ป้อมมหาเกิร์ล

pommahagirls

เรื่อง: ปริชาติ หาญตนศิริสกุล
ภาพ: อนุช ยนตมุติ

 

หลังจากเหตุการณ์วันที่ 3 กันยายน หลายคนคงรู้จักชุมชนป้อมมหากาฬมากขึ้น ทั้งจากหน้าหนังสือพิมพ์ ข่าวโทรทัศน์ หรือจากโซเชียลเน็ตเวิร์ค หลายคนคงจำผู้นำชุมชมได้จากหน้าตา ทรงผมย้อนยุค และท่วงทีการพูดจาฉาดฉาน ส่วนตัวแทนผู้หญิงในชุมชนก็ไม่ได้มีแต่นักวิชาการอิสระและนักสิทธิมนุษยชน ยังมีสาวๆ ทั้งสาวเล็ก สาวใหญ่ และสาวสองพันปี (ซึ่งพวกเธอไม่ปิดบังอายุจริง) อาจไม่ครบทั้งชุมชนแต่รับประกันว่าครบทุกรสชาติ

 

01img_9456paint

เพ้นท์-ธิดารัตน์ รุจิภักดิ์
(อายุ 10 ปี)

เราเห็นหน้าเพ้นท์ครั้งแรกจากรูปบรรยากาศการรื้อถอนบ้านเรือนเมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา รูปนั้นเป็นรูปที่ดีแต่ไม่ใช่ใบหน้าที่โสภาเท่าไหร่นักกับการเห็นเด็กน้อยตัวกลมร้องไห้โยเย วันนี้เราจึงชวนสาวน้อยตาแป๋วแก้มป่องมาคุยกัน

ทำไมวันนั้น (วันที่ 3 ก.ย.) ร้องไห้

“วันนั้นหนูกลัวว่า กทม. จะมารื้อหมดเลย ตอนนั้นเห็นผู้ใหญ่บอกว่า กทม. จะมาอีก เขาจะมาวันนี้วันโน้นวันนั้น หนูก็กลัวเขาจะรื้อบ้าน หนูไม่กล้าไปโรงเรียนเลยอ่ะ หนูอยากอยู่ตรงนี้”

เพื่อนที่โรงเรียนรู้ปัญหาที่บ้านเราไหม

“เพื่อนหลายคนไม่รู้ แต่มีเพื่อนคนหนึ่งมาบอกว่า ‘เพ้นท์ๆ ทุบบ้านเหลือแต่ชักโครกเหรอ’ ”

แล้วเพื่อนสนิทรู้ไหม

“เพื่อนสนิทเขาอยู่ที่อื่น เขาชอบแบ่งปันอะ เวลาหนูไม่มีเพื่อนเล่น เขาก็บอกเล่นกับเขาไหมเดี๋ยวเขาให้เล่นด้วย แล้วหนูก็ตอบเขาไป ไปเล่น เขาก็ทำให้หนูสนุกด้วยอะ แต่คนอื่นว่าหนูอย่างเดียว (อมยิ้ม) เพื่อนเขาไม่รู้ หนูปิดบังเขาตลอด หนูไม่อยากให้เขารู้ เพราะว่ากลัวเขากังวล เป็นห่วงหนูขึ้นเยอะ เหมือนกับว่าเราเป็นแฟนกัน แต่คราวก่อนก็เคยเป็นแฟนกันแหละ เป็นเลสเบียน (หัวเราะ) เดี๋ยวนี้เป็นเพื่อน แต่ก็ยังห่วงกันอยู่”

 

02img_9493pause

พอส-ปวันรัตน์ รุจิภักดิ์
(อายุ 13 ปี)

ถ้าช่างสังเกตสักนิดจะพบว่า ประชากรหญิงส่วนใหญ่ในป้อมฯ ถ้าไม่อยู่ในวัยกลางคน ก็เป็นสาววัยเหลือน้อย หรือเด็กน้อยไปเลย ในขณะที่เราเดินเล่นตามแนวกำแพงป้อมฯ ก็บังเอิญเจอสาวน้อยวัยคอซองเดินหัวเราะคิกคักมากับเพื่อนสองคน เราพยายามขอสัมภาษณ์เธออยู่นาน เธอปฏิเสธอย่างเขินอาย แต่เราอาศัยการ ‘ตื๊อ (อย่างมีเทคนิค) เท่านั้นที่ครองโลก’ คุยกันไปคุยกันมาเราเพิ่งรู้ว่าเธอเป็นพี่สาวน้องเพ้นท์ที่เราเพิ่งคุยไป เราจึงอยากรู้ว่าเธอดุเหมือนที่น้องสาวแอบกระซิบมาหรือเปล่า

คิดว่าความยากของการเป็นลูกคนโตคืออะไร

“การดูแลน้อง เพราะต้องคอยดูแลน้อง คอยบอกคอยสอนน้อง อย่างเวลาน้องรื้อของ ก็จะว่าจะตีน้อง น้องร้องไห้ ก็โอ๋น้อง พ่อกับแม่ก็ทำงาน ย่าก็ขาไม่ดี บางทีเขาก็ดื้อบ้าง เวลาเขาเล่นก็ไม่ค่อยเข้าบ้านตรงเวลา ต้องไปตามอะไรอย่างนี้”

ทำไมถึงไม่กล้าขอโทษน้องตรงๆ

“เขินน้องอะ แต่น้องก็หายโกรธเอง”

คิดว่าตัวเองเป็นคนขี้อายไหม

“เป็น มันเขินๆ ไม่กล้าพูดกับคนอื่นอะ มันอายแล้วก็ไม่ชิน ตอนพรีเซนต์งานมายแมพแผ่นใหญ่ก็เขิน กลัวเพื่อนล้อ ปกติไม่ชอบออกไปหน้าห้องอยู่แล้ว เพื่อนมันชอบแกล้ง ชอบขำอะไรอย่างงี้ ก็…เขิน”

เพื่อนที่โรงเรียนชอบแกล้งเหรอ

“เป็นเฉพาะตอนออกไปข้างหน้าห้องเฉยๆ บางทีเพื่อนเขาก็จะชอบหัวเราะ ถ่ายรูปบ้าง”

 

03img_9246heng

เฮง-สมพร อาปะนนท์
(อายุ 75 ปี)

หากต้องใช้สรรพนามเรียกแทนใครว่า ‘เจ๊’ คุณคงนึกถึงผู้หญิงไทยเชื้อสายจีนปากจัด พูดภาษาไทยไม่ชัด และส่วนมากมักเป็นมนุษย์ป้า มนุษย์ยาย แต่ไม่ใช่กับเจ๊เฮง ผู้เป็นเจ้าของร้านโชห่วยเก่าแก่แห่งป้อมมหากาฬ คนในชุมชนตั้งสโลแกนให้ร้านของเจ๊เฮงสั้นๆ ง่ายๆ ‘เจ๊เฮงงดเชื่อ เบื่อทวง’ แต่ทางเรายืนยันว่าเจ๊เฮงเป็นแม่ค้าเชื้อสายจีนอารมณ์ดีคนหนึ่งเท่าที่เราได้สัมผัสมา

เจ๊เฮงเล่าให้ฟังว่า เจ๊มีน้องชายสองคน ตัวเจ๊เริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 12 ก็ทำงานไปเรื่อยๆ จนถึงวัยอันสมควรพ่อแม่ก็ตบแต่งให้เป็นฝั่งเป็นฝาแล้วย้ายเข้ามาชุมชนป้อมมหากาฬพร้อมกับสามีที่เพิ่งอพยพมาจากเมืองจีน

ตอนน้องชายรู้ข่าวที่นี่ น้องชายเป็นห่วงไหม

“ห่วงนะ เขาก็โทรมาบอกถ้าถึงที่สุดเขาจะให้ไป เราบอกไม่ไปหรอก เราอยู่ตรงนี้เราผูกพันกับตรงนี้เยอะเลย เราไม่ไปถ้าถึงที่สุดแล้วจะไป เขา (น้องชาย) ก็รวยมีบ้านเช่ามีอะไร แต่เราไม่อยากไปรบกวนเขา”

ทำไมชอบขายของที่นี่

“แถวนี้มันง่าย เขาหยิบกันเองได้ ก็คิดตังค์ไป คิดผิดคิดถูกเราก็คิดใหม่ เราทอนเงินผิดเขาก็เอามาคืน (หัวเราะ) ก็ตรงที่เราอยู่น่ารักดี อยู่ที่นี่เราทำงานค้าขายได้ด้วย เราอยู่ที่นี่ดีทุกอย่าง ขนาดขาเดินไม่ได้ยังขายของได้เลย พวกเด็กๆ ก็เข้ามาหยิบของเองแล้วให้ตังค์ เราก็คิดถึงเด็กๆ พวกนี้ ว่ามันดีนะ มาถึงก็ซื้อนี่กินซื้อนั่นกิน แล้วเราเองก็ผูกพันกับตรงนี้

“ลูกเราก็เกิดที่นี่ คนโตเขาแยกครอบครัวไปอยู่ปิ่นเกล้าสิบกว่าปีแล้วนะ เขาบอกยังไม่ชินกับที่โน่นเลย ตอนเย็นเขาต้องแวะมากินข้าวที่นี่ พอมาถึงเสาชิงช้าเขาก็บอกนี่บ้านเกิดของกูว่ะ (หัวเราะ)”

แล้วลูกค้าฝรั่งล่ะ

“เดี๋ยวนี้ฝรั่งพัฒนา คุยไทยได้ ถ้าขอคำแนะนำก็ชี้-เราก็เอาของให้เขาดู ถ้าถามว่าเงินเท่าไหร่-เราก็ชี้เงินให้เขาดูว่าเท่าไหร่ ขนาดเราพูดไทยไม่ค่อยเป็นเลย แต่ขายกับฝรั่งได้ (หัวเราะ)”

 

04img_9552saimai

สายไหม-กันยพัชญ์ นาราศิริพัฒน์
(อายุ 16 ปี)

เราไม่รู้สายไหมเป็นเด็กเรียนเก่งไหม แต่เรารู้ว่าสายไหมเป็นเด็กอารมณ์ดี สายไหมเล่าให้เราฟังว่าตอนอยู่โรงเรียน เพื่อนๆ ตั้งฉายาให้เธอว่า ‘ราชาปัญญาอ่อน’ จากละครวิชาภาษาไทยที่แสดงกันในหมู่นักเรียน

เธอยิ้มไปเล่าไปว่า อยู่โรงเรียนเธอชอบสร้างเสียงหัวเราะให้เพื่อนคนอื่นเสมอ แต่แน่นอนว่าคนตลกไม่ได้หัวเราะทั้งวัน มุกบางมุกเล่นแล้วก็แป้ก #ชีวิตก็เช่นกัน

คิดว่าอะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับเด็ก ม.ปลาย

“ข้อสอบ” (หัวเราะ)

กิจกรรมอะไรที่ทำในป้อมฯแล้วขำ

“ตอนเป็นมัคคุเทศก์น้อย แบบพาคนท่องเที่ยว แล้วเพื่อนในป้อมฯก็ไม่เคยอยู่กับที่ ต้องแบบวิ่งไปตามหาตลอด ขำมีความสุขดีค่ะ แบบวิ่งไปวิ่งมาในป้อมฯ

“ตอนที่ลุงกบ (ผู้นำชุมชน) เรียกประชุมมัคคุเทศก์ก็ได้มารู้ว่าบ้านเรามีดีอะไรแล้วก็ได้นั่งจด มีความสุขถึงจะเวลานิดเดียวก็ทำให้ขำได้เหมือนกัน

“ตอนที่ชอบที่สุดคือตอนที่พาพวกเด็กจากชุมชนอื่นมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เหมือนเราก็เคยไปชุมชนเขามา เขาก็ดูว่าชุมชนเขามีอย่างนี้ พอมาชุมชนเราเราก็เลยเป็นคนนำเขาว่าบ้านเราก็มีดีอันนี้เหมือนกันนะ ก็สนุกดี”

มีวิธีรับมือเวลาเจอผู้ใหญ่ขี้หงุดหงิดไหม

“บางทีก็โมโหเขา บางทีก็เข้าใจค่ะว่าผู้ใหญ่เขาอาจจะเหนื่อย เพราะว่าพอเป็นผู้ใหญ่ความรับผิดชอบมันสูงขึ้น ถึงหนู 16 แล้ว แต่หนูก็คิดว่าหนูยังไม่เป็นผู้ใหญ่พอค่ะ เราก็ต้องพยายามปรับอารมณ์เรา แล้วก็รอให้เขาใจเย็นแล้วค่อยอธิบายเหตุผลให้เขาฟัง”

 

05img_9440mam

แหม่ม-ศรินทร์ทิพย์ วรรณพายาล
(อายุ 50 ปี)

คุณอาจมองว่าผู้หญิงสูบบุหรี่มักเป็นพวกจิ๊กกี๋ แต่ไม่ใช่กับป้าแหม่ม หากมองผิวเผินป้าแหม่มดูเป็นผู้หญิงดุ ปากไว สไตล์แม่ค้า ทว่าหากคุณได้มีโอกาสคุยกับป้าแหม่มสักชั่วโมง คุณอาจจะเปลี่ยนความคิดก็ได้ เพราะป้าแหม่มเป็นคนมีอารมณ์ขัน แถมทำให้เราหัวเราะด้วยมุกตลกหน้าตายเสียด้วย

ป้าแหม่มไม่ใช่คนป้อมมหากาฬแต่กำเนิด แต่ย้ายเข้ามาอยู่ในชุมชนแห่งนี้กับสามีในปี 2529 ปัจจุบันป้าแหม่มมีลูกสามคนและหลานอีกหนึ่งคน ครั้งแรกที่เราเห็นเด็กชายผิวขาวตาใสวิ่งร่ามาหาป้าแหม่ม เราเข้าใจผิดว่าหลานกลับมาจากโรงเรียนแล้ว แต่ความจริงนั่นคือลูกชายคนสุดท้องของป้าแหม่ม

คิดว่าการเลี้ยงลูกต่างวัยยากไหม

“ก็ยากนะ เพราะเราก็ไม่อยากเลี้ยงเด็กเล็กๆ แล้ว ถ้าพูดกันจริงๆ แล้ว มันก็น่าเบื่ออยู่กับเด็กเล็กๆ เพราะต้องมานั่งทำโน่นทำนี่ เหมือนเรามาเริ่มต้นใหม่ ต้องรีดชุดนักเรียน พาลูกไปโรงเรียน แต่รักลูกนะคะ”

เด็กเล็กหรือเด็กโตพูดง่ายกว่ากัน

“เด็กเล็กสิ เด็กโตพอโตไปแล้ว เขาก็ไม่ค่อยจะมาพิศวาสเราเท่าไหร่หรอก นี่คือเรื่องจริง พอลูกเราโตแล้วก็จะไปทางโน้นมั่งไปทางนี้มั่ง ตามตัวไม่ค่อยเจอหรอก แต่อย่างไอ้ตัวเล็กพอเรียกเข้าบ้านก็ต้องเข้าบ้าน มันยังบังคับได้อยู่ไง พอโตหน่อยพูดได้เหมือนกัน แต่จะฟังหรือไม่ฟังมันก็อีกเรื่องหนึ่ง”

เรื่องตลกของลูกคนเล็ก

“ไอ้ตัวเล็กมันช่างพูด มันชอบว่าเราเป็นคนสูบบุหรี่ ‘แม่ดูดบุหรี่อีกละ แม่ไม่กลัวเป็นมะเร็งเหรอ’ (ทำเสียงดุ) เด็ก 7 ขวบก็พูดแล้ว บางครั้งก็เลยถามว่านี่พูดเองหรือว่าใครสอนให้พูดเนี่ย เขาก็บอก ‘หนูพูดเอง แม่เลิกดูดบุหรี่นะ’ บางทีเขาเห็นเราดูดบุหรี่ก็จะเดินมาแต่ไกลนะ แล้วทำท่านี้ (เอานิ้วดันรูจมูก) เขาก็จะเดินอุดจมูกแล้วเดินเลยเราไป แต่ดูดบุหรี่ในบ้านไม่ได้นะ มันก็พูดตามเรื่องของมันอะ ‘เหม็น ไปอยู่ข้างนอกเลย เมื่อไหร่จะเลิกบุหรี่สักทีเนี่ย’ เขาอยากพูดอะไรเขาก็พูด แต่ถามว่าที่พูด ความคิดของเขามันก็โอเค เลี้ยงลูกมาสามคน มีคนเล็กนี่แหละที่พูด เพราะว่าเราดูดบุหรี่มานานแล้ว มีไอ้ตัวนี้มีความคิดหน่อยนึง เพราะถ้าเด็กไม่มีความคิดมันคงไม่พูดหรอก เราก็เคยคิดจะเลิกนะ แต่มันเลิกไม่ได้ไง ก็ไม่รู้จะทำไง บางครั้งลูกมันพูดมา ก็บอกเออดี จะได้ตายไวๆ (หัวเราะ)”

 

06img_9517may

เมย์-ชวิศา สงค์ประสิทธิ์
(อายุ 19 ปี)

ปกติเราจะเห็นเมย์ในฐานะผู้ช่วยขายลูกชิ้นปิ้งในชุมชน บ้านของเมย์อยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ประมาณ 10 คนเห็นจะได้ โดยมีตากับยายมาตั้งรกรากที่ป้อมมหากาฬก่อน และเมย์ก็เป็นคนป้อมมหากาฬตั้งแต่เกิด ตอนนี้เมย์เรียนมหาวิทยาลัยปีที่ 2 เธอเล่าให้ฟังว่าถ้าไม่ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยก็จะอยู่ช่วยยายขายลูกชิ้น เพราะยายเดินไม่สะดวก ส่วนน้องก็ยังเล็ก วันไหนไปเที่ยวก็รีบไปรีบกลับ เมย์ยอมรับว่าตนเองเป็นคนติดบ้านมากกว่าติดเพื่อน จากสิ่งที่เมย์เล่ามาเรากลับสงสัยว่าเด็กสาวอย่างเธอคิดอะไรอยู่ ทำไมเด็กวัยรุ่นที่น่าจะต้องการความเป็นส่วนตัวจึงเป็นคนติดบ้านนัก

มีห้องนอนส่วนตัวตอนไหน

“ตอน ม.4 หนูเพิ่งย้ายออกมานอนกับพี่ชายเอง หนูไม่เขินอะไรนะเราโตมาด้วยกัน ปกติจะแต่งตัวในห้องน้ำ แม่เขาอยากให้ไปอยู่กับพี่บ้าง เขาก็บอกโตแล้วนะ (หัวเราะ)

“แต่ก่อนนอนห้องแม่กับพ่อ คืนแรกนอนไม่หลับอะ หนูติดแม่ เวลาก่อนจะนอนหนูจะคุยกับแม่ คุยทุกเรื่อง เล่นด้วยกัน แต่พอไปอยู่กับพี่ แล้วพี่มันไม่คุยอะไรอย่างนี้กับหนู พี่เขาโตแล้วไง พี่หนูเป็นคนขี้อายด้วยแหละ วันหนึ่งคุยกันกี่ประโยคเองอะ (หัวเราะ) เดินไปเรียกแม่ก็ไม่ได้ หนูก็ต้องพยายามนอนให้ได้สิ แม่ไม่ให้เข้าด้วย แม่ล็อคห้อง เป็นอยู่อย่างนี้ประมาณคืนสองคืน”

ถ้าโตขึ้นแต่งงานจะย้ายออกจากป้อมฯไหม

“ไม่อยากย้ายอะ อยากอยู่นี่ อยู่มาตั้งแต่เด็กอะพี่มันผูกพันมาก มันเป็นครอบครัว เรา (คนในชุมชน) อยู่กันแบบครอบครัวมีอะไรก็แบ่งปันกัน”

คิดไว้ไหมว่าเรียนจบจะทำอะไรต่อ

“ตอนแรกก่อนจะเข้ามาเรียนหนูอยากเป็นสาวแบงก์ เพราะไปแบงก์กับแม่ ผู้หญิงเขาดูสวย สมาร์ท ก็อยากทำงานอย่างนั้นบ้าง แต่พอมาเรียนจริงๆ มันยากมากอะ ก็เลยตัดสินใจคิดกับแม่อย่างนี้ แบบอยากรับราชการ อาชีพมันมั่นคงตอนบั้นปลายชีวิตดี มันมีบำเหน็จบำนาญ”

 

07img_9166tium

เตี้ยม-พรรณนี มาตย์สาลี
(อายุ 58 ปี)

ถ้ามีโอกาสไปเที่ยวชุมชนป้อมมหากาฬคุณต้องได้เห็นผู้หญิงคนนี้คอยช่วยงานในชุมชนเสมอ แม้ป้าเตี้ยมจะดูเป็นคนพูดไม่เก่งเท่าไหร่ แต่ป้าก็เทคแคร์นักท่องเที่ยวและคนในชุมชนเป็นอย่างดี เรื่องนี้เราการันตีได้

เดิมทีป้าเตี้ยมเป็นคนมหาสารคาม เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ 15 จากคำชักชวนของผู้เป็นนายหน้า พออายุ 22 ก็มาเช่าบ้านอยู่ในชุมชนป้อมมหากาฬจนถึงบัดนี้

ตอนนี้ป้าเตี้ยมเป็นแม่บ้านอาศัยอยู่กับน้องสาว และกำลังเลี้ยงหลานคนแรกที่กำลังแบเบาะ ความยากของการเป็นแม่บ้านไม่ใช่แค่การทำงานบ้านจุกจิก แต่ยังต้องจัดการกับรายรับรายจ่ายให้พอใช้ถึงปลายเดือนด้วย แม้ว่าป้าเตี้ยมไม่ใช่คนคุยเก่ง แต่บรรดาสาวๆ ในชุมชนมักแซวป้าเตี้ยมอยู่เสมอว่าเป็นแม่บ้านขี้เหงา

ถ้าเรามีบ้านหลังใหญ่คิดว่าจะมีความสุขไหม

“บางทีเงินมันก็ซื้อความสุขไม่ได้ การที่อยู่ร่วมกันอย่างนี้มีความสุข มีกลุ่มแม่บ้าน มีอะไรก็คุยกันปรึกษากันก็มีความสุข บางทีเราเครียดๆ แบบนี้เรามาระบายกันก็มีความสุขแล้ว บางทีถ้าเราไปอยู่บ้านอื่นที่เป็นหมู่บ้านหรืออะไร เราไม่คุยกับใครเราจะมีความสุขได้ยังไง นั่งมองบ้านโน้นบ้านนี้ ไปอยู่ที่อื่นก็ไม่เหมือนกับตรงนี้ ไปอยู่ที่ใหม่น่ะนะเพื่อนบ้านจะเหมือนอย่างนี้หรือเปล่าก็ไม่รู้

“ที่นี่ไม่น่ากลัวนะ ฝากกันได้ ดูแลกันได้ ไว้ใจกันได้ทุกอย่าง อยู่ที่นี่มีอะไรกินเขาก็ให้กันได้ ถ้าเราไปอยู่ที่อื่นเราจะขอใครได้หรือเปล่า บ้านใครบ้านมันแน่ อยู่ตรงนี้มีอะไรก็มากินกัน”

กลับบ้านเกิดบ่อยไหม

“ปีกว่าสองปีจะกลับบ้านทีหนึ่ง เราไปบ้านเราก็ไปอยู่แค่สองวันสามวันเราก็กลับมาอยู่กรุงเทพฯละ เราอยู่ที่นี่นานมาก แล้วก็ผูกพันมากกับที่ตรงนี้ เราเป็นคนต่างจังหวัดก็จริง แต่เราอยู่ตรงนี้นานที่สุดแล้ว ผูกพันยิ่งกว่าบ้านเราอีก ถ้าเราไปอยู่ที่อื่นคงคิดหนักเลยเพราะมันไม่ใช่อย่างนี้นะ”

มีใครเป็นกำลังใจสำคัญในชีวิต

“ทุกอย่างในนี้แหละ คนในครอบครัว หลานสาว เพื่อนบ้านก็เป็นกำลังใจให้กันต่อสู้ด้วยกัน ไม่สบายบ้างได้คุยบ้าง มีคนรอบข้างดีแค่นี้ก็มีกำลังใจแล้ว พอแล้ว สำหรับคนจนอย่างพวกเราน่ะนะ”

 

08img_9356yu

ยุ-บุญทำ วิลัย
(อายุ 52 ปี)

หากคุณเดินลัดเลาะเลียบคลองจนมาถึงราวตากผ้าของชุมชน จะสังเกตเห็นบ้านหลังหนึ่งประดับประดาด้วยพรรณไม้เขียวชอุ่มดูน่ารื่นรมย์ บ้านหลังนี้เป็นบ้านของป้ายุ ป้ายุมีอาชีพรับจ้างซักผ้า-รีดผ้า ซึ่งลูกค้าส่วนมากจะเป็นคนในชุมชน แต่พอตกดึกป้ายุก็มีอีกหน้าที่คือเป็นยามประจำชุมชนป้อมมหากาฬ

ไม่แน่ใจว่าคุณจะเชื่อไหม หากเราบอกว่ายามของชุมชนป้อมมหากาฬส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงซึ่งมีอายุประมาณป้าเตี้ยมและมากกว่าป้าเตี้ยม เป็นรุ่นคุณยายก็หลายคน

สิ่งที่ยามป้อมมหากาฬต้องเฝ้าระวังได้แก่ ฟืนไฟและคนแปลกหน้า คุณอาจจะสงสัยว่าเหล่าป้ายามรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นคนแปลกหน้าของชุมชน เพราะพวกป้าๆ จำหน้าลูกหลานได้ทุกคน หากใครจะเข้ามาหาคนในป้อมฯ ก็ต้องบอกชื่อแซ่ให้ชัดเจน

มีเรื่องแปลกๆ อะไรตอนเฝ้ายามไหม

“มีอยู่ครั้งหนึ่งผู้ชายไม่เต็มบาทเดินเข้ามา โอ้โห ทำท่าแบบไม่ดีเลยอะ ตอนนั้นมียายสองคน แกก็อายุเยอะทั้งคู่ มีป้าที่อายุเท่านี้ มาถึงนี่นะเขาฟัก (ควัก) ไอ้นั่นให้ดูเลย เราก็พูด เฮ้ยยาย ท่าไม่ดีละเว้ย ก็เลยเรียกหลานวัยรุ่นอีกคนหนึ่งที่เขาเข้าบ้านมาพอดี เราบอกเอาไม้มาด้วย มาตี เขาก็ยังไม่ยอมไปอีกนะ ไม่รู้มาจากไหน น่ากลัว

เคยกลัวอะไรไหมเวลาอยู่ยามตอนดึกๆ

“ไม่กลัวนะก็อยู่ได้ ป้าก็เดินคนเดียว บางทีก็มานั่งอยู่หน้าบ้านแล้วก็เดินไปหาเพื่อนข้างหน้า คือตรงนี้ไม่เหมือนที่อื่น ที่อื่นถ้าเราเดินยามก็หาว่าเป็นขโมย แต่บ้านเรา เรารู้ว่าคือยามนะ พี่น้องเราคนที่นอนก็คือหลับสบาย คนที่ยามก็นั่งดูไป คือเรารู้กัน

“อยู่ที่นี่ไม่น่ากลัว มันเหมือนพี่เหมือนน้อง แต่นั่งยามที่นี่สบายใจนะ กลางคืนถ้ามีผู้ชายแปลกหน้าเข้ามา ถ้ามันเดินเข้าโซนนู้นโซนนี้ เราก็ถือไม้กวาดคนละอันเลย เอาด้ามยาวๆ หน่อย คอยสู้กับมัน”

แล้วช่วงนี้ตารางเวรยามเหมือนเดิมไหม

“ณ เวลานี้ชั่วโมงนี้เรายิ่งเข้ม เพราะเรากลัวไฟที่กองไม้ ที่เขาทุบๆ ลงเนี่ย มันเป็นเชื้อเพลิงทั้งนั้นเลย ถ้ามันลุกขึ้นมาบ้านเรามีแต่บ้านไม้ อันตรายที่สุด อันตรายอีกอย่างคือบ้านเจ๊เฮง (ร้านโชห่วย) เพราะแกอยู่หลังเดียวโด่เด่ อยู่ท่ามกลางกองไม้ผุๆ ก็ให้วัยรุ่นออกมานั่งตรงโซนสาม เขาก็ออกมานั่งกันสี่ห้าคน เราบอกว่านั่งกันอยู่ตรงนี้นะลูกอย่าไปไหน คอยดูหลังคลอง เดี๋ยวพวกป้าจะไปอยู่ข้างหน้า ถ้ามีใครมาข้างหลังลูกหลานเราก็เห็น ถ้ามาข้างหน้าพวกป้าก็เห็น”

 

09img_9306dao

ดาว-สุภาณัช ประจวบสุข
(อายุ 53 ปี)

ครั้งแรกที่เราเห็นเธอเรารู้สึกเธอเป็นคนสดใสมีอารมณ์ขัน อาจด้วยสาเหตุนี้ที่ทำให้เธอดูอ่อนกว่าวัย ดาวเป็นครูสอนรำไทยให้เด็กๆ และผู้ใหญ่ในชุมชนป้อมมหากาฬ แต่เธอไม่ได้มีความสามารถแค่รำไทยอย่างเดียว เพราะเธอยังรำกลองยาวและตีกลองยาวเป็นอีกด้วย

ปัจจุบันดาวมีปัญหาสุขภาพเพราะขาเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ทำให้เดินไม่สะดวก และอาการเครียดจากวิกฤติการรื้อไล่ที่ในปี 2546 ทำให้เธอเป็นโรคลมชัก เมื่อ 10 ปีก่อนเธอเคยทำบัญชี แต่ด้วยปัญหาสุขภาพทำให้เธอตกงานและหางานทำไม่ได้ ดาวเคยท้อถึงขนาดคิดอยากฆ่าตัวตาย แต่ด้วยกำลังใจจากคนในชุมชนและใช้ธรรมะเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ทำให้เธอยังคงเข้มแข็ง

มีเคล็ดลับการรำไหม

“จะรำสวยหรือรำไม่สวยมันอยู่ที่รอยยิ้มของเรา อย่างเด็กบางคนมือแข็งเราก็บอก นางรำน่ะมีเสน่ห์ที่รอยยิ้ม ถึงเราไม่สวยแต่เรามีรอยยิ้มที่ต้อนรับแขก สิ่งนั้นแหละจะช่วยให้มีเสน่ห์ในตัวเอง“

เริ่มต้นรำได้ยังไง

“ตั้งแต่เล็กจนโตที่นี่เป็นวิกลิเก เวลารำถวายพ่อปู่ก็ต้องไปจ้างนางรำ ย่าพี่บอกว่า เราก็รำเองได้ เราก็เออ…จริงเนาะ พอรำปุ๊บ เราภูมิใจ เราได้รู้จักรากเหง้าของเรา เราก็คิดว่าทำไมไม่ทำเพื่อคุณประโยชน์ผืนแผ่นดินตรงนี้ เราไม่ได้จบนาฏศิลป์นะ มันอยู่ที่ใจรักมากกว่า เราก็เลยสอนเด็กรำ ตั้งแต่เรียนหนังสือเราก็จะเป็นนางรำตลอดเลย แล้วอะไรที่เราจำไม่ได้เราก็ไปซื้อซีดีมาเปิดมาศึกษาเพลงแล้วก็มาสอน

“ทุกวันนี้ก็สอนเด็กรำ ผู้ใหญ่ก็สอนด้วย เวลามีงานรำถวายมือพ่อปู่ป้อมฯ งานสมาพ่อปู่ป้อมฯ พี่ก็ให้ลูกเด็กเล็กแดงพ่อปู่ป้อมฯใส่ชุดไทยไปรำถวายมือ ไม่ต้องไปจ้างนางรำที่ไหนด้วย พี่ภูมิใจด้วย ไม่ต้องไปจ้างใคร”

ปัญหาเรื่องร่างกายเป็นอุปสรรคของการรำไหม

“เราพิการก็จริงแต่ใจเราไม่พิการนี่ มือเราก็ไม่ได้พิการถูกไหม รอยยิ้มเราก็ไม่ได้พิการ เราสามารถรำได้ เพียงแต่ขาวางไม่ค่อยสะดวก เราทำได้ถ้าใจเรารัก แต่ไม่ใช่ว่า โหย…พิการแล้วทำอะไรไม่ได้แล้ว จะต้องอยู่เฉยๆ นั่งเฉยๆ รอคนโน้นคนนี้เอาข้าวมาให้กิน สมมุติเราทำได้ทำไมเราไม่ทำ หกล้มก็ให้มันหกล้มไปนะ ไม่เป็นไร ล้มแล้วก็ลุกขึ้นได้ ไม่ใช่ล้มแล้วจะไม่ได้ลุกเมื่อไหร่ล่ะ เรานั่งอย่างนี้ใครก็ไม่รู้ว่าเราเป็นคนพิการถูกป่ะ ไม่เห็นจำเป็นเลย”

อธิบายความแข็งแกร่งของผู้หญิงป้อมมหากาฬหน่อย

“ผู้หญิงป้อมฯต้องทำได้ทุกอย่าง หินก็ขนได้ เหล็กก็ขนได้ ผู้ชายทำอะไรก็ทำได้ เพียงแต่ถ้าขนหินก็ขนทีละก้อนสิ ทำไมจะต้องไปขนทีสามสี่ก้อนเหมือนผู้ชายเขา ผู้หญิงก็คน เราขนทีละก้อนก็ทำได้ ขนทรายพวกเราก็ทำมาแล้ว ลอกท่อเราทำมาแล้วก็ทำได้ แล้วลูกหลานเราก็เห็น อุ๊ย…ป้าดาวทำ ป้าดาวเป็นผู้หญิง ป้าดาวยังทำได้ แล้วทำไมเขาถึงจะไม่ทำ เขาก็ต้องทำ อย่าเอาความพิการมาบอกว่าฉันทำไม่ได้ ฉันพิการ มันไม่ใช่”

 


 

บทความนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘การต่อสู้ของผู้หญิงชุมชนป้อมมหากาฬในการต่อต้านการไล่รื้อ’ ของ ภาวิณี ไชยภาค ภาควิชาสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลักสูตรสตรี เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษา เผยแพร่ในปี 2551 ซึ่งเนื้อหาวิทยานิพนธ์เล่าถึงความคิด วิถีชีวิต และชีวประวัติของผู้หญิงป้อมฯ 9 คน ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านการรื้อถอนชุมชนโดย กทม.
ผู้หญิงในป้อมฯ มีสถานะเป็นผู้ดูแลครอบครัวคือปกป้อง ‘บ้าน’ และออกมาร่วมต่อสู้เพื่อ ‘ชุมชน’ ซึ่งไม่ได้มีความหมายแค่เป็นที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่ยังต่อสู้เพื่ออนุรักษ์ประวัติศาสตร์ที่ตนเองอยู่ร่วมกันมา ต่อสู้เพื่อมิตรภาพของเพื่อนบ้านพี่น้องร่วมชุมชน เพื่ออาชีพ การทำมาหากิน โรงเรียนของลูกหลาน เมื่อมองผ่านมุมผู้หญิงทั้งเก้าคนนี้ก็เห็นรายละเอียดชีวิตของคนจนเมืองซึ่งเป็นคนชายขอบในสังคมได้ชัดเจนขึ้น

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า