แปลและเรียบเรียง : ณัฐกานต์ อมาตยกุล
Project Censored – โครงการวิจัยทางด้านสื่อมวลชนของมหาวิทยาลัยโซโนมาสเตท (Sonoma State University) สหรัฐอเมริกา มีเป้าหมายเพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับบทบาทของสื่อมวลชนอิสระในสังคมประชาธิปไตย รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์การปิดกั้นข่าวและเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อมวลชนกระแสหลักของสหรัฐ โครงการนี้คอยติดตามข่าวที่ตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในสื่อต่างๆ ทั้งกระแสหลักและอิสระ จากนั้นจะคัดข่าวจำนวน 25 ข่าวประจำปี ที่โครงการเห็นว่ามีความสำคัญ แต่กลับถูกสื่อกระแสหลักมองข้าม
กระบวนการคัดสรรข่าวเริ่มจากเปิดให้นักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ บรรณารักษ์และประชาชนทั่วโลก เสนอข่าวที่คิดว่ามีความสำคัญเข้ามา ซึ่งมีประมาณ 700-1,000 ข่าวต่อปี จากนั้น คณาจารย์ นักศึกษาและสมาชิกในชุมชนมหาวิทยาลัยกว่า 200 คน จะร่วมมือกันทำวิจัยทั้งหัวข้อข่าว เนื้อหา ความน่าเชื่อถือของข้อมูลและความสำคัญของข่าวนั้นๆ จนคัดกรองเหลือ 25 ข่าวที่เห็นว่าสำคัญที่สุด ส่งต่อไปให้คณะผู้ตัดสินของโครงการลงคะแนนจัดอันดับ
และข่าวอันดับ 6-10 มีดังนี้
6. เครือข่ายองค์กรกระจุกหนึ่งครอบงำเศรษฐกิจของทั้งโลก
ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยซูริกพบว่ามีเพียงกลุ่มบริษัทวงแคบๆ กลุ่มหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นธนาคารพาณิชย์ กุมอำนาจเหนือชะตาเศรษฐกิจของทั้งโลกไว้อย่างทรงพลัง ในขั้นตอนแรก การศึกษาชิ้นนี้ได้สำรวจบรรษัทข้ามชาติทั้ง 43,060 แห่งและสืบสาวเครือข่ายใยความสัมพันธ์ไปสู่ตัวเจ้าของกิจการที่แท้จริง
จากการวิเคราะห์เครือข่ายเหล่านี้พบว่ามีเพียง 147 บริษัทเท่านั้นที่กุมอำนาจสูงสุดในบริษัทลูกทั้งหลาย เป็นตัวควบคุมความมั่งคั่งรวมของเศรษฐกิจโลกไปถึงร้อยละ 40 การที่เครือข่ายความสัมพันธ์มีลักษณะเล็กและแคบเป็นตัวบ่งชี้ว่าเครือข่ายนี้มีแนวโน้มจะพบความเสี่ยงที่เป็นระบบหรือความเสี่ยงในลักษณะลูกโซ่ (Systemic Risk) และมีความเปราะบางที่จะเกิดการล่มสลายในที่สุด
7. 2012 ปีแห่งสหกรณ์สากล
องค์การสหประชาชาติได้แต่งตั้งให้ปี 2012 เป็นปีแห่งสหกรณ์สากล ตามข้อมูลของยูเอ็นพบว่า ผู้คนเกือบพันล้านคนทั่วโลกเป็นสมาชิก(และเจ้าของ)สหกรณ์ อีกทั้งยังมีการคาดการณ์ว่ากิจการสหกรณ์จะเป็นรูปแบบธุรกิจที่เติบโตไวที่สุดก่อนปี 2025 สหกรณ์ซึ่งมีรูปแบบที่ให้แรงงานได้เป็นเจ้าของกิจการไปด้วยนั้นนำไปสู่การกระจายความมั่งคั่งที่เท่าเทียมและเกิดความผูกพันกับองค์กรที่พวกเขาทำงานอย่างแท้จริง ซึ่งสองสิ่งนี้เป็นปัจจัยสำคัญของการทำธุรกิจแบบยั่งยืน
8. อาชญากรรมสงครามนาโต้ในประเทศลิเบีย
องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต ได้ประกาศเหตุผลของการเข้าไปในลิเบียไว้ว่าเป็นไปเพื่อหลักสิทธิมนุษยชน แต่ผลกลับกลายเป็นอะไรที่ไปไกลกว่าความมีมนุษยธรรมมาก ในเดือนกรกฎาคม ปี 2011 อากาศยานของนาโต้ทิ้งระเบิดลงในศูนย์ผลิตน้ำประปาซึ่งเป็นที่มาของน้ำประปาที่ประชาชนประมาณร้อยละ 70 ของทั้งประเทศใช้กัน นอกจากนี้ นาโต้ยังล้มเหลวที่จะแสดงท่าทีเป็นกลางและไม่มีอคติ บีบีซียังได้เปิดเผยอีกว่า จากข้อมูลที่สื่อมวลชนอิสระได้เผยแพร่มาเป็นเวลาเกือบ 1 ปี แสดงให้เห็นว่าหน่วยรบพิเศษแห่งสหราชอาณาจักรเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนกองกำลังฝ่ายปฏิวัติลิเบีย (Freedom Fighters) จนกระทั่งพวกเขาได้รับชัยชนะ
9. ทาสในคุกอเมริกันยุคปัจจุบัน
จำนวนประชากรทั้งหมดในสหรัฐนับเป็นเพียงร้อยละ 5 ของประชากรโลก แต่จำนวนนักโทษในคุกสหรัฐนั้นมีจำนวนมากกว่าร้อยละ 25 ของนักโทษที่ถูกจำคุกทั่วโลก นักโทษหลายคนเป็นแรงงานที่มีค่าแรงเพียง 23 เซนต์ต่อชั่วโมง ทำงานอยู่ในเรือนจำกลางที่บริหารงานโดย UNICOR ภายใต้การกำกับของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งองค์กรดังกล่าวเป็นองค์กรกึ่งสาธารณะกึ่งแสวงหากำไร จัดเป็นผู้รับจ้างของรัฐบาลที่ใหญ่เป็นอันดับ 39 ในขณะที่จำนวนนักโทษคุมขังพุ่งสูงขึ้นในสหรัฐ นักโทษเป็นพัน ๆ คนก็ถูกจับขังเดี่ยว แม้ส่วนใหญ่จะกระทำความผิดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
10.กฎหมาย HR 347 อาจทำให้การชุมนุมโดยสงบทั้งหลายกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
เดือนมีนาคม 2012 บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ลงนามผ่านกฎหมาย HR 347 หรือพระราชบัญญัติอาคารและเขตพื้นที่หวงห้าม ฉบับแก้ไขปี 2011 โดยกฎหมายดังกล่าวได้ระบุให้การรุกล้ำหรือการยืนหยัดอยู่ในพื้นที่ที่ถูกระบุว่าเป็น ‘เขตหวงห้าม’ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แม้นักวิชาการทั้งหลายจะยังมีการถกเถียงกันว่าการเพิ่มเติม
กฎหมายดังกล่าวเป็นการจำกัดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ หรือเป็นการทำให้การชุมนุมยึดพื้นที่เป็นอาชญากรรมมากน้อยแค่ไหน แต่อย่างไรก็ดีมันก็ได้เปิดทางให้หน่วยตำรวจอารักขาประธานาธิบดี (United States Secret Service: USSS) มีโอกาสใช้อำนาจเกินขอบเขตเพื่อจับกุมผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบ ทั้งนี้เป็นเพราะมีการลดเงื่อนไขด้านเจตนาในการฟ้องการกระทำที่เป็นอาชญากรรม
(โปรดติดตามข่าวลำดับ 11-15 ได้ในวันถัดไป)
****************************
(ที่มา : projectcensored.org)