ดุลยภาพ จาตุรงคกุล: โยกซ้ายหรือเอียงขวา ความผันผวนของการเมืองเชิงอุดมการณ์บนโลกปัจจุบัน

เสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อส้ม และชุดลายพราง เป็นเครื่องแบบที่มีอิทธิพลในโลกการเมืองไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหลังการรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2557 ซึ่งน่าสนใจว่า แม้แต่กลุ่มการเมืองที่ดูจะอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยเหมือนกันอย่าง ‘ส้ม’ และ ‘แดง’ ก็โจมตีกันเองตลอดเวลาได้อย่างน่าแปลกใจ

“You can’t barter away the immediate jewel of your soul”

ดุลยภาพ จาตุรงคกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวไว้เมื่อถูกถามเกี่ยวกับการต่อสู้ทางอุดมการณ์ในสังคมไทย โดยเขายกตัวอย่างคำพูดนี้มาจากนักการเมืองและปัญญาชนชาวอังกฤษ ที่เปรียบเทียบอุดมการณ์ของคนแต่ละคนเป็นดั่ง ‘เพชร’ ที่มีค่าทางใจ มนุษย์เราสามารถตกลงซื้อขาย แลกเปลี่ยน ต่อรองกันได้เกือบทุกอย่าง ยกเว้นอุดมการณ์ จึงทำให้ผู้คนต่างอุดมการณ์มักลงเอยด้วยการปะทะกันมากกว่าสยบยอม

“อุดมการณ์แต่ละฝ่ายพยายามสร้างชุดคำอธิบาย สร้าง justification เฉพาะตัว ซึ่งการทำเช่นนั้นทำให้อีกฝั่งผิด ไม่แปลกหรอกที่ฝ่ายซ้ายมองว่าฝ่ายขวาผิด ฝ่ายขวาก็มองว่าฝ่ายซ้ายผิด เราจะเอาอะไรเป็นจุดอ้างอิงล่ะทีนี้ ในเมื่อถ้าเราบอกว่าขวามันผิดในมุมของซ้าย ซ้ายผิดในมุมของขวา”

ดูเหมือนการหาพื้นที่ตรงกลาง (หากตรงกลางมีอยู่จริง) ในประเทศไทยจะยังไม่สามารถสรุปผลได้ง่ายนักว่าอยู่จุดใด แต่การทุ่มเถียงกันระหว่างฝ่ายต่างๆ ในสังคมยังจำเป็นที่จะต้องดำเนินต่อไป ไม่ว่าจะระหว่างฝ่ายซ้ายด้วยกันเอง ฝ่ายขวาด้วยกันเอง หรือระหว่างฝ่ายซ้ายและขวาในสังคมยุคปัจจุบันที่ต้องก้าวไปข้างหน้าเสมอ 

ลองกลับมาทบทวนกันอีกครั้งว่า จริงๆ แล้วฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา และการต่อสู้เชิงอุดมการณ์คืออะไร วลี ‘ซ้ายไทย-ขวาโลก’ เป็นจริงหรือไม่ ปัญหาของการต่อสู้ทั้งหมดคืออะไร หรือท้ายสุดอาจจะต้องกลับไปหาคำอธิบายถึงนิยามกันใหม่ตั้งแต่ต้น 

สังคมไทยปัจจุบันยังคงมีความขัดแย้งทั้งในระดับพรรคการเมืองและระดับมวลชน อยากทราบว่าอุดมการณ์สำคัญอย่างไรต่อจุดยืนและเป้าหมาย ถ้าเห็นต่างกันจะยังจับมือกันได้หรือไม่เพื่อจะก้าวข้ามอุปสรรคเดียวกัน

อุดมการณ์คือกรอบความคิดที่ช่วยทำให้คนสามารถเรียบเรียงความคิด คอนเซปต์ต่างๆ ในหัว ช่วยจัดระบบมัน ให้ความหมายมัน การทำเช่นนั้นจึงทำให้คนคนหนึ่งมีระบบความคิดความเชื่อแบบหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลต่อการให้เหตุผลความชอบธรรมกับสิ่งต่างๆ ที่เขาทำ ไม่ว่าจะในระดับพรรคการเมืองหรือในระดับมวลชน ทำให้เขาอ้างเหตุผลที่มากกว่าเชิงผลประโยชน์ ดังนั้นก็ต้องมองไปถึงตัวอุดมการณ์ เพราะอุดมการณ์เป็นกรอบความคิดอย่างหนึ่งที่สามารถสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำทางการเมืองได้ ไม่ใช่การสร้างขึ้นมาเพื่อหลอกตัวเองหรือหลอกคนอื่น คนที่สมาทานอุดมการณ์เขาเชื่อจริงๆ ว่าสิ่งที่เขาทำถูกต้อง และผ่านการเรียบเรียงความคิดที่ถูกต้องที่สุด จึงยิ่งทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองเข้มข้นและดุเดือดมากขึ้น

หลายคนอาจจะมองว่า พรรคการเมืองต่อสู้กันด้วยอุดมการณ์จริงหรือไม่ ในเมื่อหลายครั้งก็มีการจับมือกันไม่ว่าจะพรรคเล็กพรรคใหญ่ ถ้าหากยึดมั่นในอุดมการณ์จริงๆ แล้วอุดมการณ์ขัดกันจะคุยกันได้อย่างไร เขาก็เลยมองว่า พรรคการเมืองมาจับมือคุยกัน มาประนีประนอมกันได้เพราะว่าพรรคไม่ได้ยึดในอุดมการณ์ขนาดนั้น แต่อาจจะเป็นเรื่องผลประโยชน์มากกว่า เพราะถ้าเป็นเรื่องผลประโยชน์ก็ประนีประนอมกันไม่ยาก

แบบนี้จึงมีคำพูดหนึ่งโดย เอ็ดมันด์ เบิร์ก (Edmund Burke) นักการเมืองและปัญญาชนชาวอังกฤษ ประมาณช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ที่น่าสนใจมาก เขาบอกว่า “You can’t barter away the immediate jewel of your soul” คือ บางสิ่งคุณไม่สามารถแลกเปลี่ยนได้ เรื่องเงินทองหาใหม่ได้เพราะเป็นสิ่งที่วัดได้ด้วยเงินของคุณกับเงินของอีกคน แต่เรื่องของอุดมการณ์เป็นเหมือนเพชรที่ประเมินค่าไม่ได้ การที่เราจะเอาไปแลกกับอีกสิ่งหนึ่งจึงทำไม่ได้ ดังนั้นจะหาวิธีไกล่เกลี่ย หาวิธีคุยกันอย่างไรในเมื่ออุดมการณ์ประนีประนอมกันได้ยากมาก

แบบนี้ทำให้มวลชนรู้สึกว่า พรรคการเมืองเป็นตัวแทนเราจริงๆ หรือไม่ พรรคการเมืองอ้างว่าเป็นตัวแทนเรา เขาอ้างว่าเขาสมาทานอุดมการณ์ต่างๆ โดยที่เขาก็รู้ว่าคนที่เลือกเขาเนี่ย ออกซ้ายบ้าง ออกขวาหน่อย แต่เอาเข้าจริง อ้าว ทำไมไปจับมือกับพรรคตรงกันข้าม สมมุติว่าเราเลือกพรรคที่ออกตัวว่าเขาเป็นพรรคฝ่ายซ้าย สุดท้ายไปจับมือกับฝ่ายขวาเฉยเลย มวลชนก็รู้สึกว่าเขาถูกทรยศ เอาเข้าจริงพรรคการเมืองพวกนี้เห็นความสำคัญของอุดมการณ์จริงๆ หรือไม่ก็ตอบได้ยาก

ผมว่าจริงๆ แล้ว การเมืองของอุดมการณ์ชัดสุดไม่ใช่ในระดับพรรคการเมือง แต่อยู่ที่ระดับมวลชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนคนจำนวนมากได้ แล้วด้วยพลังประชาชนที่ออกมาหลายครั้งก็เป็นพลังที่บริสุทธิ์ ไม่ได้ถูกชักจูง เมื่อมวลชนไม่พอใจมากๆ จนเป็นความโกรธ มวลชนจึงออกมารวมพลังกัน ทั้งที่จะนั่งกินนอนอยู่บ้านก็ได้ ไม่เหมือนกับนักการเมืองที่การออกมาพูด ออกมาแสดงความเห็น เป็นอาชีพของเขาอยู่แล้ว การเมืองระดับมวลชนจึงมีอะไรที่น่าสนใจ เพราะต้องมองไปถึงเรื่องความถูกต้อง ความรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม รวมถึงอุดมการณ์ ซึ่งเป็นเรื่องชัดมากในการเมืองระดับภาคประชาชน

ถ้าแบ่งประเภทอย่างหยาบ โลกนี้มีฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา อยากจะเริ่มที่ฝ่ายขวาก่อนว่า อะไรคือฝ่ายขวา ฝ่ายขวาตกขอบ หรือฝ่ายขวาใหม่

เรื่องการนิยามเป็นอะไรที่ยุ่งเหยิงเสมอ บางครั้งเราต้องถามว่าผู้ถามมีภาพอะไรในหัวก่อนหรือไม่ คำว่า ‘ใหม่’ คือคนรุ่นใหม่ หรือใหม่ในแง่การเปรียบเทียบกับสิ่งเก่า แล้วอะไรคือเก่า คำนี้จึงเป็นคำที่มีความสัมพัทธ์ (relative) สูง ขึ้นอยู่กับคนมองว่าอะไรเก่า และอะไรใหม่โดยปริยาย 

โดยทั่วไป ซึ่งก็เป็นไปตามฉันทามติ (consensus) ในทางวิชาการด้วย ฝ่ายขวาจะให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดและแบ่งลำดับชั้น (stratification) ทางสังคม การจัดลำดับชั้นก็มีหลายรูปแบบ เราอาจจะจัดลำดับชั้นของคนบนฐานจารีตนิยมหรือประเพณีนิยม (traditionalism) ก็ได้ เช่น คนที่ไทยที่สุด ไทยจ๋า ยกย่องเชิดชูจารีตประเพณีและค่านิยมแบบไทยๆ ก็จะได้อยู่ข้างบนสุด มีอำนาจทางการเมืองทางเศรษฐกิจสูงสุดด้วย เคยมีงานศึกษาที่อธิบายไว้ว่าทำไมคนไทยเชื้อสายจีนกับราชวงศ์ไทยถึงเกื้อหนุนและสนิทชิดเชื้อกัน (ทั้งๆ ที่ทั้งสองอาจถูกมองว่ามีรากเหง้าที่ต่างกัน) เพราะความเป็นไทยอาจไม่ได้ยึดอยู่กับความเป็นชาติพันธุ์อย่างเดียวก็ได้ แต่มีตัวชี้วัดแบบอื่นที่ใช้ในการจำแนกความเป็นไทยออกจากความเป็นอื่น ก็เลยทำให้ความเป็นไทยครอบคลุมมากกว่าเรื่องชาติพันธุ์ และเป็นตัวชี้วัดว่าคนคนนี้จะอยู่ตรงไหนในสังคมการเมือง ซึ่งก็จะเป็นการมองแบบประเพณีนิยมอยู่ดี

ถ้ามองแบบเสรีนิยม อันนี้ก็ชวนคิดไม่แพ้กัน คือมีทั้งความเป็นซ้ายและความเป็นขวา พูดอีกแบบคือในสังคมเรามีทั้งเสรีนิยมเฉดขวา เสรีนิยมเฉดซ้าย ขวาเป็นเรื่องของการจัดลำดับชั้น เสรีนิยมที่ออกขวาจะมองว่า การจัดลำดับชั้นทางสังคมเป็นเรื่องที่ทำได้ ถ้าเป็นผลผลิตของความสามารถ ไม่ใช่ว่าคุณเกิดมาในตระกูลที่ไทยนิยมแล้วจะถูกจัดไว้ข้างบนเสมอไป 

เสรีนิยมเฉดขวาจะบอกว่าความแตกต่างในสังคมควรจะเกิดจากความสามารถ จึงเชื่อในระบบตลาดเสรีเพื่อคัดคนชนะและคนแพ้ คนที่ชนะก็จะได้ประโยชน์แล้วขึ้นไปอยู่ข้างบนของสังคม มีตำแหน่งที่ดีกว่า เข้าสู่ที่มาของอำนาจ (sources of power) ได้มากขึ้น ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ ทุน การเมือง หรือการทหารด้วยซ้ำ ทำให้ยากขึ้นสำหรับคนข้างล่างที่จะไต่ขึ้นมา แน่นอนว่า เสรีนิยมในเฉดนี้เขามองว่า ความเหลื่อมล้ำที่เข้มข้นหากสะท้อนความแตกต่างในเชิงความสามารถ ไม่ว่าจะเหลื่อมล้ำขนาดไหนก็ยังโอเค เพราะว่ามีเงื่อนไขที่ ‘แฟร์’ และแม้ว่าคุณเป็นผู้ชนะในวันนี้ แต่คุณก็เป็นผู้แพ้ได้เสมอในวันข้างหน้า ที่สำคัญคือแนวคิดเรื่องเสรีนิยม นอกจากให้ความสำคัญเรื่องสิทธิเสรีภาพ ยังให้ความสำคัญกับเรื่องของปัจเจกนิยม เนื่องจากเชื่อในการพิสูจน์ตัวเองของปัจเจกและการไม่ขึ้นต่อเจตจำนงของผู้อื่นหรือสิ่งอื่น

แต่ถ้าเราพูดถึงฝ่ายซ้าย แน่นอนว่าต้องตรงกันข้าม ถ้าเสรีนิยมแบบขวาๆ พูดถึงเรื่องความสามารถส่วนบุคคล และการจัดลำดับชั้นทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจที่ตามมาโดยปริยาย ฝ่ายซ้ายก็จะเน้นเรื่องความเสมอภาค ซึ่งคำว่า ‘เสมอภาค’ นั้นเป็นคำที่กว้าง ฝ่ายขวาอาจจะอ้างได้ว่าระบบตลาดก็ ‘Free and Fair’ คือเสมอภาคเท่าเทียมกันในการเข้าออกตลาด ไม่มีใครห้ามใครที่จะเข้ามาแข่งขัน แถมยังเท่าเทียมกันในทางกฎหมาย แต่คนที่เป็นฝ่ายซ้ายจริงจะมองว่าความเสมอภาคทางกฎหมายทำให้เราแค่มีเสรีภาพ ซึ่งการมีเสรีภาพตรงนี้ไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่นำไปสู่ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจเสมอไป เพราะฉะนั้นเสรีภาพอาจจะเป็นต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำก็ได้ เลยทำให้ฝ่ายซ้ายมักพูดว่า ความเสมอภาคทางกฎหมายอย่างเดียวไม่พอ และเสรีภาพอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอ แต่ความเสมอภาคต้องมองในแง่ของผลลัพธ์ด้วย

พูดง่ายๆ คือ ฝ่ายซ้ายต้องการให้ระบบตลาดสามารถทำให้มนุษย์ไปสู่สังคมที่คนมีโอกาสเท่ากันจริงในทางเศรษฐกิจ (equality of opportunity) ที่อาจจะพูดได้ว่า หน้าที่ของรัฐต้องเข้ามากระจาย (distribute) ทรัพยากร ในลักษณะที่ทุกคนต้องได้อะไรบางอย่างเท่ากันเป็นพื้นฐาน ไม่ว่าคนนั้นจะเก่งหรือไม่เก่ง ขี้เกียจหรือขยัน ต้องมีบางอย่างที่ทุกคนต้องได้เท่ากันหมด ส่งผลให้เสรีนิยมอย่างเดียวอาจไม่พอ อาจต้องเป็นเสรีนิยมแบบซ้ายๆ ในขณะเดียวกันจุดนี้ก็อาจจะเป็นอะไรที่มากกว่าสิ่งที่เสรีนิยมยอมรับได้ ขึ้นอยู่กับว่าความเสมอภาคที่ว่านี้มันถูกมองว่าส่งผลดีต่อปัจเจกภาพของคนมากน้อยเพียงใด และนี่คือจุดที่โชว์ความเป็นฝ่ายซ้ายในตัวคุณ เพราะว่าคุณให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ ว่าสังคมต้องมีความเสมอภาคขั้นต่ำอะไรบางอย่างทั้งในทางเศรษฐกิจและในทางการเมืองด้วย

คิดแบบฝ่ายซ้าย ต้องให้รัฐคอยอุ้มชูอยู่ตลอดเหรอ จะเกิดอันตรายทางศีลธรรม (moral hazard) หรือไม่ 

เรื่องนี้ ฝ่ายซ้ายจะเถียงว่าของพวกนี้ต้องมาคู่กับคน ไม่ว่าคนคนนั้นจะพิสูจน์ตัวเองขนาดไหน ตราบเท่าที่เขาเป็นคน เขาก็ต้องได้รับบ้าง ยกตัวอย่างเช่น คนพิการเขาก็มีศักดิ์ศรีความเป็นคนของเขา เขาก็ควรได้สวัสดิการบางอย่างแม้เขาอาจจะไม่ productive เท่าคนที่ไม่พิการก็ตาม ฝ่ายซ้ายอาจไปไกลถึงขั้นว่าแม้แต่สัตว์ก็ต้องได้เท่ากับคน ทั้งที่สัตว์อาจจะพิสูจน์ตัวเองอะไรไม่ได้มากก็ได้ อันนี้ก็เป็นวิธีการอธิบายแบบฝ่ายซ้ายที่ทำให้เห็นชัดเจนเลยว่า การให้เหตุผลของฝ่ายขวาอาจจะไม่เวิร์กกับเขาเลย เพราะเขาไม่ได้ให้ค่าอยู่แล้วกับคำอธิบายว่า สวัสดิการบางอย่างจะทำให้คนขี้เกียจ

ประเด็นนี้ก็ส่งผลให้ฝ่ายซ้ายเองมีหลายเฉดนะ คือซ้ายที่ออกเสรีนิยมหน่อยก็จะพูดทำนองว่า สังคมต้องมั่นใจจริงๆ ว่าสวัสดิการที่คนได้รับจะนำไปสู่การพัฒนาจริงๆ และเป็นตัวชี้วัดว่าปัจเจกมีการพัฒนาได้มากน้อยขนาดไหนหลังจากได้รับสวัสดิการของรัฐ เขาก็ต้องมีวิธีในการวัดผล ซึ่งวิชาสังคมสงเคราะห์ก็เกิดมาจากแนวคิดทำนองนี้ พวกนักคิดแบบเสรีนิยมเฉดซ้ายจะมองว่าสุดท้ายสวัสดิการต้องตอบโจทย์ปัจเจก หลังได้รับสวัสดิการของรัฐแล้วก็ต้องให้ผลลัพธ์ต่อศักยภาพของปัจเจกในการแข่งขันด้วย เป็นต้น 

พูดให้ถึงที่สุด เราต้องทำให้เห็นว่า สวัสดิการที่รัฐมอบให้สามารถช่วยให้ปัจเจกมีเสรีภาพมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่เสรีภาพในเชิงกฎหมาย เพราะเสรีภาพในเชิงกฎหมายแบบเต็มพิกัดก็เหมือนกับการบอกว่าคุณสามารถซื้อปราสาทหินพนมรุ้งได้ ในประเทศที่ทุกอย่างเสรี ไม่ใช่แค่กัญชา แต่จริงๆ แล้วผมสามารถเดินไปซื้อตอนนี้เลยได้ไหม ได้และไม่ได้ ได้เพราะว่าไม่มีกฎหมายห้าม แต่ไม่ได้เพราะคนที่มีกำลังซื้อจริงๆ คงต้องเป็นนายทุนใหญ่ เพราะเขาอาจจะมีเงินมากพอ ดังนั้นสิ่งที่จำกัดเสรีภาพจึงไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมาย แต่เป็นเรื่องของข้อจำกัดทางกำลังซื้อและชนชั้นเศรษฐกิจ 

นักคิดเสรีนิยมฝ่ายซ้ายจะมองว่าเราต้องมีรัฐสวัสดิการ เพราะสามารถปลดแอกในทางเศรษฐกิจและสร้างโอกาสให้ปัจเจกได้จริงๆ แต่ถ้าเป็นฝ่ายซ้ายที่ไม่ใช่เสรีนิยมก็จะมองว่าสวัสดิการถูกใช้อย่างถูกต้องแล้วโดยคนที่เขาต้องการมันจริงๆ แต่เขาจะใช้มันอย่างไรไม่สำคัญเท่ากับผลลัพธ์ว่า เขาเท่าเทียมกับคนอื่นมากขึ้นเพราะเขาได้รับสวัสดิการมา

ดูเหมือนฝ่ายซ้ายจะเชื่อมั่นในหลักเสมอภาคและผลลัพธ์ปลายทาง แบบนี้การเป็นฝ่ายขวาผิดหรือไม่

เอาในมุมปรัชญาก่อน นักทฤษฎีการเมืองอย่าง ไอเซยาห์ เบอร์ลิน (Isaiah Berlin) พูดว่าสังคมนิยมก็ชูเสรีภาพแบบหนึ่ง เสรีภาพที่ไม่ใช่แค่การที่เราสามารถทำอะไรก็ได้ในทางกฎหมาย แต่มันสำคัญว่าเราบรรลุศักยภาพอะไรบางอย่างได้แล้วหรือไม่ ให้ความสำคัญว่าคนหนึ่งคนเมื่อเทียบกับคนอื่น เขามีความเสมอภาคหรือยัง ถ้ายังไม่มีความเสมอภาคก็แปลว่าเรายังไม่เสรี เป็นต้น กับแนวคิดแบบที่สองมองว่า เสรีภาพไม่ได้อยู่ที่ว่าจะนำไปสู่ความเสมอภาคได้หรือไม่ เพราะผลลัพธ์ไม่ได้สำคัญ แค่ได้แสดงออกว่าปราศจากสิ่งกีดขวางในการกระทำในสิ่งที่ตัวเองเลือกก็เพียงพอแล้ว

ถึงแม้ว่าสองแนวคิดเรื่องเสรีภาพนี้จะสื่อถึงความเป็นเสรีภาพในรูปแบบที่แตกต่างกัน เบอร์ลินถามว่าแล้วแบบใดดีกว่ากัน หรือจะเทียบกันได้จริงหรือไม่ ต้องบอกว่าทั้งสองอย่างสะท้อนคุณค่าที่เรียกว่า ‘mutually incommensurable’ คือไม่สามารถเทียบกันได้ เพราะสองแนวคิดเรื่องเสรีภาพนี้มีการให้เหตุผล (justification) ที่อิงอุดมการณ์ไม่เหมือนกัน อุดมการณ์แต่ละอันก็พยายามจะสร้างชุดคำอธิบาย สร้าง justification ที่เฉพาะตัว การทำเช่นนั้นจึงทำให้อีกฝั่งผิด ไม่แปลกหรอกที่ฝ่ายซ้ายมองว่าฝ่ายขวาผิด ฝ่ายขวาก็มองว่าฝ่ายซ้ายผิด แล้วเราจะเอาอะไรเป็นจุดอ้างอิง ในเมื่อถ้าเราบอกว่าขวามันผิดในมุมของซ้าย ซ้ายผิดในมุมของขวา 

นักปรัชญาทั้งหลายก็เลยพยายามจะวิพากษ์มุมทางอุดมการณ์ด้วยการบอกว่า ถ้าเราใส่มุมปรัชญาเข้าไปก็สามารถบอกได้ว่าผิดทั้งคู่ แต่เบอร์ลินคิดว่าไม่น่าจะทำได้ สุดท้ายเขาสรุปว่าในเมื่อพูดไม่ได้ว่าฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวาใครถูกกว่ากัน มันเจ๊ากันเหมือนในเกมชักเย่อ โจทย์จึงไม่ใช่ทำอย่างไรให้ชนะ ไม่ใช่การทำอย่างไรให้ฝ่ายหนึ่งได้สิทธิพิเศษ หรือพื้นที่ทางการเมืองมากกว่าอีกฝ่าย แต่คือทำอย่างไรให้สองฝ่ายสามารถผลัดกันแพ้ชนะได้เท่าๆ กันมากกว่า

เบอร์ลินเป็นนักปรัชญาการเมืองชาวอังกฤษที่มีอิทธิพลมหาศาลในช่วงสงครามเย็น แล้วเขาก็วิพากษ์วิจารณ์แนวคิดทั้งซ้ายตกขอบและขวาตกขอบ ซ้ายตกขอบในที่นี้คือสังคมนิยมที่ไม่สมาทานอะไรที่เป็นเสรีนิยมเลย ไม่ยอมรับความหลากหลายเลย ฝ่ายขวาตกขอบก็คือพวกที่ออกไปในเชิงฟาสซิสต์ (fascist) เลย ต้องการจะบงการทุกมิติในชีวิต เบอร์ลินถึงกับเขียนว่า ศัตรูของสังคมเสรีประชาธิปไตยคืออุดมการณ์ซ้ายตกขอบและขวาตกขอบ ดังนั้นเป้าหมายของสังคมที่ดีคือทำอย่างไรให้คุณค่าที่หลากหลายสามารถดำรงอยู่พร้อมกันได้ ไม่ได้ใช้คำว่าอยู่ร่วมกันนะ เพราะมันอาจจะไม่ถูกกัน แต่ต้องสามารถอยู่เคียงกันได้ โดยที่ไม่พยายามมาทำลายกัน

ประเทศอย่างอังกฤษก็ค่อนข้างที่จะโอเคกับสังคมที่มีความหลากหลายเชิงอุดมการณ์ จะเห็นว่าพรรคการเมืองมีเฉดตั้งแต่ขวายันซ้าย แต่สังเกตได้เลยนะว่าฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายต่างไม่ได้ตกขอบ เป็นซ้ายแบบสังคมประชาธิปไตย ซ้ายแบบ ‘social liberalism’ ขณะที่ฝ่ายขวาก็ไม่ใช่ลัทธิฟาสซิสต์แน่นอน อาจจะมีชาตินิยมบ้าง แต่หลายคนออกไปทางเสรีนิยมด้วยซ้ำ 

ถ้ามีความไม่เหมือนกันขนาดนี้ แต่ต้องอยู่เคียงข้างกันให้ได้ จุดร่วมที่จะทำให้อยู่กันแบบนี้ได้คืออะไร

ถ้าจะอยู่ร่วมกันได้ ก็ต้องไม่ได้อยู่ร่วมกันโดยบังเอิญแน่ สมมุติเราพูดถึงแนวร่วมปีกประชาธิปไตยในไทย เราก็ต้องถามจริงๆ ว่าคนที่มาร่วมในการประท้วงปี 2563 ซึ่งหลากหลายมาก พวกเขาเป็นเนื้อเดียวกันขนาดไหน บางคนไม่ชอบประยุทธ์ บางคนก็อาจจะต้องการให้ปฏิรูปสถาบันอีกด้วย แต่เหตุผลในการไม่ชอบประยุทธ์หรือเหตุผลในการปฏิรูปสถาบันอาจจะไม่เหมือนกันเลย เราต้องถามว่า สรุปแล้วพวกเขาอาจไม่ได้มีอุดมการณ์เฉดเดียวกันใช่หรือไม่ แค่มาบรรจบ (converge) กันด้วยความที่พวกเขาต่อต้านประยุทธ์และเห็นความจำเป็นในการปฏิรูปสถาบันไม่มากก็น้อย ถ้าเป็นเช่นนั้นแนวร่วมก็พร้อมที่จะแตกออกเป็นกลุ่มต่อต้านย่อยๆ เสมอ ซึ่งก็เกิดขึ้นแล้ว ผมจึงไม่แปลกใจว่าทำไมกลุ่มราษฎร 2563 ถึงประคองตัวเองได้ลำบาก จริงๆ จุดที่แตกหักมีเยอะ ไม่ใช่แค่เรื่องอุดมการณ์ว่าจะไปซ้ายหรือขวา แต่มีเรื่องเฟมินิสต์ และอะไรอีกมากมาย ทุกวันนี้ก็ยังปะทะทางความคิดกันอยู่

แต่ถ้าดูที่อังกฤษแค่ระดับมวลชน ต่อให้สังคมแตกต่างกันขนาดไหน แต่ก็มีวัฒนธรรมร่วมกันคือระบอบประชาธิปไตย เพราะพวกเขามองว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่สามารถเชื่อมร้อยอุดมการณ์อันหลากหลายให้อยู่ด้วยกันได้ สิ่งที่น่าสนใจคือประชาธิปไตยอาจจะไม่ใช่อุดมการณ์ในตัวมันเองด้วยซ้ำ แต่คือสิ่งที่สามารถทำให้อุดมการณ์ต่างๆ มาเชื่อมอยู่ในแผนภาพเดียวกันได้ คือวิถีประชาธิปไตยไม่ได้มีหน้าที่ทำให้ทุกฝ่ายเป็นเนื้อเดียวกันนะ แต่หน้าที่คือการสร้างพื้นที่ให้เกิดการยอมรับกันและกันบนฐานความแตกต่างเชิงอุดมการณ์

สมมุติคุณเชียร์พรรคแรงงาน (Labor Party) แล้วพรรคคุณแพ้ คุณก็ยอมรับ แต่ถ้าเราพูดถึงประเทศที่พรรคหนึ่งชนะการเลือกตั้งมาเป็นสิบๆ ปี ขณะที่พรรคอื่นไม่มีทางชนะเลย อันนี้เริ่มแปลกแล้ว ทำให้น่าตั้งคำถามว่าสรุปแล้วประชาธิปไตยกำลังเอียงไปในทางใดทางหนึ่งมากเป็นพิเศษหรือเปล่า ปัญหาคือมีอุดมการณ์แบบหนึ่งสามารถที่จะยึดประชาธิปไตยเป็นของตัวเอง แล้วทำให้คนเข้าใจว่าประชาธิปไตยเท่ากับความนิยมนะ เท่ากับประเพณีนิยมแบบไทยนะ หรือเท่ากับเสรีนิยมนะ อันนี้ต่างหากคือปัญหา

ถ้าอย่างนั้นปัญหาจริงๆ คือการเอาประชาธิปไตยไปแปะป้ายว่ามีรูปแบบเดียว?

ถูกต้อง ในเมื่อมันควรจะเป็นค่านิยมร่วมกัน

มีคำหนึ่งที่เห็นในสังคมไทยมากขึ้นในช่วงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ผ่านมา คือคำว่า ‘กลางใหม่’ หรือ neo-centrism จริงๆ แล้วคำนี้คืออะไร

ผมรู้สึกว่าคนพูดพยายามจะบอกว่า ผู้ว่าฯ ชัชชาติไม่ได้ซ้ายอย่างที่คุณคิด ขณะเดียวกันเขาก็ไม่ได้ขวาแบบพลังประชารัฐ ไม่ได้ขวาแบบกลุ่มไทยภักดี หรือสถาบันทิศทางไทย เขาจึงหาคำใหม่ให้กับคุณชัชชาติ อีกคำก็คือ ‘อนุรักษนิยมใหม่’ (neo-conservative) เช่นเดียวกัน ส่วนคำว่า ‘กลางใหม่’ (neo-centrism) มองได้หลายแบบ 

ถ้ามองในเชิงการเมือง คำว่ากลางใหม่นี้จะมองเป็นคำด่าก็ได้ เพราะอาจจะมองว่านี่คือความหมายในเชิงอยู่ตรงกลาง เป็นกลางที่ไม่เหมือนคนเก่าๆ เป็นกลางแบบที่สามารถคุยได้กับทุกฝ่าย ก็เลยมีคนตีความไปว่าคุณไม่ได้ระบุตัวเองว่าอยู่กับฝ่ายประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่คุณพร้อมที่จะประนีประนอมกับฝ่ายที่ไม่เป็นประชาธิปไตยได้ตลอดเวลา อะไรแบบนี้เป็นต้น

แต่ถ้าจะมองคำนี้ในเชิงบวกก็อาจจะมองได้ว่า การที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติอยู่ตรงกลาง แปลว่าเขาเป็นเสรีนิยมแบบใหม่ ไม่ใช่แบบที่เราเห็นใน ‘คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ (กปปส.) หรือแบบกลุ่ม ‘พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย’ (พธม.) เพราะหลายคนที่มารวมตัวในขบวนการพันธมิตรฯ หรือ กปปส. ก็ระบุว่าพวกเขาเป็นเสรีนิยม ซึ่งจริงๆ ในงานวิชาการที่ผมทำเรื่องการปะทะกันในเชิงอุดมการณ์ของมวลชนคนเสื้อแดงกับมวลชนคนเสื้อเหลือง ผมก็พยายามทำให้เห็นเรื่องนี้ให้ชัดเจนด้วยว่า เหตุผลแบบเสรีนิยมในการจับมือกับพวกฝ่ายขวาที่เป็นประเพณีนิยมทำไมจึงเกิดขึ้นได้ ก็ต้องเข้าใจว่าเสรีนิยมพวกนี้ถูกสังคมรังเกียจไปแล้ว เพราะพวกเขาไปสนับสนุนการทำรัฐประหาร แต่คนอย่างผู้ว่าฯ ชัชชาติก็ชัดเจนว่าเขาไม่มีทางเอารัฐประหาร คนจึงมองว่าเขาไม่ได้เป็นเสรีนิยมแบบเสื้อเหลือง เช่นนั้นเขาเป็นเสรีนิยมแบบไหนล่ะ เลยมีคำบัญญัติใหม่ขึ้นมาว่าเขาเป็นกลางใหม่ อนุรักษนิยมใหม่ นีโออะไรก็ว่ากันไป

ผนวกกับในเรื่องที่เขาพูดเรื่องการสร้างรถไฟฟ้า ที่คำอธิบายในเรื่องการจัดสรรงบประมาณถูกบางกลุ่มมองว่า เป็นการอธิบายแบบที่ไปไม่ได้ให้ความสำคัญกับแนวคิดรัฐสวัสดิการเท่าที่ควร บอกว่าผู้ว่าฯ ชัชชาติให้ความสำคัญกับนายทุนมากกว่าอะไรทำนองนี้ ก็เลยเกิดเป็นกระแสในหมู่ฝ่ายซ้ายว่า เฮ้ย หรือเขาก็ไม่ได้สังคมนิยมขนาดนั้นสักหน่อย?

ทั้งหมดข้างต้นคือการต่อสู้กันระหว่างอุดมการณ์ เช่นนั้นอะไรคือสิ่งที่หล่อเลี้ยงอุดมการณ์ให้ยังมีแรงไปต่อได้ 

ถ้าเราแบ่งสังคมออกเป็นแค่ฝ่ายมีผู้อำนาจกับผู้ไม่มีอำนาจ ฝ่ายผู้มีอำนาจตอบง่าย เขาคุมสื่อ คุมเครื่องมือการศึกษา วิธีการหล่อเลี้ยงความเชื่อ อุดมการณ์ ชุดความคิดแบบนี้จึงง่ายมาก ในเมื่อเขามีทรัพยากรมหาศาล เหมือนถูกจัดสรรงบประมาณมาให้ช่วยโปรโมตงานเขาเยอะมาก เลยง่ายมากที่เขาจะได้ประโยชน์และหล่อเลี้ยงตัวอุดมการณ์ที่เขาชู แต่คำถามที่น่าสนใจกว่าก็คือ แล้วคนที่เป็นคนชายขอบหรือฝ่ายถูกกดทับ เขาทำอย่างไร

คือเราต้องเข้าใจว่าในสังคมแบบประเทศไทย เป็นสังคมที่แบ่งเป็นสองเสี่ยงได้จริงๆ ไม่ใช่แค่ในแง่ของสีหรือในแง่ของอุดมการณ์ แต่ในแง่ของการผลิตความรู้ด้วย มวลชนเลยต้องการที่จะสร้างแหล่งผลิตความรู้ของตัวเอง เช่น บางคนก็สร้างสำนักพิมพ์ทางเลือกหรือสำนักข่าว หลายคนก็มองว่ามวลชนก็ต้องมีสำนักข่าวที่เป็นของมวลชน เพื่อมวลชน ไม่ใช่สำนักข่าวที่ได้รับการสนับสนุนเงินมาจากภาครัฐหรือขั้วที่มีอำนาจแล้วก็พูดอะไรมากไม่ได้ 

การทำสำนักข่าวของมวลชน เงินอาจจะไม่เยอะ แต่ถ้าประชาสัมพันธ์ดีๆ คนก็จะอ่านเยอะ แล้วถ้าคนอ่านเป็นลูกชนชั้นนำ คนมีการศึกษา หรือคนมีอำนาจ จนกระทั่งเขาเห็นด้วย ทีนี้ล่ะได้แนวร่วมแน่ๆ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในการเมืองฝรั่งเศสในช่วงก่อนการปฏิวัติเลยนะ เพราะยุคก่อนไม่มี ‘ภาคประชาสังคม’ (civil society) ที่ถูกรองรับโดยรัฐอย่างเป็นทางการ คือไม่มีพื้นที่ที่รัฐมองว่าเป็นพื้นที่เสรีของประชาชน คุณจะไปทำอะไรก็เรื่องของคุณ แต่ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้การสอดส่องดูแลของรัฐ แต่เยอร์เกน ฮาเบอร์มาส (Jürgen Habermas) กล่าวว่า เพราะรัฐไม่สามารถควบคุมความคิดได้และการสอดส่องยากที่จะทั่วถึง พวกปัญญาชนจึงสามารถไปสุมหัวกันตามซาลอน ร้านกาแฟ จึงเกิดเป็นคล้ายๆ ภาคประชาสังคมที่ไม่เป็นทางการขึ้น แล้วอาจมีการเปิดรับคนที่พวกเขารู้สึกว่าเป็นมิตรกับเขาได้เข้าไปฟัง พูดคุย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ กัน ขณะนั้นผู้มีอำนาจบางคน เช่น คนที่รวยที่สุดคนหนึ่งของฝรั่งเศสอย่างหลุยส์ ฟิลิปที่ 2 (Louis Philippe II) ผู้เป็นดยุกแห่งออร์เลอ็อง (Duke of Orléans) ก็เป็นหนึ่งในสมาชิกและแกนนำคนสำคัญของพวกกลุ่มเคลื่อนไหว คล้ายๆ กับคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 

มันเป็นอะไรที่เกิดขึ้นได้ถ้ามีเครือข่ายที่เหนียวแน่น มีการสร้างและสานต่อสิ่งที่ฮาเบอร์มาสเรียกว่าเป็น ‘public sphere’ เป็นอีกปริมณฑลของสังคม ซึ่งทำหน้าที่เป็น ‘ภาคประชาสังคม’ ที่ไม่ได้การรับรองโดยรัฐ ทำให้คนสามารถยึดโยง (identify) กับ sphere นี้มากกว่าส่วนกลางที่รัฐเป็นคนกำหนด พอเกิดอย่างนี้ขึ้นขบวนการเคลื่อนไหวก็จะถูกหล่อเลี้ยงไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ sphere ยังสถิตอยู่ อย่างน้อยก็ใน ‘private fora’ หรือก็คือความคิดส่วนลึกที่ทางการไม่มีทางเข้าถึง  (ภาพยนตร์เรื่อง Silence ของ มาร์ติน สกอร์เซซี ถ่ายทอดประเด็นนี้ได้อย่างทรงพลัง) ถ้าพูดให้ถูกคือ ตราบใดที่คนยังอ่านหนังสือ แล้วสำนักพิมพ์ยังไม่เจ๊ง ก็จะยังสามารถส่งต่อความรู้ให้กันและกัน และตราบใดที่ยังมีมหาวิทยาลัยที่เป็นอิสระอยู่จริงๆ อุดมการณ์ก็จะถูกหล่อเลี้ยงไปเรื่อยๆ และอุดมการณ์พวกนี้จะยิ่งเข้มข้น คนจะยิ่งติดตาม ในยามที่การเมืองเข้าขั้นคับขันประชาชนก็สามารถอิงอุดมการณ์ในการสู้กับรัฐได้ ทำให้กลายเป็นศูนย์รวมของมวลชนได้ พออุดมการณ์เป็นศูนย์รวมของมวลชนแล้ว ไม่ใช่อยู่ที่ตัวแกนนำ ไม่ใช่ผู้นำประชานิยม ไม่ใช่พรรคการเมือง ไม่ใช่สถาบันกษัตริย์ ไม่ใช่ใครที่ไหนเลย แต่เป็นตัวอุดมการณ์เองล้วนๆ อย่างนี้ก็จะตายยาก

พูดถึงการหาแนวร่วมในการปฏิวัติฝรั่งเศส ถ้าทุกอุดมการณ์ต้องการแค่คนที่คิดเหมือนกัน ขณะเดียวกันก็ต้องการหาพรรคพวกเพิ่ม เส้นแบ่งระหว่างการกีดกันและการหาแนวร่วมอยู่ตรงไหนกันแน่ 

ขึ้นอยู่กับว่าเหตุผลในการคัดคนเข้าเป็นไปเพื่อรวมพลังในการสร้างทางเลือกใหม่ให้กับการเมืองที่เป็นอยู่ หรือเป็นแค่การสร้าง ‘กลุ่ม’ (cliche) ทางความคิดใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งมีการจำกัดวงของคนที่เป็นสมาชิกอย่างเห็นได้ชัด ในฝรั่งเศสยุคก่อนการปฏิวัติ คนที่เข้าร่วมขบวนการปฏิวัติก็มีความหลากหลายในเชิงอุดมการณ์ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะคิดตรงกันหรือมีเฉดเดียวกันหมด ภายในขบวนการก็ไม่ได้มีการคัดสรรที่เข้มข้น การที่คุณก็ไม่เอาอำนาจที่กำลังเป็นอยู่ในสังคมคือสิ่งร่วมกันบางๆ ที่คุณอาจมีกับคนอื่นในขบวนการ แน่นอนว่าทุกคนอาจจะวิพากษ์สังคมกันหมด แต่อาจจะวิพากษ์ออกมาไม่เหมือนกัน อาจจะมีทางออก มีคำตอบไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการปฏิวัติจึงเป็นแหล่งรวมของบรรดา cliche ที่หลากหลาย รวมถึงความหลากหลายทางอุดมการณ์ แม้ตอนหลังก็แตกหักกันนะ เพราะตอนแรกพวกเขาเหล่านี้แค่ต้องการจะสร้างทางเลือกใหม่ทางการเมืองขึ้นมา แต่พอโค่นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเสร็จแล้ว แน่นอนว่าพวกเขาก็ต้องสู้กันเองและแย่งชิงความเป็นอำนาจนำเหนือทิศทาง (ทางอุดมการณ์) ของการปฏิวัติ

กลับมาที่การคัดคนเข้า cliche ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่ต่างจากการสร้างแนวร่วม คือในกรณีนี้ก็จะการคัดคนโดยที่ไม่ใช่เพราะเขาต่อต้านสิ่งเดียวกัน แล้วก็ไม่ใช่แค่เพราะเขาเป็นปัญญาชนด้วยกัน แต่บางกลุ่มเขาอาจจะต้องการปักธงทางอุดมการณ์ (ที่เฉพาะของเขา) และสมาชิกที่มีอุดมการณ์แบบเดียวกับเขาจริงๆ ยิ่งในช่วงหลังการปฏิวัติจะชัดเจนเลย เพราะต้องชัดแล้วว่าใครเป็นพวกใครกันแน่ คนที่กลายเป็นศัตรูหลังโค่นศัตรูร่วมกันได้สำเร็จก็อาจเป็นคนที่เคยร่วมกับเรามานี่แหละ มากัดกันเอง เริ่มมีการสร้างวงที่แคบลงเรื่อยๆ มีการคัดคนเข้าออกที่โคตรชัดเลย เพราะว่าเริ่มมีการนิยามการปฏิวัติ นิยามการเมืองใหม่ บนฐานของอุดมการณ์แบบหนึ่งมากขึ้น ซึ่งในที่สุดก็ก่อให้เกิดเป็นสงครามระหว่างอุดมการณ์ใหม่ๆ มากกว่าสงครามระหว่างอำนาจเก่ากับอำนาจใหม่อย่างที่เคยเป็นมา

ที่พูดถึงเมื่อสักครู่นี้คือกรณีฝรั่งเศส แล้วตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในแบบไหน

ผมว่าสองอย่างเลย ควบคู่กันเลยด้วยซ้ำ แล้วจริงๆ รัฐไทยก็ชอบนะ ให้กัดกันเองในแนวร่วม อันนี้ก็ต้องคุยกันอีกยาว ในแง่ของยุทธศาสตร์หรือเรื่องอื่นๆ แต่ในมุมมองของรัฐเขาก็อยากให้แนวร่วมประชาธิปไตยมีการแตกแยกกันจริงๆ การแบ่งแยกแล้วปกครอง (divide and conquer) ก็เป็นกลยุทธ์การปกครองมานานแล้ว และรัฐไทยก็รู้สึกว่าการทำเช่นนี้จะยิ่งทำให้คนศรัทธาในการเคลื่อนไหวน้อยลงด้วย หรืออาจจะรู้สึกสิ้นหวังกับการเคลื่อนไหวมากขึ้น ทำนองนั้น

ดูเหมือนปัญหาการแตกแยกทางอุดมการณ์จะเกิดขึ้นเยอะมากทั้งในประเทศไทยเองและในต่างประเทศ เป็นเพราะอะไร

ถ้ามองในประเทศก่อน จริงๆ ทุกฝ่ายมีปัญหาหมด รัฐก็เหมือนจะเอาตัวเองไม่รอด ฝ่ายขบวนการเคลื่อนไหวก็จะเอาตัวเองไม่รอดเช่นกัน ตอนนี้มีทั้งฝ่ายที่สู้กับรัฐ และภายในฝ่ายนั้นก็สู้กันเองอีกที ไม่ต่างจากฝ่ายที่สนับสนุนรัฐก็มีปัญหาความขัดแย้งภายในเหมือนกัน

ถ้าเรามองปัญหาของฝ่ายซ้ายในไทย ปัญหาหลักอย่างหนึ่งเลยคือ คนไทยยังไม่ค่อยซื้อไอเดียแบบสังคมนิยมจริงๆ อย่างตอนผมไปสอนวิชาอุดมการณ์ทางการเมือง พอสอนเสร็จก็มักถามนักเรียนว่า จากที่ผมพูดมาทั้งหมดนี้คุณชอบแนวคิดใดมากที่สุด เกือบทั้งหมดเลยบอกว่าพวกเขาเป็นเสรีนิยมที่เอารัฐสวัสดิการนะ (ไม่ต้องพูดเรื่องเกลียดประยุทธ์และไม่เอาทหาร) แต่ถ้าจะให้พวกเขาไปถึงขั้นสมาทานความเป็นฝ่ายซ้ายแบบอาจารย์เก่งกิจ (เก่งกิจ กิติเรียงลาภ) พวกเขาคงไม่เอาและอาจจะไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าคืออะไร แนวคิดมาร์กซิสต์สำหรับคนไทยยุคปัจจุบันมันก็ยังคงดูนามธรรมเกินไป แม้ในกลุ่มเยาวชนและวงนักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวจะสนใจศึกษาแนวคิดนี้มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดก็ตาม ซึ่งก็เป็นตลกร้ายนะ เพราะคาร์ล มาร์กซ์ ต้องการทำให้แนวคิดนี้ง่ายต่อการปฏิบัติจริง กลายเป็นว่าอุดมการณ์ฝ่ายซ้าย (ที่ไม่เสรีนิยม) ในสายตาคนไทยส่วนมากกลับดูไกลตัว แต่เสรีนิยมดันเป็นอะไรที่ดูใกล้ตัวและจับต้องได้ที่สุดแล้ว

ในขณะที่เมื่อมองสถานการณ์โลก เราจะเห็นว่าฝ่ายซ้ายมีหลายเฉดมาก มีพวกที่อกหักจากเสรีนิยมแน่ๆ ง่ายๆ เลยคือ การแข่งขันกันในพรรคเดโมแครต สหรัฐฯ เพื่อคัดแคนดิเดตประธานาธิบดี ซึ่งเบอร์นี แซนเดอร์ส (Bernie Sanders) ผู้ท้าชิงจากฝั่งสังคมนนิยม กลายเป็น ‘ทางเลือกใหม่’ และโด่งดังในหมู่คนรุ่นใหม่ที่เบื่อการเมืองแบบเสรีนิยม แต่ก็พ่ายแพ้ให้แก่คู่แข่งอย่างฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) ใน 2016 และต่อมาโจ ไบเดน (Joe Biden) ใน 2020 สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายซ้ายแล้ว หลายคนไม่อยากได้ฮิลลารีหรือไบเดน เพราะมองว่า ‘ไม่ซ้ายพอ’ สุดท้ายด้วยความที่เสรีนิยมประชาธิปไตย (แบบไม่สังคมนิยมหรือรัฐสวัสดิการเลยด้วยซ้ำ) ปักหลักในผืนแผ่นดินอเมริกาได้นานมากตั้งแต่สงครามเย็นหรือก่อนอีก พอสงครามเย็นจบลงเสรีนิยมก็ยิ่งถูกยกขึ้นไปอยู่บนหิ้ง ทุกวันนี้แนวคิดเสรีนิยมจึงมีอำนาจมหาศาลทั้งในสถาบันของรัฐ สถาบันการศึกษา และเกือบทุกพื้นที่ในสังคมตะวันตก แม้แต่ในภาพยนตร์ จะพบว่าหนังแบบฝ่ายซ้ายจริงๆ มีน้อย ต่อให้มีก็เป็นหนังแบบอาร์ตเฮาส์ (art house) 

แล้วแน่นอนว่าเกิดเป็นความซึมเศร้าในบรรดาฝ่ายซ้าย (left-wing melancholia) เกิดความผิดหวัง ทำไมเราถึงไม่ได้รับชัยชนะ ขณะที่ถ้าพูดถึงฝ่ายขวา อันนี้ก็น่าสนใจ เพราะพวกเขาก็ไม่พอใจในเสรีนิยมเช่นกัน คือหลายประเทศในตะวันตกเสรีนิยมถูกมองว่าเป็นบ่อเกิดของปัญหา แต่ในไทยเสรีนิยมเพิ่งจะสถาปนาตัวเองเป็นทางเลือกใหม่ เมื่อไม่นานมานี้เสรีนิยมแบบไทยๆ กับประเพณีนิยมแบบไทยๆ จับมือกันนะ ตั้งขั้วที่เป็นอำนาจรัฐ พอมองคลื่นการประท้วงในปี 2563 กลายเป็นว่ากระแสการเมืองภาคประชาสังคมออกไปทางเสรีนิยมมากกว่าประเพณีนิยม และมีกลุ่มเสรีนิยมมากกว่ากลุ่มสังคมนิยมด้วย ส่งผลให้ฝ่ายซ้ายในไทยมักถูกจำกัดความแบบเสรีนิยมโดยปริยาย จะมีการกัดกันเองเรื่อยๆ 

แต่จุดที่ผมสนใจมากกว่า คือผมไม่เคยมองว่าฝ่ายซ้ายจะทำลายตัวมันเองนะ เพราะไม่ว่าจะยุคไหนฝ่ายซ้ายก็สามารถหาทางเอาตัวรอด ตัวอุดมการณ์ก็ไม่เคยนิ่ง หลายคนอาจมองว่าเป็นเหมือนแบคทีเรีย แต่แบคทีเรียจะยิ่งเจริญพันธุ์ได้ดีในที่คับขัน ผมรู้สึกว่าต่อให้พวกเขาผิดหวังมาขนาดไหน ฝ่ายซ้ายก็ยังอยู่และสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ ทำให้ผมสนใจมากกว่าว่าวันหนึ่งถ้าพวกเขาชนะขึ้นมา จากที่ไม่เคยชนะมาเลยจริงๆ เขาจะทำอะไรต่อ เขาจะไปครอบงำคนที่เคยพยายามครอบงำเขาหรือไม่?

พูดถึงปัญหาไปบ้างแล้ว ทำไมในประเทศไทย การตีตราว่าใครมีอุดมการณ์แบบไหนถึงถูกมองว่าไม่เหมาะสม

เอาจริงๆ การตีตราหรือ label ตัวเองไม่ใช่เรื่องผิดนะ แต่อยู่ที่ว่าเรา label คนอื่นเพราะอะไร เอาง่ายๆ เวลาเราเขียนงานวิชาการ เราก็ต้องจำแนกให้ชัดเจนว่าเราพูดอะไรอยู่ คำที่เราพูดจริงๆ แล้วหมายถึงอะไร ดังนั้นการให้ความชัดเจนจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่งั้นจะยากมากที่จะคุยกันให้รู้เรื่อง เป็นเรื่องที่ควรทำด้วยซ้ำ แต่ถ้าเรา label ในเชิงลบก็ต้องดูอีกทีว่าทำไปเพราะอะไร เหตุผลชอบธรรมหรือไม่ ถ้าไม่ก็จะสร้างปัญหามากพอสมควรเลย เพราะคือการแสดงท่าทีว่าอุดมการณ์นี้เป็นอุดมการณ์ที่ไม่อยากอยู่ร่วมกับอุดมการณ์อื่น ก็เลยไปนิยามเขาในเชิงลบ คุณต้องมีเหตุผลสนับสนุนมากพอนะ

คุณอาจนิยามเพื่อให้ตัวเองดูดี ซึ่งถ้าทำแบบนี้รัฐจะชอบ เพราะทำให้มวลชนแตกกันเอง ไม่ทำให้เกิดบทสนทนา แต่ทำให้เกิดการแยกกลุ่มเขากลุ่มเรา ดีไม่ดีจะเป็นการผลักบางกลุ่มให้ไปอยู่กับรัฐด้วยซ้ำ อันนี้ก็มีกรณีนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยคนหนึ่ง ขอไม่พูดว่าใคร ตอนนี้ไปปรากฏอยู่ในพวกสื่อฝ่ายขวา เรื่องเป็นมาอย่างไรผมไม่แน่ใจ แต่ก็สามารถเกิดได้กับทุกคน 

แต่ผมขอยืนกรานเรื่องที่เราต้องชัดเจนมากๆ ว่าเรามีอุดมการณ์แบบไหน ไม่ใช่เพื่อให้เราสามารถกำจัดกันและกันได้ง่ายขึ้น แต่เพื่อให้เราคุยกันรู้เรื่อง จัดการความแตกต่าง และอยู่ร่วมกันได้ 

ตอนนี้สงครามทางความคิดระหว่างฝ่ายซ้ายและขวาในไทยเป็นอย่างไร

ตอนนี้รู้สึกว่าไม่ใช่ฝ่ายซ้ายแบบเพียวๆ แต่เป็นเสรีนิยมมากกว่า เสรีนิยมที่ดึงดูดทั้งเสื้อเหลืองเก่ากับเสรีนิยมแบบใหม่ คือพวกเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาเป็นอำนาจนำในมวลชนเพื่อต่อสู้กับทหาร สู้กับอนุรักษนิยมเก่า เพราะฉะนั้นสงครามด้านอุดมการณ์ น่าจะเป็นระหว่างกลุ่มเสรีนิยมอันหลากหลาย กับฝ่ายขวาแบบตกขอบมากกว่า แต่คำถามคือเมื่อเป็นเช่นนี้ กลุ่มที่ไม่เป็นเสรีนิยมจ๋าอย่างกลุ่มสังคมนิยมในแนวร่วมประชาธิปไตย พวกเขาจะวางตัวอย่างไร เขาจะมาหาเรื่องกับเสรีนิยมมากกว่ามาหาเรื่องกับรัฐอนุรักษนิยม หรือทำสงครามสองฝั่ง (2-front war) ไปเลย แต่เท่าที่เห็นตอนนี้ยังไม่ชัดเจน 

แล้วตอนนี้ไม่ได้มีแค่ซ้าย ขวา กลาง หรือเสรีนิยมเฉดต่างๆ แต่ยังมีประเด็นเรื่องเฟมินิสต์กับแมนนิมิสต์ที่ผมว่าอีกสัก 2 ปี ก็น่าจะยังตีกันไม่หยุดหย่อน อาจจะซับซ้อนกว่าเหลืองแดงอีก คือรอยร้าวมันเยอะมากในแนวร่วม และถ้าไม่มีการตกลงกันได้ว่ากลุ่มไหนควรมีอำนาจนำ หรือกลุ่มนี้ยังยอมรับความหลากหลายไม่ได้ ยังไงรัฐก็ได้ประโยชน์

อาจารย์เรียกแนวร่วมฝั่งรัฐว่าเป็นกลุ่มอนุรักษนิยมเก่า หมายความว่าเขาเป็น conservative หรือมีความแตกต่างอย่างไร

ที่ผมเรียกว่าอนุรักษนิยมเก่า เพื่อให้เห็นว่าอนุรักษนิยมใหม่อาจจะเป็นแบบที่เขาก็ยังรักสถาบันฯ อยู่ แต่เขาก็ไม่เอารัฐประหารแล้ว แล้วก็ไม่เอามาตรา 112 ด้วย เพราะเขามองว่ามาตรานี้เป็นภัยต่อสถาบันฯ มากกว่า ขณะที่อนุรักษนิยมเก่าคือวิธีคิดแบบจารีตนิยมสุดโต่ง มองว่าสถาบันฯ ต้องอยู่บนหิ้ง แตะต้องไม่ได้ อยู่เหนือการเมืองในความหมายที่ว่าไม่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญด้วย

แต่คนรุ่นใหม่ที่นิยามตัวเองว่าเป็นอนุรักษนิยมจะมองว่า สถาบันฯ ควรอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และประชาชนไทยก็ควรที่จะตกลงกันว่ากษัตริย์สำคัญอย่างไร แต่เราจะไปบังคับคนอื่นไม่ได้ว่าเราต้องจำเป็นมี ตรงนี้พวกเขาก็เข้าใจว่าอยู่ที่เจตจำนงของประชาชน

ปัญหาทางเศรษฐกิจส่งผลกับการต่อสู้ทางอุดมการณ์ด้วยไหม โดยเฉพาะหลังวิกฤตโควิด-19

เราต้องเข้าใจว่าอุดมการณ์ต่างๆ ก็พยายามจะไปสร้างความหมาย ความชอบธรรมให้กับคำอธิบายและแนวทางการรับมือต่างๆ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในทางเศรษฐกิจด้วย อย่างเรื่องโควิด-19 ที่ทำให้เห็นว่ามีการผูกขาดวัคซีน ก็มีการอธิบายแบบสังคมนิยมแล้วว่าเป็นผลของทุนนิยม จะอธิบายทุกอย่างบนฐานคิดที่ว่าทุนนิยมคือบ่อเกิดของปัญหา แต่เสรีนิยมอาจจะมองว่าทุนนิยมไม่ใช่ตัวปัญหาหรอก แต่เป็นนายทุนบางกลุ่มที่ทำตัวไม่แฟร์มากกว่า คือไม่ได้ยึดระบบตลาดเสรีจริงๆ ทุนนิยมในตัวมันเองอาจไม่ได้แย่อย่างที่คิด แต่ว่ามีคนที่ทำให้ทุนนิยมดูแย่มากกว่า นั่นแหละปัญหา และพวกเขาก็อาจจะไม่ได้อินเรื่องรัฐสวัสดิการด้วยซ้ำ

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นจากโควิด การจัดการวัคซีน วิธีการอธิบายก็ต่างกันแล้ว แน่นอนว่าผลพวงต่างๆ รวมถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากโควิด-19 ในแง่อุดมการณ์ก็จะมีคำอธิบายที่ต่างกัน 

แต่ก็มีนะครับกรณีที่อาจจะทำให้คนหมดศรัทธาในอุดมการณ์ของตัวเองมากขึ้น ตัวอย่างที่ชัดมากคือ Great Depression เพราะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่แย่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษย์เลยก็ว่าได้ ผลที่ตามมาคือคนเริ่มขาดศรัทธาในอุดมการณ์แบบเสรีนิยมที่กำลังเรืองอำนาจมากในขณะนั้น จึงไม่แปลกว่าทำไมคนถึงแห่ไปสมาทานอุดมการณ์อย่างสังคมนิยมหรือไม่ก็ฟาสซิสม์ไปเลย ฮิตเลอร์ก็ขึ้นมาสู่อำนาจได้เพราะเหตุการณ์ทำนองนี้แหละ

คิดอย่างไรกับคำกล่าวที่ว่า There is no alternative 

ที่มาของคำพูดนี้คือการบอกว่า ไม่ว่าคุณจะพยายามเถียงกับทุนนิยมขนาดไหน ไม่ว่าคุณจะสมาทานอุดมการณ์แบบไหน แต่คุณก็ต้องปรับอุดมการณ์ของคุณให้เข้ากับทุนนิยม เหมือนนักสังคมนิยมที่อาจจะเคยเข้าป่า เขาอาจคิดว่าละทิ้งทุนนิยมแบบที่เคยทำไม่ได้แล้ว เขาเลยต้องผันตัวไปเป็นนักสังคมนิยมแบบเสรีนิยม (liberal socialism) แทน มันยากมากเลยนะที่จะสร้างทางเลือกใหม่ที่ไม่ใช่ทุนนิยม แต่ถ้าเป็น ‘There is no alternative to neoliberalism’ หรือ เสรีนิยมใหม่แทน อันนี้ผมคิดว่า controversial กว่าเยอะ งานเขียนที่ต่อต้านเสรีนิยมใหม่ก็มีมาสักพักแล้วและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา เวลาอ่านงานวิชาการแม้ว่าทฤษฎีจะแทบไม่เห็นตรงกันเลย เห็นตรงกันแค่เรื่องไม่เอาเสรีนิยมใหม่ เพราะเสรีนิยมใหม่ถูกมองว่าต้องการเข้ามากำกับทุกอย่างให้เป็นวัตถุทางการค้าอะไรบางอย่าง ซึ่งก็เหมือนเป็นการลดทอนคุณค่าของคน และอุดมการณ์ที่คนสมาทานด้วย พูดง่ายๆ คือมันก็ขวาจนตกขอบนั่นแหละ

สุดท้ายเราจะเห็นว่า หลายอุดมการณ์พยายามทำให้ทุนนิยมไม่ไปจับคู่กับเสรีนิยมใหม่ แต่ไม่ได้บอกว่าไม่ควรมีทุนนิยม พวกเขาต้องการจะบอกว่า ‘There is an alternative to neoliberalism and that is non-neoliberal capitalism, because there is really no alternative to capitalism’ อันนี้คือสิ่งที่ผมเห็นมากกว่า ซึ่งงานที่เป็นเสรีนิยมใหม่จริงๆ มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ 

อีกอย่างก็คือว่า มีการโยงเสรีนิยมใหม่กับระบอบประยุทธ์และพวกพรรคพลังประชารัฐด้วย คืออย่างเรื่อง CP (กลุุ่มเจริญโภคภัณฑ์) ซึ่งรัฐต้องเข้ามาควบคุมกว่านี้แต่กลับปล่อย ส่งผลให้เกิดทุนนิยมที่เหลื่อมล้ำ หรือที่เรียกว่า hierarchical capitalism เห็นได้จากงานของอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ และอาจารย์วีระยุทธ์ กาญจน์ชูฉัตร ในด้านอุดมการณ์เราจึงเห็นว่าการต้านเผด็จการไม่ใช่แค่การต้านรัฐประหาร แต่เป็นการต้านระบบทุนนิยมที่มีเฉดไปในทางเสรีนิยมใหม่อีกด้วย

ในประเทศไทย เท่าที่มีกระแสมวลชนมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา จะมีข้อถกเถียงกันมาก เช่น สันติวิธี ความรุนแรง วิธีการต่อสู้ ถ้ามองในแง่อุดมการณ์แล้ว ยังจำเป็นต้องเถียงเรื่องแบบนี้กันไหม

จริงๆ ผมว่าปัญหาของหลายอุดมการณ์คือ ไม่ค่อยมีความชัดเจนเรื่องนี้ สันติวิธี ความรุนแรง แต่แน่นอนว่าจะมีบางอุดมการณ์ที่พูดชัดเจนอย่างเสรีนิยม ซึ่งโดยธรรมชาติของเสรีนิยมก็เป็นอุดมการณ์ที่รักเรื่องสันติภาพ มองว่าความแตกต่างหลากหลาย (ถ้าจะมีได้) ต้องไม่ลงเอยที่การฆ่าฟัน คนที่เป็นเสรีนิยมจึงรังเกียจความขัดแย้ง ความรุนแรง ในขณะที่พวกอุดมการณ์อื่นก็อาจจะเกิดอาการหมั่นไส้เสรีนิยมก็ได้ คืออุดมการณ์อื่นอาจจะไม่สมาทานความรุนแรงก็ได้ แต่ด้วยเหตุผลอะไรบางอย่างทำให้การมองโลกแบบเสรีนิยมอาจจะสวยเกินกว่าที่เราจะปฏิเสธความรุนแรงหรือความขัดแย้งไปได้

แต่อย่างที่พูด หลายอุดมการณ์ไม่ได้ชัดเจนเรื่องนี้ อย่างสังคมนิยมก็มีหลายมุมมองต่อประเด็นนี้ ถ้าเรามองสังคมนิยมแบบเลนิน เขาก็จะมีแนวทางการปฏิวัติที่ไม่ได้สันติวิธีนะ แต่ขณะเดียวกันก็มีแนวคิดแบบพวกมาร์กซิสต์ใหม่ (neo-Marxism) ผมก็รู้สึกว่าพวกเขาค่อนข้างจะไม่เอาความรุนแรง ที่จริงคือเขาไม่เอาเรื่องที่เป็นอำนาจแนวดิ่ง เพราะมองว่าความรุนแรงกับสงครามจะไปบ่มเพาะแนวคิดที่อิงกับอำนาจแนวดิ่ง เขาจึงไม่อยากที่จะปลูกฝังค่านิยมแบบนี้ เขาอยากให้คนสามารถที่จะเปลี่ยนผ่าน สามารถปฏิวัติแบบที่เราใช้ความรักมากกว่า เราจะเชื่อไม่เชื่อก็ได้ แต่ก็มีคนเสนอจริงๆ เรื่องการใช้ความรักปฏิวัติ

ทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา คนตัวเล็กตัวน้อยมักจะถูกช่วงชิงไปโดยฝ่ายขวามากขึ้น ในไทยจะทำอย่างไรเพื่อป้องกันลักษณะดังกล่าว

ที่ยกขึ้นมาถามคือในสหรัฐฯ ยุค โดนัล ทรัมป์ ใช่ไหม คือคนตัวเล็กตัวน้อยในที่นี้เขารู้สึกเสียเปรียบจากระบบ จากวิธีคิดแบบเสรีนิยม ทั้งในแง่การเมืองและในแง่ของระบบเศรษฐกิจ เอาง่ายๆ เลยอย่างการเปิดประเทศให้ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียเข้ามา เขามองว่าคือการแย่งงานเขา ไปแย่งงาน ‘the average white working class American’ และเขาก็รู้สึกว่าทำไมเขาถึงไม่ได้สิทธิก่อน ทำไมถึงต้องไปมีวิธีคิดที่เป็นโลกนิยมเหลือเกิน ทำไมต้องไปโอบรับความหลากหลายที่เป็นอื่นจากพวกเขา คนตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งเป็นฝ่ายเสียเปรียบและต้องแบกรับภาระการใช้จ่ายที่รัฐต้องเสียให้กับคนกลุ่มนี้อีก 

เขาตัวเล็กก็จริง แต่เขามีจำนวนเยอะ ก็เลยเลือกทรัมป์เข้ามาได้ แต่สิ่งที่เราเห็นแน่ๆ ก็คือความไม่พอใจที่มีต่อเสรีนิยม ไม่ใช่ต่ออนุรักษนิยมแบบในไทย ตรงกันข้าม ไม่มีอะไรที่อนุรักษนิยมไปกว่าท่าทีและอุดมการณ์ของคนตัวเล็กๆ พวกนี้แล้ว การรุกคืบของคนอย่างทรัมป์จึงสะท้อนการเมืองที่หันขวา ขวาแบบชาตินิยมสุดโต่งหรือ ‘white supremacy’ 

ล่าสุดสวีเดนก็กลายเป็นอีกประเทศที่หันขวา หลังจากที่กลุ่มพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายครองอำนาจนำมาอย่างยาวนาน กลุ่มพรรคฝ่ายขวาได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ อันเนื่องจากความไม่พอใจต่อการรับผู้ลี้ภัยเข้ามาในประเทศ จนกระทั่งเฉือนชนะฝ่ายซ้ายในการเลือกตั้งทั่วไปอย่างหวุดหวิดและได้เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล

ในไทยอาจจะเทียบยาก เพราะว่าอำนาจนำของไทยในตอนนี้ ไม่ใช่เสรีนิยมเท่าไหร่ ขณะที่อำนาจนำในหมู่มวลชนต้านเผด็จการออกไปทางเสรีนิยมมากกว่า กลายเป็นว่าในอเมริกากลุ่มที่เดิมทีถูกผลักออกไปจากการถือครองอำนาจนำเป็นฝ่ายขวาตกขอบ แต่ในประเทศไทยคนที่ถูกผลักออกไปคือฝ่ายเสรีนิยม ไม่ว่าจะเฉดซ้ายหรือขวา คนพวกนี้กลายเป็นพวกคนตัวเล็กตัวน้อยแทน

มีคำกล่าวหนึ่งคือ ‘ซ้ายไทย-ขวาโลก’ จริงๆ แล้วคืออะไรกันแน่

คำว่าโลกในที่นี้คงหมายถึงการนิยามและเข้าใจซ้ายและขวาแบบ ‘สากล’ โดยอิงกับตะวันตก คือเราอาจจะรู้สึกว่าฝ่ายซ้ายในไทยเมื่อนำไปเทียบกับฝ่ายซ้ายในตะวันตก เขาอาจจะดูขวาไปเลย แต่การพูดแบบนี้เป็นการมองในเชิง relative ที่ต้องเอาไปเทียบก่อนถึงพูดได้ แต่ถ้ามองในเชิง absolute ก็ต้องมานั่งตกลงอีกทีว่า คนที่เป็นซ้ายไทย-ขวาโลก เอาเข้าจริงแล้ว เขามีความเป็นซ้ายอย่างไร

เอาง่ายๆ คนเสื้อแดงที่อาจจะถูกมองว่าเป็นซ้ายไทย-ขวาโลก ผมรู้สึกว่า เราสามารถมองว่าพวกเขาเป็นฝ่ายซ้ายแบบหลวมๆ ได้ คือถ้ายึดการ prioritize เรื่องความเสมอภาคเป็นนิยามขั้นพื้นฐาน พวกเขาก็เป็นซ้ายแน่นอน แต่พวกเขาไม่ได้ซ้ายในแบบที่หลายคนมองว่าซ้าย เอาจริงๆ หลายคนเข้าใจผิดด้วยซ้ำว่าซ้ายเท่ากับสังคมนิยม ไม่ใช่ ซ้ายเท่ากับเสมอภาคนิยม (egalitarianism) ต่างหากถ้ามองแบบหลวมๆ แต่ที่ผมพูดถึงทั้งสองอย่าง คือเสมอภาคนิยมกับซ้ายสลับกันก็เพื่อทำให้มันง่าย แต่ข้อเท็จจริงมันไม่ง่ายอย่างนั้นหรอก 

เมื่อเราพูดถึงคนเสื้อแดง เขาให้ความสำคัญกับเรื่องความเสมอภาค อาจจะมากกว่าเรื่องเสรีภาพด้วยซ้ำ คือเขาอาจจะไม่ได้สนใจว่าระบอบทักษิณมีความเสรีหรือไม่ แต่ที่เขาสนใจคือ ทักษิณทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นและสังคมมีความเสมอภาคมากขึ้นหรือไม่ อีกทั้งเมื่อเทียบกับปัจจุบัน เขารู้สึกว่าตนเองมีสิทธิมีเสียงในทางการเมืองมากกว่าในตอนนั้น กล่าวได้ว่า มีความเสมอภาคทางการเมือง เพียงแต่ว่าพวกเขาอาจไม่ได้เป็นเสรีนิยม และไม่ได้ถึงขั้นที่จะสมาทานสังคมนิยม ทักษิณเองก็เป็นนายทุนและระบอบของเขาก็เป็นทุนนิยมแบบหนึ่ง เห็นได้ว่าเรื่องมันซับซ้อน แต่ผมก็ยังมองว่ามวลชนคนเสื้อแดงมีความเป็นฝ่ายซ้าย (แบบ absolute) อยู่

เพราะฉะนั้น คำว่า ‘ขวาโลก’ อาจจะเป็นคำที่แคบไป คือกลายเป็นว่าเรามองซ้ายโลกกับขวาโลกแคบมากเลย เรามองว่าซ้ายโลกเท่ากับสังคมนิยม แล้วขวาโลกคือเท่ากับอะไรที่ไม่ใช่สังคมนิยม ซึ่งผิด และเป็นการมองที่หยาบมาก

พูดถึงเรื่อง Woke สักหน่อย สมัยก่อนฝ่ายซ้ายมักก้าวข้ามไปพูดเรื่องชนชั้นเลย ขณะที่ทางฝ่ายขวาก็ไม่ได้สนใจเรื่องการเมืองอัตลักษณ์ พอกระแส Woke มาถึงก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากหลายฝ่าย จริงๆ แล้วกระแสนี้อยู่ตรงไหนในสนามอุดมการณ์

กระแส Woke มาจากอุดมการณ์แบบเสรีนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ เป็นเหมือนอีก phase หนึ่งของเสรีนิยมก็ว่าได้ที่อาศัยการ ‘ตื่น’ รู้ทางปัญญาโดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการเมืองเชิงอัตลักษณ์เป็น moral high ground ในการ cancel หรือ shutdown ผู้ที่เห็นต่างจากเขา เป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวายิ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อเสรีนิยมที่เป็นอยู่ คุณเข้าใจถูกว่าฝ่ายซ้ายจะมองในเรื่องของชนชั้นมากกว่าการเคลื่อนไหวในเชิงอัตลักษณ์อันหลากหลายหรือที่เรียกว่า ‘New Social Movement’ เห็นได้ว่า วิธีคิดแบบฝ่ายซ้ายนั้นเป็นวิธีคิดที่เน้นเรื่องชนชั้นและการต่อสู้เชิงชนชั้นเพื่อให้สังคมเสมอภาคขึ้น ซึ่งอาจไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องความหลากหลายเชิงอัตลักษณ์ที่ไม่สามารถอธิบายผ่านชนชั้นได้

แต่ถ้าผมพูดแบบนี้ฝ่ายซ้ายก็อาจจะโต้ผมกลับว่า “อ้าว แต่เราก็เชิดชูเรื่องความหลากหลายนะ” ผมก็ต้องตอบกลับว่า ความหลากหลายของคุณยังไงก็วางบนเงื่อนไขทางชนชั้นอยู่ดี แล้วคุณที่เป็นฝ่ายซ้ายจะอธิบายให้คนที่ไม่ยึดเรื่องชนชั้นเลยฟังได้ยังไง คุณพร้อมจะโอบรับความแตกต่างที่ว่านี้ด้วยไหมหากโน้มน้าวเขาไม่สำเร็จ สุดท้ายฝ่ายซ้ายที่ระแวงเสรีนิยมจะมีพฤติกรรมคล้ายกับพวก Woke หรือไม่? นี่เลยอาจเป็นการตอกย้ำความขัดแย้งขั้นรุนแรง ระหว่างสังคมนิยมกับเสรีนิยม การเกิดขึ้นของการเมืองเชิงอัตลักษณ์เลยสะท้อนภาวะตึงเครียดขึ้นระหว่างกลุ่ม Woke และกลุ่มที่ออกไปทางซ้ายๆ เลย อันนี้ยังไม่พูดถึงพวกฝ่ายขวานะ ซึ่งพวกนี้ก็มีปัญหากับทั้งสองกลุ่มอยู่แล้ว

ฝ่ายขวาเดิมทีเริ่มมาจากการระแวงความเปลี่ยนแปลง ทีนี้เขาก็ระแวงชนชั้นล่าง หรือมวลชนที่ในหัวมีแต่การปฏิวัติ อะไรก็จะปฏิวัติ จะลุกฮือ จนทำให้เลือดเต็มถนนอาจจะพูดได้ว่าเดิมทีฝ่ายขวามีปัญหากับเรื่องปฏิวัติ มีปัญหากับฝ่ายซ้าย ซึ่งต้องการสั่นคลอนโครงสร้างอำนาจที่เป็นอยู่ แต่ตอนหลังฝ่ายขวาในยุคโลกาภิวัตน์ก็เปลี่ยนไป กลายเป็นว่ามวลชนฝ่ายขวาไม่ได้ต่างอะไรกับมวลชนที่ตัวเองเคยด่า เห็นได้จากการใช้อารมณ์ ความโกรธ ในการขับเคลื่อน การสาดโคลนในการโจมตีพวก Woke สุดท้ายกลายเป็นว่าพวกเขามีแนวโน้มร่วมกับพวกสังคมนิยมในการโจมตีพวก Woke ด้วยซ้ำ

อันนี้คือสิ่งที่เรากำลังเห็นอยู่ในโลก ถามว่าดีหรือไม่ดี ผมว่าข้อดีของ Woke กับการเมืองเชิงอัตลักษณ์คือมันทำให้เห็นการขีดเส้นแบ่งเชิงอุดมการณ์ชัดดี แต่ถามว่ามันน่ากลัวไหมก็น่ากลัว เพราะอย่างคำว่า Woke นี่กลายเป็นคำที่มีนัยในเชิงลบไปแล้ว หวนกลับไปสู่เรื่องที่เราพูดกันเรื่องการ label คน คือผมก็รู้สึกว่า ตอนนี้การ label เป็นการสร้างมิตรและศัตรูอย่างชัดเจน ผลที่ตามมาคือการมองเรื่องการเมืองบนฐานของอุดมการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน พอมันต่างกันมาก การเมืองจะกลายเป็นอำนาจแนวดิ่งมากกว่าแนวระนาบที่มีไว้เชื่อมร้อยผู้คนและอุดดมการณ์อันหลากหลายได้ 

ผมจะย้ำเสมอว่า อย่างน้อยที่สุดเราต้องทำให้คนพวกนี้มีความเข้าใจเรื่องการเมืองตรงกัน เป็นการเมืองแบบ ‘ประชาธิปไตย’ คือเราต้องมองว่าการเมืองที่เชื่อมร้อยคนที่แตกต่างได้คือประชาธิปไตย เพราะอย่างที่ผมได้เกริ่นไปก่อนหน้านี้แล้วประชาธิปไตยไม่ได้เป็นอุดมการณ์ในตัวมันเองในแง่ที่ว่าความชอบธรรมของมันมักมาจากอุดมการณ์ต่างๆ ที่เข้ามาให้ความหมายมันที่จำเพาะอีกที ประชาธิปไตยจึงเป็นพื้นที่ตรงกลางเพื่อที่จะให้คนต่างกลุ่มเข้ามาแข่งขันและช่วงชิงความเป็นใหญ่โดยต้องไม่มีผู้ชนะที่ถาวร ผ่านสิ่งที่เรียกว่าการเข้าใจการเมืองแบบประชาธิปไตยร่วมกัน

แต่นั่นไม่ได้แปลว่า สิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยจะหมายถึงอะไรก็ได้นะ เพราะจริงๆ แล้วมันก็มีนิยามที่เฉพาะของมันแม้จะเป็นนิยามขั้นต่ำที่กว้าง (vague minimal definition) ก็ตาม คือต้องหมายถึงกิจกรรม การกระทำ หรือความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ให้ความเคารพเรื่องความแตกต่างหลากหลาย ทุกฝ่ายไม่ว่าจะอุดมการณ์แบบไหนสามารถมีสิทธิ์มีเสียงในการกำหนดกฎกติกาทางการเมืองเท่ากัน เพราะหากการเมืองถูกผูกขาด (monopolized) ในทางความหมายโดยอุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นคนที่สมาทานอุดมการณ์เสรีนิยมหรือสังคมนิยม จะน่ากลัวมาก เพราะทำให้อีกฝ่ายไม่มีพื้นที่ในทางการเมืองเลย คนที่จะเลือกนิยามทางการเมืองในเชิงชนชั้นเป็นต้น เขาก็อาจจะไม่มีพื้นที่ให้กับคนที่มองการเมืองผ่านกรอบของเพศสภาพ (gender) เป็นหลักเพราะอาจถูกมองว่าเบี่ยงประเด็น ในทางกลับกันคนที่มองทุกอย่างผ่านกรอบของเพศสภาพก็อาจไม่เหลือพื้นที่ให้คนที่มองผ่ากรอบชนชั้น เพราะฉะนั้นการเมืองต้องไม่ถูกผูกขาดโดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง 

คิดว่าถึงปัจจุบันนี้ทั้งในไทยและทั่วโลกยังมีที่ว่างพอให้เกิดอุดมการณ์ใหม่ๆ อยู่ไหม

ผมว่ามีแน่นอน เพราะอัตลักษณ์ใหม่ๆ ผุดขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ หลายปีก่อนคนก็คงไม่คิดหรอกว่า อยู่ดีๆ เรื่องเพศสภาพจะเป็นเรื่องที่พูดถึงในวงกว้าง แล้วผู้คนจะมีการระบุตัวเองบนฐานของเพศมากขึ้นขนาดนี้ ผมรู้สึกว่าการมองความเป็นไปได้ต่างๆ ทางอุดมการณ์ทำให้เห็นอยู่แล้วว่า จากเดิมที่มีการแบ่งแค่ซ้ายกับขวา (และระหว่างซ้ายขวานั้นก็มีอีกไม่รู้กี่เฉดที่เกิดขึ้นใหม่เรื่อยๆ เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป) เมื่อโลกปลี่ยนไปก็มีประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (climate change) เข้ามา จึงไม่แปลกที่มีเรื่อง ‘Green Ideology’ เกิดขึ้น แล้วก็มีอุดมการณ์ที่ไม่ได้วนเวียนอยู่แค่เรื่องมนุษย์ โดยมองมนุษย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล (anthropocentric) กล่าวคือ มีการไปให้ความสำคัญกับเรื่องสัตว์ เรื่องธรรมชาติ และอื่นๆ อีกด้วย เผลอๆ ถ้าวันหนึ่งปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีการพัฒนามากขึ้น ก็อาจจะมีอุดมการณ์เกี่ยวกับ AI ขึ้นมาก็เป็นได้!

ส่วนในแง่ของตัวอุดมการณ์เก่าๆ ต้องเน้นว่ามีพลวัตเสมอ เสรีนิยม สังคมนิยม อนุรักษนิยม นี่เปลี่ยนแปลงและปรับตัวเองอยู่เสมอ ผมได้ยกตัวอย่างของเสรีนิยมให้เห็นว่ามีทั้งเสรีนิยมแบบตะวันตก เสรีนิยมแบบไทยๆ ที่ไปจับมือกับทหาร เชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะที่เสรีนิยมในตะวันตกยุคหนึ่งก็จะเน้นเรื่องของตัวระบบตลาดเสรีเป็นหลัก ต่อมาไปให้ความสำคัญกับเรื่องรัฐสวัสดิการควบคู่กันไป รวมถึงมีเน้นเรื่องการเมืองอัตลักษณ์แทนอีกด้วย สิ่งที่เรียกว่าอุดมการณ์เลยมีพลวัตค่อนข้างสูง ทั้งภายในตัวอุดมการณ์ที่มีมาแต่นานกับระหว่างต่างอุดมการณ์ที่มีการกระทบกัน เพราะฉะนั้นจึงมีโอกาสเสมอที่จะเกิดอุดมการณ์ใหม่ๆ ขึ้นมา โดยผมหวังว่าสุดท้าย ไม่ว่าจะมีกี่อุดมการณ์ อุดมการณ์อันหลากหลายจะต้องรู้จักที่จะอยู่เคียงกันบนระนาบของประชาธิปไตยให้ได้

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
ช่างภาพและวิดีโอที่เริ่มจากงานถ่าย food และ portrait ปัจจุบันรับงาน production ครอบคลุมหลาย segment ตั้งแต่ food, product, event, wedding, portrait, interview, travel โดยมีเป้าหมายหลักคือ personalize งานทุกชิ้นให้ได้ตรงตามความต้องการจากบรีฟของลูกค้า รับงานได้ทั้งแบบเดี่ยวและแบบทีมเพื่อให้ผลงานออกมาเหมาะสมกับ scale งานที่ต้องการมากที่สุด

FB : Truetone Photography
IG: truetone_photography

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า