What We Need to Know: การเลือกตั้งของ ‘คุณแม่’ แห่งสหภาพยุโรป

TAKEAWAYS

  • เยอรมนีมีระบบการเมืองการปกครองแบบสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ แต่มีบทบาทจำกัด ปัจจุบันคือ แฟรงค์-วอลเตอร์ สไตน์ไมเออร์ (Frank-Walter Steinmeier) ด้านอำนาจนิติบัญญัติแบ่งออกเป็นสองสภาได้แก่ สภาสหพันธ์ (Bundesrat) เป็นตัวแทนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่เป็นตัวแทนของรัฐบาลในแต่ละรัฐ มีทั้งหมด 16 รัฐ และสภาผู้แทนราษฎร (Bundestag) ที่มาจากการเลือกตั้ง

  • เยอรมนีไม่จำกัดวาระการทำงานอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้ อังเกลา แมร์เคิล นั่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2005 จนถึงปัจจุบัน แต่บุคคลที่ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนานที่สุดคือ เฮลมุต โคห์ล (Helmut Kohl) โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 1982-1998 เป็นเวลาทั้งหมด 16 ปี

  • 4,828 คือจำนวน สส. ที่เข้าร่วมชิงชัยในศึกการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยมีจำนวน สส.ผู้หญิง 29 เปอร์เซ็นต์ สส.อายุมากที่สุดอยู่ที่ 89 ปี และอายุน้อยที่สุดอยู่ที่ 18 ปี


ภาพประกอบ: antizeptic

 

Sunday’s Vote ถือเป็นวันที่ชาวเยอรมันทุกคนต้องไปใช้ ‘สิทธิ’ ของตัวเองในการตัดสินใจชะตาประเทศต่อจากนี้ไปอีกสี่ปี สำหรับเยอรมนีแล้ว การเลือกตั้งไม่ใช่หน้าที่ แต่เป็นสิทธิที่พึงทำ

การเลือกตั้งทั่วไปถูกกำหนดไว้ครั้งนี้คือ วันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน 2017

ในสายตาของผู้สนใจการเมืองระหว่างประเทศและการเมืองยุโรป การเลือกตั้งครั้งนี้ถือว่าสำคัญอย่างยิ่ง แม้จะเป็นการเลือกตั้งครั้งที่สี่ของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปในปี 2017 แต่กลับไม่ได้รับความสนใจในวงกว้างมากเท่ากับการเลือกตั้งที่ฝรั่งเศสหรือเนเธอร์แลนด์ แต่เมื่อเยอรมนียังเล่นบทบาทเป็น ‘พี่คนโต’ หรือ ‘คุณแม่’ ของสหภาพยุโรปอยู่ แน่นอนว่านโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ต่อจากนี้จะส่งผลกระทบต่อประเทศสมาชิกที่เหลือในวงกว้างอย่างแน่นอน

เพราะอย่าลืมว่า หลังจากอังกฤษถอนตัวออกไปจากสหภาพยุโรปแล้ว เยอรมนีจะกลายเป็นประเทศผู้นำทางด้านเศรษฐกิจที่มีกำลังจ่ายมากพอในการฟื้นฟูระบบการเงินยูโร นั่นเท่ากับว่าเยอรมนีจะสามารถชี้เป็นชี้ตายทิศทางสหภาพยุโรปต่อจากนี้

ความท้าทายของแมร์เคิลคืออะไร

ความท้าทายของหญิงเหล็กวัย 63 ปีครั้งนี้จึงหนีไม่พ้นประเด็นหลักๆ ที่ยุโรปกำลังเผชิญ โดยเฉพาะวิกฤติผู้ลี้ภัย ปัญหาด้านการก่อการร้าย และการรับมือหลังจากการที่อังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปอย่างเต็มรูปแบบ

อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค CDU (Christian Democratic Union of Germany) ได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลที่สามารถประนีประนอมผลประโยชน์ระหว่างฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้เธอได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องไม่เคยตกตั้งแต่นั่งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2005

อย่างไรก็ตาม สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่อาจกล่าวได้อย่างมั่นใจมากนักว่า นโยบายตัดสินใจเปิดประตูบ้านต้อนรับผู้อพยพและผู้ลี้ภัยให้เข้ามาพักพิงเมื่อปี 2015 ของเธอเป็นสิ่งที่ถูกหรือไม่ เพราะได้ไปสร้างความไม่พอใจให้กับชาวเยอรมันหัวขวาจัดที่เคยสนับสนุนเธอและออกมาโต้ตอบ เช่น เดินรณรงค์ไม่เอาผู้อพยพและต่อต้านมุสลิมอย่างที่เห็นกันเนื่องๆ 

แม้ทางพรรค CDU ออกมายืนยันว่าจะลดภาษี และทำให้เยอรมนีมีการจ้างงานเต็มที (full employment) ภายในปี 2025 ก็ตาม แต่นั่นดูเหมือนจะไม่ได้สร้างความพึงพอใจให้กับชาวเยอรมันชาตินิยมมากนัก นำมาสู่โอกาสของพรรคขวาจัดอย่างพรรค AfD (Alternative for Germany) ที่กล้าชูนโยบายต่อต้านอิสลามผู้ลี้ภัยและผู้อพยพในการหาเสียงครั้งนี้ และคาดการณ์กันว่าพรรค AfD อาจสามารถเข้ามานั่งในสภาผู้แทนราษฎรได้เป็นครั้งแรกหลังจากก่อตั้งพรรคเมื่อปี 2013 และเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปีที่จะมีพรรคฝ่ายขวาเข้ามานั่งในสภาผู้แทนราษฎร

จุดยืนของแต่ละพรรค

พรรคการเมืองในยุโรปส่วนใหญ่มักมีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจนและเป็นไปในทิศทางเดียวกับแนวคิดทางการเมืองที่พวกเขายึดมั่น เยอรมนีก็เช่นกัน สำหรับหกพรรคต่อไปนี้ คือพรรคที่มีความเป็นไปได้สูงว่าจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมจัดตั้งรัฐบาลในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

พรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (Christian Democratic Union of Germany หรือ Christlich Demokratische Union Deutschlands: CDU): พรรคขวากลาง นำโดย อังเกลา แมร์เคิล เป็นพรรคที่ครองที่นั่งสูงสุดในสภามาโดยตลอด นโยบายหลักๆ ส่วนใหญ่คือ ทำให้เยอรมนีมีอัตราจ้างงานเต็มที่ ลดภาษีและเพิ่มการลงทุนภาครัฐในส่วนต่างๆ

พรรคประชาธิปไตยสังคมแห่งเยอรมนี (Social Democratic Party หรือ Sozialdemokratische Partei Deutschlands: SDP): พรรคซ้ายกลาง ใหญ่รองลงมาจากพรรค CDU และเป็นคู่แข่งกันมาโดยตลอด ปัจจุบันมีอดีตประธานรัฐสภายุโรป (European Parliament) มาร์ติน ชูลซ์ (Martin Schulz) นั่งเป็นหัวหน้าพรรค น่าสนใจกว่านั้น นี่คือสนามการเลือกตั้งครั้งแรกของเขา พรรค SDP เป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของเยอรมนี ก่อตั้งเมื่อปี 1863 ถือเป็นพรรคดั้งเดิมของชนชั้นแรงงาน ฉะนั้นจึงเน้นไปที่การลงทุนในด้านการศึกษาและโครงสร้างพื้นฐานจากการนำภาษีของคนรวยมาใช้

พรรคทางเลือกเยอรมนี (Alternative for Germany หรือ Alternative für Deutschland: AfD): พรรคฝ่ายขวาจัด นำโดย อลิซ ไวเดิล (Alice Weidel) และ อเล็กซานเดอร์ กอแลนด์ (Alexander Gauland) เพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2013 ชูนโยบายขวาจัดที่รุนแรงมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นต่อต้านมุสลิม ต่อต้านผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ รวมถึงสนับสนุนให้เยอรมนีออกจากสหภาพยุโรป

ซ้าย (The Left หรือ Die Linke): เป็นพรรคฝ่ายซ้ายที่มีขนาดเล็ก โดยมีหัวหน้าพรรคคือ ซาห์รา วาเกินเนค (Sahra Wagenknecht) สืบทอดแนวคิดมาจากคอมมิวนิสต์เยอรมนีตะวันออก ฉะนั้นจุดยืนของพรรคจึงเน้นไปที่การเพิ่มรายได้ขั้นต่ำของชาติ ต่อต้านภารกิจทหารในต่างประเทศและสนับสนุนให้เยอรมันออกจากนาโต้

พรรคประชาธิปไตยเสรี (Free Democratic Party หรือ Freie Demokratische Partei: FDP): นำโดย คริสเตียน ลินด์เนอร์ (Christian Lindner) เป็นพรรคหัวเสรีนิยม และเป็นพรรคร่วมรัฐบาลของแมร์เคิลตั้งแต่วาระที่สองของแมร์เคิล นโยบายหลักๆ มักไปในทิศทางเดียวกับสหภาพยุโรป โดยเฉพาะเรื่องตลาดเงินร่วม

กรีน (Green หรือ Grüne): เป็นพรรคที่คะแนนนิยมลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่คาดการณ์ว่าจะเป็น kingmaker ผู้กำหนดว่าพรรคใดจะได้จัดตั้งรัฐบาล หัวหน้าพรรคคือ แคทริน เกอริง-เอคคาร์ดท์ (Katrin Göring-Eckardt) และ เซม อึซเดเมียร์ (Cem Özdemir) นโยบายส่วนใหญ่เกี่ยวกับการศึกษา สิ่งแวดล้อม และประเด็นทางสังคมต่างๆ  

ผลโพลว่าอย่างไร

จากผลโพลตั้งแต่ปลายปีจนปัจจุบัน แมร์เคิลยังคงได้รับความนิยมสูงสุดนำพรรคอื่นๆ มาโดยตลอด สอดคล้องแนวคิดของนักวิเคราะห์หลายคนที่มองว่า พรรค CDU จะได้ที่นั่งมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร เท่ากับว่าแมร์เคิลจะยังคงรักษาตำแหน่งนี้ได้อีกสมัย และถือเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบสี่สมัยสำเร็จ

ล่าสุด Financial Times รวบรวมผลโพลจากเจ็ดสำนักเยอรมนี เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา สรุปให้เห็นว่า พรรค CDU ยังคงมีคะแนนนิยมสูงสุดทิ้งห่างหลายๆ พรรค คือ 36 เปอร์เซ็นต์ ส่วนพรรคที่มีความนิยมรองลงมาและเป็นคู่แข่งสำคัญในศึกนี้คือ พรรค SDP มีความนิยมอยู่ที่ 22 เปอร์เซ็นต์ ถัดมามีคะแนนเท่ากันอยู่สามพรรคคือ 10 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่ พรรคฝ่ายซ้ายจัด The Left ฝ่ายขวา FDP และพรรคสุดท้ายที่ถูกจับตามองมากที่สุดคือฝ่ายขวาจัด AfD เนื่องจากได้รับความนิยมอย่างก้าวกระโดดภายในไม่กี่เดือน

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์และสื่อจำนวนมากมองไปในทิศทางเดียวกันว่า ถึงแมร์เคิลจะได้รับความนิยมสูงสุดแต่ก็ไม่มากพอที่จะตั้งรัฐบาลพรรคเดี่ยว และมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่มีพรรคการเมืองเข้าไปร่วมนั่งในสภาผู้แทนราษฎรถึงหกพรรค

ทำไมพรรคขวาจัด AfD จึงถูกกล่าวว่าเป็นม้ามืดในการเลือกตั้งครั้งนี้

“นาซีของจริงได้เดินทางมาถึงไรชส์ทาค (Reichstag) เป็นครั้งแรกตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง”

คือสิ่งที่ ซิกมาร์ กาเบรียล (Sigmar Gabriel) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศพูดถึงพรรค AfD

แต่ดูเหมือนผู้นำพรรคทั้งสองจะไม่ใส่ใจไยดีกับคำดังกล่าวและยึดมั่นในอุดมการณ์เดิมของตน อลิซ ไวเดิล และ อเล็กซานเดอร์ กอแลนด์ โต้กลับว่า

“เรามีสิทธิที่จะภาคภูมิใจในความสำเร็จของเหล่าทหารเยอรมันในสงครามโลกทั้งสองครั้ง”

ตั้งแต่แมร์เคิลประกาศให้เยอรมนีเป็นหนึ่งในประเทศที่ผู้ลี้ภัยสามารถเดินทางเข้ามาได้ ความนิยมของพรรค AfD ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับกระแสที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป ส่งผลให้เยอรมนีกลายเป็นประเทศหลักและมีภาระต้องอุ้มเศรษฐกิจของกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น

อุดมการณ์ขวาจัดจึงเริ่มได้รับความสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น จากประชาชนทั่วไปที่มองว่ารัฐบาลจัดการกับภาษีที่พวกเขาจ่ายไปไม่ถูกต้อง และกำลังปล่อยให้ชาวเยอรมันต้องรู้สึกถูกทอดทิ้ง

“เพราะชาวเยอรมันเป็นพวกขี้อาย เราก็แค่พูดในสิ่งที่พวกเขาไม่กล้าพูด”

หากเป็นไปตามที่หลายโพลคาดการณ์เอาไว้ละก็ AfD จะเป็นพรรคการเมืองขวาจัดพรรคแรกที่ได้เข้าไปนั่งในสภาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด และหากได้คะแนนเสียงมากกว่า 12 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป AfD จะมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมากถึง 50 ที่ จากทั้งหมด 598 ที่นั่ง รวมกับจำนวนที่นั่งของ สว. ปัจจุบันในสภาสหพันธ์ที่ได้ถึง 13 ที่นั่ง จากทั้งหมด 16 ที่นั่ง จะส่งผลให้พรรค AfD เป็นพรรคขวาจัดกลุ่มแรกที่มีความเข้มแข็งที่สุดในเยอรมนี

หน้าตาของรัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไร

มีความเป็นไปได้สูงว่ารัฐบาลชุดใหม่นี้จะเป็น ‘รัฐบาลผสม’ อย่างแน่นอน และเป็นส่วนผสมระหว่างพรรคที่มีอุดมการณ์อนุรักษนิยมเหมือนกัน

สูตรแรกคือ ส่วนผสมระหว่างสองพรรคใหญ่คือ CDU และ SDP ซึ่งนักวิเคราะห์และหลายๆ ผลโพลมองตรงกันว่า สูตรนี้มีความเป็นไปได้มากที่สุด

สูตรต่อมาเป็นรัฐบาลผสมระหว่างพรรค CDU และพรรคเล็กสองพรรค ได้แก่พรรค FPD และพรรค Green อย่างไรก็ตาม มีข้อพึงระวังอยู่บ้าง แม้ FDP จะเคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลของแมร์เคิลเมื่อปี 2009-2013 แต่ก็มีความอ่อนแอสูง อีกทั้งความนิยมในปัจจุบันของทั้งสองพรรคก็ลดลงอยู่เรื่อยๆ แต่หากจับมือกับแค่พรรคเล็กสองพรรคนี้ เท่ากับว่าอาจมีที่นั่งเหลือ ไม่ครบ 598 ที่ ที่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

สูตรสุดท้ายคือ รัฐบาลผสมที่ไม่มีแมร์เคิล หากชูลซ์ผู้นำพรรค SDP มีความเข้มแข็ง และสามารถกอบโกยคะแนนเสียงได้ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ได้มากพอ เขาอาจโน้มน้าวและจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคอื่นโดยไม่มีแมร์เคิลได้ ในทางทฤษฎีแล้วก็มีความเป็นไปได้ที่ SDP อาจหันไปจับมือกับพรรคฝ่ายซ้ายอื่นๆ เช่น พรรค Green พรรค The Left หรือพรรค FDP เป็นต้น

ส่วนพรรค AfD แม้จะมีความเป็นไปได้สูงว่าจะได้ที่นั่งในสภาในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ทางผู้นำพรรคทั้งสองคนก็ออกมาประกาศเสียงแข็งชัดเจนว่า จะไม่จัดตั้งพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรค CDU อย่างแน่นอน

ระบบการเลือกตั้งเยอรมนีเป็นอย่างไร และใครมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

ชาวเยอรมันอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไปที่จะจัดขึ้นทุกๆ สี่ปี สำหรับครั้งล่าสุดมีการคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงมีทั้งหมด 61.5 ล้านคน

สำหรับบัตรลงคะแนน ประชาชนจะต้องโหวตสองช่อง ช่องแรกคือ เลือกผู้แทนเขตเลือกตั้งจำนวน 299 คน ส่วนช่องที่สองคือเลือกแบบบัญชีรายชื่อจากทั้งหมด 16 รัฐ อธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุดคือ ช่องแรกเลือกคนที่ชอบ ช่องสองเลือกพรรคที่ใช่ โดยพรรคที่จะมีสิทธิเข้าไปนั่งในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องมีคะแนนเสียงมากกว่าหรือเท่ากับ 5 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป

ปัจจุบันที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวน 630 ที่นั่ง (ตามหลักการแล้ว จะต้องมีจำนวน สส. นั่งในสภาอย่างน้อย 598 คนถึงจะสามารถตั้งรัฐบาลได้ แต่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มี ‘overhang seat’ หรือจำนวนที่นั่งเกินมาเพื่อให้ทั้งสองฝั่งมีจำนวนสัดส่วนเท่ากัน) โดยมีสี่พรรคนั่งในสภา ได้แก่ พรรค CDU ครองที่นั่งสูงสุดถึง 309 ที่นั่ง รองลงมาคือ SDP 193 ที่นั่ง The Left 64 ที่นั่ง และ The Green 63 ที่นั่ง


อ้างอิงข้อมูลจาก
telegraph.co.uk
ig.ft.com
theguardian.com
bbc.com
aljazeera.com
washingtonpost.com

Author

ชลิตา สุนันทาภรณ์
กองบรรณาธิการรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งสำนัก WAY เธอมีความสนใจกว้างขวางหลากหลาย แต่ที่ทำให้หัวใจเต้นแรงเป็นพิเศษ คือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รายงานข่าวต่างประเทศจากปลายนิ้วจรดคีย์บอร์ดของเธอจึงแม่นยำและเฉียบคมยิ่ง
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า