ชาวรัสเซีย 1ใน 5 เสียชีวิตด้วยสาเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับแอลกอฮอล์ หรือประมาณ 20 ล้านคนที่ติดแอลกอฮอล์ จากประชากรทั้งประเทศ 144 ล้านคน
ก่อนที่ มิคาอิล กอร์บาชอฟ จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี บรรดาผู้นำโซเวียตยินดีไปกับยอดขายแอลกอฮอล์ที่พุ่งสูง ตอนนั้นพวกเขาไม่ได้มองว่าการติดสุราจะเป็นปัญหาใหญ่ ต่อมาในปี 2010 รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง อเล็กไซ แอล. คูดริน ชี้ว่า สิ่งดีสุดที่ชาวรัสเซียจะทำเพื่อช่วย “เศรษฐกิจของประเทศที่อ่อนเปลี้ยอยู่ในตอนนี้ คือสูบบุหรี่และดื่มให้เยอะขึ้น เพราะจะได้จ่ายภาษีมากขึ้น”
ทั้งนี้ประวัติศาสตร์แอลกอฮอล์ของรัสเซียสืบย้อนไปได้ไกลนานนับศตวรรษ ในปี 988 เจ้าชายวลาดิมีร์ตัดสินใจให้ประเทศเปลี่ยนไปนับถือนิกายออร์โธดอกซ์ เหตุหนึ่งเพราะนิกายนี้อนุญาตให้ดื่มแอลกอฮอล์ได้
เมื่อถึงทศวรรษ 1700 กษัตริย์ปีเตอร์มหาราชก็เข้าผูกขาดอุตสาหกรรมวอดก้า ในทศวรรษ 1850 รายรับกว่าครึ่งของรัฐบาลมาจากการขายแอลกอฮอล์ พอผ่านพ้นการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 เลนินจึงแบนวอดก้า ทว่าหลังจากเลนินถึงแก่อสัญกรรม สตาลินก็ใช้รายได้จากการขายวอดก้ามาพัฒนาให้โซเวียตเป็นประเทศอุตสาหกรรมสังคมนิยม ในทศวรรษ 1970 รายรับที่มาจากแอลกอฮอล์นับรวมได้ถึง 1ใน 3 ของรายรับรัฐบาล
จนถึงปัจจุบัน มีโครงการรณรงค์ต่อต้านแอลกอฮอล์ครั้งใหญ่ๆ เพียงแค่ 2 ครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่รัสเซียยังเป็นสหภาพโซเวียต ครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในยุค เลนิน อีกครั้งเกิดขึ้นในยุคมิคาอิล กอร์บาชอฟ
สมัยกอร์บาชอฟ เขาออกกฎหมายและทำการรณรงค์ขนานใหญ่ ประกาศทำสงครามกับแอลกอฮอล์ เพราะการเสพติดเหล้ากลายเป็นปัญหาสำคัญอันดับหนึ่งในโซเวียต และเป็นโรคภัยอันดับที่สามถัดจากโรงหัวใจและมะเร็ง แต่ไม่ว่ากอร์บาชอฟจะพยายามมากเท่าไร ปัญหาการติดสุราก็ยังเกาะแน่นอยู่ในรัสเซีย ขณะที่ผู้นำประเทศในยุคอื่นๆ แม้จะรับรู้ถึงปัญหา แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอัน
หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย รัฐเลิกผูกขาดแอลกอฮอล์ ทำให้การผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น ในปี 1993 การบริโภคแอลกอฮอล์ทะยานเป็น 14.5 ลิตรต่อคน ส่งผลให้พลเมืองรัฐเซียคือหนึ่งในผู้บริโภคแอลกอฮอล์ที่ใหญ่สุดในโลก ด้วยราคาวอดก้าขวดละ 1 ดอลลาร์เท่านั้น
ที่สำคัญ กระบวนการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ราว 30-60 เปอร์เซ็นต์ของประเทศยังคงถูกปิดไว้เป็นความลับ มันจึงไม่มีภาษี ทั้งนี้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำนวนมากถูกผลิตกันใน ‘กะกลางคืน’ ของโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้อง พ่วงด้วยการติดสินบนเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่ออำนวยความสะดวกตลอดเส้นทาง และ ไม่มีเรื่องภาษีให้วุ่นวาย
ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน วิพากษ์วิจารณ์การดื่มหนัก และ นายกรัฐมนตรี ดมิทรี เมดเดเวฟ เปรียบเทียบพฤติดกรรมดังกล่าวว่าเป็น “หายนะทางธรรมชาติ” แต่ถึงอย่างนั้น ปัจจุบันรัฐบาลหรือฝ่ายกฎหมายก็ยังไม่ได้ออกมาทำอะไรผู้ผลิตแอลกอฮอล์เลย และไม่มีนโยบายใดๆ ที่ออกมาเพื่อต่อสู้หรือปราบปรามแม้แต่น้อย
*******************************************
ที่มา : theatlantic.com