จากเหตุไฟไหม้บ่อขยะแพรกษา เนื้อที่ 150 ไร่ในอำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างวันที่ 16-23 มีนาคม 2557 ถือเป็นเหตุไฟไหม้รุนแรงที่ต้องระดมกำลังมากกว่า 500 คน ตั้งแต่ นักดับเพลิง เจ้าหน้าที่ควบคุมเครื่องจักร และอาสาสมัครจาก อบต. และเทศบาลต่างๆ ในจังหวัดสมุทรปราการกว่าจะควบคุมเพลิงได้ต้องใช้เวลาถึง 8 วัน
สำหรับภาพรวมความเสียหายด้านสุขภาพเบื้องต้น พบว่ามีผู้ป่วยเข้ารับบริการหน่วยพยาบาล 833 คน และเพิ่มเป็น 1,328 คนใน 2 สัปดาห์แรก (16-28 มีนาคม) อาการทั่วไปที่เกิดขึ้นคือ แสบจมูก แสบคอ ระคายเคืองตา แต่ก็มีผู้ป่วยอาการหนัก เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก และปอดติดเชื้อ โดยเฉพาะคนชรา เด็กเล็ก และนักดับเพลิงที่เข้าไปในพื้นที่
นอกจากมลพิษทางอากาศซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้อาศัยโดยรอบบริเวณอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว สิ่งที่อาจมองไม่เห็น แต่คาดว่าจะเกิดขึ้น เช่น การปนเปื้อนของสารพิษลงในแหล่งน้ำ ไปจนถึงปนเปื้อนสู่ชั้นน้ำใต้ดิน
สถานการณ์ในพื้นที่ ณ ปัจจุบัน อาจอยู่ในระดับที่ควบคุมได้หากไม่มีการขนขยะเข้าไปทิ้งเพิ่มเติม แต่หลังจากนี้ ใครจะช่วยรับประกันสุขภาพของประชาชนที่ต้องอยู่อาศัยและดำเนินชีวิตอยู่ในพื้นที่ แม้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการจะประกาศให้พื้นที่รัศมี 1 ตารางกิโลเมตร เป็น ‘พื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉินระดับชาติ’ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขก็ประกาศว่า พื้นที่ในรัศมี 1 กิโลเมตร เป็นพื้นที่อพยพ ซึ่งครอบคลุมชาวบ้านประมาณ 200 ราย
ต้นแบบการแก้ปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และการจัดการบ่อขยะอย่างยั่งยืนควรเป็นอย่างไร งานสัมมนา ‘แพรกษาโมเดล?’ และแนวทางการจัดการปัญหาบ่อขยะในประเทศไทย ณ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 7 กรกฎาคม 2557 ที่เปิดโอกาสให้ทั้งนักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐ เอ็นจีโอ และภาคประชาชนเข้าร่วมเสนอปัญหาและแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน อาจมีคำตอบให้กับเรื่องนี้ว่าจะเดินหน้าไปในทางใด
สิ่งที่ดูไกลตัวผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ อย่างเรื่องไฟไหม้บ่อขยะ อาจไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป โดยเฉพาะสำหรับผู้ชอบรับประทานปลาสลิด เนื่องจากพื้นที่โดยรอบบ่อขยะ มีการเพาะเลี้ยงปลาสลิด แม้ปัจจุบันจะยังไม่พบการปนเปื้อนของโลหะหนักและสารอันตรายเกินมาตรฐาน แต่เมื่อปัญหาขยะไม่ได้จบที่ขยะ แต่เริ่มกระทบกระเทือนเข้าไปยังห่วงโซ่อาหาร อาจจะเป็นวิกฤติรอบใหม่ที่ทำให้เรานิ่งเฉยกับปัญหาขยะไม่ได้อีกต่อไป
เพราะขยะไม่ใช่แค่เรื่องเทคนิก
ดร.อาภา หวังเกียรติ สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ข้อมูลกรณีภูเก็ต ซึ่งเป็นบ้านเกิดว่าเป็นจังหวัดแรกที่ดำเนินการเตาเผาขยะในไทย ตอนนี้ขยะในภูเก็ตก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากสมัยก่อน 250-300 ตันต่อวัน เดี๋ยวนี้เพิ่มเป็น 500-600 ตันต่อวัน
การสร้างเตาเผาขยะแห่งแรกเป็นไปได้ด้วยดี แต่พอจะมีโครงการจัดสร้างเพิ่มอีกแห่ง ทางเทศบาลของบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อม ของกระทรวงทรัพยากรฯ ก็ไม่ได้รับการสนับสนุน แต่ได้ข้อเสนอให้พยายามลดปริมาณขยะลง ซึ่งท้ายที่สุด เทศบาลก็พยายามผลักดันจนได้ก่อสร้างด้วยวิธีร่วมทุนกับเอกชน
“เรื่องขยะมันไม่ใช่เรื่องเทคนิกหรือการจัดการอย่างเดียว มันมีเรื่องการเมืองและผลประโยชน์ด้วย ซึ่งทำให้การจัดการขยะมันยากจริงๆ ที่ภูเก็ตนี่อย่างไรก็ต้องสร้างเตาเผา โดยวิธีคิดที่ว่า จะจัดการอย่างไรก็ได้ คิดว่าถ้าเผาแล้วขยะจะหายไป”
การปะทุของปัญหาที่แพรกษา ดร.อาภามองว่า น่าจะคล้ายๆ กับการที่ฝีหนองมันแตกออกมา เนื่องจากการจัดการขยะของบ้านเรามีปัญหา อีกอย่าง เพราะแพรกษาไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ทำให้ส่วนกลางที่เป็นศูนย์กลางอำนาจของประเทศให้ความสำคัญกับการจัดการขยะขึ้นมา ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น การจัดการขยะและผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของชาวบ้านที่อาศัยใกล้บ่อขยะเท่านั้น
การสะสางระบบการจัดการขยะ ต้องจัดการกับหลักการและวิธีคิดเรื่องนี้ก่อน ตั้งแต่หน่วยงานรัฐ ชุมชน องค์กรต่างๆ ในการมองขยะเป็นทรัพยากร แล้วก็พยายามจัดการขยะและลดให้เหลือน้อยที่สุด
ดร.อาภาตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อปรับหลักการและวิธีคิดแล้ว จะสามารถเอาชนะผลประโยชน์ที่อยู่เบื้องหลังการจัดการขยะได้หรือไม่ ก็เป็นประเด็นสำคัญประเด็นแรกๆ ที่ต้องสะสาง
สอง เรื่องเทคนิกในการจัดการขยะ มีหลายเทคนิก ส่วนตัวคิดว่าจะเสนอเทคนิกอย่างไรก็ได้ แต่ประชาชนต้องมีส่วนร่วม และต้องมีการเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจน
สาม การติดตาม ตรวจสอบบ่อขยะหรือการวางแผนป้องกันเวลาเกิดเหตุ
กรณีเพลิงไหม้โรงงาน IRPC ที่มาบตาพุดเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ดร.อาภาให้ข้อมูลว่า เวลามีเหตุฉุกเฉิน Emergency Response หรือการตอบสนองในภาวะฉุกเฉินก็ยังมีปัญหา ฉะนั้น อาจจะไม่ต้องพูดถึงหลุมขยะเลยว่ามีการเตรียมตัวอย่างไรที่จะจัดการกับภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้น
“เมื่อใดที่ประเทศไทยมีกฎหมายเปิดเผยข้อมูลมลพิษ ถ้าโรงงานอุตสาหกรรมถ้ามีขยะที่เกิดขึ้น จะจัดการอย่างไร ไปไหนบ้าง แล้วอยู่ในระบบที่ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้ เราก็จะพูดบนฐานของข้อมูลตัวเดียวกันว่า ขยะอุตสาหกรรมมันมากหรือน้อย ที่บอกว่าจะต้องเอากากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบภายใน 2-3 เดือน ก็น่าเป็นห่วง เพราะเห็นสภาพความเป็นจริงอยู่ว่าโรงงานกำจัดกับปริมาณขยะยังไม่สัมพันธ์กัน
“อีกเรื่องที่ห่วง แต่ไม่รู้ว่ากฎหมายจะไปดูได้ไหม คือ ขยะที่มาจากต่างประเทศ ขยะที่มาจาก FTA ขยะอิเล็กทรอนิกส์ คิดว่าจะต้องสะสางเรื่องพวกนี้ให้หมด”
สำหรับแพรกษาโมเดล ดร.อาภาเห็นด้วยกับชาวบ้านว่าจะต้องปิดพื้นที่ ณ ขณะนี้ แต่ขอให้เป็นการปิดพื้นที่ที่มีการเปิดเผยข้อมูล
“การจะแก้ไขปัญหาตอนนี้ต้องหยุดการเอาขยะเข้าไปดั๊มพ์ในพื้นที่ก่อน แล้วเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดออกมาในที่แจ้งให้คนรับรู้ หรืออาจจะผลักดันจากแพรกษาโมเดล ไปถึงสมุทรปราการโมเดลเลย ความจริง ใกล้ๆ แพรกษายังมีอีก 2 หลุม ถ้าดูเฉพาะแพรกษาที่เดียวอาจจะไม่พอ ถ้ายกระดับเป็น ‘สมุทรปราการโมเดล’ แล้วเอาบทสรุปทั้งหมดที่ได้มาเป็น ‘ไทยแลนด์โมเดล’ ในเรื่องการจัดการขยะ”
สำหรับกรณีแพรกษาโมเดล ดร.อาภาเห็นว่ามีความจำเป็นต้องตั้งคณะทำงานระดับชาติที่มีชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ลงไปดูเลยว่าพื้นที่นั้นเป็นอย่างไร ทำการศึกษาแล้วเสนอทางออก เพราะตอนนี้เหมือนทุกคนยังพูดอยู่บนฐานจากวิชาการ ไม่ใช่จากฐานของข้อมูลที่ศึกษาจากพื้นที่จริง
เปลี่ยนมุมที่เคยมองขยะ
“ตอนนี้ขยะมันเยอะมาก เราต้องใช้ปัญญาในการแก้ไข” ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยากให้เปลี่ยนมุมมองที่มีกับขยะ ให้กลายเป็นวัสดุที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้แทน
ธาราให้ข้อมูลว่า ขยะมูลฝอยในชุมชนกับขยะพิษหรือขยะอุตสาหกรรม มีแนวโน้มที่จะมาผสมปนเปกันในสายพานการจัดการขยะประเทศไทย หากดูข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษในปี 2546 จะพบว่า กากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายมีประมาณ 3 ล้านตัน กำจัดถูกต้อง 2 ล้านตัน ที่เหลือจะเป็นการลักลอบทิ้ง
แต่ขยะพิษเหล่านั้น ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งมาจากชุมชน เพราะขยะบางชนิดที่ต้องแยกจัดการ มาจากของเสียที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ตอนนี้ทางกรมควบคุมมลพิษก็ผลักดันให้มีร่างกฎหมายขึ้นมาเพื่อจัดการ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีความก้าวหน้าพอสมควร เพียงแต่อาจจะต้องบูรณาการมาตรการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
“ตอนไฟไหม้บ่อหลุมขยะที่แพรกษา ได้ข่าวว่าควันไปไกลถึงบางนา แล้วข้ามมาถึงสุวรรณภูมิ ผมก็นึกถึงตัวเอง เพราะจริงๆ แล้วเราก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของวงจรนั้น เพราะขยะชิ้นหนึ่งจากเรา อาจจะหลุดไปอยู่ที่นั่นก็ได้”
เหตุไฟไหม้บ่อขยะครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าสังคมบริโภคที่เราอาศัยอยู่ในปัจจุบัน บริโภคจนล้นเกิน กินเหลือใช้เหลือทิ้ง พอไปชนกับข้อจำกัดบางอย่าง มันก็ย้อนกลับมาหาตัวเราเอง
พอควันจางหายไป เรื่องขยะก็เริ่มห่างไกลจากความรับรู้ของทุกคนตามไปด้วย แล้วพวกเราก็สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ โดยหลงลืมมันไปเรียบร้อยแล้ว
เราจะเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเรา เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตที่เราอาศัยอยู่
อีกเรื่องที่พูดกันมานาน คือเรื่องเศษอาหาร ธาราตั้งคำถามว่า ทำไมเราไม่มีนวัตกรรมหรือภูมิปัญญาที่จะแยกเศษอาหารออกมา
เพราะเวลาทิ้งเศษอาหาร มันก็จะปะปนอยู่กับกระดาษ ถุงพลาสติกหรือภาชนะต่างๆ ทำให้เศษอาหารกว่าครึ่ง อย่างในกรุงเทพฯมีเศษอาหาร 42 เปอร์เซ็นต์ ปนอยู่กับกระดาษ พลาสติก และเศษขยะชิ้นอื่นๆ ในถังขยะ ถึงจะแยกออกมาภายหลัง เศษอาหารดังกล่าวก็กลายเป็นสิ่งปนเปื้อนเรียบร้อยแล้ว”
ธาราให้ข้อมูลว่า จากสถิติคนสมุทรปราการใช้ประโยชน์จากการนำขยะกลับมาใช้ใหม่สูงกว่าคนกรุงเทพ แสดงให้เห็นว่าภาคประชาชนมีความพยายามที่จะทำเรื่องนี้ แต่อาจจะยังไปไม่ถึงเป้าที่วางไว้ ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษบอกว่า อัตราการรีไซเคิลของประเทศไทยตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 28 แต่ทำจริงๆ ได้ประมาณร้อยละ 19 เท่านั้น
อีกเรื่องที่ธาราเสนอ คือ เวลาคิดถึงวัสดุต่างๆ ที่ทิ้งไปแล้วสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เทียบกับเมื่อต้องส่งมันเข้าเตาเผาขยะทันที เช่น หากรีไซเคิลพลาสติก PET แทนการเผาได้จะสามารถอนุรักษ์พลังงานได้ถึง 26 เท่า เรื่องนี้ก็สมควรได้รับการพิจารณาในเรื่องการวางแผนจัดการขยะเช่นเดียวกัน
มองจากมุมคนพื้นที่
พ.จ.ท.อุดร บุญช่วยแล้ว หนึ่งในผู้ประสบภัย อยู่ในเครือข่ายต่อต้านบ่อขยะแพรกษา อดีตปลัด อบต. แพรกษา ผู้นำชุมชนต่อต้านบ่อขยะแพรกษาตั้งแต่ปี 2540
“บ่อขยะที่กล่าวมาทั้ง 3 บ่อ (ต.แพรกษา ต.แพรกษาใหม่ และต.บางปลา) จริงๆ ในแพรกษามีมากกว่านั้นอีก เฉพาะตัวเลขที่ อปท. ในพื้นที่ได้รับ อยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 300,000-400,000 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่ใช่องค์กรเดียวที่ได้ประโยชน์”
อุดรไม่ได้ต้องการชวนหน่วยราชการทะเลาะด้วย เขาเพียงอยากช่วยจุดประกายให้เกิดการแก้ปัญหาที่แท้จริง เพราะถ้าหน่วยงานรัฐไม่เข้ามาช่วยเหลือ ไม่มีทางที่ชาวบ้านจะได้อะไร แล้วเรื่องก็จะจบไป
เขาเชื่อว่าไฟไหม้บ่อขยะในครั้งนี้จะไม่สูญเปล่า อย่างน้อยก็เป็นประเด็นให้ต้องหยิบยกมาพูดกันในระดับประเทศว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญอย่างแท้จริง
“ผ่านมา 5-6 เดือนแล้ว ผู้ว่าฯประกาศเป็นเขตช่วยเหลือความเดือดร้อน 200 คน แต่ที่เราบอกคือขยะมันเดือดร้อนกันไปถึงกรุงเทพฯ ในเขตสะพานสูง น่าจะเป็นหลายหมื่นคน แต่เขาประกาศมา 200 คน หมู่บ้านที่อยู่ใกล้ๆ บ่อขยะนี่ยังเกินแล้วเลย ไหนจะหมู่บ้านอื่นๆ อีก”
สำหรับข้อมูลความลึกของบ่อขยะแพรกษา อุดรให้ข้อมูลว่าอยู่ที่ 100 เมตร ดินในบ่อนี้ ขุดแล้วไม่ได้ถมที่เฉพาะในนิคม แต่นำไปถมทั้งจังหวัด
“เท่าที่ฟังข้อมูลบอกว่าเป็นบ่อขยะชุมชน แต่ทุกวันนี้จะเห็นว่าไม่ใช่ เพราะ อบต. ก็ไม่ได้อนุญาต ไปๆ มาๆ เราสู้กันว่าบ่อนี้เป็นบ่อผิดกฎหมาย เป็นบ่อลักลอบทิ้ง แล้วชาวบ้านก็ต่อสู้กันมา แต่วันนี้ข้อมูลเปลี่ยนเสียแล้ว กลายเป็นบ่อขยะชุมชน”
ไฟไหม้บ่อขยะสู่วาระแห่งชาติ
จากประสบการณ์ตรงที่ได้จากการลงพื้นที่สำรวจบ่อขยะทั่วประเทศในปี 2555 และในปี 2556 ก็มีโอกาสออกสำรวจจุดลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรมทั่วภาคตะวันออก 40 จุด ทิวา แตงอ่อน ผู้ติดตามศึกษาปัญหาขยะอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเห็นว่าปัญหาที่กำลังพูดถึงอยู่นี้ เป็นการพูดถึงและพยายามแก้ที่ปลายเหตุเท่านั้น ว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะแก้ไขเยียวยาอย่างไร แต่เรายังไม่ได้พูดถึงต้นเหตุที่แท้จริง
ทิวามองว่าต้นเหตุของปัญหาขยะอุตสาหกรรมมี 2 ประการด้วยกัน
หนึ่ง หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงไม่ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา บางส่วนละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และมีผลประโยชน์ร่วมด้วย
สอง ประเทศไทยยังมีบ่อฝังกลบขยะไม่พอ ตอนนี้บ่อฝังกลบขยะ (ศูนย์บำบัดขยะอุตสาหกรรม) ที่เป็นกิจจะลักษณะ คือ ที่โปรเวสต์ [บริษัท โปรเฟสชั่นแนล เวสต์ เทคโนโลยี่ (1999) จำกัด]สระแก้ว, เกรตเตอร์ สระบุรี, เจนโก้ มาบตาพุด (ปิดทำการไปเมื่อปี 2553 แล้วย้ายไปทิ้งที่ จอมบึง ราชบุรี)
ตอนนี้ที่เกรตเตอร์ สระบุรี ถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุด อยู่ที่ 200 ไร่ กำลังจะขยายเป็น 600 ไร่ แต่ชาวบ้านยังไม่ยอม
“ข้อมูลจากรองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมบอกว่าเรามีโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ 130,000 โรง วันหนึ่งถ้าโรงงานผลิตขยะอุตสาหกรรมอันตราย 10 กิโลกรัม เราจะมีขยะอุตสาหกรรมอันตรายวันละ 300,000 กิโลกรัม ถามว่า เราจะเอาไปไว้ที่ไหน ในเมื่อบ่อขยะอุตสาหกรรมเรามีน้อยมาก มี 4 แห่งเท่านั้นเอง แล้วพื้นที่รวมกันไม่เกิน 1,000 ไร่ แล้วเราจะรองรับขยะอันตรายปีละหลายล้านตันได้อย่างไร
“ตอนนี้ ราคาต่ำสุดที่รับจัดการกากขยะอุตสาหกรรมอันตราย เฉพาะของแข็ง อยู่ที่ 7,000 บาท สำหรับการบำบัดน้ำเสียอยู่ที่ 2,500-5,000 บาท”
ทิวาเสนอให้มีการยกระดับการจัดการขยะของประเทศเป็นวาระแห่งชาติ และไม่ควรมีเฉพาะข้อเสนอของหน่วยงานราชการอย่างเดียว ต้องมีข้อเสนอของผู้ได้รับผลกระทบ รวมถึงมุมมองของผู้ประกอบการ ว่าคิดเห็นอย่างไร ตรงไหนจัดการไม่ได้ ติดขัดตรงไหน ต้องมี 3 ส่วนนี้ ปัญหาและมุมมองจึงจะครบถ้วน
สองประเด็นสำคัญที่ทิวานำเสนอขึ้นมาเพื่อการจัดการขยะอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ
หนึ่ง ถ้าโรงงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ควรมีบ่อฝังกลบขยะข้างในนิคมฯ ขยะจะได้ไม่มาเพ่นพ่านข้างนอก โครงการ 1 นิคมอุตสาหกรรม 1 บ่อฝังกลบขยะ จะช่วยลดเรื่องการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่างๆ ได้
สอง สำหรับโรงงานที่อยู่นอกนิคมฯ ซึ่งมีมากกว่า รัฐอาจต้องเป็นผู้จัดที่ดินแปลงใหญ่อย่างน้อย 6 บ่อ ทั้ง 6 ภาค เนื่องจากเอกชนไม่สามารถหาพื้นที่จัดการขยะได้
“นอกจากขยะชุมชน ขยะอุตสาหกรรม ขยะติดเชื้อ และขยะสารกัมมัน ยังมีน้ำเสียจากแท่นขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทย ซึ่งจะมาขึ้นที่ท่าเรือศรีราชาและสงขลา และที่สำคัญอีกเรื่องคือ การลักลอบนำเข้าขยะจากต่างประเทศเข้ามาฝังกลบในประเทศจะมาขึ้นที่ท่าเรือมาบตาพุด
“ญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ เคยประสบปัญหาขยะอุตสาหกรรม แต่ตอนนี้เรากำลังจะเป็นถังขยะของเขา ฉะนั้นขอฝากให้ทุกท่านในที่นี้ยกเรื่องการจัดการขยะเป็นวาระแห่งชาติให้ได้”
ข้อสรุปแพรกษาโมเดล
จากข้อมูลที่มีการนำเสนอและแลกเปลี่ยนตลอดงานสัมมนา เพ็ญโฉม แซ่ตั้งผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศเป็นผู้นำเสนอข้อสรุปใน 2 ประเด็นหลัก คือ การแก้ไขปัญหา ณ ปัจจุบัน และ การวางแผนเพื่อการแก้ไขปัญหาในอนาคต
สำหรับการแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน กรมควบคุมมลพิษบอกว่าจะมีการขนขยะไปจัดการที่อื่น และจะพยายามขนให้หมดภายใน 2 ปี แต่เรายังมีคำถามที่จะต้องฝากไปพิจารณากันต่อ คือ
หนึ่ง ขยะนั้นจะย้ายไปไหน แล้วจะไปก่อปัญหาอื่นอีกหรือไม่
สอง การเอาขยะไปจัดการที่อื่น ตรวจสอบได้หรือไม่ว่าจะไปจัดการอย่างไร จะก่อปัญหาอะไรหรือเปล่า พื้นที่ที่มีการขนขยะไปแล้ว ดินจะทรุดหรือไม่ และจะพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเป็นอะไรต่อไป
ส่วนกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะมีนโยบายเข้มงวดมากขึ้นในการควบคุมการกำจัดกากอุตสาหกรรมจากโรงงานต่างๆ โดยเร่งรัดให้เกิดขึ้นภายใน 2 เดือน ถ้าทำได้ ก็จะลดปัญหาขยะได้ แต่ปัญหาใหญ่ของประเทศไทยคือกากสุดท้ายที่เกิดจากการรีไซเคิล และกากสุดท้ายปริมาณมหาศาลอยู่ที่แพรกษา ก็อยากทราบว่ากากสุดท้ายจากการรีไซเคิลจะจัดการอย่างไร
การที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีการส่งเสริมให้มีการตั้งโรงงานประเภทที่ 105 (โรงงานคัดแยกและฝังกลบ) และ 106 (โรงงานรีไซเคิล) อย่างง่ายๆ นี่จะเป็นปัญหางูกินหาง เมื่อให้ตั้งโรงงานประเภทนี้มากขึ้น กากสุดท้ายก็จะเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน จะจัดการและควบคุมอย่างไร
ประเด็นต่อมา คือ จะควบคุมขยะจากต่างประเทศอย่างไร ทุกวันนี้ เชื่อว่ามีการนำเข้าขยะจากต่างประเทศปริมาณมาก ประชาชนไม่เคยรู้ข้อมูลพวกนี้เลยว่า ใครนำเข้า นำเข้าปริมาณเท่าไหร่ แล้วขยะเหล่านั้นไปที่ไหน จัดการอย่างไร ก่อผลกระทบหรือไม่
ในการแก้ปัญหาการจัดการขยะ มีผู้เสนอให้มีการตั้งคณะทำงานระดับชาติในการแก้ปัญหาแพรกษาและปัญหาขยะ ทางกรมควบคุมมลพิษและกรมโรงงานอุตสาหกรรมก็พูดว่าตอนนี้ทุกหน่วยงานถูกระดมไปประชุมกันที่ คสช. เพื่อหารือแนวทางในการแก้ปัญหาขยะ ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติอยู่แล้ว ณ ปัจจุบัน โดยที่เราไม่ต้องเรียกร้อง
ถ้ามีการตั้งคณะทำงานระดับชาติขึ้นมา กระบวนการและขั้นตอนในการแก้ไขปัญหาจะต้องตรวจสอบได้โดยชุมชน ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลการทำงาน มีการรายงานต่อสาธารณะ รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ คณะทำงานที่จะตั้งขึ้น ต้องพูดเรื่องการเยียวยาผู้ประสบภัย ตกลงชาวบ้านกลัวอะไร เขาเดือดร้อนอะไรเขาสูญเสียรายได้ไปเท่าไหร่ในช่วงเกิดเหตุการณ์ ทุกวันนี้เขาป่วยอะไรอยู่อีกไหม แล้วเขาจะเป็นอะไรต่อไป
ประเด็นสุดท้าย คือการสร้างสำนึกร่วมกันของผู้บริโภคและประชาชน
“ขยะเป็นเรื่องของพวกเราทุกคน ขยะจากบ้านเราไปทิ้งที่แพรกษา ขยะจากแพรกษาไปทิ้งที่ไหน
“เราแต่ละคนก่อขยะมากมาย ต้องร่วมกันรับผิดชอบ ดังนั้น ต้องผลักดันให้ผู้บริโภคและประชาชนหันมาเปลี่ยนแบบแผน เปลี่ยนวิถีชีวิต เพื่อให้การบริโภคของเราเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดปริมาณขยะลง”