Brexit: จาก Vote leave ถึง No deal Brexit

1

23 มิถุนายน 2016 สหราชอาณาจักรจัดให้มีการลงประชามติครั้งสำคัญว่าประเทศจะอยู่หรือออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ EU คำถามที่ใช้ในการลงประชามติมีเพียงคำถามเดียว “สหราชอาณาจักรยังควรเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปหรือออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป”

ผลจากการลงประชามติเมื่อ 3 ปีก่อน ผลักให้สหราชอาณาจักรก้าวขาออกจาก EU ไปแล้วครึ่งก้าว มีผู้ออกเสียงจำนวน 48 เปอร์เซ็นต์ ต้องการให้สหราชอาณาจักรเป็นประเทศสมาชิก EU ต่อ ขณะที่เสียงของกลุ่ม Vote Leave หรือผู้สนับสนุน Brexit คือเสียงส่วนมาก 52 เปอร์เซ็นต์

 

2

นอกจากวิกฤติหนี้สาธารณะของยุโรปช่วงหลังปี 2010 เป็นต้นมา ประเด็นอธิปไตยและการออกกฎหมาย โดยเฉพาะกรณีการควบคุมผู้อพยพหลังสงครามโลกอาหรับตั้งแต่ปี 2011 ก็เป็นอีกประเด็นสำคัญของกลุ่มสนันสนุน Brexit ในการลงประชามติ ‘อยู่หรือออก’ ในครั้งนั้น พวกเขามองว่ากฎระเบียบต่างๆ จากสหภาพยุโรปเป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร ฝ่ายสนับสนุน Brexit เชื่อว่า ต้นทุนการออกจากสหภาพยุโรปไม่น่าจะมีราคาแพงมากนัก พวกเขาฝากความหวังไว้กับการเจรจาหากรอบความสัมพันธ์ใหม่นอกจากการเป็นชาติสมาชิก ซึ่ง EU ก็ต้องพึ่งพาสหราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน

 

3

29 มีนาคม 2017 เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม ประกาศเริ่มต้นกระบวนการทางกฎหมายตามมาตรา 50 (Article 50) ของสนธิสัญญาลิสบอน (Treaty of Lisbon) ที่ผูกพัน 28 ประเทศเข้าด้วยกันเป็นสหภาพยุโรป นั่นหมายความว่า อังกฤษจะออกจากการเป็นประเทศสมาชิก EU โดยสมบูรณ์ในวันที่ 29 มีนาคม 2019 หลังเวลา 23.00 น. ตามเวลากรีนิช

 

4

แต่งานใหญ่ของ เทเรซา เมย์ คือการเจรจาหากรอบความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างสหราชอาณาจักรและประชาคมยุโรป เพื่อควานหาข้อตกลงที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย เพราะเสียงในสภาสามัญชน รวมถึงเสียงของ สส. ภายในพรรครัฐบาลและฝ่ายค้าน ก็ไม่ได้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเสียทั้งหมด

สหราชอาณาจักรใช้เวลา 18 เดือนวิ่งเจรจากับ EU ในประเด็นซับซ้อนต่างๆ เช่น ร่างกฎหมายด้านการเงินการคลัง สถานะของพลเมือง EU และสหราชอาณาจักรในต่างประเทศ รวมทั้งความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างสองฝ่าย

 

5

โครงร่างการจัดความสัมพันธ์หลังแยกตัวที่เรียกว่า Chequers Proposal เป็นข้อเสนอการออกจาก EU แบบ Soft Brexit หมายถึงการถอนตัวแค่เพียงบางส่วน แต่ยังใช้กฎระเบียบทางภาษีศุลกากรร่วมกัน ถือว่ายังเป็นสมาชิกของตลาดร่วมยุโรป และยังให้ประชากร EU และสหราชอาณาจักรโยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่กินประกอบอาชีพในประเทศสมาชิกได้

ร่างข้อเสนอ Chequers Proposal ถือเป็นชัยชนะของฝ่าย Soft Brexit ในทีมรัฐมนตรีของ เทเรซา เมย์ พวกเขาคิดว่าเป็นทางออกที่จะกระทบกระเทือนต่อระบบเศรษฐกิจน้อยที่สุด แต่ก็กลายเป็นความขัดแย้งภายในพรรครัฐบาลด้วยกันและแกนนำ EU

ความคิดเห็นในหมู่แกนนำ EU เรื่องข้อเสนอ Chequers Proposal มีความกังวลว่า ข้อเสนอนี้อาจจะเป็นตัวอย่างไม่ดีให้สมาชิกบางประเทศเอาเยี่ยงอย่างขอถอนตัวออกบ้าง และใช้โมเดลนี้เพื่อรักษาส่วนที่ตัวได้ประโยชน์ ถ้าสมาชิกหลายๆ ประเทศเอาเยี่ยงอย่างแบบนี้ ท้ายที่สุดสมาชิกก็ค่อยๆ ทยอยกันถอนตัวกันหมด ทำให้การรวมตัวของ EU แตกสลาย

6

ข้อเท็จจริงและตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ทยอยกันออกมาในช่วง 3 ปีหลังประชามติ ‘ไม่อยู่กับ EU ต่อ’ สร้างกระแสใหม่ซึ่งวางอยู่บนความกังวลใจต่ออนาคตของประเทศ ข้อมูลใหม่ๆ ทยอยออกมาในแง่ร้าย ประชาชนในประเทศอาจจะยากจนลง อย่างน้อยก็ในระยะแรกถึงช่วงกลางเมื่อถอนตัวออกจาก EU

ผู้สนับสนุนให้ ‘อยู่ต่อ’ ออกมาประกาศว่า ควรให้ประชาชนตัดสินใจกันใหม่ แต่ เทเรซา เมย์ ยืนยันเสียงแข็งเมื่อตอนต้นเดือนกันยายน 2018 ว่าการลงประชามติผ่านพ้นไปแล้ว มีการใช้สิทธิใช้เสียงตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว จะเป็นการทรยศต่อเสียงส่วนใหญ่ ถ้าจัดให้โหวตกันใหม่

 

7

ตามข้อตกลง Brexit ที่เป็นอยู่ก่อนการลงมติรับ-ไม่รับร่างของสภาสามัญชนในวันที่ 15 มกราคม 2019 คือ หลังจากวันที่ 29 มีนาคมนี้ไปแล้วอังกฤษจะยังมีความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปอยู่ในรูปของ Custom Union หรือสหภาพศุลกากรเป็นเวลาหลายปี

ความพยายามของนายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ ที่จะประสานความเห็นต่างระหว่างกลุ่มที่ต้องการ Brexit กับกลุ่มที่ต้องการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอยู่ต่อไป กลายเป็นเรื่องยากเกินกว่าที่จะทำให้เป็นจริงขึ้นได้

 

9

กลุ่มนักการเมืองที่คัดค้านเรื่อง Brexit ต้องการให้ระงับหรือเลื่อนตารางการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปจากวันที่ 29 มีนาคมนี้ออกไป เพื่อพยายามสร้างฉันทามติขึ้นใหม่ในหมู่สาธารณชน ผลการสำรวจความเห็นของชาวอังกฤษแสดงว่ากว่าครึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งต้องการแสดงประชามติเรื่อง Brexit ครั้งที่ 2 โดยเฉพาะ เจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคแรงงาน ที่อาจสนับสนุนการโหวตครั้งใหม่ด้วย

 

10

ช่วงเดือนธันวาคม 2018 หลังรอดพ้นจากการถอนออกจากการเป็นผู้นำพรรคอนุรักษนิยม ด้วยผลโหวตไว้วางใจ 200 เสียงต่อ 117 เสียง เทเรซา เมย์ ยืนยันจะเดินหน้างานด้าน Brexit ต่อไป

พรรค Democratic Unionist Party ของไอร์แลนด์เหนือที่ร่วมรัฐบาล ได้ส่งสัญญาณความกังวลว่า หาก Brexit เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ ไอร์แลนด์เหนือจะถูกปฏิบัติแตกต่างไปจากเขตอธิปไตยอื่นๆ ของอังกฤษ

 

11

ประเด็นพรมแดนระหว่างสหราชอาณาจักรกับไอร์แลนด์คือข้อกังวลสำคัญอีกข้อหนึ่ง เพราะไอร์แลนด์เหนือคือส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร และเป็นประเทศที่มีชายแดนติดกับไอร์แลนด์ซึ่งเป็นสามชิก EU ไอร์แลนด์เหนือจึงมีความกังวลว่า หากกรอบการเจรจาเป็นแบบ Hard Brexit ก็จะทำไห้เกิด Hard Border ระหว่างไอร์แลนด์เหนือกับไอร์แลนด์ อาจเป็นเหตุให้เกิดการเรียกร้องความเป็นเอกราชของไอร์แลนด์เหนือ

 

12

เสถียรภาพทางการเมือง ข้อตกลงหรือรูปแบบการออกจาก EU ที่ไม่ชัดเจน ทำให้หลายฝ่ายรวมทั้ง EU เองกังวลว่า หากยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนถึงข้อตกลงความสัมพันธ์ใหม่ สหราชอาณาจักรจะออกจาก EU แบบ No Deal Brexit หมายถึงถอนตัวออกจาก EU แบบถอนรากถอนโคน ไม่มีข้อตกลงกรอบความสัมพันธ์ทางการค้าใดๆ รองรับหลังถอนตัว

 

13

Brexit Box หรือชุดยังชีพเอาตัวรอดหลัง Brexit ออกวางจำหน่ายในตลาดก่อนหน้าที่สหราชอาณาจักรจะถอนตัวจาก EU มันมีราคาเกือบ 300 ปอนด์ หรือประมาณ 12,300 บาท กล่อง Brexit ประกอบด้วยอาหารแห้งแช่แข็งที่ใช้ประทังชีวิตได้นาน 30 วัน ที่กรองน้ำ และเจลสำหรับจุดไฟ ซึ่งสะท้อนความกังวลต่ออนาคตของคนอังกฤษอย่างชัดเจน

 

14

เมื่อ 15 มกราคม 2019 มาถึง สมาชิกสภาสามัญชนลงมติคัดค้านข้อตกลงถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปที่นายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ เสนอต่อสภาฯ ด้วยคะแนน 432 ต่อ 202 เสียง ถือเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของรัฐบาลอังกฤษ

 

15

นายเจเรมี คอร์บิน ผู้นำฝ่ายค้านจากพรรคเลเบอร์ ได้ยื่นญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งอาจนำไปสู่การจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ เพื่อให้รัฐบาลชุดใหม่กำหนดทิศทางอนาคตของประเทศ

 

16

บีบีซี รายงานว่า เทเรซา เมย์ จะนำเสนอข้อเสนอใหม่ต่อสภาสามัญชน (House of Commons) ในวันจันทร์ที่ 21 มกราคมที่จะถึงนี้ หากไม่สำเร็จ สส.อาวุโสซึ่งไม่ได้ดำรงตำแหน่งในรัฐบาล ได้เสนอ ‘ร่างกฎหมายว่าด้วยการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป ฉบับ 2’ ซึ่งจะทำให้รัฐมนตรีมีเวลาอีก 3 สัปดาห์ในการคิดแผนใหม่มาเสนอต่อสภาฯ
หากยังไม่สำเร็จอีก พวกเขาเสนอให้โอนถ่ายความรับผิดชอบนี้ไปให้กับ ‘คณะกรรมาธิการประสานงาน’ (Liaison Committee) ซึ่งเป็นการรวมตัวระหว่างประธานคณะกรรมาธิการต่างๆ ในสภาสามัญชน ทั้งจากพรรคฝ่ายค้านและพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ให้ร่างข้อตกลงฉบับประนีประนอมขึ้นใหม่ และก็จะเสนอให้ สส. ลงคะแนนเสียงต่อข้อตกลงนี้อีกครั้ง

 

17

กลุ่ม สส. ที่ไม่เห็นด้วยกับ Brexit อีกกลุ่มหนึ่งที่มาจากหลายพรรคเสนอให้ทำประชามติครั้งใหม่เพื่อถามประชาชนว่าต้องการให้สหราชอาณาจักรคงอยู่ในสหภาพยุโรป หรือออกจาก EU ด้วยข้อตกลงของนางเทเรซา เมย์ สส. กลุ่มนี้ระบุว่า ต้องขยายเวลากระบวนการแยกตัวออกจาก EU ตามมาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน เลยวันที่ 29 มี.ค. ออกไป หากจะทำประชามติครั้งใหม่

หากไม่มีการเสนอมาตรากฎหมายใหม่ สหราชอาณาจักรจะต้องออกจาก EU ในวันที่ 29 มี.ค. โดยไร้ข้อตกลง

 

18

ในกรณีสหราชอาณาจักรไม่สามารถมีข้อตกลงกับสหภาพยุโรป (No deal Brexit) จะต้องสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้าการลงทุนต่างๆ ที่เคยมีกับสหภาพยุโรป เนื่องจากการส่งออกสินค้าจากสหราชอาณาจักรไปยังประเทศในสหภาพยุโรปจะต้องถูกเก็บภาษีนำเข้า และเผชิญกับมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษีอื่นๆ (non-tariff barriers) ภายใต้ข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) เหมือนกับประเทศที่อยู่นอกสหภาพยุโรป อาจทำให้การส่งออกสินค้าจากสหราชอาณาจักรไปยังประเทศในสหภาพยุโรปที่มีสัดส่วนการส่งออกสูงถึง 44.3 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าการส่งออกสินค้า ต้องเสียภาษีนำเข้ามูลค่ากว่า 7,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี

สหราชอาณาจักรจะต้องปรับโครงสร้างธุรกิจภายในประเทศครั้งใหญ่ในสินค้าที่มีการเชื่อมโยงกับประเทศในสหภาพยุโรปจนอาจต้องมีการย้ายฐานการผลิตได้ นอกจากนี้ สหราชอาณาจักรจะต้องเร่งทำข้อตกลงทางการค้าก่อนออกจากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการกับประเทศคู่ค้าใหม่ทั้งหมดที่เคยได้รับประโยชน์เมื่อตอนยังเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป แต่ปกติแล้ว การทำข้อตกลงทางการค้าต้องใช้เวลานานในการเจรจากับประเทศคู่ค้า จึงมีแนวโน้มที่การเจรจาข้อตกลงจะไม่สามารถแล้วเสร็จก่อนวันที่สหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 มีนาคม 2019

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า