แปลและเรียบเรียง : กำพล พกนนท์
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ FDA ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่า ปลาแซลมอนแอตแลนติกที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรมจากกระบวนการทางพันธุวิศวกรรม หรือ จีเอ็มโอ สามารถนำมาใช้ปรุงอาหารได้โดยไม่มีผลข้างเคียงต่อสุขภาพหรือมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งแซลมอนรุ่นนี้จะโตเร็วกว่าปกติ 2 เท่า และอีกไม่นานจะประกาศให้สามารถนำมาวางขายในร้านได้
ฝั่งอังกฤษ หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์จากราชสมาคมแห่งลอนดอนกำลังยื่นเรื่องให้รัฐบาลอังกฤษพิจารณารับรองให้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมเป็นไม้ตายก้นหีบรับมือกับภาวะวิกฤติอาหารที่มีแนวโน้มว่าจะขาดแคลนในศตวรรษที่ 21 แม้จะมีผู้ไม่เห็นด้วยกับเทคโนโลยีนี้ทั่วโลกเพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัย และการเลี้ยงดูที่ไม่ทั่วถึงซึ่งอาจทำให้ปลาดัดแปลงพวกนี้หลุดออกสู่ทะเลไปผสมพันธุ์กับปลาทะเล ซึ่งอาจมีความเสี่ยงเรื่องการกลายพันธุ์ และอาจมีการไม่ติดฉลากระบุพันธุ์ปลาให้ชัดเจน
บริษัท อควาเบาน์ตี้ เทคโนโลยี ผู้วิจัยและพัฒนาแซลมอนจีเอ็มโอ จากแมสซาชูแซตส์ ระบุว่าแซลมอนดัดแปลงพันธุกรรมจะเติบโตไปเหมือนกับปลาที่เป็นหมันและเลี้ยงดูในระบบบ่อแบบปิด ทำให้การหลุดรอดของแซลมอนจีเอ็มโอเป็นเรื่องแทบจะเป็นไปไม่ได้ และการผสมพันธุ์กับแซลมอนทะเลนั้นก็เป็นเรื่องยากเพราะดีเอ็นเอแตกต่างกัน ทั้งยังมีผลประเมินบรรจุผลิตภัณฑ์ยาที่ใช้กับสัตว์ (New Animal Drug Application) ซึ่ง FDA ให้การรับรองแล้ว แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า “เมื่อมีการผลิตและเพาะเลี้ยงอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดเท่านั้น”
ประวัติศาสตร์การกำเนิดแซลมอนดัดแปลงพันธุกรรมนั้นเริ่มตั้งแต่ช่วงปี 1980 แต่ถูกหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาคอยตรวจสอบอย่างเข้มข้นยืดเยื้อยาวนานกว่า 17 ปี เพื่อรับรองว่าจะไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค จนในปี 2010 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกา หรือ FDA ประกาศรับรองความปลอดภัยของแซลมอนจีเอ็มโอนี้ แต่ก็ถูกเตะถ่วงโดยผู้มีอำนาจในวอชิงตัน ด้วยความกังวลจะกระทบคะแนนเสียงขณะใกล้ช่วงเวลาเลือกตั้งประธานาธิบดี จนเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา นายรอน สโตติช ประธานบริษัท อควาเบาน์ตี้ เทคโนโลยี ผู้วิจัยและพัฒนาแซลมอนจีเอ็มโอ ถึงกับควันออกหูที่ อย.สหรัฐ เบี้ยวคำสัญญา ไม่ยอมตีพิมพ์การประเมินผลการทดสอบแซลมอนออกสู่สาธารณชน จึงจำเป็นต้องออกมาโวยผ่านสื่อด้วยตัวเอง
………………………………………………..
ที่มา : independent.co.uk