สำรวจสปีชีส์ที่เราคงไม่ได้พบกันอีก

ในปีที่พูดได้ว่าผู้คนเริ่มตระหนักมากขึ้นถึงความเสียหายที่มนุษย์กระทำต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงขยะ เช่น ถุงพลาสติก หลอดพลาสติก เม็ดพลาสติก ที่กำลังเป็นอันตรายต่อสัตว์โลกโดยตรง

เช่นเดียวกัน ในปี 2018 ที่ผ่านมา เราไม่สามารถหยุดยั้งการสูญหายของสัตว์สายพันธุ์ที่น่าอัศจรรย์บางชนิดได้ – การสูญพันธุ์ครั้งใหม่ได้เกิดขึ้นแล้ว

สองชนิดย่อยของยีราฟถูกระบุว่า ‘อันตรายใกล้สูญพันธุ์’ และนักวิทยาศาสตร์ได้ประกาศว่านกสามสายพันธุ์ได้หายไป โดยสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature: IUCN) เมื่อปลายปี 2018 และน่าเศร้าที่ข่าวร้ายไม่ได้สิ้นสุดเพียงแค่นั้น การสูญพันธุ์กำลังเกิดเร็วขึ้น 1,000-10,000 เท่า ของอัตราที่คาดไว้และอัตราการตายตามธรรมชาติ ข่าวร้ายที่สุดคือ มีสิ่งมีชีวิตอีกหลายสปีชีส์จะหายไปตลอดกาลในปี 2019

เสือพูม่าตะวันออก

เสือพูม่าตะวันออก (Eastern Puma) ถูกประกาศให้ ‘สูญพันธุ์’ ในเดือนมกราคม 2018 โดยองค์กรสัตว์ป่าและสัตว์น้ำแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (United States Fish and Wildlife Service: USFWS) และถูกลบออกจากรายการ ‘สัตว์ใกล้สูญพันธุ์’ เป็นที่เรียบร้อย

เสือพูม่าตะวันออก ถือเป็นลูกพี่ลูกน้องทางพันธุกรรมของสิงโตภูเขา พวกมันเคยอาศัยอยู่ในภาคตะวันตกของสหรัฐอเมริกา เป็นที่น่าอัศจรรย์เมื่อครั้งมีการวัดขนาดความยาวของเสือพูม่า ซึ่งวัดได้ถึงเกือบ 2.5 เมตร และมีน้ำหนักมากถึง 63.5 กิโลกรัม

เสือพูม่าตะวันออกส่วนใหญ่หายตัวไปในศตวรรษที่ 19 เพราะถูกล่า รวมถึงการล่ากวางหางขาว ซึ่งเป็นเหยื่อหลักของบรรดาเสือภูเขา

มีรายงานตัวเลขที่ลดลงของเสือพูม่าตะวันออกมากว่า 100 ปีแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการตัดไม้ทำลายป่าครั้งใหญ่ นอกจากนี้เหล่าเสือพูม่ายังตกเป็นเหยื่อของการล่าสัตว์ การวางกับดักสัตว์ ด้วยความกลัวของมนุษย์ที่ต้องการความปลอดภัยต่อการปศุสัตว์และชีวิต การไล่ล่าจึงได้เริ่มขึ้น ก่อนจะนำมาสู่การสูญพันธุ์ในวันนี้

เสือพูม่าตะวันออกไม่ไช่เพียงสัตว์สายพันธุ์เดียวที่สูญพันธุ์เพราะฝีมือมนุษย์ หากแต่มีกว่า 200 สปีชีส์ที่มีรายงานว่าสูญพันธุ์ในแต่ละวัน อันเป็นผลมาจากการบริโภคเกินระดับที่เหมาะสม

ไมเคิล โรบินสัน (Michael Robinson) จากศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ (Center for Biological Diversity) กล่าวว่า “เราต้องการสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่เช่นเสือพูม่า เพื่อความสมบูรณ์ของห่วงโซ่อาหาร เพราะเสือพูม่าจะทำหน้าที่ควบคุมจำนวนของกวางไม่ให้มีมากเกินไป และควบคุมโรคที่เกิดจากเห็บอันเป็นภัยคุกคามต่อมนุษย์”

ความสำคัญของการดำรงอยู่ของเสือพูม่าตะวันออกทำให้มีการคาดการณ์ว่า การที่โลกของเราต้องสูญเสียสัตว์สายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งอีก ดังเช่นที่เราสูญเสียเสือพูม่าตะวันออก นั่นอาจส่งผลกระทบต่อสมดุลของระบบนิเวศของโลกนี้อย่างรุนแรงเลยก็ว่าได้

นกป่าฮันนีครีปเปอร์หน้าดำ

จากข้อมูลขององค์การชีวปักษานานาชาติ (BirdLife International) นกป่าฮันนีครีปเปอร์หน้าดำ (Poʻouli) ซึ่งเป็นนกป่าที่อาศัยการกินแมลงจากหมู่เกาะฮาวาย ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว เช่นเดียวกับนกอีกสองสายพันธุ์คือ นก Cryptic Treehunter และ นก Alagoas Foliage-gleaner ที่ถูกขนามนามว่า ‘นกนักร้องจากบราซิล’ ซึ่งสาเหตุของวิกฤติการสูญพันธุ์ในปัจจุบันเกือบทั้งหมดเกิดจากฝีมือมนุษย์อีกเช่นเคย โดยเฉพาะการทำกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่นำมาซึ่งการทำลายถิ่นที่อยู่ศัยตามธรรมชาติของเหล่าสัตว์ป่า การรุกรานของสัตว์สายพันธุ์ต่างถิ่น รวมไปถึงภาวะโลกร้อน ที่กำลังอยู่ในช่วงวิกฤติ

สาเหตุทั้งหลายที่กล่าวมานี้ทำให้นกป่าฮันนีครีปเปอร์หน้าดำลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัด ตามรายงานของ USFWS ที่อยู่อาศัยของเหล่านกถูกทำลายโดยหมูป่า แถมพวกมันยังต้องถูกตามล่าจากพังพอนอีกด้วย

มีการพบเห็นนกสายพันธุ์ Cryptic Treehunter ครั้งสุดท้ายคือในปี 2007 และ Alagoas Foliage-gleaner ถูกพบเห็นครั้งสุดท้ายในปี 2012

นก Cryptic Treehunter
นก Alagoas Foliage-gleaner

หนึ่งในนกที่มีชื่อเสียงมากที่สุดที่ได้รับการประกาศว่าสูญพันธุ์ในปี 2018 คือ นกมาคอว์สีฟ้า หรือ Spix’s Macaw นกแก้วสีฟ้าที่เคยพบได้ในบราซิล และเป็นที่รู้จักจากภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง Rio ที่เข้าฉายในปี 2011

ยังมีบรรดานกที่มีสีสันสดใสอีกมากมายถูกพบว่าตายในป่าเนื่องจากการสร้างเขื่อน ถูกนำไปกักขังเพื่อการค้า และการตัดไม้ทำลายป่า และยังพบบางส่วนประมาณกว่า 60-80 ตัวยังคงอาศัยอยู่ในกรงขัง

นกมาคอว์สีฟ้า

สจวร์ต บุทชาร์ต (Stuart Butchart) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์จากองค์การชีวปักษานานาชาติกล่าวกับเว็บไซต์ IFL Science ว่า “กิจกรรมของมนุษย์เป็นแรงผลักดันหลักๆ ที่ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งล่าสุด แน่นอนว่ากรณีอัตราการสูญพันธุ์ในแถบทวีปนั้นสูงกว่าที่เคยเป็นมา และอัตราดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหากไม่มีการร่วมมือกันอนุรักษ์สัตว์เหล่านี้”

ซูดาน

แม้จะไม่ได้ถูกประกาศอย่างเป็นทางการว่าสูญพันธุ์ แต่สัตว์บางชนิดก็ใกล้จะหายไป ซึ่งในปี 2019 ซูดาน แรดขาวเหนือ (Northern white rhinoceros) เพศผู้ตัวสุดท้ายของโลก ได้เสียชีวิตลงเมื่ออายุ 45 ปีในเดือนมีนาคม 2018 จากข้อมูลของ Ol Pejeta Conservancy องค์กรไม่แสวงผลกำไรในประเทศเคนยา และจากข้อมูลขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature: WWF) เปิดเผยว่า หลังการเสียชีวิตของซูดาน แรดขาวก็ได้ลดจำนวนลงเหลือเพียงสองตัวเท่านั้น ซึ่งทั้งคู่เป็นเพศเมียจึงไม่สามารถสืบพันธุ์ตามธรรมชาติได้ สาเหตุหลักๆ ที่จำนวนของแรดขาวลดลงเกิดจากการล่าเพื่อเอานอของพวกมัน

โลมา Vaquita

สัตว์อีกชนิดที่อยู่ในภาวะน่าเป็นห่วงคือ Vaquita (โลมาขนาดเล็กที่พบเฉพาะทางตอนเหนือของอ่าวแคลิฟอร์เนีย) ปัจจุบันในโลกเหลือน้อยกว่า 30 ตัว Vaquita เป็นสัตว์น้ำเลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเลที่หายากที่สุดในโลก การลดลงของ Vaquita ส่วนใหญ่เกิดจากการถูกจับและจมน้ำตายจากอุปกรณ์ประมงผิดกฎหมาย

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า