เมื่อ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา กฎหมายใหม่ในเยอรมนีการันตีว่าเด็กๆ ชาวเยอรมันทุกคนที่มีอายุมากกว่า 12 เดือนขึ้นไปจะมีสิทธิ์รับสวัสดิการจากศูนย์รับเลี้ยงเด็กในช่วงกลางวันโดยถ้วนหน้า
ทั้งนี้ กฎหมายฉบับเก่ากำหนดให้เด็กๆ อายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ต้องได้รับการดูแลในสถานดูแลเด็กเล็ก กฎหมายใหม่ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ จึงถือว่าลดอายุเด็กๆ ที่จะได้รับการดูแลในศูนย์ดูแลเด็กเล็ก ซึ่งสามารถลดภาระของพ่อแม่ไปด้วยในคราวเดียวกัน
อีกวัตถุประสงค์ของนโยบายล่าสุดนี้ ก็เพื่อช่วยกระตุ้นอัตราการเกิดในประเทศให้มากขึ้น จากสถิติเยอรมนีมีอัตราการเกิดต่ำสุดในยุโรป แต่ละปี รัฐบาลเยอรมันทุ่มงบกว่า 270 เหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนการเพิ่มประชากรในหลายๆ ด้าน โดยอัตราการเกิดของเด็กชาวเยอรมัน จากแม่อายุระหว่าง 15-49 อยู่ที่ 1.39 คน
การหาสถานเลี้ยงเด็กเล็ก (Kindertagesstätte: Kita) เป็นเรื่องยากมาก บางครั้งพ่อแม่ก็ต้องให้สินน้ำใจผู้อำนวยการศูนย์เลี้ยงเด็กแลกเปลี่ยนกับการรับลูกของพวกเขาไว้ดูแล
สื่อเยอรมันรายงานว่ามีบริษัทหนึ่งส่งตู้คอนเทนเนอร์หลายร้อยตู้เพื่อปรับเป็นศูนย์ดูแลเด็กเล็ก แต่ละชุมชนจะมีตึกที่สามารถปรับปรุงให้กลายเป็นศูนย์ดูแลเด็กได้ ไม่ว่าจะเป็นโรงหนังเก่า โกดัง หรือแม้แต่อู่ซ่อมรถ ห้างร้านที่ปิดตัวลง ก็ถูกแปลงโฉมให้กลายเป็นสถานดูแลเด็กเล็กแห่งใหม่ เมื่อที่ศูนย์ไม่มีพื้นที่ออกกำลังกายหรือสนามเด็กเล่น พวกเขาจะพาเด็กๆ เดินไปยังสวนสาธารณะที่ใกล้ที่สุด
ขณะนี้อาจจะยังมีปัญหาอยู่บ้างในพื้นที่ใจกลางเมืองมิวนิคที่มีความหนาแน่นประชากรสูงมาก ส่งผลให้ศูนย์รับเลี้ยงเด็กจำเป็นต้องขึ้นไปเปิดบริการในอาคารสูง
แม้ คริสตินา ชรูดาร์ รัฐมนตรีว่าการ Family Affairs ยืนยันว่าศูนย์ดูแลเด็กเล็กทุกแห่งพร้อมเปิดบริการได้ภายในกำหนด แต่จากสถิติ German Association of Cities ระบุว่า ศูนย์ดูแลเด็กเล็ก 90,000 แห่งจากศูนย์กว่า 800,000 แห่งทั่วประเทศ ยังไม่พร้อมเปิดให้บริการ
ทั้งนี้ ทางการเยอรมันให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานด้านการส่งเสริมศูนย์ดูแลเด็กเล็กต่ำกว่า 3 ปี เพราะถือเป็นวัยที่มีพัฒนาการทางสมองสูงสุด ด้วยงบศูนย์ดูแลเด็กเล็กอยู่ที่ราว 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
จากสถิติ พบความเชื่อมโยงระหว่างจำนวนศูนย์ดูแลเด็กเล็กที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 กับอัตราการเกิดของประชากรที่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.5 จากร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับปี 2011
ที่มา: spiegel.de