เรื่อง: ปริชาติ หาญตนศิริสกุล
ภาพ: อนุช ยนตมุติ
ถ้าคุณข้องเกี่ยวกับนักเลงคีย์บอร์ดบ้างคุณคงเคยเห็นดราม่า ‘หลุมศพปลาวาฬ’ ที่มีนางแบบไปโพสท่าถ่ายรูปกับศพวาฬบรูด้า ที่ป่าชายเลนแห่งหนึ่ง แต่วันนี้เราไม่ได้จะพาคุณไปย้อนรำลึกถึงดราม่าเรื่องนั้นหรอกนะ ทว่าเราจะพาคุณไปรู้จักตากล้องเจ้าของโปรเจ็คท์นั้น ว่าเขาเป็นใคร
ธีระฉัตร โพธิสิทธิ์ หรือ ‘ทอม’ เคยทำงานมาหลายอย่างทั้งเป็นอาสาสมัครถ่ายภาพทางอากาศเพื่อสำรวจประชากรสัตว์น้ำให้กับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นนักอนุรักษ์ แต่ตอนนี้เขาเป็นช่างภาพอิสระที่เรียกงานของภาพถ่ายตัวเองว่า ‘แฟชั่นสะท้อนสังคม’ กับงานชิ้นล่าสุดที่เขตการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ ‘SKYfALL: น้ำตามหากาฬ‘
คิดว่าตัวเองเป็นศิลปินหรือเปล่า
อย่าเรียกว่าเป็นศิลปินเลย ผมคิดว่าผมเป็นนักเล่าเรื่องที่ส่งทอดความรู้สึกและแนวคิดผ่านงานศิลปะและภาพถ่ายโดยใช้แฟชั่นเป็นสื่อ บางทีผมก็ทำงานผ่านทางศิลปะด้วย แต่จริงๆ แฟชั่นของผมมีหลายอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องของงานอนุรักษ์ไม่ว่าจะเป็นคน เมือง วัฒนธรรม สัตว์
คือผมไม่ได้เรียนศิลปะมาโดยตรง อยู่ดีๆ ก็ชอบการถ่ายภาพ ชอบศิลปะ เพราะตอนเด็กๆ ไม่มีความรู้ด้านศิลปะเลย ทำศิลปะอาจารย์ก็ด่าว่าห่วยมาก เลยเกลียดศิลปะมาตั้งแต่เด็ก อยู่ดีๆ มาทำงานด้านการออกแบบแล้วชอบการถ่ายภาพ ผมก็รู้สึกว่ามันมีช่องทางที่ผมสามารถทดลองทำอะไรบางอย่างได้ผ่านงานภาพถ่าย อย่างเช่นแฟชั่นสะท้อนปัญหาสังคม ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก คือถ้าทำผิด ไม่มีเหตุจูงใจหรือเหตุผลที่ดีพอต่อการทำงาน คนก็จะด่าว่า เอ๊า…มาทำเพื่ออะไร ทำไมต้องมาถ่ายแฟชั่นขณะเขามีสถานการณ์ตึงเครียด
วันที่คุณถ่ายภาพก็มีข่าวว่าเกือบปะทะกัน คุณกังวลไหม
วันนั้นไม่ได้กะว่าจะมาเจอนักข่าวหรือว่าเขาจะมีสถานการณ์ตึงเครียด เพิ่งมารู้เมื่อตอนสี่ทุ่มเมื่อคืนก่อนถ่าย
จริงๆ ก็ห่วงมากว่างานมันจะออกมาดีรึเปล่า หรือว่าประเด็นมันอาจจะถูกบิดเบือนถ้านักข่าวเอาไปเล่น เพราะผมมีประสบการณ์จากการทำงานเซ็ตวาฬมา เขาบิดเบือนประเด็นไปแบบ…โอ้โห (หัวเราะ) ไปไกลเลย ผมถือว่าเราเป็นคนนอก ฉะนั้นสิ่งที่ทำมันจะกระทบกระเทือนกับคนที่อยู่ที่นี่ เพราะว่าวันนี้ถ่ายเสร็จ เรากลับบ้านไป เราไม่ต้องมีส่วนได้ส่วนเสียกับคนที่นี่ หรือว่ามีผลกระทบกับสิ่งที่ทำ แต่สิ่งที่เราทำมันจะกระทบกับคนที่นี่ไปตลอด
ถ้าคุณกลัวที่จะถูกสื่อบิดเบือน ทำไมคุณไม่ออกมาพูดอะไรบางอย่าง เพราะงานสังคมก็มีความสุ่มเสี่ยงสูง
คือทุกคนจะบอกว่าสู้ๆ นะ ผมไม่เคยคิดว่าต้องสู้กับใคร ผมพยายามทำงานของผมในฐานะคนเล่าเรื่องและคนถ่ายทอดเรื่องราวของปัญหานั้นๆ ให้ออกมาดีที่สุด ฉะนั้นสิ่งที่เขารับไปหรือสิ่งที่เขารู้สึกมันเป็นปัญหาของเขาแล้ว ไม่ใช่ปัญหาของผม ฉะนั้นผมไม่มีการ์ด ไม่มีอีโก้ ไม่มีอะไรทั้งนั้น ผมถือว่าผมมาทำเพื่อช่วยเขา แต่สิ่งที่คนจะรู้สึกหรือไม่รู้สึก นั่นเป็นปัญหาของเขา ผมจะไม่ออกมาแบบ…ฉันทำอันนี้เพราะอย่างนี้ จะไม่ออกมาแถลงข่าว ไม่ออกมาพูดอะไรทั้งนั้น ให้คนรับแล้วเขาไปจัดการความรู้สึกของเขาเอง
ผมคิดว่าชีวิตเรา คือทุกคนมันมีอิสระในการใช้ชีวิตอยู่แล้ว จะไปตีกรอบให้ตัวเองทำไมว่า วันนี้ฉันต้องแต่งตัวแบบนี้ ใส่เสื้อม่อฮ่อมเพราะฉันทำอาชีพอย่างนี้ไปตลอดชีวิต อันนั้นมันก็เป็นอิสระของเขา อิสระของผมก็คือการใช้ชีวิตในทุกรูปแบบ แล้วจะรู้ว่าเราชอบอะไร เราถนัดด้านไหน หรือว่าเราอยู่ในสังคมตรงนั้นได้รึเปล่า และสุดท้ายที่สุด มันจะมีคำพูดที่เขาชอบพูดกันว่า “เราจะหาจุดที่เราเหมาะสมในโลกใบนี้” และผมคิดว่าภาพถ่ายสะท้อนสังคมเป็นจุดที่เหมาะสมกับผมที่สุดในตอนนี้
คุณถ่ายรูปแปลกๆ เพราะหวังกระแสด้วยหรือเปล่า
จริงๆ ทำอะไรทำได้ทุกอย่าง แต่ว่าคุณมีเหตุผลจะทำรึเปล่า อย่างประเด็นหนึ่งของสังคม ประเด็นสัตว์ป่า ที่ผมทำอย่างนี้ ผมก็มีเหตุผลในการทำงานของผม ไม่ใช่ว่าผมทำเพราะอยากดังหรืออยากอยู่ในกระแส คือถ้าเป็นอย่างนั้นไปเป็นดาราอะไรอย่างนี้ดีกว่าไหม จะมาเหนื่อยอย่างนี้ทำไม จะต้องให้คนด่าทำไม
แฟชั่นสะท้อนสังคมให้อะไรแก่คุณ
ผมคิดว่างานถ่ายแฟชั่นยังไม่ตอบสนองความเป็นมนุษย์ของผมได้เพียงพอ เพราะจริงๆ ผมชอบทำงานที่เห็นคนอื่นมีความสุข ชอบทำงานเพื่อสังคม แล้วการที่ได้เข้ามาทำงานเพื่อสังคม ทำงานเกี่ยวกับสัตว์ป่า เรื่องของการอนุรักษ์ มันเหมือนเปิดโลกทัศน์ให้โดยที่ไม่ต้องอ่านหนังสือ ผมเรียนรู้จากตัวเอง เรียนรู้จากคำพูดของคนอื่น เรียนรู้จากสถานที่ เรียนรู้จากงานภาพถ่าย
อย่างเช่นที่ชุมชน เราจะเห็นภาพถ่ายเยอะแยะมากมายที่อยู่ในบ้าน เราสามารถเรียนรู้จากพวกนี้ได้ แล้วผมคิดว่ามันเป็นประสบการณ์แบบที่คุณจะต้องขวนขวายและสรรหาเอง แล้วคุณจะรู้สึกกับมันอย่างที่ผมรู้สึกกับที่ป้อมนี้ ผมรู้สึกกับมันมากพอที่จะเสนอตัวมาถ่ายภาพแฟชั่นเพื่อส่งทอดเรื่องราวของชุมชนในป้อมมหากาฬ เพราะว่าคนรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้ ผมคิดว่าถ้ามันเป็นเรื่องที่ไกลตัวแล้วเขาไม่รู้สึกว่ามันมีผลกระทบอะไรกับเขา หรือถ้าไม่มีผลกระทบกับเขา เขาก็จะไม่อะไรกับมัน ถูกไหม แต่พอมันเป็นภาพถ่ายแฟชั่น ผมคิดว่ามันสื่อสารกับคนอื่นได้ดี แล้วทุกคนมันมีแฟชั่นอยู่ในตัวอยู่แล้ว พอคนเริ่มรู้สึกกับมัน ก็สามารถส่งทอดเมสเสจอะไรบางอย่างผ่านภาพถ่ายที่ผมเล่าเรื่องไปหาพวกเขาได้
เสน่ห์ของป้อมมหากาฬคืออะไร
ผมคิดว่ามันมีเสน่ห์ของชุมชนหลายๆ ที่ โดยเฉพาะป้อมมหากาฬ อันดับแรกคือ ‘คน’ เพราะคนที่นี่ nice มาก อย่างผมถือว่าเป็นคนนอกป้อม เป็นคนนอกกำแพง แล้วมาที่ป้อมนี้ประมาณสามถึงสี่ครั้งแล้ว คือตอนเด็กๆ มาก็ไม่รู้ประสีประสา มาเดินเล่น ก็ไม่ได้รู้สึกอะไรกับมัน เพราะไม่ได้มาพูดคุยกับคนในชุมชน ไม่ได้รับรู้เรื่องราวของบ้านไม้โบราณหรือว่ากิจการเก่าๆ ของที่นี่ อย่างร้านกรงนก หรือว่าธุรกิจทำเศียรพ่อแก่ คือสิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากสำหรับวัฒนธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมไทยมันมีความเป็นเอกลักษณ์อยู่แล้ว แต่ว่าคนไทยน่ะมองข้ามความสำคัญและคุณค่าตรงนี้ไป
ผมคิดว่าเสน่ห์ของที่นี่นอกจากเรื่องคนแล้ว ก็คือเรื่องของวัฒนธรรมที่มันส่งทอดมาจากรุ่นหนึ่งถึงอีกรุ่น แล้วผมคิดว่าแต่ละบ้านมันมีเรื่องเล่า เกร็ดพงศาวดารต่างๆ ที่ในหนังสือเล่มไหนก็ไม่มีบันทึกไว้ คนพวกนี้สามารถเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตที่เขาอยากจะให้มันเป็น แล้วผมคิดว่าทางการของไทยหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองข้ามความสำคัญตรงนี้ไปมาก
ทำไมคุณสนับสนุนชาวบ้านในชุมชนป้อมมหากาฬ
การสร้างสิ่งใหม่ๆ มาทดแทนสิ่งที่มันมีอยู่ เราคิดว่ามันตีค่าเป็นเงินได้ เราคิดว่าเราจะสร้างตึกใช้เงิน 3 ล้าน แต่วัฒนธรรมที่มันมีอยู่รวมเป็นร้อยปี สิ่งก่อสร้างที่มันซ่อมแซมได้ อันนี้เงินเท่าไหร่คุณก็ไม่สามารถสร้างมันขึ้นมาใหม่ได้ เพราะว่ามันต้องใช้ หนึ่ง-เวลา สอง-ใช้ความรู้สึกนึกคิดของคน ใช้ประวัติศาสตร์ของคนในครอบครัว ใช้ประวัติศาสตร์ของคนในชุมชน ใช้ความสัมพันธ์ของคนในชุมชน สร้างความยูนีคตรงนี้ขึ้นมา ซึ่งการสร้างสวนสาธารณะให้คนแปลกหน้ามานั่งคุยกัน หรือว่ามานั่งจ้องหน้ากัน ผมคิดว่ามันไม่มีคุณค่าเพียงพอสำหรับการนำสิ่งแปลกปลอมมาแทนที่ชุมชนป้อมมหากาฬที่นี่
ผมเดินทางมาเยอะ เพราะเราเคยทำโครงการ ‘บินรอบโลกรวมใจเพื่อในหลวง’ เดินทางไปประมาณ 30-40 ประเทศ ในเวลาสี่เดือน เห็นอะไรมามากมาย เห็นความเปลี่ยนแปลงของโลกที่มันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ทุกเมืองมันก็จะมีร้านที่มันคล้ายๆ กัน อย่างเช่น แบรนด์เนมใหญ่ๆ มีคอฟฟีช็อปที่มีลักษณะเป็น global brand มีอะไรที่เหมือนๆ กันเกินไป ฉะนั้นความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละเมืองมันเริ่มลดน้อยลง ดังนั้นผมคิดว่าของที่มีค่าสำคัญที่สุดของโลกตอนนี้คือวัฒนธรรมเล็กๆ เหล่านี้ที่มันค่อยๆ สูญหายไปเพราะความเจริญเข้ามาแทนที่
การอนุรักษ์เกี่ยวข้องกับการเมืองไหม
คิดว่ามันก็สัมพันธ์แหละ เพราะว่าการเมืองมันก็เป็นตัวชี้นำทิศทางของงานอนุรักษ์ชุมชนและธรรมชาติ เพราะว่าหน่วยงานเหล่านี้ก็มีหน้าที่ที่จะวางนโยบายและแบบแผนให้กับคนที่มีหน้าที่อยู่ในองค์กรรับผิดชอบไป เพราะว่าคนปกติอย่างผมหรือคนที่เป็นอาสาสมัครมันทำได้แค่ระดับเดียว ที่เหลือมันเป็นเรื่องของการเมือง แล้วก็ต้องมีใบอนุญาต มีอะไรอย่างนี้วุ่นวาย ผมมีหน้าที่ที่จะส่งต่อเรื่องราว และก็เป็นอาสาสมัครทำในสิ่งที่ทำได้ แต่ในสิ่งที่ทำได้อย่างเช่นที่นี่ มันก็มีข้อเสนอของชุมชนที่เขาได้ทำให้กับ กทม. ทีนี้ผมอยากให้เขารับฟัง – ถ้าเขารับฟัง ตรงนี้มันจะเป็นตัวต้นแบบในการทำให้ชุมชนเป็นพิพิธภัณฑ์และอยู่กับสวนสาธารณะ เป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งผมคิดว่ามันยูนีคมาก แล้วผมอยากเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้น ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นต้นแบบให้กับชุมชนในประเทศไทยและชุมชนต่างๆ ของโลกอีกมากมายที่กำลังเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงด้วย
ทำไมต้องมาคิดเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมเยอะขนาดนี้
ไม่ได้คิดเรื่องสิ่งแวดล้อมเยอะขนาดนั้น จริงๆ ชอบเรื่องสัตว์มากกว่า ชอบเรื่องธรรมชาติ แล้วก็ชอบเรื่องชุมชนและชาติพันธุ์ เพราะว่าพวกนี้มันยูนีคมาก ถ้ามันหายแล้วมันหายหมดเลยนะ พอเรารู้สึกกับมันมากๆ แล้วจะมีภาพในหัวว่า เฮ้ย…ผมสามารถถ่ายทอดงานออกมาให้เป็นภาพแบบนี้ ให้คนรู้สึกแบบนี้ แล้วผมอยากจะรู้ว่าถ้าทำออกมาแล้ว คนจะรู้สึกแบบนี้กับเราหรือเปล่า แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น
อย่างเช่นงานวาฬ เราอยากจะทำให้คนรู้ว่าประเทศไทยมีวาฬ เสร็จแล้วก็กลายมาเป็นประเด็นดราม่า คนก็รู้จักวาฬมากขึ้น คนรู้ว่าในประเทศไทยมีวาฬมากขึ้น จนกระทั่งมันถูกผลักดันให้เป็นสัตว์สงวนแห่งชาติ ซึ่งตรงนั้นผมคิดว่า เอ้อ…อย่างน้อยส่วนเล็กๆ ที่ผมทำมันสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้
ส่วนเรื่องชะนี ก็เอาเครื่องบินเล็กดัดแปลงขนถ่ายชะนีจากศูนย์ที่ภูเก็ตไปปล่อยที่เชียงใหม่ ไปปล่อยที่แม่ออน หมู่บ้านบางจำปี ตอนนี้ปล่อยไป 19 ตัวแล้ว แต่เราไม่ได้ตามเข้าป่าขนาดนั้น คือผมช่วยเรื่องของเทคนิค เรื่องของการขนส่งอะไรอย่างนี้ เพราะว่าคนที่ทำจริงๆ ต้องเดินเข้าป่าวันละ 5 กิโล เพื่อไปดูว่ามันยังอยู่หรือเปล่า มันกินข้าวหรือเปล่า คนพวกนี้คือเจ๋งมาก มันก็เป็นส่วนเล็กๆ ที่ช่วยสนับสนุนได้ คือผมคิดว่าทุกคนสามารถทำอะไรเพื่อกลับคืนสู่สังคมในแบบที่เราชื่นชอบได้ แต่อยู่ที่ว่าเราจะออกไปทำหรือเปล่า และอีกอย่าง บางทีสิ่งที่ทำคนอื่นก็ไม่เข้าใจ ฉะนั้นอะไรที่เราทำแล้วมีความสุขก็ทำไปเถอะ คนจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็เรื่องของเขา ตราบใดที่มันไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น
งานอนุรักษ์เป็นงานอดิเรกของคุณเลยใช่ไหม
คิดว่ามันอยู่ในความรู้สึกนึกคิดตลอดเวลาดีกว่า มันอยู่ใน conscious (จิตสำนึก) ก็พยายามใช้ความสามารถของผมในสิ่งที่ชอบ ใช้แฟชั่นของผม อย่างความสามารถในการถ่ายรูป งานภาพถ่ายแฟชั่น ผมก็เอาสองสิ่งนี้มารวมกัน เพื่อช่วยเหลือสังคมในประเด็นที่สนใจ และประเด็นที่สังคมยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับมันเพียงพอ อย่างเช่นงานของผมที่ผ่านมา มันจะมีเรื่องของซากวาฬ มีเรื่องราวของการอนุรักษ์ อย่างการบริจาคร่างกาย มันเป็นประเด็นที่เรารู้อยู่แล้วว่ามันมีอยู่ แต่เราไม่เคยให้ความสำคัญกับมัน ผมก็เลยใช้ความสามารถของตัวเอง ใช้ passion ไฮไลท์ตรงนั้นขึ้นมา เพื่อจะได้สื่อสารกับคนที่อยู่ในเจเนอเรชั่นผม เจเนอเรชั่นที่อ่อนกว่า ให้เขาหันมาสนใจเรื่องที่ผมสนใจด้วย
นิยามวัฒนธรรมในความหมายของคุณ
มันคือความเปลี่ยนแปลง และเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของคนในยุคนั้นๆ เช่น ประเด็นทศกัณฐ์ ผมว่าอันนั้นมันก็เจ๋งดีนะ มันทำให้ร่วมสมัยมากขึ้น แล้วเด็กรุ่นใหม่ก็หันมาสนใจเรื่องของรามเกียรติ์มากขึ้น ถ้าไปถามเด็กรุ่นใหม่ก่อนงานโฆษณาชุดนั้นออกมา ถามว่า ทศกัณฐ์คือใคร อาจจะมีคนรู้จักบ้างไม่รู้จักบ้างก็ได้ แต่พอทำออกมาแล้ว เด็กรุ่นใหม่รู้สึกว่าเฮ้ย…จริงๆ วัฒนธรรมมันเก๋ ของไทยมันดี
จริงๆ ผมอยากทำเรื่องวัฒนธรรมมานานแล้ว อยากทำให้มันเป็น travel merchandise (สินค้าการท่องเที่ยว) ก็ได้ ผมว่าของไทยมันมีเอกลักษณ์อยู่แล้ว คุณไม่จำเป็นต้องเก็บขึ้นหิ้งไว้ให้มันอยู่ในพงศาวดาร คือคุณต้องทำให้มันร่วมสมัยมากขึ้น ทำให้มันป๊อปมากขึ้น ทำให้มันมีสีสันมากขึ้น วัฒนธรรมไทยคือเรื่องของความสนุกสนาน แล้วทำไมจะต้องทำให้มันซีเรียสขนาดนั้น (หัวเราะเบาๆ )