‘การเมืองในทุกอณู’ ของ Solitude is Bliss

ช่วงหนึ่งของชีวิต เราเติบโตไปพร้อมกับเพลงของ Solitude is bliss

ย้อนไปเมื่อในปี 2013 ปีที่พวกเขาปล่อยซิงเกิ้ลแรก สารภาพตามตรงว่าเราไม่ได้อยากรู้จักพวกเขามากไปกว่า ภาษาดนตรี สำนวนเรื่องเล่า ในบทเพลงที่พวกเขาอนุญาตให้เราทำความรู้จัก เพราะในเมื่อพวกเขาเป็นศิลปินที่สร้างสรรค์บทเพลง จะมีสิ่งใดที่เราจะรู้จักพวกเขาได้ดีไปกว่านั้นเล่า..

ครั้งหนึ่งเราคิดไว้แบบนั้น หากแต่วันนี้ เรากลับมาอยู่ต่อหน้าพวกเขาในฐานะนักสัมภาษณ์ ด้วยเหตุผลที่ว่า บทเพลงของพวกเขาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา มีนัยสำคัญที่เราอยากจะรู้ นัยสำคัญที่ตลอดการสนทนา เขาบอกกับเราว่า ‘ทุกเพลงที่ Solitude is bliss ทำออกมา ไม่ว่าจะเพลงรัก ความสัมพันธ์  ชนชั้น การเมือง ไปจนถึงบทเพลงที่พูดคุยกับภายในของความเป็นมนุษย์ ล้วนแต่สะท้อนและเชื่อมโยงกับการเมืองทั้งสิ้น’

กว่าสองชั่วโมงกับบทสนทนาระหว่างเรากับ Solitude is bliss วงดนตรีอินดี้จากเชียงใหม่ในสังกัดค่าย minimal record ที่กำลังเดินทางเข้าสู่ปีที่ 6 ของชายหนุ่มทั้ง 5 คนคือ เฟนเดอร์-ธนพล จูมคำมูล, เบียร์-เศรษฐกิจ สิทธิ, โด่ง-จอมยุทธ์ วงษ์โต, ปอนด์-ทรงพล แก้ววงศ์วาร และ แฟรงค์-ศรัณย์ ดลพิพัฒน์พงศ์  ยอมรับว่าเราประหลาดใจไม่น้อย กับเบื้องหลังในทุกบทเพลงของ Solitude ที่มากไปกว่าเพลง มันคือแนวคิดที่แข็งแรงและความพยายามที่จะเล่าความไม่ปกติของประเทศ และบทสนทนาต่อจากนี้คือเครื่องยืนยัน

EPISODE 1

ถ้าแบ่งเป็นสัดส่วน ในเพลงของ Solitude is bliss ให้พื้นที่การเมืองเท่าไหร่

เฟนเดอร์ : เรามีพื้นที่ให้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เราจะมีของไปใส่เท่าไหร่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แฟรงค์ : อย่างเพลงย้ายรัง ถ้าเบียร์ไม่ได้ไปนั่งคุยกับพี่ทหารในวันนั้น ก็คงจะไม่มีเพลงนี้ การเมืองเป็นเหมือน category หนึ่งใน Solitude ที่ไม่ได้เน้นว่ามันต้องมี อีกสองสามอัลบั้มหน้าอาจจะไม่มีเลยก็ได้ หรืออาจจะพูดทั้งหมดเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่ามีอะไรโดนใจให้เกิดเพลงนั้นออกมาไหม

เฟนเดอร์ : และขึ้นอยู่กับจังหวะ ประสบการณ์ ว่าช่วงนั้นเราไปเจออะไรมา อย่างอัลบั้มก่อนหน้านี้ก็จะพูดเรื่องนอกตัวเยอะหน่อย เสมือนสายตาที่เรามองไปข้างนอก แต่พอเรามองไปข้างนอกแล้ว มันเกิดผลบางอย่างที่ทำให้เราต้องกลับมาตั้งคำถามกับข้างในของเรา หลังๆ จึงกลายเป็นมองเข้าไปข้างในแล้วก็ถามตัวเองว่ามันคืออะไร แล้วมันจะไปไหนต่อ

เฟนเดอร์ : บางเพลงเราไม่ได้สื่อสารออกไปโต้งๆ ว่าเป็นการเมือง แต่ทุกสิ่งที่สื่อสารออกไป มันจะสะท้อนเรื่องการเมืองไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม เพราะรากของมันก็เกิดจากสภาพที่เราเจออยู่ทุกวัน และหล่อหลอมให้เราคิดแบบนี้ เพราะเราเกิดมาอยู่ในโลกสมัยใหม่ที่มีระบบอยู่ในทุกอย่างอยู่แล้ว แม้แต่ในแก้ว ในหนังสือ ในทุกคำพูดของเรา เราพูดไปมันก็เป็นเรื่องการเมืองหมด หรือภายในตัวเราก็เป็นการเมือง เพราะว่ามีการเมือง เราจึงตั้งคำถามไปสู่ข้างในแล้วมองไปข้างนอก หาเหตุผล หาที่มาที่ไป

แฟรงค์ : ไม่อยากให้จำกัดว่าการเมืองเป็นเรื่องของสภาหรือการเลือกตั้งอย่างเดียว เพราะจริงๆ แล้วมันอยู่กับเราตลอดเลย มันเป็นทั้งเรื่องชีวิต เงิน ทุกอย่าง การเมืองหมด และเราได้รับผลกระทบจริงๆ

เฟนเดอร์ : แต่พอเข้าใจได้นะว่า ถ้าผมถามคำถามแบบนี้กับตัวเองเมื่อ 10 ปีก่อน ผมแม่งก็ไม่เข้าใจอยู่ดีว่า การเมืองอยู่ในทุกอณู หมายความว่ายังไงวะ

 

แล้วการเมืองในทุกอณูในความหมายของคุณคืออะไร

เฟนเดอร์ : ตัวอย่างง่ายๆ คนกรุงเทพเจอฝุ่น คนเชียงใหม่ก็เจอฝุ่น เราก็รู้ๆ กันอยู่ว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการที่มีคนเผา มีคนเผาเพราะว่ามีกฎหมายที่ไม่แข็งแรงพอที่จะไปจัดการ แค่นี้ก็การเมืองแล้ว ผลกระทบคือคนปกติที่ต้องสูดมันเข้าไป ลองดูความเชื่อมโยงนะ ควันทำให้สุขภาพเราไม่ดี เราก็ไอ แล้วเราต้องร้องเพลงเป็นนักดนตรี เสร็จแล้วเราไปทำงานเรารู้สึกว่าเราสุขภาพไม่ดี เราก็กลับมาถามตัวเองว่าเพราะอะไรวะ เราไม่ดูแลตัวเอง ไม่ออกกำลังกายหรอวะ กลายเป็นการลดค่าตัวตนของตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองพยายามไม่มากพอทั้งที่ความจริงแล้วผลมันอาจจะเป็นเพราะการเมืองที่ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องนี้ให้กับเรา แต่ถ้าเปรียบเทียบคนทำงานในกรุงเทพฯกับเชียงใหม่ คนในกรุงเทพฯต้องเผชิญกับสภาวะแวดล้อมแบบนี้ทุกวันๆ ตั้งแต่ตื่นจนถึงเข้านอน อาจจะมีความปลงมากกว่าคนเชียงใหม่ คือมันต้องอยู่ เหี้ย แต่กูก็ต้องอยู่ แต่เชียงใหม่มันมีแบบทั้งเหี้ยไม่เหี้ย พอมีเหี้ยมันเลยรู้สึกมาก และมันอาจจะมีฟีดแบคที่มากกว่า

 

ประเมินการตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นพวกคุณอย่างไร

เฟนเดอร์ : เราชอบตั้งคำถามเกี่ยวกับการรับข้อมูลของคนยุคนี้  รู้อะไรเยอะกว่าคนยุคก่อน แต่เทคแอคชั่นน้อยกว่า และมันก็ทำให้เกิดความรู้สึกว่าโลกที่เราได้สัมผัสอยู่มันจริงหรือเปล่า หรือว่าไม่จริง เราตั้งคำถามกับการรับข้อมูลที่เยอะเกินไปของคนยุคนี้

แฟรงค์ : ถ้าเปิดเฟซบุ๊คดูเพจข่าว จะเห็นว่าคนคอมเมนต์มีพลังมาก แต่ในโลกความเป็นจริง เราเห็นทุกคนใช้ชีวิตเหมือนเดิม ไม่มีใครออกมาทำอะไร ไม่มีการเปลี่ยนแปลง สมัยก่อนถ้าเกิดเรื่องพวกนี้บนสภา นักศึกษาจะออกมาละ แต่ซีนสมัยนี้เรามองว่า คนไปกระจุกตัวกันบนโลกออนไลน์เยอะไป จนทำให้โลกความเป็นจริงเหมือนเดิม แต่ก็เข้าใจว่าภายใต้รัฐบาลแบบนี้ หลายๆ ปัจจัยทำให้การแสดงออกไม่อิสระเท่าไร ทำให้โลกออนไลน์เกรี้ยวกราดกันมากเพราะอิสระสุดแล้ว

เฟนเดอร์ : ก่อนหน้านี้เราคาดหวังไว้กับพื้นที่นี้เยอะ ว่าการรับข้อมูลเยอะๆ จะทำให้คนได้ชั่งน้ำหนัก แต่พอวัดกันจริงๆ แล้วไอ้ 100 เปอร์เซ็นต์ที่มันเกี่ยวกับเราโดยตรง เรากลับมีส่วนร่วมกับมันไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ เลยรู้สึกว่า รับแต่พอดีละกัน เน้นเทคแอคชั่นกับงานที่เรากำลังทำอยู่ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สนใจถ้ามันมีเรื่องความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นมา เรามีคติ มีความคิดอะไรเหมือนเดิม แค่ไม่อยากเอาตัวเองไปชนกับอารมณ์ในโลกออนไลน์ขนาดนั้นแล้ว

หลายคนในวงเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกในชีวิต พวกคุณมองการเลือกตั้งอย่างไร

เฟนเดอร์ : เราชั่งน้ำหนักนะ ว่าการที่เราไม่ออกไปใช้สิทธิ์เพื่อประท้วงว่าเราไม่สนับสนุน กับการออกไปใช้สิทธิ์ อันไหนจะเกิดผลมากกว่ากัน ซึ่งออกไปเลือกมันมีผลมากกว่า เพราะเป็นอย่างนี้เราถึงต้องไปเลือกตั้ง มันเป็นสิ่งเดียวที่เราแสดงออกได้  ถึงแม้เราอาจจะแพ้แต่ผลที่เราเลือกไปมันถูกส่งไปและอยู่ในสัดส่วนนั้น

เรารู้สึกว่านักการเมืองแบบ Old School  ที่เราคุ้นๆ หน้ากันโดยพื้นฐานแล้วเขายืนพื้นมาจากความคิดว่าประชาชนโง่ คิดว่าประชาชนตามเกมส์ไม่ทัน ซึ่งถ้าวัดตามคุณภาพการศึกษาก็อาจจะออกมาเป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็ได้ แต่ขณะเดียวกันประชาชนเขาไม่ได้นิ่งและโง่ เขาพัฒนาตลอดเวลาในยุคสมัยนี้ ต่อให้คนที่ไม่ได้ศึกษาในระบบ เขาก็สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง เด็กรุ่นใหม่เริ่มเคลื่อนแล้ว อาจจะไม่ได้เคลื่อนเหมือนคนรุ่นก่อน แต่มันเคลื่อนด้วย side effect

แฟรงค์ : ยิ่งรอบนี้กฎการเลือกตั้งออกมาว่า ยิ่งเราไม่ออกไปใช้สิทธิ์ ทำบัตรเสียหรืออะไรก็ช่าง คะแนนจะไปอยู่อีกฝั่งหนึ่งทันที มันไม่แฟร์ตั้งแต่แรกแล้ว หรือตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาแล้ว

เบียร์ : ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าคนบางกลุ่มโตมาด้วยการเชื่อตามกันมา เชื่อตามพ่อแม่ ครอบครัว หรือตามกระแสโซเชียลเรื่องการเมือง อันนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัวมากๆ

 

EPISODE 2

คาดหวังอะไรในบทเพลงของตัวเอง

เฟนเดอร์ : เมื่อก่อนเคยคาดหวังว่าการที่เราไปแอคชั่นมันจะส่งผลกระเพื่อมให้เห็นออกมาเป็นรูปธรรมนะ แต่พอมันไม่ใช่ เราก็ล้มครืนไปเลย เพราะเราเอาตัวเองออกไปเคลื่อนไหว และคาดหวังว่ามันต้องมีผลอะไรซักหน่อยแหละวะ แต่มันไม่เกิดอะไรขึ้น แถมเราก็ต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง ต้องเก็บตัวเพราะเราออกหน้าด่านไปแล้ว แต่เราก็คาดหวังกับตัวเองนะ เพราะรู้สึกว่าออกไปแล้วมันต้องเปลี่ยนสิ เราเริ่มมองโลกรอบตัวแย่ไปหมดเลย ถึงขั้นมองเสาไฟฟ้าแล้วร้องไห้ คิดประมาณว่า ‘ทำไมสี่สิบห้าสิบปีทำไมเสาร์ไฟฟ้าเหมือนเดิมเลยวะ’ แล้วแม่งก็ร้องไห้ ร้องจริงจังเลย กูเป็นอะไรวะเนี่ย ซึ่งตอนนั้นหลายๆ อย่างตู้มเข้ามาเยอะมาก มองอะไรก็แย่ บวกกับจากนั้น เราได้คุยกับเพื่อนคนหนึ่งเรื่อง butterfly effect  ว่า สำหรับคนๆ หนึ่งที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงกับโลกรอบตัว มันคืออะไร การแลกเปลี่ยนกันวันนั้นก็สรุปได้ว่า สิ่งที่เราทำกับโลก และเปลี่ยนแปลงสิ่งรอบตัวได้มากที่สุด คือการเอาพลังทั้งหมดไปใส่ในงานที่เราทำได้ แล้วปล่อยให้งานมันทำงานของมันไป แต่จะทำหรือไม่ทำงานกับคนไหนก็ปล่อยไป หรืออาจจะไม่ต้องทำงาน ณ ขณะที่เราปล่อยงานออกไปก็ได้ สักสิบยี่สิบปีมันก็อาจจะทำงานแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยตามแต่จังหวะของมัน

ฟังดูเหมือนไม่มีความหวัง?

เฟนเดอร์ : เรามีความหวังแต่เราก็กลัว กลัวว่าเราจะผิดหวัง อารมณ์เหมือนตอนเด็กเรากล้ารักคนมากๆ แต่พออกหักแล้วเราก็เจ็บสัดๆ พอโตมาเราจะหวังบ้างไม่หวังบ้างเพื่อรักษาหัวใจตัวเองไว้”

แฟรงค์ : ยิ่งรัฐบาลนี้ก็ทำให้เรารู้ว่าความสิ้นหวังในชีวิตเป็นยังไงบ้าง อารมณ์เหมือนตอนเด็กมีคนสัญญาว่าจะซื้อของให้แล้วก็ไม่ซื้อ แถมเอาตังที่สัญญาไว้ไปซื้ออย่างอื่นอีก และไม่ใช่ครั้งเดียว (หัวเราะ) เราถึงไม่เห็นด้วยกับอะไรหลายๆ อย่างตั้งแต่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่แพลนไว้ เพราะเราไม่รู้ว่าอะไรใหม่ๆ จะหมุนเข้ามาในโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่เขามาวางกรอบไว้ตั้ง 20 ปีให้เราต้องเดิมตาม ให้รัฐบาลอื่นๆ ต้องเดิมตาม มันน่ากลัวกว่าทุกรัฐประหารที่ผ่านมาอีกนะ

 

วิชาชีพของคุณได้รับผลกระทบอะไรจากการรัฐประหาร

แฟรงค์ : ตั้งแต่รัฐประหารมา ผับปิดเร็วขึ้น และมากกว่าอาชีพนักดนตรี เรามองไปถึงผู้ประกอบการกลางคืนด้วย มันไม่แฟร์ เปรียบเทียบง่ายๆ ธุรกิจกลางวันสามารถลากยาวถึงกลางคืนได้ แต่สมัยนี้ธุรกิจกลางคืนเปิด 6 โมงเย็น ปิดได้แค่เที่ยงคืน บางร้านคนเข้า 2 ทุ่ม เวลาทำเงินของเขาน้อยมาก แต่ภาษีจ่ายเท่าเดิม นักดนตรีมีรอบให้เล่นน้อยลง เงินก็น้อย  เพราะรัฐเอาคำว่าจริยธรรมาสวม แล้วมาอ้างเรื่องเสียงรบกวน คือเรื่องเสียงมันมีกฏหมายที่ควบคุมเรื่องนี้ก็ควรเอามาจัดการ แต่เขาเอาเรื่องเสียงไปข่มขู่ร้านเหล่านี้ บางร้านก็ต้องปิด

เฟนเดอร์ : ของเราเป็นเรื่อง freedom of speech ตรวจสอบได้ การพูดตั้งข้อสงสัยความไม่ชอบมาพากลได้ ไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองใหญ่ๆ นะ แค่เรื่องสาธารณูปโภค เราก็อยากจะรู้ว่าคุณเอาเงินไปไหนบ้าง บ้านเมืองเรากินกันทุกหย่อมหญ้าแต่ไม่มีการตรวจสอบ เราอยู่กับสิ่งพวกนี้มานาน และอยากให้มีเสรีภาพในการแสดงออกมากกว่านี้ สมมุติเราได้รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยมาแล้ว เราอยากได้พื้นที่ที่จะเสนอทางออกและมีการโหวตที่เปิดกว้างเสรีโดยไม่มีการเซ็นเซอร์หรือบล็อกความเห็นของคน ให้ถกกันได้มากกว่านี้ เราเชื่อว่าพื้นที่แบบนี้จะเป็นปลายเปิดและทำให้เกิดการพัฒนาปฎิรูปส่วนย่อยๆ นี้ตามมา

เบียร์ : อีกเรื่องที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือ การเกณฑ์ทหาร เอาออกไปเลย แล้วหาทหารที่อยากเป็นจะได้คุณภาพมากกว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาก็ดีกว่าเดิมด้วย และจะมีผลให้บุคลากรไปอยู่ถูกที่ถูกทางมากขึ้น คนที่ควรจะได้ทำงานตั้งแต่ยังมีไฟ และได้ขับเคลื่อนประเทศในสิ่งที่เขาทำได้ดีและถนัดที่สุด ไม่ควรจะจองจำใครด้วยคำว่า รับใช้ชาติ คำว่าหน้าที่ของลูกผู้ชายมันเป็นวาทะกรรมทั้งนั้น เราเสียภาษีทุกวันนี้ก็ไม่ใช่หน้าที่หรอ รัฐชอบทวงบุญคุณ ว่าเราต้องทดแทนบุญคุณชาตินะ เฮ้ย ชาติใช้ภาษีเราอยู่

เฟนเดอร์ : เรารู้ว่ามันต้องใช้เวลา เรารอได้ถ้ามันเริ่มซักที แต่ที่น่ากลัวกว่าคือคนไทย ติดนิสัยไม่ทะลุปัญหาไปให้สุด ตั้งแต่สเกลเล็กไปจนถึงใหญ่เลยนะ เหมือนพอเริ่มทำอะไรขึ้นมาแล้วมันเกิดความวุ่นวายๆ ก็ติดนิสัยชอบชัตดาวน์ ทั้งที่มันวุ่นวายก็จริงแต่เราควรจะคุยมันให้เคลียไปทีละอัน เราไม่ยึดกฎไง รัฐบาลนี้ไม่ดีก็รอเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งสิ แต่นี่เขามาชัตดาวน์และรีสตาร์ทมันใหม่ ซึ่งนั่นไม่ใช่ทางออก แต่เหมือนการแช่แข็งไว้เฉยๆ พอละลายออกมามันก็คืออันเดิม แถมเปื่อยกว่าเดิมด้วยซ้ำ ซึ่งการเมืองมันไม่สามารถหาทางออกได้จากคำตอบเดียว

 

แล้วในมุมชีวิตส่วนตัวล่ะ พวกคุณคาดหวังกับอะไร

เฟนเดอร์ : ตอนนี้เราคิดแค่ว่า  เดือนนี้กูมีตังไหมวะ มีสตางค์พอที่จะทำงานนี้ต่อไปได้ไหม เพราะว่าเรายังมีงานประจำด้วย เราก็เลยอยู่กันแบบเเห้งๆ พอทำงานได้ อาศัยความต่อเนื่องแต่ไม่ได้เร่งมาก และทุกคนมีงานประจำ มีเล่นดนตรีกลางคืน เฟนเดอร์ก็ทำสตูดิ โอกับพี่โด่ง เบียร์ก็มีธุรกิจส่วนตัวเล็กๆ แฟรงค์ก็ทำร้านสลัดควบไปกับเล่นดนตรี ด้วยความที่เราอยู่เชียงใหม่งานจึงไม่ได้มีบ่อยเท่ากับความรู้สึกของคนที่มองมา เพราะการเมืองของเชียงใหม่ด้วย เรทที่เชียงใหม่โดยรวมต่ำกว่ากรุงเทพมากด้วย ทุกอย่างแพงขึ้นแต่ค่าตัวรายวันเท่าเดิม ไม่ขึ้นมาหลายปีแล้ว เชียงใหม่ชั่วโมงละ 300-350 เองนะ เป็นเพราะเศรษฐกิจเลยครับและไม่ใช่แค่นักดนตรีนะ อาชีพอื่นๆ เฉลี่ยค่าแรงเขาก็ไม่ขึ้นเหมือนกัน

แฟรงค์ : ว่ากันตรงๆ ดนตรี เป็นงานหลักของเราที่ยังไม่ทำเงิน

เฟนเดอร์ : ต้องแยกเป็นสองทางคือ งานดนตรีในทางกายภาพมันยังไม่เป็นงานหลัก แต่ทางใจมันคืองานหลักมากๆ  ถ้าขาดไปชีวิตเราก็ขาดแหว่ง

แฟรงค์ :  ถ้าไม่มี Solitude ตอนนี้ก็ไม่มีจุดมุ่งหมายในชีวิตจริงๆ

 

EPISODE 3

ในเพลงล่าสุดของ Solitude … Luke คือตัวแทนของอะไร

เฟนเดอร์ :  คือเราชอบ Star war และตัวละครที่ชื่อ Luke sky walker เขาคือตัวแทนของคนที่จะนำสมดุลและแสงสว่างมาสู่จักรวาล เราก็เอามาเปรียบเทียบว่า Luke คือตัวแทนของคนที่จะสามารถดึงเราไปสู่ที่สว่างและพาเราไปสู่ทางออกได้ จะเหมือนกับมนุษย์ที่อยู่อีกฟากของแสง และพยายามปีนป่ายไปสู่แสงสว่าง เพราะเพลงนี้เกิดจากความรู้สึกหลงทางครับ ไม่มีทางออก เหมือนคนที่ไม่เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วไม่รู้จะเอาใจไปยึดกับอะไร ไม่รู้จะถือไฟด้วยอะไร

Luke, I’m afraid, I have fears and anger with my life.
Look, this is hell, I don’t know how to climb up to light.

เฟนเดอร์ : อีกมุมคือท่อนที่พูดว่า คุณจะโทษคนเสียสติ หรือจะโทษคนที่เศร้าหรอ มันไม่ได้เป็นความผิดของเขา แต่เป็นเรื่องของสิ่งที่รุมเร้าให้เขาพาตัวเองไปอยู่ในสภาวะแบบนั้น การเป็นบ้าหรือวิกลจริตมันไม่ได้เกิดขึ้นมาโดดๆ เรามักมองว่าคนบ้าก็คือคนบ้า แต่ไม่ได้ถามเลยว่าเขาบ้าเพราะอะไร สิ่งที่มันรุมเร้าเขาอยู่มันหน้าตาเป็นแบบไหน ซึ่งมันมีรากของมันหมด

Are you insane to blame anyone who’s sad?
Are you in vain to blame anyone who’s mad?

 

อายุของวงเข้าปีที่ 6 แล้ว เพลงของวงโตขึ้นตามวัยไหม

เบียร์ :  แง่ของดนตรีในช่วง EP แรกๆ เรามีเท่าไรก็ปล่อยไปเลย สาดพลังวัยรุ่น ไม่ไปหวงว่าออกไปแล้วมันจะรุนแรงหรือเปล่า  คือไฟมันแรงมาก ซึ่งเราก็ค่อยๆ โต แต่มันก็ยังมีไฟอยู่ เราแค่หาวิธีนำเสนอไฟนั้นออกมาในอีกแบบหนึ่ง

เฟนเดอร์ : ไม่ใช่ว่าเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น แต่เพลงมันเกาะติดกับสภาวะที่เปลี่ยนแปลงไป ลักษณะนิสัย การมองโลก ไม่ใช่แค่เนื้อเพลงครับ มันเป็นเรื่องกระบวนการการทำงานด้วย วิธีคิด วิธีกลั่นกรอง วิธีตรวจสอบ

 

อัลบั้มใหม่ที่กำลังทำอยู่ Solitude เล่าเรื่องอะไรเป็นพิเศษ

เฟนเดอร์ : อัลบั้มใหม่นี้มวลรวมเราจะพูดถึงเรื่องตัวตน ความเป็นมนุษย์มากขึ้น ตัวตนของตัวเองหรือของใครบางคนที่เรามองเข้าไป การเมืองก็มีในอัลบั้มนี้เช่นกัน แต่จะพูดถึงอารมณ์เยอะ เหมือนกับตอนแรก เรามองไปข้างนอกและพบกับความเยอะแยะของมัน ทำให้เราต้องตั้งคำถามว่ามันคืออะไรวะ จนมันย้อนกลับมาถามตัวเองว่าสรุปที่เรารู้สึกไปแบบนั้น มันถูกแล้วหรอ แล้วรากของมันคืออะไร ทำไมเราถึงต้องรู้สึกแบบนี้ แล้วเราจะเอาอะไรกันแน่ มันเหมือนกับเราแตกคำถามให้กว้างขึ้นกว่าเดิม จุดมุ่งหมายในการเขียนเพลงสักเพลงคือคำถามว่าเขียนเพื่ออะไร เขียนให้คนนี้นะ เขียนให้กับเรื่องนี้นะ อ่านหนังสือเสร็จแล้วเอามาเขียนเพลงจากอารมณ์ที่เกิดขึ้น

เบียร์ : อัลบั้มนี้เพลงจะโดดจากอัลบั้มอื่นเยอะมาก มันเป็นพาร์ทที่โตขึ้นมากๆ และซับซ้อนกว่าเดิมเยอะ

 

พลังวัยรุ่นที่สาดออกไปในปีแรกยังแรงเหมือนหรือเปล่า หรือรูปร่างของไฟมันเปลี่ยนไปแบบไหน

เฟนเดอร์ : ช่วงแรกมันมีเวลาเยอะกว่า เรียนยังไม่จบ ไม่มีภาระ ไม่มีหนี้ มีเวลาว่างเหลือ พอเวลาเยอะ แรงเยอะ ไม่มีผลต่องาน แต่พอเริ่มหลายปีเข้า แต่ละคนก็มีภาระเพิ่มขึ้น ไฟจึงอาจจะหรี่ไปบ้าง ไม่ลุกโชนเหมือนช่วงแรกแต่ความร้อนของพลังในการทำงานยังมีเท่าเดิม มันเป็นไฟในการทำงานที่ต้องผ่านการจัดการมากขึ้นกว่าเดิม เราควบคุมได้ดีขึ้น มีวุฒิภาวะมากขึ้น คอนโทรลว่าควรจะทำงานที่ดียังไง

แฟรงค์ : เปลวไฟมันอาจไม่ลุกโชนเท่าช่วงแรกๆ แต่สีไฟมันร้อนเท่าเดิม

เฟนเดอร์ : ดูเปรียบเทียบสิ โคตรนามธรรมเลย (หัวเราะ)

 

เมื่อเบียร์กับเฟนเดอร์แต่งเพลงเสร็จแล้วเอามากางให้เพื่อนในวงดู เคยขัดแย้งกันหรือเปล่า

เฟนเดอร์ : เพิ่งมีในอัลบั้มใหม่ (หัวเราะ) เพราะคำที่ค่อนข้างสุ่มเสี่ยงและพี่แฟรงค์ค่อนข้างวิตกกังวล

เบียร์ : ในอัลบั้มใหม่ยังไม่ค่อยสุ่มเสี่ยงเท่าอัลบั้มเก่านะ

แฟรงค์ : อัลบั้มเก่าเราใส่เป็นสัญลักษณ์เข้าไป แต่ในอัลบั้มใหม่มันเป็นภาษาไทย ด้วยความที่มันเป็นภาษาไทยก็ค่อนข้างจะชัด และเอฟเฟคกับคนฟังพอสมควร

เฟนเดอร์ : ซึ่งเราไม่ได้รู้สึกว่ามันอันตรายขนาดนั้น มันก็เป็น Conflict ว่าคนหนึ่งรู้สึกว่า มันอันตรายว่ะ

 

จัดการความขัดแย้งอย่างไรให้ทุกคนในวงรู้สึกตรงกันว่า ‘นี่คือเพลงของเรา’

เฟนเดอร์ : โหวตครับ! ใช้เสียงส่วนมาก แต่ก่อนจะโหวตเราจะคุยกันได้ทุกเรื่อง ดีเบตกัน เปิดใจและหาเหตุผลมาคุยกัน จนที่ทุกคนรู้สึกว่ามันคุยกันไม่ได้แล้วก็จะเลือกใช้วิธีโหวต แต่ถ้าโหวตแล้วยังเคลือบแคลงใจอยู่ เราก็จะเอาประเด็นนี้ไปถามความเห็นจากคนนอก เพื่อหามุมมองที่กว้างขึ้น และดูว่าเพลง effect อย่างไรกับคนอื่น เพราะบางทีเราเกาะกลุ่มกันมานานๆ อาจจะมีความคิด คติ หรือมโนภาพ หรือเห็นภาพทางการเมืองคล้ายๆ กัน แต่ถ้าถามคนอื่นเขาก็อาจจะเห็นอีกแบบหนึ่งก็ได้

แฟรงค์ : แต่ตอนนี้ไม่ขนาดนั้นแล้ว เมื่อก่อนเราเถียงกันหัวชนฝาว่าคนนั้นจะเอาอย่างนี้ ทะเลาะกันชิบหายเลย  แต่ Solitude จะคุยกันจบในห้องอัดเลยครับ ออกมาทุกคนเป็นเพื่อนพี่น้องเป็นกันเหมือนเดิม

เบียร์ : พักหลังๆ เรารู้กันหมดแล้วว่าแต่ละคนเป็นอย่างนี้ จะจูนกันโดยธรรมชาติ ความสัมพันธ์มันเสถียรขึ้น เราเหมือนคนในครอบครัวไปแล้ว ทำลูกด้วยกัน เลี้ยงลูกด้วยกัน (หัวเราะ)

 

LAST EPISODE

เคยเซ็นเซอร์เพลงของตัวเองไหม

เฟนเดอร์ : ถ้าเซ็นเซอร์ไปเลยไม่มีครับ มีแต่ลดทอนและใส่สัญลักษณ์เข้าไป เพื่อที่ให้สารเดิมที่เราอยากบอกมันยังอยู่ เพราะการเซ็นเซอร์หมายความว่าเราไม่อยากเล่าสารนั้น หรือเราไม่ใช้สารนั้นอีกแล้ว ซึ่งเรายอมให้มันเข้าใจยากมากกว่าการที่เราไม่ได้สื่อสาร มันดีกว่าไม่ได้พูดเลย

เบียร์ : เราชอบงานแบบปลายเปิด ให้คนไปตีความเองมากกว่าด้วย เหมือนไปดูรูปในงานศิลปะ แต่ละคนก็ตีความไม่เหมือนกัน เราชอบงานแบบนั้น

เงื่อนไขอะไรที่แปลงความอยากพูดโต้งๆ ไปเป็นสัญลักษณ์

ทุกคน : คุกครับ!

แฟรงค์ : ถ้าอยู่ประเทศอื่นเราอาจจะพูดได้เลยมากกว่านี้ เอาจริงๆ ก็กลัวคุกนั่นแหละ เรายังกลัวความไม่ make sense ของหลายๆ เรื่องอยู่

เฟนเดอร์ : กลัวครับ ใช่ครับ การทำงานของเราก็ค่อนข้างท้าทายกับความกลัวนี่แหละ คนทั่วไปเขาอาจจะกลัวแล้วก็เลี่ยง และทำงานไปงกๆ หากแต่เขาคิดอะไรอยู่ในหัวตลอดเวลาเพียงแค่ไม่ได้ปล่อยออกไป ซึ่งเราก็กลัวว่ะ แต่อยากสู้กับมัน อยากได้ความยุติธรรม และอยากเปลี่ยนแปลงความไม่ยุติธรรมนั้นสักหน่อย เราเลยต้องหาวิถีทางที่เราจะสามารถพูดหรือวิพากษ์เรื่องนั้นๆ โดยที่เรายังอยู่ในจุดที่ไม่ใช่ในคุก

แฟรงค์ : คนที่เขาเซ็นเซอร์ก็ไม่ได้ผิดนะ ถ้าเขาไม่ได้ทุกข์กับสิ่งที่เขาเซ็นเซอร์ เขาก็ใช้ชีวิตในโลกที่ไม่ได้รับผลกระทบอะไรของเขาไป ศิลปินที่เลือกออกมาพูดก็ส่วนมากคือคนที่โดนรุมเร้าจากทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ จึงเลยเลือกที่จะพูด

เฟนเดอร์ : แต่ถ้าเขาดันมองว่าสิ่งที่คนอื่นพูดและเป็นทุกข์ เป็นเรื่องไร้สาระ เป็นเรื่องผิดไปจากโลกของเรา เราไม่โอเค คุณไม่ทุกข์แบบผมก็ไม่เป็นไร แต่คุณไม่ควรคิดว่าทุกข์ของผมเป็นของปลอม เราว่าเขาโลกแคบและลดทอนโลกของคนอื่น

 

ถ้าดนตรีคืออาวุธของศิลปิน และศิลปินใช้เพื่อสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงบางสิ่ง ทำได้จริงไหม มันใหญ่เกินตัวไปหรือเปล่า

เฟนเดอร์ : ทำได้ครับ

เบียร์ : ทำได้ดีด้วย

เฟนเดอร์ : แค่ทำให้ดีที่สุดกับสิ่งที่ทำอยู่ เพราะตัวงานนั่นแหละ จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราอยากจะเปลี่ยนมากที่สุด ซึ่งมันใหญ่เกินตัวครับ ใช่ และเราก็ตอบไม่ได้ด้วยว่าเพลงมันจะเดินทางไปถึงไหน สิ่งที่เราทำได้และคาดหวังได้คือ เราจะสื่อสารและจบงานได้ชัดเจนในจิตใจของเราขนาดไหน แล้วงานมันออกมาชัดในแบบที่เราต้องการหรือเปล่า

เฟนเดอร์ : ถ้าพูดถึงความคาดหวังที่ว่า ดนตรีคืออาวุธของเรา เราวางใจไปแล้วเรื่องผลที่มันจะสร้างแรงกระเพื่อมกับคนที่รับสารของเรา เราคาดหวังกับเรื่องที่มันจะคืนทุนให้เราสามารถดำเนินวิถีนี้ต่อไปได้หรือเปล่ามากกว่า เพราะมนุษย์ต้องกินต้องอยู่ เพราะถ้าเราอยู่ได้ นั่นแปลว่าเราสามารถทำงานนี้ต่อได้ เรายังสามารถสื่อสารต่อไปได้

หน้าที่ของเพลงจริงๆ ควรจะทำงานในแบบไหน

เฟนเดอร์ : ถ้าพูดถึงดนตรีนะ มันควรทำหน้าที่ของมันอย่างมีคุณภาพสูงที่สุด นั่นคือ เป็นเพลงที่สื่อสารได้เต็มที่ มีความเป็นดนตรีสูง มีคุณค่าทางวรรณกรรม ทางการเล่าเรื่อง และการสร้างคัลเลอร์ให้เรื่องราว เพราะเราคิดว่า ถ้าคนฟังเขาได้รับความรู้สึกแบบที่คนนำเสนอได้รับ แล้วรู้สึกว่ามันจริง นั่นคือผลที่ดีที่สุด แต่ไม่รู้แหละว่ามันจะแปลงสภาพในหัวของคนฟังแล้วระบายออกไปเป็นอะไร บางเพลงก็อาจจะทำให้คนออกไปเที่ยวออกไปจีบผู้หญิง บางเพลงทำให้คนตะบี้ตะบันทำงานต่อ หรือบางเพลงก็ทำให้คนอยากฆ่าตัวตายก็มี ทุกเหตุผลที่พูดมาคือเพลงมันทำงาน มันจึงเกิดผลอย่างนี้ออกมา เพลงประเทศกูมีนี่ก็ทำงานมากๆ

แต่เราไม่ได้คิดถึงว่าคนฟังเพลงแล้วเขาจะเอาไปทำอะไรต่อ คิดแค่ว่า สิ่งที่เรารู้สึก มันเป็นจริงแค่ไหน แล้วเราสามารถพูดออกไปได้ชัดเจนหรือเปล่า”

แล้ว Solitude พูดออกไปชัดขนาดไหน

เฟนเดอร์ : เราไม่รู้ ที่แน่ๆ เราพยายามทำให้ชัด และมันชัดที่สุดสำหรับเราแล้ว แต่สำหรับคนอื่น เราก็เคยเจอคนที่ฟังแล้วบอกว่า ‘เพลงเหี้ย ฟังไม่รู้เรื่องเลยว่ะ พูดเรื่องอะไร’ คือมาตรฐานของคนไม่เท่ากัน มันอยู่ที่ประสบการณ์ของคนฟังในการจะตีความในแต่ละเพลงด้วย เราว่ามวลของงานเพลง ไม่ว่ามันจะเบลอหรือชัด มีสาระหรือไม่มีสาระ ถ้าเอามวลนั้นมาแปลงเหมือนแปลงสมการแล้วทำให้มันชัดในแบบที่มันเป็น สมมุติว่าเบลอ เราก็ทำให้มันชัดว่ามันเบลอ โชว์ความจริงว่ามันเบลออยู่

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

Author

สิทธิกร ขุนนราศัย
วิดีโอครีเอเตอร์รสมือจัดจ้านของ WAY สนใจตั้งแต่วัฒนธรรมตลาดล่างจนถึงประวัติศาสตร์กรีกโบราณ เติบโตมาในยุคสมัยที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนิยมผลิตวาทกรรมคนดี นี่อาจเป็นแรงถีบให้เขาเลือกนิยามตัวตนตรงกันข้าม และนิยมคลุกคลีกับ 'คนพรรค์นั้น' ในเพจ เดอะ ลูซเซอร์ คลับ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า