7 ผู้ท้าชิงประธานาธิบดีอิหร่าน ใต้กลไกสภาผู้พิทักษ์

นับตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามเมื่อ ค.ศ. 1979 อิหร่านได้ค่อยๆ ก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจระดับภูมิภาคที่มีบทบาทอย่างกว้างขวางในตะวันออกกลาง และมีนัยสำคัญต่อทิศทางการเมืองระหว่างประเทศในภาพรวมในยุคสมัยปัจจุบัน ทั้งการแข่งขันอำนาจกับซาอุดิอาระเบีย อิทธิพลในเลบานอนและอิรัก บทบาทในสงครามกลางเมืองซีเรียและเยเมน ความสัมพันธ์อันเปราะบางกับสหรัฐอเมริกาและโลกตะวันตก รวมไปถึงการสนับสนุนขบวนการต่อสู้ปาเลสไตน์อย่างต่อเนื่อง ดังปรากฏชัดในเหตุการณ์การสู้รบ 11 วัน ที่เป็นข่าวไปทั่วโลกเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2021 ที่ผ่านมานี้ 

การปฏิวัติอิสลาม ค.ศ. 1979 ยังมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองของอิหร่านให้มาอยู่ในรูปแบบที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากระบอบการเมืองอื่นในโลก เรียกว่าระบอบ ‘วิลายะตุล ฟะกีฮฺ’ (Wilayat Faqih) อันหมายถึง การปกครองภายใต้การนำและการตัดสินชี้ขาดของนักการศาสนาระดับสูง ผู้เป็นปราชญ์หรือผู้รู้เหนือประชาชาติอิสลาม ดังยืนยันชัดในมาตราที่ 56 ของรัฐธรรมนูญ อันเป็นมาตราที่ระบุถึงแหล่งที่มาแห่งอำนาจอธิปไตยของชาติว่า 

“حاكميت مطلق بر جهان و انسان از آن خداست…” 

หมายถึง “อำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์เหนือมนุษย์และโลกเป็นสิ่งครอบครองของพระผู้เป็นเจ้า…” 

Calligraphic of the Wilāyat al-Faqīh

พร้อมกันนั้น ระบอบการเมืองของอิหร่านก็ถูกวางกติกาการเข้าสู่อำนาจอีกรูปแบบหนึ่งควบคู่กันไป คือ การใช้ระบบการเลือกตั้งทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ รวมไปถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 18 มิถุนายนที่จะถึงนี้นี่เอง 

เมื่อพิจารณาจากบทบาทของอิหร่านห้วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะต่อประเด็นปาเลสไตน์แล้ว การเลือกตั้งประธานาธิบดีของพวกเขาที่กำลังจะมาถึงจึงเป็นประเด็นที่น่าวิเคราะห์จับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะผลลัพธ์การเลือกตั้งนี้ ไม่มากก็น้อย ย่อมเป็นตัวกำหนดบทบาทของอิหร่านต่อความเป็นไปของตะวันออกกลางและของโลกในระยะต่อไป 

ผู้แข่งขันเป็นใครบ้าง

ผู้สมัครที่ชื่อของเขาจะไปปรากฏในแผ่นกระดาษให้ประชาชนอิหร่านกาคะแนนหย่อนลงคูหาในวันที่ 18 มิถุนายนนี้ มีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 7 ท่าน หรือ 7 ตัวเลือก ประกอบด้วย 

1) ซัยยิดอิบรอฮีม ราอิซี (Ebrahim Raisi)

อดีตคู่แข่งผู้พ่ายแพ้ต่อประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ซัยยิดราอิซีเป็นนักการเมืองสายอนุรักษนิยม หรือถ้าจะเรียกให้ถูกต้องกับบริบทของการเมืองอิหร่าน ก็ต้องเรียกว่าเป็นสายหลักการนิยม (The Principlists) หรือ ‘อูซุล เฆะรอยอน’ (اصول گرایان‎) 

สำหรับสายหรือปีกทางการเมืองในอิหร่าน ผู้เขียนจะขอนำเสนอในตอนจบของบทความ 

ปัจจุบัน เขาดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าศาลยุติธรรมสูงสุด ซึ่งถือเป็นประมุขฝ่ายตุลาการตามมาตรา 157-158 ของรัฐธรรมนูญ และยังดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้ชำนัญการ หรือ ‘มัจลิสเซะ คูบรีฆอเนะ เราะฮอบีย์’ (مجلس‏ خبرگان‏ رهبري: the Assembly of Experts) อันเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งผู้นำสูงสุดของประเทศตามมาตรา 107 และ 111 ของรัฐธรรมนูญอีกด้วย

2) ดร.ซาอีด ญาลีลี (Saeed Jalili)

อดีตหัวหน้าคณะผู้แทนเจรจาข้อตกลงโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน และอดีตเลขาธิการสภาสูงสุดด้านความมั่นคงแห่งชาติ (The Supreme National Security Council: SNSC) ดร.ญาลีลี เป็นสานุศิษย์ผู้ภักดีต่ออิหม่าม คามาเนอี มายาวนาน ดังนั้น เขาจึงเป็นผู้สมัครจากสายหลักการนิยมอีกคนหนึ่ง ซึ่งนอกจากโดดเด่นด้านงานความมั่นคงแล้ว เขายังมีประสบการณ์โชกโชนในมิติการต่างประเทศมาตั้งแต่ ค.ศ. 1989 โดยเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่รับผิดชอบกิจการความสัมพันธ์กับยุโรปและอเมริกาในยุคสมัยประธานาธิบดีมาฮฺมู๊ด อะฮฺหมัดดิเนญาด 

ประวัติของ ดร.ญาลีลี มีความน่าสนใจมากถ้าเราถอยกลับไปไกลกว่านั้น เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอิหม่ามศอดิก (Imam Sadeq University) โดยทำดุษฎีนิพนธ์ในหัวข้อ ‘นโยบายต่างประเทศของท่านศาสดามูฮัมหมัด’ และในระหว่างนั้นเขาได้เป็นลูกศิษย์ของ อิหม่ามอะฮฺหมัด อะลัมมอลฮูดีย์ พ่อตาของซัยยิดอิบรอฮีม ราอีซี นั่นเอง นอกจากนี้ ดร.ญาลีลี ยังเป็นอดีตทหารผ่านศึกในสงครามอิรัก-อิหร่าน ค.ศ. 1980-1988 ผู้เสียขาขวาท่อนล่างไปในปฏิบัติการกัรบาลา 5 เพื่อยึดเมืองอัลบัศเราะฮฺ (Basra) อีกด้วย 

ในมุมมองของผู้เขียน สองท่านข้างต้นนี้เป็นผู้สมัครที่มีความโดดเด่นมากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้ว คือท่านแรกสุด ดังจะขยายความต่อไปในบทความตอนจบ ส่วนผู้สมัครอีก 5 ท่านที่เหลือก็จะประกอบด้วย 

3) นายพลโมฮฺเซน เรซาอี (Mohsen Rezaei)

เลขาธิการสภาวินิจฉัยผลประโยชน์สูงสุดแห่งชาติของอิหร่าน (Expediency Discernment Council) และอดีตผู้บัญชาการ ‘ซีพอฮฺ พอสดอรอนฯ’ (سپاه پاسداران) หรือกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolutionary Guard Corps: IRGC) นั่นเอง นายพลเรซาอีจัดเป็นผู้สมัครจากสายหลักการนิยมอีกคนหนึ่ง 

4) อะลีเรซา ซาฆอนี (Alireza Zakani)

นักการเมืองสายหลักการนิยมผู้เป็นสมาชิกรัฐสภามาตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 2004-2016 ก่อนที่จะได้กลับเข้าสู่รัฐสภาอีกครั้งในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา ซึ่งแม้ผู้เขียนมองว่าโอกาสชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของเขาจะค่อนข้างน้อย แต่เมื่อพิจารณาภูมิหลังซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ และดำรงตำแหน่งประธานศูนย์วิจัยของรัฐสภาในปัจจุบัน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์กับโลกตะวันตกแล้ว ซาฆอนี ก็น่าจะได้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมรัฐบาลกับประธานาธิบดีคนใหม่ เพื่อร่วมทีมผลักดันประเด็นการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ให้สำเร็จ 

5) อะมีรฮูเซ็น ก็อซีซาเดะฮฺ ฮาเชมี (Amir-Hossein Ghazizadeh Hashemi)

สมาชิกรัฐสภาหลายสมัย ซึ่งดำรงตำแหน่งรองโฆษกรัฐสภาอยู่ในสมัยปัจจุบัน ฮาเชมีเป็นนักการเมืองสายหลักการนิยมอีกคนที่ลงแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีหนนี้ แต่เขาดูจะเป็นผู้ที่มีทัศนะสุดโต่งที่สุดต่อประเด็นนิวเคลียร์ สังเกตได้จากการแสดงจุดยืนช่วงที่ผ่านมา ฮาเชมีสนับสนุนให้อิหร่านถอนตัวออกจากสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (The Nuclear Non-Proliferation Treaty: NPT) ซึ่งลงนามไปตั้งแต่ ค.ศ. 1968 ในกรณีถ้าหากว่าประเด็นโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านถูกส่งไปยังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

6) อับดุลนัสเซอร์ เฮ็มมาตี (Abdolnaser Hemmati)

ผู้ว่าการธนาคารกลาง (แบงก์ชาติ) ซึ่งนอกจากจะเคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตอิหร่านประจำประเทศจีนในช่วงเวลาสั้นๆ และรองประธาน ‘ทีวีช่อง 1’ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน (The Islamic Republic of Iran Broadcasting: IRIB) ซึ่งเปรียบได้กับช่อง 11 บ้านเราแล้ว ประวัติการทำงานที่เหลือส่วนใหญ่ของเฮ็มมาตีล้วนบ่งชี้ว่า เขาคร่ำหวอดอยู่ในวงการธนาคารมาโดยตลอด และเป็นเทคโนแครตที่มิได้สังกัดสมาทานกลุ่มการเมืองสายใดสายหนึ่งอย่างชัดเจน 

7) โมฮฺเซน เมะฮฺราลิซาเดะฮฺ (Mohsen Mehralizadeh)

อดีตรองประธานาธิบดีในสมัยของรัฐบาลประธานาธิบดีมุฮัมหมัด คาตามี เขาเป็นเพียงคนเดียวจากผู้ลงสมัครแข่งขันทั้งหมดที่มาจากสายปฏิรูปนิยม (The Reformists) หรือ ‘เอสเลาะฮฺ ฎอลาบอน’ (اصلاح ‌طلبان‎) 

แม้ว่าประวัติการทำงานของเมะฮฺราลิซาเดะฮฺจะกว้างขวาง ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ แต่เขาน่าจะได้คะแนนการเลือกตั้งที่กำลังมาถึงนี้ไม่มากนัก โดยดูได้จากการเปรียบเทียบกับผู้แข่งขันรายอื่นที่ล้วนมีสถานะตำแหน่งแห่งที่อยู่ในสถาบันการเมืองอิหร่านในปัจจุบัน สถิติของตัวเขาในการได้คะแนนเสียงการเลือกตั้งประธานาธิบดี เป็นอันดับบ๊วยเมื่อรอบ ค.ศ. 2005 และจุดยืนของแนวร่วมกลุ่มการเมืองสายปฏิรูปนิยมที่ประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้ง ไม่สนับสนุนผู้ลงสมัครแข่งขันรายใดในการเลือกตั้งประธานาธิบดีหนนี้เลย ด้วยเหตุสภาผู้พิทักษ์แห่งอิหร่าน (The Guardian Council) หรือ ‘ชูรอเยะ เนะกะฮฺบอน’ (شورای نگهبان) ไม่รับรองคุณสมบัติในการลงแข่งขันชิงตำแหน่งของผู้สมัครเป็นจำนวนมาก 

ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้เมะฮฺราลิซาเดะฮฺน่าจะไม่ได้รับคะแนนเสียงที่มากนัก แม้กระทั่งจากกลุ่มการเมืองและผู้มีสิทธิเลือกตั้งสายปฏิรูปนิยมที่ควรจะสนับสนุนเขา แต่เขาน่าจะได้คะแนนแค่จากพื้นที่อาเซอร์ไบจานของอิหร่านเท่านั้น เพราะเมะฮฺราลิซาเดะฮฺเป็นนักการเมืองเชื้อสายอาเซอร์ไบจานอิหร่าน และเคยได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่งเฉพาะจากพื้นที่ดังกล่าวในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อครั้ง ค.ศ. 2005 

เมื่อประเมินเช่นนี้ การเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านในวันที่ 18 มิถุนายน 2021 จึงเป็นการเลือกตั้งที่สายปฏิรูปนิยมไร้พลังในการต่อกรแทบจะสิ้นเชิง 

ตรงกันข้าม นี่จึงเป็นเส้นทางขึ้นสู่บัลลังก์ของประมุขฝ่ายบริหารที่จะมาจากสายหลักการนิยมอย่างแน่นอนเกือบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ ยกเว้นว่าจะมีเหตุให้เกิดการพลิกล็อคแบบถล่มทลาย

ระบบเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านทำงานยังไง

ย้อนกลับไปช่วงก่อนหน้านี้ เมื่อระบบรับลงทะเบียนสมัครแข่งขันได้เปิดขึ้น มีผู้ลงทะเบียนสมัครเข้าชิงบัลลังก์ประธานาธิบดีอิหร่านรอบนี้ถึงเกือบ 600 คน รายชื่อและประวัติทั้งหมดได้ถูกส่งไปสู่กลไกของสภาผู้พิทักษ์แห่งอิหร่าน เพื่อทำหน้าที่คล้ายๆ กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บ้านเราคือ การตรวจสอบประวัติและคุณสมบัติของผู้สมัครทุกคน ก่อนจะคัดกรองจนเหลือแคนดิเดตที่ได้รับการรับรองคุณสมบัติเพียง 7 คน ดังที่ไล่เลียงชื่อมาข้างต้น 

สภาผู้พิทักษ์แห่งอิหร่านจึงเป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญยิ่งในระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญในการกำกับกระบวนการทั้งหมดของการเลือกตั้ง (มาตรา 99 และ 118) ให้ดำเนินไปบนพื้นฐานของกฎเกณฑ์ศาสนาอิสลาม (มาตรา 4) โดยสภาผู้ทิพักษ์นี้จะประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวน 12 คน (มาตรา 91) จำแนกออกได้ว่า ครึ่งหนึ่ง 6 คน เป็นนักนิติศาสตร์อิสลาม ซึ่งเรียกว่า ‘ฟะกีฮฺ’ (فقیه; Faqih) คำคำนี้มีรากศัพท์มาจาก ‘ฟิกฮฺ’ (فقه; Fiqh) อันมีความหมายอย่างง่ายคือ หลักนิติศาสตร์และหลักในการวินิจฉัยบทบัญญัติต่างๆ ของศาสนาอิสลาม ดังนั้น ฟะกีฮฺ ก็จึงหมายถึง ปราชญ์ผู้รู้ด้านหลักการและข้อบัญญัติต่างๆ ของอิสลามในระดับที่สามารถให้ทางนำที่ถูกต้องต่อการกระทำและการตัดสินใจนโยบายได้นั่นเอง โดยเราอาจใช้ศัพท์เรียกด้วยคำพหูพจน์ของฟะกีฮฺว่า ‘ฟุกอฮอ’ (فقها; Fuqaha) สำหรับกรณีสัดส่วนครึ่งแรกของสมาชิกสภาผู้พิทักษ์ฯ ที่กำลังพูดถึงนี้ เพื่อจะสื่อถึงฟะกีฮฺจำนวน 6 คน 

ฟุกอฮอทั้ง 6 คน ที่เป็นองค์ประกอบส่วนแรกของสภาผู้พิทักษ์นี้มาจากการแต่งตั้งโดยผู้นำสูงสุด อนึ่ง ผู้นำสูงสุดเป็นตำแหน่งซึ่งมีคุณสมบัติขั้นสูงกำกับตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 109 กลไกสภาผู้ชำนัญการจะเป็นผู้พิจารณาคุณสมบัติเหล่านั้น แล้วทำการแต่งตั้งหรือเลือกตั้งกันเองภายในสภาฯ ให้ได้มาซึ่งบุคคลที่มีความถึงพร้อมขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำสูงสุด (มาตรา 107) ส่วนสมาชิกสภาผู้ชำนัญการนั้นจะมีอยู่ทั้งสิ้น 88 คน ที่มาของสมาชิกสภานี้จะเริ่มต้นจากการที่สภาผู้พิทักษ์แห่งอิหร่านจัดทำบัญชีรายชื่อปราชญ์ศาสนาทั่วประเทศที่มีคุณธรรม ความเที่ยงธรรม และความรู้ถึงขั้นสามารถวินิจฉัยเพื่อกำหนดบทบัญญัติให้กับผู้คนที่ยึดถือปฏิบัติ เราเรียกปราชญ์เหล่านี้ว่า ‘มุจญฺตาฮิด’ (مجتهد; Mujtahid) จากนั้นประชาชนจะเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งตัวแทนจากรายชื่อทั้งหมดมา 88 คน โดยมุจญฺตาฮิดผู้ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนเหล่านี้จะเข้ารับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้ชำนัญการอันมีวาระยาว 8 ปีได้ ก็ต้องผ่านขั้นตอนสุดท้าย คือ ได้รับการรับรองอนุมัติจากผู้นำสูงสุดเสียก่อน (มาตรา 108)

ส่วนอีกครึ่งหนึ่งของสภาผู้พิทักษ์แห่งอิหร่าน คืออีก 6 คนหลังนั้น เป็นนักกฎหมาย (حقوقدان‏; lawyers) ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในแขนงกฎหมายด้านต่างๆ องค์ประกอบส่วนหลังนี้มาจากการเลือกตั้งของรัฐสภาอันถือว่าเป็นตัวแทนของประชาชน โดยรัฐสภาจะทำการเลือกจากบัญชีรายชื่อนักกฎหมายมุสลิมทั่วประเทศที่หัวหน้าศาลยุติธรรมสูงสุด (the Head of Judiciary) เป็นผู้จัดทำเสนอเข้ามาให้พิจารณา อนึ่ง หัวหน้าศาลยุติธรรมสูงสุดที่ว่านี้เป็นตำแหน่งซึ่งถูกแต่งตั้งโดยผู้นำสูงสุด (มาตรา 157)

ดังนั้นแล้ว สำหรับ 12 อรหันต์ในสภาผู้พิทักษ์ฯ ที่เป็นผู้กลั่นกรองคุณสมบัติและชี้เป็นชี้ตายว่า ใครจะสามารถลงแข่งหรือไม่ได้รับอนุญาตให้ลงแข่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้นั้น แม้เราอาจสรุปเกี่ยวกับที่มาของพวกเขาได้อย่างง่ายว่า ครึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้งจากผู้นำสูงสุด ส่วนอีกครึ่งมาจากการเลือกตั้งของรัฐสภาซึ่งก็อาจนับได้ว่าเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมของประชาชน กระนั้นก็ตาม สิ่งที่ผู้เขียนอธิบายมาทั้งหมดดังข้างต้นนี้ก็สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ที่มาของ 12 อรหันต์ หรืออาจจะกล่าวได้ว่ารวมไปถึงที่มาของอำนาจในระบบการเมืองอิหร่านนั้นเป็นผลรวมของสหสัมพันธ์อันสลับซับซ้อน ถ่วงดุลและแทรกแซงกันไปมาระหว่างสถาบันทางการเมืองอันหลากหลาย 

Author

อาทิตย์ ทองอินทร์
ผู้อำนวยการโครงการวิทยาลัยการเมือง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้ศึกษาการก่อการร้ายและการเมืองในตะวันออกกลาง รวมถึงมีความสนใจบทบาทนโยบายต่างประเทศของชาติมหาอำนาจที่ส่งผลต่อการเมืองในโลกอิสลาม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า