ข่าวที่ไม่เป็นข่าว 2022: ต้นตอ ‘อาหารแพง’ ในสหรัฐฯ เมื่อทุนใหญ่รวมหัวผูกขาด-ควบรวม ฉวยโอกาสโควิด-19 ขึ้นราคายกแผง

‘อาหารแพง’ ไม่ใช่เรื่องที่เกิดแค่ในประเทศไทย แต่กำลังเกิดขึ้นแทบจะในทุกภูมิภาคทั่วโลก ทว่าการดีดตัวของราคาอาหารในหลายประเทศอาจมีสาเหตุมาจากกลุ่มทุนผูกขาดเช่นเดียวกัน

ประเด็นนี้ได้ถูกบรรจุเป็นหนึ่งใน ‘ข่าวที่ไม่เป็นข่าว’ ประจำปี 2022 โดยกลุ่มสื่ออิสระอย่าง ‘Project Censored’ ซึ่งพยายามตีแผ่เรื่องราวที่ถูกปิดบังให้เป็นที่รับรู้ในสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิ เสรีภาพ และการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยที่ดี 

สำนักข่าว Common Dreams โดย เคนนี สแตนซิล (Kenny Stancil) นำเสนอไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2021 ว่า กลุ่มธุรกิจอาหารและสายส่งของซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำอาศัยจังหวะที่โลกกำลังเผชิญหน้ากับไวรัสโควิด-19 ในการปรับขึ้นราคา พร้อมทั้งกล่าวว่าช่วงเวลาที่ผ่านมาหลายบริษัทสามารถกำหนดราคาอาหารในตลาดได้โดยง่าย เพราะเรากำลังอยู่ใน ‘ทศวรรษแห่งการควบรวม’ ซึ่งหมายถึงการที่มีผู้เล่นน้อยรายในตลาดช่วงสิบปีที่ผ่านมา 

ตัวอย่างสำคัญคือ ราคาของเนื้อวัวที่ปรับขึ้นโดยอ้างว่าเป็นเพราะผลกระทบจากวิกฤตเงินเฟ้อ ทว่างานศึกษาโดย Groundwork Collaborative ค้นพบว่า มีเพียง 4 กลุ่มบริษัทเท่านั้นที่เป็นผู้ควบคุมการจัดจำหน่ายเนื้อวัวร้อยละ 80 จากจำนวนเนื้อวัวในตลาดทั้งหมด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาเนื้อวัวขยับจากปี 2020 ขึ้นมาถึงร้อยละ 12 จากราคาเดิม 

ดังนั้นสภาวะเงินเฟ้ออาจจะเป็นเพียง ‘แพะรับบาป’ ที่บรรดากลุ่มทุนใหญ่ใช้กล่าวอ้างถึงความจำเป็นในการขึ้นราคา ขณะเดียวกันการควบรวมหลายธุรกิจจนเหลือผู้เล่นในตลาดเพียงไม่กี่ราย ยังเป็นการสร้างทางเลือกหลอกๆ ให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าตนมีทางเลือกที่หลากหลาย หรือสามารถหลีกเลี่ยงสินค้าราคาแพงจากเจ้าหนึ่งไปซื้ออีกเจ้าหนึ่งได้ โดยไม่รู้ว่าสายพานของระบบทั้งหมดยังคงเอื้อให้นายทุนกลุ่มเดิมได้รับผลประโยชน์เช่นเดิม และสถานการณ์เช่นนี้ยิ่งพบมากขึ้นในช่วงวิกฤตโรคระบาดที่ผ่านมา

ทศวรรษแห่งการควบรวม เมื่อตลาดอยู่ในกำมือคณาธิปไตยทางอาหาร

จากงานศึกษาของ Groundwork Collaborative ได้ข้อสรุปว่า การควบรวมกิจการของธุรกิจอาหารและขนส่งในสหรัฐฯ นำมาสู่การขยับราคาอาหารสูงขึ้น ตัวอย่างสำคัญคือการขึ้นราคาของเครือบริษัทที่ควบคุมห่วงโซ่อุปทานของซูเปอร์มาร์เก็ตอย่าง Kroger ด้วยเหตุผลของเงินเฟ้อ ขณะเดียวกัน Kroger ก็ลดเงินเดือนพนักงานลงถึงร้อยละ 8 จากจำนวนเงินเดือนตามปกติทั้งหมด โดย ร็อดนีย์ แม็คมูลเลน (Rodney McMullen) ผู้บริหารของ Kroger กล่าวในปี 2021 ว่า “เงินเฟ้อประมาณ 3-4% ทำให้ธุรกิจของเราทำงานได้ดี” พร้อมสรุปสั้นๆ ว่า “เงินเฟ้อเล็กน้อยจะเป็นประโยชน์กับธุรกิจของเราเสมอ” ซึ่งถูกสื่อหลายแห่งนำไปตีความถึงความ ‘ย่ามใจ’ ในการขึ้นราคาสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต

จากประเด็นคำพูดของผู้บริหาร Kroger นี้เอง ทำให้สำนักข่าว CNN เริ่มหันมาสนใจปัญหาของห่วงโซ่อุปทานในกลุ่มธุรกิจอาหาร และพบว่าในปี 2021 ราคาเนื้อหมูพุ่งขึ้นกว่าร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับราคาเดิมในปีก่อนหน้า ซึ่งไม่ต่างจากราคาเนื้อปลาและอาหารทะเล ราคานม และราคาผักและผลไม้ ที่ขยับขึ้นมาถึงร้อยละ 1.9 ร้อยละ 4.6 และร้อยละ 2.9 จากปีก่อนหน้า ตามลำดับ

แนวคิดของ Kroger ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในบริษัทเท่านั้น แต่ยังถูกยอมรับเป็นวงกว้างจากผู้บริหารของเครือธุรกิจใกล้เคียงกัน เช่น ผู้บริหารเครือธุรกิจสายส่งด้านแฟชั่น ของเล่น ขนม และสินค้าบริโภคในครัวเรือนอย่างบริษัท Five Below โดย โจเอล แอนเดอสัน (Joel Anderson) ได้พูดถึงเหตุการณ์นี้ไว้ว่า “เท่าที่สถานการณ์เงินเฟ้อยังคงเกิดขึ้นอยู่ ผมคิดว่านี่เป็นโอกาสได้เปรียบของผู้ค้าอย่างเรา”

จากงานศึกษาร่วมระหว่างองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่คอยเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวด้านอาหาร น้ำ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อย่าง Food and Water Watch และสำนักข่าว The Guardian ในเดือนกรกฎาคม 2021 พบว่า บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Kraft Heinz, General Mills, Conagra, Unilever, และ Del Monte Foods ครองตลาดด้วยสินค้ายอดนิยม 61 รายการในร้านค้าทั่วไป โดยมียอดขายรวมเฉลี่ยถึงร้อยละ 64 ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกการหาประโยชน์เข้าสู่บริษัทอย่างเต็มที่โดยสร้างทางเลือกหลอกๆ ให้แก่ผู้บริโภค 
นอกจากนี้ The Guardian ยังระบุในงานศึกษาอีกว่า มีเพียง 3 บริษัทเท่านั้นที่ครอบครองส่วนแบ่งถึงร้อยละ 93 ของตลาดเครื่องดื่มโซดา และมี 4 เครือบริษัทใหญ่ครอบครองส่วนแบ่งถึงครึ่งหนึ่งของตลาดข้าวโพดกระป๋อง ขณะที่บริษัท PepsiCo เป็นเจ้าของ 5 ผลิตภัณฑ์ขนมถุงยอดนิยมที่สุดอย่างเช่น Tostitos, Lay’s และ Fritos โดยครองส่วนแบ่งในตลาดถึงร้อยละ 88 จากตลาดทั้งหมด และผลิตภัณฑ์อาหารเช้าชนิดซีเรียลที่ดูมีตัวเลือกหลากหลาย ความจริงแล้วมีผู้ถือครองรายใหญ่ไม่กี่รายคือ General Mills, Kellogg และ Post Consumer โดยมีส่วนแบ่งในตลาดมากถึงร้อยละ 73 ของตลาดซีเรียลทั้งหมด ทำให้การขึ้นราคาสินค้าสามารถทำได้โดยง่าย และยังกำจัดคู่แข่งออกไปได้เป็นจำนวนมากอีกด้วย

ขยับเพดานราคาอาหาร อ้างเงินเฟ้อและโรคระบาด

จากรายงานที่ตีพิมพ์บน ​​American Prospect โดย ดร.ราคีน มาบุด (Rakeen Mabud) และเดวิด ดาเยน (David Dayen) ระบุว่า การให้บริษัทใหญ่เข้าควบคุมห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำทั้งหมดได้ ไม่ใช่เป็นการออกแบบระบบเพื่ออำนวยความสะดวกในการกระจายสินค้าส่งตรงไปถึงมือผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น แต่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาเพื่อให้บริษัทสามารถทำผลกำไรได้สูงสุด พร้อมยกตัวอย่างธุรกิจการขนส่งสินค้าทางทะเล ซึ่งมีกลุ่มพันธมิตรของบริษัทระดับโลกเพียง 3 รายเท่านั้นที่ควบคุมตลาดอยู่ถึงร้อยละ 80 ของส่วนแบ่งตลาดทั้งหมด จนเปิดโอกาสให้กลุ่มพันธมิตรเหล่านี้สามารถขึ้นราคาการขนส่งได้อย่างมหาศาลในช่วงวิกฤตโรคระบาด แม้ว่าจำนวนการขนส่งในช่วงเวลาดังกล่าวจะไม่ได้ลดลงเลยก็ตาม จนทำให้พันธมิตรกลุ่มนี้สามารถโกยรายได้ไปได้เกือบ 80 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2021 ซึ่งสูงเป็น 2 เท่า ตลอดระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา 

เกือบ 1 ปีที่ผ่านมา สื่อกระแสหลักถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่านำเสนอเพียงแต่ข่าวเกี่ยวกับเงินเฟ้อ แต่ไม่ค่อยมีสื่อสำนักใดที่เข้าไปแตะเรื่องอำนาจการควบคุมตลาดระดับประเทศและระดับโลกของบริษัทอาหารเหล่านี้ จนกระทั่งคณะบริหารของประธานาธิบดี โจ ไบเดน (Joe Biden) ระบุในเดือนกันยายน 2021 ว่า การควบรวมบริษัทที่ทำธุรกิจด้านเนื้อวัวเป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาเนื้อวัวสูงขึ้น สื่อกระแสหลักจึงเริ่มหันมาตอบโต้ข้อสรุปดังกล่าวของคณะทำงานฯ โดยให้เหตุผลว่า เป็นเพราะรัฐบาลต้องการเบี่ยงเบนประเด็นปัญหาเงินเฟ้อและความล้มเหลวด้านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแบบอนุรักษนิยมของไบเดนเพียงเท่านั้น 

บทความ ‘Democrats Blast Corporate Profits as Inflation Surges’ ของ The New York Times ได้กล่าวโจมตีแนวคิดนี้ไว้ว่า สภาวะการควบรวมทางธุรกิจดำเนินขึ้นอย่างต่อเนื่องมาแล้วหลายปี ขณะที่สภาวะเงินเฟ้อต่ำนั้นเกิดขึ้นมาแล้วเกือบสิบปี ดังนั้นการควบรวมบริษัทจนเหลือผู้เล่นน้อยรายไม่น่าจะเป็นตัวการที่ทำให้ตลาดอาหารมีราคาแพงขึ้น และมองว่าต้นเหตุเกิดจากการอัดฉีดเงินของรัฐบาลที่มากเกินไปโดยไม่สนสภาพที่พังทลายของห่วงโซ่อุปทานและอุปสงค์ของผู้บริโภค โดยยกความคิดเห็นประกอบจากกลุ่มล็อบบี้ยิสต์ที่มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างบรรดาสถาบันเนื้อแห่งชาติ (Meat Institute) และสภาหอการค้าแห่งสหรัฐฯ (US Chamber of Commerce) แต่แทบไม่มีบทความอื่นใดเลยที่จะนำเสนอแง่มุมความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างตลาดอาหารกับอำนาจของกลุ่มธุรกิจอาหารที่มีอยู่เพียงไม่กี่ราย ดังที่สำนักข่าว The Guardian และ The American Prospect พยายามนำเสนอเอาไว้

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกสำนักข่าวจะมีทัศนะเอนเอียงไปในทิศทางเดียวกับ The New York Times ทั้งหมด โดยนิตยสาร Times ได้ลงบทความที่มีความเห็นของผู้บริหาร Groundwork อย่าง ดร.ลินด์เซย์ โอเวนส์ (Lindsay Owens) ซึ่งพูดถึงการที่บริษัทอาหาร ธุรกิจเนื้อสัตว์ และธุรกิจขนส่งยักษ์ใหญ่ใช้วิกฤตเงินเฟ้อในการขึ้นราคาและทำกำไรมากขึ้น เนื่องจากมีอำนาจในการกำหนดเพดานราคาจากการรวมศูนย์ตลาดทั้งหมดเอาไว้ที่ตนเอง ขณะเดียวกันนิตยสาร Forbes ได้เผยแพร่บทบรรณาธิการของผู้สนับสนุนธุรกิจอาหารยั่งยืนอย่าง แอรอล ชไวเซอร์ (Errol Schweizer) ที่วิพากษ์วิจารณ์กลุ่มทุนใหญ่ที่ฉวยโอกาสจากวิกฤตโรคระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นช่องทางสร้างกำไรจำนวนมหาศาล

แม้สื่อมวลชนส่วนใหญ่จะหันไปโทษปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือจากการผูกขาดของบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาที่ดีดตัวสูงขึ้น แต่อย่างน้อยก็ยังมีสื่อจำนวนหนึ่งที่พยายามชี้ให้เห็นว่า กลุ่มธุรกิจผูกขาดและอำนาจของคณาธิปไตยทางอาหารอาจเป็นตัวการที่สำคัญยิ่งกว่า ดังนั้นวิกฤตราคาอาหารจึงควรถูกมองในมุมโครงสร้างของตลาดอาหารควบคู่ไปกับปัจจัยเชิงนโยบายของแต่ละรัฐ รวมถึงสภาพการเงิน และสภาพสังคมต่างๆ ให้มากขึ้น

ที่มา:

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า