สมนึก จงมีวศิน: ระเบิดเวลาหน้าบ้าน โรงงานกลางวงล้อมชุมชน

ท่ามกลางความหมองหม่นของสถานการณ์โควิด ความอึมครึมของสถานการณ์ทางการเมือง ผนวกกับเหตุเพลิงไหม้ ‘โรงงานกิ่งแก้ว’ ซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเม็ดโฟมพลาสติกของ บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด (Ming Dih Chemical) ซอยกิ่งแก้ว 21 หมู่ 15 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ตามมาด้วยเหตุไฟไหม้โรงงานผลิตน้ำหอมของ บริษัท ฟลอรอลแมนูแฟคเจอริ่งกรุ๊ป จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง เร่งให้บรรยากาศทางสังคมน่าหดหู่มากขึ้นอีกเท่าตัว แม้เหตุจะเกิดที่สมุทรปราการ แต่ได้สั่นสะเทือนไปถึงเรื่องความมั่นคงและคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยทั้งสังคม 

WAY Conversation พูดคุยกับ สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการจากกลุ่ม EEC Watch เพื่อวิเคราะห์แง่มุมต่างๆ จากเหตุการณ์พิบัติภัยที่เกิดขึ้น รวมถึงประมวลบทเรียนจากอดีตจนถึงปัจจุบันเพื่อการขับเคลื่อนไปสู่สังคมที่ปลอดภัยกว่า

จากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงาน เราเห็นอะไรบ้าง โดยเฉพาะในแง่ของความรุนแรงและการรับมือ

มันก็คือเหตุการณ์ที่ภาษาอังกฤษเขาเรียก เดจาวู (Déjà vu) ภาษาไทยก็คือเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นแล้วก็เกิดขึ้นอีก ในประเทศไทยเกิดเหตุการณ์แบบนี้หลายครั้ง ซึ่งสมัยก่อนพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ก็เป็นพื้นที่พัฒนาแรกๆ ตั้งแต่ก่อนที่จะมีแผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ปี 2504 ก็มีการพัฒนาอุตสาหกรรมเข้ามา โดยเฉพาะท่าเรือคลองเตยที่เป็นท่าเรือหลักของประเทศไทยในสมัยก่อน 

ต่อมาเราก็มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่เน้นการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงช่วงแผนที่ 5 ปี 2524-2525 เกิดการพัฒนาทางชายฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะจังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง ซึ่งพอการพัฒนามาทางด้านนี้ จังหวัดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น จังหวัดสมุทรปราการ ก็จะได้รับการพัฒนาด้วย ทำให้จังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร มีโรงงานอุตสาหกรรม มี warehouse ที่มีวัตถุอันตราย หรือวัตถุดิบในโรงงานที่ส่วนใหญ่จะเป็นสารเคมี เป็นสารที่สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย หรือสารที่ระเบิดได้ หรือลุกเป็นไฟได้ง่าย 

ถ้าหากมองวิวัฒนาการของท่าเรือคลองเตย จะเห็นว่าเหตุไฟไหม้คลองเตยไม่ได้เกิดขึ้นครั้งเดียว มันเกิดขึ้นหลายครั้ง อย่างในปี 2532, 2533 และ 2534 จนสุดท้ายเขาก็บอกว่าคลองเตยไม่ควรจะเก็บวัตถุอันตราย จึงมีการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 1 ก็คือข้างๆ บ้านผมเอง ตรงอำเภอศรีราชา แล้วก็ย้ายคลังสินค้ามาไว้ที่นี่ มันเป็นการเปลี่ยนจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง แต่การรับมือยังเหมือนเดิม อย่างเหตุการณ์ไฟไหม้ที่ผ่านมา ปรากฏว่าอาสาสมัครกู้ภัยเสียชีวิต 1 ท่าน มีคนบาดเจ็บและคนอื่นๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากสารเคมีที่รั่วไหล พวกสารสไตรีนโมโนเมอร์ และสารตัวอื่นๆ ที่จะต้องสืบหากันต่อไป 

ทั้งหมดนี้เกิดจากการพัฒนาประเทศไปสู่สังคมอุตสาหกรรมใหม่ โดยขาดนโยบายการควบคุมและรับผิดชอบต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดเหตุสลดใจ ซึ่งถ้าเอาเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นมารวมกัน ไม่ว่าไฟไหม้บ่อขยะแพรกษา หรือรถแก๊สระเบิดที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ปี 2533 หากจำไม่ผิดช่วงนั้นจะมีเหตุการณ์อุบัติภัยเยอะมาก จนมาถึงท่าเรือแหลมฉบังที่มีไฟไหม้แทบทุกปีถ้าเราได้ติดตามข่าว และยังมีไฟไหม้นอกเขตอุตสาหกรรม การพัฒนาอุตสาหกรรมโดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมย่อมเกิดปัญหาแบบนี้ ซึ่งนับเป็นเวลาหลายสิบปี เราก็ยังมีภาพแบบเดิมอยู่ และยังแก้ไขด้วยวิธีเดิมอยู่ 

อย่างเหตุการณ์ล่าสุด มีบางคนเสนอว่าจะเอาน้ำไปดับไฟ ซึ่งมันทำไม่ได้ มันอาจจะช่วยในลดความร้อนของตัววัสดุได้ แต่การเอาน้ำไปใส่ในไฟ โดยเฉพาะในเวลาที่กำลังเผาไหม้ มันกลับจะเกิดผลร้าย เพราะมันจะดึงเอาสารเคมีลงไปในน้ำ และออกซิเจนที่อยู่ในน้ำ อาจจะกลายเป็นเชื้อเพลิงขึ้นมาอีก 

องค์ความรู้พื้นฐานของการเกิดไฟไหม้หรือการระเบิด มันจะเกิดด้วยองค์ประกอบ 3 ตัวหลัก ในต่างประเทศเขาจะสอนหมดเลย สอนตั้งแต่อนุบาล แต่ในประเทศไทย วิศวกรบางคนก็ยังไม่รู้เลย ง่ายๆ พื้นฐานก็คือ 1. ออกซิเจน 2. ประกายไฟ 3. เชื้อเพลิง ของง่ายๆ แบบนี้ผู้ที่อยู่ในวงการบางคนยังไม่ทราบเลย เพราะเขาไม่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้โดยตรง เพราะฉะนั้นอย่าพูดถึงอาสาสมัครเลยเวลาที่เขาไปทำงาน และโดยเฉพาะอาสาสมัครที่เสียชีวิตอายุยังน้อยด้วย ผมรู้สึกเศร้าใจมาก เขาผ่านงานมาเยอะนะเท่าที่ทราบ แต่เขายังไม่เคยเจอสารเคมีแบบนี้และการลุกไหม้แบบนี้ เขาไม่รู้ว่าสารเคมีรั่วออกมาก่อนแล้วมันถึงเกิดประกายไฟ และยังมีก๊าซเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เรื่องนี้ต้องรอกองพิสูจน์หลักฐาน แต่จากเหตุการณ์ที่คนเล่ามาทั้งหมด ที่เขาวิ่งหนีจนหกล้มแล้วก็เกิดไฟไหม้บนตัวเขา คือเขาหนีก๊าซที่ติดไฟ

เมื่อสังคมไทยมุ่งไปสู่สังคมอุตสาหกรรม แต่มาตรการรับมือกลับไม่ได้พัฒนาไปด้วยกัน อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เป็นเช่นนี้

กฎหมายของเรามีการพัฒนานะ เช่น กฎหมายผังเมือง ปัจจุบันเรามี พ.ร.บ.ผังเมือง ฉบับแก้ไข ปี 2558 สมัยก่อนเราใช้ พ.ร.บ.ผังเมือง ปี 2518 เก่ามาก เราเคยมี พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ปี 2518 เราเคยมี พ.ร.บ.โรงงาน ปี 2518 ที่พัฒนาไปเป็น พ.ร.บ.โรงงาน ปี 2535 และปี 2562 ส่วน พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ก็พัฒนาเป็น ปี 2535 ต่อไปนี้โรงงานต่างๆ ที่จะสร้างขึ้นมา ถ้ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก็จะต้องมีการทำ EIA ต่อมาก็มีการพัฒนาไปอีกในยุครัฐธรรมนูญ ปี 2550 มีการแก้ไขเพิ่มเติมว่า ถ้ามันมีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ คุณต้องทำ EHIA พูดง่ายๆ คือทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ต่อมาเรามีรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ก็มีการแก้ไข พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ปี 2561 อีก จะเห็นว่าเรามีพัฒนาการมาตลอดเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่มันไม่เกิดขึ้นก็คือ การบังคับใช้ เพราะผู้บังคับใช้ไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง

โรงงานกิ่งแก้ว เขามาตั้งปี 2532 ในสมัยนั้นยังไม่มีการทำ EIA เพราะยังเป็นกฎหมายเก่า แต่ต่อมาเรามีกฎหมายใหม่ คำถามคือทำไมเราไม่ชวนเขาทำ EIA เพื่อจะให้เขารู้ว่ามีการพัฒนากฎหมายแล้ว เขาต้องควบคุมดูแลเรื่องอะไรบ้าง แต่ในกฎหมายเก่า เขาจะมีการทำรายงานที่เรียกว่า ESA (Environmental Safety Assessment) หรือ การประเมินสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย อันนี้กรมโรงงานเป็นคนดูแลเพียงกรมเดียว แล้วก็ส่งไปให้อุตสาหกรรมจังหวัด แค่นั้นก็จบกันไป เขาจะส่งรายงานนี้ทุกๆ ปี และโรงงานก็จะต้องดูแลระบบของตัวเอง เช่น หากรู้ว่าอะไรจะรั่วไหลก็ต้องมีการซ่อมบำรุง preventive maintenance ป้องกันไว้ก่อน เช่น ยางมันจะเสียก็เปลี่ยน วาล์วมันจะเสียก็เปลี่ยน มีการ shut down หยุดโรงงาน ทุกโรงงานอย่างน้อย 1 ปี ต้องมีการหยุด 1 ครั้ง ต้องมีการทำ MRO (maintenance repair and overhaul) คือซ่อมบำรุงรักษา อันไหนมันต้องเปลี่ยนก็คือเปลี่ยน แต่ต้องดูว่าเขาทำทุกปีหรือเปล่า ถ้าเขาไม่ทำ กรมโรงงานโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ในอุตสาหกรรมจังหวัดนั้นๆ ได้เข้าไปดูหรือเปล่า อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ แล้วสมมุติค้นพบว่าโรงงานนี้ดันเอาถังสารเคมีฝังไว้ใต้ดิน อันนี้ไม่ได้เลย เพราะสารเคมีบางชนิดมันอยู่ใต้ดินไม่ได้ เพราะมันทนความร้อน ทนความดันไม่ได้ และเป็นสารเคมีที่ระเบิดได้ อันนี้ก็ต้องไปดูเอกสารที่เรียกว่า MSDS มันก็จะบอกว่าควรจะจัดเก็บอย่างไร และจะบอกถึงมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง 

ในหนึ่งโรงงานมีสารเคมีหลายชนิด เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องเอามาดูควบคู่กัน และสิ่งหนึ่งที่เรายังไม่มีกฎหมายดูแลก็คือ วัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิต โดยเฉพาะวัตถุที่อันตราย มีจำนวนทั้งหมดกี่ตัน กี่กิโล เอาไปผลิตกี่ตัน กี่กิโล ส่งออกไปกี่ตัน กี่กิโล และกลายเป็นของเสียกี่ตัน กี่กิโล กฎหมายตัวนี้เรียกว่ากฎหมาย PRTR (Pollutant Release and Transfer Register) วัตถุดิบพวกนี้ถือว่าเป็นวัตถุอันตราย เป็นมลพิษ ถ้าเราสามารถรู้ข้อมูลแบบ realtime คือรู้ตลอดเวลาว่าเขาขนส่งอย่างไร เพราะเดี๋ยวนี้เรามีระบบคอมพิวเตอร์ ระบบอินเทอร์เน็ต เราก็ควรจะรู้ แต่กฎหมายนี้ผลักดันกันมาหลายปีแล้วก็ยังไม่สำเร็จ จะเห็นว่าเกิดการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม มีการกักเก็บสารเคมีไม่ถูกต้อง หรือกักเก็บเยอะเกินกว่าศักยภาพของโรงงานจะรับได้ ก็ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา อันนี้ก็เป็นเรื่องผังเมืองบวกกับการเข้าไปควบคุมดูแล

photo: ธนัญชัย แก้วโสวัฒนะ / Thai News Pix

อะไรทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่ดีพอ

เรื่องนี้มีผู้เกี่ยวข้องไม่กี่ภาคส่วน หนึ่งคือภาครัฐ ที่เป็นคนดูแลกฎหมาย ออกกฎหมาย สองคือภาคเอกชน กลุ่มอุตสาหกรรม สามคือภาคประชาชน ชุมชน พอแบบนี้ก็ต้องมีการทำผังเมืองให้ชัดเจนว่าชุมชนควรตั้งอยู่ตรงไหน ถ้าโรงงานอยู่ตรงนี้ ชุมชนก็ควรจะทิ้งระยะห่าง ถ้าโรงงานนี้กำลังขยายเพิ่มขึ้นหรือมีการซื้อที่ดินเพิ่มใกล้ชิดชุมชน ก็ต้องมีคนไปเตือนเขา ชุมชนเตือนเขาไม่ได้หรอก ก็ต้องเป็นรัฐไปเตือน หากขยายแบบนี้ ทำแบบนี้ได้ไหม หากมีการผลิตอะไรที่อันตราย ให้ย้ายไปในนิคมอุตสาหกรรม 

ประเทศไทยมีกฎหมายอื่นๆ ที่บอกว่า ถ้าหากคุณมีกิจการที่จะต้องดูแลรักษาอย่างดี คุณไม่ควรไปอยู่นอกเขตอุตสาหกรรม คุณควรอยู่ในนิคม เพื่อให้มีระบบที่จะดูแลได้ดี เช่น มีศูนย์ดับเพลิงของนิคม มีระบบกำจัดน้ำเสีย มีผู้เชี่ยวชาญไปช่วยดูแลให้ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเขต เช่น ตั้งโรงงานในเขต กทม. แล้วให้เจ้าหน้าที่เขตไปดูแล แบบนี้ไม่ได้นะ เขตไม่ได้มีองค์ความรู้เรื่องโรงงานทุกชนิด ผมไม่ได้บอกว่าเขตไม่เก่ง แต่เขตเขาไม่รู้หรอกว่าโรงงานพลาสติกต้องดูแลอย่างไร โรงงานปิโตรเคมิคอลจะต้องดูแลอย่างไร เขาไม่มีทางรู้ หรืออย่างต่างจังหวัดก็จะเป็นเทศบาล อบต. เขามีอย่างมากก็แค่กองช่าง กองสาธารณสุข องค์ความรู้ก็ไม่ได้มีมาก ฉะนั้นพวกนี้จำเป็นจะต้องมีศูนย์อุตสาหกรรมหรือนิคมอุตสาหกรรมเข้ามารองรับ ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมต้องอยู่ภายใต้นิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ก็จะปลอดภัยมากขึ้น 

ถ้าสังเกตในคลิปโรงงานไฟไหม้ จะเห็นได้ว่าตัวโรงงานอยู่ข้างหน้าและมีบ้านจัดสรรอยู่ข้างหลัง แต่ในศูนย์อุตสาหกรรมทำแบบนี้ไม่ได้นะ เพราะอยู่ชิดกันเกินไป มันต้องมีพื้นที่กันชน ต้องมีการล้อม ถ้าเป็นนิคมเขาจะมีต้นไม้ 3 ชั้น เพื่อป้องกันไม่ให้สารเคมีลอยออกไป และต้องมีพื้นที่ว่างเปล่าเว้นไว้ เผื่อเกิดอะไรขึ้น รถต่างๆ จะได้เข้าไปจอดได้ มีพื้นที่ให้ไปหลบภัยได้ หรือป้องกันไม่ให้ไฟลามไปถึงชุมชน เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้จึงสำคัญมาก 

แต่ผมก็ไม่ได้หมายความว่า นิคมหรือศูนย์อุตสาหกรรมในประเทศไทยทุกแห่งจะทำถูกต้อง มันก็มีบางพื้นที่ที่มีปัญหา แต่หากเทียบกับที่อยู่นอกนิคมหรืออยู่นอกเขตศูนย์อุตสาหกรรม ผมมองว่าปัญหามันหนักกว่า

อะไรเป็นปัจจัยให้โรงงานกับชุมชนตั้งอยู่ใกล้กันมากขึ้นเรื่อยๆ มีองค์ประกอบอะไรต้องพิจารณาบ้าง 

ผมขอย้อนกลับไปจุดที่ว่า สมมุติมีโรงงานตั้งอยู่นอกศูนย์อุตสาหกรรม เขาก็ต้องสร้างที่พักอาศัย สร้างตึก สร้างแมนชั่นให้คนงานเช่า หรือซื้ออยู่ ถ้าผู้บริหารข้างบนอยากจะอยู่บ้างก็อาจจะมีหมู่บ้านจัดสรร เพราะฉะนั้นช่องว่างของผังเมืองตรงนี้ต้องดูแลให้ดี คือคนพวกนี้เขาไม่ได้คิดถึงอันตรายหรอก เขาก็คิดเสมอว่าโรงงานเขาปลอดภัย และโรงงานพวกนี้ไม่ได้มีโรงงานเดียว ไปดูได้บนถนนกิ่งแก้ว บริเวณราชาเทวะ หรือข้ามมาในเขตกรุงเทพฯ ก็มีนิคมลาดกระบัง และมีโรงงานที่อยู่นอกนิคมลาดกระบัง ซึ่งเปรียบเสมือนห่วงโซ่อุปทาน 

เขาซัพพอร์ตกัน คนนี้เป็นวัตถุดิบของคนนี้ คนนี้เป็นสินค้าของคนนั้น เขาก็ไปอยู่รวมกัน แต่ถ้าวันใดเกิดอุบัติเหตุแบบนี้ ทุกคนก็ต้องหนีไปหาแมนชั่น ไปหาคอนโด หาโรงแรมอยู่ นี่ล่ะครับคือปัญหา ผมเลยบอกว่าเราไม่เคยเรียนรู้เรื่องนี้จริงๆ ถ้าเราเรียนรู้เรื่องนี้ตั้งแต่ 30 กว่าปี มันจะไม่มีเหตุการณ์ที่ว่าหมู่บ้านจัดสรรไปตั้งอยู่หลังโรงงาน หรือโรงงานขยายตัวไปชนหมู่บ้านจัดสรร

การจะตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ชุมชน ต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมายอะไรบ้าง 

ยากครับ คือต้องไปดูผังเมืองก่อนว่าผังเมืองเขากำหนดสีเป็นสีอะไร เช่น ถ้าเป็นผังเมืองสีม่วง คุณสามารถทำอุตสาหกรรมได้ ผังเมืองแต่ละจังหวัดเดี๋ยวนี้ก็ไม่ตรงกัน ต้องไปดูสัญลักษณ์ของผังว่าเป็นอะไร เช่น บางจังหวัดสามารถตั้ง warehouse ได้ บางพื้นที่ก็จะกำหนดอีกว่าเป็น warehouse สำหรับสินค้าปกติ แต่ถ้าคุณเอาไว้เก็บวัตถุอันตราย อันนี้ก็เป็นความผิดของเอกชน ถามว่ากรมโรงงานมีเจ้าหน้าที่ตรวจพอไหม ก็ไม่พอ หรือเจ้าหน้าที่อาจจะตรวจ แต่ละเลย อย่างนี้ก็มี คือไม่ได้ตรวจอย่างใส่ใจ แล้วก็ปล่อยไป วันดีคืนดีมันเกิดระเบิดขึ้นมา ก็มาแก้ปัญหากันทีหลัง การจะตั้งโรงงานได้ มันไม่ใช่เรื่องหมูๆ ต้องไปขออนุญาต ต้องยอมรับว่ามีบางโรงงานวิ่งเต้น มีการใช้แทคติกมากมาย เช่น ไปจดอะไรที่จดได้ไปก่อน เดี๋ยวค่อยไปเพิ่มทีหลัง แล้วค่อยออกใบอนุญาตเพิ่ม บางทีก็แอบขยายกิจการโดยที่กรมอุตสาหกรรมจังหวัดไม่รู้ พอไปตรวจเจอก็ทำเป็นเงียบๆ กันไป นี่คือกระบวนการที่มันเกิดขึ้น ผมใช้คำว่าคอร์รัปชันเชิงนโยบายก็แล้วกัน 

ส่วนการอนุมัติในการก่อสร้าง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.โรงงาน ตอนนี้บอกชัดเจนเลยว่าถ้าเป็นโรงงานที่มีเครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า คนงานไม่เกิน 7 คน ไม่ต้องขอใบอนุญาตจากกรมอุตสาหกรรมจังหวัด ให้ไปขอใบอนุญาตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เลย คำถามคือคนที่ อบต. หรือเทศบาล มีองค์ความรู้เรื่องนี้ไหม เครื่องจักรที่ไม่เกิน 50 แรงม้า แต่เป็นเครื่องจักรที่ก่อให้เกิดความเสียหายหรืออันตรายมันก็มี หรือถ้าใครฉลาดอาจจะไปขอทีละใบ ผมขอ 7 ครั้ง อบต. ก็อนุมัติให้ผม 7 ครั้ง 50 คูณ 7 เป็นเท่าไหร่ 350 แรงม้า เทคนิคมันมีเยอะ 

ถ้าลองไปตรวจสอบโรงงานทั้งหมด แล้วเทียบกับผังเมืองปัจจุบันดูว่าตรงกันไหม ผมเชื่อว่ามันไม่ตรง 

เทคนิคการวิ่งเต้นสะท้อนอะไรในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับกลุ่มทุนผู้อยู่เบื้องหลังของโรงงานเหล่านี้

มันเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของรัฐกับกลุ่มทุน เช่น อบต. เทศบาล หรืออุตสาหกรรมจังหวัด ถึงแม้เขาไม่อยากทำ แต่ถูกบีบมา มีบางโครงการทางท้องถิ่นไม่ได้สนใจเลย โครงการที่ต้องขอ EIA หรือ EHIA เป็นโครงการที่สำคัญโดยภาครัฐผลักดันลงมา เขาก็จะผลักเข้ากระบวนการพิจารณาส่วนกลาง แต่หากเป็นอะไรง่ายๆ เช่น สร้างคอนโด ก็ตั้งคณะกรรมการจังหวัดพิจารณากันได้ แต่บางโครงการที่ต้องให้ภาครัฐส่วนกลางเป็นผู้พิจารณาแทน ก็จะทำให้คนในพื้นที่ไม่ได้มีส่วนร่วมจริงๆ ก็จะคล้ายๆ EEC เลย เพราะคนใน EEC ก็ไม่ได้มีส่วนร่วมจริงๆ ส่วนกลางเป็นคนคิด ผิดตั้งแต่ผังเมือง มีปัญหาตั้งแต่เริ่ม 

ตอนนี้มีประชาชนใน 3 จังหวัด EEC ฟ้องเรื่องผังเมืองกับศาลปกครองสูงสุด ศาลก็ได้รับฟ้องไปเรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้น ผมกำลังจะบอกว่า พอเถอะกับกระบวนการแบบนี้ ให้ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมกับชุมชนอุตสาหกรรมใหม่มาออกแบบร่วมกัน โดยมีรัฐมาให้คำแนะนำ ผมว่าอย่างนี้ดีกว่า แล้วถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมาหรือมีกิจการที่สุ่มเสี่ยงก็บอกเขาไปตรงๆ ว่าอย่ามาตั้งเลย มันเต็มแล้วหรือมันเสี่ยง ไปตั้งอยู่ในศูนย์อุตสาหกรรมดีกว่า 

ถ้าหากมองทั้งประเทศ โครงการพัฒนาของรัฐในเขตพื้นที่สีม่วงตอนนี้เป็นอย่างไร คืบหน้าไปถึงไหน มีตรงไหนที่เราจะต้องจับตา

โดยหลักการผังเมืองสากลจะกำหนดไว้เลยว่า สัดส่วนของพื้นที่อุตสาหกรรมหรือพื้นที่สีม่วงควรมีเท่าไหร่ในแต่ละจังหวัด สัดส่วนที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม สัดส่วนที่เป็นพื้นที่อนุรักษ์ พื้นที่สีเขียว เช่น สวนสาธารณะ ป่าไม้ ควรมีอยู่เท่าไหร่ ซึ่งแต่ละจังหวัดก็จะมีสัดส่วนแตกต่างกัน แต่เป็นไปตามหลักสากล แต่เอาเข้าจริงๆ เวลาทำผังเมืองเสร็จ ก็จะมีการวิ่งเต้นกันเสมอ 

สมัยก่อนผังเมืองรวมมีขั้นตอนเยอะมาก กว่าจะประกาศราชกิจจานุเบกษาเป็นกฎหมายขึ้นมาใช้ ในช่วงนั้นก็จะมีการวิ่งสู้กันระหว่างภาคประชาชนกับภาคเอกชน แต่ผมว่ามันก็ดี ถ้าสู้กันแบบแฟร์ๆ คุยกันแบบมีเหตุผล แต่บางทีมันไม่ใช่ ตกลงกันอีกแบบ แต่พอมาทำจริงๆ เป็นอีกแบบ มันมีการคอร์รัปชันกันได้ แล้วบางทีอย่างกระบวนการทำ ESIA ผังเมืองเป็นหลักสำคัญ หากเขาบอกว่ากิจการคุณไปตั้งตรงนี้ไม่ได้ ถือว่าตกไปเลย พวกนี้เขารู้ เขาจึงมาวิ่งเต้นผังเมืองไว้เผื่อ เช่น EEC เขาวิ่งเต้นเรื่องผังเมืองเผื่อไปเลย 20 ปี เขามองไปถึงปี 2580 ว่าผังเมืองจะเป็นอย่างไร เขาเตรียมพื้นที่สีม่วงกระจายไว้หมดเป็นเหมือนดาวกระจาย แทนที่ว่าเราจะสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนทางภาคตะวันออกให้เป็นโมเดลที่ดี แต่ปรากฏว่า EEC หลักการดี แต่ปฏิบัติออกมาแย่ ตรงข้ามกันหมดเลย เฉพาะฉะนั้นผมกำลังจะบอกว่า สิ่งที่ผิดพลาดทั้งหมดนี้อย่าไปโทษใครเลย ต่อให้เรามีกฎหมายดีแค่ไหน แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือต่อให้เรามีนโยบายดีแค่ไหน แต่ถ้าเรามายัดไส้กันแบบนี้มันก็จะไม่เกิดการแก้ไขปัญหาได้จริง

การต่อสู้เรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตของประชาชน กลายเป็นงานของภาคประชาสังคมมานานแล้วใช่ไหม

ใช่ ภาคประชาสังคมเป็นเหมือนโค้ช ต่อมาประชาชนก็เริ่มเป็นโค้ชเอง เกิดการสร้างเครือข่ายทำหน้าที่กระจายความรู้ ผมไม่อยากเห็นความขัดแย้งระหว่างอุตสาหกรรมกับประชาชน และผมเองเป็นวิศวกรการผลิต ผมจบ production engineering แต่ผมก็ทนเห็นโรงงานที่ปฏิบัติไม่ดีไม่ได้ 

มันก็ต้องไปบอกกันว่าจะต้องแก้ไขอย่างไรให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล ผมไม่เคยบอกว่าโรงงานปิโตรเคมิคอลอันตรายมากกว่าโรงงานผลิตน้ำตาล เพราะหากโรงงานผลิตน้ำตาลกระทำไม่ดีก็มีผลเสียเท่าๆ กับโรงงานปิโตรเคมิคอล แต่หากโรงงานปิโตรเคมิคอลทำตามขั้นตอน ตรวจสอบติดตั้งอุปกรณ์ที่ทันสมัย ยิ่งยุคนี้มีอุปกรณ์ดักจับสิ่งที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย เช่น รู้ว่าอะไรมันจะรั่ว มันจะเตือนเลย ก็เข้าไปซ่อมบำรุง ไปจัดการเลย ก็ลดผลกระทบที่จะไปสู่ชุมชนได้ และยิ่งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมันก็จะมีพื้นที่กันชน ถ้ามีอะไรรั่วไหล ก็เข้าไปจัดการได้เร็ว ไม่ต้องไปพึ่งอาสาสมัคร ซึ่งบางทีคนพวกนี้เขาไม่รู้ เขาไม่เคยทำงานด้านนี้ อย่างจังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง ที่เก่งขึ้นมาได้ เพราะมี ปตท. และกลุ่มปิโตรเคมิคอลเข้ามาช่วย เกิดจากการเรียนรู้ความผิดพลาด เพราะฉะนั้นพวกเราเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เลวร้าย เราไม่อยากเห็นจังหวัดอื่นๆ ต้องเรียนรู้แบบนี้

จากประสบการณ์ในอดีตจนมาถึงในวันนี้ มีบทเรียนเรื่องผลกระทบระยะยาวอะไรบ้าง 

เมื่อโรงงานอุตสาหกรรมไปสร้างในพื้นที่ที่ไม่ถูกต้องและยังดำเนินการต่อ เราก็พอจะรู้ว่าผลกระทบมันคืออะไร แถมมาตรการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมก็เขียนกันแบบที่เรียกว่าก็อปปี้จากอีกที่หนึ่งมาแปะอีกที่หนึ่ง บางทีโรงงานในภาคใต้ตั้งอยู่ใกล้ทะเล แต่คุณดันไปเอาพันธุ์ปลาน้ำจืดมาใส่ในรายงาน 

เห็นได้ชัดเลยว่าการทำรายงานแบบนี้ขาดจริยธรรม เพราะฉะนั้นมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็ขาดจริยธรรม เช่น กรณีแหลมฉบัง ถ้าเราไปดูคู่มือการควบคุมมลพิษที่เขาบอกว่าสารเคมีชนิดนี้อันตรายไม่เกิน 300 เมตร การท่าเรือก็ส่งเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญไปกั้นไว้ประมาณ 300 เมตร อาจจะบวกไปอีก 100 เมตร แต่ปรากฏว่าลมมันพัดปลิวไปเป็น 10 กิโลเมตร อันนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว นักเรียนโรงเรียนเทศบาลอยู่อีกฝั่งของพื้นที่ 140 กว่าคน โดนสารเคมีต้องเข้าไปรับการรักษาในโรงพยาบาล และยังได้รับผลข้างเคียง นี่ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก แต่มันก็ยังเกิดขึ้นทุกปี

ผลกระทบก็คืออย่าไปมองแค่ว่าไฟไหม้แล้วมันจะจบตรงจุดนั้น แต่ต้องดูควันดำๆ ที่ลอยไปไหนต่อไหนด้วย ควันดำๆ มันคือ PM2.5 ที่มีการเผาไหม้โดยวัตถุดิบที่เป็นสไตรีน พอลิเมอร์ ของพวกนี้มันจะมีสารตัวหนึ่งที่สำคัญคือสารเบนซีน เบนซีนเป็นสารอินทรีย์ระเหยไวที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง สารที่ก่อโรคมะเร็งนี้ถ้ามันลอยไปที่ต่างๆ ก็จะก่อให้เกิดผลกระทบในพื้นที่นั้น เพราะฉะนั้นอย่าไปบอกว่ารัศมีมันแค่ 5 กิโลเมตร 10 กิโลเมตร 

อย่ามองแค่ผลกระทบตามตำรา มันไม่มีหรอกแบบที่ตามตำรา มันมีแต่ผลกระทบตามพื้นที่จริง โชคดีมากที่ฝนตกลงมาหลังไฟดับ ถ้าฝนตกก่อนก็จะมีผลกระทบอีกอย่างหนึ่ง ฝนตกหลังก็จะมีผลอย่างหนึ่ง จริงๆ มันต้องใช้โฟมเข้ามาช่วย โฟมก็มาจากเครือข่าย ปตท. เข้ามาช่วยก็ต้องขอบคุณเขา 

แต่คำถามทำไมโฟมมาช้า แล้วทำไมไม่มีการทำเครือข่ายโฟมกันเอาไว้ จริงๆ ผมก็ทราบว่ามี แต่มันเป็นในทางทฤษฎี แต่ทางปฏิบัติเคยทำงานร่วมกันไหม อย่างชลบุรีก็จะมีการฝึกซ้อมหนีภัยกันทุกปี พื้นที่ในจังหวัดสมุทรปราการมีไหม และประเทศไทยเวลาเกิดอะไรก็ใช้อาสาสมัคร ผมไม่ได้บอกว่าเขาไม่เก่ง แต่บางเรื่องเขาไม่รู้ คือเรื่องต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องมีประสบการณ์สะสมมา และเราต้องสร้างมาตรการที่จะป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบ แต่ถ้าเกิดผลกระทบก็ต้องมีมาตรการที่รวดเร็วและมีผู้เชี่ยวชาญมากพอ เชื่อไหม ถ้าเราทิ้งโฟมในจำนวนที่มากพอ เรื่องนี้จะจบภายในไม่กี่ชั่วโมง แต่เนื่องจากความพร้อมเราไม่มี จึงทำให้ไฟไหม้ตั้งแต่ตี 3 จนถึงเที่ยงคืนของอีกวัน แล้วก็ต้องไปดูวิธีการจัดเก็บอีกว่าก่อนหน้านี้ทำไมคุณไม่ทำระบบป้องกัน ไม่ให้มันเกิดแต่แรก ปล่อยให้มันรั่วออกมาได้อย่างไร วิศวกรรู้ไหม เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยรู้ไหม หรือรู้อยู่แล้วว่ามันจะเสีย แต่ไม่ได้เปลี่ยน เพราะว่าช่วงนี้ต้องประหยัด สิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องไปตามสืบ มันสืบได้ และดำเนินคดีให้หนัก จับปรับให้คุ้ม ไม่ใช่ว่าเขามีประกันอยู่ ที่เหลือเดี๋ยวรัฐจัดการให้ ซึ่งรัฐไม่เคยจัดการอะไรได้เลยจริงๆ

ถ้าเราจำคดีคลิตี้ (กรณีการปนเปื้อนสารตะกั่วจากโรงแต่งแร่ลงสู่ลำห้วยคลิตี้ กาญจนบุรี) ได้ ยังต้องมีผู้เชี่ยวชาญลงไปดู แก้แล้วแก้อีกยังไม่หาย ผมคิดว่าบทเรียนมีเยอะเกินพอแล้ว ผมไม่บอกให้เราเลิกพัฒนาอุตสาหกรรม แต่เราจะต้องพัฒนาอุตสาหกรรมในแนวทางที่มันเป็นลักษณะ trade-off คำนึงถึงเศรษฐกิจ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงสังคม มันต้องไปด้วยกัน ไม่ใช่คำนึงถึงเศรษฐกิจอย่างเดียว คิดแต่เรื่อง GDP อย่างเดียว แบบนี้เรียกว่ามองแบบแยกส่วน มันจะแยกส่วนได้อย่างไร ในเมื่อโรงงานอยู่ด้านหน้า บ้านจัดสรรอยู่ด้านหลัง เกิดอะไรขึ้นก็อย่างที่เห็น วันนี้ความเสียหายเกิดขึ้นเท่าไหร่ก็ไม่รู้ 

ไทยมีกฎหมายที่รัฐจะต้องมาตรวจเช็คระบบการดูแลของโรงงานอย่างสม่ำเสมอไหม 

เขาต้องดูทุกปีครับ แต่เขาดูรายงาน ส่วนเขาจะเคยเข้ามาดูที่โรงงานไหม ผมไม่มั่นใจ แต่เขาดูในรายงาน และยิ่งตอนหลัง พ.ร.บ.โรงงาน ก็หย่อนยานมากขึ้น อย่างของปี 2562 ก็บอกให้บริษัท 3rd Party (บริษัทที่สาม) ไปตรวจให้ แล้วเอารายงานมาส่งให้ มันมีกฎหมายไว้แค่ส่งรายงาน อย่างนี้มันไม่ใช่ มันต้องมีกฎหมายที่บังคับใช้จริงและคุณยอมรับในการใช้มัน 

รัฐไม่เคยเข้าไปดูด้วยตนเองเลย พอถึงเวลาส่งรายงาน บริษัทก็ไปจ้างบริษัทนอกมาทำรายงานและส่งให้รัฐอีกทีใช่ไหม

ใช่ ต่อไปนี้จะเป็นแบบนี้ และบริษัทที่ทำ EIA ESIA เขาจะมีที่ปรึกษาทำให้ ก็จะมีหน่วยงาน สผ. (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) 6 เดือนทำ 1 ครั้ง แต่ สผ. จะดูหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ท่าเรือแหลมฉบังมีอย่างหนึ่งที่ไม่ได้ติดตั้งทั้งที่สร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2534 สผ. ก็ส่งจดหมายไปทุก 6 เดือน ก็ไม่เห็นมีฟ้องศาลเลย คือบังคับใช้แบบไม่บังคับใช้ ทุกคนก็รู้สึกสบาย ทุกคนก็อยากมาตั้งโรงงานที่ไทย เพราะกฎหมายมันไม่แข็งแรง มันอ่อนแอ

นี่คือความอ่อนแอไร้ความสามารถของรัฐ หรือมันคือยุทธศาสตร์ที่ถูกวางไว้แล้ว

‘เร่งรัด ยกเว้น หย่อนยาน’ คือ 3 ยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลไทยโดยเฉพาะยุคนี้ชอบเป็นพิเศษ เพราะเขามาจากการทำรัฐประหาร เขาทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดการลงทุน เขาต้องการดึงดูดทุนต่างชาติ แต่ก็จะสังเกตเห็นได้ว่ามีทุนไทยไปร่วมกับเขาด้วย เช่น โครงการเมกะโปรเจ็คต์ EEC ก็จะมีบริษัทเอกชนร่วมกับบริษัทต่างชาติ ไม่ได้บอกว่าต่างชาติไม่ดี แต่เขาก็อยากจะลดต้นทุน อย่างเวลาประเทศยุโรปจาก EU พอมาเมืองไทยก็ใช้มาตรฐานเมืองไทย ไม่ได้ใช้มาตรฐาน EU เวลาจะตั้งโรงงาน

แสดงว่าเรื่องเหล่านี้เขาเตรียมการมาตั้งแต่เนิ่นๆ หลังการรัฐประหารเลยใช่ไหม

ใช่ แต่ผมก็ไม่ได้บอกว่ารัฐบาลไหนดีนะ ทุกรัฐบาลก็มีการหย่อนยาน แต่รัฐบาลยุคนี้ดูเหมือนหย่อนยานมากที่สุด โดยมีการแก้ไขกฎหมายที่หย่อนยาน เช่น พ.ร.บ.โรงงาน พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ปี 2561 ก็แก้ไขว่าระหว่างการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ บริษัทต่างๆ ไม่ต้องรอรายงานให้ผ่านการอนุมัติ แต่คุณสามารถไปประมูลกันได้ก่อน แต่ห้ามเซ็นสัญญานะ ผมถามว่าอย่างนี้มันผิดหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมไหม มันผิดนะ เพราะหากไปตรวจสอบแล้วคุณต้องเพิ่มมาตรการผลกระทบอีก 500 ล้านบาท ผมถามว่าคุณไปตกลงกันเรียบร้อยแล้ว เงิน 500 ล้านบาท ใครจะรับผิดชอบ สุดท้ายก็กลายเป็นภาระของรัฐที่จะต้องจ่ายแทนเอกชน แทนที่จะให้เอกชนต้องรับผิดชอบเอง

ถ้าจะแก้ไข จะต้องเริ่มอย่างไร

ประชาชนต้องลุกขึ้นมาทวงคืนสิทธิ ผมถามหน่อยว่าสิทธิทางด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ตรงไหนในรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งแตกต่างกันกับในรัฐธรรมนูญ 2550 เราเห็นว่าสิทธิชุมชนอยู่ในมาตรา 66 สิทธิสิ่งแวดล้อมอยู่ในมาตรา 67 แต่รัฐธรรมนูญ 2560 สิทธิสิ่งแวดล้อมอยู่ในมาตราไหน คนไทยรู้ไหม ตอนนี้คนสมุทรปราการ คนกรุงเทพฯ คนลาดกระบังต้องตื่นมาดูสิทธิพวกนี้ ต้องมาถามหากฎหมายพวกนี้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เราต้องเริ่มสร้างบทเรียนในโรงเรียน ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนต้องเสนอว่าอะไรจะเข้ามาต้องปลอดภัยไว้ก่อน อะไรไม่ปลอดภัยเอาไปไว้ที่ไหนอย่างไร แบบนี้เป็นต้น ต้องร่วมมือกัน ต้องออกแบบร่วมกัน ถ้าผังเมืองออกมาดี ผังเมืองนั้นจะทำให้สุขภาพของเราดี ตอนนี้มันเกิดภาพเชิงลบ แต่ทำไมไม่ทำให้มันเป็นเชิงบวก สมุทรปราการสามารถฟื้นฟูได้ถ้าเราเริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ในแต่ละพื้นที่มีกระบวนการ normalization ปัญหาเหล่านี้บ้างไหม 

มีครับ มันมีถึงขั้น margianlization คือการผลักออกไปเลย โดยบอกพวกคุณไม่เกี่ยว เป็นคนชายขอบไม่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร คนจะได้รับการดูแลต้องอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร สิ่งพวกนี้ได้รับผลกระทบเพื่อตัดต้นทุน แต่ประชาชนต้องรู้เท่าทัน ต้องรวมตัวกันให้ได้ รัศมีมันไม่เกี่ยว อย่างเหตุการณ์ไฟไหม้เห็นได้ชัดว่ามันไปไกลกว่า 5 กิโลเมตร แต่ EIA หรือ EHIA พูดถึงแค่ 5 กิโลเมตร และหลัก 5 กิโลเมตรนี้เราไปจำจากอเมริกาที่แนะนำมา แต่จริงๆ แล้วกฎหมายในประเทศไทยไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้ว่ามันควรจะกี่กิโลเมตร ในความเป็นจริงจะกี่กิโลมันขึ้นอยู่กับการศึกษา อย่าง EEC ควรทำ SEA (strategic environmental assessment) หรือ การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือการมองภาพรวมทั้งหมด ไม่ใช่การมองในระดับโครงการ ควรทำมากทั้งสามจังหวัดเลย แต่เราก็ไม่ทำกัน เราไปจัดทำผังเมืองก่อนที่เราจะศึกษาตัวโครงการ มันเรียงลำดับผิดกันไปหมด

การต่อสู้ของภาคประชาชนตอนนี้เป็นอย่างไร มีอุปสรรคอะไรบ้าง

อุปสรรคก็คือโครงสร้างแบบบนลงล่างที่ถูกกดลงมา อย่าง EEC ก็มาด้วยคำสั่ง คสช. และคำสั่ง คสช. ก็ตกค้างอยู่ในรัฐธรรมนูญ และคำสั่ง คสช. หลายคำสั่งได้แปลงตัวเป็นพระราชบัญญัติเรียบร้อย อย่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก หรือ พ.ร.บ. EEC และ พ.ร.บ. บางตัวไปแก้ไขเงื่อนไขเพิ่มให้เขตเศรษฐกิจพิเศษมีอำนาจมากขึ้น เช่น พ.ร.บ.เวนคืน ก็เพิ่มเติมว่าสามารถเวนคืนเพื่อเศรษฐกิจพิเศษได้ หรือ พ.ร.บ.ราชพัสดุ ที่ถ้าคุณไม่ออกจากพื้นที่ก็จะมีโทษจำและปรับ เพราะ EEC สามารถใช้พื้นที่ราชพัสดุเป็นพื้นที่เก็บสินค้าส่งเสริม EEC คราวนี้ก็ต้องดูว่ากฎหมายแก้ไปในทางของเราหรือของใคร

การสร้างการรับรู้ที่เท่าทันต่อการเติบโตของเมืองร่วมกันทั้งในระดับเอกชน รัฐ และประชาชน ควรทำอย่างไร

จะต้องรู้ก่อนว่านี่คือบ้านของเรา เราไม่ใช่เป็นแค่ผู้อยู่อาศัยโดยที่รัฐจะทำอะไรกับเราก็ได้ ผมไม่ได้บอกให้เราละเมิดกฎหมาย แต่กฎหมายสากลหรือสิทธิสากลให้สิทธิเราทำได้ เราอยู่ในยุคของกระแสการกระจายอำนาจในท้องถิ่น แต่การกระจายอำนาจมันไม่เกิดผลจริง อย่าไปโทษว่ามหาดไทยไม่กระจายอำนาจ หรือกระทรวงนั้นนี้ไม่กระจายอำนาจ ถามท้องถิ่นตัวเองก่อนว่าพร้อมที่จะกระจายอำนาจหรือยัง กองสิ่งแวดล้อมมีความรู้แค่ไหน สาธารณสุขมีความรู้แค่ไหน กองช่างมีความรู้แค่ไหน ประชาชนมีความรู้แค่ไหน เอกชนในพื้นที่อีก ของพวกนี้มันต้องช่วยกัน ถ้าทุกคนไม่แสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเอง ทุกอย่างมันสามารถสร้างแผนการเรียนรู้ร่วมกันได้ อุบัติเหตุน้อยลง เมืองจะน่าอยู่มากขึ้น

การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนนี้เป็นอย่างไรบ้าง 

ก็มีการผลักดันชัดเจน เมื่อสักครู่เราพูดถึงเรื่องสิทธิสิ่งแวดล้อม มีสิทธิอีกหลายตัวที่มันหลุดออกไปจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราต้องการเข้าไปเพิ่มสิทธิเหล่านี้ในรัฐธรรมนูญ เราอาจจะต้องร่างกันใหม่ เพราะมันก็จะติดข้อกฎหมายต่างๆ ที่เราต้องไปนั่งแก้อีกเยอะ ไม่ได้พูดว่ารัฐธรรมนูญไปสนับสนุนคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนจากรัฐธรรมนูญ 

ตอนนี้ประเทศไทยกำลังพัฒนาไม่ยั่งยืน คุณดูโควิดสิ เราจะเอาชีวิตรอดไหม อันนี้ก็คือความล้มเหลวของรัฐบาล ความล้มเหลวของคนที่มาช่วยรัฐบาล และเรามาเจอเรื่องไฟไหม้อีก ถือว่าซวยซ้ำซวยซ้อน และไม่รู้เราจะเจออะไรอีกในอนาคต ทำไมกลไกการแก้ไขถึงขยับตัวไม่ได้ มันติดอะไร มันติดว่ารัฐบาลคุมทุกอย่างมานาน 7 ปี จนทุกคนเป็นง่อยกันหมด ผมท้าเลย นาวิกโยธินที่เก่งที่สุดก็มาแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ได้ครับ เพราะไม่ใช่อาชีพเขา แต่นี่ทหารทำหมด ไปทวงคืนผืนป่าก็หน้าที่ของเขา ไปกู้นั่นนี่ก็ทหาร

เมื่อมีการเคลื่อนไหวเพื่อจะแก้รัฐธรรมนูญในส่วนนี้ ปฏิกิริยาของผู้มีอำนาจต่อเรื่องนี้เป็นอย่างไร

เขาก็ไม่อยากแก้ เพราะเขาอยากรักษาอำนาจของเขาไว้ เพราะ 7 ปีที่ผ่านเขาสามารถควบคุมได้ แต่อย่าลืมว่าพวกเรากำลังจะตาย รวมกับเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่ โควิดมันเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นเพราะว่ากระบวนการการพัฒนาประเทศมันถอยหลัง มันพัฒนาสำหรับคนที่รวยกระจุก แต่คนจนกระจายมากขึ้นเรื่อยๆ 

อยากฝากอะไรทิ้งท้ายสำหรับขบวนการต่อสู้ของประชาชน 

เหตุการณ์โควิด-19 ที่รัฐจัดหาวัคซีนล่าช้า การควบคุมโรคระบาดที่ไร้ประสิทธิภาพ และเหตุการณ์ไฟไหม้ มันเป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง ข้างล่างมีอีกเยอะที่เราจะต้องจัดการ ถ้าเราไม่เริ่มวันนี้ เราก็จะเห็นปัญหาเหล่านี้เรื่อยๆ และเราก็จะเป็นง่อย ผมว่าเราต้องลุกขึ้นมา เราต้องหาทางงัดก้อนน้ำแข็งข้างล่างให้พลิกกลับขึ้นมา มันต้องหาจุดคานงัด จุดคานงัดที่ดีผมว่าคือรัฐธรรมนูญ ถ้ารัฐธรรมนูญดี อำนาจต่างๆ จะคืนสู่ประชาชน 

คำสั่งของ คสช. ต่างๆ ที่ลดทอนอำนาจของประชาชนจะหายไป รวมถึง ส.ว. ด้วยก็ดี เพราะฉะนั้นไม่มีทางใดเลยถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญ แต่ระหว่างที่เราจะไปแก้รัฐธรรมนูญ เราก็จะต้องมีกระบวนการในการแก้ปัญหาที่เรียกว่าแผนฉุกเฉิน แผนระยะสั้น แผนระยะยาว มันต้องคิดควบคู่กันไป ถามว่าทำไมต้องเป็นแบบนี้ เพราะเราปล่อยประเทศมาเป็นแบบนี้นานเกินไปแล้ว แต่เราจะปล่อยต่ออีกไหม ผมอายุ 50 ปีแล้ว ผมคงอยู่อีกไม่กี่สิบปี แต่คนรุ่นใหม่เขาต้องอยู่นานกว่าผม แต่คนรุ่นเก่าที่อายุเท่าผมหรือแก่กว่าผม ผมถามหน่อยว่าจะยอมให้เยาวชนเป็นแบบนี้หรือ คิดใหม่ครับ 

โอมาร์ หนุนอนันต์
นักศึกษาสาขาการเมืองระหว่างประเทศผู้สนใจในความคิด อุดมการณ์ และอำนาจการครอบงำที่อยู่ในสิ่งสามัญรอบตัว หลงใหลในภาษาและการสื่อสาร ที่มักซ่อนเร้นความจริงบางอย่างที่มนุษย์ผู้ใช้ภาษาไม่เคยควบคุมมันได้

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า