แอมเนสตี้ออกแถลงการณ์ 10 ปีแห่งการล้อมปราบ ถึงเวลาดำเนินคดีทางอาญาแก่ผู้กระทำความผิด

ประเทศไทย: ยังไม่เกิดความยุติธรรม หลังการปราบปรามอย่างนองเลือดผ่านไป 10 ปี

10 ปีที่แล้วในวันนี้ ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์ปราบปรามของรัฐบาลครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศ นอกจากการดำเนินคดีอาญากับแกนนำและผู้ชุมนุมประท้วงบางส่วนแล้ว ความยุติธรรมยังคงไม่เกิดขึ้น ไม่มีการเปิดเผยความจริง และไม่มีการเยียวยาต่อครอบครัวของผู้ที่ถูกสังหารในระหว่างความรุนแรงครั้งนั้น รัฐบาลไทยต้องนำตัวผู้ที่คาดว่ามีส่วนรับผิดชอบทางอาญาต่ออาชญากรรมระหว่างการชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 มาลงโทษ

ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ทางการไทยเริ่มปฏิบัติการทางทหารครั้งสุดท้าย เพื่อสลายการชุมนุมของผู้ประท้วงหลายพันคน หลังการประท้วงติดต่อกันหลายเดือนในกรุงเทพฯ ซึ่งบางครั้งเกิดความรุนแรงขึ้น และมีการโจมตีทำร้ายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ระหว่างวันที่ 10 เมษายน ถึง 19 พฤษภาคม การเผชิญหน้าที่รุนแรงหลายครั้งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 94 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 1,283 คน โดยในบรรดาผู้เสียชีวิตประกอบด้วยผู้ประท้วง นักข่าว ผู้ที่ให้ความสนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาสาสมัคร เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมายังไม่มีการพิสูจน์ถึงสาเหตุการตายของผู้เสียชีวิตบางหลาย ในโอกาสครบรอบ 10 ปีของวันสุดท้ายในการปราบปรามที่รุนแรง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการไทยให้นำตัวผู้มีส่วนรับผิดชอบทางอาญาทั้งหมดมาลงโทษทันที ตามกระบวนการที่เป็นธรรมของศาลพลเรือน และให้การเยียวยาอย่างเป็นผลต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต

การประท้วงครั้งนั้นเริ่มขึ้นในวันที่ 12 มีนาคม 2553 เมื่อแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ได้รวมตัวประท้วงในหลายจุดของกรุงเทพฯ และปริมณฑล และเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนจากทั่วประเทศเข้าร่วมชุมนุมด้วยทันที สองวันหลังจากนั้น นปช. เรียกร้องนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ เมื่อมาตรการของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (สอฉ.) ที่มีผู้อำนวยการเป็น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ใช้ไม่ได้ผล จึงมีการส่งกำลังทหารพร้อมกระสุนจริงเพื่อสลายการชุมนุม

ในระหว่างปฏิบัติการ ทหารได้ใช้กำลังโดยไม่จำเป็นและเกินกว่าเหตุ สังหารผู้ประท้วงอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงเด็กสามคน และพยาบาลอาสาฯ ที่ไม่มีอาวุธสองคน ซึ่งสวมชุดพยาบาลพร้อมเครื่องหมายกาชาด ในระหว่างที่มีการยิงก๊าซน้ำตาและกระสุนยาง มีรายงานว่าทหารยังยิงกระสุนจริงใส่ผู้ชุมนุม ทั้งในแนวราบและยิงขึ้นข้างบน ในเขตพื้นที่ที่ประกาศเป็น “พื้นที่ใช้กระสุนจริง” ติดกับที่ชุมนุมประท้วง ยังมีรายงานว่าผู้ประท้วงใช้อาวุธปืนโจมตีฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ความมั่นคง นอกจากนั้นทางการยังกล่าวหาว่ามีการวางเพลิงและทำร้ายทรัพย์สิน

ภายหลังเหตุความรุนแรง รัฐบาลประกาศในวันที่ 21 พฤษภาคม 2553 ว่าจะมี “การสอบสวนอย่างเป็นอิสระต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดระหว่างการประท้วง” “ในลักษณะที่โปร่งใส” แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล ผู้บัญชาการทหาร หรือเจ้าหน้าที่ทหารรายใดที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการครั้งนั้นถูกดำเนินคดี แม้ว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษจะได้แจ้งข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนาต่ออดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ และรองนายกฯ สุเทพ กับสำนักงานอัยการสุงสุด ทั้งนี้ตามคำสั่งไต่สวนการตายที่ระบุว่าเป็นการเสียชีวิตจากกระสุนของทหาร ผู้เสียหายยังได้ฟ้องอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ และรองนายกฯ สุเทพ, พลเอกอนุพงศ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทย และบุคคลอื่นๆ ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) แต่มีการยกฟ้องคดีนี้ในปี 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจห้านายซึ่งเกี่ยวข้องกับการฟ้องคดีนี้ ยังถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกเป็นเวลาสี่ปี และลดหย่อนลงเหลือสองปี ตามคำพิพากษาของศาลอาญาในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ต่อมาศาลอาญาได้ยกฟ้องคดี “ก่อการร้าย” ต่อแกนนำผู้ประท้วงบางส่วนในเดือนสิงหาคม 2562 แต่พวกเขายังคงต้องถูกดำเนินคดีอาญาและแพ่งร้ายแรงอีกอย่างน้อยห้าคดี โดยหนึ่งในนั้นอาจทำให้ต้องจ่ายค่าปรับกว่า 20,000,000 บาท เมื่อมีการละเมิดและปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชน ผู้ที่คาดว่ามีส่วนรับผิดชอบทางอาญาทั้งหมดต้องถูกนำมาลงโทษตามการพิจารณาที่เป็นธรรมของศาลพลเรือน หากพบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐมีความผิดฐานละเมิดสิทธิมนุษยชน การลงโทษทางวินัยหรือตามมาตรการของฝ่ายบริหารอาจไม่เพียงพอ และไม่สอดคล้องตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

นับแต่ปี 2553 ครอบครัวและเพื่อนของผู้ตายเรียกร้องความยุติธรรมอย่างสม่ำเสมอ แต่พวกเขากลับต้องเผชิญกับการข่มขู่จากเจ้าหน้าที่ของรัฐ พะเยาว์ อัคฮาด แม่ของพยาบาลอาสาฯ กมนเกด อัคฮาด ที่ถูกยิงจนเสียชีวิตในวัดปทุมวนารามที่กรุงเทพฯ ได้ฟ้องคดีข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนาต่อเจ้าหน้าที่ทหาร พร้อมกับการสอบสวนโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษในปี 2553 แต่ในเดือนพฤษภาคม 2562 เธอได้รับแจ้งว่าพนักงานอัยการทหารมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2562 พะเยาว์ถูกปรับฐานที่ไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงานล่วงหน้าก่อนการประท้วง ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ หลังจากเธอจัดกิจกรรมเรียกร้องความยุติธรรมให้กับลูกสาวของเธอ เมื่อเร็วๆ นี้ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 ตำรวจสันติบาลโทรศัพท์หาเธอหลายครั้งในเวลากลางคืน เพื่อสอบถามถึงแผนการจัดชุมนุมในโอกาสครบรอบการเสียชีวิตของลูกสาวของเธอ ตามหลักกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ ศาลยุติธรรมที่เป็นอิสระและไม่ลำเอียงมีหน้าที่อำนวยให้เกิดการเยียวยา “โดยเฉพาะเมื่อเป็นการกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตรอด”1 ณัฏฐธิดา มีวังปลา พยานปากเอกในคดีเกี่ยวกับการเสียชีวิตของพยาบาลกมนเกด ถูกดำเนินคดีข้อหาก่อการร้าย สืบเนื่องมาจากการโยนระเบิดใส่ศาลอาญาถนนรัชดา ทั้งยังถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาที่มีถ้อยคำกำกวม

ในโอกาสครบรอบ 10 ปีและเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2563 กลุ่มนักกิจกรรมทำการฉายแสงแสดงข้อความ “ตามหาความจริง” และ “ทุ่งสังหารกลางกรุง” ในสถานที่หลายแห่ง ที่มีความเกี่ยวข้องเชิญสัญลักษณ์กับการปราบปรามครั้งนั้น รวมทั้งวัดปทุมวนาราม กระทรวงกลาโหม อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ และสี่แยกราชประสงค์ ส่งผลให้พลโทคงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ออกมากล่าวหาว่า เป็นปฏิบัติการ “ที่มีแรงจูงใจทางการเมือง” และขู่จะดำเนินคดีกับคณะก้าวไกล ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกระบุว่าอยู่เบื้องหลังปฏิบัติการครั้งนี้

ในคืนวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 ผู้ชุมนุมเสื้อแดงจำนวนมากได้มารวมตัวที่บริเวณทางเข้าสวนลุมพินี เพื่อรำลึกถึง พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง อดีตที่ปรึกษาด้านการทหารของผู้ประท้วง ซึ่งถูกยิงและต่อมาเสียชีวิตจากกระสุนของพลแม่นปืน ระหว่างให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในการประท้วงเมื่อปี 2553 หลังจากผู้ชุมนุมสลายตัวไปแล้ว ตำรวจจากสถานีตำรวจนครบาลลุมพินีได้เข้าจับกุม อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีชื่อเสียง ซึ่งเป็นผู้จัดงานดังกล่าว และกล่าวหาว่าเขาละเมิดข้อห้ามการชุมนุมตามพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน และระเบียบที่ออกตามกฎหมายดังกล่าวเพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 อนุรักษ์อาจได้รับโทษจำคุกสองปีและปรับ 40,000 บาท โดยเขายังอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอาญาอีกหลายข้อหา อันเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเคยเรียกร้องให้ทางการไทยต้องประกันว่า อำนาจฉุกเฉินที่ใช้เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 จะต้องไม่ถูกใช้เพื่อจำกัดสิทธิมนุษยชนโดยพลการ2

การขาดความยุติธรรม ความจริง และการเยียวยาจากรัฐบาลสำหรับผู้ที่ถูกสังหารและทำร้ายระหว่างการชุมนุมในปี 2553 เน้นให้เห็นปัญหาการลอยนวลพ้นผิดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ยังเกิดขึ้นต่อไป รวมทั้งรัฐบาลเพิกเฉยต่อกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมและการใช้กำลัง เหตุที่ทางการไม่สามารถแก้ไขปัญหาจากการละเมิดเหล่านี้ได้ ทำให้เกิดบรรยากาศความหวาดกลัวโดยทั่วไป และเปิดโอกาสให้มีการปฏิบัติมิชอบและการละเมิดเช่นนี้อีก โดยผู้กระทำไม่ต้องถูกลงโทษ ทางการไทยต้องดำเนินคดีทางอาญาโดยทันทีต่อเจ้าหน้าที่ทั้งในปัจจุบันและอดีต และบุคคลที่มีส่วนรับผิดชอบ รวมทั้งผู้ทำหน้าที่สั่งการ โดยต้องรับประกันว่าจะมีการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ทั้งยังต้องจัดให้มีการเยียวยาอย่างเต็มที่ต่อญาติของผู้เสียชีวิตและผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างสอดคล้องตามกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ

 

เชิงอรรถ

  1. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, José Vicente et al v Columbia, (1997) Communication No. 612/1995, para. 8.2.
  2. โปรดดู แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล “มาตรการเพื่อรับมือโรคโควิด-19 ของทางการไทย จะต้องไม่นำไปสู่การจำกัดโดยไม่จำเป็นต่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออก” “Thai authorities’ COVID-19 response must not lead to unwarranted restrictions on human rights and freedom of expression,” 27 มีนาคม 2563, https://www.amnesty.org/en/documents/asa39/2042/2020/en/ (เข้าถึงเมื่อ 17 พฤษภาคม 2563).

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า