31 ตุลาคม วันฮาโลวีน คืนปล่อยผีที่ผู้คนแต่งกายแฟนซีออกมาสังสรรค์ คือวันเดียวกันกับการรำลึกถึงประชาชนสองคน ซึ่งเป็นผู้แสวงหาประชาธิปไตย หนึ่งคนเสียชีวิตจากการผูกคอตายที่ราวสะพานลอยหน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เพื่อประท้วงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และเพื่อยืนยันว่ามีคนที่ยอมแลกด้วยชีวิต อีกคนถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 ในสมัยรัฐบาล คสช. จากการแสดงละครเรื่อง ‘เจ้าสาวหมาป่า’ จนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ ก่อนจะหายสาบสูญไม่ทราบชะตากรรม
ห้าโมงเย็น บริเวณหน้าหอศิลป์ฯ กลุ่มมวลชนอิสระทยอยมารวมตัวกันเพื่อรำลึกถึง นวมทอง ไพรวัลย์ และ สยาม ธีรวุฒิ บางคนถือป้ายต่อต้านมาตรา 112 บางคนเรียกร้องการคืนสิทธิ์ประกันตัวให้นักกิจกรรมที่ยังถูกคุมขัง กระทั่งอาทิตย์สิ้นแสง ความมืดโรยตัวรายล้อม แสงสว่างจากปลายเทียนถูกส่งต่อผ่านมือของผู้ร่วมกิจกรรม เสียงระรัวของกลองและบทกวีเร่งเร่าเข้ามาในอก
หากจะมีผีร้ายอยู่ในสังคมไทย เผด็จการอำนาจนิยมคือผีที่หลอกหลอนผู้คนมายาวนานที่สุดตนหนึ่ง บางห้วงเวลาคล้ายจะสาบสูญ แต่จนแล้วจนรอดมันก็ยังหวนกลับมา หลายครั้งในหน้าประวัติศาสตร์ ผีตนนี้ได้ทิ้งบาดแผลและความทรงจำเลวร้ายไว้กับผู้คน ความทรงจำที่มีใครบางคนอยากให้ลืม ถึงอย่างนั้นการรำลึกถึงคนที่เรียกร้องประชาธิปไตยที่จากไป จะเป็นเสมือนการเปล่งเสียงของยุคสมัยเพื่อต่อสู้กับผีร้ายด้วยการจดจำ