เรื่อง: ศุทธวีร์ ตันติวงศ์ชัย
ภาพ: อนุช ยนตมุติ
เคยเป็นนักวิจัยศูนย์นวัตกรรมนโยบาย (Policy innovation center) และปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำศูนย์บริการการศึกษาราชบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ในอดีตชายผู้นี้เคยลุกขึ้นยืนเพื่อเสนอความคิดและถกปัญหาเพื่อปฏิรูประบบการศึกษาในวัยที่นุ่งกางเกงขาสั้นและยังหัวเกรียน เวลาผ่านไปความสนใจส่วนตัวในด้านเศรษฐศาสตร์ทำให้เขามองสรรพสิ่งตั้งแต่นโยบายรัฐ กระแสสังคม ศิลปวัฒนธรรมด้วยสายตาของนักเศรษฐศาสตร์
ในวันที่ประเด็นระบบการศึกษาถูกให้ความสนใจขึ้นมาอีกครั้ง
ชื่อของ แบ๊งค์ งามอรุณโชติ จึงเป็นชื่อแรกๆ ที่เราคิดถึง
เหตุใดรัฐจึงไม่ผลักดันกิจกรรมหรือนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ให้เป็นเหมือน ‘สินค้าหลัก’ อย่างที่ทำกับนโยบายด้านอื่น เช่นรถคันแรกหรือแจกแทบเล็ต
ผมไม่คิดว่ากิจกรรมหรือนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ได้สิทธิน้อยนะครับ มีงานวิจัยและพัฒนาที่ได้รับการส่งเสริมในรูปของแรงจูงใจทางภาษี ซึ่งในกรณีนี้เราก็ติดกลุ่มสูงที่สุดเป็นรองเพียงแค่สิงคโปร์ที่กำหนดเพดานภาษีไว้สูงถึง 400 เปอร์เซ็นต์ ถ้าผมจำไม่ผิดประเทศไทยสูงถึง 200 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งประเทศญี่ปุ่นกำหนดเพียงแค่ 40 เปอร์เซ็นต์ เกาหลีใต้ 20 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ อย่างออสเตรเลียก็อยู่ที่ 40 – 45 เปอร์เซ็นต์ จีนซึ่งถือว่าสูงมากก็ยังแค่ 150 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งยังไม่เท่าเรา
หากดูมาตรการทางภาษีแล้วเราไม่ได้น้อยเลยครับแต่ผลลัพธ์ต่างหากที่ไม่เยอะ ซึ่งจะพูดว่ามาตรการภาครัฐไม่ดูแลก็คงจะไม่ใช่ แต่อาจเรียกว่ายังไม่รอบด้านหรือเกาไม่ถูกที่คันคงจะเหมาะกว่า
กรณีของอเมริกามีสิ่งที่เรียกว่า Leontief paradox คือสิ่งที่นักวิจัยที่ชื่อ Wassily Leontief เขาไปศึกษาแล้วพบว่ามันมีความย้อนแย้งบางอย่างเกิดขึ้นในตัวเลขของเศรษฐกิจอเมริกา อเมริกาส่งออกสินค้าที่ค่อนข้างใช้เทคโนโลยีสูง แต่เมื่อมาดูภาคการผลิต เขาพบว่าอเมริกามีลักษณะใช้แรงงานมาก ความเชื่อโดยทั่วไปก็คือ ถ้าเกิดเทคโนโลยีสูงเนี่ยจะต้องเป็น Capital Intensive (การใช้ทุน/เครื่องจักรเข้มข้น) คือจะต้องใช้ทุนเข้มข้น ใส่เครื่องจักรเข้าไปเยอะๆ แต่ทำไมมันจึงกลับกัน สุดท้ายเขาก็ได้คำตอบว่า อเมริกาเป็น Labor intensive (การใช้แรงงานเข้มข้น) ก็จริง แต่มันเป็น Human capital (ทุนมนุษย์) คือมันเป็นคนที่มี Human Capital สะสมอยู่เยอะ มีทุนมนุษย์ มีองค์ความรู้ที่พร้อมจะยกระดับไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จึงทำให้สินค้าของเขาแม้จะใช้คนเยอะเมื่อเทียบกับตัวปัจจัยทุนหรือเครื่องจักรทั้งหลาย แต่คนเหล่านั้นนำมาสู่การสร้างนวัตกรรมได้
กรณีไทยก็เช่นเดียวกัน ตอนนี้ไทยเริ่มขยับเข้าสู่เศรษฐกิจอุตสาหกรรมแล้ว มีการใช้เครื่องจักรจำนวนมาก มีการนำเข้าความรู้ แต่สุดท้ายถามว่า Human Capital เพียงพอจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้แค่ไหน ผมคิดว่าเป็นคานงัดที่จะต้องงัดเสริม นอกเหนือแรงจูงใจภายนอกเช่นแรงจูงใจทางภาษี
ในความเห็นส่วนตัวนะครับ ผมมองว่าการให้สิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจมันเป็นเรื่องปลายทาง ต้องมีองค์ประกอบอื่นเกิดขึ้นก่อนมาตรการทางภาษีนั่นคือมาตรการด้าน ’คน’ ซึ่งมันเป็นเรื่องยากที่จะหาคนให้เหมาะกับความต้องการด้านการวิจัย
พูดง่ายๆ ว่า ‘สินค้าหลัก’ ของนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่รัฐไทยจัดให้ในตอนนี้คือแรงจูงใจทางภาษี?
ใช่ครับ นอกจากเงินทุนสนับสนุนการวิจัยภายนอกต่างๆ ที่เหลือล้วนแต่เป็นเงินอุดหนุนทางตรงเข้าไปในมหาวิทยาลัยครับ ซึ่งเป็นอีกขาหนึ่ง เพราะการให้สิทธิประโยชน์ทางเอกชนอย่างเดียวมันไม่พอ หากรัฐให้โครงการมาในลักษณะงานวิจัย ส่วนใหญ่แล้วงบเหล่านี้จะตกไปอยู่ในมือของมหาวิทยาลัย คำถามก็คือ มันมีสะพานเชื่อมความรู้ใหม่ๆ ที่ผลิตในมหาวิทยาลัยเข้าสู่เอกชนได้มากแค่ไหน สะพานที่ 2 เป็นตัวชี้ขาดสำคัญที่จะนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ ได้หรือไม่ หากมัวแต่รอให้เอกชนกับมหาวิทยาลัยมาพบกันเองก็คงสายเกินไป รัฐบาลต้องสร้างสะพานเชื่อมนี้ขึ้น
แล้วตอนนี้รัฐบาลดำเนินการบ้างหรือยัง
ตอนนี้ก็มีนำร่องไปบ้างแล้วนั่นคือโครงการ Science Park หรืออุทยานวิทยาศาสตร์ เข้าใจว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่นะครับ มีการมอบหมายให้หน่วยงานเข้าไปดูแลแต่ก็ยังไม่ถึงจุดที่จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ได้ตามคาดหวัง นโยบายมีแล้ว กรอบแนวคิดก็มีในระดับหนึ่งแล้ว แต่ทำอย่างไรให้ดำเนินงานได้จริง ทำอย่างไรให้อุทยานวิทยาศาสตร์ซึ่งมี 4 – 5 หน่วยงานดูแลอยู่ ไม่ว่าระดับที่เล็กใหญ่ต่างกันแค่ไหน ให้มันเป็นซิลิคอนแวลลีย์เล็กๆ ได้ขึ้นมา หรือทำอย่างไรให้มันเหมือนโมเดลของเกาหลีใต้ที่เค้าก็มีอุทยานวิทยาศาสตร์เหมือนกัน ผมคิดว่ามันเป็นโจทย์เป็นเรื่องการผลักดันมากกว่า เพราะฉะนั้นในทางปฏิบัติสิ่งที่ต้องช่วยกันขบคิดคือการทำให้มันเกิดขึ้นจริง จะเห็นว่าเรามีพร้อมในระดับหนึ่งแล้ว แต่ทำอย่างไรให้ดำเนินงานได้จริง ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของการผลักดันมากกว่า
เท่าที่ฟังคุณเล่า เข้าใจถูก ไหมครับว่าอุทยาน วิทยาศาสตร์คือขาที่ 2 อย่างที่คุณบอก ซึ่งเป็นเหมือนสะพานเชื่อมระหว่างองค์ความรู้กับธุรกิจ แต่เมื่อย้อนมองกลับมาที่ปัญหาแรกคือเรื่อง ‘กำลังคน’ ถ้าจะบอกว่าปัญหานี้ต้องแก้ด้วยการศึกษา พูดอย่างไรก็ไม่ผิด?
ใช่ครับ แต่ปัญหานี้ฟังดูง่ายแต่ไม่ง่ายนะครับ เราจะทำอย่างไรให้คนที่จบออกมาแล้วสามารถทำวิจัยได้ สร้างนวัตกรรมได้ แล้วจะทำอย่างไรให้คนที่จบมาแล้วสามารถทำวิจัยได้จริงๆ มีตลาดรองรับ นั่นคือสิ่งที่ต้องช่วยกันคิด แนวทางที่พอเป็นไปได้ในขณะนี้คือโครงการฝึกงาน เป็นไปได้ไหมที่จะมีการเรียนรู้จากปัญหาและพัฒนานวัตกรรมในภาคเอกชนที่นักศึกษาเข้าไปฝึกงาน นอกเหนือจากการฝึกงานก็มีสิ่งที่เรียกว่า ‘สหกิจศึกษา’ คือเรียนไปด้วยและก็มีส่วนร่วมในภาคธุรกิจไปด้วย เป็นการเรียนรู้และเก็บประสบการณ์จากภาคเอกชน ซึ่งตรงจุดนี้เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่นำไปสู่การแก้ปัญหาในอนาคตได้
ตลาดวิชาการในมหาวิทยาลัยทุกวันนี้มีการเปิดภาควิชาเฉพาะทางมากขึ้น ลักษณะแบบนี้พร้อมที่จะตอบโจทย์ตลาดไหม
ผมมองว่ามันอาจจะผิดทางด้วยซ้ำ ในหนังสือ ทักษะแห่งอนาคตใหม่ : การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21 โดยเจมส์ เบลลันกา (James Bellanca) และ รอน แบรนต์ (Ron Brandt) เขาพูดชัดเลยว่าสิ่งสำคัญต้องสอนเด็กให้มีความรู้แบบสหวิทยาการ ถ้าคุณถูกฝึกให้มีทักษะที่แคบคุณจะประสบปัญหา เพราะโลกในศตวรรษที่ 21 เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ยกตัวอย่างง่ายๆ นะครับ อาชีพที่มีความสำคัญลดลงไปมากในปัจจุบันคือเลขาฯ ถ้าคุณไปดูยุคทศวรรษที่ 1970 – 1980 คุณอาจจะต้องสร้างคนแบบสุดยอดเลขาฯขึ้นมา แต่ถามว่าปัจจุบันนี้คุณพยายามผลิตสุดยอดเลขาฯเพื่อเป็นฝ่ายสนับสนุน ฝ่ายบริหาร หรือจัดทำให้องค์กรดำเนินงานไปได้ แบบนี้ผิดทางแล้วเพราะว่าทันทีที่มีอุปกรณ์ที่ช่วยจัดการระบบหน่วยงาน จำนวนเลขาฯที่จำเป็นมันลดลงไปเยอะ แน่นอนมันจำเป็นต้องมีแต่ก็เหลือสุดยอดเลขาฯคนเดียว ไม่ได้ต้องการสุดยอดเลขาฯจำนวน 10 คน อย่างนี้เป็นต้น
แล้วอาชีพที่จะหายไปจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีจะเยอะขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราผลิตคนที่มีทักษะแคบมาก…อันนี้พลาดแล้ว เราต้องผลิตคนที่สมมุติว่าเป็น… สมมุติผลิตคนฝ่ายการตลาดแต่ต้องเป็นการตลาดที่สามารถไปได้ทุกๆ หน่วยงาน มีทักษะที่มีความยืดหยุ่นสูง ไปการแพทย์ก็ได้ ไปอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ จะทำยังไงให้ได้คนประเภทนั้น
นักวิจัยก็เหมือนกัน แต่เดิมก็มีนักวิจัยในกลุ่มที่มุ่งเป้า เช่น มีโจทย์วิจัยชัดเจน เลือกนักวิจัยที่มีทักษะชัดเจนและให้ทำอยู่เรื่องเดียว แต่ว่าในบางองค์กรเท่าที่ผมเข้าใจ บางคนจะเป็นนักวิจัยที่มีโจทย์ปลายเปิด คือคุณสร้างมาเถอะนวัตกรรม รู้ว่าเป็นนักวิจัยที่เก่ง คุณก็คิดมา คิด 10 ชิ้น ใช้งานได้พอที่จะนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ 1 ชิ้น แต่ว่ามันเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อน เขาอยากได้ของแบบนั้นมากกว่า ถามว่าเราต้องการนักวิจัยที่มีทักษะนวัตกรรมไหม มันก็ต้องมี แต่มันไม่ควรแคบกระทั่งวิ่งไปอยู่บนลู่เดียวแบบไต่บ่ายักษ์ไปเรื่อยๆ ตามคนอื่นไปเรื่อย มันต้องมีกลุ่มที่บ้าดีเดือดในระดับหนึ่งที่คิดอะไรแบบเป็นนวัตกรรมจริงๆ เป็นสิ่งใหม่จริงๆ อยู่ด้วยบ้าง นี่ก็เป็นสิ่งสะท้อนจากที่พบ
ตอนนี้เด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า ‘สมาพันธ์นักเรียนไทยปฏิวัติระบบการศึกษา’ ตื่นตัวกันมากในการปฏิรูประบบการศึกษา คุณเคยบอกว่าในระบบการศึกษาไทย นักเรียนมีอำนาจการต่อรองกับสถาบันน้อย ถ้าจะให้ระบบการศึกษามีศักยภาพ คุณมองว่านักเรียนควรมีอำนาจการต่อรองระดับไหน
ถ้าเปรียบเทียบแล้วโรงเรียนก็เหมือนโรงพยาบาล เรามีสิทธิเลือกใช้บริการโรงพยาบาลใดก็ได้ขึ้นอยู่กับทุนของเรา และเมื่อเข้าไปใช้บริการเราจะได้รับการสุ่มหมอมาทำการรักษา หมอจ่ายยาอะไรมาเราก็ไม่มีอำนาจต่อรอง โรงเรียนก็เช่นกันเด็กทุกคนไม่สามารถเข้าโรงเรียนมีชื่อได้ทุกคน และโรงเรียนจัดการศึกษาแบบใดมาเราก็ไม่มีอำนาจในการต่อรอง มันเป็นโจทย์ทางเศรษฐศาสตร์การศึกษา ผู้ปกครองและเด็กมีอำนาจต่อรองน้อย
ตอนนี้มีวิธีหนึ่งที่ใช้ในสหรัฐอเมริกา คือการผูกพันความก้าวหน้าในอาชีพครู งบประมาณของโรงเรียนเข้ากับผลลัพธ์ทางการศึกษาของเด็กภายในโรงเรียน หากเด็กเรียนเก่งขึ้นโรงเรียนก็ได้รับงบประมาณเพิ่ม ครูก็ได้รับเงินเดือนเพิ่ม วิธีการวัดก็ใช้คะแนนเด็กจากข้อสอบกลางที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายมาประเมินความก้าวหน้าของครูและเด็ก
หมายความว่าถ้าคุณทำให้เด็กเก่งขึ้น คุณจะได้รับการดูแลความก้าวหน้าในวิชาชีพ เพราะฉะนั้นเด็กที่เก่งอยู่แล้วพวก4.00 มันไม่มีระดับให้ผลการเรียนเปลี่ยนสูงขึ้นอีกแล้ว เพราะฉะนั้นโครงสร้างของผลตอบแทนการดูแลครูแบบนี้จะจูงใจให้ครูวิ่งไปหาเด็กที่เรียนอ่อน เพราะว่าฐานต่ำ มันยกได้เยอะ ก็จะทำให้ทรัพยากรเก่งๆ ครูเก่งๆ วิ่งไปหาเด็กเรียนอ่อน แต่เดิมวิธีตอบแทนครู ถ้าเด็กไปโอลิมปิกวิชาการ แล้วชนะกลับมา จึงตอบแทนครู ครูก็วิ่งไปหาแต่เด็กเก่ง
ผมพูดในเชิงทฤษฏีนะครับ ไม่ได้หมายความว่าครูจริงๆ เป็นแบบนั้น แต่ว่าในเชิงทฤษฏีมันควรจะต้องออกแบบเพื่อจะให้ครูที่เก่งที่สุดวิ่งมาหาเด็กที่อ่อนที่สุดครับ อันนี้ก็เป็นแง่ดี แต่ทำอย่างไรที่จะผลิตครูดีๆ ได้ตั้งแต่ในมหาวิทยาลัยไม่ใช่ไปรอตอนเขาเป็นครูแล้ว เป็นสิ่งที่ใหม่สำหรับประเทศไทยและก็มีคนพยายามผลักดันอยู่
ในตอนที่คุณอายุพอๆ กับนักเรียนกลุ่มนี้ คุณก็ออกมาเคลื่อนไหวเสนอความคิดปฏิรูประบบการศึกษา ถ้าให้ประเมินเด็กรุ่นคุณกับเด็กรุ่นนี้ ใครเฟี้ยวกว่ากัน
(หัวเราะ) ก็กล้าคิดกล้าพูดดีครับ มันก็เป็นพลังที่ผมคิดว่าช่วยจุดประกายความสนใจ ความคิด การถกเถียงทางสังคมที่ดี พอมีกลุ่มน้องๆ ออกมา ประเด็นทางการศึกษาเป็นวาระที่หนังสือพิมพ์สนใจ สังคมก็เข้ามาถกเถียงกัน การที่ประเด็นถูกผลักเข้าสู่สาธารณะมันมีแรงผลักดันไปสู่หัวข้ออภิปรายที่ดีขึ้นตามลำดับ ดีกว่าไปคิดกันเอง รัฐไปคิดกันเอง น้องๆ คิดกันเอง เมื่อโยนไปสู่พื้นที่สาธารณะแล้ว อาจเกิดสิ่งที่เรียกว่าการถกเถียง สู่ข้ออภิปรายที่ดีขึ้น ผมคิดว่ามันเป็นผลดีต่อการศึกษา
คุณเคยศึกษาเรื่องความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทย คุณเจออะไรบ้างในการศึกษาคราวนั้น
ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มีทั้งแบบที่มองเห็นด้วยตากับแบบที่มองไม่เห็น ตัวอย่างของความเหลื่อมล้ำที่มองเห็นได้ด้วยตาเช่นผู้ที่สามารถเรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้นมักอยู่ในเขตเทศบาลมากกว่านอกเขตเทศบาลหรือในกรุงเทพฯ ระยะเวลาหรือจำนวนปีของคนที่ได้เรียนสูงกว่าคนในภาคใต้หรือภาคอีสานอย่างเห็นได้ชัด มันก็สะท้อนปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำของโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปในตัว ซึ่งตรงนี้เราจะเห็นตัวเลขชัดเจนว่าเหลื่อมล้ำหรือไม่ มีการสำรวจได้
ส่วนอีกกรณีคือความเหลื่อมล้ำที่มองไม่เห็นเช่นปัญหาเรื่องศาสนาในโรงเรียน เด็กศาสนาอื่นๆ ที่เรียนในโรงเรียนวัด หรือปัญหาการต่อต้านกลุ่มคนรักร่วมเพศอย่างไม่มีเหตุผลในโรงเรียนชายล้วนหรือหญิงล้วน เรื่องพวกนี้เป็นโจทย์ทางสังคมศาสตร์หรือมนุษยวิทยาที่ต้องขบคิดและแก้ปัญหา
ก็ต้องแก้ปัญหาให้ปัญหาปากท้องหมดไป?
จากการศึกษาพบว่าลูกของคนที่เป็นแรงงานวิชาชีพ วิศวกร เป็นต้น เด็กที่มีประวัติผู้ปกครองเป็นแบบนี้จะได้เรียนในระดับที่สูงกว่าลูกเกษตรกรถึง 3 ปี นับเป็น 1 ช่วงชั้นเลยนะครับ เพราะฉะนั้นโครงสร้างทางสังคมกำลังกดทับคนจำนวนมากเอาไว้ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ เราจึงต้องมาคิดกันว่าทำอย่างไรให้เด็กได้รับโอกาส ซึ่งเรียนฟรีมันไม่พอแน่ๆ
ตอนนี้จึงมีมาตรการที่คล้ายกับการจ้างเรียน เท่าที่พอศึกษาอยู่บ้างก็เป็นประเภทกองทุนการศึกษาผูกติดกับรายได้ในอนาคต ทุนกู้ยืมนี้ไม่ได้ผูกพันธ์ตามระยะเวลากู้ แต่เป็นการผูกติดกับรายได้หลังจากจบการศึกษา เมื่อรายได้ถึงตามกำหนดก็ต้องเริ่มชำระเงินกู้ ซึ่งมันเป็นการบีบบังคับให้รัฐต้องใส่ใจกับการศึกษา เข้ามาดูแลให้มหาวิทยาลัยผลิตคนมีคุณภาพเข้าสู่สายงานต่างๆ มากขึ้น และได้รับรายได้เพียงพอด้วย เพราะหากคนที่ออกมาคุณภาพไม่ดีและมีรายได้ไม่สูงนัก จะมีผลโดยตรงต่อการชำระเงินกู้ หากเป็นเช่นนั้นทั้งกองทุนและรัฐบาลต้องแบกรับความเสี่ยงและล้มได้แน่ๆ
สุดท้ายแล้ววิธีการดังกล่าวก็เป็นเพียงแค่การแก้ปัญหาปลายน้ำ หลักๆแล้วเราต้องแก้ปัญหาเชิงเศรษฐกิจ ทำให้คนจนลืมตาอ้าปากได้
ผิดไหมที่เด็กอยากเป็นนักร้อง
(หัวเราะ) ผมไม่อะไรนะ ถ้าเด็กจบมาทำงานแต่สายวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว ประเทศนี้คงจืดชืดน่าดู มันต้องมีสุนทรียศาสตร์ด้วย แต่จะเป็นอะไรก็ต้องมีความเป็นเลิศ รัฐสามารถสร้างศิลปินที่เก่งจริงๆ ได้ไหม มีอะไรสนับสนุนเขาไหม ไม่ใช่เป็นศิลปินทั่วๆ ไป เป็นนักวิทยาศาสตร์ทั่วๆ ไป แบบนี้มันกลับเสียหายมากกว่า เมื่อเป็นอะไรก็ตาม ประเทศจะต้องมีระบบที่เอื้อให้พวกเขาเป็นเลิศ อันนี้สำคัญกว่า.