัวอย่างว่า มีชายคนหนึ่งเข้าไปนั่งในร้านอาหารที่แกไปรับประทานเป็นประจำ ทุกครั้งเมื่อแกนั่งลงที่โต๊ะอาหารเรียบร้อยก็จะมีบริกรมาถามว่า “ท่านครับ มีอะไรให้ช่วยเหลือไหมครับ” แต่แกก็จะนั่งเฉย ไม่ยอมปริปากพูดอะไร พอมีคนไปถามแกว่า ทำไมแกไม่ยอมตอบบริกรที่มาถาม
แกบอกว่า “ไม่รู้ว่าไอ้หมอนี่มันจะมาไม้ไหน มาที่นี่ทีไร มันจะต้องมาถามอย่างนี้ทุกที”
คือแกรู้แต่ว่าบริกรมาถามว่า “มีอะไรให้ช่วยเหลือไหมครับ” แต่ไม่รู้ว่า ‘ความช่วยเหลือ’ ที่ว่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ระบบ’ บริการในร้านอาหาร คือ ช่วยสั่งอาหารให้ พอไม่เข้าใจเชิงระบบ แกก็เลยคิดไปต่างๆ นานา ไม่รู้ว่ามันหมายถึงอะไร ยังดีที่แกนั่งเฉยๆ ถ้าแกเข้าใจเป็นอย่างอื่นไป แกก็อาจบอกบริกรที่มาถามว่ามีอะไรให้ช่วยเหลือว่า พ่อหนุ่ม บ่ายๆ ช่วยไปเก็บกวาดขยะและทำความสะอาดที่บ้านของแกให้หน่อย
เหมือนเรื่องที่เล่าๆ กันว่า เด็กถูกใช้ให้ไปซื้อข้าวผัดกุ้ง พอไปสักพักก็กลับมาบอกว่า “พี่ครับ ข้าวผัดกุ้งหมด จะเอาอะไรแทนครับ” คนที่ใช้ให้ไปซื้อก็เลยบอกไปว่าถ้างั้นเอาอะไรมาก็ได้ สักพักนึง แกกลับมาพร้อมกับเอาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมาให้ “เฮ้ย…ไอ้น้อง ทำไมซื้อหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมา” “อ้าว! ก็พี่บอกว่าซื้ออะไรมาก็ได้นี่ครับ…”
อะไรต่างๆ มันจึงมีความหมายขึ้นมาได้เพราะว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของอะไรที่ใหญ่กว่า ถ้าจะพูดตามภาษาทฤษฎีเชิงระบบก็ต้องบอกว่า ‘ความหมายของส่วนย่อยเกิดจากการเป็นส่วนหนึ่งของระบบ’ เพราะระบบเป็นบริบทที่อธิบายการดำรงอยู่ของสิ่งหนึ่งๆ นั่นเอง
การที่เราจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นปกติสุขในสังคม เราจึงต้องมีทักษะที่จะสร้าง ‘ระบบ’ ขึ้นในความคิดของเรา เพื่อที่เราจะได้รู้ว่า เวลานักการเมืองบอกว่า “ยินดีรับใช้พ่อแม่พี่น้อง” มันไม่ได้หมายความว่าเราจะใช้แกไปซื้อโอเลี้ยงได้นะครับ
ปัญหาก็คือว่า บางทีสิ่งที่เกิดขึ้นอาจมีความหมายได้หลายแบบขึ้นกับว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของระบบอะไร หรือว่า มันมีบริบทอย่างไร อย่างเช่นคำว่า “กาแฟเย็นหมดแล้ว” อาจหมายถึงกาแฟไม่ร้อนแล้ว หรือหมายถึง กาแฟเย็นไม่เหลืออีกแล้วก็ได้ ความหมายที่น่าจะเป็นนั้นขึ้นอยู่ว่าคำพูดดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนาอะไร ในบริบทแบบไหน
มีตัวอย่างคลาสิกในวงการมานุษยวิทยาที่แสดงว่าความหมายขึ้นกับบริบทก็คือ ตัวอย่างที่ คลิฟฟอร์ต เกียร์ซ (Clifford Geertz) นำมาจากงานของ กิลเบิร์ต ไรล์ (Gilbert Ryle) เขายกตัวอย่างว่า การขยิบตาของเด็กคนหนึ่งอาจมีความหมายได้หลายอย่าง เช่น เด็กคนนั้นอาจมีอาการกล้ามเนื้อหางตากระตุก หรืออาจมีฝุ่นผงเข้าตาเด็ก หรือเด็กอาจกำลังหลิ่วตาให้เพื่อน หรือกำลังหลิ่วตาตอบ หรือกำลังซ้อมขยิบตาเพื่อไปหลิ่วตาส่งสัญญาณอะไรบางอย่างให้เพื่อน หรืออาจกำลังล้อเลียนเพื่อนอีกคนที่มีอาการกล้ามเนื้อหางตากระตุก ก็ได้
การที่เราจะเข้าใจว่าแกกำลังทำอะไรกันแน่ เราจึงต้องรู้ว่าที่แกขยิบตาอยู่นั้นมันเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องอื่นๆ ที่เกิดขึ้นไปด้วยกันอะไรบ้าง คือสามารถคิดเชื่อมโยงในเชิงระบบได้นั่นเอง
ปัญหาก็คือ บางครั้งเราก็ไม่รู้ว่าปรากฏการณ์ที่เราเห็นเป็นส่วนหนึ่งของระบบอะไร
โดยเฉพาะในระบบซับซ้อนที่เหตุกับผลอาจไม่ตรงไปตรงมา อย่างเช่น ทำไมหุ้นตก ทำไมดวงตก หรือทำไมคะแนนนิยมตก พอไม่เข้าใจ เราก็อาจทำตัวไม่ถูก แก้ไขไม่ได้หรือไม่แน่ใจว่าจะเอายังไงกันแน่
พอเป็นแบบนี้เข้า ทางออกของเราก็คือต้องไปหา ‘ผู้รู้’ ที่สามารถถอดรหัสว่าปรากฏการณ์นั้นว่ามันหมายความว่าอะไรและเป็นส่วนหนึ่งของระบบอะไรนั่นเอง
ตัวอย่างเช่น เรื่องความฝัน ซึ่งมักไม่มีความหมายที่ตรงไปตรงมา ถ้าเราอยากรู้ว่ามันแปลว่าอะไร เราก็ต้องไปหาหมอดูทำนายฝัน ก็อาจตีความหมายของความฝันให้เราได้ว่า ระยะนี้เราจะมีลาภหรือมีเคราะห์ ถ้ามีลาภจะเป็นลาภสัตว์ 4 เท้าหรือลาภสัตว์ 2 เท้า หรือจะเป็นลาภสัตว์ 4 เท้า แต่จะมี 2 เท้าลอยมาก่อน ต้องคอยหลบ เป็นต้น
หรือถ้ามันไม่เกี่ยวกับความฝัน เราก็อาจไปหาผู้รู้อื่นๆ เช่น ถ้าหุ้นตกก็อาจไปหาเซียนหุ้น ถ้าดวงตกก็อาจไปหาหมอผูกดวง แต่ถ้าไม่รู้ว่าจะไปหาผู้รู้อะไร ก็ลองไปใช้วิธียอดนิยมของคนไทย คือไปสแกนกรรมกับแม่ชีทศพรดูซิครับ หลายคนไปลองแล้วบอกว่าเวิร์คครับ
บางคนทำมาค้าขายไม่ขึ้น พยายามทำทุกอย่าง ทำเท่าไรก็ไม่เห็นตั้งเนื้อตั้งตัวได้ ไม่รู้ว่าเพราะอะไร พอไปสแกนกรรม ก็รู้ทันทีว่า อ้อ ที่ทำมาค้าขายไม่ขึ้นก็เพราะชาติก่อนผลิตธนบัตรปลอมครับ ถ้าจะแก้กรรมก็ให้อธิษฐานกับธนบัตรปลอมแล้วส่งธนบัตรนั้นมาให้แม่ชี
หรือรู้ว่า อ๋อ ที่เราไม่มีครอบครัวเสียที ก็เพราะเรามีกรรมเรื่องคำพูด ไปว่าคนแก่ว่าอายุมากแล้วยังคบหาเด็กผู้หญิง ทางออกก็ต้องไปให้เด็กมันเอาสัก 2 ครั้ง ก็จะหมดกรรมได้นะโยม
ส่วนหนูที่มีสามีและถูกสามีทิ้งมาแล้วหลายคนก็เพราะชาติก่อนหนูไปเปิดประตูให้พม่าเข้าเมือง ชาตินี้หนูก็เลยโดนผู้ชายเข้ามาทะลวงประตูอยู่ตลอด เพราะเคยทำผิดไว้กับแผ่นดิน ทางออกก็คือให้เอาหอยไปแขวนไว้ที่ประตู กรรมต่างๆ จะได้มาลงที่หอยนั่น แทนที่จะมาลงที่หอยหนู เป็นต้น
ผมเข้าใจดีว่าปรากฏการณ์สแกนกรรมของแม่ชีนี้เป็นตัวอย่างของการอธิบายเรื่องราวต่างๆ โดยการเชื่อมโยงให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบกรรม
แต่ผมก็ยังสงสัยและไม่เข้าใจ (ทั้งที่เหตุการณ์ก็เกิดมานานพอสมควรแล้ว) ก็คือ ยังไม่รู้ว่า การสแกนกรรมของแม่ชีนั้นมันเป็นส่วนหนึ่งของระบบอะไร เพราะมันเกี่ยวข้องกับอะไรมากมาย
แต่ถ้าจะพิจารณาเฉพาะส่วนของการ ‘สแกนกาม’ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันหนาหู ผมคิดว่าตรรกะกรรมของแม่ชีนั้น นอกจากเป็นส่วนหนึ่งของระบบชายเป็นใหญ่แล้วยังเป็นส่วนหนึ่งของระบบรัฐชาติอย่างชัดเจน
เพราะการอธิบายชะตากรรมของผู้หญิงที่ถูกกระทำทางเพศนั้น แม่ชีไม่เพียงโทษเหยื่อว่าเป็นผู้ก่อปัญหาขึ้นมาเอง แต่ยังอ้างอิงเรื่องราวประวัติศาสตร์รัฐชาติไทย โดยบอกว่ากรรมของผู้หญิงที่ถูกข่มขืนซ้ำซากนั้นเกิดจากการที่เธอไปเปิดประตูเมืองให้พม่าเข้ามาตีไทยจนเสียกรุง
ดีที่สังคมไทยออกมาวิพากษ์วิจารณ์จนแม่ชีท่านต้องปิดเว็บไซต์และหยุดให้บริการชั่วคราว ถ้าสังคมไทยเชื่อในสิ่งที่แม่ชีว่าไว้แบบเชื่องๆ ละก็ ผมคงอธิบายชะตากรรมประเทศนี้ได้ด้วยคำคำเดียว
‘เวรกรรม’
…………………………………………………………………
หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์คิดสลับขั้ว พฤษภาคม 2554