โดนัลด์ ทรัมป์ และกลุ่มทุนใหญ่ทั้งเจ็ด

ภาพประกอบ: Shhhh

คาดกันว่า งบในการจัดงานพิธีสาบานตนของ โดนัลด์ ทรัมป์ จะสูงถึง 200 ล้านดอลลาร์ โดยมีกลุ่มทุนใหญ่เจ็ดบริษัทบริจาคเงินสนับสนุนการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี

เชื่อกันว่า เหตุผลในการทุ่มเงินนี้ไม่ใช่เพราะความรักชาติยิ่ง แต่เงินบริจาคเหล่านี้คือ ‘pay-to-play’ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการเข้าถึงนักการเมืองระดับสูงในรัฐบาลทรัมป์ เช่น บริจาค 1 ล้านดอลลาร์ จะได้สิทธิ์ในการร่วมมื้อเที่ยงกับสมาชิกสภาคองเกรส รวมถึงร่วมมื้อเย็นกับรองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ บางรายอาจได้เส้นสาย ผลประโยชน์ รับงานจากรัฐบาล ไปจนถึงการออกกฎหมายที่เอื้อต่อธุรกิจหลายพันล้านของพวกเขา

แม้รายรับในงานสาบานตนเข้ารับตำแหน่งจะถูกเก็บเป็นความลับ New York Times ก็ยังอุตส่าห์มีรายงานข้อมูลว่า ผู้บริจาครายใหญ่ทั้งเจ็ดคือ AT&T, Bank of America, Boeing, Chevron, Deloitte, JPMorgan Chase และ United Parcel Service

 

AT&T

บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดในโลก กับผลประโยชน์ในเครือข่ายโทรศัพท์มือถือและระบบบรอดแบนด์ New York Times บอกว่า AT&T ทุ่มเงินนับล้านเพื่อสนับสนุนระบบสื่อสารสำหรับผู้มาร่วมงานครั้งนี้ โดยโครงการที่ AT&T ทำร่วมกับรัฐบาล เช่น

– การเจรจาเพื่อควบรวมระหว่าง AT&T กับ Time Warner บริษัทเคเบิลและสื่อบันเทิง มูลค่า 85,400 ล้านดอลลาร์ ซึ่งดีลนี้จะเป็นไปได้เมื่อได้รับอนุมัติจาก ฝ่ายป้องกันการผูกขาดทางการค้า กระทรวงยุติธรรม เสียก่อน

– องค์การบริหารคลื่นความถี่แห่งชาติสหรัฐ (The Federal Communications Commission: FCC) เรื่องกฎหมายเครือข่ายเป็นกลาง (Net Neutrality) ซึ่งออกมาในรัฐบาลโอบามา ป้องกันไม่ให้ผู้ให้บริการบรอดแบนด์นำเสนอคอนเทนท์ของตัวเองมากกว่าเจ้าอื่น และบล็อคไม่ให้เกิดเครือข่ายพิเศษ fast lane ซึ่ง AT&T ยื่นฟ้อง FCC ว่าพยายามขัดขวางข้อบังคับความเป็นกลางดังกล่าว

– เนื่องจาก FCC มีนโยบายจำกัดการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวผู้บริโภคของผู้ให้บริการ ดังนั้น AT&T จึงพยายามล็อบบี้อย่างหนักเพื่อต่อต้านนโยบายนี้

– การเป็นหุ้นส่วนร่วมกับรัฐบาล AT&T คือการทำงานใกล้ชิดกับสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Agency: NSA) ซึ่งพยายามสอดส่องการใช้อินเทอร์เน็ตในสหรัฐ

– คู่สัญญาภาครัฐ: ในปีงบประมาณ 2017 AT&T จะได้รับเงินมากกว่า 142 ล้านดอลลาร์ และห้าปีที่ผ่านมาได้รับ 1,436 ล้านดอลลาร์

– ล็อบบี้: AT&T จ่ายเงิน 12.6 ล้านดอลลาร์เพื่อล็อบบี้รัฐบาลในปี 2016

Bank of America

ด้วยสินทรัพย์ 2.1 ล้านล้านดอลลาร์ Bank of America คือ ธนาคารใหญ่เป็นอันดับสองของสหรัฐรองจาก JPMorgan Chase ซึ่ง New York Times รายงานว่า Bank of America จ่ายเพื่อสนับสนุนงานนี้เต็มที่

– รื้อนโยบายเศรษฐกิจและกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคสมัยโอบามา: ในเว็บไซต์ทางการของ โดนัลด์ ทรัมป์ ก่อนเข้ารับตำแหน่ง เคยประกาศความตั้งใจที่จะยกเลิก ‘Dodd-Frank Act’ (Dodd-Frank Wall Street Reform Act) นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ แก้วิกฤติการเงินช่วงปี 2008-2009 ที่โอบามาริเริ่มไว้เมื่อปี 2010 ไบรอัน มอยนิแฮน ซีอีโอ Bank of America ดูจะให้ความสนใจเป็นพิเศษเรื่องการลดมาตรการกำกับดูแลธนาคารขนาดใหญ่ให้ผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการเสียประโยชน์ลง

– ลดอำนาจฝ่ายคุ้มครองผู้บริโภคด้านการเงิน: ในปี 2014 สำนักการเงินคุ้มครองผู้บริโภค (Consumer Financial Protection Bureau: CFPB) มีคำสั่งให้ Bank of America ชดเชยเงิน 772 ล้านดอลลาร์แก่ผู้บริโภคเนื่องจากมีการเก็บค่าบริการตรวจสอบเครดิตที่ไม่มีการให้บริการจริง

– คู่สัญญาภาครัฐ: ห้าปีที่ผ่านมา Bank of America ได้รับประโยชน์จากรัฐบาลกลางไปกว่า 2.3 ล้านดอลลาร์

– ล็อบบี้: งบล็อบบี้ของปี 2010 อยู่ที่ 3.9 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นปีที่กฎหมาย Dodd-Frank Act ผ่าน ขณะที่ในรอบห้าปี Bank of America ใช้เงินล็อบบี้ไปแล้ว 12.5 ล้านดอลลาร์

Boeing

Boeing กลุ่มธุรกิจอากาศยาน อัดเงิน 1 ล้านดอลลาร์ให้กับงานนี้ โดย Boeing มีสินทรัพย์ทั้งหมด 94,000 ล้าน โครงการที่ Boeing ทำร่วมกับรัฐบาล เช่น

– เปลี่ยน Air Force One: โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้เงินมหาศาลในการสั่งผลิตเครื่องบินลำใหม่

– การเข้ามาแทนที่ F-35 ของ Lockheed Martin: โดนัลด์ ทรัมป์กำลังจะซื้อเครื่องบินรุ่นเก่าอย่าง F-18 ของ Boeing ในราคาที่สูงเกินเหตุ จนกระทรวงกลาโหมถึงกับวิจารณ์ว่า เป็นแนวคิดที่ตลกที่สุด

– เพิ่มสัญญากับรัฐบาล: ในปีงบประมาณ 2017 Boeing จะรับเงินมากกว่า 821 ล้านจากการรับงานรัฐบาล ในห้าปีที่ผ่านมา Boeing ทำเงินจากการเป็นคู่สัญญากับรัฐกว่า 47,769 ล้านดอลลาร์

– ล็อบบี้: ในห้าปีที่ผ่านมา Boeing ใช้เงินมากกว่า 82 ล้านดอลลาร์ ในการล็อบบี้รัฐบาล

Chevron

Chevron บริษัทพลังงานข้ามชาติ ซึ่งมีฐานอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย บริจาคเงิน 500,000 ดอลลาร์ให้งานนี้ งานของ Chevron กับรัฐบาล เช่น

– ยกเลิกกฎระเบียบ: ยกเลิกลิมิตการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ Chevron ล็อบบี้กระบวนการออกกฎหมาย เช่น Regulatory Accountability Act โดยในนโยบายหาเสียงของทรัมป์เคยระบุว่า จะลดและเลิกกำแพงด้านการผลิตพลังงาน และจะสร้างงานได้กว่าครึ่งล้านตำแหน่งต่อปี ทำให้คนมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์ และมีพลังงานใช้ในราคาที่ถูกลง และ Chevron พยายามยกเลิกข้อบังคับของคณะกรรมการการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ของสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity Futures Trading Commission: CFTC) ที่เป็นอุปสรรคทางธุรกิจของพวกเขา

– ส่งออกก๊าซธรรมชาติ: การล็อบบี้สมัยรัฐบาลโอบามา ทำให้ข้อตกลงทางการค้าที่ส่งผลต่อธุรกิจ Chevron เช่น ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP) และ ความตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐกับสหภาพยุโรป (Transatlantic Trade and Investment Partnership: TTIP) ซึ่งนโยบายด้านพลังงานของทรัมป์คือ ให้พลังงานเป็นเป็นตัวกำหนดยุทธศาสตร์เป้าหมายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ

– การขุดบนฝั่งและนอกชายฝั่ง: ทรัมป์จะเปิดให้มีการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทั้งบนบกและนอกชายฝั่ง รวมทั้งพักชำระหนี้แก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับถ่านหิน

– ลดความเข้มแข็งกฎหมายสิ่งแวดล้อม: หลังจาก สก็อตต์ พรูอิตต์ ได้รับการเสนอชื่อขึ้นเป็นผู้อำนวยการสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency: EPA) ส่วน ริค เพอร์รี พันธมิตรของบรรษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติก็กำลังจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน รวมถึง เจฟฟ์ เซสชันส์ วุฒิสมาชิกที่ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด หลังจากเป็นคนแรกๆ ในสภาที่แสดงตัวชัดเจนว่าสนับสนุนทรัมป์ เมื่อเห็นสามชื่อนี้ Chevron คงเบาใจได้ว่า พวกเขาจะไม่ถูกเล่นงานหนักจนเกินไป

– ภาษี: ที่มุ่งเน้นคือภาษีนำเข้า เนื่องจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

– คู่สัญญาภาครัฐ: ในช่วงห้าปี รวมถึงปีงบประมาณ 2017 Chevron เซ็นสัญญาดำเนินโครงการลงทุนโดยรัฐมูลค่ากว่า 1,200 ล้านดอลลาร์

– ล็อบบี้: ในรอบห้าปี Chevron ใช้งบล็อบบี้ในสภาไปกว่า 41 ล้านดอลลาร์

Deloitte

หนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชีและที่ปรึกษาทางการเงินรายใหญ่ของโลกที่มีรายได้กว่า 36,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2016 ซึ่ง New York Times รายงานว่า Deloitte ให้การสนับสนุนพิธีสาบานตนรับตำแหน่งของทรัมป์ แต่ไม่ได้ระบุตัวเลข ธุรกิจของ Deloitte กับรัฐบาล เช่น

– ด้านกฎหมาย: Deloitte ส่งตัวแทนเข้าไปล็อบบี้ในกฎหมายหลายฉบับ ได้แก่ กฎหมายการจัดสรรทางการเงิน กฎหมายด้านกลาโหม กฎหมายเกี่ยวกับผู้อพยพ ไปจนถึงกฎหมายว่าด้วยสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค

– นโยบายด้านภาษี: เนื่องจากธุรกิจหลักของ Deloitte คือการตรวจสอบบัญชี ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องภาษี ก่อนหน้านี้จึงมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า Deloitte มีส่วนกับการที่บรรษัทใหญ่ทั้งหลายหลบเลี่ยงภาษี

– คู่สัญญาภาครัฐ: ในปีงบประมาณ 2017 Deloitte เซ็นสัญญาเริ่มโครงการกับรัฐบาลสหรัฐไปแล้วด้วยงบประมาณกว่า 123 ล้านดอลลาร์ ห้าปีที่ผ่านมา Deloitte ทำเงินจากการลงทุนภาครัฐไปแล้วเกือบ 5,000 ล้านดอลลาร์

– ล็อบบี้: ในรอบห้าปี Deloitte ทุ่มเงินกว่า 10.5 ล้านดอลลาร์เพื่อการล็อบบี้ในสภาโดยเฉพาะ

JPMorgan Chase

JPMorgan Chase ธนาคารใหญ่ที่สุดในสหรัฐ มีสินทรัพย์กว่า 2.4 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่เม็ดเงินสำหรับพิธีสาบานตนไม่มีการเปิดเผย ธุรกิจล่าสุดกับรัฐบาล เช่น

– นโยบายเศรษฐกิจ: เจมี ไดมอน ซีอีโอ JPMorgan ได้รับเลือกจากทรัมป์ให้นำทีมที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะเน้นไปที่ภาษีเงินได้นิติบุคคล และนโยบายด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก

– ถอดนโยบายเศรษฐกิจและกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคสมัยโอบามา: ในเว็บไซต์ทางการของทรัมป์เคยประกาศความตั้งใจที่จะยกเลิก ‘Dodd-Frank Act’ นโยบายแก้วิกฤติการเงินที่โอบามาริเริ่มไว้เมื่อปี 2010 เพราะเห็นว่าไม่ตอบโจทย์กลุ่มแรงงาน โดยทีมเศรษฐกิจจะร่วมกันรื้อกฎหมายฉบับนี้ แล้วทดแทนด้วยนโยบายใหม่ที่จะส่งเสริมความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและช่วยสร้างงานแก่คนอเมริกันได้ดีกว่าเดิม

– ลดอำนาจฝ่ายคุ้มครองผู้บริโภคด้านการเงิน: ในปี 2013 สำนักการเงินคุ้มครองผู้บริโภค (Consumer Financial Protection Bureau: CFPB) มีคำสั่งให้ JPMorgan จ่ายค่าชดเชย 309 ล้านดอลลาร์แก่ลูกค้าสำหรับการเก็บค่าบริการการติดตามและตรวจสอบเครดิตโดยที่พวกเขาไม่ได้ขอรับบริการ การทอนอำนาจฝ่ายตรวจสอบและคุ้มครองผู้บริโภคลงจึงเป็นสิ่งแรกๆ ที่พึงกระทำ

– คู่สัญญาภาครัฐ: ในรอบห้าปี JPMorgan ทำเงินไปแล้วกว่า 20 ล้านดอลลาร์จากโครงการลงทุนโดยรัฐบาลกลาง

– ล็อบบี้: ห้าปีที่ผ่านมา JPMorgan ใช้งบกว่า 25 ล้านดอลลาร์เพื่อล็อบบี้ในสภา

United Parcel Service

UPS คือบริษัทจัดส่งสินค้าและโลจิสติกส์ยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของโลก สำหรับเม็ดเงินสนับสนุนในพิธีสาบานตนไม่มีการเปิดเผยเช่นเดียวกัน ก่อนทรัมป์รับตำแหน่ง UPS มีธุรกิจดังต่อไปนี้

– ด้านกฎหมาย: UPS มีความพยายามให้ FedEx ใช้มาตรการด้านแรงงานที่เท่าเทียมกัน เพิ่มการขนส่งไปยังจีนและประเทศแถบเอเชีย รวมถึงกฎหมายปฏิรูปเงินบำนาญ

– ภาษี: การปฏิรูปภาษีเงินได้นิติบุคคลคือประเด็นที่ UPS ผลักดันเป็นอันดับหนึ่งตั้งแต่ปี 2016

– การค้า: UPS มีการล็อบบี้ในเรื่องข้อตกลงทางการค้า รวมถึงบางตัวที่ทรัมป์เคยประกาศว่าจะยกเลิก อาทิ TPP และ TTIP

– คู่สัญญาภาครัฐ: ในรอบห้าปี รวมถึงปีงบประมาณ 2017 ซึ่ง UPS ได้รับผลประโยชน์จากโครงการของรัฐบาลกลางไปแล้วกว่า 70 ล้านดอลลาร์

– ล็อบบี้: ห้าปีที่ผ่านมา UPS ใช้งบกว่า 32 ล้านดอลลาร์ในการล็อบบี้ระหว่างการพิจารณากฎหมายในสภา


อ้างอิงข้อมูลจาก: commondreams.org
nytimes.com

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า