‘Project Censored’ โครงการวิจัยทางด้านสื่อมวลชนของมหาวิทยาลัยโซโนมาสเตท (Sonoma State University) สหรัฐอเมริกา มีเป้าหมายเพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับบทบาทของสื่อมวลชนอิสระในสังคมประชาธิปไตย รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์การปิดกั้นข่าวและเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อมวลชนกระแสหลักของสหรัฐ โครงการนี้คอยติดตามข่าวที่ตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในสื่อต่างๆ ทั้งกระแสหลักและอิสระ จากนั้นคัดเลือกออกมาเป็น 25 ข่าวประจำปี ที่โครงการเห็นว่ามีความสำคัญ แต่กลับถูกสื่อกระแสหลักมองข้าม
กระบวนการคัดสรรข่าวเริ่มจากเปิดให้นักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ บรรณารักษ์ และประชาชนทั่วโลก เสนอข่าวที่คิดว่ามีความสำคัญเข้ามา มีประมาณ 700-1,000 ข่าวต่อปี จากนั้นคณาจารย์ นักศึกษา และสมาชิกในชุมชนมหาวิทยาลัยกว่า 200 คน จะร่วมมือกันทำวิจัยทั้งหัวข้อข่าว เนื้อหา ความน่าเชื่อถือ ของข้อมูลและความสำคัญของข่าวนั้นๆ จนคัดกรองเหลือ 25 ข่าวที่เห็นว่าสำคัญที่สุด ส่งต่อไปให้คณะผู้ตัดสินของโครงการลงคะแนนจัดอันดับ
นี่คือ 25 ข่าวที่ไม่เป็นข่าวในปี 2016-2017 ลำดับที่ 15-11
15. ‘Shell’ ตีแผ่ประเด็นโลกร้อนมาตั้งแต่ 1991 แต่แอบล็อบบี้และสร้างภาพว่าโลกร้อนไม่มีจริง
นี่คือการทำข่าวเจาะร่วมกันระหว่าง เจลเมอร์ มัมเมอร์ส (Jelmer Mommers) และ เดเมียน คาร์ริงตัน (Damian Carrington) ตั้งต้นจาก Climate of Concern สารคดีความยาว 28 นาที ผลิตโดย Shell เผยแพร่ครั้งแรกปี 1991 ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นผู้มาก่อนการณ์ เพราะอธิบายปัญหานี้ตั้งแต่ยุค 90 ก่อนที่สารคดีเปลี่ยนโลก An Inconvenient Truth โดย อัล กอร์ (Al Gore) จะเข้าฉายในปี 2006
เรื่องเล่าใน Climate of Concern อธิบายความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากวิกฤติโลกร้อน เช่น อากาศแปรเปลี่ยนอย่างรุนแรง น้ำท่วมใหญ่ ทุพภิกขภัยหรือการขาดแคลนอาหารอย่างกว้างขวาง สัตว์หลายสายพันธุ์จะต้องอพยพครั้งใหญ่ และนอกจากสารคดีชุดนี้ Shell ยังทำรายงาน ‘Climate Change: The IPCC Scientific Assessment’ ยื่นต่อองค์การสหประชาชาติอีกด้วย
ประเด็นหลักที่ทั้งคู่นำเสนอก็คือ แม้ Shell จะเข้าใจปัญหาโลกร้อนมาเกือบ 30 ปี แต่ก็ไม่ได้ผลักดันประเด็นที่ว่าอย่างต่อเนื่อง แถมยังเป็นสมาชิกของสมาพันธ์ด้านพลังงาน ซึ่งเข้าไปล็อบบี้นโยบายเกี่ยวกับคาร์บอนฟุตพรินท์และการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ ของแต่ละประเทศด้วย
“การผลิตพลังงานแต่ละปีของ Shell ถูกคิดมาแล้วว่าจะต้องมีปริมาณมากขึ้น ต้นทุนสูงขึ้น และแน่นอนว่าจะมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนั้นห่างไกลจากเรื่องเล่าในสารคดีชุดนั้น” คือคำกล่าวของ พอล สเปดดิง (Paul Spedding) อดีตผู้อำนวยการกองวิจัยด้านพลังงานที่ HSBC ซึ่งปัจจุบันเป็นคณะวิจัยด้านพลังงานที่ Carbon Tracker องค์กรไม่แสวงกำไรผู้วิเคราะห์ข้อมูลด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม
รายงานของมัมเมอร์สและคาร์ริงตันวิจารณ์ว่า Shell เป็นตัวการลับๆ ที่เข้าไปล็อบบี้การทำงานและการตัดสินใจด้านนโยบาย เช่น รายงานที่สำนักข่าว The Gurdian รายงานในปี 2015 ว่า เพื่อให้มั่นใจว่า Shell จะยังเป็นบริษัทที่มีความมั่นคงด้านพลังงานและมีผลกำไรที่งอกเงย Shell จึงเข้าไปล็อบบี้การทำงานของสหภาพยุโรปในประเด็นการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ
นอกจากนั้น Shell ยังเป็นสมาชิกคณะกรรมการนิติบัญญัติแลกเปลี่ยนอเมริกา (American Legislative Exchange Council: ALEC) ซึ่งมัมเมอร์สและคาร์ริงตันกล่าวว่า คือคณะกรรมการที่ปฏิเสธการมีอยู่ของภาวะโลกร้อน และ Shell ยังเป็นสมาชิกของกลุ่ม Business Roundtable ธุรกิจยักษ์ใหญ่ของสหรัฐและสถาบันปิโตรเลียมแห่งสหรัฐอเมริกา (The American Petroleum Institute) ซึ่งทั้งสองกลุ่มหลังนี้เป็นกลุ่มหลักที่ต่อต้านนโยบายพลังงานสะอาด (Clean Power Plan) ของ บารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ
อ้างอิงข้อมูลจาก:
http://projectcensored.org/15-shell-understood-climate-change-early-1991-ignored/
https://thecorrespondent.com/6285/shell-made-a-film-about-climate-change-in-1991-then-neglected-to-heed-its-own-warning/692663565-875331f6
14. ศาลสหรัฐใช้ AI ช่วยพิจารณาคดีด้วยข้อมูลเปี่ยมอคติทางเชื้อชาติและสีผิว
COMPAS (Correctional Offender Management Profiling for Alternative Sanctions) คือซอฟท์แวร์ที่ช่วยประมวลและเข้าถึงข้อมูลอาชญากรรม ให้คะแนนความเสี่ยง (risk scores) ว่าจำเลยผู้นั้น ‘มีแนวโน้ม’ กระทำความผิดในอนาคตหรือไม่ ข้อมูลที่ใช้ เช่น ประวัติอาชญากรรม ประวัติการโดดเดี่ยวตัวเองจากสังคม ถิ่นที่อยู่อาศัย และแน่นอน ระบบจะนำข้อมูลบุคคลอย่างเชื้อชาติ สีผิว เพศสภาพ เข้าไปร่วมพิจารณาด้วย เหตุผลคือช่วยให้ข้อมูลแก่ผู้พิพากษาก่อนตัดสินคดี และเพื่อแก้ปัญหาความแออัดของประชากรในคุก
ทั้งหมดนี้นำมาสู่คำถามที่ว่า เฉพาะข้อมูลที่เลือกนำมาพิจารณา เช่น เชื้อชาติ สีผิว ก็มีอคติในตัวเองอยู่แล้ว และแม้ข้อมูลจาก COMPAS จะไม่ใช่ข้อมูลหลักในการพิจารณาคดี แต่ข้อมูลที่ครอบคลุมความคิดอคติจะสร้างมาตรฐานการติดสินและมอบความยุติธรรมให้ผู้คนได้อย่างไร
ขณะที่การสืบสวนของ ProPublica เว็บข่าวสืบสวนเชิงลึกของสหรัฐ ซึ่งได้รับข้อมูลจาก เอริค โฮลเดอร์ (Eric Holder) อธิบดีกรมอัยการสหรัฐ (US Attorney General) ที่ออกมาเรียกร้องตั้งแต่ปี 2014 ให้องค์กรอิสระด้านกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐบาลกลางสหรัฐ (US Sentencing Commission) ตรวจสอบอัลกอริธึมจาก COMPAS อีกครั้งว่ามันทำลายมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ จากนั้นจึงส่งทีมงานเข้าติดตามประเด็นและทำวิจัยจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับซอฟท์แวร์และสถิติการถูกตัดสิน ซึ่งผู้พิพากษาใช้ข้อมูลส่วนนี้ไปช่วยพิจารณาคดี
รายงานของ ProPublica ระบุว่า
- แม้ผู้พิพากษาจะไม่ได้ใช้ข้อมูลจาก COMPAS เป็นตัวตัดสิน แต่จะได้ข้อมูลส่วนนี้ก่อนพิจารณาคดี
- เฉพาะข้อมูลจากโบรวอร์ดเคาน์ตี (Broward County) รัฐฟลอริดา ระบุว่า อัลกอริธึมของ COMPAS ไม่มีมาตรฐานและเชื่อถือไม่ได้ ด้วยตัวเลขแสดงว่า มีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ถูกข้อมูลใน COMPAS ระบุว่าจะกระทำผิดซ้ำอีกในอนาคต กระทำผิดซ้ำอีกจริงๆ ทีมข่าวรายงานชิ้นนี้วิจารณ์ไว้อย่างแสบสันว่า “ความถูกต้องของ COMPAS นั้นมากกว่าการทำนายด้วยการโยนเหรียญหัว-ก้อยเพียงนิดเดียว”
- 77 เปอร์เซ็นต์ของคนผิวสีถูก COMPAS ให้คะแนนความเสี่ยง หรือ risk scores อยู่ในระดับสูง ขณะที่อีก 45 เปอร์เซ็นต์ของคนผิวสีถูกระบุเลยว่าจะกระทำความผิดซ้ำอีก
- ProPublica วิจารณ์ระบบ COMPAS ว่า เป็นข้อมูลที่ไม่ได้เปิดเผยสู่สาธารณชน หมายความว่า ภาคประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลย ไม่อาจอธิบายหรือโต้แย้งข้อมูลนั้นๆ กลับได้เลย
อ้างอิงข้อมูลจาก:
http://projectcensored.org/14-judges-across-us-using-racially-biased-software-assess-defendants-risk-committing-future-crimes/
13. นักศึกษาเห็นต่าง ถูกพักการเรียนหรือไม่ก็ไล่ออก
กลุ่มอนุรักษนิยมฝ่ายขวาของสหรัฐอเมริกาใช้เงินและอำนาจเข้าไปกำหนดนโยบายสาธารณะในการกำกับดูแลความเรียบร้อย โดยเฉพาะกับกลุ่มนักศึกษาที่เห็นต่างในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย
ตัวแทนของพรรคฝ่ายขวาที่กระทำการนี้แทนชื่อว่า สถาบัน Goldwater Institute ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากพรรคฝั่งอนุรักษนิยม โดย Goldwater Institute คือเบื้องหลังสำคัญในการผลักดันให้ออกกฎหมาย เพื่อหาวิธีปราบปราม หรือยับยั้งกรณีที่นักพูดรับเชิญหรือผู้นำนักศึกษาต่างๆ พยายามกล่าวโจมตีเรื่อง climate change นโยบายต่อต้านกลุ่ม LGBT ของฝ่ายขวา และ hate speech
Goldwater Institute มีส่วนสำคัญในการผลักดันพระราชบัญญัติ Campus Free Speech แม้ในหลักการของพระราชบัญญัติฉบับนี้นั้น จะให้การสนับสนุน free speech การแสดงความคิดเห็นและแสดงออกอย่างเต็มที่ แต่รูปแบบการปฏิบัติหรือการบังคับใช้ไม่ได้มีสิ่งใดที่บ่งชี้ว่าดุนหลัง free speech แม้แต่น้อย
ในทางกลับกัน เนื้อหาการบังคับใช้ของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ระบุว่า “การประท้วงต่อต้านและการแสดงออกที่ละเมิดสิทธิต่างๆ ของผู้อื่นจะถูกจับตามองเป็นพิเศษ หรือกิจกรรมใดๆ ที่มีการแสดงออกอย่างรุนแรงจะถูกห้ามจัด โดยเฉพาะถ้านักศึกษาคนนั้นพูดหรือแตะประเด็นวิพากษ์แนวคิดการชูคนขาว (white supremacists) หรือเรื่องสภาพอากาศที่เปลี่ยนแล้วล่ะก็ ถือว่าเข้าข่ายละเมิดสิทธิผู้อื่น
และนักศึกษาที่ถูกพบว่าละเมิดสิทธิผู้อื่นมากกว่าหนึ่งครั้ง โทษคือถูกพักการเรียนไปหนึ่งปีหรือไล่ออก
อ้างอิงข้อมูลจาก:
http://projectcensored.org/13-right-wing-money-promotes-model-legislation-restrict-free-speech-university-campuses/
12. ศูนย์ต่อต้านโฆษณาชวนเชื่อถูกตั้งขึ้นอย่างเงียบเชียบ
23 ธันวาคม 2016 อดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ลงนามในร่างกฎหมายเพื่อความมั่นคงฉบับหนึ่ง ชื่อ National Defense Authorization Act (NDAA) 2017 ในกฎหมายฉบับนี้ได้รวมถึงแผนในการสร้างศูนย์บัญชาการ คอยตรวจตราสอดส่อง ‘การโฆษณาชวนเชื่อและการให้ข้อมูลผิดๆ’ จากต่างประเทศ ชื่อของหน่วยงานนี้คือ The Global Engagement Center ทำหน้าที่ตรวจจับ ‘บุคคลที่ต้องสงสัยเรื่องโฆษณาชวนเชื่อมากที่สุด’ ผ่านข่าว ข้อมูล หรือข้อความผ่านโซเชียลมีเดียในประเด็นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลสหรัฐ และการโฆษณาชวนเชื่อในรูปแบบโปรอเมริกา
NDAA ตั้งงบประมาณในการต่อกรโฆษณาชวนเชื่อและข้อมูล (ที่เชื่อว่า) ผิดๆ ส่งผลเสียต่อประเทศ ไว้ที่ 160 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 5,298 ล้านบาท)
NDAA ระบุหน้าที่ของ The Global Engagement Center ไว้คือ ประสานงานร่วมกับรัฐบาลกลางในการสร้างความตระหนัก ความเข้าใจ เปิดเผย และต่อต้านกระบวนการโฆษณาชวนเชื่อที่มุ่งทำลายความมั่นคงของสหรัฐ ทั้งยังมีหน้าที่ตามรอย ตรวจจับ โดยคาดว่าโอกาสที่ประธานาธิบดีจะนั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการศูนย์นี้มีอยู่สูง
ยิ่งไปกว่านั้นศูนย์ตรวจจับนี้จะสนับสนุนและให้ทุนกลุ่มประชาสังคม กลุ่มคนทำสื่อ องค์กรพัฒนาสังคม บริษัทเอกชน สถาบันต่างๆ ผ่านการจ้างให้ค้นหาและตรวจสอบสื่อดั้งเดิมไปจนถึงสื่อออนไลน์ที่เข้าข่ายโฆษณาชวนเชื่อและให้ข้อมูลผิดๆ โจมตีสหรัฐโดยตรง…แล้วรายงานผลตรงต่อศูนย์ทันที
อ้างอิงข้อมูลจาก:
http://projectcensored.org/12-us-quietly-established-new-anti-propaganda-center/
11. เราถูกดักฟังโทรศัพท์มา 30 ปีแล้ว!
ตั้งแต่ปี 1987 หรือกว่า 30 ปีมาแล้วที่ AT&T ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลกลางสหรัฐ และหน่วยงานท้องถิ่น แทคทีมทำงานร่วมกันอัดบทสนทนาทางโทรศัพท์อย่างเงียบๆ ด้วยโปรแกรมชื่อ ‘Hemisphere’
อารอน แมคคีย์ (Aaron Mackey) และ เดฟ มาสส์ (Dave Maass) รายงานข้อมูลชุดนี้ให้กับ Electronic Frontier Foundation (EFF) องค์กรไม่หวังผลกำไรที่ทำด้านสิทธิของผู้ใช้งานไอที เนื้อหามีอยู่ว่า ที่ผ่านมาฐานข้อมูลการอัดเสียงของ Hemisphere ทั้งในและต่างประเทศมีมากถึงหลายล้านล้านบทสนทนา และในแต่ละวัน AT&T ยังเพิ่มเสียงสนทนาที่อัดไว้ไปประมาณ 4,000 ล้านครั้งอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงรายที่ไม่ใช่ลูกค้าของ AT&T ด้วย
ในการอัดเสียงแต่ละครั้ง จะปรากฏข้อมูลทั้งเบอร์ที่โทรเข้า เบอร์ปลายทาง วัน-เวลาที่โทร ความยาวของบทสนทนา ยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลที่เก็บได้ยังอนุญาตให้ Drug Enforcement Agency (DEA) หรือสำนักปราบปรามยาเสพติดของสหรัฐ และหน่วยงานราชการต่างๆ เข้าไปใช้และวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ได้ นำไปสู่การสร้างแผนที่โซเชียลเน็ตเวิร์คของผู้ใช้บริการ รวมถึงชี้ตำแหน่งของแต่ละคนได้
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จะเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลละเอียดอ่อนเหล่านี้โดยปราศจากการรับรองใดๆ ทางกฎหมายหรือการตรวจตราจากกระบวนการยุติธรรม
ในวงการตำรวจเรียกเจ้า Hemisphere ว่า ‘Super Search Engine’ หรือ Google on Steroids หรือโปรแกรมอันร้ายกาจที่คอยตรวจสอบและคุกคามเสรีภาพของประชาชน
Hemisphere ไม่เป็นที่รู้จักมาก่อน กระทั่งปี 2013 รัฐบาลและหน่วยงานรัฐเผลอหลุดเผยข้อมูลออกมาทั้งๆ ที่กฎเหล็กของทุกหน่วยงานไม่ว่าเล็กหรือใหญ่คือต้องเก็บ Hemisphere ไว้เป็นความลับสูงสุด
ในกระบวนการนำเอาข้อมูลส่วนตัวจาก Hemisphere ไปใช้งาน ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปสกัดจนได้ข้อมูลเป้าหมาย และนำไปสู่การออกหมายศาลในที่สุด
อ้างอิงข้อมูลจาก:
http://projectcensored.org/11-law-enforcement-surveillance-phone-records/
ที่มา: projectcensored.org
ติดตาม 25 ข่าวที่ไม่เป็นข่าวแห่งปี 2016-2017 (4) เร็วๆ นี้