สถาบันวิจัยมะเร็งอเมริกัน (American Institute for Cancer Research: AICR) ยืนยันว่ามะเร็งส่วนใหญ่สามารถป้องกันได้ จากการคาดการณ์โดยนักวิจัยพบว่า ความเสี่ยงด้านมะเร็งราวร้อยละ 60-70 สามารถลดลงได้จากการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารในชีวิตประจำวัน
การเอาใจใส่และหันมาปรับเปลี่ยนอาหารการกินในแต่ละวัน นอกจากจะช่วยส่งเสริมร่างกายให้แข็งแรง ยังช่วยให้คุณหลีกเลี่ยงการสะสมสารอันตรายที่อาจนำไปสู่โรคมะเร็ง
1. อาหารจากกระป๋องที่มีสาร BPA
อนาคตของสาร BPA (bisphenol-A) นั้นไม่สดใสนัก แต่อาจจะยังมีอาหารกระป๋องที่ใช้สาร BPA ยาแนวกระป๋องอยู่ ผลทดสอบในห้องทดลองพบว่า เซลล์ของสัตว์ทดลองที่ได้รับ BPA นั้นเสี่ยงต่อมะเร็ง การเป็นหมัน เบาหวาน และน้ำหนักเกิน หากอาหารกระป๋องเหล่านั้นไม่มีฉลาก ‘BPA free’ ก็อาจเป็นไปได้ว่ายังมีสาร BPA อยู่ BPA ยังพบในผลิตภัณฑ์พลาสติกและผสมในสารอุดฟันบางชนิด
2. อาหารรมควัน
ส่วนใหญ่เป็นอาหารประเภทเนื้อและปลา รวมถึงอาหารที่ผสมสารไนเตรตและไนไตรต์ เพื่อช่วยถนอมอาหารและใช้เป็นสารกันเสีย อาหารแห้งเหล่านี้มักจะเติมสีในเนื้อร่วมด้วย เมื่อนำมาประกอบอาหารหรือผ่านความร้อน ไนไตรต์และไนเตรตจะเปลี่ยนเป็นสารประกอบ อาทิ ไนโตรซามีน และไนโตรซาไมด์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสารก่อมะเร็ง
3. ปลาเลี้ยง
ข้อมูลจาก Food and Water Watch รายงานว่า พบระดับสารเคมีปนเปื้อนในตัวปลาเลี้ยงมากกว่าปลาที่จับตามธรรมชาติ โดยเฉพาะสาร PCBs (polychlorinated biphenyl) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง นอกจากนี้ ด้วยสภาพการเลี้ยงที่ค่อนข้างแออัด ผู้เลี้ยงปลาจึงจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรค
4. GMO
ปัจจุบัน อาหารดัดแปรพันธุกรรมแทรกซึมอยู่ในระบบอาหารรอบๆ ตัวเรา ถ้าเป็นไปได้ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน โดยดูได้จากฉลาก ‘GMO free’
5. เนื้อสัตว์ปิ้งย่าง
ระหว่างการรับประทานปิ้งย่างอย่างสนุกสนาน สาร PAHs (Polycyclic aromatic hydrocarbons) จะเกิดขึ้นทั้งจากการเผาไหม้ถ่าน และขณะที่ไขมันจากเนื้อสัตว์ร่วงผ่านตะแกรงลงไปยังเปลวไฟด้านล่าง เกิดเป็นเปลวและควันขึ้นจับอาหาร จะเป็นการสะสมความเสี่ยงต่อมะเร็งในระยะยาว
6. ไขมันทรานส์
ไขมันดัดแปลงที่รู้จักกันในชื่อ trans- fats (Hydrogenated oils) เป็นการนำน้ำมันไปผ่านกระบวนการทางเคมีเพื่อช่วยยืดอายุผลิตภัณฑ์ให้อยู่บนเชลฟ์ได้นานขึ้น
ทีมวิจัยจาก Harvard School of Public Health ให้ข้อมูลว่า ไขมันทรานส์ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานหนักขึ้น เกิดการอักเสบได้ง่าย และอาจทำให้ผู้รับประทานเสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดและเบาหวาน
7. ป๊อปคอร์นไมโครเวฟ
ถุงป๊อปคอร์นสำหรับเข้าเครื่องไมโครเวฟมักจะเคลือบด้วยสาร PFOA (perfluorooctanoic acid) และ PFOS (perfluorooctane sulfonate) เพื่อป้องกันไม่ให้ความมันซึมออกมานอกถุง เมื่อถูกความร้อน สารเคมีจะปนอยู่กับป๊อปคอร์น เมื่อรับประทานเข้าไป จะตรวจพบสารปนเปื้อนในเลือด
สำหรับ PFOA นั้นเชื่อมโยงกับการเกิดเนื้องอกในอวัยวะต่างๆ ของหนูทดลอง ไม่ว่าจะเป็นตับ ตับอ่อน ถุงอัณฑะ และต่อมน้ำนม นอกจากนั้นยังพบผู้ป่วยด้วยมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มขึ้นในโรงงานที่มีสาร PFOA
8. ผักและผลไม้ไม่อินทรีย์
ผักผลไม้หลายชนิดคืออาหารผสมสารเคมี หลายครั้งเมล็ดก็มาจากการดัดแปรพันธุกรรม หากเลี่ยงได้ควรเลี่ยง ตัวอย่างผักและผลไม้ที่ควรเลือกซื้อแบบออร์แกนิก ได้แก่ แอปเปิล พีช สตรอเบอร์รี องุ่น คื่นช่ายฝรั่ง ผักโขม พริกตุ้ม แตงกวา มะเขือเทศเชอร์รี ถั่วลันเตาชนิดฝัก และมันฝรั่ง ดูรายชื่อผักผลไม้ที่ค่อนข้างไว้ใจได้ที่ http://www.ewg.org/foodnews/list.php (ข้อมูลในสหรัฐ)
9. อาหารสำเร็จรูป
อาหารจำพวกเนื้อแปรรูป จะมีปริมาณไนไตรต์และไนเตรตสูง ซึ่งอาจไปกระตุ้นความเสี่ยงของมะเร็งกระเพาะอาหารและความผิดปกติในระบบย่อยอาหารให้เพิ่มมากขึ้น
วิธีสังเกตอาหารสำเร็จรูปง่ายๆ คือ จะเป็นอาหารรสชาติถูกปากที่ไม่สามารถดูออกว่าทำมาจากอะไร เนื่องจากวัตถุดิบถูกผสมและมีรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก อาทิ ไส้กรอก พิซซา เบอร์เกอร์ มันฝรั่งทอด อาหารแช่แข็งพร้อมอุ่น ฯลฯ
10. น้ำตาลฟอกสี
นักวิจัยพบความเชื่อมโยงระหว่างน้ำตาลและสุขภาพที่ย่ำแย่ลง ไม่ว่าจะเป็นระดับน้ำตาลในเลือด ระดับคอเลสเตอรอลดี (high-density lipoprotein: HDL) ที่ลดลง เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ภาวะน้ำหนักเกิน รบกวนระบบภูมิคุ้มกัน เสี่ยงต่ออาการไขข้ออักเสบ และอาการที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
11. น้ำอัดลม เครื่องดื่มให้พลังงาน
แม้จะได้รับการยืนยันว่าเครื่องดื่มอุดมน้ำตาลเหล่านี้ไม่มีคุณค่าทางอาหาร แถมด้วยความหวานจากน้ำเชื่อมข้าวโพด น้ำตาล สีผสมอาหาร น้ำมันพืชที่เติมสารหน่วงไฟ หรือกรณีใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล หรือสารเคมีอื่นๆ อาจจะได้พลังงานเพิ่มขึ้นจริง แต่ร่างกายกลับสูญเสียวิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นไป
12. แป้งขัดขาว
เส้นทางสารเคมีเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนปลูก เมล็ดพันธุ์จะผ่านการจุ่มสารกันเชื้อรา ระหว่างเพาะปลูกก็มีการพ่นสารปราบศัตรูพืชเป็นช่วงๆ เมื่อเก็บเกี่ยวและเก็บเข้ายุ้งฉาง ก็จำเป็นต้องใช้สารกันแมลงอีกรอบ
เมื่อนำไปโม่แป้ง เมล็ดพันธุ์ต้องผ่านความร้อนและการขัดขาวด้วยก๊าซคลอรีน ก่อนจะมาเป็นแป้งสำหรับทำขนมปังและของชอบของใครหลายๆ คน
ที่มา:
theheartysoul.com
niehs.nih.gov
ncbi.nlm.nih.gov
cancer.ca
foodandwaterwatch.org