ภาพ : อนุช ยนตมุติ
ภายหลังจากที่สังคมออนไลน์มีการแชร์ภาพสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ในจังหวัดชลบุรี ซึ่งเรียกกันว่าภูเขาหิมะ โดยมีลักษณะขาวโพลน สวยงาม คล้ายถูกปกคลุมด้วยหิมะ ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปสัมผัสและถ่ายภาพในสถานที่นั้น ขณะเดียวกัน มีการตั้งข้อสังเกตว่าภูเขาหิมะดังกล่าวอาจเป็นภูเขาหินฝุ่นและมีข้อกังวลว่าอาจมีส่วนผสมของแร่ใยหินปนเปื้อนหรือไม่
รศ.ภก.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้จัดการแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเฝ้าระวังแร่ใยหิน เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข้อมูลคาดว่าภูเขาหิมะดังกล่าวไม่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่เคยมีการทำเหมืองแร่ใยหินมาก่อน แต่ยังคงมีการนำเข้าแร่ใยหินจากต่างประเทศเพื่อผลิตเป็นสินค้าชนิดต่างๆ โดยเฉพาะวัสดุก่อสร้าง เช่น กระเบื้องมุงหลังคา ฝ้าเพดาน ผนัง กระเบื้องปูพื้น ท่อน้ำซีเมนต์ ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน
“แม้ว่าภูเขาหิมะอาจไม่มีแร่ใยหิน แต่หากบริเวณนั้นมีฝุ่นละอองปนเปื้อนในอากาศก็ถือว่ามีความเสี่ยงต่อสุขภาพทั้งสิ้น ดังนั้นประชาชนหรือนักท่องเที่ยวที่เข้าไปสัมผัสหรือถ่ายภาพจะต้องระมัดระวังตัวเองด้วย” รศ.ภก.ดร.วิทยา กล่าว
รศ.ภก.ดร.วิทยา กล่าวอีกว่า หน่วยงานราชการในพื้นที่ควรมีการควบคุมดูแลสถานที่เพื่อความปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงตรวจสอบโดยละเอียดว่ามีอันตรายหรือไม่ พร้อมทั้งออกมาให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่นักท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าแร่ใยหินติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก โดยมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 ให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน แต่ยังคงยืดระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายและยังไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกร้องให้ทั่วโลกยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกชนิดโดยเด็ดขาด พร้อมยืนยันว่าแร่ใยหินทุกประเภทก่อให้เกิดมะเร็งและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างร้ายแรง
“กระแสข่าวที่เกิดขึ้นในสังคมออนไลน์ถือเป็นเรื่องดีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน เพื่อจะได้ช่วยกันการเฝ้าระวังแร่ใยหินต่อไป” รศ.ภก.ดร.วิทยา กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://noasbestos.org/
*******************