พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ทลายกำแพงผูกขาด เปิดตลาดแข่งขันเสรี

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. … ที่เสนอโดย นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส. พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นการประชุมต่อจากเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ไม่สามารถลงมติได้ เหตุเพราะ ‘สภาล่ม’ ไม่ครบองค์ประชุม โดยร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวถูกเสนอเข้าสู่สภามาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 

ร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต หรือที่เรียกกันว่า ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า มีเป้าหมายเพื่อยกระดับวิสาหกิจชุมชน เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถแปรรูปพืชผลทางการเกษตรเพื่อผลิตสุรา และยกเลิกเงื่อนไขที่กีดกันผู้ประกอบการรายเล็กในการขอใบอนุญาตผลิตสุราเพื่อการค้า รวมถึงเปิดทางให้ผู้ที่ผลิตสุราเพื่อการบริโภคในครัวเรือนสามารถทำได้โดยไม่มีความผิด 

อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 มีมติให้คณะรัฐมนตรีนำกลับไปพิจารณาทบทวนอีก 60 วัน โดยมี ส.ส. เห็นด้วย 207 คน ไม่เห็นด้วย 195 คน งดออกเสียง 2 คน ไม่ลงคะแนนเสียง 3 คน จากจำนวนองค์ประชุมทั้งหมด 407 คน ส่งผลให้ความหวังในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ริบหรี่ลง เนื่องจากเป็นการเตะถ่วงเวลา และอาจถูกเลื่อนการพิจารณาออกไปในการประชุมสมัยหน้า 

ผลการลงมติดังกล่าวสร้างความผิดหวังให้แก่แวดวงผู้ผลิตสุราชุมชนและคราฟท์เบียร์ไทยที่พยายามส่งเสียงให้สังคมได้รับรู้ถึงความไม่เป็นธรรมของกฎหมายฉบับเดิมที่มีอยู่ เหตุเพราะเป็นกฎหมายที่เอื้อให้นายทุนใหญ่ผูกขาด กีดกันผู้ผลิตรายย่อย กดทับภูมิปัญญาและวัฒนธรรมการดื่มของประชาชน ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ต้องปฏิรูปกฎหมายล้าหลังฉบับนี้ 

กฎหมายเจ้าปัญหาบนเงื่อนไขที่กีดกัน 

ไม่ต่ำกว่า 70 ปีมาแล้วที่ประเทศไทยมีการบังคับใช้กฎหมายที่ว่าด้วยสุรา โดย พ.ร.บ.สุรา ฉบับแรกถูกบัญญัติขึ้นตั้งแต่ปี 2493 มาจนถึงปัจจุบันคือ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ที่แม้จะผ่านการปรับปรุงแก้ไขมาแล้วหลายครั้งหลายหน ทว่าเนื้อหาที่แฝงอยู่ในกฎหมายก็ยังคงปรากฏร่องรอยของความไม่เป็นธรรมไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัย 

กฎหมายฉบับนี้มีเงื่อนไขและข้อจำกัดสำคัญในการผลิตสุรา ดังในมาตรา 153 ที่ระบุว่า “ผู้ใดประสงค์จะผลิตสุราหรือมีเครื่องกลั่นสําหรับผลิตสุราไว้ในครอบครองให้ยื่นคําขออนุญาตต่ออธิบดี และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด” นี่คือเงื่อนไขเพียงข้อแรก แต่เป็นข้อสำคัญที่สร้างอุปสรรคและความยุ่งยากให้แก่ประชาชนทั่วไปที่มีความประสงค์จะผลิตสุรา โดยเฉพาะขั้นตอนและหลักเกณฑ์การขออนุญาตต่ออธิบดีกรมสรรพสามิตที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง 

เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของกฎกระทรวง ว่าด้วยเรื่องการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 จะพบว่าเต็มไปด้วยเงื่อนไขมากมายที่ประชาชนทั่วไปยากจะเข้าถึงการผลิตได้ อาทิ การกำหนดคุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาตผลิตสุราแช่ (ประเภทเบียร์) ต้องเป็นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ํากว่า 10 ล้านบาท ส่วนการผลิตสุราแช่ที่ไม่ใช่เบียร์ และสุราชุมชน ต้องเป็นสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน องค์กรเกษตรกร ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือบริษัทจำกัด 

นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดเพดานการผลิตที่ค่อนข้างสูง โดยโรงผลิตเบียร์ประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (brewpub) จะต้องมีขนาดกําลังการผลิตไม่ต่ํากว่า 100,000-1,000,000 ลิตรต่อปี แต่หากเป็นโรงผลิตเบียร์บรรจุขวดเพื่อจำหน่ายนอกสถานที่ ต้องมีกําลังการผลิตไม่ต่ํากว่า 10 ล้านลิตรต่อปี

กรณีโรงผลิตสุรากลั่นชนิดสุราพิเศษ ประเภทวิสกี้ บรั่นดี และยิน ต้องมีกําลังการผลิตไม่ต่ํากว่า 30,000 ลิตรต่อวัน ส่วนโรงผลิตสุรากลั่นชนิดอื่น เช่น สุราขาว สุราผสม ต้องมีกําลังการผลิตไม่ต่ํากว่า 90,000 ลิตรต่อวัน 

ขณะเดียวกัน การผลิตสุรากลั่นชุมชนก็มีข้อจำกัดด้วยว่า ห้ามใช้เครื่องจักรที่มีกําลังเกิน 5 แรงม้า หรือใช้คนงานไม่เกิน 7 คน ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ทำให้สหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรไม่สามารถพัฒนาศักยภาพการผลิตที่ดีขึ้นได้ 

ด้วยกฎหมายลักษณะนี้ ทำให้ผู้ผลิตสุราไทยจำนวนมากต้องไปตั้งโรงงานผลิตในประเทศเพื่อนบ้านก่อนที่จะส่งกลับเข้ามาในไทย แต่เนื่องจากมาตรา 154 และ 155 ของ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ระบุว่า การจะนำเข้าหรือจำหน่ายสินค้าชนิดสุราต้องยื่นคำขอต่ออธิบดีกรมสรรพสามิตตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดด้วยเช่นกัน ทำให้สุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในประเทศไทยขาดความหลากหลายเมื่อเทียบกับประเทศอื่น 

ในส่วนของใบอนุญาตเองก็มีราคาที่ผู้ขอจะต้องจ่ายเช่นกัน โดยระบุไว้ในส่วนท้ายของ พ.ร.บ. ว่าด้วยเรื่องของ ‘อัตราค่าธรรมเนียม’ ซึ่งพบว่าใบอนุญาตผลิตสุรามีอัตราค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 300,000 บาท ขณะที่อัตราค่าธรรมเนียมของใบอนุญาตจำหน่ายสุราประเภทที่ 1 (สำหรับผู้ผลิตสุราทุกชนิด ผลิตครั้งหนึ่งมากกว่า 10 ลิตรขึ้นไป) อยู่ที่ปีละ 100,000 บาท และใบอนุญาตขายสุราประเภทที่ 2 (ผลิตครั้งหนึ่งต่ำกว่า 10 ลิตร) อยู่ที่ปีละ 50,000 บาท ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก

พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังได้วางบทลงโทษในมาตรา 191 อีกด้วย โดยระบุว่าหากผู้ใดฝ่าฝืนขายสุราที่ผิดตามมาตรา 153 จะถูกปรับไม่เกิน 50,000 บาท ขณะที่ผู้ซื้อหรือครอบครองสุราดังกล่าวจะถูกปรับไม่เกิน 10,000 บาท (ยกเว้นหากสุรานั้นมีปริมาณน้อยกว่า 1 ลิตร จะถูกปรับไม่เกิน 2,000 บาท)

ในส่วนของผู้ผลิตนับได้ว่ามีโทษหนักกว่าผู้ซื้อและผู้ขาย โดยการผลิตสุราที่อธิบดีกรมสรรพสามิตไม่อนุญาตจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท และในกรณีเลวร้ายสุดคือสามารถได้รับโทษได้ทั้งจำและปรับตามมาตรา 193 

ดังนั้นการผลิตสุรา เบียร์ หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ภายใต้อำนาจของ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้ที่จะผลิตได้ต้องมีเงินลงทุนมหาศาล และมีต้นทุนมากพอในการขอใบอนุญาต เสียภาษี เสียค่าธรรมเนียมรายปี และค่าใช้จ่ายแฝงอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากเพื่อไม่ให้ตนเองกระทำผิดกฎหมาย ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการเคลื่อนไหวของคนในแวดวงสุราพื้นบ้านและคราฟท์เบียร์ไทยที่พยายามผลักดันการแก้ไขกฎหมาย เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปเข้าถึงการแข่งขันในตลาดอย่างเป็นธรรมมากขึ้น จนนำไปสู่ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า และเข้าสู่กระบวนการต่อสู้ทางการเมืองตั้งแต่ท้องถนน ผับบาร์ ไปจนถึงที่ประชุมรัฐสภา 

รื้อกฎหมายสุราล้าหลัง เอื้อเจ้าสัวผูกขาด 

ร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. … หรือชื่อเล่นว่า ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่ถูกเสนอโดยนายเท่าพิภพและคณะ มีหลักการและเหตุผลว่าเพื่อปรับปรุงช่องโหว่ของกฎหมายเดิมให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น เนื่องจากใน พ.ร.บ. ฉบับเดิมมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตและเงื่อนไขอื่นๆ อันเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล จนส่งผลให้ผู้ผลิตรายเล็กไม่สามารถประกอบอาชีพตามกฎหมายได้เหมือนรายใหญ่ การเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้จึงยืนอยู่บนพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 40 ว่าด้วยบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ซึ่งจะนำไปสู่การแข่งขันอย่างเป็นธรรม และป้องกันการผูกขาด

หัวใจสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือการแก้ไขมาตรา 153 ของ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต โดยให้เพิ่มเติมส่วนที่อธิบายถึงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่ผู้ขอใบอนุญาตจะต้องปฏิบัติตาม โดยระบุว่าเงื่อนไขเหล่านั้นต้องไม่กำหนดคุณสมบัติผู้ขออนุญาต ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติด้านกำลังการผลิต กำลังแรงม้าของเครื่องจักร จำนวนพนักงาน หรือประเภทบุคคลที่มีสิทธิขออนุญาต ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อให้รายย่อยมีโอกาสที่จะเข้าถึงใบอนุญาตได้โดยไม่ถูกกีดกัน และทำให้ตลาดสุรามีผู้เล่นจำนวนมากยิ่งขึ้นนอกเหนือไปจากการผูกขาดใบอนุญาตจากรายใหญ่เพียงไม่กี่เจ้าตามกฎหมายฉบับปัจจุบัน

สาเหตุที่ต้องทลายข้อจำกัดเรื่องคุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาต เนื่องจากกฎกระทรวงที่บังคับใช้ในปัจจุบันกำหนดเอาไว้ว่า ผู้ขออนุญาตผลิตสุราแช่ (ประเภทเบียร์) จะต้องผลิตให้ได้อย่างน้อย 10 ล้านลิตรต่อปี หรือหากเป็นสุราพื้นบ้านก็ต้องมีกำลังการผลิตไม่เกิน 5 แรงม้า 7 แรงคน จุดนี้กลายเป็นกำแพงขนาดใหญ่ที่ขวางกั้นผู้ประกอบการรายย่อยไม่ให้ลืมตาอ้าปากได้

ทั้งนี้ ในร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า เสนอให้มีการแก้ไขข้อความในมาตรา 153 วรรคหนึ่ง จากที่กำหนดว่า “ผู้ใดประสงค์จะผลิตสุราหรือมีเครื่องกลั่นสําหรับผลิตสุราไว้ในครอบครอง ให้ยื่นคําขออนุญาต” แก้เป็น “ผู้ใดประสงค์จะผลิตสุราเพื่อการค้า ให้ยื่นคำขออนุญาต” ซึ่งจะมีผลให้ผู้ผลิตสุราเพื่อบริโภคในครัวเรือน มิใช่การค้า สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต รวมถึงไม่ต้องรับโทษแต่อย่างใด 

ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า เปิดรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน – 1 กันยายน 2563 หรือคิดเป็นระยะเวลาทั้งหมด 65 วัน โดยมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านระบบสารสนเทศของรัฐสภา 2,119 คน แบ่งเป็นกลุ่มผู้กระกอบการผลิตและจำหน่ายสุรา 24 คน กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร 52 คน ประชาชนทั่วไปที่บริโภคสุรา 506 คน ประชาชนทั่วไป 1,584 คน และกรมสรรพสามิต 7 คน 

ผลการรับฟังความคิดเห็นในฝั่งของผู้เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า เป็นการต่อยอดภูมิปัญญาของชุมชนและสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่ปลอดสารปนเปื้อนจากกระบวนการทางอุตสาหกรรมได้ ส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เกิดการแข่งขันเสรี ประชาชนมีทางเลือกที่หลากหลาย สร้างอาชีพ เกิดการกระจายรายได้ ไปจนถึงเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจระดับประเทศ

ขณะเดียวกัน ทางฝั่งผู้ไม่เห็นด้วยกับหลักการในร่าง พ.ร.บ. ให้เหตุผลว่า การตรวจสอบความปลอดภัยจะทำได้ยาก ควรมีการควบคุมเพื่อคงไว้ซึ่งคุณภาพ อาจเกิดปัญหากับสังคมเพราะคนดื่มสุราง่ายขึ้น อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพเพราะกระบวนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐานที่ดี ไปจนถึงเหตุผลที่ว่า การเปิดเสรีจะทำให้ขาดการควบคุม

ไม่ว่าทิศทางความเห็นของคนในสังคมจะเป็นอย่างไร ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ฉบับนี้ได้ถูกตีกลับไปยังรัฐบาลเพื่อทำการศึกษาทบทวนใหม่อีกครั้งตามผลการลงมติของสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งถูกมองว่าเป็นการประวิงเวลาออกไปอีก 60 วัน เนื่องจากอาจมีผู้เสียประโยชน์หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่าน 

ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยในสถานการณ์ที่ไร้คู่แข่ง

ข้อมูลจาก ‘วิจัยกรุงศรี’ ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา เรื่อง ‘แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรมปี 2562-2564: อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม’ เมื่อปี 2562 ระบุว่า อุตสาหกรรมเครื่องดื่มในระดับโลก (ปี 2560) มีมูลค่า 2.15 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ปริมาณการบริโภคอยู่ที่ 9.5 แสนล้านลิตร มีอัตราการบริโภคเฉลี่ยเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 3.8 ต่อปี ในจำนวนนี้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 35 ของปริมาณการบริโภคทั้งหมด ทำให้เห็นได้ว่าความนิยมในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เติบโตต่อเนื่อง 

ข้อมูลของวิจัยกรุงศรีได้พูดถึงบริบทของประเทศไทยในปี 2560 เอาไว้ว่า อุตสาหกรรมเครื่องดื่มในไทยที่จดทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม มีจำนวนทั้งสิ้น 775 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพียง 95 แห่ง ซึ่งแบ่งย่อยออกเป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่เน้นผลิตสุรา-เบียร์ ร้อยละ 49 ของจำนวนโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด ขณะที่อีกร้อยละ 51 เป็นโรงงานขนาดกลาง-ขนาดเล็ก เน้นการผลิตสุราขาว สุราพื้นบ้าน และไวน์ 

ในปัจจุบัน เครือข่ายตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทยมีเพียง 2 ผู้เล่นรายใหญ่เท่านั้นที่ถือครองสัดส่วนตลาดเกือบทั้งหมด ประกอบไปด้วยบริษัทเครือบุญรอดบริวเวอรี่ และบริษัทเครือไทยเบฟเวอเรจ ซึ่งถึงแม้ทั้งสองบริษัท (เฉพาะส่วนที่ทำธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นหลัก) จะไม่ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ของไทย (SET) แต่ยังสามารถติดตามผลประกอบการของบริษัทไทยเบฟเวอเรจได้ผ่านตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ โดยพบว่าในปี 2015 มีรายรับอยู่ที่ 6,900 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ก่อนที่จะมีรายได้สูงสุดในปี 2019 อยู่ที่ 11,540 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และปี 2021 อยู่ที่ 10,300 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ 

ขณะเดียวกัน ข้อมูลผลกำไรขาดทุนของบริษัทเครือบุญรอดบริวเวอรี่ จากเว็บไซต์ DBD Data Warehouse จัดทำโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าปี 2561 ได้กำไรสุทธิ 3,500 ล้านบาท ปี 2562 ได้กำไรสุทธิ 4,190 ล้านบาท และในปี 2563 สามารถทำกำไรสุทธิถึง 4,470 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 6.6 

จากตัวเลขทั้งหมดนี้ตั้งแต่อัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับโลกจนถึงไทย และผลประกอบการของสองบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ถือครองสัดส่วนตลาดเกือบทั้งหมด จะเห็นได้ว่าเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่สามารถทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดได้หากเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันมากยิ่งขึ้น จากผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อย รวมไปถึงการกระจายรายได้ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนอีกเป็นจำนวนมากที่ตกอยู่ใต้ความเหลื่อมล้ำเรื้อรัง

ปัจจุบันไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องนั้นเปิดโอกาสให้สองเจ้ายักษ์ใหญ่ ‘ทางสะดวก’ ในการทำธุรกิจในตลาด เนื่องจากขนาดและความพร้อมของทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นเงินทุน กำลังคน หรือเครื่องจักร ที่ผู้ประกอบการรายย่อยไม่สามารถเทียบได้ จนขาดคุณสมบัติที่จะครอบครองใบอนุญาต และทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสในการต่อยอดภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น ไปจนถึงขาดการกระจายรายได้ให้แก่ทุกภาคส่วนไปอย่างน่าเสียดาย

การปลดล็อคกฎหมายภาษีสุรา จึงไม่เพียงช่วยให้เกิดความหลากหลายในการแข่งขันในตลาดมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการกระตุ้นการไหลเวียนของ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ และ ‘การเงิน’ ในภาคเศรษฐกิจไทยมากขึ้น และเป็นการผลักดันให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งสองต้องเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองด้วยเช่นกัน ในเมื่อตลาดไม่ได้มีแค่พวกเขาอีกต่อไป 

แน่นอนว่าการปลดล็อคนี้จะเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำลงได้ หากกฎหมายเปิดทางให้คนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมไทยมีโอกาสลุกขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการและก้าวสู่สนามแข่งขันได้ 

ท้ายที่สุด พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า จะได้รับการขานรับหรือถูกปัดตก ต้องวัดใจรัฐบาลชุดนี้ว่า จะมองเห็นประโยชน์ส่วนรวม หรือจะเห็นแก่ประโยชน์ของเจ้าสัวรายใหญ่ให้ผูกขาดชีวิตคนไทยต่อไป

อ้างอิง

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

Photographer

รัตนพล ทิพย์มะณี
หอบ Portfolio ไปสัมภาษณ์งานที่ร้านลาบ ย้ายข้ามฟากจากวิภาวดีมาอยู่ที่อ่อนนุช เป็น video creator ที่เขียนงานได้ ทำกาแฟเป็น ว่างจากจับเมาส์จ้องหน้าจอก็จดจ่อกับครกสากที่ห้องครัว ฝีมือทำอาหารเป็นเลิศ แต่ที่ยอดเยี่ยมไร้ที่ติคือการใช้ลูกคอเพลงหมอลำ ร้องดีจนพี่น้องในกองบรรณาธิการยอมอุทิศไมโครโฟนให้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า