แนวทางปกป้องราชบัลลังก์ และสถานะอันล่วงละเมิดมิได้

ผมมีโอกาสอ่านสเตตัสเฟซบุ๊กของมิตรสหายท่านหนึ่ง เขาเล่าว่า เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ทนายอานนท์ นำภา เป็นพยานในคดีที่ตนถูกฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เบิกความว่าการที่ตนวิจารณ์ปัญหาเรื่องทรัพย์ส่วนพระมหากษัตริย์เป็น “การกระทำเพื่อปกป้องราชบัลลังก์”

พออ่านจบ ผมก็ฉวยเอาหนังสือรวมเล่มบทความที่รวบรวมโดย อาจารย์ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ว่าด้วยรัชสมัยปัจจุบัน จัดพิมพ์โดย Yale Southeast Asia Studies มาอ่าน บทความหนึ่งที่ผมสนใจเป็นพิเศษ คือ บทความของ เดวิด สเตร็คฟัสส์ (David Streckfuss) หรือ ‘อาจารย์เดฟ’ หนึ่งในนักวิชาการผู้มีความสนใจในประเด็นเกี่ยวกับมาตรา 112 และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในประเทศไทย

ความต่อจากนี้ จะสรุปบทความของอาจารย์เดฟ ชื่อว่า Reining in Reigning Monarchs: The Problematic Legal Status of Kings in Thailand ภายในหนังสือของอาจารย์ปวิน รวมถึงข้อคิดเห็นและบทสนทนาของผมต่ออาจารย์เดฟ 

ใจความของบทความอยู่ที่ ความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ของสถานะทางกฎหมายอันล่วงละเมิดมิได้ของกษัตริย์ในประวัติศาสตร์ยุโรปและไทย สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์และประชาชน รวมถึงกฎหมายควรจะคุ้มครองสถานะเช่นว่าอย่างไร ในบริบทที่ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขทางสังคม 

ในตอนท้าย ผมจะกลับมาพูดถึงกรณีทนายอานนท์อีกครั้ง ว่าเขาและพวกสมควรถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดพระมหากษัตริย์จริงๆ หรือไม่ 

สถานะศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และสถานะเหนือกฎหมายของกษัตริย์

เดวิด สเตร็คฟัสส์ เริ่มต้นอธิบายที่มาและความสัมพันธ์ของสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์ (inviolability) ว่า กำเนิดจากสถานะศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ (sacredness of monarchy) สถานะศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากความมุ่งหมายเพื่อรักษาพระบรมเดชานุภาพของจักรพรรดิโรมัน กฎหมายโรมันจึงมุ่งป้องกันและปราบปรามการแสดงความคิดเห็นเป็นปฏิปักษ์ ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อจักรพรรดิ ก่อกำเนิดเป็นความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่รู้จักกัน

เมื่อจักรวรรดิโรมันหันมานับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกเป็นศาสนาหลัก ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็แตกกิ่งก้านสาขาออกไปเป็นความผิดฐานดูหมิ่นศาสนา (blasphemy) ความผิดฐานนอกรีต (heretics) เป็นต้น 

นอกจากนี้ ศาสนาคริสต์ก็ยิ่งยืนยัน รับรองความศักดิ์สิทธิ์แก่ กษัตริยภาพ (kingship) ของจักรพรรดิโรมัน ว่าทรงมีได้ด้วยการรับสนองอำนาจมาจากพระผู้เป็นเจ้า เป็นเทวสิทธิ์ เพื่อทรงบำเพ็ญหน้าที่ทำนุบำรุงปกครองประชาชนบนโลกมนุษย์ 

รากเหง้าของความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจึงเป็นการหลอมรวมระหว่างอำนาจกฎหมายอาณาจักร และอำนาจบนบาทฐานความเชื่อทางศาสนา เพื่อคุ้มครองรักษาสถานะศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ มิให้ผู้ใดล่วงละเมิดได้ กฎหมายฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและเหตุผลความมุ่งหมายของกฎหมายตกทอดมายังบรรดาจักรวรรดิ ราชอาณาจักรในยุโรปในสมัยกลาง แม้ภายหลังอาณาจักรโรมันจะล่มสลายลงแล้วก็ตาม

เมื่อกษัตริย์มีความศักดิ์สิทธิ์ และได้รับการปกป้องโดยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเช่นนี้ จึงพลอยทำให้ในยุโรปโบราณ กษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย ไม่ทรงมีความรับผิดรับชอบ (accountability) ต่อสาธารณะ และพ้นไปจากการวิจารณ์ทั้งปวงจากสาธารณะ หากมีผู้ตั้งคำถามหรือวิจารณ์ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็จะเข้าจัดการ ทำให้กษัตริย์อยู่ในสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ (inviolability) 

กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อรักษาสถานะอันล่วงละเมิดไม่ได้ในบริบทนี้ จึงเป็นกฎหมายทำนองเดียวกับความผิดดูหมิ่นศาสนาในรัฐศาสนาที่มุ่งรักษาสถานะศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ในร่มเงาของศาสนา 

อย่างไรก็ดี จะเห็นต่อไปว่า วิธีการรักษาสถานะอันล่วงละเมิดไม่ได้ทำนองนี้ ฝ่าฝืนและสวนทางกับความเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดทางเลือกในการให้ความหมายใหม่ต่อสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ของกษัตริย์ เพื่อรักษาสถานะเดิมให้อยู่ได้ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลง 

เมื่อกษัตริย์ในอดีตทรงกระทำผิด

เดวิด สเตร็คฟัสส์ ชี้ให้เห็นต่อไปว่า แม้หลักการโบราณจะคุ้มครองให้กษัตริย์ศักดิ์สิทธิ์ และพ้นไปจากความรับผิดทั้งปวง ทว่ากษัตริย์ก็ทำผิดพลาดได้ในความเป็นจริง โดยอาจารย์เดฟยกตัวอย่างเหตุการณ์ในสงครามกลางเมืองอังกฤษ และปฏิวัติฝรั่งเศส ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18 ตามลำดับ โดยทั้งสองเหตุการณ์มีการนำกษัตริย์มาขึ้นศาลพิเศษพิจารณา รวมถึงเหตุการณ์ประเทศอื่นๆ เช่น เหตุการณ์รัฐสภาสเปนพยายามสืบสวนข้อเท็จจริงการฟอกเงินของพระเจ้าฮวน คาร์ลอส ที่ 2 (Juan Carlos II) เพื่อชี้ให้เห็นความพยายามในแต่ละยุคในการนำกษัตริย์มารับผิดรับชอบในสิ่งที่ทรงกระทำไป 

อย่างไรก็ตาม การนำกษัตริย์มาทรงรับผิดชอบในทางปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ว่าจะเป็นการนำกษัตริย์เข้าสู่กระบวนพิจารณาในชั้นศาล หรือแม้เพียงการสืบข้อเท็จจริงก็ตาม ดังกรณีของสเปนที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้ เพราะต้องเผชิญกับสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ของกษัตริย์ดังที่กล่าวไปแล้ว มิหนำซ้ำในรัฐราชาธิปไตย เมื่อกษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย ผู้ท้าทายยังอาจต้องโทษจากการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นกลไกรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ไว้อีก

ถึงกระนั้น ตัวอย่างสำคัญที่สะท้อนปัญหาของสถานะอันล่วงละเมิดมิได้แบบโบราณที่อิงตามกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและสถานะเหนือกฎหมาย เพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ นำมาสู่การทบทวนและเปลี่ยนแปลงของความหมายสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ในเวลาต่อมาคือ คดีเอิร์ลแห่งสตราฟฟอร์ด (Earl of Strafford) 

ความเบื้องต้นมีอยู่ว่า ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 Earl of Strafford ได้กราบบังคมทูลให้พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 (Charles I) ระดมพลที่ไอร์แลนด์เพื่อปราบกบฏที่ต่อต้านแนวคิดทางศาสนาของพระเจ้าชาร์ลส์ในสกอตแลนด์ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 จึงทรงเรียกประชุมรัฐสภาเพื่ออนุมัติงบประมาณในการระดมพล แต่รัฐสภาไม่อนุมัติ แล้วนำ Earl of Strafford มาขึ้นศาลพิจารณาความผิดฐานกบฏต่อบ้านเมือง (high treason) 

ฝ่าย Earl of Strafford ก็ได้ยกข้อต่อสู้ว่า การที่ตนได้ทำลงไปเนื่องมาจากรับสนองพระบรมราชโองการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ลงมา และด้วยเหตุที่กษัตริย์ทรงเป็นบ่อเกิดแห่งนิติธรรม การรับสนองพระบรมโองการจึงเท่ากับชอบด้วยกฎหมาย และพ้นไปจากความรับผิดทั้งปวง

นัยสำคัญของคดีข้างต้นไม่ใช่อยู่ที่ใครถูกดำเนินคดี ดังจะเห็นว่าไม่ใช่การดำเนินคดีต่อองค์กษัตริย์โดยตรง ทว่า ความสำคัญของคดีนี้คือ การตีวัวกระทบคราด โดยชี้เป็นนัยว่า สิ่งที่พระเจ้าชาร์ลส์ทรงกระทำไปตามคำแนะนำของ Strafford ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือสังคมสัญญาที่กษัตริย์มีต่อประชาชนในการรักษาประโยชน์สุขของมหาชน (common good) โดยยุแหย่ให้กษัตริย์ทรงกระทำการขัดต่อหน้าที่ที่ทรงมีต่อประโยชน์ของมหาชน แล้วทำสงครามเพื่อประโยชน์ส่วนพระองค์ 

นอกจากนี้ การกระทำยังเป็นการดูหมิ่นพระเกียรติยศ พระบรมเดชานุภาพของกษัตริย์มัวหมองเพราะทรงละเมิดหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของพระองค์ไปด้วย

ลงท้าย Earl of Strafford ถูกตัดสินและต้องโทษจากความผิดฐานกบฏต่อบ้านเมือง และถูกประหารชีวิต ทว่าเหตุการณ์ก็บานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายสนับสนุนรัฐสภา และฝ่ายสนับสนุนกษัตริย์ ภายหลังเมื่อรัฐสภาได้รับชัยชนะ คดีดังกล่าวยังผลให้พระเจ้าชาร์ลส์ทรงเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีในความผิดฐานเดียวกัน 

ในกรณีนี้ การดำเนินคดีต่อองค์กษัตริย์ทำโดยศาลที่ตั้งขึ้นเป็นพิเศษ ให้มีเขตอำนาจเฉพาะในพิจารณาคดีดังกล่าว ในคราวนั้น พระเจ้าชาร์ลส์ได้ทรงยกหลัก ‘The King can do no wrong’ มายืนยันสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ (inviolability) เพื่อปฏิเสธเขตอำนาจศาลใดๆ ในโลกมนุษย์เหนือพระองค์ และกล่าวโทษว่าผู้ที่จะดำเนินคดีต่อพระองค์ต่างหากที่เป็นกบฏ 

อย่างไรก็ดี ข้อต่อสู้ของพระองค์ไม่เป็นผล พระเจ้าชาร์ลส์ถูกตัดสินและต้องโทษจากความผิดฐานกบฏต่อบ้านเมือง และถูกประหารชีวิต ทำให้อังกฤษเข้าสู่ช่วงว่างเว้นกษัตริย์เป็นสาธารณรัฐอยู่ชั่วเวลาหนึ่ง 

แม้ภายหลังอังกฤษจะสถาปนาระบอบกษัตริย์ขึ้นใหม่ โดยกราบบังคมทูลเชิญพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 (Charles II) กลับมาทรงราชย์ บทเรียนที่สำคัญจากเหตุการณ์สงครามกลางเมือง คือ การจัดวางความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างกษัตริย์กับสาธารณชน โดยการให้คุณค่าไปที่ประโยชน์ของมหาชน กลายเป็นกษัตริย์เป็นกษัตริย์สาธารณะ (public monarchy) มีความรับผิดรับชอบ (accountability) ต่อสาธารณชน ส่วน ‘มหาชน’ มีสถานะเป็นผู้ทรงสิทธิของรัฐ ที่รัฐและกษัตริย์มีหน้าที่ตอบสนองทำนุบำรุงประโยชน์ของมหาชน ความผิดฐานกบฏต่อบ้านเมืองจึงไม่ใช่การกระทำต่อองค์กษัตริย์อย่างเดียว แต่หมายรวมถึงการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อประโยชน์ของมหาชนด้วย

ต่อมา รัฐสภาอังกฤษได้ยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับประชาชนแบบใหม่ และหลักความเป็นสูงสุดของรัฐสภาให้แน่นอนอีกครั้ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า ‘การปฏิวัติรุ่งโรจน์’ ที่รัฐสภาขับไล่พระเจ้าเจมส์ที่ 2 (James II of England) ผู้ลุแก่อำนาจ ใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ จากนั้นรัฐสภาจึงได้กราบบังคมทูลเชิญ เจ้าหญิงแมรี และ เจ้าชายวิลเลียมแห่งออเรนจ์ (Mary, Princess Royal and Princess of Orange) มาทรงราชย์ร่วมเป็นกษัตริย์สองพระองค์ในแผ่นดินเดียวกันแทน 

หลัก The King can do no wrong จึงค่อยๆ เปลี่ยนความหมายใหม่ เพราะเงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรมใหม่ ที่เล็งเห็นอันตรายของอำนาจล้นพ้นของกษัตริย์ และต้องการจำกัดพระราชอำนาจมากขึ้น โดยมีรัฐสภาเป็นกลไกสำคัญในการจำกัดอำนาจ

วิลเลียม แบล็คสโตน (William Blackstone) ผู้พิพากษาและนักนิติศาสตร์คนสำคัญของอังกฤษในยุคแสงสว่างทางปัญญา ได้พยายามให้ความหมายใหม่แก่หลัก The King can do no wrong ว่า เหตุที่กษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้ เพราะสถาบันกษัตริย์เกิดและมีขึ้นเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนเท่านั้น หากกษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจไปในทางที่เสียหายและเสื่อมเสียต่อประโยชน์ของราชอาณาจักร รัฐสภาย่อมมีสิทธิที่จะเรียกที่ปรึกษาในพระองค์มาซักถามและตรวจสอบได้ หากการใช้พระราชอำนาจของพระองค์ขัดต่อประโยชน์มหาชน ย่อมเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 

ดังนั้น กษัตริย์จึงไม่อาจทรงละเลยกฎหมายได้ เพราะกฎหมายกำหนดให้กษัตริย์มีหน้าที่สอดคล้องกับประโยชน์ของมหาชนเท่านั้น

หากผมจะถอดความให้เข้าใจง่ายสักหน่อย คือ The King can do no wrong หรือสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ของกษัตริย์ในความหมายใหม่ มุ่งหมายว่า หากกษัตริย์จะไม่ทรงทำผิด กษัตริย์ต้องกระทำการสอดคล้องต่อประโยชน์สาธารณะเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนพระองค์ ดังนั้น รัฐสภาในฐานะตัวแทนประชาชนย่อมมีสิทธิและปลอดความผิดที่จะตรวจสอบ ซักถาม ไม่ให้กษัตริย์ทรงทำผิดพลาดได้ 

การตีความความหมายหลัก The King can do no wrong เช่นนี้ ทำให้สถานะอันล่วงละเมิดมิได้ของกษัตริย์ไปกันได้กับประโยชน์สุขของประชาชน กษัตริย์ยังคงเป็นที่เคารพสักการะ เพราะทรงทำตามกรอบของกฎหมายและตอบสนองประโยชน์สาธารณะ โดยนัยนี้ จึงทำให้สถานะอันล่วงละเมิดมิได้ของกษัตริย์ไม่จำเป็นต้องรักษาโดยการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และความผิดฐานกบฏ

นอกจากนี้ อาจารย์เดฟได้ยกตัวอย่างกรณีประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้ทบทวนความหมายสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ และยังคงใช้กฎหมายไม่สอดรับกับเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคม อาทิ รัสเซีย และปรัสเซีย เป็นต้น ที่ยังมุ่งใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และความผิดฐานกบฏ เพื่อรักษาสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ เป็นผลให้สถาบันกษัตริย์เผชิญหน้าเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนตรงๆ เพราะไม่สามารถปรับตัวให้สถานะศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ไปกันได้กับประโยชน์สาธารณะ จึงลงเอยด้วยการสิ้นสุดของระบอบในที่สุด 

สถานะอันละเมิดมิได้แบบใดที่สังคมไทยควรจะเป็น 

ในส่วนสุดท้าย เดวิด สเตร็คฟัสส์ ได้กล่าวถึงสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ทางกฎหมายของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ในทางหลักการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ กษัตริย์ และประชาชน แม้กฎหมายรัฐธรรมนูญไทยรับรองว่า อธิปไตยสูงสุดเป็นของประชาชน หรือคำอธิบายทางจารีตประเพณีว่า สถาบันพระมหากษัตริย์มีอยู่เพื่อประโยชน์สุขของมหาชน เป็นต้น ทว่าความเป็นจริงเครือข่ายที่แอบอิงอยู่กับสถาบันกษัตริย์และกองทัพ กลายมาเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนเสมอๆ  

ในแง่กฎหมายที่รักษาสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ จะเห็นว่าประชาชนที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ถูกดำเนินคดีในความผิดมาตรา 112 หรือความผิดฐานกบฏ อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี บรรดาผู้เชี่ยวชาญทางนิติศาสตร์มักอ้างกันว่า กฎหมายมาตรา 112 มีไว้คุ้มครองสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์ โดยอ้างต่อไปว่าในบรรดาประเทศที่เป็น constitutional monarchy อื่นๆ ก็มีเช่นกัน โดยละเลยความจริงข้อสำคัญไปว่า โทษจำคุกมาตรา 112 ที่สูงผิดปกติ เกิดขึ้นจากอำนาจของคณะรัฐประหารนอกรัฐธรรมนูญ! 

อาจารย์เดฟ ตั้งข้อสังเกตน่าสนใจว่า ในอังกฤษหรือฝรั่งเศสมีการยืนยันสังคมสัญญาระหว่างผู้ปกครองและประชาชนชัดเจน ว่ามีหน้าที่ต่อประชาชนเช่นไร กรณีของไทยที่อธิบายว่าพระมหากษัตริย์ทรงกอปรด้วยทศพิธราชธรรมจริยา ดังพระปฐมบรมราชโองการที่ทรงตั้งพระราชสัตยาธิษฐานไว้เมื่อคราวบรมราชาภิเษก จะถือเป็นคำปฏิญาณ หรือคำสัญญาต่อประชาชนหรือไม่ และหากพระองค์ไม่ทรงปฏิบัติตามราชธรรม จะเท่ากับทรงผิดต่อพระราชสัตยาธิษฐานที่ทรงให้ไว้หรือไม่ 

ผมมีคำตอบเบื้องต้นต่ออาจารย์เดฟว่า พระปฐมบรมราชโองการและราชธรรม ไม่ใช่สังคมสัญญา แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ยุโรปสมัยใหม่ที่กำหนดความสัมพันธ์และหน้าที่ระหว่างผู้ปกครองกับประชาชน เพราะฐานความคิดเรื่องปัญหาการควบคุมการใช้อำนาจผู้ปกครองแบบพุทธโดยราชธรรม ไม่ได้เน้นวิธีแก้ปัญหาไปที่การสร้างระบบและกลไกทางกฎหมายในการควบคุมจำกัดอำนาจผู้ปกครอง นอกจากให้เพียงหลักประกันหลวมๆ แต่เพียงว่า กษัตริย์จะไม่ทรงทำผิดหากทรงมีราชธรรมอยู่แล้วเท่านั้น หากกษัตริย์ทรงขัดต่อพระราชสัตยาธิษฐานที่ให้ไว้ ก็ไม่มีบทแทรกแซง หรือข้อสัญญาใดๆ ที่มนุษย์จะเรียกร้องเอาได้ นอกจากรอคอยบทลงโทษตามกฎแห่งกรรมบันดาลตามธรรมชาติแบบพุทธเท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม การที่ผมกล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า เราไม่สามารถปรับเปลี่ยนความหมายให้ราชธรรมกษัตริย์ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่เปลี่ยนแปรไปได้

ในความเห็นของผม เมื่อสังคมไทยเข้าสู่สมัยใหม่ เกิดพื้นที่สาธารณะ (public sphere) ขึ้น พระมหากษัตริย์ไม่ได้เพียงตอบสนองอำนาจศักดิ์สิทธิ์ระดับจักรวาล (cosmic power) ได้แก่ พระผู้เป็นเจ้า หรือระเบียบธรรมชาติโดยลำพังต่อไป แต่หันมาใส่ใจเสียงของสาธารณชนมากขึ้น กลายเป็นกษัตริย์สาธารณะ (public monarchy)[1] ดังปรากฏจากเนื้อความในพระปฐมบรมราชโองการของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ซึ่งเน้นพระราชภาระของพระมหากษัตริย์ที่มีเพื่อประโยชน์ของมหาชนอย่างชัดเจน[2] ดังพระปฐมบรมราชโองการในคราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 ความว่า 

“อิทานหํ สพฺเพสํ อนุมติยา ราชา มุทฺธาวสิตฺโต สฺยาเมสุ อิสฺสราธิปจฺจํ รชฺชํ กาเรมิธ ธฺมมิกราชปเวณิยา อนุชานามิ ยนฺติ สฺยามวิชิเต อปรปริคฺคหิตํ ติณกฏฺโจทกํ สมณพฺราหฺมณาทโย สพฺเพสฺยามรฏฺฐิกา ยถาสุขํ ปริภุญฺชนุตุฯ”

“ครั้งนี้ท่านทั้งปวงพร้อมใจกัน ยอมให้เราเปนเจ้าครองราชสมบัติได้รับมุรธาภิเษกเปนใหญ่ในสยามราษฎร์วราณาจักรนี้แล้ว เราขออนุญาตยอมให้ โดยธรรมิกราชประเพณี พรรณพฤกษชลธีในสยามราษฎร์วราณาจักรนี้ ซึ่งไม่มีเจ้าของหวงแหนนั้น ตามแต่สมณพราหมณาจารย์ ประชาราษฎรทั้งปวงจะปรารถนาใช้สอยเทอญฯ”[3]

ผมเห็นว่าความข้างต้น แสดงนัยยะว่า แท้จริงสถาบันพระมหากษัตริย์ได้เปลี่ยนแปลงเป็นกษัตริย์สาธารณะแล้วตั้งแต่รัชกาลที่ 4-5 เป็นต้นมา คือ พระมหากษัตริย์ทรงหันมาตอบสนองประโยชน์ของมหาชน ทว่าในปัจจุบัน กฎหมายมาตรา 112 และความผิดกลุ่มเดียวกันที่ปราบปรามผู้คิดเห็นที่แตกต่าง ปัจจุบันกลับเป็นกฎหมายที่เน้นรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของพระมหากษัตริย์ ขัดแย้งกับความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์และประชาชนแบบใหม่ที่เกิดขึ้น ไม่สามารถทำให้พระมหากษัตริย์ทรงตอบสนอง เข้าพระทัยถึงประโยชน์ของมหาชนที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดได้ และไม่ใช่วิธีรักษาสถานะอันล่วงละเมิดมิได้อย่างยั่งยืน 

เพราะฉะนั้น กฎหมายควรมุ่งหมายทำให้ความเปลี่ยนแปลงของประโยชน์สาธารณะ สอดประสานไปพร้อมๆ กับรักษาคุณค่าทางความเชื่อและวัฒนธรรมที่สังคมนั้นยึดถือได้ ไม่ฝ่าฝืนธรรมชาติความเปลี่ยนแปลงของสังคมดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ถึงตรงนี้ อาจารย์เดฟก็ได้เสนอว่า เป็นไปได้หรือไม่ ถ้าเราจะให้แก้ไขทบทวนเนื้อความพระปฐมบรมราชโองการ ให้มีเนื้อหาเป็นข้อสัญญาที่กษัตริย์มีต่อประชาชน และกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจในกรอบกฎหมาย รัฐธรรมนูญ และประโยชน์ของสาธารณะ และมองเสียใหม่ว่า การกระทำที่ขัดต่อกฎหมายและประโยชน์ต่อสาธารณะ เป็นการทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ 

เดวิด สเตร็คฟัสส์ ทิ้งบทสรุปไว้อย่างน่าคิดว่า สถานะอันล่วงละเมิดมิได้เป็นสิ่งที่มีอยู่คู่กับสถาบันกษัตริย์ทั่วโลก รวมถึงสถานะประมุขของรัฐที่ไม่ใช่กษัตริย์ ไม่ใช่สิ่งที่ยกเลิกได้ง่าย โดยเฉพาะสถาบันกษัตริย์มีเหตุผลการมีอยู่ด้วยความเชื่อและขัดกับหลักความเท่าเทียมของมนุษย์อยู่แล้ว การสืบค้นความจริง หรือนำกษัตริย์มาเข้าสู่กระบวนพิจารณาคดีก็มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยครั้ง

อย่างไรก็ตาม วิธีการรักษาสถานะอันล่วงละเมิดมิได้มีได้หลากความหมายหลายทางเลือก เราสามารถรักษาสถานะพิเศษประมุขของรัฐ ซึ่งเป็นบุคคลที่กฎหมายให้ความคุ้มครองเป็นพิเศษ เพราะประมุขเป็นผู้แสดงเจตนาในนามรัฐ ไม่ควรต้องรับผิดในการใช้อำนาจหน้าที่ในกรอบอำนาจตามที่กฎหมายนั้นกำหนดให้ การคุ้มครองแบบนี้เป็นปกติทั่วไปในรัฐโลกวิสัย โดยไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายทำนองดูหมิ่นศาสนา รักษาความศักดิ์สิทธิ์ของประมุขแบบรัฐศาสนา จนประมุขไม่สามารถเท่าทัน ตระหนักถึงความต้องการและประโยชน์สุขของราษฎรแท้จริงได้เลย 

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สถานะอันล่วงละเมิดมิได้ ไม่จำเป็นต้องรักษาไว้ด้วยวิธีการปราบปรามคนที่ท้าทายเสมอไป สามารถปรับเปลี่ยนความหมายให้สอดคล้องกับความต้องการสาธารณะ และเปิดโอกาสให้สาธารณะช่วยกันรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สง่างามสมพระบรมราชอิสริยยศได้อีกด้วย เพื่อให้ประชาชนและพระมหากษัตริย์พึ่งพาอาศัยในสังคมเดียวกัน

แต่หากล่วงละเมิดไม่ได้ เพราะถ้าล่วงละเมิดแล้ว มีกฎหมายปราบปรามคนที่แสดงความคิดเห็นแตกต่าง แน่นอน สถาบันกษัตริย์จะคงศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีใครแตะต้องได้ ราคาที่ต้องจ่ายคือ ต้องเผชิญแรงเสียดทาน เพราะไม่ตอบสนองต่อประโยชน์ของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป 

ภาพจากการชุมนุมเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2563 เพื่อยื่น ‘ราษฎรสาส์น’ ถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 

แต่หากสถาบันกษัตริย์จะยอมปรับเปลี่ยน รับผิดรับชอบ ยอมเปิดเผย ให้สาธารณะได้ตรวจสอบ และปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องความต้องการและผลประโยชน์ของประชาชนบ้าง สถาบันกษัตริย์ก็จะไม่ทำผิด เพราะสิ่งที่ทำไปกันได้กับความต้องการ ผลประโยชน์ของสังคมและประชาชน อีกทั้งสถาบันกษัตริย์ก็ยังอยู่ในสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ โดยไม่ต้องใช้พระเดชปราบปรามความคิดที่แตกต่างด้วยกฎหมาย แต่ทรงทำสิ่งที่ไม่ขัดต่อประโยชน์ของมหาชนเพราะมีประชาชนช่วยกันสอดส่องป้องกันไม่ให้พระมหากษัตริย์ทรงทำผิดพลั้งไปได้นั่นเอง  

ความสำคัญของบทความนี้ จึงอยู่การเสนอและทบทวนความเข้าใจและความหมายของสถานะทางกฎหมายอันล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์เสียใหม่ ให้สอดคล้องกับประโยชน์สาธารณะและความเปลี่ยนแปลงของสังคม

หากกลับมาดูกรณีที่ทนายอานนท์เบิกความว่า เขาต้องการปกป้องราชบัลลังก์ สิ่งที่เขาพูดจริงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า สังคมต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในสถานะอันล่วงละเมิดมิได้โดยรูปแบบและวิธีการใด 

สำหรับผม สิ่งที่ทนายอานนท์กล่าว สอดคล้องและเคารพสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์แล้ว เพราะทนายอานนท์คือประชาชน ช่วยเป็นหูเป็นตาต่างพระเนตรพระกรรณ ให้สถาบันพระมหากษัตริย์ยังคงตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงและประโยชน์สาธารณะ ป้องกันไม่ให้พระมหากษัตริย์ทรงผิดพลั้งไป  

ทั้งหมดขึ้นอยู่กับสังคมไทย ว่าเราต้องการให้กษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะแบบใด อยากเห็นสังคมและประชาชนมีความสามารถในการกำหนดชีวิตและอนาคตของเราเองแบบใด 

ผมขอยันยืนอีกครั้งว่า คำเบิกความของทนายอานนท์ คือการปกป้องราชบัลลังก์สมอ้างจริงๆ 

ส่งท้าย

ประเด็นสถานะอันล่วงมิได้ของพระมหากษัตริย์ เป็นปัญหาสำคัญทางนิติศาสตร์ในการประเมินคุณค่าว่ากฎหมายควรจะเป็นอย่างไร มากกว่าตีความว่ากฎหมายที่เป็นอยู่ต้องเป็นอย่างไร ดังพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่ เดวิด สเตร็คฟัสส์ ชี้ให้เห็นว่า กฎหมายปรับเปลี่ยนตามเงื่อนไข บริบททางสังคมมาตลอด และนักนิติศาสตร์มีบทบาทสำคัญมากในการช่วยทำให้หลักกฎหมายสอดคล้องกับความต้องการของสังคม 

งานวิชาการของอาจารย์เดฟมีคุณค่ามากต่อวงการนิติศาสตร์ไทย ที่ชี้ชวนให้นักนิติศาสตร์ (อย่างผมเป็นต้น) และสังคมขบคิด ถ้าเรา (นักนิติศาสตร์) อยากเห็นสังคมที่ดีขึ้นตามความใฝ่ฝัน นักนิติศาสตร์ควรหันมาขบคิดปัญหาเชิงคุณค่าเหล่านี้ ไม่ใช่ปัญหาเพียงว่ากฎหมายที่เป็นอยู่เป็นอย่างไร หากเราอยากเห็นสังคมแบบใด ต้องไตร่ตรองตามเสมอว่า กฎหมายควรเป็น และไม่ควรเป็นแบบใด 

ทั้งนี้ มิได้หมายความว่าเราจำเป็นต้องใช้กฎหมายแก้ไขปัญหาทุกเรื่อง (และไม่ควรอย่างยิ่ง) แต่การตระหนักว่ากฎหมายควรเป็นอย่างไรในสังคมแบบใดจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยการศึกษานิติศาสตร์โดยเข้าใจ ‘บริบท’ 

หมายเหตุ
ผู้เขียนขอขอบพระคุณ อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล เป็นอย่างสูงที่กรุณาเป็นคู่สนทนาและให้คำแนะนำแก่ผู้เขียน ในการทบทวนความคิดและเน้นสารสำคัญ ในปัญหาที่หยิบยกในบทความนี้ให้แหลมคมยิ่งขึ้น

อ้างอิง:

[1] ธงชัย วินิจจะกูล, ‘ยุคสมัยอย่างใหม่ในพระราชพิธีสิบสองเดือน’ ใน คงสัจจา สุวรรณเพ็ชร (บรรณาธิการ), ยุคสมัยอย่างใหม่ในพระราชพิธีสิบสองเดือน (Illumination Editions 2566) 98.

[2] คงสัจจา สุวรรณเพ็ชร, ‘อ่านประวัติศาสตร์พระปฐมบรมราชโองการ (ใหม่): คันฉ่องสะท้อนนัยยะทางกฎหมายและการเมืองของกษัตริย์และสยามสมัยใหม่’ ใน วารสารฟ้าเดียวกัน ปีที่ 18 ฉบับที่ 2 ก.ค.-ส.ค. 2563, 23-7.

[3] เจ้าพระยาทิพากรณวงศ์ (ขำ บุนนาค), พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ (นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2555), 133.

Author

คงสัจจา สุวรรณเพ็ชร
สนใจประวัติศาสตร์กฎหมายสมัยใหม่ โดยเฉพาะในอาณานิคมและสยาม
ชอบทำและชิมอาหาร เครื่องดื่ม งานศิลปะ สถาปัตยกรรม ภาพยนตร์ และดนตรี
เชื่อมั่นในพลังของมนุษย์ตัวเล็กๆ ในการเปลี่ยนแปลงสังคม
ปัจจุบันเขียนวิทยานิพนธ์ และเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า