เรื่องและภาพ : สุวิทย์ สุดสมศรี
ราวครึ่งเดือนที่โต๊ะชุดนั้นตั้งอยู่ในร้าน ตัวโต๊ะสีเหลืองมะนาว ส่วนเก้าอี้ทำจากไม้สักหุ้มด้วยเบาะสีส้ม สีเหลืองกับสีส้มตัดกันอย่างฉูดฉาด
วันหนึ่งมีหญิงสาวเดินเข้ามาในร้าน เธอถึงกับกรี๊ด… เธอซื้อยกชุด นั่นคือความประทับใจสูงสุดของ เจิม-อภิเดช สารชู กับผลงานที่เขารังสรรค์ขึ้นมากับมือ
ภายในวัดสวนแก้ว ร้านขายเฟอร์นิเจอร์ที่เรียงรายอยู่หลายร้าน เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่ล้วนรูปทรงธรรมดา อาจเรียกว่าจำเจ เจนตา เหมือนตามร้านเฟอร์นิเจอร์ทั่วไป ทว่ามีอยู่ร้านหนึ่งที่ดูแปลกไปจากข้าวของในร้านอื่นทั้งรูปทรงและสีสัน
อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลก หากจะพบโต๊ะสไตล์โมเดิร์นสักตัวตามโชว์รูมหรูๆ หรือห้างสรรพสินค้าดัง แต่คงจะแปลกหากมาพบที่วัดสวนแก้ว ยิ่งไปกว่านั้น อาจจะเป็นเรื่องน่าทึ่ง หากรู้ว่า โต๊ะตัวนั้นประกอบขึ้นมาจาก ‘เศษไม้’
ใครกันที่อยู่เบื้องหลังเฟอร์นิเจอร์รีไซเคิลเหล่านี้ แล้วยังทำให้มันทันสมัย ดูดีมีสไตล์ และสามารถเทียบชั้นเฟอร์นิเจอร์หรูจากโรงงานผลิตสำเร็จรูปได้อย่างไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยนเฟอร์นิเจอร์รีไซเคิลสีสันฉูดฉาดคงไม่มีตั้งวางขายในวัดสวนแก้ว หากปราศจากหนุ่มปักษ์ใต้คนหนึ่ง ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปดูอดีตก่อนมาทำอาชีพนี้ เขาบอกว่าแทบจะเริ่มจากศูนย์
“ผมตกงานมา ครั้งแรกมาที่นี่มึนเลยครับ มืดแปดด้าน มาดูกองไม้ที่เขากองไว้ยังคิดอะไรไม่ออกเลย เรารู้แค่ว่าเป็นไม้ที่เขาบริจาคมาและสามารถทำเป็นชิ้นงานได้ แต่เรายังไม่รู้วิธีการทำ ถ้าถามว่า ชอบเฟอร์นิเจอร์หรือเปล่า บอกจริงๆ ว่าตอนแรกไม่ชอบ แต่ตอนนั้นต้องจำใจทำ”
อภิเดชเกิดที่นครศรีธรรมราช เคยเป็นคนงานก่อสร้าง เป็นช่างปูกระเบื้องอยู่แถวจังหวัดยะลาและปัตตานี ก่อนที่เพื่อนจะชวนขึ้นมากรุงเทพฯ ด้วยอาชีพเดียวกัน ทว่าไม่นานเมื่อฟองสบู่แตก เขาตกงาน จึงได้มาพึ่งพิงพี่ชายผู้เป็นหัวหน้าแผนกเฟอร์นิเจอร์ในวัดสวนแก้ว
ชีวิตช่างเฟอร์นิเจอร์ของเขาเริ่มจากการฝึกกับพี่ชาย หัดซ่อมตู้ซ่อมโต๊ะ แต่เมื่อทำไประยะหนึ่ง พบว่าเฟอร์นิเจอร์มีความหลากหลายและความละเอียดอ่อน ทำให้เขาเริ่มสนใจศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ศิลป์เพื่อจะเรียนรู้ยุคสมัยของมัน โดยอาศัยความรู้จากหนังสือบริจาค และหลายครั้งก็ได้เรียนรู้จากลูกค้า
“มีลุงคนหนึ่งบอกว่า พนักพิงของเก้าอี้อย่างน้อยต้องเอน 110 องศาเพื่อให้เข้ากับสรีระของคน นั่งแล้วจะสบาย ลูกค้าบางคนจบศิลปากรมาเขาก็แนะนำเราเยอะ ก็ถือว่าเป็นครูเหมือนกัน“พอทำเฟอร์นิเจอร์ธรรมดานานเข้า เรามันเป็นคนชอบคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เราก็ไปดูหลายที่ อย่างไปเห็นที่ซอยประชานฤมิตร บางโพ งานเขาสวยๆ ”
จากคนงานธรรมดาคนหนึ่ง ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตัวเอง เขาได้รับโอกาสจากหลวงพ่อพระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว ให้ตั้งทีมช่างและทำร้านขายเอง บริหารจัดการจนเกิดเป็นธุรกิจของตัวเอง
อภิเดชบอกว่าเขาพยายามบีบคั้นตัวเองให้ทำงานดีขึ้นทุกๆ ชิ้น นั่นคือแรงกดดันที่พยายามทำให้ตัวเองก้าวไปข้างหน้า เขาพูดถึงแนวคิดโมเดิร์นที่มีอิทธิพลต่องานของเขาว่า “เป็นการทำให้เกิดสีสันขึ้นมา นับตั้งแต่ยุค ’60 เป็นต้นมา การทำงานไม่ได้ยึดติดอยู่กับพวกเหล็ก ฉาก หรือเฉพาะรูปทรงเรขาคณิต แต่จะเป็นรูปทรงอิสระที่สวยงาม”
อภิเดชเคยมีประสบการณ์สัมผัสงานโมเดิร์นระดับโลกอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อเขาได้เก้าอี้มาสี่ตัว เป็นบาร์เซโลนา แชร์ (Barcelona chair) งานออกแบบของ ลุดวิก มีส์ แวน เดอ โรห์ (Ludwig Mies van der Rohe) ศิลปินชาวเยอรมัน เป็นเก้าอี้ที่ถือว่าสุดยอดตัวหนึ่งของโลก
“ด้วยสัญชาตญาณและเคยเห็นหนังสือ ผมรู้เลยว่าตัวนี้ไม่ธรรมดา ให้ผู้รู้ดูให้ เขาบอกว่ามีงานก๊อปปี้อยู่สองตัว แท้สองตัว ผมซ่อมใหม่่และตั้งราคาไว้สี่ตัวหมื่นห้า ชาวบ้านทั่วไปที่ไม่รู้เรื่องเฟอร์นิเจอร์เขาบอกว่าแพง ผมตั้งไว้สองสามเดือน แล้วฝรั่งมาเจอ ฝรั่งซื้อหมดเลย
“ผมไม่ปิดลูกค้านะ ตัวนี้ก๊อปปี้ผมก็จะบอกว่าก๊อปปี้ ผมจะไม่หลอกลูกค้า คือเราอาศัยความจริงใจ เพราะว่านี่คือกฎข้อหนึ่งของการขาย เราต้องจริงใจกับลูกค้า เพราะเราต้องอยู่นาน”
ประเด็นราคาเป็นเรื่องใหญ่ เพราะลูกค้าส่วนมากคาดหวังว่าถ้าพูดถึงเฟอร์นิเจอร์วัดสวนแก้วจะต้องได้ของราคาถูก แต่ปัจจุบันงานบางชิ้นมีราคาสูง อภิเดชมีคำอธิบายว่า ส่วนที่ราคาถูกก็ยังมีขายสำหรับชาวบ้านที่หาซื้อไปใช้ชั่วคราว แต่งานบางชิ้นก็มีต้นทุนสูง และมีความแตกต่างในรายละเอียด
“วัตถุดิบบางอย่างขึ้นราคา สีบางตัวหาซื้อไม่ได้ตามท้องตลาด ต้องดิ้นรนหามา ผมพยายามอัพเกรดสินค้าให้มันดีขึ้นตามราคาที่เราขาย ไม่ใช่ว่าผมขายคุณเมื่อแปดปีที่แล้วสามร้อย แต่คุณภาพยังเท่ากับขายสามพันตอนนี้ คุณภาพต้องดีกว่าเดิม เพราะเราเรียนรู้เพิ่มขึ้น เราทำงานดีขึ้น เราลงทุนเพิ่มขึ้น”
เขาบอกว่ามีนิสัยอยู่อย่างหนึ่ง คือถ้าทำอะไรต้องรู้ให้ลึกซึ้ง เพื่ออธิบายให้ลูกค้าฟังได้ และเขาไม่ได้คิดแค่ขาย แต่เขาคิดถึงความสุขในการขาย
“ผมจะคัดของที่น่าสนใจมาขาย อะไรที่ขายยาก ขายช้า ผมจะเปลี่ยน เราจะได้มีอารมณ์ร่วมในการขาย มีความสุขกับมัน มีลูกค้าจากอังกฤษเขาบอกว่ามาที่ร้านผมไม่เคยเห็นสินค้าซ้ำกันเลย ผมไม่อยากให้ซ้ำ เพราะคนขายจะขาดแรงบันดาลใจในการพรีเซนต์ คือไม่อยากพูดอะไรที่ซ้ำซากน่าเบื่อกับลูกค้า อีกทั้งจะทำให้เราไม่มีอารมณ์สร้างงานใหม่ๆ”
อภิเดชมีความสุขอยู่กับงานได้ทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเพราะบุญคุณของหลวงพ่อพระพยอมซึ่งเสมือนพ่อคนที่สอง อีกส่วนก็คือลูกค้าซึ่งครั้งหนึ่งอาจเคยเป็นผู้บริจาคของ
“ผมถือว่าลูกค้าที่มาซื้อสินค้าที่วัดสวนแก้วมีบุญคุณกับผม บางคนอาจเคยบริจาคของให้กับวัด เขาช่วยผมตั้งแต่เริ่มฝึกงานช่างตอนมาอยู่วัดวันแรก เพราะถ้าไม่มีเขา เราก็ไม่ได้มีชีวิตอยู่ตอนนี้ นี่คืออานิสงส์ของผู้บริจาคของมา ทำให้เรามีงาน มีชีวิตที่ดีขึ้น เป็นสุจริตชนที่ประกอบสัมมาชีพ ไม่ต้องไปลักขโมย ไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่ต้องไปฉ้อโกงใคร”
ชีวิตที่ร่มเย็นใต้ร่มใบบุญของวัดสวนแก้ว เป็นแปดปีที่เขาเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา เขาไม่เคยลืมคำสอนของหลวงพ่อที่คอยสั่งสอนตั้งแต่แรกที่ก้าวเข้ามาในวัด
“ทุกวันพระ หลวงพ่อจะเทศน์ให้คนงานในวัดฟัง ท่านสอนเรื่องการใช้จ่าย เรื่องการใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบัน ว่าอย่าไปฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมอะไรกับแฟชั่นภายนอก ให้พออยู่พอกิน รู้จักเก็บหอมรอมริบ เพราะอนาคตไม่แน่นอน เราต้องพร้อมทุกสถานการณ์”
อภิเดชรู้ว่าทั้งหมดคือแนวทางชีวิตที่พอเพียง