คุณอาจจะเคยผ่านตาหนังสือนับเลขสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน Oreo Cookie Counting Book ที่มีคุ้กกี้ Oreo เป็นตัวดำเนินเรื่อง หรือ Hershey’s Kisses Multiplication Book หนังสือสอนคูณเลขโดยใช้ช็อคโกแลต Hershey’s เป็นภาพประกอบตลอดเล่ม นี่เป็นเพียงเล่ห์กลหนึ่งของบรรษัทอาหาร ที่สามารถทำตลาดได้แม้แต่ในแบบเรียนสำหรับเด็ก
เกือบ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี คือตัวเลขที่อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มใช้จ่ายเพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าสำหรับเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะ นี่ยังไม่รวมงบโฆษณาในกลุ่มช่วงอายุอื่นๆ อาทิ การเป็นผู้สนับสนุนให้กับรายการ American Idol ของโคคา-โคล่า
แอนนา แลปป์ นักเคลื่อนไหวและนักเขียน หนึ่งในทีมงาน Real Food Media Project ที่ผลิตคลิปวิดีโออธิบายและตีแผ่หลากความเข้าใจผิดเกี่ยวกับอาหารในชื่อ Food MythBusters กับรายการตอนล่าสุด The Myth of Choice: How Junk-Food Marketers Target Our Kids
สถิติน่าตกใจในสหรัฐ 1 ใน 3 ของเด็กๆ รับประทานฟาสต์ฟู้ดทุกวัน ร้อยละ 40 ของแคลอรี่ที่เด็กๆ ในวัยเรียนได้รับมาจากไขมันและน้ำตาล ขณะที่เด็กๆ ร้อยละ 16 เท่านั้นที่ได้รับประทานผักและผลไม้เพียงพอกับความต้องการ
อย่างที่เราทราบกันดีว่า การได้รับน้ำตาลและไขมันปริมาณสูงติดต่อกันนานๆ ส่งผลเสียต่อสุขภาพตั้งแต่เสี่ยงต่อโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง อาการหอบหืด ภาวะน้ำหนักเกิน เบาหวานชนิดที่ 2 ไปจนถึงมะเร็ง
แอนนาให้ข้อมูลว่า มีโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มสำหรับเด็กๆ เกือบ 5,000 ชิ้นต่อปี เกือบทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเกลือ น้ำตาล และไขมันในปริมาณสูงทั้งสิ้น
สีและรูปลักษณ์ของแบรนด์ รวมทั้งตัวการ์ตูนหรือมาสคอตต์ ถูกออกแบบและศึกษามาแล้วว่าสามารถมัดใจเด็กๆ ได้ และนอกจากโฆษณาทางโทรทัศน์ ยังมีกลวิธีอื่นๆ ที่บรรษัทอาหารสามารถสอดแทรกเข้าทำตลาดกับเด็กๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นในโรงเรียน งานแข่งขันกีฬา หรือโฆษณาในโรงภาพยนตร์
คุณพ่อคุณแม่ที่อยากให้ลูกๆ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ต้องรับมือกับนักกีฬา นักร้องที่เด็กๆ ชื่นชอบและเป็นพรีเซนเตอร์ให้ฟาสต์ฟู้ดและน้ำอัดลมยี่ห้อดัง แม้แต่ตัวการ์ตูนพี่เสือในซีเรียลที่เด็กๆ ชื่นชอบ ไหนจะกลุ่มเพื่อนที่ชอบรับประทานอะไรคล้ายๆ กันอีก
แต่การเคลื่อนไหวเพื่อตอบโต้บรรษัทอาหารก็เกิดขึ้นแล้วหลายที่ แอนนายกตัวอย่างโรงเรียนมัธยมในเมืองเซนต์ปอล รัฐมินเนโซตา ที่แบนการจำหน่ายฟาสต์ฟู้ดและตู้กดน้ำอัดลมในโรงเรียน หรือร้านสะดวกซื้อรายย่อยในรัฐแมรีแลนด์ ที่ไม่ต้อนรับซีเรียลหรือของขบเคี้ยวที่มีตัวการ์ตูนเชื้อเชิญเด็กๆ อยู่บนกล่อง หรือไปไกลกว่านั้น เช่นที่ควิเบก แคนาดา ไม่อนุญาตให้ฉายโฆษณาอาหารฟาสต์ฟู้ดและเครื่องดื่มสำหรับเด็กทางโทรทัศน์ ซึ่งสามารถลดอัตราการบริโภคฟาสต์ฟู้ดลงได้ร้อยละ 13
นอกจากเดินไปปิดโทรทัศน์และหันมาพูดคุยกับลูกๆ แล้ว สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ในตอนนี้คือ ร่วมเรียกร้องให้แบรนด์ฟาสต์ฟู้ดถอดเมนูที่ไม่คำนึงถึงสุขภาพเด็กๆ ลงได้ที่นี่
ที่มา: alternet.org