เรื่อง : บุญชัย แซ่เงี้ยว
รัฐบาลเอธิโอเปียและเอ็นจีโอหรือองค์กรพัฒนาเอกชน มองหาวิธีที่จะหยุดขอความช่วยเหลือจากต่างชาติ (aid dependence) มานานนับทศวรรษ เพราะความช่วยเหลือชุดนี้ส่งอิทธิพลครอบงำประเทศแถบแอฟริกาในยุคหลังอาณานิคม
ด้วยเหตุนี้เมื่ออวราอัมบา (Awra Amba) หมู่บ้านเล็กๆ จากตอนเหนือของเอธิโอเปีย ซึ่งมีประชากรราว 460 คน พบวิธีลดความยากจนและพัฒนาหมู่บ้านด้วยวิถีทางของตน บรรดาเจ้าหน้าที่จากรัฐบาลไปจนถึงธนาคารโลกจึงให้ความสนใจหมู่บ้านน้อยแห่งนี้
ซุมรา นูรู (Zumra Nuru) ผู้นำชุมชน ก่อตั้งอวราอัมบาด้วยแนวคิดวัฒนธรรมทางเลือก เขาสร้างหมู่บ้านขึ้นด้วยยึดหลักความเท่าเทียมทางเพศและทางสังคม ในทางศาสนาก็ไม่ยึดติดกับตัวองค์กรสถาบัน และให้ความสำคัญกับการทำงานหนัก
โมเดลนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี ผ่านไป 40 ปีหลังจากก่อตั้งหมู่บ้านในปี 1972 ระดับการรู้หนังสือ อายุขัย ความเท่าเทียมทางเพศ และการเติบโตทางเศรษฐกิจของอวราอัมบา สูงพ้นเกินกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ
บรรดาที่ปรึกษาของรัฐบาลเอธิโอเปีย ธนาคารโลก และหน่วยงานเพื่อการพัฒนาอย่างออกซ์แฟม ไปเยี่ยมหมู่บ้านนี้บ่อยครั้งเพื่อมองหาว่าอะไรที่ทำให้อวราอัมบาเดินถูกทาง
ถึงแม้การหันมาครุ่นคิดต่อบรรทัดฐานเดิมๆ จะทำให้อวราอัมบาโด่งดังและประสบความสำเร็จ แต่ขณะเดียวกันมันก็ชักนำความวุ่นวายเข้ามาด้วย
เห็นต่าง = กบฎ
เอธิโอเปียเป็นประเทศที่ผู้คนยึดมั่นประพฤติตนตามจารีต หลายชุมชนประพฤติตามแนวทางของศาสนาและธรรมเนียมปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จนวันหนึ่งอวราอัมบา ซึ่งอยู่ห่างจากแอดดิสอบาบา (Addis Ababa) เมืองหลวงของเอธิโอเปียไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 9 ชั่วโมง ต้องเผชิญกับการจู่โจมจากชุมชนมุสลิมและคริสเตียนหัวอนุรักษ์แถบใกล้ๆ กับอวราอัมบา
โมเดลแบบอวราอัมบายึดหลักเสมอภาค ในช่วงที่หมู่บ้านยังทำการเกษตร พวกเขาส่วนใหญ่ทำงานกันเป็นชุมชน เงินที่ได้มาจะแปรไปเป็นโครงการพัฒนาหมู่บ้านและแจกจ่ายผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม อวราอัมบามีคณะกรรมการชุมชนเป็นผู้ดำเนินงานภายในหมู่บ้าน หมู่บ้านดำเนินงานภายใต้เทศบัญญัติและการตัดสินใจจากคนในชุมชน
แต่เพื่อนบ้านมองวิถีชีวิตแบบอวราอัมบาว่าเป็นพวกนอกรีตนอกศาสนา นูรู ผู้นำหมู่บ้าน แสดงทัศนะว่า
“ครั้งหนึ่งพวกเขาขว้างระเบิดมือเข้ามาในหมู่บ้าน โชคดีไม่มีใครบาดเจ็บ” เขาเล่า “พวกเขาพยายามยิงคนในหมู่บ้าน พวกเขาทำลายพืชผลของเราเมื่อสบโอกาส”
สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น นูรูกล่าวว่า ในปี 1989 หมู่บ้านใกล้เคียงตราหน้าคนในอวราอัมบาว่าเป็นกบฏต่อระบอบเดิร์ก (Derg regime) ที่ยึดถืออุดมการณ์คอมมิวนิสต์ จนคนในหมู่บ้านต้องหลบหนีไปอยู่ภาคใต้กว่า 4 ปี ทั้งๆ ที่หมู่บ้านแห่งนี้มีความคิดไปในทางเดียวกันกับระบอบเดิร์กยิ่งกว่าชุมชนเหล่านั้นเสียอีก ซ้ำชาวบ้านอวราอัมบายังถูกมองว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบในช่วงที่เกิดความขัดแย้งภายใน ระบบเผด็จการเข้าจัดการพวกเขา
ชาวอวราอัมบาได้กลับบ้านในปี 1993 เพื่อไปพบว่าที่ทำกินของตนถูกเพื่อนบ้านยึดครอง เหลือที่ให้พวกเขาแค่ 18 เฮกแตร์ นับเป็นหายนภัยสำหรับชุมชนเกษตรกรรม ในช่วงปีถัดๆ มาถือเป็นช่วงที่เลวร้ายสุดในประวัติศาสตร์หมู่บ้าน ชาวบ้านหลายคนกล่าวเอาไว้
ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงถูกบีบให้เปลี่ยนแปลงถอยห่างออกจากการดำรงชีพแบบพอเพียง
พอเพียง ไม่เพียงพอ
ด้วยผืนดินที่มีอยู่จำกัด คนที่กลับมายังหมู่บ้านจึงต้องประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลากหลายประเภท ไม่ยึดติดอยู่แต่เขตแดนเล็กๆ ของตน พวกเขาเข้าทำงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ โรงสี ทำการค้าขาย และการท่องเที่ยว ทุกวันนี้ในอวราอัมบาบ้านเรือนที่สร้างขึ้นจากไม้ไผ่และดินดิบ ตั้งอยู่ข้างๆ อาคารอย่างโรงทอผ้า โรงโม่ ที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว และโรงเรียน การมีอุตสาหกรรมหลายประเภทเช่นนี้คือกุญแจที่ทำให้หมู่บ้านประสบความสำเร็จ
ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การผสมผสานเอาค่านิยมแบบหัวก้าวหน้าของอวราอัมบาเข้ากับปัญญาความรู้ตามตลาดแบบใหม่ ทำให้มันเป็นโมเดลที่ก้าวหน้าในประเทศที่ติดอันดับอยู่ท้ายๆ ของดัชนีการพัฒนามนุษย์จาก UNDP
ตัวนูรูเติบโตขึ้นในครอบครัวมุสลิมแถบอัมฮารา ตอนเหนือของเอธิโอเปีย แต่เขาไม่รู้สึกว่าจารีตเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง กล่าวคือ เขาถูกส่งไปทำงานในไร่นาแทนที่จะได้ไปโรงเรียน แม่ของเขาต้องทำงานอยู่ที่บ้าน ทำงานมากกว่าพ่อ แต่พ่อก็ยังเป็นนายใหญ่ในบ้าน รวมทั้งต้องเผชิญกับความขัดแย้งระหว่างชาวคริสต์กับคนมุสลิม
เมื่อเขาเติบใหญ่ เขาจึงเห็นว่าค่านิยมแบบเดิมหลายๆ เรื่องเป็นตัวฉุดพัฒนาการทางเศรษฐกิจ
“พวกเขาทำงานกันตลอดเวลา นั่นช่วยให้หลายคนหลุดออกจากความยากจน และในตอนนี้ เราได้สำรวจแล้วว่าความเป็นอยู่ของพวกเขาดีขึ้นจริงๆ” อเชนาฟิ อเลมู (Ashenafi Alemu) นักวิจัยด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยกอนเดอร์ กล่าว
แม้คนในพื้นที่หลายต่อหลายคนไม่นิยมแนวทางแบบอวราอัมบา แต่ขณะเดียวกันแนวทางเช่นนี้ก็ดึงดูดให้ผู้คนหันมาเป็นสาวกอวราอัมบาเพิ่มมากขึ้นด้วย ชาวเอธิโอเปียหลายต่อหลายคนฉงนกับแนวทางของอวราอัมบา จนเกิดชุมชนที่ใช้แนวทางตามอย่างอวราอัมบาในเอธิโอเปีย เป็นการเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว และไม่ได้มีนูรูหรืออวราอัมบาเข้ามาสนับสนุน
นูรูตั้งใจส่งแนวคิดของเขาไปยังชุมชนต่างๆ แต่หมู่บ้านไม่มีศักยภาพมากพอที่จะจัดการกับการขยายขนาดเช่นนี้
“เราจำเป็นต้องไปเยี่ยมหมู่บ้านเหล่านั้น” เขาพูด “แต่ผมไปไม่ได้ เพราะเราไม่มีรถ และมันเป็นไปไม่ได้ที่จะเดินทางด้วยรถบัส”
ขณะเดียวกันอวราอัมบายังต้องต่อสู้เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากหมู่บ้านหัวอนุรักษ์ที่อยู่รายล้อม
บริการต่างๆ ในอวราอัมบาตอนนี้มีประโยชน์มากต่อการสร้างการยอมรับ อวราอัมบามีโรงสีธัญพืช ชาวนาแถวนั้นจะนำธัญพืชมาสีโดยชำระค่าธรรมเนียมให้เล็กน้อย อีกทั้งอวราอัมบาก็มีโรงเรียนระดับมัธยม เด็กๆ จากพื้นที่ใกล้เคียงจะมาเรียนหนังสือด้วยกัน
นอกจากนั้น ทุกๆ เดือน คณะสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยกอนดอร์ ในโครงการถ่ายโอนความรู้จากอวราอัมบาไปยังหมู่บ้านที่เป็นอริ นำพาคนจากต่างหมู่บ้านทั้งคริสต์และมุสลิมเข้ามาสนทนาด้วยกัน พูดคุยกันถึงเรื่องความแตกต่าง
“ตอนนี้ได้เวลาแล้วที่จะทำความเข้าใจและปรับปรุงภาพลักษณ์ของชุมชนอวราอัมบา” นักวิจัยอเลมูกล่าว
ที่มา : Globalpost.com