อ่านออกแสงกับ ‘เดวิด โบห์ม’

 

 

 

bohm-01

เรื่องและภาพ: วรณัน รอดนิตย์

illustration: Shinjung

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา “โครงการจิตวิญญาณใหม่” (New Spirit) ร่วมกับบริษัท สวนเงินมีมา และสำนักอิสระเพื่อศึกษาและวิจัยเรื่องความเป็นอยู่ที่ดี (School for Wellbeing Studies and Research) ได้จัดงานเสวนาแลกเปลี่ยน ในหัวข้อ “ว่าด้วยความสร้างสรรค์: กระบวนการ ‘คิด’ ไม่ติด ‘กรอบ’”  ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ผู้ร่วมเสวนาล้วนเป็นนักสร้างสรรค์ แม้สิ่งที่พวกเขาทำจะแตกต่างกัน บางคนสร้างนโยบาย บางคนสร้างงานเขียน บางคนสร้างอาคาร บางคนสร้างระบบการศึกษา แต่จุดร่วมหนึ่งก็คือทุนต่างเปิดกว้างทางความคิดเพื่อรับสิ่งใหม่

และจุดร่วมหนึ่งก็คือเดวิด โบห์ม (David Bohm)

เดวิด โบห์ม เป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีคนสำคัญของศตวรรษที่ 20 เขาได้เสนอทฤษฎีภายใต้กระบวนทัศน์แบบองค์รวม ซึ่งตรงข้ามกับกระบวนทัศน์แบบวิทยาศาสตร์ยุคเก่าที่มองสรรพสิ่งแบบแยกส่วน โดยเสนอแนวคิดและวิธีการแก้ไขปัญหาซึ่งมีจุดเน้นอยู่ที่ “การสื่อสารของมนุษย์” เรียกว่า “Dialogue” หรือที่ต่อมาเรียกกันว่า “Bohm Dialogue”

แนวคิดและวิธีการสนทนาแบบโบห์มถูกนำไปประยุกต์ใช้กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในด้านการสื่อสารเพื่อพัฒนาองค์กร การสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม การสื่อสารระหว่างบุคคล ไปจนถึงการสื่อสารกับตนเอง

ในหนังสือ ว่าด้วยความสร้างสรรค์ (On Creativity) เขียนโดย เดวิด โบห์ม แปลฉบับภาษาไทยโดย โตมร ศุขปรีชา โบห์มเสนอว่า หากความคิดสร้างสรรค์ไม่ถูกปิดกั้นด้วยเงื่อนไขต่างๆ ความสร้างสรรค์ที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในแต่ละบุคคลจะสามารถแสดงออกได้เหนือกว่าที่คิด

และนี่ก็คือมุมมองของผู้ร่วมเสวนาที่มีต่อเดวิด โบห์ม และความคิดสร้างสรรค์

 

+ นพ.ดร. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ คุยกับคนอื่น

นักสร้างสรรค์ผ่าน ‘นโยบาย’: ผอ.สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ

“ความจริงแท้มันเหมือนกระแสความเคลื่อนไหว ซึ่งแต่ละสิ่งมีความหมาย มีประโยชน์ในการเข้าใจแต่ละส่วนของมันอยู่ ถ้าเรามองเห็นความเชื่อมโยงของความเคลื่อนไหวทั้งหมด จิตสำนึกก็จะเปลี่ยน”

จากที่นพ.ดร. โกมาตร ได้อ่านหนังสือ ว่าด้วยความคิดสร้างสรรค์ พบว่า สิ่งที่เดวิด โบห์มกำลังจะบอกพวกเราอย่างหนึ่งคือการที่เราจะเข้าใจในเรื่องบางอย่างได้ดี ก็ต่อเมื่อเรื่องนั้นมันได้เข้าไปเชื่อมโยงเข้ากับประสบการณ์บางอย่างของเรา เหมือนเป็นรูปธรรมขึ้นมา ความสร้างสรรค์มักจะมีลักษณะจากธรรมชาติ ซึ่งความสร้างสรรค์ในธรรมชาตินั้นมันมีความสนใจในตัวมันเอง และการที่มนุษย์จะรับรู้ความคิดสร้างสรรค์ของธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเราต้องเห็นความต่างในความเหมือน

เดวิด โบห์ม ได้เห็นว่าทุกจารีตความรู้ถูกกับดักของภาษาดักเอาไว้ เวลาที่เราจะพ้นไปจากกับดักเหล่านี้ได้ เราต้องสร้างภาษาใหม่ ซึ่งเดวิด โบห์มถือว่าถ้าเราคุยกับคนอื่นซึ่งมาจากจารีตความรู้ไม่เหมือนกัน ต่างคนต่างมาจากกรอบความคิดคนละกรอบ และจะทำอย่างไรที่จะทำให้สื่อสารกันได้ในระดับหนึ่ง จนทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ หรือเกิดสิ่งใหม่ เกิดความรู้ใหม่ได้

“การผสมผสานการคุยกันนี้มันเป็นที่มาขอความคิดสร้างสรรค์แบบหนึ่ง ทุกคนหลุดออกไปจากกรอบที่ตัวเองมี”

 

+ อนุสรณ์ ติปยานนท์ คิดว่า เมื่อถึงจุดนั้นมนุษย์ไม่มีเพศ

นักสร้างสรรค์ผ่าน ‘ตัวอักษร’: นักเขียน นักแปล  

ในขณะที่นักเขียนอย่าง อนุสรณ์ ติปยานนท์ ได้พูดถึงประเด็นที่เขาสนใจในทฤษฎีของโบห์ม

“การที่คุณพยายามจะบอกว่าสิ่งนี้มันอยู่ตรงนี้ เคลื่อนที่ตรงนี้ มันเป็นเพราะคุณอยู่ในระดับที่สังเกตในระนาบนี้ ระนาบเหมือนปุถุชนมอง แต่ถ้าคุณมองในระนาบที่ลึกกว่า อันนี้ไม่ใช่ปริศนา มันอยู่ภายใต้กลไกหรือโครงสร้างที่แน่นอนอันหนึ่ง เพียงแต่คุณไปไม่ถึงระนาบนั้น”

อนุสรณ์ยกตัวอย่างในห้องที่มีการจัดเสวนาอยู่นี้ว่า “เรานั่งอยู่ในห้องนั้น มีทั้งผู้ชายและผู้หญิง การที่เราจะดูได้ว่าใครเป็นเพศชาย ใครเป็นเพศหญิง เราจะใช้ระนาบหนึ่งในการตัดสิน คือคำว่าเพศ แต่ถ้าหากขึ้นไปในระนาบที่สูงกว่า เราก็คือมนุษย์คนหนึ่ง พวกเราทุกคนเป็นมนุษย์ มันจะไม่มีระนาบในเพศชายและเพศหญิง มันจะถูกสลายไปหมด ในระนาบของความเป็นมนุษย์จะไม่มีคนไทย ไม่มีคนโรฮิงญา เมื่อใดก็ตามที่คุณยกระดับจิตใจไปได้ถึงมนุษย์ตรงนั้น คุณจะไม่รู้เลยว่าคุณเป็นเพศไหน ยังเป็นคนไทย ยังเป็นคนพุทธ หรือคนคาทอลิก”

“ในระนาบที่คุณอยู่ เป็นระนาบเดียวกับอนุภาค อนุภาคไม่เคยตั้งคำถามว่าคุณจะไปไหน คุณอยู่ตรงไหน แต่ว่าคุณนั่นแหล่ะ ที่พยายามยัดเยียดว่าสิ่งนั้นเป็นอนุภาค ยิ่งคุณพยายามสร้างกรอบเพื่อมาอธิบายสิ่งใดมากขึ้นเท่าไหร่ คำอธิบายของคุณจะยิ่งเหลวไหวมากขึ้นเท่านั้น คุณต้องพ้นกรอบ แล้วคุณจะรู้ว่าคุณไม่จำเป็นต้องอธิบายอะไรเลย คุณแค่รับรู้อย่างที่มันเป็น”

อนุสรณ์กล่าวทิ้งท้ายว่า “ปัญหาทั้งหมดของโลกในตอนนี้ก็คือความคิด ทุกคนชอบคิดว่าตัวเองใช้ความคิด แต่จริงๆ สิ่งที่เป็นจริงในโลกก็คือความคิดกำลังใช้ตัวคุณอยู่” และ “จิตที่ดี คือจิตของการที่เหมือนเป็นเด็กที่เริ่มต้นใหม่อยู่ตลอด”

 

11296347_935954553093573_1955549075_o

 

สกลฤทธิ์ จันทร์พุ่ม ปิดตาดูละคร

นักสร้างสรรค์ผ่าน ‘พื้นที่’: ผู้ร่วมก่อตั้ง ‘Ma:D Club for Change’

“ถ้าเราเปิดใจ เปิดประสาทสัมผัสต่างๆ ออกมาก่อน มันจะทำให้เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ แล้วเห็นช่องทางต่างๆ”

เขากำลังจะบอกถึงประสบการณ์ที่ได้พบเจอจากการที่ได้เข้าไปนั่งดูละครเวทีเรื่องหนึ่ง ซึ่งมีการปิดตาดู และแน่นอนว่า เขาจะไม่สามารถมองเห็นสิ่งใดๆ ที่อยู่รอบๆ ตัวเขาได้เลย แต่สิ่งเดียวที่จะทำให้เขารับรู้สิ่งต่างๆ ได้นั้น คือเขาต้องเปิดสัมผัสต่างๆ

“วินาทีแรกที่เริ่มนั่งเก้าอี้ไปจนจบชั่วโมงครึ่ง คือเราตื่นตลอด คือตาเราปิด แต่สัมผัสเราไม่ว่าจะเป็นหู ไม่ว่าจะเป็นกลิ่น ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสใดๆ เราได้รับการสัมผัส”

อย่างเช่นฉากที่ยิงกัน เขาก็จะได้กลิ่นเขม่าควันเข้ามาสัมผัสตัวเขา ฉากที่อยู่บนรถไฟมีกลิ่นคนเดินขายไก่ย่าง

“เมื่อได้เปิดตา ทำให้รู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้แหละ คือความสร้างสรรค์ โดยเก้าอี้ที่เรานั่งธรรมดา แต่เขาใช้เป็นเหมือนท่อแป๊บที่สามารถโยกได้ มีทีมงานคอยโยกเก้าอี้เวลา อยู่บนรถไฟมีคนกำกับเวที มาคอยเดินขายไก่ย่าง ทุกอย่างทำให้ประสาทสัมผัสอื่นๆของเราทำงาน”

ละครเวทีเรื่องนี้จึงแตกต่างจากละครเวทีเรื่องอื่นๆ ไปโดยปริยาย

 

ธนา อุทัยภัตรากูร วางภาษาไว้ที่บ้านแล้วใช้หูฟัง

นักสร้างสรรค์ผ่าน ‘รูปทรง’:สถาบันอาศรมศิลป์

“ความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่มีเพียงแค่ศิลปินเพียงอย่างเดียว นักวิทยาศาสตร์ก็มีความคิดสร้างสรรค์ คนทั่วไปก็มีความคิดสร้างสรรค์ ความคิดสร้างสรรค์ไม่จำเป็นต้องมีพรสวรรค์ การมีจิตสำนึกใหม่ๆ ในการมองสิ่งเดิมๆ ทำให้เห็นถึงมุมมองของสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป หรือบางครั้งมุมมองใหม่ อาจจะล้มล้างสิ่งที่เราเคยเชื่อไปก็ได้”

ธนาได้เล่าถึง เดวิด โบห์ม ว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่พยายามเข้าใจในโลกแห่งความจริง โดยการเรียนรู้และอธิบายสิ่งต่างๆ ผ่านทางฟิสิกส์ และได้พยายามเสาะหาความจริง พูดคุยกับผู้คน จนได้รู้ว่ายังมีบางสิ่งบางอย่างที่แตกต่างกัน และบางอย่างมันไม่สามารถพูดออกมาได้ตรงๆ

“ถ้าทุกคนต้องการแสวงหาความจริงบางด้าน ต้องพยายามสังเกตตัวเอง มีสติมากๆ อย่าใช้กรอบความคิดแบบเดิม มาเป็นข้อจำกัดในการรับรู้ความจริงของมนุษย์ อย่าใช้ข้อจำกัดทางภาษามารับรู้ความจริง อย่าพยายามอธิบายมัน แต่ให้สังเกตมัน คนที่เข้าถึงได้ต้องอยู่กับมันอย่างจริงจัง จนในที่สุดเราอาจจะได้เห็นมุมมองใหม่ๆ ผ่านความคิดของเรา”

โดยสิ่งที่โบห์มต้องการเรียกร้องให้เกิดขึ้น นั้นคือการที่ทุกคนมาร่วมแบ่งปันความคิด โดยละวางจากอคติของตัวเอง ละวางกรอบที่ตัวเองมีอยู่ไม่ว่าจะเป็นภาษาหรือวัฒนธรรม แล้วตั้งใจฟังอย่างจริงจัง เมื่อได้ฟังมากเท่าไหร่ ก็จะสามารถทำให้เข้าไปถึงความจริงบางอย่างร่วมกันมากเท่านั้น

“ความจริงแท้ถูกแบ่งไว้ในมนุษย์ทุกคน ทุกคนมีความจริงแท้อยู่ แต่เราเห็นภาพไม่ชัด เมื่อถึงที่สุดแล้วมันต้องเอามารวมกัน เพื่อที่จะได้เห็นความจริงแท้ได้อย่างชัดเจน”

*หมายเหตุ  

โครงการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาและเครือข่ายจิตวิญญาณใหม่ (Project on Spiritual Health Development and New Spirit) หรือ “โครงการจิตวิญญาณใหม่” (New Spirit) เกิดขึ้นภายใต้ความเชื่อว่า “ชีวิตนี้มีความหมาย”

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า