ใครควรครองครัว

 

Screen Shot 2016-01-27 at 6.25.26 PM

ภาพประกอบ: k-9

 

หากห้องครัวคือหัวใจของบ้าน คำถามก็คือ ใครเป็นผู้ควบคุมพื้นที่ตรงนี้ การประกอบอาหารถูกทำให้เป็นพื้นที่ของผู้หญิงมาช้านาน ผู้หญิงถูกเชื่อมโยงกับงานในครัว ผู้หญิงถูกสร้างให้มีความสุขเมื่อพวกเธอขลุกอยู่กับการตระเตรียมอาหารในครัว ห้องครัวในแง่หนึ่งจึงเป็นพื้นที่แห่งอำนาจ แม้ว่าคำว่า family มีรากมาจากคำในละติน famulaus หมายถึงคนใช้ ครอบครัวคือความสัมพันธ์ของคนที่อยู่บ้านเดียวกัน ความสัมพันธ์ภายในบ้านนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของหัวหน้าครอบครัวคนเดียว

การประกอบอาหารภายในครอบครัวก็อาจเป็นทั้งผู้ควบคุมและผู้ถูกควบคุมในเวลาเดียวกัน

ในหลายวัฒนธรรม ผู้หญิงถูกคาดหวังให้เป็นผู้เชี่ยวชาญงานในครัวและเป็นผู้ประกอบอาหารให้แก่สมาชิกในครอบครัว สังคมไทยเป็นสังคมที่คาดหวังให้ผู้หญิงประกอบอาหาร ทั้งเชื่อมั่นและให้คุณค่ากับทักษะการทำอาหารของเพศหญิง เราสามารถสังเกตร้านอาหารตามถนนหนทางในสังคมไทยทั้งที่มีชื่ออย่างเป็นและไม่เป็นทางการ ก็จะพบการนำคำเรียกขานเพศหญิงมาเป็นเครื่องประกันถึงความเป็นเลิศของรสชาติ เช่น ข้าวแกงแม่ล้วน ข้าวแกงแม่อารีย์ ครัวเจ๊ง้อ ร้านเจ๊ไข่ น้ำพริกแม่ประนอม น้ำพริกแม่สมจิตต์ น้ำพริกแม่สุเพ็ญ ฯลฯ

แต่ก็ใช่ว่าเพศหญิงทุกช่วงวัยจะได้รับการยอมรับ อย่างน้อยๆ ก็ต้องมีศักดิ์เป็น ‘พี่สาว’ หรือ ‘เจ๊’ ต้องมีวัยวุฒิเป็น ‘แม่’ หรือไม่ก็ ‘ป้า’ วัยวุฒิมาจากการฝึกฝนซึ่งแน่นอนว่าสัมพันธ์กับเวลา ก็อาจจะไม่จริงเสมอไปในสังคมสมัยใหม่ แต่อย่างน้อยสังคมไทยก็เคยคาดหวังให้ผู้หญิงฝึกฝนทักษะการประกอบอาหาร จนได้ชื่อว่าเป็นแม่ศรีเรือนและมีเสน่ห์ปลายจวัก

โลกสมัยใหม่มองว่าห้องครัวเป็นพื้นที่แห่งอำนาจที่ไร้เพศ กล่าวเฉพาะสังคมไทยเราสามารถสังเกตเห็นได้อีกเช่นกันว่าร้านอาหารสมัยใหม่มีเพศชายเข้ามาแชร์พื้นที่การทำอาหาร เช่น สเต็กลุงหนวดหรือแม้แต่สเต็กลุงใหญ่ เป็นต้น

แม้ว่าโลกสมัยใหม่จะมองว่าห้องครัวเป็นพื้นที่แห่งอำนาจที่ไร้เพศ แต่สังคมก็ยังคาดหวังให้หน้าที่ภายในครัวเป็นภาระของผู้หญิง แต่ครัวในมาตรฐานของมืออาชีพอย่างในภัตตาคารร้านอาหาร สังคมกลับคาดหวังและเชื่อมั่นในรสมือผู้ชาย

ผู้หญิงอเมริกันยังคงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการทำอาหารในบ้าน ผลสำรวจเมื่อปี 2012 พบว่า ผู้หญิงอเมริกันใช้เวลามากกว่า 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในการเตรียมอาหาร ขณะผู้ชายใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในกิจกรรมเดียวกัน อย่างไรก็ตามผู้หญิงอเมริกันที่มีอาชีพทำอาหารสามารถไต่เต้าจนถึงระดับหัวหน้าเชฟหรือผู้บริหารครัว ที่มีสัดส่วนน้อยกว่าผู้ชาย งานศึกษาเกี่ยวกับร้านอาหารในปี 2014 พบว่า ผู้หญิงเพียง 6 เปอร์เซ็นต์ที่สามารถก้าวขึ้นไปสู่ระดับเอ็กซ์คลูซีฟเชฟ

ทั้งสถิติและภาพเหมารวมเรื่องเพศในครัว ทำให้เกิดคำถามตามมา ก็ทั้งๆ ที่สังคมคาดหวังให้ผู้หญิงรับผิดชอบงานในครัว แต่ทำไมการทำครัวแบบมืออาชีพที่สามารถสร้างรายได้จึงไม่ใช่พื้นที่ของพวกเธอ

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

แมรี แบลร์-ลอย แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก (University of Chicago) อธิบายว่า ความเชื่อทางวัฒนธรรมที่ว่าภาระหน้าที่ของผู้หญิงอยู่ในบ้านและครอบครัว นำไปสู่แนวโน้มที่จะทำให้ผู้หญิงถูกขังอยู่ในครัวและบ้าน ทันทีที่พวกเธอแต่งงาน

ความเชื่อทางวัฒนธรรมที่ว่าด้วยความจงรักภักดีต่อครอบครัวของผู้หญิงเป็นอุปสรรคต่อผู้หญิงในการทำงานนอกบ้าน เพราะการทำอาหารในฐานะมืออาชีพต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ตัวเองเพื่อจะก้าวหน้าทางวิชาชีพ แน่นอนว่าการทำงานด้วยชั่วโมงงานต่อวันที่ยาวนานจนต้องกลับบ้านดึกๆ ดื่นๆ ย่อมเป็นอุปสรรคต่อภาระในครอบครัว

แต่บทความ ‘Women Not in the Kitchen: A Look at Gender Equality in the Restaurant Industry’ ของ โรซาลี แพลทเซอร์ นำเสนอโมเดลการจัดการครัวในภัตตาคารได้อย่างน่าสนใจ งานชิ้นนี้เสนอว่า สถานะการเป็นเชฟมืออาชีพในปัจจุบันและในประวัติศาสตร์ถูกครอบงำโดยเพศชายมาโดยตลอด โดยมีจุดตั้งต้นมาจากรูปแบบการประกอบอาหารระหว่างสงครามของกองทัพ

ระหว่างการรบในช่วงศตวรรษที่ 14-15 นายทหารในกองทัพถูกคาดหวังให้ปรุงและประกอบอาหาร ความคาดหวังเพื่อที่จะได้มีอาหารหล่อเลี้ยงปากท้องผู้คนทั้งกองทัพ ได้ก่อให้เกิดลักษณะการประกอบอาหารระหว่างรบที่ต้องมีโครงสร้างลำดับชั้นในการประกอบอาหาร และสิ่งนี้พัฒนาไปสู่โครงสร้างการจัดการภายในครัวของภัตตาคาร

ลำดับชั้นสูงสุดของพ่อครัวนายทหารก็เปรียบประหนึ่งเอ็กซ์คลูซีฟเชฟในภัตตาคาร และลักษณะของความเป็นผู้ชายชาติทหารก็คือบรรยากาศหลักในห้องครัวของภัตตาคาร นี่คือข้อสันนิษฐานถึงรากเหง้าของการที่ผู้ชายครองครัวนอกบ้าน

ในทศวรรษที่ผ่านมา ผู้ชายคือผู้ควบคุมครัวในภัตตาคาร ความเชื่อทางวัฒนธรรมการครัวในโลกตะวันตกที่ว่า ‘ผู้ชายคือพ่อครัวที่แท้ ส่วนผู้หญิงน่ะหรือเป็นแค่คนทำอาหารที่บ้าน’ เป็นความเชื่อหลักในสังคมตะวันตก แม้ว่าผู้หญิงเริ่มผลักตัวเองเข้ามาสู่อาชีพเชฟได้ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ด้วยจำนวนการลงทะเบียนและสำเร็จการศึกษาจากสถาบันอาหารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจำนวนผู้หญิงในฐานะเชฟจะมีมากขึ้น แต่พวกเธอก็ยังไม่สามารถก้าวขึ้นไปสู่ลำดับชั้นสูงๆ ในการบริหารจัดการครัวในภัตตาคารร้านอาหารในสัดส่วนที่เทียบเท่าผู้ชาย ซึ่งก็มีหลายปัจจัยที่กีดกันความก้าวหน้าด้านการงานของผู้หญิงเหมือนในอุตสาหกรรมอื่น นโยบายในสถานที่ทำงานที่เอื้อโอกาสให้ผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชาย ฯลฯ

ภาพเหมารวมเก่าๆ ที่ดำรงมายาวนานก็อาจจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ‘ผู้หญิงใช้หัวใจทำอาหาร ขณะผู้ชายใช้หัวคิดทำ’ สะท้อนถึงความไม่แน่นอนแปรปรวนของผู้หญิง ในขณะที่อาหารต้องการความแน่นอนของรสชาติ กลายเป็นการแดกดันลักษณะผู้ญิ้ง…ผู้หญิง ถ้าให้อธิบายถึงอาหารที่พวกเขาและเธอทำ ผู้ชายจะบอกวัตถุดิบแต่ละอย่างที่พวกเขาใช้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ขณะผู้หญิงจะบอกด้วยลักษณะนามธรรม

คติความคิดเหล่านี้มีส่วนกีดกันความเท่าเทียมของโอกาสในการก้าวหน้าทางการงานระหว่างชายและหญิง รวมถึงความคาดหวังของสังคมที่มีต่อผู้หญิงและชาย ซึ่งก็ผูกโยงไปยังโครงสร้างและนโยบายในที่ทำงานอย่างแยกไม่ออก

วิวาทะเรื่องชายหญิงในพื้นที่ของครัวนั้นน่าสนใจและเป็นภาพแทนของความไม่เท่าเทียมในมิติอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี ดั่งกรณีเชฟชายชาวอิตาเลียนผู้ขอสงวนนามบอกว่า “ผู้หญิงไม่ควรทำงานครัวเป็นอาชีพ พวกหล่อนไม่สามารถรับมือกับความกดดันได้ ทำไปสักพักพวกหล่อนก็อยากจะกลับบ้าน เพราะมันมีแต่เรื่องปวดกบาล”

ขณะที่หัวหน้าเชฟหญิงคนหนึ่งในภัตตาคารที่ลอนดอนบอก “ฉันทำงานไม่เคยบ่นเหนื่อย ท้อแท้หรือไม่สบาย ไม่เคยร้องโอดครวญหลังจากมีดเฉือนนิ้ว เพราะคนอื่นเขาจะมองว่าคุณคือผู้หญิง”

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร WAY ฉบับที่ 82

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า