ปี 2023 กับการจัดระเบียบโลกใหม่ เมื่อยุโรปหันขวา แอฟริกาหันหลังให้ชาติตะวันตก 

ปี 2023 สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงของการเมืองโลก นอกจากจะไม่เปลี่ยนทิศแล้ว กลับยังตอกย้ำให้ทวีปยุโรปเดินเข้าสู่แนวคิดขวาจัดชัดเจนมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็โหมกระพือให้การรัฐประหารในทวีปแอฟริกาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2020 แผ่ขยายออกไปมากขึ้น เปิดทางให้เกิดพันธมิตรใหม่ในเวทีโลกอย่างแอฟริกา-รัสเซีย ที่คาดว่าน่าจะนำไปสู่การจัดระเบียบโลกใหม่ในไม่ช้า

ทวีปยุโรป มุ่งหน้าสู่เส้นทางขวาสุดโต่ง 

ปี 2023 เป็นปีที่ตอกย้ำให้เห็นว่าประชาชนในทวีปที่มีอิทธิพลสูงต่อเศรษฐกิจและการเมืองโลกนี้อย่างยุโรป เลือกที่จะขับเคลื่อนภูมิภาคและโลกไปในแนวทางการเมืองแบบจารีตนิยมสุดโต่งอย่างยากที่จะฉุดรั้ง เมื่อผลการเลือกตั้งในหลายประเทศพบว่าพรรคการเมืองขวาจัดได้เป็นฝ่ายที่ขึ้นมามีอำนาจในการปกครองประเทศ

การเลือกตั้งที่มีนัยสำคัญสุดในปีที่ผ่านมาคือ การเลือกตั้งในเนเธอร์แลนด์ เดือนพฤศจิกายน เมื่อ เกียร์ต วิลเดอร์ส (Geert Wilders) เจ้าของฉายาทรัมป์แห่งเนเธอร์แลนด์ จากพรรค Freedom Party หรือ PVV พรรคการเมืองขวาสุดโต่งชนะการเลือกตั้งแบบเหนือความคาดหมายและพลิกโผโพลทุกสำนัก โดยได้ 37 จาก 150 ที่นั่ง ทำให้เกิดความกังวลทั่วยุโรป เพราะพรรค PVV ชูนโยบายต่อต้านผู้อพยพ ต่อต้านมุสลิม และต่อต้านสหภาพยุโรป ด้วยสโลแกนกินใจกลุ่มคนรักชาติว่า “จะนำเนเธอร์แลนด์กลับคืนมาให้ชาวดัตช์” เฉือนพันธมิตรพรรคกรีน-พรรคซ้ายแรงงาน ซึ่งนำโดย ฟรานซ์ ทิมเมอร์มันส์ (Frans Timmermans) อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปแห่งสหภาพยุโรป ที่ได้ไป 25 ที่นั่ง

ผลการเลือกตั้งไม่เพียงสร้างความหวั่นวิตกให้กับชาวมุสลิมในเนเธอร์แลนด์ที่มีถึง 5 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ หากยังสั่นสะเทือนความมั่นคงของสหภาพยุโรป เพราะเนเธอร์แลนด์มีระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของสหภาพยุโรป และเป็นประเทศที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของสหภาพยุโรปอย่างมาก 

ก่อนหน้านี้ สเปนเองก็เคยสร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้กับยุโรปมาแล้ว เมื่อผลการเลือกตั้งที่แม้จะไม่มีพรรคการเมืองพรรดใดได้รับเสียงข้างมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาล แต่การตัดสินพระทัยของพระเจ้าเฟลิเปที่ 6 (King Felipe VI) ที่เสนอชื่อ อัลเบร์โต นุญเญซ เฟย์โฆโอ (Alberto Núñez Feijóo) หัวหน้าพรรคประชาชน (Partido Popular) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองขวาจัด ให้สภาลงมติเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดเมื่อเทียบกับพรรคการเมืองอื่นๆ แต่เฟย์โฆโอก็ไม่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาให้สนับสนุนตนเองได้ ทำให้ เปโดร ซานเชส (Pedro Sánchez) จากพรรคแรงงานสังคมนิยม (Spain Socialist Workers) ซึ่งเป็นพรรคขวากลาง ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัยหนึ่ง

ความสำเร็จของวิลเดอร์ส แห่งเนเธอร์แลนด์ และเฟย์โฆโอ แห่งสเปน (แม้จะไม่ได้ตั้งรัฐบาล แต่ก็ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนมากที่สุด) เป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในยุโรป เมื่อพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดที่ครั้งหนึ่งเคยถูกขับไล่จากระบบการเมืองกำลังกลับมามีอำนาจ 

การกลับมาครองอำนาจของพรรคขวาจัดในยุโรป เริ่มต้นที่ฮังการี ในปี 2010 เมื่อพรรคฟิเดสซ์ (Fidesz) ของ วิกเตอร์ ออร์บาน (Viktor Orbán) กวาดชัยชนะในการเลือกตั้ง และได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นพรรคฟิเดสซ์ก็กวาดชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งทุกครั้ง รวมถึงครั้งล่าสุดในปี 2022 ที่ไม่เพียงทำให้ออร์บานกลายเป็นผู้นำประเทศที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดในกลุ่มประเทศยุโรป แต่ยังทำให้พรรค Our Homeland พรรคการเมืองขวาจัดอีกพรรคหนึ่งมีที่นั่งในสภาถึง 7 ที่นั่ง อีกด้วย 

ส่วนในอิตาลี การกลับมาของพรรคการเมืองขวาจัดเพิ่งเกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา เมื่อ จอร์เจีย เมโลนี (Giorgia Meloni) อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 1 ปีเต็มเมื่อเดือนตุลาคม เมโลนีเป็นผู้นำหญิงคนแรกของประเทศ ก้าวขึ้นสู่อำนาจด้วยนโยบายไม่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ต่อต้านการรับผู้อพยพลี้ภัย ต่อต้านการทำแท้ง และประกาศเป็นศัตรูกับนักสตรีนิยม ผลการเลือกตั้งในปี 2022 ที่เปิดทางให้เมโลนีขึ้นสู่อำนาจ และทำให้พรรคการเมืองขวาจัดกลับมาปกครองประเทศอีกครั้ง หลังจากการสิ้นสุดลงของผู้นำเผด็จการฟาสซิสต์ เบนิโต มุสโสลินี (Benito Mussolini) 

ขณะที่ในเยอรมนี พรรคขวาจัด Alternative für Deutschland (AfD) ก็ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากขึ้น และโรเบิร์ต ฟิโก (Robert Fico) แห่งสโลวาเกีย ก็กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง หลังการเลือกตั้งในเดือนตุลาคม 2023 พร้อมด้วยนโยบายยุติการสนับสนุนทางทหารกับยูเครน และยกเลิกการคว่ำบาตรมอสโก ขณะที่ในฝรั่งเศส ผลการเลือกตั้ง 2 ครั้งแรก ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มารีน เลอ เปง (Marine Le Pen) จากพรรคขวาจัด Rassemblement National (RN) มีแนวโน้มสูงมากที่จะได้รับชัยชนะเหนือเอมมานูแอล มาครง (Emmanuel Macron) ในการเลือกตั้งครั้งที่ 3 ที่จะเกิดขึ้นในปี 2024 

ภาพของพรรคฝ่ายขวาที่ผงาดขึ้นมาทั่วยุโรป อาจรื้อฟื้นความทรงจำถึงการล่มสลายของประชาธิปไตยในยุโรปเมื่อศตวรรษก่อน แต่ทิศทางที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ยังไม่มีสัญญาณว่าฝ่ายอนุรักษนิยมจะผลักดันภูมิภาคนี้และโลกไปในทิศทางนั้นได้ หลักฐานชัดเจนที่ปรากฏในปัจจุบันคือ ฝ่ายขวาสุดโต่งเองก็พยายามจะชูแนวคิดจารีตนิยมให้สามารถอยู่คู่กับประชาธิปไตของโลกสมัยใหม่ได้ 

หลักฐานอีกประการหนึ่งคือ การหันขวาของประเทศต่างๆ ในยุโรป ถูกเรียกว่าเป็นการเดินหน้าสู่ ‘ประชานิยมเอียงขวา’ (right populism) แทนการเรียกว่า ‘ขวาจัด’ หรือ ‘ขวาสุดโต่ง’ (far right) เพื่อแสดงให้เห็นถึงการได้รับความนิยม หรือเสียงสนับสนุนจากประชาชน ซึ่งมีการวิเคราะห์กันว่าเป็นเพราะประชาชนจำนวนไม่น้อยเริ่มรู้สึกไม่ไหวกับการที่ประเทศของตนเองต้องแบกรับปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่วนสำคัญเป็นผลจากการที่เงินภาษีของพวกเขาต้องถูกนำไปแบกรับภาระผู้อพยพลี้ภัย

ผลกระทบที่ค่อนข้างชัดเจนจากการหันขวาสุดโต่งของหลายประเทศในยุโรป คือการเปลี่ยนแปลงในสหภาพยุโรปที่มีแนวโน้มว่าจะมีทางไป 2 ทางคือ หลายประเทศทยอยถอนตัว หรือไม่ก็ร่วมมือกันปรับเปลี่ยนนโยบายให้เอื้อกับแนวคิดอนุรักษนิยมขวาจัดมากขึ้น ผลที่ชัดเจนน่าจะปรากฏในการเลือกตั้งสภาสหภาพยุโรป ช่วงฤดูร้อนปี 2024 ขณะที่ผลกระทบต่อโลกที่มีแนวโน้มชัดเจนคือ ผู้อพยพลี้ภัยอาจไหลทะลักไปสู่ทวีปอื่นๆ มากขึ้น ขณะที่ประชากรมุสลิมในหลายประเทศในยุโรปน่าจะอยู่ในภาวะที่ยากลำบากมากขึ้น 

ทวีปแอฟริกา การล้มของโดมิโนประชาธิปไตยกับการแผ่ขยายอิทธิพลของรัสเซีย

ท่ามกลางการกดดันจากชาติตะวันตก ‘แถบรัฐประหาร’ (Coup Belt) ที่เริ่มก่อตัวขึ้นในปี 2020 ในทวีปแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลาง ยังคงแผ่ขยายต่อเนื่องในปี 2023 เมื่อโดมิโนประชาธิปไตยถูกทหารเดินหน้าล้มกระดานอย่างต่อเนื่อง 

กาบอง (Gabon) เป็นโดมิโนตัวล่าสุดที่ล้มลงในเดือนกันยายน เมื่อทหารยึดอำนาจเพราะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่เพิ่งมีขึ้นในเดือนสิงหาคม ซึ่ง อาลี กองโบ ออนดิมบา (Ali Bongo Ondimba) ได้รับชัยชนะเป็นครั้งที่ 3 แต่ทหารอ้างว่าต้องยุติการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อตัดตอนการสืบทอดอำนาจของตระกูลกองโบที่ปกครองกาบองมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ

ก่อนหน้านั้นเดือนกรกฎาคม ที่ประเทศไนเจอร์ พลเอกอับดูราอามาเน ชีอานี (Gen Abdourahmane Tchiani) ผู้บัญชาการกองกำลังอารักขาประธานาธิบดี ได้ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากประธานาธิบดี โมฮัมเหม็ด บาซูม (Mohamed Bazoum) และแต่งตั้งตนเองเป็นผู้นำประเทศคนใหม่

พลเอกอับดูราอามาเน ชีอานี (Gen Abdourahmane Tchiani)

แถบรัฐประหาร (Coup Belt) เป็นศัพท์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ในทศวรรษ 2020 เพื่ออธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลาง ที่มีความชุกของการทำรัฐประหารสูงกว่าภูมิภาคอื่นของโลก ตั้งแต่เริ่มทศวรรษมามีการรัฐประหารเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้แล้วถึง 9 ครั้ง ใน 7 ประเทศ ได้แก่ มาลี (2 ครั้ง) บูร์กินา ฟาโซ (Burkina Faso) (2 ครั้ง) ชาด (Chad) กินี (Guinea) ซูดาน ไนเจอร์ และกาบอง และยังมีการพยายามรัฐประหารในแกมเบีย และ เซียร์รา ลีโอน (Sierra Leone) อีกด้วย 

การขยายตัวของแถบรัฐประหารในภูมิภาคนี้ ทำให้โลกตะวันตกวิตกโดยเฉพาะฝรั่งเศส ซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาณานิคมของภูมิภาคนี้ เพราะกระทบต่อแนวนโยบายในการควบคุมการขยายตัวของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่ฝรั่งเศสพยายามดำเนินการอยู่ ประเทศต่างๆ ในแถบรัฐประหารหลายประเทศมีกองทัพฝรั่งเศสเข้าไปปฏิบัติการทางทหารร่วมกับกองทัพของประเทศ รวมถึงไนเจอร์ หลังการยึดอำนาจ ภารกิจแรกๆ ที่รัฐบาลทหารของนายพลชีอานีทำคือ ขับไล่ทหารฝรั่งเศสที่เคยร่วมฝึกอบรมกองทัพไนเจอร์ในการต่อต้านกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงให้กลับออกนอกประเทศ

เป็นที่น่าสังเกตว่า รัฐบาลของประเทศต่างๆ ที่ถูกรัฐประหารนั้น เคยมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศตะวันตก จนมีการวิเคราะห์ว่าเป้าหมายที่แท้จริงในการรัฐประหารคือ การต่อต้านอิทธิพลของประเทศตะวันตก 

แถบรัฐประหาร ไม่เพียงทำให้อิทธิพลของชาติตะวันตกในภูมิภาคนี้ลดลง แต่ยังเป็นการเปิดทางให้รัสเซียเข้าไปมีบทบาทแทน 

ภาพของผู้สนับสนุนการรัฐประหารที่พากันตะโกนสรรเสริญ วลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) พร้อมโบกธงชาติรัสเซียวิ่งไปตามถนนในกรุงนีอาเม (Niamey) เมืองหลวงของประเทศไนเจอร์ ภายหลังการทำรัฐประหาร ชวนให้ตั้งคำถามถึงบทบาทของรัสเซียต่อการรัฐประหารในครั้งนี้ ซึ่งแน่นอน ไม่มีคำตอบชัดเจนใดๆ ออกมาทั้งจากฝั่งรัสเซียและฝั่งผู้นำทหารไนเจอร์ มีเพียงรายงานข่าวอย่างไม่เป็นทางการว่า ก่อนจะเกิดรัฐประหารครั้งนี้ ประเทศมาลีแนะนำให้กองทัพไนเจอร์ใช้บริการของทหารรับจ้างแวกเนอร์ (Wagner Group) เพื่อความสะดวกในการทำรัฐประหาร

กลุ่มแวกเนอร์ ทหารรับจ้างของกองทัพรัสเซียเข้าไปมีปฏิบัติการทางการเมืองและทางทหารในหลายประเทศของทวีปแอฟริกามาเป็นเวลานาน ก่อนที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในการรบให้กองทัพรัสเซียในยูเครน ทั้งโดยเปิดเผยและไม่เปิดเผย ขณะที่มาลีและสาธารณรัฐแอฟริกากลางเปิดประเทศให้กับกองกำลังแวกเนอร์เข้าไปมีบทบาทในกองทัพตนเองอย่างเปิดเผย 

อิทธิพลของรัสเซียในทวีปแอฟริกา สามารถเห็นได้ชัดจากการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ สมัยวิสามัญฉุกเฉิน ในวันที่ 2 มีนาคม 2022 เพื่อขอให้ประเทศสมาชิก 193 ประเทศ ร่วมออกเสียงประณามรัสเซียในการใช้กำลังทหารโจมตียูเครน และเรียกร้องให้ถอนทหารออกจายูเครนทันที ซึ่งผลการลงมติมีเพียง 141 ประเทศ ออกเสียงประณาม มี 5 ประเทศ คัดค้าน และอีก 35 ประเทศ งดออกเสียง ในจำนวน 35 ประเทศ มีถึง 17 ประเทศ ที่มาจากทวีปแอฟริกา 

ปี 2023 ยังเป็นปีแรกที่รัสเซียให้การสนับสนุนด้านมนุษยธรรมต่อประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกา ด้วยการส่งธัญพืชให้ฟรีกับ 6 ประเทศในภูมิภาคนี้ วลาดิเมียร์ ปูติน กล่าวอย่างชัดเจนในการประชุมรัสเซีย-แอฟริกาซัมมิต ที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ในเดือนกรกฎาคมปี 2023 ว่ารัสเซียและประเทศต่างๆ ในแอฟริกาจะร่วมกันจัดระเบียบโลกใหม่ เนื่องจากโลกปัจจุบันมีหลายขั้วอำนาจเกินไป 

ไม่มีใครรู้ว่า การเปลี่ยนผ่านของโฉมหน้าโลกที่กำลังดำเนินอยู่นี้จะจบลง หรือถึงจุดเสถียรภาพเมื่อใด จะมีการหันเหทิศทางระหว่างการเปลี่ยนผ่านหรือไม่ และระเบียบใหม่ของโลกจะเกิดขึ้นในแบบที่รัสเซียคาดหวังหรือไม่ ที่แน่ๆ โลกของเราคงยากที่จะเหมือนเดิม เพราะสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงไม่เคยหยุดนิ่ง 

อ้างอิง:

เพ็ญนภา หงษ์ทอง
นักเขียน นักแปลอิสระ อดีตนักข่าวสิ่งแวดล้อม สนใจประเด็นทางสังคม การกดขี่ภายใต้การอ้างความชอบธรรมของกฎ ระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างอำนาจ มีผลงานแปลหลากหลาย อาทิ No Logo โดย นาโอมิ ไคลน์ รวมถึง พระนิพนธ์ขององค์ทะไล ลามะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า