“เป็นคนที่ชอบติดตามประเด็นทางสังคม เพราะรู้สึกว่ามันมีปัญหาเยอะจังวะ อยากรู้จัก อยากเข้าใจ ผมเป็นคนต่างจังหวัดที่เพิ่งรู้จักการชุมนุมทางการเมืองด้วยตัวเองครั้งแรกเมื่อตอนปี 2548-2549 ตอนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬก็ได้แค่ตามอ่านหนังสือพิมพ์อยู่ต่างจังหวัด”
วิชัย จันทวโร นักผลิตสารคดีอิสระ แนะนำตัวเองสั้นๆ แบบนี้
ภาพต้นฉบับจากเฟซบุ๊คส่วนตัว วิชัย จันทวโร
“ปี 2548 อยู่กรุงเทพ ทำงานบริษัทเอกชนที่รับจ้างทำงานให้ราชการ แล้วไปรับรู้ความไม่ชอบมาพากลของนักการเมืองที่มามีอำนาจเหนือข้าราชการ เลยไปร่วมประท้วงตั้งแต่ช่วงเริ่มชุมนุมที่สนามหลวง พอปี 2549 ก็ลาออกจากงานมาอยู่เชียงใหม่ แต่ก็ยังเดินทางลงมาร่วมชุมนุมอยู่
“ผมไม่ชอบทักษิณ รู้สึกว่าทำไมคนฉลาดจะโกงได้ขนาดนี้ คนโกงมีมาตลอดนั่นแหละ แต่รู้สึกว่ามันไม่เคยมีใครโกงได้ฉลาดเท่านี้ โกงทีละมากๆ เท่านี้ และไม่รู้สึกละอาย
“ไม่ชอบสนธิ เพราะรู้ว่าคนๆ นี้ก็ไม่ธรรมดา ไม่สนิทใจ แต่รู้สึกว่าต้องเอาทักษิณไปก่อน”
ทักษิณ ชินวัตร ก็ไม่ชอบ สนธิ ลิ้มทองกุล ก็ไม่สนิทใจ แต่ก็ยังเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
“พันธมิตรฯ – โดยรวมนี่รู้สึกโอเคเลยในตอนนั้น แต่ระหว่างชุมนุมไม่ชอบสิ่งที่พันธมิตรฯ ทำ หรือสิ่งที่แกนนำทำก็เยอะนะ นั่งด่าคำปราศรัยที่เขาพูดกันบนเวทีกับเพื่อนๆ อยู่ข้างเวที แต่รวมๆ ก็ถือว่ารับได้ ผมว่าสิ่งสำคัญคือเราผูกพันกับเพื่อนที่ไปชุมนุมโดยที่ไม่รู้จักกันมาก่อนนะ ทุกวันนี้ยังคบหาติดต่อกันอยู่ กลายเป็นเพื่อนในชีวิตจริง ดีที่กลุ่มเราถ้าเห็นอะไรไม่เข้าท่า เราก็ปรามๆ กัน ไม่พากันขึ้น
“ตอนมีเสนอ นายก ม.7 นี่สะอึกเลย”
“เฮ้ย! ไม่ใช่แล้ว ตอนนั้นถอยเลย ไม่เข้าร่วมพักนึง ผมว่าหลายคนก็ถอยออก คนรู้จักหลายคนก็ถอยออกไป ตอนหลังเหมือนบนเวทีก็เพลาเรื่องนี้ไป เพราะรู้ว่าแนวร่วมไม่เอาด้วยเยอะ และรู้สึกว่าเป็นการไม่บังควร บังอาจว่างั้นเถอะ”
19 กันยายน 2549 ปลายทางของการชุมนุมคราวนั้นจบลงด้วยรัฐประหาร แรกทีเดียวเขาดีใจ กระนั้นพอเริ่มรูปประโยคเช่นนี้ก็มักจะมีคำว่า ‘แต่’ ติดสอยห้อยท้ายเสมอ และคำนี้ก็กินความลากยาวจาก 2549 เกี่ยวพันกับ 2557 กระทั่งอาจนับถึงพุทธศักราชนี้ได้เลย
“วินาทีแรกดีใจนะ เพราะเรารู้ว่าถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป คนตายอีกเยอะ คือตอนนั้นมันพร้อมจะห้ำหั่นกันได้ตลอดเวลา แต่ก็เกลียดผลของการรัฐประหารในเวลาต่อมา
“หลังรัฐประหาร เมื่อเห็นผลของมัน เห็นการทำงานของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารแล้วภาวนาให้มันจบไวๆ กลับมาเลือกตั้งกัน แบบนี้ไม่ใช่ทางออกแล้ว เราก็วิพากษ์วิจารณ์เหมือนทุกรัฐบาลนะ อะไรไม่เข้าท่า บ้าบอก็ด่ากันไปตามพื้นที่ที่ทำได้
“หลังเห็นผลของการรัฐประหาร 2549 ผมไม่คิดเลยว่าจะมีใครกล้าทำรัฐประหารอีก เชื่อจริงๆ ว่าทุกคนน่าจะเห็นว่ามันไม่ใช่คำตอบ แต่จุดเปลี่ยนความคิดต่อการเมือง และต่อตัวเองหลักๆ เกิดจากการรัฐประหารโดย พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา”
“ก่อน 22 พฤษภาคม 2557 ผมเชื่อจริงว่าๆ พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา จะไม่ทำรัฐประหาร เพราะเขาประกาศมาตลอด ว่าเขาเป็นทหาร เป็นลูกผู้ชาย พอมันเกิดขึ้นเราก็ ‘อ้าว! ไอ้นี่ไม่ใช่ลูกผู้ชาย’ ที่สำคัญคือ เราอ่อนต่อโลกมากๆ ตั้งแต่นั้นมาผมสัญญากับตัวเองว่าจะไม่ร่วมชุมนุมทางการเมืองอีก แต่ถ้าเรื่องทรัพยากร เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องสิทธิชาวบ้านก็เจอกันได้”
แม้จะร่วมชุมนุมอยู่เบื้องล่าง 2 เวทีใหญ่ที่ปลายทางคือรัฐประหารทั้งคู่ แต่ตามประสามนุษย์อิสระผู้มิอาจนิ่งเฉยต่อความไม่เข้าท่า นอกจากเป็นผู้ฟังแล้ว บ่อยครั้งเขาเป็นผู้พูด และการพูดของเขาเน้นหนักเรื่องการด่า ซึ่งทักษะเรื่องนี้อาจทำให้เพื่อนพ้องของเขาสับสนอยู่บ้าง
“รู้อะไรมั้ย ผมโดนด่ามาจากทั้ง 2 ฝั่ง ตอนปี 2549 คนก็ด่าว่าเราเรียกรัฐประหาร กวักมือเรียกทหาร อยากบอกว่า คือ เราก็ไม่อยากได้นะเว้ย ตอนหลังถึงมาคิดว่า หรือว่าระดับนำเขาอยากได้กันจริงๆ วะ เรื่องนี้เลยไม่เถียง เพราะเรามีส่วนทำให้ระดับนำสมหวัง”
“แต่หลังจากนั้นพอรัฐบาลทหารเข้ามา ทำอะไรไม่เข้าท่า เราก็ด่ารัฐบาล ฝั่งเหลืองก็มาว่า ว่าเราเปลี่ยนไป พอสมชายเข้ามา สมัครเข้ามาทำอะไรไม่เข้าท่า เราก็ด่าอีก ก็โดนเพื่อนฝั่งแดงค่อนแคะว่านิยมทหาร พออภิสิทธิ์เข้ามา ทำอะไรไม่เข้าท่าเราก็ด่าอีก ก็โดนเหลืองบางส่วนว่า เปลี่ยนไป เปลี่ยนสี แต่ไปเข้าร่วมชุมนุมสีแดงไม่ได้นะ เพราะสีแดงก็ว่าเราเหลือง พอยิ่งลักษณ์เข้ามา ทำอะไรไม่เข้าท่า เราก็ด่าอีก (อ้อ ไอ้นี่เหลือง ร้องหารัฐประหาร) สนุกดี ทุกวันนี้เราข้ามไม่พ้นเรื่องพวกนี้ เพราะคนที่หวังดีต่อประเทศทั้งสองฝ่ายกำลังค่อนแคะ และแหวะกันเอง”
ผ่านมา 11 ปีหลังรัฐประหาร วิชัย จันทวโร อยากพูดอะไรกับวิชัย จันทวโร
“คงไม่คุยอะไรกับตัวเอง ไม่อยากเปลี่ยนอะไรช่วงนั้น เพราะรู้สึกว่ามันทำให้เราโตขึ้น มองอะไรกว้างขึ้น ให้ประสบการณ์เรามากทีเดียว แต่ถ้าถามเร็วกว่านี้หน่อย มีเวลาจะคุยกับตัวเองก่อนปี 2557 ว่า ระวังเตะหมูเข้าปากหมา แต่ตอนนี้ไม่ทันแล้ว เลยไม่คุย เพราะหลังจากรัฐประหารปี 2557 ผมได้คุยกับตัวเองไปแล้ว”
“อยากขอโทษเพื่อนคนหนึ่ง ที่ผมเคยรับรองกับเขาว่า พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา จะไม่ทำรัฐประหาร อยากบอกว่า ผมอ่อนหัดเอง สมควรได้รับนิ้วกลาง”