กาแฟ ความขมที่คุณคู่ควร

04

เรื่อง: อภิรดา มีเดช

 

เวลาอยู่ในร้านกาแฟ เรามักรู้สึกผ่อนคลายอย่างประหลาด ทั้งมีคนเอาอกเอาใจ ชงกาแฟให้อย่างที่เราอยากดื่ม และยังได้กลิ่นหอมเนยจากเมล็ดกาแฟคั่วใหม่ๆ ที่ทยอยไหลลงเครื่องบดแบบสโลว์โมชั่น

มากกว่าเครื่องดื่มธรรมดา กาแฟในวันนี้กลายเป็นสิ่งที่ถูกผูกติดกับสไตล์คนดื่ม การใช้เวลานั่งจิบกาแฟอ้อยอิ่งอยู่ที่ไหน คือการบอกความเป็นตัวเรากลายๆ

พูดเรื่องกาแฟ ยังไงก็คงสู้คอกาแฟไม่ได้แน่ๆ แต่ข่าวกาแฟขี้ช้างทำให้เราตกใจในราคาและความบ้าบิ่นของคนไทยไม่น้อย

การเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตคือหนึ่งในวิธีรักษาความสามารถทางการผลิตของผู้ผลิตรายย่อยเอาไว้ โดยแนวคิดคงคล้ายๆ กับกาแฟแฟร์เทรด ที่มุ่งเน้นความเป็นไปได้ทางธุรกิจควบคู่กับความหอมอร่อยที่ปลายทาง

+ สัมผัสรสกาแฟแท้

กลับมาที่บ้านเกิดกาแฟ พูดไปก็เหมือนโม้ ว่าโลกพบต้นกาแฟครั้งแรกที่เอธิโอเปีย และยังเป็นแห่งเดียวในโลกที่มีกาแฟป่า ภาพจำของเอธิโอเปียที่เต็มไปด้วยทะเลทรายแห้งผากและมีแต่คนอดตายดูจะใช้ไม่ได้กับเรื่องนี้

พันกว่าปีมาแล้วที่ชาวเอธิโอเปียรู้วิธีคั่วกาแฟ ใครมาถึงเรือนชาน เป็นมารยาทที่เจ้าบ้านต้องรับรองด้วยกาแฟ กาแฟถือเป็นสัญลักษณ์ของความห่วงใย ความเป็นเพื่อน และความนับถือซึ่งกันและกัน

การเตรียมและดื่มกาแฟคือวิถีชีวิตของชาวเอธิโอเปีย มันแทรกอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเขา เป็นกิจกรรมของทุกชนชั้น ถ้วยกาแฟของพวกเขาเป็นถ้วยขนาดเล็กไม่มีหู ธรรมเนียมกาแฟถ้วยแรกจะเสิร์ฟให้กับผู้อาวุโสที่สุดในบ้านเสมอๆ

ตอนนี้กาแฟกลายเป็นพืชเศรษฐกิจ ปลูกกันแพร่หลายในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก การดื่มกาแฟกลายเป็นกิจวัตรที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันหลายๆ คน แทบไม่ต่างจากการแปรงฟัน

ขณะที่ในอูกันดา เป็นรู้จักกันดีว่าเป็นบ้านเกิดของกาแฟพันธุ์โรบัสตา ซึ่งเป็นพันธุ์กาแฟที่ต้านทานโรคได้ดีกว่าอาราบิกา แต่ก็มีรสขมกว่าเช่นกัน

กาแฟสายพันธุ์พื้นถิ่นอูกันดา มี 2 ชนิดด้วยกัน คือ คิซันซา (Kisansa) และงันกา (Nganga) แม้ทางการจะสนับสนุนให้ปลูกกาแฟพันธุ์ผสมเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิต แต่เกษตรกรที่ยังสู้ไหวส่ายหน้าปฏิเสธเพราะไม่อยากเสียพันธุ์กาแฟดั้งเดิมของพวกเขาไป

ตามธรรมชาติกาแฟเป็นพืชไม่สู้แดด ชาวอูกันดาจึงต้องปลูกแซมเข้าไปในไร่กล้วยของพวกเขา

กาแฟที่นี่มีรูปแบบการบริโภคค่อนข้างหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องนำไปชงดื่มอย่างเดียว พวกเขาสามารถเอร็ดอร่อยกับผลกาแฟสดเด็ดจากต้นมากินเปล่าๆ เหมือนกินผลไม้ หรือจะผสมในซุปก็ยังได้

นี่คือความหลากหลายทางกาแฟที่มูลนิธิสโลว์ฟู้ด (Slow Food Foundation) อยากรักษาไว้

03

+ ความรื่นรมย์ของคนปลูก

ฮัวฮัวเตนันโก (Huehuetenango) เมืองแห่งที่ราบสูงทางตะวันตกของกัวเตมาลาคือแหล่งผลิตกาแฟสำคัญของประเทศ ที่นี่ปลูกกาแฟสูงจากระดับน้ำทะเล 1,500 เมตร โดยกลุ่มเกษตรกรปลูกกาแฟ 170 ราย ได้รับการการันตีโดยสโลว์ฟู้ด ว่าเป็นกิจการผลิตกาแฟเปี่ยมรสชาติและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ความละเอียดอ่อนของการผลิตกาแฟเกิดขึ้นในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว กาแฟอาราบิกาสัญชาติอเมริกาใต้ทุกเมล็ดจะถูกเก็บด้วยมือ จากนั้นต้องผ่านการหมักให้เมล็ดหลุดจากเปลือก ใช้เวลาหมักไม่เกิน 1 วันครึ่ง แล้วจึงนำเมล็ดมาตากและคราดให้โดนแดดทั่วกันทุกๆ 3 ชั่วโมง

กว่าจะมาเป็นเอสเพรสโซสักช็อต ไม่ใช่ของง่าย

น่าเสียดายที่ผู้ปลูกกาแฟเจ้าใหญ่หลายรายเลือกดื่มกาแฟ 3 in1 แล้วเก็บผลผลิตดีเลิศของพวกเขาไว้ส่งออก แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกษตรกรในกัวเตมาลาทำแน่ๆ

พวกเขายังมีเวลาว่างพอนั่งจิบกาแฟและอยู่พร้อมหน้ากันทั้งครอบครัวทุกๆ เช้า

06

+ ความกำซาบของคนดื่ม

ความซับซ้อนทางรสชาติของกาแฟแต่ละแก้ว คอกาแฟรุ่นเก๋าแบ่งไว้ละเอียดลออไม่ต่างจากไวน์  มีทั้งกลิ่น รส ความเปรี้ยว บอดี้ และการเบลนด์ระหว่างกาแฟมากกว่าหนึ่งชนิด

บราซิลคือผู้ผลิตกาแฟอันดับ 1 ของโลก ตามมาด้วยเวียดนาม และอันดับ 3 คืออินโดนีเซีย อาราบิกาของอินโดนีเซีย ได้รับขนานนามว่าเป็น ‘ซิงเกิลมอลต์วิสกี้แห่งโลกกาแฟ’ จากที่ราบสูงในสุมาตรา ชวา บาหลี และสุลาเวสี ล้วนปลูกกาแฟกันเอาจริงเอาจัง

ขณะที่สองประเทศแรกใช้เครื่องจักรในการเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟ เพราะไร่กาแฟขนาดมหึมาที่ให้ผลพร้อมๆ กันไม่สามารถรอแรงงานมาเดินเด็ดทีละเมล็ดได้

เพื่อให้เข้าถึงความโรแมนติกของผู้ผลิตกาแฟอย่างแท้จริง กิจกรรมช่วงสิ้นปีของร้านกาแฟในเมืองไทยหลายแห่ง คือการชวนนักจิบขาประจำไปร่วมเก็บเมล็ดกาแฟกันจริงๆ ถึงในไร่

นอกจากการเก็บเมล็ดกาแฟสีสดสวยด้วยมือทีละเมล็ดแล้ว ยังเป็นโอกาสดีของคอกาแฟในเมืองที่จะได้มีโอกาสสัมผัสกระบวนการคัดเลือกก่อนบรรจุกระสอบหรือถุงส่งมาให้ทางร้านลงมือคั่วเอง

หลังจากซึมซับประสบการณ์ปลิดผลกาแฟสดจากต้น มุมมองผ่านกาแฟแก้วต่อไปของคุณอาจจะเปลี่ยนไป แม้จะยังต้องจ่ายค่ากาแฟให้ร้านประจำอยู่ร่ำไปก็ตาม

————————–
กากกาแฟไม่ใช่ของกากๆ


นอกจากทิ้งลงถังขยะหรือเก็บไว้ใส่โคนต้นไม้ กากกาแฟที่เหลือจากเครื่องชงยังเอามาทำอะไรได้อีกเยอะ

  1. ดับกลิ่นในตู้เย็นหรือในรถ หาภาชนะหรือถุงผ้าโปร่งแล้วเติมกากกาแฟลงไป 3-4 ช้อนชา
  2. ดับกลิ่นมือ หลังหั่นหอม กระเทียม เพียงนำกากกาแฟมาถูให้ทั่วมือแล้วล้างน้ำให้สะอาด
  3. ไล่มด โรยกากกาแฟไว้ตามมุมบ้าน หรือบริเวณรอบรังมด มันจะทนกลิ่นไม่ได้จนต้องย้ายออก
  4. ปุ๋ยใส่ต้นไม้ เหมาะกับพืชที่ชอบดินเปรี้ยว อาทิ อาซาเลีย โรโดเดนดรอน และกุหลาบ อาจเจือจางด้วยน้ำก่อนนำไปรด
  5. เติมในน้ำยาล้างจาน กลายเป็นน้ำยาขจัดคราบพร้อมผงขัดไปในตัว
  6. ไล่หมัด หลังอาบน้ำสุนัขเสร็จ นำกากกาแฟถูให้ทั่วตัว ทิ้งไว้ให้แห้งแล้วจึงแปรงออก ประสิทธิภาพเหนือกว่าแชมพูกำจัดหมัดทั่วไปในท้องตลาด
  7. ทำความสะอาดท่อด้วยน้ำผสมกากกาแฟ สามารถเทลงท่อน้ำทิ้งในอ่างล้างหน้า และในห้องน้ำ ช่วยให้ท่อสะอาดและลดกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้

ที่มา: slowfood.com

 

******************
(หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ Slow Food นิตยสารWAY ฉบับที่ 62)

 

 

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า