พาสปอร์ตกับพระราชอำนาจ: ทำความเข้าใจสถานะกษัตริย์ของสหราชอาณาจักรในระบอบประชาธิปไตย

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

พาสปอร์ต (passport) เป็นเอกสารสำคัญอย่างหนึ่งที่ใครหลายๆ คนจำเป็นต้องมีเพื่อใช้ในการเดินทางไปมาระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วหากบุคคลนั้นเป็นบุคคลสำคัญระดับประมุขหรือผู้บริหารประเทศ 

การมีพาสปอร์ตยิ่งเป็นเรื่องจำเป็นในฐานะเป็นตัวแทนของรัฐหรือรัฐบาล ในบางประเทศมีการออกพาสปอร์ตพิเศษสำหรับการเดินทางเพื่อประโยชน์ทางการทูต เช่น หนังสือเดินทางทูต (diplomatic passport) เป็นต้น แต่ก็มีบางบุคคลที่ไม่จำเป็นต้องใช้พาสปอร์ตในการเดินทาง บุคคลนั้นก็คือ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในฐานะประมุขของประเทศสหราชอาณาจักร 

ข้อสำคัญของการอธิบายว่า ทำไมสมเด็จพระราชินีนาถฯ ถึงไม่ต้องใช้พาสปอร์ตนั้น เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้สามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ของสหราชอาณาจักรว่ามีสถานะอยู่ในลักษณะใด และเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจเรื่องสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่

ทำไมสมเด็จพระราชินีนาถฯ ถึงไม่ต้องใช้พาสปอร์ต

พาสปอร์ต หรือหนังสือเดินทาง เป็นเอกสารสำคัญซึ่งออกโดยรัฐบาล เพื่อใช้สำหรับยืนยันตัวบุคคลหรือสัญชาติของบุคคลในการเดินทางระหว่างประเทศ โดยหนังสือเดินทางมาตรฐานนั้นจะประกอบไปด้วยข้อมูลต่างๆ ที่ชี้เฉพาะและยืนยันตัวบุคคล เช่น ชื่อผู้ถือพาสปอร์ต ที่อยู่อาศัย วันเกิด รูปถ่าย ลายเซ็น และข้อมูลระบุตัวตนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการยืนยันตัวบุคคลหรือสัญชาติของบุคคล เป็นต้น โดยทั่วไปนั้นหากไม่มีพาสปอร์ตแล้ว บุคคลจะไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้เลย

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้อาจมีข้อยกเว้นสำหรับบางบุคคลที่อาจไม่ต้องมีพาสปอร์ตเพื่อใช้ในการเดินทาง อย่างสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดยเว็บไซต์ www.royal.uk ได้ให้คำอธิบายในเรื่องนี้ไว้ว่า พิจารณาหนังสือเดินทางของประเทศสหราชอาณาจักรแล้ว เมื่อเปิดหน้าแรกของหนังสือเดินทางจะพบตราแผ่นดิน (Royal Arms) ของประเทศสหราชอาณาจักร พร้อมด้วยข้อความที่ว่า “Her Britannic Majesty’s Secretary of State requests and requires in the name of Her Majesty all those whom it may concern to allow the bearer to pass freely without let or hindrance and to afford the bearer such assistance and protection as may be necessary.” [1]

กล่าวโดยสรุปก็คือ พาสปอร์ตฉบับนี้ออกโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ได้ร้องขอและเรียกร้องในนามของสมเด็จพระราชินีนาถฯ ให้บุคคลทุกคนที่ถือหนังสือเดินทางฉบับนี้ได้รับอนุญาตให้เดินทางอย่างอิสระ โดยปราศจากการขัดขวาง และได้รับความช่วยเหลือและคุ้มครองเท่าที่จำเป็น

ตามนัยดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า ในทรรศนะของประเทศสหราชอาณาจักร เมื่อพาสปอร์ตนั้นออกภายใต้และในนามของสมเด็จพระราชินีนาถฯ แล้ว สมเด็จพระราชินีนาถฯ จึงไม่จำเป็นต้องมีพาสปอร์ตเพื่อใช้ในการเดินทาง เพราะสมเด็จพระราชินีนาถฯ คือผู้อนุญาตให้ทุกคนเดินทาง ผู้อนุญาตจึงไม่จำเป็นต้องอนุญาตให้ตัวเองกระทำสิ่งใดก็ด้วยมีอำนาจที่จะกระทำสิ่งนั้นด้วยตนเองอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ข้อยกเว้นนี้ไม่ได้นำมาใช้กับสมาชิกราชวงศ์พระองค์อื่นๆ รวมทั้งดยุคแห่งเอดินเบิร์ก พระสวามี และเจ้าชายแห่งเวลส์[2] ซึ่งในการเดินทางของทั้งสองพระองค์และสมาชิกราชวงศ์คนอื่นๆ ต้องใช้พาสปอร์ต หลักการดังกล่าวนั้นได้นำมาใช้กับประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ เว้นแต่จะได้มีการยกเว้นหากกรณีดังกล่าวเป็นการกระทำในนามของข้าหลวงใหญ่ ซึ่งมีฐานะเป็นตัวแทนของสมเด็จพระราชินีนาถฯ[3]

นอกเหนือจากพาสปอร์ตแล้ว สมเด็จพระราชินีนาถฯ ยังไม่ต้องมีหนังสือราชการอื่นๆ เช่น ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ เป็นต้น เนื่องจากเอกสารราชการเหล่านี้ออกในนามของสมเด็จพระราชินีนาถฯ เช่นเดียวกัน[4] สิ่งนี้สะท้อนบริบทพิเศษของสถานะสถาบันกษัตริย์อังกฤษ ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป

สถานะของสมเด็จพระราชินีนาถฯ ในระบบกฎหมายสหราชอาณาจักร

ในระบบกฎหมายของสหราชอาณาจักรนั้น สถานะของสมเด็จพระราชินีนาถฯ (หรือสมเด็จพระราชาธิบดี กรณีประมุขของรัฐเป็นผู้ชาย) มีสถานะเป็นนิติบุคคล (พระมหากษัตริย์ในกรณีนี้คือ ในนามสถาบันที่ไม่เจาะจงตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง) ซึ่งกรณีของสมเด็จพระราชินีนาถฯ หรือสมเด็จพระราชาธิบดี จะมีสถานะเป็นนิติบุคคลแสดงแทนรัฐ (State)[5] การกระทำใดๆ ของรัฐจึงกระทำในนามของสมเด็จพระราชินีนาถฯ หรือสมเด็จพระราชาธิบดี ซึ่งเป็นประมุของค์ปัจจุบันนั้นเป็นการกระทำในนามของรัฐ ดังจะเห็นได้จากในบางกรณี เช่น ในการฟ้องร้องดำเนินคดีในศาลสหราชอาณาจักรหรือประเทศในเครือจักรภพ จะใช้ชื่อคดีว่า ‘R v. Defendant’[6] หรือ ‘The Crown and the Defendant’ เป็นต้น 

การทำความเข้าใจสถานะของพระมหากษัตริย์ในระบบกฎหมายของสหราชอาณาจักรนั้น อธิบายแตกต่างจากบริบทของประเทศไทย เนื่องจากมโนทัศน์ที่นำมาใช้ในการอธิบายนั้นแตกต่างกัน อันเป็นผลมาจากการก่อตัวของภูมิปัญญาที่แตกต่างกัน ซึ่งการมีสถานะเป็นนิติบุคคลของกษัตริย์อังกฤษนั้นเกิดขึ้นจากการก่อตัวในทางประวัติศาสตร์ผ่านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบอังกฤษ ก่อนจะคลี่คลายตัวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย

ในทรรศนะของระบบกฎหมายของสหราชอาณาจักร มีข้อความคิดอย่างหนึ่งซึ่งแตกต่างจากข้อความคิดในระบบกฎหมายมหาชนของประเทศอื่นๆ คือ ข้อความคิดที่เรียกว่า ‘เดอะ คราวน์’ (the Crown) ซึ่งอาจเทียบกับข้อความคิดว่าด้วย ‘รัฐ’ ของประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศในระบบประมวลกฎหมาย (civil law)

แนวคิดเกี่ยวกับสถานะของ เดอะ คราวน์ ถูกนำมาใช้ในการอธิบายหลายๆ เรื่อง ในกฎหมายรัฐธรรมนูญแบบจารีตประเพณีของอังกฤษ ในทางหนึ่งอาจหมายถึง พระมหากษัตริย์ในฐานะพระมหากษัตริย์ทั้งในทางสาธารณะและในทางส่วนตัว และอีกทางหนึ่งตามที่ลอร์ดเทมเปิลแมน (Lord Templeman) ได้อธิบายในคำวินิจฉัยของสภาขุนนาง (the decision of the House of Lords) ในคดี M v. Home Office ซึ่งคำว่า เดอะ คราวน์ หมายถึง ฝ่ายบริหารของรัฐบาล รวมถึงพระมหากษัตริย์ รัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐในฝ่ายบริหาร[7]

การอธิบายในลักษณะดังกล่าวนี้เป็นการอธิบายผ่านการก่อตัวของแนวคิดในทางประวัติศาสตร์ของการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อระบอบการปกครองเปลี่ยนแปลงมาสู่ระบอบประชาธิปไตย[8] แนวคิดดังกล่าวจึงพัฒนามาใช้อธิบายฝ่ายบริหารของรัฐบาลที่มีพระมหากษัตริย์เป็นหัวหน้าของฝ่ายบริหาร และเป็นแหล่งอำนาจในทางประวัติศาสตร์[9] ซึ่งเป็นบริบทเฉพาะตัวทางประวัติศาสตร์ของประเทศอังกฤษโดยแท้ โดยสมเด็จพระราชินีนาถฯ หรือสมเด็จพระราชาธิบดี ทรงมีสถานะเป็นพระประมุขของประเทศ และเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารประเทศในทางพฤตินัย แต่ในทางนิตินัยแล้วผู้ใช้อำนาจรัฐคือ คณะรัฐมนตรี โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำการบริหารประเทศ[10]

อย่างไรก็ดี ปัญหาต่อมาคือ เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงมีสถานะแทนรัฐแล้ว ในความเป็นจริงทรงมีอำนาจอย่างแท้จริงหรือไม่

สถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย

บทบาทของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยมีความแตกต่างจากสถาบันกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยเฉพาะการจำกัดบทบาทลงมาจากการเป็นผู้ปกครองกลายมาเป็นการครองราชสมบัติในฐานะประมุขเชิงสัญลักษณ์ของประเทศ และสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์อันยาวนานของประเทศ[11] เช่นเดียวกันกับสถานบันกษัตริย์ของสหราชอาณาจักรและตัวของสมเด็จพระราชินีนาถฯ แม้ดูเหมือนว่าทรงมีอำนาจในการแต่งตั้งขุนนาง การเปิดประชุมรัฐสภา หรือทรงยินยอมให้จัดตั้งรัฐบาลในนามของสมเด็จพระราชินีนาถฯ ทว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงรูปแบบเชิงพิธีการเท่านั้น การกระทำทั้งหมดเป็นการกระทำแทนคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และศาล ซึ่งเป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐตามความสัมพันธ์บนฐานของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในทางกฎหมายแล้ว พระมหากษัตริย์ของสหราชอาณาจักรไม่มีอำนาจทางการเมืองและกฎหมาย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องทางการเมืองและการบริหารประเทศ[12] ซึ่งความสัมพันธ์ของพระมหากษัตริย์ของสหราชอาณาจักรกับองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐเหล่านี้เป็นไปตามหลักการที่เรียกว่า ‘The King can do no wrong’

หลักการ The King can do no wrong หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า ‘พระมหากษัตริย์ทรงกระทำความผิดไม่ได้’ เป็นหลักการที่เกิดขึ้นในพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของสหราชอาณาจักรที่พยายามจำกัดบทบาทและอำนาจของพระมหากษัตริย์เอาไว้ภายใต้กฎเกณฑ์ทางรัฐธรรมนูญ ทำให้การกระทำของพระมหากษัตริย์ที่จะมีผลทางกฎหมายจำเป็นต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเสมอ ซึ่งนัยของการรับสนองพระบรมราชโองการมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ของสหราชอาณาจักรนั้นไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มกระทำการใดๆ ด้วยตนเอง หากแต่บุคคลที่ลงนามสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ตัวอย่างเช่น การลงพระปรมาภิไธยในกฎหมาย ซึ่งต้องมีการรับสนองราชโองการและประกาศให้ทราบในสภาทั้งสองว่าทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว[13] หรือการมีพระบรมราชโองการยุบสภาตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นบทบาทของพระมหากษัตริย์ในฐานะผู้ทรงสนับสนุนนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง

นอกจากนี้ แม้แต่พระราชดำรัสที่ทรงมีต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการ โดยทั่วไปแล้วมักจะต้องได้รับการเตรียมการมาเป็นอย่างดี รวมถึงในบางกรณีจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และสำนักพระราชวัง เช่น พระราชดำรัสในการเปิดประชุมรัฐสภา เป็นต้น ในทางปฏิบัติแล้วพระราชดำรัสโดยส่วนใหญ่ต่อสาธารณชนจึงมักถูกกลั่นกรองมาเป็นอย่างดี[14]

อย่างไรก็ดี ในทางธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ (constitutional conventions) ของสหราชอาณาจักรก็ยอมรับว่า พระมหากษัตริย์ของสหราชอาณาจักรทรงมีสิทธิที่จะได้รับการกราบบังคมทูลและการปรึกษา (The Right to be informed and the right to be consulted)[15] ซึ่ง วอลเตอร์ แบจอต (Walter Bagehot) ได้แบ่งสิทธิดังกล่าวออกเป็น 3 เรื่อง ได้แก่[16] สิทธิที่จะทรงรับการปรึกษาหารือจากรัฐบาล (The Right to be consulted) สิทธิที่จะสนับสนุนรัฐบาล (The Right to encourage) และสิทธิที่จะทรงตักเตือนรัฐบาล (The Right to warn) ซึ่งจะทรงตรัสกับนายกรัฐมนตรีเป็นการส่วนตัวและลับ เมื่อนายกรัฐมนตรีมาเข้าเฝ้า โดยในทางปฏิบัติจะทรงเน้นย้ำถึงความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่มีต่อรัฐสภาและประชาชน และหากนายกรัฐมนตรีเห็นว่าสิ่งดังกล่าวถูกต้องและเหมาะสมแล้วในฐานะประมุขของรัฐก็จะทรงสนับสนุน แต่ทรงอาจให้ข้อสังเกตหากมาตรการหรือนโยบายดังกล่าวไม่เหมาะสม ซึ่งคำแนะนำนี้ไม่มีผลผูกพันนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีให้ต้องปฏิบัติตาม เพียงแต่ทรงทำตามหน้าที่สนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนเท่านั้น

กล่าวโดยสรุป บริบทของประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของสถาบันกษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรนั้น ทำให้สถานะของสมเด็จพระราชินีนาถฯ ในฐานะประมุขของรัฐดูเหมือนมีพระราชอำนาจมากเสมือนทรงเป็นตัวแสดงแทนรัฐ เช่น การเป็นผู้ทรงยินยอมให้ประชาชนสามารถเดินทางได้ตามข้อความบนพาสปอร์ต เป็นต้น ทว่า ในความเป็นจริงสถานะดังกล่าวเป็นเพียงแต่ในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น บทบาทของสถาบันกษัตริย์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยยังคงถูกจำกัดให้มีสถานะเป็นผู้สนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ผ่านการสนับสนุนคณะรัฐมนตรีที่มีเสียงข้างมากในรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน

เชิงอรรถ

[1] ‘Passports’ (The Royal Family) <https://www.royal.uk/passports> accessed 21 April 2024.

[2] Ibid.

[3] Ibid.

[4] Jennifer Newton ‘Royal Rules: This is the reason the Queen doesn’t carry a passport or have a driving licence’ (The Sun) <https://www.thesun.co.uk/living/3988752/this-is-the-reason-the-queen-doesnt-carry-a-passport-or-have-a-driving-licence/> accessed 21 April 2024.

[5] ในระบบกฎหมายอังกฤษนั้นปฏิเสธสถานะของรัฐในฐานะเป็นนิติบุคคล อันเป็นผลมาจากพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ในทางทฤษฎีกฎหมายคอมมอนลอว์ของอังกฤษถือว่า กษัตริย์หรือองค์อธิปัตย์มีสถานะเป็นนิติบุคคลประเภท ‘Corporation Sole’ โดยให้ความสำคัญในฐานะแทนแผ่นดินหรือรัฐ (ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป) การที่กำหนดให้รัฐเป็นนิติบุคคลขึ้นมาต่างหากจะทำให้เกิดความซ้ำซ้อนกัน; ดู โชติ ชูติกาญจน์, ‘ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของนิติบุคคลมหาชนในประเทศไทย’ (วิทยานิพนธ์ นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2561) 20.

[6] ‘R’ นั้นเป็นคำย่อของคำในภาษาละติน 2 คำ คือ Rex (พระราชา) or Regina (พระราชินี).

[7] Cheryl Saunders, ‘The Concept of the Crown’ (2015) 38 Melbourne University Law Review 872, 875.

[8] โชติ ชูติกาญจน์, (เชิงอรรถที่ 5) 20.

[9] Cheryl Saunders, (Foot Note 7) 875.

[10] การเกิดขึ้นของคณะรัฐมนตรีในฐานะฝ่ายบริหารนั้นเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1721 โดย เซอร์โรเบิร์ต วอลโพล เอิร์ลแห่งออร์ฟอร์ด (Robert Walpole, 1st Earl of Orford) ขึ้นมาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากบริบททางประวัติศาสตร์ของประเทศอังกฤษในเวลานั้นที่กษัตริย์ของอังกฤษโดยเฉพาะสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 1 ที่ทรงครองราชสมบัติอังกฤษต่อจากสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์นั้น ทรงเป็นเจ้าชายชาวเยอรมันจากแคว้นฮาโนเวอร์ (Hanover) ซึ่งไม่สามารถตรัสภาษาอังกฤษได้ และทรงใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่แคว้นฮาโนเวอร์ในดินแดนเยอรมัน; ดู Patrick Dunleavy, ‘Prime Minister’ (Britannica, 19 January 2007) <https://www.britannica.com/topic/prime-minister> accessed 4 February 2022 และธราธร มุมทอง, ‘หลัก The King can do no wrong ตามรัฐธรรมนูญอังกฤษ’ (วิทยานิพนธ์ นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2557) 60-61.

[11] วิษณุ เครืองาม, กฎหมายรัฐธรรมนูญ (พิมพ์ครั้งที่ 3, นิติบรรณาการ 2530) 306.

[12] ในบางกรณีพระมหากษัตริย์อาจทรงมีบทบาทในทางการเมืองระหว่างประเทศบ้าง เช่น การเสด็จออกรับทูต หรือการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ เป็นต้น แต่การกระทำในลักษณะดังกล่าวก็เป็นบทบาทที่คณะรัฐมนตรีในฐานะผู้บริหารประเทศได้ร้องขอให้พระมหากษัตริย์ทำในฐานะประมุขของรัฐ เช่น กรณีของสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ซึ่งทรงได้รับการยกย่องให้เป็นผู้มีทักษะทางการทูตที่ดีเยี่ยมพระองค์หนึ่ง หรือการเดินทางเยี่ยมเยือนเครือจักรภพแห่งชาติ (Commonwealth of Nations) ของสมเด็จพระราชินีนาถฯ เป็นต้น ซึ่งเป็นบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง.

[13] ในทางกฎหมายสมเด็จพระมหากษัตริย์ของสหราชอาณาจักรอาจจะใช้พระราชอำนาจยับยั้งร่างกฎหมายได้ แต่ในทางปฏิบัติจะไม่ทรงใช้อำนาจในลักษณะดังกล่าว เนื่องจากร่างกฎหมายนั้นเสนอขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรข้างเดียวกันกับคณะรัฐมนตรีเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งพระมหากษัตริย์ของสหราชอาณาจักรจะได้รับการปรึกษาหารือจากนายกรัฐมนตรีสม่ำเสมอ จึงทรงทราบความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับร่างกฎหมายตลอด ในทางปฏิบัติจึงไม่ได้ทรงใช้พระราชอำนาจในลักษณะดังกล่าว

[14] พระราชดำรัสโดยส่วนใหญ่นั้นจะมีการกลั่นกรองเนื้อหา รวมถึงมีการตรวจสอบเนื้อหาที่จะถูกนำเสนอก่อนหน้าที่สมเด็จพระราชินีนาถฯ จะตรัสต่อหน้าสาธารณชน ทั้งโดยคณะรัฐมนตรีและสำนักพระราชวัง อย่างไรก็ดี พระราชดำรัสเนื่องในวันคริสต์มาส (Royal Christmas Speech) นั้นได้ผ่อนคลายความเคร่งครัดลง โดยเปิดโอกาสให้สมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงมีพระราชดำรัสถึงประชาชนโดยกล่าวสรุปภาพรวมของปีที่ผ่านมาโดยปราศจากความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งในทางปฏิบัติทรงสงวนท่าทีอย่างเป็นกลางและรักษาความน่าเชื่อถือของสถาบันกษัตริย์มาโดยตลอด.

[15] ธงทอง จันทรางศุ, พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ. (บริษัท เอส.ซี.พริ้นท์แอนด์แพค จำกัด 2548) 60.

[16] Walter Bagehot, The English Constitution (Paul Smith Edited, CUP 2001) 59.

เขมภัทร ทฤษฎิคุณ
นักวิจัยประจำฝ่ายกฎหมายเพื่อการพัฒนา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สนใจความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับเศรษฐศาสตร์ สังคม และการเมือง

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า