ทรัมป์ทำวงแตก ในความตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน

ประเทศมหาอำนาจรวมทั้งพันธมิตรของอเมริกาที่ได้ลงนามในความตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน รวมทั้งอิหร่านเอง ต่างออกมาส่งเสียงตอบโต้ผู้นำอเมริกันอย่างแข็งขัน หลังจากประธานาธิบดีสหรัฐปฏิเสธการลงนามให้สัตยาบันซ้ำในสัญญาพหุพาคีฉบับสำคัญที่ทำไว้กับอิหร่าน พร้อมยืนยันตรงกันว่า ทุกประเทศจะยังคงยืนหยัดดำเนินการไปตามเงื่อนไขที่ได้กำหนดและลงนามไว้ทุกประการ

เยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และรัสเซีย เห็นพ้องกันกับทางการของสหภาพยุโรปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ในการสนับสนุนความตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน ที่หลายฝ่ายเชื่อกันว่าเสริมหนุนความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยยับยั้งอิหร่านจากความพยายามพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ขณะที่ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรให้บางข้อ

เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว หลังจากสหรัฐถอนตัวออกจากองค์การยูเนสโก ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แถลงด้วยท่าทีดุดันว่าจะไม่ลงนามในสัตยาบันรับรองซ้ำสำหรับข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน พร้อมกล่าวโจมตีอิหร่านว่าอยู่ภายใต้การปกครองที่บ้าคลั่ง (fanatical regime) รวมถึงกล่าวหาว่าอิหร่านสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายในบางประเทศ นอกจากนี้ยังขู่ด้วยว่าสหรัฐอเมริกาอาจจะคว่ำบาตรอิหร่านเพิ่มขึ้นมากกว่าแต่ก่อนอีกด้วยซ้ำ

รัฐบาลอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ออกมาตอบโต้อย่างแข็งขันว่าความตกลงนี้เป็น “ผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของชาติของเรา” และทางการของสหภาพยุโรปกล่าวว่า “ไม่ใช่ว่าประเทศไหนประเทศเดียวจะสามารถยกเลิกข้อตกลงซึ่ง ‘กำลังส่งผลดี’ ไปได้ง่ายๆ”

เฟเดริกา มอเกรินี (Federica Mogherini) หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรปกล่าวในกรุงบรัสเซลส์ว่า “เราไม่สามารถจะระงับข้อตกลงนิวเคลียร์ที่กำลังส่งผลดีอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้ได้เลย”

ประธานาธิบดีอิหร่าน ฮัสซัน รูฮานี (Hassan Rouhani) กล่าวว่า บัดนี้สหรัฐอยู่ในสถานะ “โดดเดี่ยวมากกว่าที่เคยเป็น”

“ประธานาธิบดีจะสามารถยกเลิกสนธิสัญญาพหุภาคีระหว่างประเทศโดยลำพังตนเองได้เชียวหรือ” เขาถาม “เห็นได้ชัดว่าเขาไม่ทราบว่าสนธิสัญญานี้ไม่ใช่ความตกลงทวิภาคีระหว่างอิหร่านกับสหรัฐ”

สิ่งที่เรียกกันว่า ‘ความตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน’ มีชื่อเป็นทางการว่า ‘แผนร่วมปฏิบัติการที่ครอบคลุม’ (Joint Comprehensive Plan of Action: JCPOA) เป็นความตกลงระหว่างประเทศที่ลงนามกันที่เจวีนา เมื่อ 14 กรกฎาคม 2015 ระหว่างอิหร่านกับหกชาติมหาอำนาจ คือ สหรัฐ จีน รัสเซีย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นห้าประเทศสมาชิกประจำแห่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ร่วมกับเยอรมนีและสหภาพยุโรปโดยรวม ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้อิหร่านยุติโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดยแลกกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าต่ออิหร่าน

อย่างไรก็ดี ตลอดเวลาที่ผ่านมา องค์การพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) หน่วยงานสังเกตการณ์ด้านนิวเคลียร์ภายใต้ร่มเงาของสหประชาชาติซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบกิจกรรมนิวเคลียร์ของอิหร่าน ภายใต้การนำของ ยูกิยะ อามาโนะ (Yukiya Amano) ก็ยืนยันว่า รัฐบาลอิหร่านได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อบังคับในความตกลงนิวเคลียร์ดังกล่าวทุกประการ และแถลงย้ำว่า อิหร่านตกอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของระบบงานตรวจสอบด้านนิวเคลียร์ที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก และดำเนินการตามข้อพันธะในสัญญาโดยไม่บิดพลิ้ว

ผู้สังเกตการณ์นานาชาติรายอื่นก็กล่าวเสริมกล่าวว่าอิหร่านได้ปฏิบัติตามความตกลงนี้อย่างสมบูรณ์

ตัวแทนชาติมหาอำนาจในการประชุม Joint Comprehensive Plan of Action (JPCOA) เมื่อปี 2015

สำนักข่าวบางแห่งวิเคราะห์ว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังมุ่งจะทำให้ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านตกอยู่ภาวะปั่นป่วน เนื่องจากสนธิสัญญานี้เป็นผลงานโดดเด่นของสหรัฐอเมริกาในสมัยรัฐบาลบารัก โอบามา ที่สามารถออกมาตรการควบคุมโครงการอาวุธนิวเคลียร์อิหร่านได้สำเร็จ หลังจากผ่านความพยายามอย่างหนักที่ต้องชักนำให้หลายฝ่ายหันมาเห็นพ้องต้องกันตลอดระยะเวลานับหลายปี

ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศท่าทีนี้ พร้อมเรียกร้องให้ใช้มาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ต่ออิหร่าน รวมถึงให้จำกัดโครงการขีปนาวุธของอิหร่านทั้งที่ในความตกลง JCPOA ไม่ได้ครอบคลุมถึงอีกด้วย หลังจากเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา อิหร่านประกาศอ้างความสำเร็จในการทดสอบขีปนาวุธพิสัยกลางรุ่นใหม่ของตนที่มีระยะยิงไกลถึง 2,000 กิโลเมตร

ภายใต้กฎหมายของสหรัฐประธานาธิบดีจะต้องพิจารณาและลงนามรับรองซ้ำในทุกๆ 90 วัน ว่าอิหร่านปฏิบัติตามพันธะในความตกลงนิวเคลียร์ เท่าที่ผ่านมา ทรัมป์ได้ลงนามรับรองไปแล้วสองครั้งในแบบค่อนข้างลังเลใจ แต่ปฏิเสธที่จะรับรองในครั้งที่สามนี้ก่อนกำหนดเส้นตาย 15 ตุลาคม และนับจากนี้สภาคองเกรสมีเวลา 60 วัน เพื่อพิจารณาว่าจะรื้อฟื้นมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านขึ้นมาใช้อีกครั้งหรือไม่

ทรัมป์ได้แถลงท่าทีชัดเจนว่า ถ้าสภาคองเกรสไม่ทำเช่นนั้น เขาจะยกเลิกข้อตกลงนี้ ท่ามกลางความหวั่นเกรงของชาติที่เกี่ยวข้องว่าผู้นำสหรัฐจะถอนตัวออกจากความตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน

นอกจากนี้ ในการประกาศการเปลี่ยนแปลงนโยบายสำคัญของสหรัฐ ทรัมป์ยังได้กล่าวโจมตีอิหร่านทั้งเรื่องการพัฒนานิวเคลียร์และขีปนาวุธระยะไกล รวมทั้งการสนับสนุนกลุ่มหัวรุนแรงในตะวันออกกลาง

เขากล่าวหาอิหร่านว่า “ไม่มีจิตมุ่งมั่น” ปฏิบัติตามความตกลงนิวเคลียร์ และกล่าวว่าเป้าหมายของเขาคือเพื่อให้แน่ใจว่าเตหะรานไม่มีวันจะครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ได้

เขากล่าวโจมตี ‘กองทัพพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม’ ของอิหร่าน (Islamic Revolutionary Guard Corps) โดยเฉพาะเจาะจงว่าเป็นเหตุให้ต้องคว่ำบาตร และแสดงคำวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเตหะรานอย่างเผ็ดร้อน โดยกล่าวหาว่าเป็นผู้ปฏิบัติการบ่อนทำลายความมั่นคงในซีเรีย เยเมน และอิรัก

“ถ้าเราไม่สามารถหาทางแก้ไขปัญหาได้ทั้งที่กำลังร่วมมือกับสภาคองเกรสและพันธมิตรขณะนี้แล้ว เราก็จะยกเลิกข้อตกลงนี้” ทรัมป์เตือน

“เราจะเห็นว่ามีอะไรเกิดขึ้นในอีกไม่นาน และผมก็สามารถทำสิ่งนั้นได้ในทันที” เขาตอบผู้สื่อข่าวสำหรับคำถามว่าทำไมเขาถึงไม่เลือกที่จะยกเลิกข้อตกลงในตอนนี้เลย

“เราจะไม่เดินตามเส้นทางที่นำไปสู่ข้อสรุปที่คาดการณ์ไว้ว่าเป็นความรุนแรง ความหวั่นผวา และภัยคุกคามแท้จริงของการใช้ระเบิดนิวเคลียร์โดยอิหร่าน” เขากล่าว

พรรคเดโมแครตแห่งสหรัฐอเมริกาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของทรัมป์ วุฒิสมาชิก เบ็น คาร์ดิน (Ben Cardin) กล่าวว่า “ในขณะที่สหรัฐและประเทศพันธมิตรกำลังเผชิญกับวิกฤตินิวเคลียร์กับเกาหลีเหนือ ประธานาธิบดียังอุตส่าห์มาสร้างวิกฤติครั้งใหม่ขึ้นเพื่อโดดเดี่ยวประเทศเราออกจากเหล่าพันธมิตรและผู้ให้ความร่วมมือกับเรา”

เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ อันโตนิโอ กูแตร์เรส (António Guterres) กล่าวว่า เขาหวังอย่างยิ่งว่าความตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านจะยังคงดำรงอยู่ต่อไป

ผู้นำแห่ง ฝรั่งเศส เยอรมนี และสหราชอาณาจักร กล่าวในแถลงการณ์ร่วมว่าทั้งสามประเทศ “มุ่งมั่นผูกพัน” อยู่กับข้อตกลงทั้งหมดและ “รู้สึกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้” ของการที่ทรัมป์ปฏิเสธจะรับรองข้อตกลงอีกครั้ง

ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) แห่งฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เกิล (Angela Merkel) แห่งเยอรมนี และ เทเรซา เมย์ (Theresa May) นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ได้เรียกร้องให้รัฐบาลทรัมป์กับสภาคองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกาพิจารณาถึงผลกระทบต่อความมั่นคงของสหรัฐและพันธมิตร ก่อนจะดำเนินการอย่างใดที่มีผลลบล้างความตกลงฉบับดังกล่าว

รัฐบาลจีนไม่ได้ออกมาแถลงสิ่งใดนับตั้งแต่การกล่าวแสดงท่าทีของทรัมป์ แต่ก่อนหน้านี้จีนเคยส่งเสียงเรียกร้องให้สหรัฐรักษาข้อตกลงนี้

กระทรวงต่างประเทศของรัสเซียกล่าวแสดงความเสียใจต่อการตัดสินใจของทรัมป์ แต่ก็ไม่คาดหวังว่าการดำเนินการต่างๆ ตามข้อตกลงนี้จะต้องยุติลง

รัฐมนตรีช่วยว่าการต่างประเทศของรัสเซีย เซอร์เก ไรยับคอฟ (Sergei Ryabkov) กล่าวว่าท่าทีแสดงออกของทรัมป์เป็น ‘เรื่องน่าหนักใจสุดขีด’ สำนักข่าว RIA รายงาน รัฐบาลมอสโกขณะนี้ถือว่าภารกิจหลักคือการดูแลรักษาความตกลงนิวเคลียร์ไว้ไม่ให้ล่มสลายลงไป ไรยับคอฟกล่าวกับนักข่าว

ประธานาธิบดีอิหร่าน ฮัสซัน ซูฮานี กล่าวถึงผลประโยชน์ร่วมกันใน JCPOA ระหว่างอิหร่านและสหภาพยุโรป ในการพบปะทูตออสเตรียประจำอิหร่านคนใหม่ สเตฟาน โชลซ์ (Stefan Scolz)

ผู้เชี่ยวชาญกิจการระหว่างประเทศเคยออกคำเตือนก่อนการประกาศของทรัมป์ว่าอาจเกิดวิกฤติด้านความมั่นคงในตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออกขึ้นได้ ถ้าเขาปฏิเสธความตกลงอันสำคัญนี้ และนั่นจะเริ่มจุดชนวนสร้างเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้น ที่จะนำไปสู่การล่มสลายของความตกลงนิวเคลียร์

เจ้าหน้าที่แห่งภาคพื้นยุโรปและที่รัสเซียกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงจุดยืนของสหรัฐเพื่อเจรจาต่อรองกันใหม่หรือแก้ไขความตกลงนี้จะก่อความเสียหายอย่างรุนแรงต่อความพยายามยับยั้งการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือและที่อื่นๆ

การบอกล้างสัญญาของสหรัฐจะจุดชนวน “การแข่งขันอาวุธ” ขึ้นในตะวันออกกลางและกลายเป็น “สัญญาณเชิงลบ” ซึ่งอาจผลักดันให้เปียงยางหันเหออกจากการเจรจาในอนาคตเกี่ยวกับโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของตนได้อย่างเป็นทางการ นักการทูตแห่งสหภาพยุโรปคนหนึ่งกล่าว

นักการทูตกล่าวเสริมว่า “ต่อจากนั้นเราก็จะมีวิกฤตนิวเคลียร์เกิดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งไม่จำเป็นเลย”

เจ้าหน้าที่ในเครมลินเตือนว่า การที่สหรัฐผละออกจากความตกลงอาจทำให้สถานการณ์ที่เกี่ยวพันกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน “รุนแรงขึ้นมาก”

ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าการละทิ้งข้อตกลงของสหรัฐจะ “ก่อความเสียหาย…ต่อความสามารถเพื่อจะคาดการณ์ ทั้งด้านความมั่นคง เสถียรภาพ และการไม่แพร่ขยายนิวเคลียร์ไปทั่วโลก” ดมิตรี เปสคอฟ (Dmitry Peskov) เลขานุการด้านสื่อมวลชนของประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) บอกกับนักข่าว

อิหร่านประกาศยืนยันตลอดมาว่าโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของตนมีวัตถุประสงค์เพื่อกิจการพลเรือนเชิงสงบสันติ

ประธานาธิบดีอิหร่าน รูฮานี บอกว่าเขายืนหยัดอยู่กับข้อตกลง แต่จะผละออกไปทันทีหากเกิดสิ่งที่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศ ประธานาธิบดีอิหร่านกล่าวทางโทรทัศน์ถ่ายทอดสดไม่นานหลังการประกาศกร้าวของทรัมป์ “อิหร่านจะยังคงเคารพข้อผูกพันภายใต้ความตกลงนี้ “แต่ถ้าวันหนึ่งผลประโยชน์ของเราไม่ได้รับการเอาใจใส่ เราก็จะไม่ลังเลแม้แต่สักนิดเดียว และจะตอบสนองเช่นเดียวกัน”

ประธานรัฐสภาอิหร่าน อาลี ลาริจานี (Ali Larijani) กล่าวว่า ความตกลงดังกล่าวจะสิ้นสลายไปอย่างแน่นอน ถ้าสหรัฐอเมริกาถอนตัว” สำนักข่าวของรัสเซียอ้างถ้อยคำของลาริจานี ณ เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก รัสเซีย ขณะเขาเข้าร่วมการประชุมรัฐสภาระหว่างประเทศ

“สหรัฐได้เริ่มลงมือดำเนินการซึ่งในที่สุดจะนำทั้งโลกไปสู่ความไร้ระเบียบ”

ลาริจานีกล่าวว่า ประเทศของเขาจะยังคงเคารพข้อตกลงทุกประการ ตราบเท่าที่ฝ่ายอื่นทั้งหมดทำแบบเดียวกัน แต่เขากล่าวว่าเตหะรานมีมาตรการตอบสนองพร้อมอยู่แล้วเพื่อรับมือกับการละทิ้งสัญญาของสหรัฐอเมริกา


อ้างอิงข้อมูลจาก:
reuters.com
afp.com
bbc.co.uk

Author

ไพรัช แสนสวัสดิ์
ทำงานหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาอังกฤษมาทั้งชีวิต มีความสนใจในระดับหมกมุ่นหลายเรื่อง อาทิ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี การเมือง สังคม วัฒนธรรม ศิลปะ จักรยาน ฯลฯ ช่วงทศวรรษ 2520 มีงานแปลทะลักออกมาหลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ Bury my heart at Wounded Knee หรือ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี
ปัจจุบันเกษียณตัวเองออกมาทำงานแปลอย่างเต็มตัว แต่ไม่รังเกียจที่จะแปลและเขียนบทวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ หากเป็นประเด็นที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อชาวโลก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า