เบื้องหลังละครเวที ‘ทศวรรษแรกแห่งความโดดเดี่ยว’ ความรักบนฉากประวัติศาสตร์ 2475

“วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ” ข้อความที่สลักบนแผ่นทองเหลืองถูกฝังบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าเป็นหมุดรำลึกถึงชัยชนะในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง พ.ศ. 2475 ของกลุ่ม ‘คณะราษฎร’ จนถึง พ.ศ. ปัจจุบัน บรรดาสิ่งปลูกสร้าง สถาปัตยกรรม หรือกระทั่งอนุสาวรีย์ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นมรดกคณะราษฎร ต่างถูกทุบทำลาย หมุดทองเหลืองถูกรื้อถอนและทำให้สาบสูญ จนดูเหมือนเป็นความพยายามกลบฝังประวัติศาสตร์การปฏิวัติ 2475 ทว่าประวัติศาสตร์การต่อสู้นี้ก็ยังถูกสร้างขึ้นใหม่ในรูปแบบและมิติที่ต่างจากเดิม 

คณะราษฎรและการปฏิวัติ 2475 กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งบนความเคลื่อนไหวทางการเมืองของฝ่ายประชาธิปไตยในช่วงหลายปีให้หลังที่ประเทศไทยตกอยู่ใต้อำนาจเผด็จการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การต่อสู้ของสามัญชนในอดีตถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นอาวุธเชิงสัญญะ เพื่อใช้ต่อกรกับระบอบอำนาจนิยมในปัจจุบัน อาทิ การรวมตัวกันของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ใช้ชื่อ ‘คณะราษฎร’ (2563) ที่ออกมาเรียกร้องขับไล่นายกฯ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ รวมถึงมีการฝังหมุดคณะราษฎร 2563 ที่ท้องสนามหลวง เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ หรือกระทั่งนำไปสร้างสรรค์ต่อ เช่น ภาพวาดบนกระเป๋า หรือลายบนคุกกี้ 

ณ วันนี้ประวัติศาสตร์การปฏิวัติ 2475 และเรื่องราวของคณะราษฎรดำเนินมาในอีกรูปแบบหนึ่งที่พบเห็นได้ไม่บ่อยนัก กับการนำประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครองมาปลุกปั้นเป็นฉากในละคร ภาพยนตร์ หรือสื่อบันเทิงสมัยใหม่ ซึ่งเป็นความกล้าของคนรุ่นปัจจุบันในการตีความประวัติศาสตร์ในแง่มุมใหม่ๆ ถือเป็นสัญญาณดีที่ผู้คนตื่นตัวและตื่นรู้เกี่ยวกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากขึ้น

‘ทศวรรษแรกแห่งความโดดเดี่ยว’ ละครเวทีดรามาโรแมนติกอิงประวัติศาสตร์ บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของคนหนุ่มสาวในช่วง 10 ปีแรกของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในช่วงปี พ.ศ. 2475 ผลงานจากคณะละครอิสระ ‘เพลย์คูล’ (Playcool) ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์การปฏิวัติ 2475 กับการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยที่สร้างรอยร้าวบนความสัมพันธ์ของคนหนุ่มสาว 

WAY ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ‘ปอนด์’ ณัฐภัทร มาเดช ผู้เขียนบท ผู้กำกับ และนักแสดง อดีตนิสิตจากภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ‘วินด์’ ภวินท์ แย้มกลีบ ผู้ช่วยผู้กำกับและผู้ประพันธ์เพลง อดีตนิสิตจากภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งพวกเขาเป็น 2 ใน 3 ผู้ก่อตั้งคณะละครเพลย์คูล

ได้ยินมาว่าคุณทำละครเวทีมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา จุดเริ่มต้นในตอนนั้นมีที่มาอย่างไร

วินด์: พวกเราชอบดูละครเวทีกันอยู่แล้วเป็นทุนเดิม สมัยที่เรียนมหาวิทยาลัยก็มีโอกาสได้ทำละครด้วยกันมาตลอด กระทั่งในปี 2563 เกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้การแสดงละครเวทีในช่วงนั้นหยุดชะงัก พวกเรารู้สึกเสียดายที่อุตส่าห์ฝึกซ้อมกันมา แต่สุดท้ายไม่ได้จัดแสดง จึงเริ่มมีความคิดที่อยากออกมาตั้งคณะละคร ซึ่งในตอนนั้น ผม ปอนด์ และเพื่อนอีกคนหนึ่งชื่อ ‘แจน’ จันทกร งามสมประสงค์ ร่วมกันตั้งคณะละครที่ชื่อว่า ‘เพลย์คูล’ (Playcool) โดยช่วงแรกระหว่างการล็อกดาวน์โควิด พวกเราใช้เวลาในช่วงนั้นเขียนบทและโครงเรื่องรอไว้ กระทั่งเดือนตุลาคม ปีเดียวกัน สถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้น จึงได้แสดงละครเวทีเรื่องแรกที่หอศิลป์ (หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร) ในชื่อ ‘ต้องรัก (ต้องเป็น) Musical’

ปอนด์: อีกเหตุผลหนึ่งคือ พวกเราอยากลองทำละครเวทีที่ได้สื่อสารในสิ่งที่ตัวเองอยากเล่าจริงๆ เพราะการทำละครในมหาวิทยาลัยมันจะมีระเบียบหรือวาระบางอย่างที่เราไม่สามารถใส่ความคิดหรือความเป็นตัวเองลงไปได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ มันจึงเกิดเป็นความรู้สึกที่พวกเราอยากก้าวไปอีกขั้น อยากลองทำละครในรูปแบบที่พวกเรารู้สึกสบายใจและเป็นตัวเอง

ทศวรรษแรกแห่งความโดดเดี่ยว แตกต่างจากละครเวทีเรื่องอื่นที่เคยทำมาอย่างไร

วินด์: ก่อนหน้านี้ละครของเพลย์คูลทั้ง 3 เรื่องที่ผ่านมา จะเป็นละครเพลงทั้งหมด ทศวรรษแรกแห่งความโดดเดี่ยวเป็นละครพูดเรื่องแรกที่พวกเราทำ ถ้าพูดถึงความยากผมมองว่ามันยากพอกัน ละครเพลงมีความยากในเรื่องการทำเพลง ละครพูดมีความยากในเรื่องการเขียนบท ซึ่งเป็นความยากที่ไม่เหมือนกัน และในส่วนของการแสดงก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบต่างกันออกไป 

ปอนด์: ถ้าเป็นละครเพลง การสื่อสารบางอย่างต้องขับเคลื่อนด้วยเพลง ขับเคลื่อนด้วยโชว์ แต่พอเป็นละครพูดมันจึงต้องขับเคลื่อนด้วยบทสนทนาของตัวละครแทน ซึ่งต้องมานั่งตกตะกอนว่าเราจะสื่อสารอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันความสนุกต้องไม่ถูกลดทอนลงไป 

ทำไมถึงเลือกใช้ประวัติศาสตร์ 2475 เป็นฉากหลังเล่าเรื่องความรักของคนหนุ่มสาว

ปอนด์: ตอนผมเรียนภาควิชารัฐศาสตร์ เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง เพื่อนแต่ละคนก็มีความสนใจแตกต่างกัน บางคนสนใจเรื่องนโยบายสาธารณะ บางคนสนใจเรื่องการเมืองเปรียบเทียบ ส่วนผมสนใจเรื่องการปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎร เมื่อค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในช่วง 10 ปีแรกหลังการปฏิวัติ ก็พบว่ามันมีหลายแง่มุมที่น่าสนใจ ประกอบกับก่อนหน้านี้มีโอกาสได้ทำงานและพูดคุยกับนักเขียนและนักประวัติศาสตร์ นริศ จรัสจรรยาวงศ์ เกี่ยวกับเรื่องที่เขาอยากให้ประวัติศาสตร์ 2475 ถูกพูดถึงในวงกว้าง และกลายเป็นป็อปคัลเจอร์ (pop culture) ถึงแม้การตื่นตัวทางการเมืองหลัง 2475 จะเป็นกระแสมากขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถเรียกว่าป็อปคัลเจอร์ได้ ทิศทางของมันในสื่อบันเทิงยังมีไม่มาก และที่มีอยู่ก็เป็นชุดเรื่องเล่าจากฝ่ายปรปักษ์กับคณะราษฎร และไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติ 2475 ผมจึงอยากให้ประวัติศาสตร์ในช่วง 10 ปีนั้นถูกเล่าในอีกแง่มุมหนึ่งบ้าง 

วินด์: ตอนลองไปค้นข้อมูลเกี่ยวกับคณะราษฎรและการปฏิวัติ 2475 ก็รู้สึกคล้ายกัน คืออยากให้ประวัติศาสตร์ในช่วงทศวรรษแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดเป็นป็อปคัลเจอร์ขึ้นมา ถ้าไม่นับสื่อจากฝ่ายที่เป็นปรปักษ์กับการปฏิวัติ 2475 เท่าที่เห็นผ่านตาจะมีแค่ไม่กี่เรื่องที่พูดถึงประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นอย่างจริงจัง ถ้าให้ยกตัวอย่างชัดๆ ก็จะมี ข้างหลังภาพ นวนิยายของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ถึงแม้เนื้อเรื่องจะอยู่ในช่วงเวลาของการปฏิวัติ แต่ฉากส่วนใหญ่ภายในเรื่องเกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น ไม่ได้มีบรรยากาศในเมืองไทยเสียเท่าไร ดังนั้นผมจึงเลือกนำเสนอภาพ ฉาก และบรรยากาศ ณ ช่วงเวลานั้น เพื่อสร้างความสามารถในการเข้าถึงประวัติศาสตร์ในแง่มุมต่างๆ ให้แก่ผู้คนทั่วไป

เพราะอะไรถึงมองว่าทศวรรษแรกหลังการปฏิวัติเป็นความโดดเดี่ยว

ปอนด์: ด้วยความที่ผมอยากทำละครเวทีที่มีฉากอยู่ในช่วง 10 ปีแรกของการปฏิวัติ 2475 ช่วงเวลานั้นมีหลายสิ่งเกิดขึ้นมากมาย นอกเหนือจากเรื่องการเมืองที่เปลี่ยนแปลง ในแง่ของคนหนุ่มสาวก็มีภาวะความโดดเดี่ยว ความรู้สึกแปลกแยก หรืออะไรบางอย่างที่ไม่สามารถสื่อสารออกไปได้ ซึ่งโดยส่วนตัวผมคิดว่าความโดดเดี่ยวเป็นสิ่งที่ไม่ว่าหนุ่มสาวในยุคสมัยไหนต่างก็ต้องเคยเผชิญไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จึงเกิดเป็นคีย์เวิร์ด ‘โดดเดี่ยว’ ขึ้นมา ในตอนนั้นผมจึงคิดชื่อที่ดัดแปลงมาจากชื่อหนังสือ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ของกาเบรียล การ์เซียร์ มาเกซ (Gabriel García Márquez) ซึ่งมีหลายมิติที่ผมชอบในงานของเขา อาทิ ตัวละครในเรื่องจะมีความโดดเดี่ยวที่ไม่ถูกเข้าใจ และเป็นความโดดเดี่ยวที่ไม่ใช่ความเหงา ซึ่งผมมองว่าตัวละครบางตัวในละครเรื่องทศวรรษแรกแห่งความโดดเดี่ยว ก็มีลักษณะบางอย่างที่คล้ายกับตัวละครในหนังสือเรื่องหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวเช่นกัน แต่ไม่อาจเล่าได้มากกว่านี้เพราะจะเข้าข่ายสปอยล์ (หัวเราะ)

ส่วนหนึ่งผมได้รับอิทธิพลในการคิดชื่อเรื่องมาจากการที่ชอบอ่านหนังสือของ ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) และหนึ่งในเอกลักษณ์ของหนังสือเหล่านี้ก็คือชื่อ หากเราสังเกตจะพบว่าชื่อหนังสือบางส่วนของมูราคามิจะมีความทรีบิวต์ (tribute) โดยหยิบจับชื่อเพลง หนังสือ หรือละครมาดัดแปลง อาทิ หนังสือบันทึกเกี่ยวกับการวิ่งของเขา What I Talk About When I Talk About Running ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือรวมเรื่องสั้นของ เรย์มอนด์ คาร์เวอร์ (Raymond Carver) ที่ชื่อ What We Talk About When We Talk About Love 

อีกประเด็นหนึ่ง ผมมองว่าความโดดเดี่ยวมันมีความเชื่อมโยงบางอย่างกับผู้คนมาโดยตลอด สังเกตเวลามีคอนเทนต์หรือประเด็นที่เกี่ยวกับความโดดเดี่ยวจะมีคนให้ความสนใจ มันเป็นเรื่องที่ดึงดูดความสนใจของผู้พบเห็นเสมอ ผมจึงอยากเล่าเรื่องความโดดเดี่ยวบนฉากประวัติศาสตร์การเมือง ทว่าความยากในการสื่อสารเรื่องราวที่เกี่ยวกับห้วงอารมณ์ คือเราจะเล่าอย่างไรให้คนดูเข้าใจในสิ่งที่จะสื่อ หากเราเล่าความโดดเดี่ยวในเชิงกิริยา คนดูอาจตีความว่ามันคือความเหงา ถ้าเราดูหนังดรามาโรแมนติกของหว่องกาไว (Wong Kar-wai) เรื่อง In the Mood for Love เราจะเห็นฉากในแฟลตของฮ่องกงซึ่งมีคนอาศัยอยู่เต็มไปหมด โดยปกติมนุษย์ไม่น่าเกิดความอ้างว้างขึ้นมาได้ แต่ตัวละครยังคงแสดงออกถึงความโดดเดี่ยว เพราะมันไม่ใช่ความเหงา มันคือความแปลกแยกอะไรบางอย่าง ซึ่งเราจะเล่าเรื่องพวกนี้ได้ยากเนื่องจากมันมีความนามธรรมสูง 

แล้วความยากในการทำละครเวทีอิงประวัติศาสตร์คืออะไร

ปอนด์: แน่นอนว่าความยากคือ เราอยากให้มันมีความถูกต้องมากที่สุด พวกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เช่น ภาษาพูด หรือเครื่องแต่งกาย ที่ถึงแม้จะเล็กน้อยมากๆ แต่มันเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์ในช่วงนั้น ถ้าเป็นไปได้จึงอยากเก็บรายละเอียดพวกนี้ให้มากที่สุด แล้วอาจเพราะเรื่องนี้ด้วยทำให้การเขียนบทค่อนข้างล่าช้า เพราะต้องทำการค้นคว้าข้อมูล ซึ่งตัวข้อมูลการปฏิวัติ 2475 มีการบอกเล่าผ่านคนหลายคน ผ่านหนังสือหลายเล่ม ผ่านข้อมูลหลายชุด และบางชุดก็ไม่ตรงกัน สุดท้ายแล้วต้องใช้เวลาคิดพอสมควรว่าจะเลือกข้อมูลชุดไหนมาเล่า ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแรงกดดัน เพราะด้วยหมุดหมายของเราต้องการให้ประวัติศาสตร์ช่วงการปฏิวัติ 2475 เป็นป็อปคัลเจอร์ ถ้าเราถ่ายทอดออกไปผิด สิ่งที่เราสื่ออาจจะเป็นพิษในภายหลังก็ได้ และอาจกลายเป็นสิ่งที่เข้าถึงไม่ง่ายตามที่คาดหวัง

สุดท้ายแล้วเราก็ตกตะกอนจนลงเอยกับสิ่งที่เรียกว่า ‘วาทกรรมชิงสุกก่อนห่าม’ ที่ถูกมองว่าคณะราษฎรด่วนใจร้อนทำการปฏิวัติเร็วเกินไป เมื่อมองย้อนกลับมาที่การทำงานของพวกเรา หากเรารอให้ทุกอย่างพร้อมเสียก่อน ก็คงไม่มีวันได้ทำออกมา ความตั้งใจที่อยากทำละครเรื่องนี้ให้มันเป็นป็อปคัลเจอร์ก็คงไม่เกิดขึ้น ถ้าเราใช้เวลาค้นคว้าต่อไป รอข้อมูลชุดที่จริงที่สุด ตรงที่สุด ก็ไม่รู้ว่าจะมีสิ่งนั้นเมื่อไหร่ เพราะหนังสือหรือข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิวัติช่วง 2475 มีมากมาย และดูเหมือนว่าในแต่ละปีก็จะมีการตีพิมพ์เกี่ยวกับแง่มุมใหม่ๆ ออกมาเสมอ ถ้าพวกเราเอาแต่รอ อีกหนึ่งทศวรรษข้างหน้าก็คงไม่ได้ทำ 

อีกอย่างหนึ่งถ้าเราซีเรียสกับมันมากไป สุดท้ายแล้วจะมีคนมองว่า ต้องอ่านหนังสือกว่า 50 เล่มเชียวหรือ ถึงจะทำละครได้เรื่องหนึ่ง แทนที่เราจะทำให้เรื่องนี้เข้าถึงง่ายและแพร่หลายมากขึ้น กลับกลายเป็นยิ่งทำให้มันเหมือนเป็นเรื่องที่ไกลตัวเข้าไปอีก สุดท้ายแล้วการปฏิวัติ 2475 หรือคณะราษฎรเอง ทุกคนล้วนเป็นสามัญชน ดังนั้นเรื่องเล่าการต่อสู้ของบุคคลธรรมดาเหล่านี้ ไม่ควรกลายเป็นสิ่งที่ถูกบูชาไว้บนหิ้งจนยากต่อการหยิบยกมาเล่าหรือพูดถึง

การใส่ใจรายละเอียดเล็กน้อย อาทิ บทพูด หรือแม้กระทั่งเครื่องแต่งกายของตัวละคร สำคัญต่อการสื่อสารอย่างไร

ปอนด์: เวลาคนจินตนาการถึงละครพีเรียด (period) ก็มักจะคิดว่าภาษาที่พวกเขาใช้ในยุคนั้นแตกต่างจากเรามาก แต่ความเป็นจริงแล้วพวกเขาใช้ภาษาที่ไม่ได้ต่างจากพวกเราขนาดนั้น ตอนเขียนบทก็จะมีเหตุการณ์ประมาณว่า สิ่งนี้พูดได้พูดไปเลยและสิ่งนี้ข้ามไปดีกว่า บางคำพูดใส่ลงไปก็กลัวว่าคนจะไม่เชื่อ ทั้งที่ความจริงคนยุคนั้นเขาก็พูดคำนี้ แต่คนส่วนใหญ่อาจไม่เชื่อ ด้วยเหตุผลเรื่องยุคสมัยต่าง ผมจึงตัดออกไป เพื่อไม่ต้องมาอธิบายกันภายหลัง อาทิ คำว่า ‘โอเค’ คำนี้มีใช้กันมานานมากแล้ว และในยุคนั้นประเทศไทยก็มีคนเรียนต่างประเทศกันเยอะ เอาเข้าจริงคนในสมัยนั้นเขาใช้คำทับศัพท์มากกว่าเราเสียอีก ด้วยความที่สมัยนั้นคำหลายคำยังไม่ถูกประดิษฐ์ใหม่ 

อีกกรณีหนึ่งก็คือคำว่า ‘สวัสดี’ หลายคนรู้ว่าเป็นคำที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เอาออกมาให้ใช้กันในช่วงหลัง แต่คำว่าสวัสดีมีการใช้กันในกลุ่มนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาก่อนแล้ว และในเรื่องทศวรรษแรกแห่งความโดดเดี่ยวก็มีตัวละครกลุ่มหนึ่งเรียนอยู่อักษรศาสตร์เช่นกัน ผมจึงให้ตัวละครกลุ่มนี้พูดคำว่าสวัสดี มันจึงกลายเป็นเรื่องที่ถ้าใครรู้เกร็ดประวัติศาสตร์ตรงนี้ก็จะสนุก 

ในส่วนของเครื่องแต่งกาย ความจริงค่อนข้างสนุก เพราะเราเล่าเรื่องตัวละครตั้งแต่อยู่ในวัยมัธยม จนกระทั่งเข้าสู่วัยทำงาน ซึ่งแต่ละช่วงก็จะมีสไตล์การแต่งตัวที่เปลี่ยนไป ความสนุกที่ได้ทำงานร่วมกับสไตล์ลิสต์และคอสตูมจึงเกิดขึ้น แต่พอถึงจุดหนึ่ง บางอย่างก็ไม่สามารถออกแบบให้ตรงตามความเป็นจริงได้ เนื่องจากปัญหาทางเทคนิคในวันแสดงจริงและงบประมาณที่จำกัด เราจึงลองแก้ด้วยวิธีการปรับดีไซน์ ถึงแม้ไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ตามยุคสมัย แต่ยังเห็นถึงความเปลี่ยนแปลง ซึ่งผมมองว่าบางอย่างสามารถสลับหรือพลิกแพลงได้ และในสูจิบัตรของทางคณะละครเองก็ระบุไว้ชัดเจนว่า อะไรคือสิ่งที่ตรงตามประวัติศาสตร์ร้อยเปอร์เซ็นต์ อะไรคือสิ่งที่แต่งเติมขึ้นมาเพื่อความบันเทิง

วินด์: บางอย่างที่มันไม่ตรงตามประวัติศาสตร์ หรือเราไม่รู้ว่ามันตรงหรือไม่ อาทิ ฉากการโต้วาทีภายในเรื่อง พวกเราก็ไม่ชัวร์ว่ามันเคยเกิดขึ้นจริง แต่มันเป็นสิ่งที่พวกเราอยากเล่า และมองว่าถ้ามีสิ่งนี้เนื้อเรื่องมันน่าจะสนุก 

ปอนด์: ในเรื่องนี้จะมีเหตุการณ์สำคัญ คือตัวละครจะมาโต้วาทีกัน และเป็นการโต้วาทีในประเด็นดรามาของยุคนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเล่าเรื่องอย่างพวกเราเลือกใช้ เพื่อความย่อยง่าย ความสนุก และความดรามาติก เวลาคนทำอะไรที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ หรือยึดโยงจากเรื่องจริงทางประวัติศาสตร์ มักมีความคิดที่ว่าเรื่องราวเหล่านั้นเป็นเรื่องจริงที่อิงตามประวัติศาสตร์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ทว่าเรื่องราวที่พวกเรานำมาเล่าเป็นเพียงเรื่องแต่งที่มีฉากเป็นประวัติศาสตร์เท่านั้น มันมีการตีความใหม่ มีการดัดแปลง มีการเพิ่มเติมหรือลดทอนเพื่อความบันเทิง เพราะสิ่งนี้ไม่ใช่สารคดี แต่เป็นบันเทิงคดี บางอย่างจึงต้องปรับให้เข้ากับการแสดงละครเวที 

ทศวรรษแห่งความโดดเดี่ยวไม่ได้อ้างอิงมาจากประวัติศาสตร์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นเพียงฉากหนึ่งที่ให้ตัวละครดำเนินเรื่องเท่านั้น ซึ่งเป็นหนึ่งในความตั้งใจของผมด้วย ที่ไม่อยากขายว่าเป็นละครการเมืองมากจนเกินไป 

ทศวรรษแรกแห่งความโดดเดี่ยวเป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ของคนหนุ่มสาวในยุคนั้น เพียงแต่เป็นเรื่องเกิดขึ้นในช่วงเวลา 10 ปีของการปฏิวัติที่เกิดการเปลี่ยนแปลง และทำให้ความสัมพันธ์ของคนหนุ่มสาวเกิดการกระทบหรือรอยร้าว ด้วยความที่ประวัติศาสตร์ช่วงการปฏิวัติ 2475 เป็นยุคสมัยหนึ่ง ผมจึงมองว่าสามารถเล่าอะไรก็ได้ในยุคสมัยนั้น และการลุกขึ้นของคณะราษฎรได้เปิดพื้นที่ว่างให้ชนชั้นสามัญชนได้มีโอกาสและบทบาทในสังคมมากขึ้น 

นอกจากเป็นผู้เขียนบท ผู้กำกับ และนักแสดง เพราะอะไรคุณถึงเลือกแสดงเป็นตัวละครที่ชื่อว่าปกป้อง 

ปอนด์: นอกเหนือจากเรื่องคนไม่พอ (หัวเราะ) ก็คงเป็นเพราะผมรู้จักตัวละครที่ชื่อว่า ปกป้อง ดีที่สุด ด้วยความที่คณะละครเพลย์คูลเป็นคณะละครเล็กๆ ที่ชวนคนรู้จักมาเล่นกัน ประกอบกับปกป้องเป็นตัวละครหลัก และด้วยความที่ผมเป็นคนเขียนบทเอง มันเหมือนกับว่าผมเป็นคนเดียวที่รู้จักตัวละครที่ชื่อว่า ปกป้อง มากที่สุด เพราะผมเข้าใจและรู้สึกกับตัวละครนี้ มันจึงง่ายกว่าที่ผมจะเล่นด้วยตัวเอง 

ตั้งแต่เรียนจบมา ผมห่างหายจากการแสดงไปพอสมควร พอมีโอกาสก็อยากกลับมาเล่นในฐานะนักแสดงอีกครั้ง นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ให้วินเข้ามาช่วยกำกับ ถ้าผมกำกับด้วยตนเอง และแสดงด้วยตนเอง มันจะไม่เห็นข้อบกพร่องของตนเอง อีกอย่างหนึ่งคือ ผมอยากพัฒนาตัวเองในฐานะนักแสดงด้วย 

บทเพลงที่ใช้ประกอบละครเวทีทศวรรษแรกแห่งความโดดเดี่ยวมีวิธีคิดอย่างไร 

วินด์: บทเพลงในเรื่องนี้ผมไม่อยากใช้คำว่าเพลงประกอบ แต่มันเป็นเพลงหนึ่งเพลงที่ผมแต่งขึ้นมาใหม่ให้ตัวละครในเรื่องร้อง ผมคุยกับปอนด์ว่าอยากได้เพลงที่อยู่ในสไตล์ของยุคนั้น และบอกเล่าเรื่องราวที่เราอยากจะนำเสนอ มันจะยากตรงที่เมื่อเพลงไปอยู่ในสถานการณ์นั้นจะสามารถสื่อสารได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่ มันจะสะท้อนตัวละครในฉากนั้นได้ไหม ตอนแรกไม่คิดว่าจะทำเพลงด้วยซ้ำ เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ทศวรรษแรกแห่งความโดดเดี่ยวไม่ใช่ละครเพลง สุดท้ายพูดคุยและตกตะกอนร่วมกันกับทีมว่าควรมีเพลงหนึ่งเพลง จึงเกิดเป็นเพลงนี้ขึ้น

คาดหวังว่าละครเรื่องนี้จะสื่อสารเรื่องใดให้กับคนดู

ปอนด์: ต้องแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นเรื่องของการทำให้ผู้คนตื่นตัวและเข้าถึงเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การปฏิวัติ 2475 มากขึ้น ผมพยายามไม่เล่าเรื่องนี้แบบยัดเยียด ถ้ามันมีมิติที่น่าสนใจ ผมก็กระตุ้นให้เขาไปสืบค้นข้อมูลต่อ พวกเราทำหน้าที่เล่าคร่าวๆ เท่านั้น

ส่วนที่สองคือ การทำให้ทุกคนรู้สึกว่าการปฏิวัติ 2475 เป็นเหตุการณ์ที่ทุกคนสามารถตีความและเล่าต่อได้ ยุคหลังมีคนเขียนฟิกชัน (fiction) เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของท่านปรีดี พนมยงค์ กับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในแง่มุมใหม่ๆ เช่น ความสัมพันธ์เชิงชู้สาว (หัวเราะ) อีกมุมหนึ่งมันคือความน่ารักของการนำเสนอ ซึ่งสะท้อนว่าเรื่องราวของคณะราษฎรเป็นเรื่องราวของสามัญชนจริงๆ ที่สามารถนำมาเล่าต่อ หรือตีความใหม่ได้ 

ทศวรรษแรกแห่งความโดดเดี่ยวไม่ได้ถูกเล่าในแง่มุมที่เชิดชูหรือปรปักษ์กับคณะราษฎร แต่เป็นเรื่องราวที่หยิบฉากการปฏิวัติ 2475 มาเล่า ส่วนเรื่องที่ว่าละครเรื่องนี้เอียงเอนไปฝั่งไหนก็คงขึ้นอยู่กับการตีความของคนดู ถ้าผู้ชมที่เป็นฝ่ายอนุรักษนิยมมาดู ก็อาจไม่เกิดความรู้สึกต่อต้านขึ้น แต่เขาอาจมีแง่มุมที่ตีความไปตามความเข้าใจในฝั่งของตัวเองเสียด้วยซ้ำ เพราะสุดท้ายแล้วประวัติศาสตร์มันขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละคน อ่านหนังสือประวัติศาสตร์ 10 เล่ม จากคนเขียน 10 คน ก็จะได้ชุดความคิดที่ต่างกัน 10 แบบ นอกจากฉากการเมืองที่ฉาบอยู่ข้างหลัง เพื่อผลักดันความสัมพันธ์ของตัวละคร ความรู้สึกโดดเดี่ยวของตัวละครก็จะเข้ามามีบทบาทภายในเรื่อง ซึ่งในฐานะผู้กำกับผมก็อยากรู้ว่ามันจะสามารถสื่อสารกับผู้ชมได้หรือไม่ 

วินด์: ในมุมมองส่วนตัว ช่วงเริ่มก่อตั้งประชาธิปไตย มักถูกเล่าในอีกมุมหนึ่งมาหลายครั้ง ถูกเล่าว่าคนไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลง ถูกเล่าว่าคนติดขัดกับการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง แต่ข้อมูลทางประวัติศาสตร์บางชิ้นก็ชี้ว่า ในยุคสมัยของคณะราษฎรมีการทำกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตย มีการสร้างอนุสาวรีย์ต่างๆ ซึ่งสะท้อนว่ามีมุมที่คนเห็นด้วยและตื่นตัว แต่เรื่องเล่าในช่วงที่ผ่านมามักทำให้ประวัติศาสตร์ชุดนี้ถูกมองในแง่มุมเดียวมาเสมอ พวกเราจึงอยากนำเสนออีกแง่มุมหนึ่งให้ผู้ชม 

นอกเหนือจากประเด็นทางการเมืองก็คือเรื่องของความโดดเดี่ยว ผมเชื่อว่าความโดดเดี่ยวมันเป็นของคนทุกคน มันสามารถใช้ได้หลายอย่างมาก มันเป็นทั้งเกราะป้องกันและอาวุธของเรา ขึ้นอยู่กับคนจะเอาไปใช้และเรียนรู้จากมัน ถ้าหากผู้ชมสามารถรับรู้ถึงสิ่งนี้ได้ ก็เป็นที่พึงพอใจมากแล้ว

ในฐานะคนทำละคร คุณมองว่าอนาคตของละครเวทีไทยจะมีทิศทางอย่างไร

วินด์: ปัจจุบันกระแสละครเวทีดีกว่าแต่ก่อน อย่างน้อยก็ดีกว่าในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ช่วง 30 ปีที่แล้วการละครมันดีกว่านี้มาก ไม่ว่าจะเป็นโขนหรือลิเกเองก็ตาม แต่ช่วงเวลา 10 ปีให้หลังนี้ คณะละครเล็กๆ อาทิ คณะละครพระจันทร์เสี้ยว หรือคณะละครที่เคยจัดแสดงที่สถาบันปรีดีพนมยงค์เองก็แยกย้ายปิดตัวกัน ในช่วงนี้ละครเวทีเพิ่งจะกลับมาเป็นกระแส แต่ต้องยอมรับว่าอยู่ในช่วงเริ่มก่อร่างสร้างตัวเท่านั้น 

คำถามที่ว่าในอนาคตจะเติบโตได้มากแค่ไหน อันนี้ก็พูดยาก ไม่ใช่แค่ตอนนี้คนทำไม่ได้ถูกซัพพอร์ต แต่เป็นเพราะคนดูก็ไม่ถูกซัพพอร์ตเช่นกัน ต้องยอมรับว่าค่าบัตรละครเวทีแม้กระทั่งโรงเล็กๆ ก็มีราคาที่สูง อย่างน้อยก็สูงกว่าการดูหนังในโรงภาพยนตร์แบบปกติ ด้วยรายได้ของคนในประเทศไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ มันจึงทำให้สุดท้ายคนเลือกนอนดูสตรีมมิงอยู่ที่บ้าน แต่คนในแวดวงการละครตอนนี้ก็เริ่มตื่นตัวมากขึ้น 

ล่าสุดเราก็เริ่มคุยกับรุ่นพี่ว่าอยากก่อตั้งสมาคมคนละคร ละครเพลง เพื่อผลักดันในเรื่องนโยบายหรือกฎหมายให้ซัพพอร์ตคนทำละครมากขึ้น ซึ่งในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าอาจมีหวัง ส่วนเรื่องที่ว่าจะขยายไปถึงท้องถิ่นหรือไม่ ก็มองว่ามีทางเป็นไปได้ เพราะช่วงหลังนี้ตามหัวเมืองต่างๆ อาทิ เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต ก็มีความสนใจในเรื่องละครกันมากขึ้น สังเกตได้จากการถือกำเนิดของโรงภาพยนตร์อิสระขนาดเล็ก 

ปอนด์: การเติบของวงการละครไทย ถ้ามองถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ของคณะการละคร ก็มองว่าไม่น่าเป็นห่วงอะไร เพราะมีระบบการเรียนการสอนที่ค่อนข้างดี และยังคงผลิตคนออกมาได้ แต่พวกละครเวทีที่จัดทำโดยคณะอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการละคร เช่น คณะอักษรฯ คณะสถาปัตย์ฯ หรืออื่นๆ ส่วนใหญ่นิสิตเหล่านี้ไม่ได้เรียนการละครมาก่อน มีเพียงความรู้ที่ส่งต่อกันมา และคนในวงการบันเทิงหรือในแวดวงการละครหลายคนก็เติบโตมาจากการแสดงละครเวทีในคณะเหล่านี้ แต่ช่วงหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด ละครเวทีจากคณะอื่นก็ห่างหายไปเยอะ โดยส่วนตัวผมอยากให้เกิดความคิดที่ว่า ใครก็สามารถทำละครเวทีเพื่อความสนุกได้ ซึ่งพวกเราเองก็เริ่มมาจากจุดนั้น จนเติบโตมาถึงขั้นออกมาทำละครจริงจังเป็นของตัวเอง

อยากฝากอะไรถึงภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์อย่างละครเวที

วินด์: คนชอบมองว่าต้องสนับสนุนคนทำเยอะๆ แต่ผมมองว่าสิ่งที่สำคัญกว่าคือ เราต้องซัพพอร์ตคนดู เพราะถ้าไม่มีคนดู ก็ไม่มีคนทำ ต้องคิดถึงคนดูก่อนเป็นอันดับแรก ตอนนี้มีเพียงมูลนิธิละครไทยที่ช่วยซัพพอร์ตกลุ่มคนทำละคร แล้วก็มีหน่วยงานสื่อสร้างสรรค์ที่พยายามผลักดันเรื่องนี้กับรัฐบาล หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาซัพพอร์ตได้ถูกจุด ผมเชื่อว่าแวดวงละครเวทีจะกลับมามีสีสันอีกครั้ง

ปอนด์: ในฐานะเราเป็นคณะละครอิสระเล็กๆ สิ่งที่ยากกว่าการหาที่เล่น คือการหาที่ซ้อม บางทีต้องซ้อมบ้านเพื่อน บางทีต้องซ้อมในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งการซ้อมเป็นหนึ่งในกระบวนการที่สำคัญในการทำละคร ถ้าภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถสนับสนุนเรื่องของสถานที่ซ้อมได้ก็จะดี

สุดท้ายผมย้ำมาเสมอว่า พวกเราพยายามไม่ยกย่องว่าละครเวทีเป็นศาสตร์ที่สูงส่งขนาดนั้น เพราะวิธีคิดแบบนี้อาจผลักคนดูออกไป หรือผลักคนที่จะเข้ามาออกไป สิ่งที่ผมกำลังจะสื่อคือ ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ ทุกคนสามารถเข้าถึงละครเวทีได้ ถ้าภาครัฐสามารถซัพพอร์ตพวกเราด้วยการผลัดดันศาสตร์ละครเวทีให้เข้าถึงคนทั่วไปได้ก็จะดีมาก

“The First Decade of Solitude – ทศวรรษแรกแห่งความโดดเดี่ยว”
บทละครโดย ณัฐภัทร มาเดช / กำกับการแสดงโดย ภวินท์ แย้มกลีบ และ ณัฐภัทร มาเดช

จองบัตรได้ที่ https://playcooltheatre.page365.net/products/75208728
[รับบัตรได้ในวันแสดงบริเวณหน้าโรงละคร]

จัดแสดงวันที่ 23-25 มิถุนายน 2566 จำนวน 5 รอบการแสดง 
ณ GalileOasis สถานีรถไฟฟ้า BTS ราชเทวี

รอบที่ 1 : ศุกร์ 23 มิถุนายน 2566 เวลา 18:00 น.
รอบที่ 2 : เสาร์ 24 มิถุนายน 2566 เวลา 13:00 น.
รอบที่ 3 : เสาร์ 24 มิถุนายน 2566 เวลา 18:00 น.
รอบที่ 4 : อาทิตย์ 25 มิถุนายน 2566 เวลา 13:00 น.
รอบที่ 5 : อาทิตย์ 25 มิถุนายน 2566 เวลา 18:00 น.

Author

กนกวรรณ เชียงตันติ์
ผู้ถูกเลือกให้ปวดหลัง

Photographer

วัชรวิชญ์ ภู่ดอก
กินเก่ง หลงทางง่าย เขียนและถ่ายในคนเดียวกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า