25 ข่าวที่ไม่เป็นข่าวแห่งปี 2016-2017 (5)

‘Project Censored’ โครงการวิจัยทางด้านสื่อมวลชนของมหาวิทยาลัยโซโนมาสเตท (Sonoma State University) สหรัฐอเมริกา มีเป้าหมายเพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับบทบาทของสื่อมวลชนอิสระในสังคมประชาธิปไตย รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์การปิดกั้นข่าวและเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อมวลชนกระแสหลักของสหรัฐ โครงการนี้คอยติดตามข่าวที่ตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในสื่อต่างๆ ทั้งกระแสหลักและอิสระ จากนั้นคัดเลือกออกมาเป็น 25 ข่าวประจำปี ที่โครงการเห็นว่ามีความสำคัญ แต่กลับถูกสื่อกระแสหลักมองข้าม

กระบวนการคัดสรรข่าวเริ่มจากเปิดให้นักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ บรรณารักษ์ และประชาชนทั่วโลก เสนอข่าวที่คิดว่ามีความสำคัญเข้ามา มีประมาณ 700-1,000 ข่าวต่อปี จากนั้นคณาจารย์ นักศึกษา และสมาชิกในชุมชนมหาวิทยาลัยกว่า 200 คน จะร่วมมือกันทำวิจัยทั้งหัวข้อข่าว เนื้อหา ความน่าเชื่อถือ ของข้อมูลและความสำคัญของข่าวนั้นๆ จนคัดกรองเหลือ 25 ข่าวที่เห็นว่าสำคัญที่สุด ส่งต่อไปให้คณะผู้ตัดสินของโครงการลงคะแนนจัดอันดับ

นี่คือ 25 ข่าวที่ไม่เป็นข่าวในปี 2016-2017 ลำดับที่ 5-1


5. Big Data เทคโนโลยีและทุนลับๆ ของการเลือกตั้ง 2016

ในแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีของ โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อปี 2016 โรเบิร์ต เมอร์เซอร์ (Robert Mercer) มหาเศรษฐีนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ปีกขวาคือผู้บริจาคเงินอันดับ 1 คือ 13.5 ล้านดอลลาร์ และนอกจากนี้เมอร์เซอร์ยังมีส่วนกับการใช้ ‘ข้อมูล’ ต่างๆ มาสร้างสิ่งที่เรียกว่า Trump Revolution

เมอร์เซอร์ให้เงินสนับสนุน Cambridge Analytica บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นผู้เชี่ยวชาญการวางแผนการจัดการยุทธศาสตร์การเลือกตั้งด้วยการเก็บข้อมูลจากอเมริกันชนเป็นรายบุคคล แคโรล แคดวอลแลเดอร์ (Carole Cadwalladr) รายงานไว้ใน Guardian เมื่อกุมภาพันธ์ 2017 ว่า Cambridge Analytica ออกมาโอ้อวดว่า พวกเขามีข้อมูลทางจิตวิทยาที่อ้างอิงจากข้อมูลนับพันสำหรับชาวอเมริกัน 220 ล้านคน ซึ่ง เจน เมเยอร์ (Jane Mayer) และนักข่าวอิสระรายอื่นก็บอกว่า เมอร์เซอร์ Cambridge Analytica และกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อล่อลวงสร้างความนิยมให้กับทรัมป์

โจนาธาน อัลไบรท์ (Jonathan Albright) ศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารมวลชนจากมหาวิทยาอีลอน (Elon University) ในนอร์ธแคโรไลนา บอกว่า เว็บไซต์อย่างกูเกิลถูกชี้นำผลการค้นหาให้เข้าทางฝ่ายขวา เขาเขียนผังระบบนิเวศข่าวสาร (news ecosystem) และพบว่า ลิงค์นับล้านไปหาเว็บฝ่ายขวาที่ครอบครองสื่อกระแสหลัก

ในรายงานของ Guardian และ New Yorker อัลไบรท์อธิบายว่า Cambridge Analytica ไม่ต่างจากเครื่องจักรสร้างโฆษณาชวนเชื่อที่ติดตามผู้ใช้จากเว็บไซต์ เช่น สื่อฝ่ายขวา Breitbart เก็บข้อมูลมา แล้วทำการโปรยโฆษณาและข้อความต่างๆ ที่เป็น propaganda บนเฟซบุ๊คของผู้ใช้งานคนนั้น – หนักกว่านั้นคือ เงินส่วนหนึ่งที่ สตีฟ แบนนอน (Steve Bannon) ใช้หล่อเลี้ยงสำนักข่าว Breitbart ก็มาจากเมอร์เซอร์เช่นกัน

ความรวยของมหาเศรษฐีผู้นี้ยังไม่จบ ตั้งแต่ปี 2010 เขาบริจาคเงินรวมๆ แล้วประมาณ 95 ล้านดอลลาร์ให้แคมเปญหาเสียงของฝ่ายขวา และกิจกรรมอื่นๆ ที่แคดวอลแลเดอร์รายงานใน Guardian เช่น สถาบัน Heartland Institute กลุ่มต้านโลกร้อน และ Media Research Center องค์กรที่อ้างตัวว่าเป็นผู้เฝ้าระวังสื่อ แต่ เจน เมเยอร์ ก็ระบุใน New Yorker ว่า เมอร์เซอร์เป็น “นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่ฉลาดมาก” ที่ “ไม่เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับแนวคิดทางการเมืองของตัวเองเลย”

Cambridge Analytica เป็นส่วนหนึ่งของบริษัทสัญชาติอังกฤษ Strategic Communication Laboratories ซึ่ง ฮานเนส กราสเซกเกอร์ (Hannes Grassegger) และ มิคาเอล โครเกรัส (Mikael Krogerus) รายงานว่า ซีอีโอของ Cambridge Analytica อเล็กซานเดอร์ นิกซ์ (Alexander Nix) เคยเผยแพร่คำพูดผ่านสื่อขององค์กรในวันที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งว่า “เราตื่นเต้นกับการปฏิวัติการใช้ข้อมูล data-driven เป็นเครื่องมือ และมีส่วนสำคัญในการชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้อย่างเหลือเชื่อของทรัมป์”

สำหรับบรรดา ‘ข้อมูล’ ทั้งหลายมาจากการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดีย อีกส่วนหนึ่งคือการทำแบบสำรวจทางตรง จากรายงานของกราสเซกเกอร์และโครเกรัส ตั้งแต่กรกฎาคม 2016 มีการใช้แอพพลิเคชั่น Ground Game เพื่อระบุแนวคิดทางการเมืองและลักษณะบุคคลิก เช่น “คนของทรัมป์แค่เดินไปกดกริ่งหน้าบ้าน ทำการพูดคุย แอพพลิเคชั่นจะจับน้ำเสียงมาวัด บรรดาผู้เดินไปทำแบบสอบถามเหล่านี้จะเตรียมตัวร่างบทสนทนาให้เจ้าของบ้านเปิดเผยความเป็นตัวเองออกมา และข้อมูลที่ถูกเก็บผ่านแอพลลิเคชั่นจะถูกส่งกลับไปที่ศูนย์ข้อมูลเลือกตั้งของรีพับลิกัน”

อ้างอิงข้อมูลจาก:
http://projectcensored.org/5-big-data-dark-money-behind-2016-election/

 

4. กฎเพื่อตัดสิทธิ์การโหวตเลือกตั้งประธานาธิบดี

ปี 2013 กรณี เชลบี เคาน์ตี กับ โฮลเดอร์ (Shelby County v. Holder) เป็นจุดเริ่มต้นของกฎหมายเลือกตั้งใหม่ ที่ระบุว่า การกำหนดคัดกรองคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเป็นกฎของเมื่อครึ่งศตวรรษก่อน ไม่ควรนำมาใช้อีกต่อไป จากนี้ทุกคนต้องมีสิทธิ์อย่างเท่าเทียม ภายใต้กฎหมายของรัฐบาลกลาง

รายงานของผู้สื่อข่าวอิสระ อาริ เบอร์แมน (Ari Berman) การเลือกตั้ง 2016 เป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งแรกใน 50 ปี ที่ไม่มีการใช้ปกป้องสิทธิ์ผู้ลงคะแนน โดยเฉพาะกับชาวแอฟริกันอเมริกัน และชนกลุ่มน้อย เมื่อกฎหมายเลือกตั้งในเก้ารัฐและบางส่วนของอีกหกรัฐที่มีเคยมีประวัติการเหยียดผิวไม่ใช้กฎของรัฐบาลกลาง 14 รัฐ รวมถึงรัฐทางใต้และรัฐสำคัญๆ (swing state) ที่ส่งผลต่อการเลือกตั้ง

รัฐดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงกฎเพื่อเป็นการบล็อคโหวต โดยเพิ่มความเข้มงวดในการคัดกรองเอกสารแสดงตัวตนมากขึ้น เช่น เท็กซัสดูรูปถ่ายบนบัตรประชาชน ทำให้เป็นหนึ่งในรัฐที่ผู้ลงคะแนนถูกคัดออกมากที่สุดในประเทศ ส่วนนอร์ธแคโรไลนาก็มีการคัดเลือกจากบัตรประจำตัวเช่นกัน ที่แอริโซนาเปลี่ยนกฎหมายเลือกตั้งที่กระทรวงยุติธรรมเคยปฏิเสธเนื่องจากเป็นการเหยียดชนกลุ่มน้อย ฟลอริดาเปลี่ยนการเลือกตั้งให้ใช้แต่ภาษาอังกฤษเท่านั้น แถมยังย้ายที่ตั้งคูหาในนาทีสุดท้าย ข้อมูลจากคณะกรรมการการเลือกตั้งระบุว่า ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนมากกว่า 300,000 คนถูกตัดสิทธิ์ด้วยเหตุผลจากเอกสารบัตรประจำตัว

พฤษภาคม 2017 เบอร์แมนรายงานบทวิเคราะห์เรื่องผลกระทบจากการบล็อคโหวต จาก Priorities USA – ซึ่งเขาเน้นว่า เป็นหน่วยงานของเดโมแครต – ระบุว่า ความเข้มงวดเอกสารบัตรประจำตัวในวิสคอนซินและอีกหลายรัฐทำให้จำนวนผู้มาลงคะแนนน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ผู้ได้รับผลกระทบก็คือคนแอฟริกันอเมริกันและผู้นิยมเดโมแครต นอกจากนี่้ยังมีการอ้างว่า กฎหมายใหม่ในวิสคอนซินทำให้ผู้มาลงคะแนนถูกตัดสิทธิ์ไปประมาณ 200,000 คน ซึ่งที่วิสคอนซิน โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะแค่ 22,000 คะแนน

Priorities USA ยังพบหลักฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับการออกกฎเข้มเกี่ยวกับเอกสารบัตรประจำตัวของคนแอฟริกันอเมริกันเพื่อตัดสิทธิ์การโหวต ในรัฐที่มีประชากรแอฟริกันอเมริกันไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อครั้งที่ยังไม่มีกฎใหม่ จำนวนผู้มาใช้สิทธิ์จากปี 2012-2016 เพิ่มขึ้น 1.9 เปอร์เซ็นต์ แต่ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ตัวเลขนี้ลดลงทันที 0.7 เปอร์เซ็นต์ บอร์แมนบอกว่า กฎหมายเอกสารบัตรประจำตัวไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อหยุดการปลอมตัวมาลงคะแนนเหมือนที่พวกเขาอ้าง แต่มันทำให้การโหวตสำหรับคนบางกลุ่มเป็นเรื่องยากเย็นกว่าเดิม

อ้างอิงข้อมูลจาก:
http://projectcensored.org/4-voter-suppression-2016-presidential-election/

 

3. วิดีโออัลกออิดะห์ปลอมๆ ของเพนตากอน

เพนตากอนจ่ายเงินให้บริษัทพีอาร์สัญชาติอังกฤษมากกว่า 600 ล้านดอลลาร์ เพื่อทำคลิปโฆษณาชวนเชื่อในอิรักอย่างน้อยตั้งแต่ปี 2006-2011 ครอฟตัน แบล็ค (Crofton Black) และ อบิเกล ฟีลดิง-สมิธ (Abigail Fielding-Smith) รายงายใน Bureau of Investigative Journalism เมื่อตุลาคม 2016 ว่า บริษัทพีอาร์ Bell Pottinger อดีตพนักงานให้ข้อมูลว่า บริษัทสร้างโปรแกรมทีวีสั้นๆ ที่มีฉากเกี่ยวกับชาวอาหรับและการลุกขึ้นก่อจลาจล

อดีตผู้บริหาร Bell Pottinger ลอร์ดทิม เบลล์ บอกว่า บริษัทของเขาเคยทำงานปิดบังภารกิจทางทหาร “ภายใต้ข้อตกลงลับๆ ที่แตกต่างกัน” เขาบอกว่าเขารายงานไปยังเพนตากอน ซีไอเอ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Council) อ้างอิงจากอดีตพนักงงาน มาร์ติน เวลส์ (Martin Wells) ซึ่งเคยทำหน้าที่ตัดต่อวิดีโอในอิรัก ซึ่งงานนี้ได้รับอนุมัติจาก พลเอกเดวิด ปีแทรอัส (David Petraeus) ผู้บัญชาการภารกิจบุกอิรักขณะนั้น  

มีข้อมูลระบุว่า งานของ Bell Pottinger มีสามแบบ หนึ่ง – โฆษณาที่เผยแพร่ด้านมืดของอัลกออิดะห์ สอง – ข่าวที่ดูเหมือนผลิตโดยสถานีอาหรับ และแบบที่สาม – ภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อของอัลกออิดะห์ ‘ปลอม’ ซึ่งอดีตคนตัดต่อบอกว่า ซึ่งหนังที่บรรจุในซีดีนี้ทหารจะเอาไปใส่ไว้ในบ้านของเป้าหมาย มีการเข้ารหัสให้เชื่อมกับบัญชีกูเกิล ซึ่งทำให้กองทัพสหรัฐตามติด IP ได้ทันทีที่ซีดีถูกเล่น

แบล็คและฟีลด์-สมิธรายงานว่า สหรัฐต้องจ้างคนนอกเพราะ “กองทัพเองไม่มีผู้เชี่ยวชาญที่จะมาทำงานในพื้นที่สีเทาของกฎหมายได้” Bell Pottinger จ้างพนักงานทั้งอังกฤษและอิรักประมาณ 300 คน และภารกิจในอิรักนั้นก็ทำเงินให้มากกว่า 100 ล้านดอลลาร์ต่อปี หลังการซื้อขายหุ้นในปี 2012 บริษัท Bell Pottinger เปลี่ยนเจ้าของ ซึ่งตอนนี้ “ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยปฏิบัติการณ์ในอิรักซึ่งจบไปตั้งแต่ปี 2011 เลย”

อ้างอิงข้อมูลจาก:
http://projectcensored.org/3-pentagon-paid-uk-pr-firm-fake-al-qaeda-videos/

 

2. รายจ่ายปริศนา 6.5 ล้านล้านดอลลาร์โดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐ

สำนักงานผู้ตรวจการ (Office of Inspector General: IG) กระทรวงกลาโหมสหรัฐ (Department of Defense’s: DoD) เปิดเผยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2016 ว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา กองทัพสหรัฐใช้จ่ายงบประมาณราว 6.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐที่ไม่สามารถระบุข้อมูลได้

ทั้งนี้เนื่องจากสองหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ สำนักงานผู้ช่วยเลขานุการกองทัพ (Office of the Assistant Secretary of the Army) และหน่วยงานบัญชีและการเงิน (DoD’s Defense Finance and Accounting Service) “ไม่มีการแก้ไขระบบที่เกิดข้อบกพร่อง…และไม่ได้จัดเตรียมคำแนะนำที่เหมาะสมในการปรับปรุงระบบ”

ศัพท์ทางการที่ใช้ในรายงานระบุว่า รายจ่ายส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่ม ‘การปรับปรุงที่ไม่ได้รับการสนับสนุน’ (unsupported adjustments)

เดฟ ลินดอร์ฟ เจ้าของรายงานข่าวสืบสวน ‘The Pentagon Money Pit: $6.5 Trillion in Unaccountable Army Spending, and No DOD Audit for the Past Two Decades’ เดือนกันยายน 2016 รายงานว่า กระทรวงกลาโหม “ไม่มีการติดตาม บันทึก หรือตรวจสอบบัญชีรายจ่ายดังกล่าว ทั้งที่ทั้งหมดมาจากเงินภาษีประชาชนและผ่านการอนุมัติโดยสภาคองเกรส แต่กลับไม่ทราบข้อมูลว่านำไปใช้กับอะไร ใช้อย่างคุ้มค่าหรือไม่ หรือแม้แต่สุดท้ายแล้วเงินเหล่านั้นอยู่ที่ไหน”

ในปี 1996 สภาคองเกรสตรากฎหมายกำหนดให้หน่วยงานรัฐบาลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงกลาโหม กระทรวงศึกษา กระทรวงกิจการทหารผ่านศึก ฯลฯ ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบบัญชีทุกปี

ลินดอร์ฟเขียนในรายงานว่า ขณะที่นักการเมืองจากสองพรรคใหญ่ถูกเรียกร้องให้ตรวจสอบความคุ้มค่าของทุกเพนนีที่ใช้จ่ายไปกับสวัสดิการสาธารณะ หรือครูควรต้องรับผิดชอบต่อการเรียนของเด็กๆ กองทัพกลับไม่ต้องแจกแจงรายจ่ายนับล้านล้านดอลลาร์ที่ใช้จ่ายไป

โธมัส เฮดจ์ส รายงานใน Guardian เมื่อเดือนมีนาคม 2017 ว่า “กระทรวงกลาโหมงดเว้นการแสดงบัญชีตัวเองตลอด 20 ปีมานี้ โดยแจ้งต่อสำนักงานความรับผิดชอบรัฐบาล (Government Accountability Office: GAO) ว่าการเก็บข้อมูลและการจัดการตรวจสอบบัญชีเต็มรูปแบบนั้นใช้เวลานานและมีรายจ่ายมากเกินจำเป็น”

อ้างอิงข้อมูลจาก:
http://projectcensored.org/2-six-trillion-dollars-unaccountable-army-spending/

 

1. ท่อประปาเปื้อนตะกั่ว สัญญาณอันตรายของคนอเมริกัน

เดือนธันวาคม 2016 เอ็ม. บี. เพลล์  (M.B. Pell) และโจชัว ชเนเยอร์ (Joshua Schneyer) สองนักข่าว Reuters รายงานว่า ระดับการปนเปื้อนพิษสารตะกั่วใน 3,000 ครัวเรือนทั่วสหรัฐ สูงกว่าวิกฤติการปนเปื้อนตะกั่วในเมืองฟลินท์ รัฐมิชิแกน สองเท่า ผลการตรวจเลือดล่าสุดระบุว่า ประชาชนกว่า 1,100 คนมีสารตะกั่วปนเปื้อนในเลือดสูงกว่าสี่เท่าเมื่อเทียบกับสถิติที่ฟลินท์ และเหตุปนเปื้อนสารตะกั่วที่เมืองฟลินท์อาจเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ที่กำลังแผ่ขยายอันตรายไปทั่วทั้งสหรัฐ

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมกราคม 2016 ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่เมืองฟลินท์ จากเหตุแหล่งน้ำสำรองของเมืองปนเปื้อนสารตะกั่ว ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากท่อประปาส่งน้ำดื่มที่มีอายุการใช้งานยาวนาน มีการสุ่มตรวจเลือดเด็กๆ ที่นั่น 5 เปอร์เซ็นต์ พบปริมาณตะกั่วในเลือดสูง     

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) ประมาณการว่า เด็กและเยาวชนสหรัฐอายุต่ำกว่า 6 ขวบประมาณ 2.5 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 500,000 คน มีตะกั่วปนเปื้อนในเลือดสูง (ใช้เกณฑ์การปนเปื้อนตะกั่วที่ 5 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร)

เมื่อปี 2012 CDC ปรับปรุงเกณฑ์ปนเปื้อนตะกั่วจาก 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร เป็น 5 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร เนื่องจากมีหลักฐานยืนยันว่า แม้การปนเปื้อนตะกั่วในปริมาณน้อยมากก็ยังส่งผลต่อสุขภาพทารกและเด็กเล็กๆ อย่างถาวร

รายงานสืบสวนสอบสวนของทั้งคู่ในชื่อ ‘Unsafe at Any Level’ (ปนเปื้อนเท่าไหรก็ไม่ปลอดภัย) ขอข้อมูลการตรวจเลือดไปยังทั้ง 50 รัฐ พวกเขาได้รับคำตอบกลับมา 21 รัฐ หรือเพียง 61 เปอร์เซ็นต์ของประชากรสหรัฐ และพบข้อมูลการปนเปื้อนของตะกั่วใน 278 เขตพื้นที่ (แบ่งตามรหัสไปรษณีย์) ซึ่งพบในปริมาณสูงกว่าสถิติที่ฟลินท์อย่างน้อยสองเท่า

เพลล์และชเนเยอร์เปิดเผยว่า หน่วยงานด้านสุขภาพของบางรัฐไม่มีข้อมูล บางรัฐปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือ และอีกหลายรัฐอาจเลือกที่จะไม่ให้ข้อมูล        

มีเพียง 11 รัฐที่เด็กๆ ได้รับการตรวจเลือดทุกคน บางรัฐเลือกตรวจให้เฉพาะเด็กและเยาวชนในพื้นที่เสี่ยง ขณะที่หลายรัฐที่เด็กๆ ควรได้รับการตรวจเลือด รายงานระบุว่า “กว่าครึ่งหนึ่งของเด็กๆ ไม่ได้รับการตรวจเลือด” ทั้งที่เป็นกรณีเสี่ยงซึ่งพวกเขาอาจได้รับตะกั่วสะสม การตรวจเลือดคือวิธีพิสูจน์ที่จะนำไปสู่การป้องกันหรือรักษาได้เร็วที่สุด เพราะการได้รับพิษตะกั่วอาจส่งผลต่อทั้งสุขภาพกายและใจที่รุนแรงได้

ในปี 2012 สมาคมประปาอเมริกัน (American Water Works Association) ประเมินว่า การปรับปรุงระบบและท่อส่งน้ำต้องการเงินลงทุนราว 1 ล้านล้านดอลลาร์ ภายใน 25 ปี ซึ่งจะส่งผลต่อค่าน้ำที่มีแนวโน้มสูงขึ้นไม่ต่ำกว่าสามเท่า      

ในเดือนพฤษภาคม 2017 สื่ออิสระ Democracy Now! รายงานว่าเจ้าของบ้านนับพันรายในฟลินท์ ยังคงแบกรับภาษีและบิลค่าน้ำที่สูงลิ่ว แม้ทางการจะยืนยันว่าน้ำประปาที่นั่นยังไม่ปลอดภัยที่จะดื่มหากไม่ผ่านการกรอง

อ้างอิงข้อมูลจาก:
http://projectcensored.org/1-widespread-lead-contamination-threatens-childrens-health-triple-household-water-bills/

 


ที่มา: projectcensored.org
อ่าน 25 ข่าวที่ไม่เป็นข่าวแห่งปี 2016-2017 ทั้งหมดที่นี่:
25 ข่าวที่ไม่เป็นข่าว ลำดับที่ 10-6
25 ข่าวที่ไม่เป็นข่าว ลำดับที่ 15-11
25 ข่าวที่ไม่เป็นข่าว ลำดับที่ 20-16
25 ข่าวที่ไม่เป็นข่าว ลำดับที่ 25-21

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า