เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 คณะกรรมการสิ่งเเวดล้อมเเห่งชาติ นำโดย พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาเห็นชอบให้โครงการหรือกิจการประเภทกำเเพงกันคลื่นทุกขนาดต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ที่ได้ทบทวนผลกระทบจากโครงการกำแพงกันคลื่นทุกขนาดในเดือนมกราคม 2566 ผ่านการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
การทบทวนผลกระทบในครั้งนั้นพบว่า ผู้แสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วยให้กำแพงกันคลื่นทุกขนาดต้องทำ EIA อีกทั้งข้อเท็จจริงในเชิงวิชาการปรากฏชัดเจนว่า กำแพงกันคลื่นเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสภาพชายหาด ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงวิถีชีวิตของประชาชนอย่างร้ายแรง
ย้อนกลับไปเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2565 กลุ่ม Beach for life และภาคีเครือข่ายประชาชนทวงคืนหาดทราย เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อรัฐบาลที่สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องการคุ้มครองและปกป้องหาดทรายจากการถูกทำลายด้วยโครงการกำแพงกันคลื่นของกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยมีข้อเรียกร้องสำคัญ 3 ประการ คือ
1. ยกเลิกการให้อำนาจแก่กรมโยธาธิการและผังเมืองในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
2. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนำเอาโครงการกำแพงกันคลื่นกลับมาเป็นโครงการที่ต้องทำ EIA
3. ให้มีการฟื้นฟูสภาพชายหาดที่ได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น
ณ เวลานี้ อาจพูดได้ว่าเป็นสัญญาณอันดีที่ 1 ใน 3 ของข้อเรียกร้องเพื่อปกป้องชายหาดกำลังได้รับการตอบรับจากรัฐ แต่เมื่อเปรียบเทียบระยะเวลาการต่อสู้อันยาวนาน ข้อเท็จจริงเชิงวิชาการ และผลลัพธ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายหาดของประเทศนับตั้งแต่มีการดำเนินโครงการกำแพงกันคลื่น นี่อาจเป็นเพียงบันไดขั้นแรกเท่านั้น
ทำไม #กำแพงกันคลื่นต้องทำEIA ?
การเคลื่อนไหวของกลุ่ม Beach for life และเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด เริ่มต้นขึ้นหลังจาก สผ. เพิกถอนโครงการประเภทกำเเพงกันคลื่นขนาด 200 เมตร ออกจากโครงการที่ต้องทำ EIA ตามคำร้องของของกรมเจ้าท่า เมื่อปี 2556 ซึ่งเป็นเหตุให้โครงการกำแพงกันคลื่นที่ถูกอ้างว่าทำหน้าที่ ‘ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง’ เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ บนชายหาดทั่วประเทศไทย
แม้โครงสร้างแข็ง (hard structure) จะถูกคิดค้นขึ้นเพื่อลดพลังงานของคลื่นที่เข้าปะทะชายฝั่ง ทว่าข้อโต้แย้งทางวิชาการที่ว่ากำแพงกันคลื่นจะสร้างหายนะให้กับระบบนิเวศชายหาด ได้รับการพิสูจน์ผ่านผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับชายหาดหลายแห่งในประเทศไทย เนื่องจากโครงสร้างกำแพงกันคลื่นที่แข็ง ทึบ ชัน และตั้งอยู่อย่างถาวร ทำให้คลื่นกระทบหาดทรายแรงขึ้น แล้วกวาดต้อนตะกอนทรายบริเวณฐานด้านหน้าของกำแพงกันคลื่นออกไป หาดทรายจึงหดหายไปเรื่อยๆ จนสัตว์ไม่มีที่อาศัย พืชชายหาดไม่สามารถเติบโตได้ ส่งผลกระทบต่อไปถึงวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ริมทะเล
ความเสียหายอันเกิดจากการขาดความคำนึงถึงข้อมูลทางวิชาการและแผนการจัดการที่ขาดการประเมินผลกระทบของรัฐ ทำให้กลุ่มคนรักชายหาดเรียกร้องให้นำโครงการกำแพงกันคลื่นกลับเข้าสู่กระบวนการทำ EIA เพื่อป้องกันมิให้ชายหาดถูกทำลายไปมากกว่านี้ โดยจะต้องคำนึงถึงหลักสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน หลักประกันสิทธิการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และสิทธิในการกำหนดเจตนารมณ์ตนเองตามการรับรองในรัฐธรรมนูญ
โครงการคอนกรีตกลืนงบ
ขณะที่โครงการกำแพงกันคลื่นถูกคัดค้านจากประชาชน จำนวนงบประมาณที่ขอตั้งไว้ในแต่ละปีเพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เฉพาะในส่วนของงานก่อสร้างโครงสร้างป้องกันแบบกำแพงกันคลื่นนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระหว่างปี 2554-2565 (ไม่นับรวมงานจ้างบริษัทที่ปรึกษา) โดยในระหว่างปี 2559-2560 งบประมาณโครงการเพิ่มขึ้นถึง 149.48 ล้านบาท หรือคิดเป็น 50.635 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณที่ถูกขอในปี 2559 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของงบประมาณที่มากที่สุดเท่าที่มีข้อมูลตั้งแต่ปี 2554-2565
จากข้อมูลดังกล่าว เมื่อพิจารณาตัวเลขงบประมาณการสร้างกำแพงกันคลื่นต่อหน่วย (กิโลเมตร) เว็บไซต์ Beach For Life พบว่า การสร้างกำแพงกันคลื่น 2 รูปแบบ คือ หนึ่ง-โครงสร้างเเบบเรียงหิน ใช้งบประมาณราว 80 ล้านบาทต่อ 1 กิโลเมตร สอง-กำแพงกันคลื่นเเบบคอนกรีตเสริมเหล็กขั้นบันได ใช้งบประมาณราว 100 ล้านบาทต่อ 1 กิโลเมตร
ส่วนกลุ่ม Beach Lover เปิดเผยว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2565 ร่างงบประมาณประจำปี 2566 ได้ถูกเผยแพร่ผ่านสำนักงบประมาณ พบว่ารัฐวางแผนใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565-กันยายน 2566) เพื่องานศึกษา งานก่อสร้างและปรับปรุงโครงสร้างป้องกันชายฝั่งใน 3 กรมหลัก รวมถึงงบกลุ่มจังหวัดด้วย รวมทั้งสิ้น 1,779.9 ล้านบาท ใน 79 โครงการ
ใน 79 โครงการ แบ่งออกเป็นการดำเนินการโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง 55 โครงการ ถือเป็น 65 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งหมด รองลงมาคือกรมเจ้าท่า 13 โครงการ นับเป็น 27 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งหมด ถัดมาคืองบกลุ่มจังหวัดจำนวน 5 โครงการ คิดเป็น 8 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งหมด และหน่วยงานหลักที่มีภารกิจกำกับดูแลเรื่องงานแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้สัดส่วนงบประมาณไปน้อยที่สุดคือ 2 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งหมด
ชัยชนะแรกของขบวนการประชาชน
“นี่คือบทเรียนสำคัญของรัฐที่ไม่มีมาตรการรองรับโครงการ คุณไม่สามารถเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชายหาดได้เลย”
อภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ประสานงานเครือข่าย Beach for life ให้สัมภาษณ์กับ WAY ภายหลังการอนุมัติให้กำแพงกันคลื่นต้องทำ EIA ซึ่งแม้จะช่วยให้โครงการกำแพงกันคลื่นที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ รวมไปถึงโครงการที่มีแผนดำเนินการในอนาคตได้รับการประเมินผลกระทบ เพื่อยับยั้งไม่ให้สร้างผลกระทบต่อธรรมชาติ แต่ก็ไม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง จึงไม่อาจกู้คืนสมดุลระบบนิเวศชายหาดในระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมาได้
อภิศักดิ์ระบุว่า มติที่ออกมาในครั้งนี้คือความสำเร็จของขบวนการภาคประชาชนที่รวมตัวกันเรียกร้องให้กำแพงกันคลื่นต้องทำ EIA มาตั้งแต่ปี 2562 ที่ไม่ใช่แค่การบรรลุ 1 ใน 3 ข้อเรียกร้อง แต่คือการเกิดความเข้าใจและความตระหนักถึงผลกระทบของกำแพงกันคลื่น โดยหลังจากนี้ภาคีเครือข่ายจะเดินหน้าผลักดันข้อเรียกร้องที่เหลือต่อไปจนกว่าจะสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความคาดหวังต่อนโยบายสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลสมัยหน้า อภิศักดิ์ให้ความเห็นว่า ควรสร้างกระบวนทัศน์ของการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ยั่งยืนกว่าการทำกำแพงกันคลื่น ต้องใช้งบประมาณอย่างรอบคอบ และจะต้องเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้มากขึ้น
อ้างอิง
- คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติให้กำเเพงกันคลื่นทุกขนาดต้องทำ EIA
- แถลงการณ์ประชาชนทวงคืนชายหาด ยืนยันข้อเรียกร้องกำแพงกันคลื่นต้องทำ EIA ทุกขนาด
- สมาธิ ธรรมศร: กางวิทยาศาสตร์บนหาดทราย ‘กำแพงกันคลื่น’ ในมุมนักฟิสิกส์ ควรไปต่อหรือพอได้แล้ว
- หยุดสร้างบาดแผลบนชายหาด หยุดสร้าง ‘กำแพงกันคลื่น-เขื่อนกั้นอ่าวไทย’ ก่อนเหลือเพียงซากปรักหักพัง