เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 ภาคี #Saveบางกลอย ระบุว่า กรมราชทัณฑ์ได้มอบหมายให้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรมราชทัณฑ์ ประชุมร่วมกับชาวบ้านบางกลอย พร้อมด้วย เฉลิมศรี ประเสริฐศรี, วีรวัฒน์ อบโอ และ ส.รัตนมณี พลกล้า ซึ่งเป็นทนายความของชาวบ้าน เพื่อสอบข้อเท็จจริงกรณีเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการราชทัณฑ์ในเรือนจำเขากลิ้ง จังหวัดเพชรบุรี โกนผมชาวบ้านผู้ถูกกล่าวหาในคดีบุกรุกแผ้วถางพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน บริเวณบ้านบางกลอยบน 13 คน จาก 15 คน หลังมีการส่งตัวฝากขังที่เรือนจำ
เจ้าหน้าที่แจ้งว่า กระบวนการสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนี้เกิดจากการรับเรื่องร้องเรียนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขอให้กรมฯ ดำเนินการสอบข้อเท็จจริงจากชาวบ้าน กรณีชาวบ้านบางกลอยถูกโกนศีรษะขณะที่ถูกส่งตัวไปเรือนจำเพื่อฝากขัง
การประชุมร่วมกับชาวบ้านบางกลอยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ตั้งแต่ 10.00-11.30 น. เป็นการประชุมด้วยระบบทางไกลผ่านโปรแกรม Zoom โดยมีชาวบ้านมาร่วมให้ปากคำทั้งสิ้น 12 คน จากทั้งหมด 13 คน
หลังจากการสอบข้อเท็จจริง ส.รัตนมณี ทนายความ ให้ความเห็นว่า การสอบสวนนี้ไม่น่าจะส่งผลหรือเกี่ยวข้องต่อรูปคดี แต่เป็นเรื่องสิทธิของผู้ต้องหาที่ถูกนำตัวเข้าเรือนจำในขณะที่ศาลยังไม่ได้ตัดสินว่ามีความผิด เพียงแต่เอาไปฝากขังไว้ เพราะไม่ได้ประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวนในขณะนั้น ซึ่งในความเห็นของตนก็รู้สึกชื่นชมที่ทางกรมราชทัณฑ์ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าการฝากขังยังไม่ได้มีการพิจารณาคดีหรือรับโทษใดๆ ก็ไม่ควรถูกโกนผมเหมือนนักโทษ อีกทั้งทราบจากชาวบ้านบางกลอยด้วยว่า เรื่องการตัดผมสำหรับชาวกะเหรี่ยงถือเป็นเรื่องใหญ่ โดย พะตีนอแอะ และแยแย ซึ่งเป็นลูกหลานของ ปู่คออี้ มีมิ ผู้นำทางจิตวิญญาณผู้ล่วงลับ มีความเชื่อซึ่งเป็นมรดกตกทอดกันมาว่า ชาวกะเหรี่ยงจะไม่มีการตัดผมตลอดชีวิต และทั้ง 2 คน เคยลั่นสัจจะวาจาว่าถ้าถูกตัดผม จะขอยอมตาย ซึ่งชาวบ้านได้ให้ปากคำต่อเจ้าหน้าที่ที่สอบสวนในเรื่องนี้ด้วย
นอกจากนี้ ในการสอบข้อเท็จจริงได้มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจับกุมชาวบ้าน ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับเยาวชนมาพร้อมกับผู้ใหญ่ด้วย แล้วยังนำตัวไปดำเนินคดีและถูกฝากขังร่วมกับผู้ใหญ่ และถูกโกนผมไปด้วย โดยเยาวชนผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่ว่า ตอนที่โดนจับ เจ้าหน้าที่ไม่มีการถามอายุ อีกทั้งตนเองไม่มีความเข้าใจว่าต้องแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ว่าตนไม่ควรถูกดำเนินคดีพร้อมกับผู้ใหญ่คนอื่น เมื่ออยู่ที่เรือนจำก็ไม่ได้มีการสอบถามเกี่ยวกับอายุของตน ทั้งๆ ที่ขณะถูกจับ ตนอายุเพียง 17 ปีเท่านั้น
ทนายความ ส.รัตนมณี ตั้งข้อสังเกตถึงกรณีการถูกโกนผมของชาวบ้านทั้ง 13 คน เมื่อมีการส่งตัวเข้าเรือนจำโดยที่ยังไม่ได้ตัดสินว่าเป็นผู้กระทำผิดนั้น ปัญหาสำคัญ คือ การเอาชาวบ้านเข้าไปอยู่ในเรือนจำร่วมกับผู้กระทำผิด กลายเป็นว่าพวกเขาต้องถูกบังคับราวกับคนที่ถูกตัดสินพิพากษาลงโทษ หรือแม้กระทั่งถูกฟ้องแล้ว อีกทั้งชาวบ้านยังไม่ควรถูกโกนผม เพราะว่ายังถือเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ จึงเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ กรณีของชาวบ้านบางกลอยถือเป็นกรณีที่พิเศษ เนื่องจากชาวบ้านมีปัญหาเรื่องกำแพงภาษา ทำให้ไม่สามารถโต้แย้งหรือคุ้มครองสิทธิของตนเองได้เต็มที่ ซึ่งจากการสอบข้อเท็จจริง ชาวบ้านยืนยันกับคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงว่า ตอนที่เจ้าหน้าที่ถาม ชาวบ้านก็ยืนยันว่าไม่ต้องการโกนผม แม้จะไม่มีการใช้กำลัง แต่ชาวบ้านเองก็ไม่รู้ข้อบังคับ ในขณะที่เจ้าหน้าที่ใช้คำพูดบังคับว่าต้องทำแบบนั้นแบบนี้ เช่น ชาวบ้านบอกว่า เจ้าหน้าที่พูดว่าพวกคุณทำผิดแล้วก็ต้องทำตามกฎ เมื่อชาวบ้านพยายามโต้แย้ง แต่ก็ไม่เป็นผล และมีปัญหาทางภาษาในการสื่อสาร
“อยากให้การร้องเรียนและการตรวจสอบกรณีนี้ เป็นกรณีตัวอย่างที่ทางกรมราชทัณฑ์จะนำไปปรับปรุงแก้ไขไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน”
นายพงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร หนึ่งในชาวบ้านบางกลอยที่ได้เข้าร่วมประชุมเพื่อสอบข้อเท็จจริง กล่าวว่า การประชุมพูดคุยเป็นไปด้วยดี และรู้สึกดีใจที่กรมราชทัณฑ์ตั้งกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวด้วยว่า อยากขอบคุณทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ยื่นข้อร้องเรียนถึงกรมราชทัณฑ์ ลำพังชาวบ้านเองอาจจะไม่รู้ขั้นตอนต่างๆ ว่าการถูกโกนผมระหว่างถูกฝากขัง ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
“รู้สึกดีใจที่กรมราชทัณฑ์ออกมาตั้งคณะกรรมการและมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ก็คาดหวังไว้ว่า เหตุแบบนี้ไม่ใช่แค่กรณีของบางกลอย แต่กับกรณีอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นผู้ต้องหา แค่ถูกฝากขัง ไม่ควรถูกโกนหัว ทางราชทัณฑ์เองอาจจะมีมาตรการ หรือข้อบังคับให้กับเจ้าหน้าที่ทุกคนได้รับทราบว่าวิธีการนี้ยังไม่ถูกต้อง ควรปรับปรุงในส่วนนี้” พงษ์ศักดิ์ ทิ้งท้าย
ขั้นตอนต่อจากนี้ คณะกรรมการกรมราชทัณฑ์แจ้งว่า จะมีการรับฟังข้อคิดเห็นอย่างรอบด้านทั้งจากเจ้าหน้าที่เรือนจำ ชาวบ้านบางกลอยคนอื่นๆ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดความยุติธรรม และจัดทำเป็นข้อสรุปเสนอต่ออธิบดีกรมราชทัณฑ์ต่อไป