“ระบบมันเปลี่ยนอีกแล้ว เปลี่ยนทุกปี”
“ตารางชีวิตโคตรแย่ ตารางสอบก็สุดโหด”
นี่เป็นประโยคของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือนักเรียนระดับชั้นเทียบเท่าที่กล่าวถึงกันมากที่สุดในช่วงการสมัครเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา
สำหรับประเทศไทย การเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยปัจจุบันใช้ระบบ TCAS (Thai University Center Admission System) ทว่าตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ระบบดังกล่าวเกิดการเปลี่ยนแปลงไปมาทุกปี ชวนให้เกิดความสับสน ทั้งการปรับรูปแบบของการสมัคร เปลี่ยนแปลงรูปแบบของการสอบ สิ่งเหล่านี้สร้างความไม่เสถียรให้กับระบบ เกณฑ์การสอบบางอย่างส่งผลกระทบต่อนักเรียน จนเกิดเป็นแฮชแท็กประท้วงบนทวิตเตอร์ เช่น #ฟ้องศาลเลื่อนสอบ ของ Dek64 เนื่องจากวันสอบปลายภาคของบางโรงเรียนตรงกับวันสอบเข้ามหาวิทยาลัย รวมทั้งตารางสอบที่ออกแบบมาให้นักเรียนสอบติดต่อกันหลายวัน
ที่ผ่านมา ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ เพื่อจัดรูปแบบของการรับสมัครนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัยพยายามแก้ไขและปรับปรุงระบบ ทว่ายังคงเจอปัญหา ทั้งเรื่องการจัดลำดับคะแนนคลาดเคลื่อน การตรวจคะแนนผิด ตารางเวลาที่ไม่แน่นอน ความวุ่นวายที่เกิดขึ้น เด็กจำนวนไม่น้อยตั้งคำถามกลับว่า การพัฒนาดังกล่าวคำนึงถึงผลกระทบด้านการเตรียมความพร้อมของเด็กมากแค่ไหน แล้วเพราะอะไรภาระส่วนใหญ่จึงตกแก่ผู้สอบ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม เป็นช่วงของการประกาศผลลำดับแอดมิชชั่นรอบที่ 3 มีนักเรียนจำนวนไม่น้อยเลือกยืนยันสิทธิ์เพื่อศึกษาต่อ โดยมีนักเรียนอีกกลุ่มเลือกสละสิทธิ์และเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกในรอบที่ 4 ช่วงวันที่ 3-15 มิถุนายน ซึ่งเป็นรอบสุดท้ายของ TCAS ปี 2564
นอกจากสถานการณ์ประกาศผลสอบที่น่ากดดันแล้ว เด็กไทยยังเจอกับการกระหน่ำซ้ำจากโควิด-19 ไหล่บ่าที่หนักอยู่แล้วก็ต้องแบกภาระต่างๆ เพิ่มเติม เช่น การเรียนออนไลน์ การเลื่อนเปิดเทอม ปัญหาปากท้องของครอบครัว ฯลฯ
ปัญหาและความงุนงงทั้งหมด ส่งผลให้เกิดคำถามตามมามากมาย หนึ่งในนั้นคือ เหตุใดอนาคตของเด็กไทยจึงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
WAY สนทนากับคนที่ตามติด TCAS มาตลอด 4 ปี อย่าง คมจักร คริมาธัญสร หรือ พี่โดม TCASCoach และตัวแทนนักเรียน ม.6 ในประเด็นต่างๆ มุมมองต่อระบบสมัครสอบ ปัญหาที่พบเจอตลอด 4 ปีที่ผ่านมา สร้างบาดแผลอะไรไว้กับนักเรียนไทยในแต่ละรุ่น แนวโน้มของ TCAS ในปีต่อไปจะเป็นอย่างไร ถ้า ทปอ. ยังคงดำเนินงานต่อไปเช่นนี้
ทปอ. มองว่าการเปลี่ยนระบบคือการพัฒนา แต่มันคือ “ความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของเด็กๆ”
คมจักร อธิบายว่าขณะตนเองทำงานเป็นคนกลางคอยสื่อสารระหว่าง ทปอ. กับ นักเรียน ม.6 พบปัญหาสำคัญคือ ในมุมผู้ใหญ่ การปรับรูปแบบ TCAS คือการพัฒนา ขณะที่เด็กและผู้ปกครองกลับมองว่า TCAS คือ ระบบที่ไม่มีความแน่นอน และผลักภาระให้ผู้ใช้ระบบ
TCAS คืออะไร สำคัญอย่างไร เหตุใดระบบการศึกษาต้องเปลี่ยนมาใช้ TCAS
TCAS (Thai University Center Admission System) คือระบบการบริหารจัดการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2561 จนถึงปัจจุบัน โดยจะแบ่งเป็น 5 รอบด้วยกันคือ รอบที่ 1 แฟ้มสะผลงาน (portfolio) รอบที่ 2 โควตาภูมิภาค/มหาวิทยาลัย รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน รอบที่ 4 แอดมิชชั่น และรอบที่ 5 รับตรงอิสระ โดย TCAS64 ได้ผนวกรอบรับตรงร่วมกันกับแอดมิชชั่นเป็นรอบที่ 3 ปัจจุบันจึงเหลือแค่ 4 รอบ
จุดประสงค์ของ TCAS มี 3 ข้อด้วยกันก็คือ 1. นักเรียนจะต้องเรียนจบระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก่อนถึงจะมาสอบ GAT/PAT, 9 วิชาสามัญ ได้ 2. ลดการวิ่งสอบกระจัดกระจาย 3. การบริหารสิทธิ์
TCAS 2561 มีข้อผิดพลาดในรอบที่ 3 คือ การให้สมัครทั้งหมด 4 อันดับ และเด็กสามารถติดได้ทั้ง 4 อันดับ นอกจากนี้เด็กไม่สามารถรู้คะแนนสูงต่ำ เพราะรอบรับตรงมหาวิทยาลัยไม่เปิดเผยคะแนนสอบ ทำให้คะแนนสอบในปี 2561 นั้นค่อนข้างเหวี่ยง และเป็นคะแนนที่เฟ้อ เพราะคนที่ยื่นคะแนนสมัครเข้า 4 กลุ่มคณะ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ ซึ่งมีระบบการคัดเลือกโดยกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ก็สามารถติดคณะอื่นใน TCAS อีกได้ กลายเป็นว่า ประกาศคะแนนออกมา กลุ่ม กสพท. สามารถติดทั้ง 4 อันดับ ยกตัวอย่างเหตุการณ์จริงของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศคะแนนรอบ 3 คนที่ติดคือนักเรียนกลุ่ม กสพท. ทั้งหมด ทำให้นักเรียนคนที่เขาอยากเรียนบัญชีจริงๆ ไม่ได้เข้ารอบ เพราะคะแนนต่ำกว่านักเรียนสอบหมอ สุดท้ายเป้าหมายการบริหารสิทธิ์จึงล้มเหลว ทำให้เกิดเป็นรอบ 3/2 ขึ้นมา เป็นการแก้ปัญหาฉุกเฉินของ ทปอ. คือการให้รอบ 3/1 ยืนยันสิทธิ์ และเรียกตัวสำรองขึ้นมาเป็นรอบ 3/2 เพราะหากให้เด็กเข้าสู่กระบวนการในรอบที่ 4 ก็จะมีเกณฑ์ต่างๆ อีกมากมายตามมา
TCAS 2562 มีการแก้ไขจากปี 2561 ในรูปแบบของรอบ 3 เปลี่ยนเป็นติดได้แค่ที่เดียว แต่ไม่มีการดึงตัวสำรอง หากจะยื่นคะแนนรอบถัดไปจะต้องสละสิทธิ์ที่มีในมือก่อน ซึ่งไม่มีการบอกช่วงของการสละสิทธิ์ สุดท้ายปัญหาที่ตามมาคือ เด็กจะสละสิทธิ์ไปเรื่อยๆ เมื่อยังไม่ได้ที่ที่ชอบ ผลของการสละสิทธิ์ไปเรื่อยๆ คือมหาวิทยาลัยไม่สามารถคำนวณจำนวนนักเรียนที่ต้องการเรียนได้ เพราะเกิดการสละสิทธิ์อยู่ตลอดเวลา
TCAS 2563 ประเทศเผชิญกับปัญหาโควิด-19 ทำให้นักเรียนต้องเรียนออนไลน์ จึงต้องเปลี่ยนการสัมภาษณ์แบบวิดีโอคอล ปี 2563 คล้ายกับปี 2562 คือ ให้สละสิทธิ์ได้เพียงแค่ครั้งเดียว ต้องสละสิทธิ์ภายในช่วงระยะเวลาที่กำหนด 1 คน 1 สิทธิ์ และไม่มีการดึงตัวสำรอง นอกจากนี้ มีความผิดพลาดของคะแนน GAT/PAT จึงต้องตรวจคะแนนและจัดลำดับใหม่
TCAS 2564 เป็นปีที่จัดระบบการบริหารสิทธิ์ได้ดีที่สุดเท่าที่เคยมี TCAS มา เพราะเกิดจากการวางแผนล่วงหน้าและการเห็นข้อบกพร่องในรอบที่ 3 ไม่มีการสละสิทธิ์ แต่เลือกไม่ใช้สิทธิ์ได้เพื่อเรียกตัวสำรอง แต่จะมีปัญหาเรื่องของจัดวันสอบติดกันหรือตรงกับการสอบภายในโรงเรียน เด็กต้องสอบติดกัน 22 วัน
นอกจากนี้ปัญหาก่อนที่เจอในปี 2564 การตรวจข้อสอบผิด การคำนวณคะแนนผิด มีบางครั้งที่ตัวระบบขัดข้องทำให้ค้นหาชื่อคณะที่ต้องการจะยื่นไม่เจอ หรือกระทั่งระบบล่ม จุดตรงนี้คิดว่ามันไม่ควรจะผิดแล้ว ทปอ. ควรสร้างระบบให้มีความเสถียรและผิดพลาดน้อยที่สุด
จึงมองว่า TCAS 61-64 คือการพัฒนา แก้ไขข้อบกพร่องของระบบอย่างละนิดอย่างละหน่อย หากมองในฐานะของคนทำงานมันคือการปรับปรุงระบบ แต่ฐานะของผู้ปกครองและเด็กก็จะมองว่าเปลี่ยนอีกแล้ว เด็กจะมีความคิดว่าของรุ่นพี่แต่ละปีระบบไม่เคยเหมือนกัน ซึ่งเขาไม่สามารถนำมาเทียบเคียงอะไรได้
เมื่อ TCAS เป็นกึ่งรัฐกึ่งเอกชน ส่งผลอะไรตามมา
ขณะที่ระบบการคัดเลือกยังอยู่ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ จะมีประกาศที่ชัดเจนออกมา แต่เมื่อแยกตัวเป็น TCAS เขาไม่ได้มีประกาศอย่างที่เคยทำ เป็นเพียงแค่คู่มือการศึกษา ซึ่งประกาศจากกระทรวงจะออกกฎให้ทุกมหาวิทยาลัยอยู่ในเกณฑ์เดียวกันทั้งหมด เมื่อเป็นแค่คู่มือ ไม่มีประกาศ บางมหาวิทยาลัยอยากจะจัดสอบนอกช่วงเวลา ทปอ. ก็เข้ามาจัดการระบบตรงนี้ไม่ได้ สะท้อนว่าการไม่มีประกาศทางการ หรือประกาศที่เป็นกฎหมายจะทำให้มหาวิทยาลัยหลบเลี่ยงได้
ระบบการศึกษาไทยที่เปลี่ยนไปมาแทบจะทุกปี ส่งผลอย่างไรต่อเด็ก
เด็กที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้เตรียมตัวแค่ปีเดียว เขาก็จะเริ่มเตรียมตัวเมื่อขึ้น ม.4 แต่ระบบการสอบตั้งแต่ ม.4 จนถึง ม.6 ไม่เหมือนกันสักรอบ ซึ่งทำให้เด็กเกิดความสับสน ปัญหาบางอย่างสามารถทำได้เลย และควรจะคิดกันได้ตั้งนานแล้ว ซึ่งเขาใช้วิธีประเมินและแก้ปัญหาเป็นรายปี เขามีการพัฒนา แต่การพัฒนาของเขาส่งผลกระทบต่อเด็ก ตัวผู้ปกครองก็มองว่าไม่มั่นคง
เด็กแต่ละรุ่นกว่าจะทราบรูปแบบ TCAS ตอนใกล้จะสอบ มาทราบตอนตัวเองอยู่ ม.6 เทอม 2 ยกตัวอย่างปี 2564 เปิดเทอมเดือนกรกฎาคม ซึ่ง TCAS เริ่มรับสมัครเดือนสิงหาคม มันกลายเป็นว่าอยู่ๆ ก็ประกาศเกณฑ์การสมัครสอบมาเลย โดยที่ไม่ให้เด็กเตรียมตัว เด็กก็รับมือไม่ทัน ถึงแม้ว่าเด็กๆ จะรู้ตัวว่าต้องทำอะไรบ้าง เช่น การยื่นพอร์ต แต่เด็กๆ ก็ต้องใช้เวลาในการทำผลงาน ซึ่งการเพิ่งมาประกาศเกณฑ์จะทำให้การวางแพลนของเด็กแต่ละคนพังไปด้วย
อะไรที่เป็นข้อดีควรจะเก็บไว้ใช้ในรุ่นต่อๆ ไป ไม่ควรเปลี่ยนทั้งหมด ทำให้มันนิ่งและเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ต้องเว้นระยะเวลาให้เด็กเตรียมตัวล่วงหน้า อย่าผลักภาระให้เด็กเพียงอย่างเดียว หลายคนมักจะบอกว่ามันก็คล้ายๆ กัน แต่ในความคล้ายๆ กันคือ มหาวิทยาลัยรับสมัครช่วงสิงหาคม กับรับสมัครช่วงธันวาคม การเตรียมตัวก็ไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น คณะสัตวแพทย์จะต้องให้เด็กฝึกประสบการณ์วิชาชีพ 60-100 ชั่วโมง มหาวิทยาลัยรับสมัครเร็วขึ้นกว่าปีที่แล้ว ทำให้เด็กต้องลาเรียนไป 2 อาทิตย์เพื่อไปฝึกงานเก็บชั่วโมงยื่นสอบ ถามว่าเด็กรู้ไหม เด็กเขารู้ตั้งแต่ ม.5 นะ แต่เด็กก็เข้าใจว่าจะรับสมัครในช่วงนี้ก็เลยทยอยฝึกไปเรื่อยๆ
ไม่ใช่เรื่องที่เด็กไม่เตรียมตัว คือเด็กก็มีการวางแผนของเขา เขาอิงระบบจากรุ่นพี่ ซึ่งเมื่อปีต่อมาเปลี่ยนระบบ ทำให้แพลนที่เขาวางไว้พัง
ยกตัวอย่างอีกกรณี ปี 2563 คณะแพทย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรับสมัครเร็วมากๆ เด็กบางคนยังสอบคะแนนภาษาอังกฤษ TOEIC/TOEFL เขาก็วางแพลนเอาไว้ว่าจะสอบไปเรื่อยๆ เพราะเดิมทีแพทย์จุฬาฯ เปิดรับสมัครอีกช่วงพฤศจิกายน-ธันวาคม และเปลี่ยนมารับช่วงสิงหาคม-กันยายน ทำให้เด็กไม่มีคะแนนสอบภาษาอังกฤษไปยื่น ในปีนั้นผู้สมัครก็หายไปหลายคน
เข้าใจว่า ทปอ. ทำงานปีต่อปี แต่สิ่งที่อยากให้ทำมากๆ คือการช่วยวางตารางว่าการรับแต่ละรอบควรจะอยู่ในช่วงไหน วางกรอบให้เด็กรุ่นต่อไปทราบ และควรจะประกาศตั้งแต่เขาอยู่ในช่วง ม.5 เทอม 2 คือมีเวลาให้เด็กเตรียมตัว จัดการชีวิตตนเอง ให้เขาได้ทราบว่า อ๋อ รุ่นของเขาจะอยู่ในช่วงเดือนนี้ถึงเดือนนี้ และวันที่ประกาศใช้จริงก็ต้องอยู่ในกรอบนั้น ยกเว้นมีสถานการณ์ฉุกเฉินเข้ามาอย่างเช่น โควิด-19 อันนี้ก็ต้องปรับแก้ตามสถานการณ์
ที่ผ่านมา ทปอ. ลงพื้นที่สัมภาษณ์ความต้องการของเด็กบ้างไหม
เพิ่งจะเริ่มลงพื้นที่ในช่วงปี 2562 เรียกว่าการทำประชาพิจารณ์ระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา โดยแบ่งเป็น 4 รอบ 4 ภูมิภาค กล่าวคือ มีการจัดการประชุมเพื่อพูดคุยถึงปัญหาที่เด็กๆ ต้องเจอในระบบ TCAS โดยจะเชิญครูแนะแนว ผู้ปกครอง และตัวแทนเด็กๆ ร่วมกันชำแหละปัญหาต่างๆ ที่พบเจอ แต่คนที่มาร่วมรับฟังจะเป็นส่วนน้อยที่ต้องใช้ระบบการยื่นคะแนน TCAS กล่าวคือ มันไม่ทั่วถึง
เคยถามเด็ก 64 ขณะที่เขาอยู่ ม.5 ว่าตอน ทปอ. จัดประชาพิจารณ์เขารับรู้ไหม เขาก็บอกว่าเขาไม่รู้ ซึ่งคนที่เขารู้ก็มี แต่เป็นเปอร์เซ็นต์ส่วนน้อยเมื่อเทียบกับเด็กที่ต้องเจอ ทปอ. ก็พยายามปรับปรุงระบบ แต่การสื่อสารกับเด็กยังน้อยอยู่ ควรจะต้องมีบุคลากรทางด้านการประชาสัมพันธ์ไว้พูดคุยกับเด็กๆ มัธยมปลาย เพราะใน 1 ปี มีเด็กที่ต้องสอบเข้าประมาณ 200,000 คน ฉะนั้นการสื่อสารให้เด็กรับรู้อย่างทั่วถึง และครอบคลุมจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ
ทปอ. กำลังผลักภาระการสื่อสารกับเด็กให้ครูแนะแนวฝ่ายเดียวหรือเปล่า
บางครั้ง ทปอ. ก็พึ่งพากลไกของครูแนะแนวมากเกินไป ต้องคิดว่าเด็กไม่ได้รับข้อมูลจากครูแนะแนวทางเดียว เราจะเห็นเว็บไซต์การศึกษาต่างๆ อย่าง DekD, Admission Premium และ TCASter หรือแอคเคาท์แฟนเพจการศึกษา มันเติบโต และกำลังสะท้อนว่าการแนะแนวในโรงเรียนเพื่อเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย การสื่อสารของ ทปอ. ค่อนข้างมีปัญหา
แต่ไม่ได้หมายความว่าครูแนะแนวเขาไม่ได้พัฒนาตนเอง เขาก็มีการพัฒนาตนเองเหมือนกัน เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ครูแนะแนวในโรงเรียนไม่ได้มีเยอะ บางโรงเรียนไม่มีครูแนะแนวประจำด้วยซ้ำ บางโรงเรียนครูแนะแนวรับผิดชอบ 1 คนต่อ 3 ช่วงชั้น แถมยังเจอภาระงานต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอนอีกมากมาย จึงทำให้เด็กๆ เลือกที่จะติดตามข่าวสารผ่านเว็บไซต์เองเสียส่วนใหญ่
เด็กยุคแอดมิชชั่นมีการสอบเว้นช่วง แต่ทำไมเด็กรุ่น TCAS ถึงต้องสอบ 22 วันติดกัน
ยุคแอดมิชชั่นก่อนเกิด TCAS จะมีการจัดสอบ GAT/PAT ทั้งหมด 2 รอบ คือกลางปีและปลายปี มองว่าเด็กสามารถแก้ตัวได้ และเลือกคะแนนรอบที่ดีที่สุดเพื่อใช้ยื่น แต่ว่าในยุคของ TCAS เป็นการสอบแค่รอบเดียว ทปอ. อยากให้นักเรียนเรียนจบ ม.6 ก่อนถึงค่อยมาสอบ การสอบหลังเด็กเรียนจบดูเหมือนจะดี แต่สุดท้ายการสอบกระจุกกันส่งผลให้เด็กเครียดและกดดัน ตารางชีวิตโคตรย่ำแย่ โดยเฉพาะเด็ก 64 ปีนี้ ต้องเจอกับการเรียนออนไลน์ บ้านบางคนก็ไม่ได้เหมาะสำหรับการเรียนออนไลน์ การเก็บเนื้อหาที่เรียนก็ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ สถาบันกวดวิชาต้องปิด เจอการเลื่อนสอบ เจอการเลื่อนเปิดเทอม จะเห็นได้ว่ามีการฟ้องศาลอุทธรณ์เลยก็มีเพราะ 22 วันของการสอบมันแย่มากจริงๆ
เด็ก 1 คนจะสมัครสอบ TCAS ต้องมีเงินเท่าไหร่
เด็ก 1 คนมีค่าใช้จ่ายในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท ยกตัวอย่างเช่น จ่ายค่าสมัครกับทางมหาวิทยาลัย แต่ก็ต้องไปสอบเพิ่มเติมอีก ไม่ว่าจะเป็นการสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ การสอบวิชาเฉพาะต่างๆ รวมกันเป็นเงินจำนวนมาก หากเด็กที่เขาไม่มีต้นทุนตรงนี้เขาจะทำอย่างไร มันกลายเป็นว่าเราตัดโอกาสเด็กๆ ไปเยอะมาก
บางคนสมัครรอบ portfolio 10 โครงการ ก็ต้องจ่ายเงินทั้งหมด 10 โครงการ นี่คือธุรกิจที่มหาวิทยาลัยหากินกับเงินค่าสมัครสอบของเด็ก
TCAS ต้องการลดค่าใช้จ่ายของเงินยืนยันสิทธิ์ แต่ค่าสมัครสอบนั้นยังสูง เพราะค่าใช้จ่ายในการดำเนินการคัดเลือก TCAS จึงจำเป็นต้องเรียนเก็บจากค่าสมัครเข้าศึกษาของเด็ก ณ วันนี้ มหาวิทยาลัยอยู่ในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) จึงอยากให้เข้ามาช่วยจัดการรอบที่ 3 โดยไม่ต้องเก็บเงินค่าสมัครจากเด็กอีกแล้ว
ต้นทุน เช่น ค่าสมัครสอบ ค่ายืนยันสิทธิ์ ส่งผลกระทบอย่างไรในยุคที่ทุกคนเผชิญโควิด-19
สร้างผลกระทบให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างนักเรียนที่ครอบครัวมีสถานะทางการเงินต่างกัน เด็กที่พ่อแม่มีต้นทุนรองรับเขาก็สามารถเดินต่อได้ แต่เด็กคนไหนที่พ่อแม่เจอพิษเศรษฐกิจเขาก็ล้มเลย เงินจะกินข้าวแต่ละวันยังไม่ค่อยมี ลูกก็ต้องมาสมัครสอบมหาวิทยาลัยอีก ทปอ. หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องควรเล็งเห็นปัญหาตรงนี้ ค่าสมัครสอบ ค่ายืนยันสิทธิ์ ในช่วงจังหวะที่สังคมลำบากควรจะผ่อนปรนและช่วยเหลือเด็กบ้าง
อยากจะขอยกตัวอย่าง ม.ขอนแก่น คนที่มีปัญหาไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตามสามารถทำเรื่องขอยกเว้นหรือขอผ่อนผันค่าสมัครสอบได้ แต่มีการจำกัดจำนวนคน ปัญหาอยู่ที่ว่าจะเอาเกณฑ์ตรงไหนมาวัดว่าใครลำบากกว่าใคร เพราะตอนนี้ทุกคนลำบากเหมือนกันหมด ถึงแม้ว่าการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยไม่ใช่การศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นการศึกษาที่เด็กและครอบครัวจะต้องรับผิดชอบเอง แต่เราควรจะลดช่องว่างระหว่างเด็กบ้านรวยกับเด็กบ้านจน ทำให้พวกเขานั้นมีความเท่าเทียมกัน
ประโยค “ใครจะเข้ามหาวิทยาลัยก็ต้องจ่ายกันทั้งนั้น” มองว่ามีเด็กอีกหลายคนที่เขาไม่พร้อมแต่เขาอยากจะเรียน อยากจะศึกษาต่อ มันเหมือนเป็นการตัดโอกาสของเขาเกินไป
เด็กๆ ควรที่จะมีสิทธิ์เลือกระบบการสอบวัดระดับเข้าอุดมศึกษาด้วยตนเองไหม
เด็กเป็นคนที่ต้องใช้ระบบ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นไม่ควรไปโฟกัสแค่ตรงหน่วยงานต่างๆ ว่าได้รับผลกระทบอย่างไร อย่างน้อยก็ควรลงมาดูหน่อยว่าเด็กในแต่ละรุ่นนั้นเจอกับปัญหาอะไรบ้าง ต้องรับฟังเสียงของเด็กมากยิ่งขึ้น ไม่ได้หวังแค่การจัดประชาพิจารณ์แล้วก็จบไป
ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีความทับซ้อน คือ สอบเนื้อหาคล้ายกันหลายๆ วิชา ทปอ. แก้ปัญหาตรงนี้อย่างไรบ้าง
เด็กไทยสอบหลายตัวมากๆ เนื้อหาในแต่ละวิชามีความคล้ายกัน เช่นวิชาคณิตศาสตร์ มีสอบใน O-NET, PAT1, 9 วิชาสามัญ มันเป็นการสอบที่ซ้ำซ้อนเกินไป ซึ่งปัญหานี้ทาง ทปอ. เขาก็พยายามแก้อยู่ จะเห็นว่าปี 2563 ประกาศให้การสอบ O-NET เป็นความสมัครใจของแต่ละบุคคล ใครจะสอบก็ได้ ไม่สอบก็ได้ และพอปี 2564 วิชาวิทยาศาสตร์ วิชาคณิตศาสตร์ก็เป็นการรวมกัน หากใครที่สอบใน O-NET มาแล้วก็จะได้คะแนนไปในส่วนของ 9 วิชาสามัญด้วย และในปี 2565 นี้เขาก็มีแพลนว่าจะตัดวิชาที่ซ้ำซ้อนออกจากกัน เช่น การตัดวิชาคณิตศาสตร์ใน PAT1 ออกไป ตัดเนื้อหาวิทยาศาสตร์ใน PAT2 ออก แล้วก็นำไปรวมในวิชาสามัญ ต่อไปนี้เด็กก็จะสอบคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์แค่สนามสอบเดียว
สิ่งที่ ทปอ. ควรทำคือลดวิชาสอบที่ซ้ำซ้อน เพิ่มโอกาสในการแก้ตัวให้กับเด็ก เช่น สอบครั้งที่ 1 คะแนนไม่ดี ก็มีโอกาสไปสอบครั้งที่ 2 ใหม่อีกครั้ง หรือเพิ่มการสอบได้หลายช่วง เพื่อให้โอกาสแก่คนที่ไม่พร้อม
แนวโน้ม TCAS ในปีต่อไปจะเป็นอย่างไร
มองว่าในปี 2566 จะมีการพัฒนาในเรื่องการสมัครสอบ การบริหารสิทธิ์ที่จัดการได้ดีขึ้น และพัฒนาส่วนข้อสอบด้วยคือ ตัดวิชาที่ทับซ้อนกันออกไป ทำให้เด็กสอบน้อยลง ลดการสอบหลายสนาม ข้อสอบทุกวิชาเป็นภาษาไทย/ภาษาอังกฤษ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการสอบจากข้อสอบต่างประเทศ เปลี่ยนเป็นการสอบบนเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อลด lead time ของการเตรียมการจัดสอบ นอกจากนี้ยังปรับเรื่องของการใช้เกรด ไม่มีการกำหนดให้ใช้ GPAX, GPA เป็นองค์ประกอบในการรับเข้าเหมือนกับระบบเก่า การกำหนดเกรดจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละมหาวิทยาลัย
“หนูลงทุนกับระบบที่สร้างความมั่นคงให้กับชีวิตไม่ได้”
เพลง (นามสมมุติ) ตัวแทนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2564 เผยความรู้สึกระหว่างการพูดคุยว่า ตนเองนั้นมีความเครียดสะสม เครียดก่อนสอบ เครียดระหว่างสอบ และเมื่อประกาศผลสอบก็ยังต้องเจอกับความเครียด เจอระบบการคัดเลือกที่ไม่มีความเสถียร แถมยังต้องเจอกับโรคระบาด ปัญหาทุกอย่างประเดประดังเข้ามาทำให้ตารางชีวิตที่วางไว้พังทลาย
รูปแบบ TCAS ที่เปลี่ยนแปลงทุกปีส่งผลกระทบอะไรกับเรา
ระบบที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ทำให้แพลนที่เราวางเอาไว้มันพัง เข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงระบบทุกปีก็เพราะต้องการหาทางออกและพยายามแก้ไขปัญหา แต่ว่าเขาควรคิดให้รอบคอบ ควรจะถามความเห็นจากเด็กแล้วปรับเปลี่ยนทีเดียว สงสารเด็กทุกคนในระบบการศึกษาไทยมากๆ ต้องมาคอยติดตามทุกปีว่ามันจะเปลี่ยนระบบไปยังไง มีข้อสอบอะไรที่เพิ่มมาใหม่ หรือยกเลิกอะไรไปรึเปล่า มันสร้างความบั่นทอนให้กับเด็ก
ค่าสมัครสอบ แพงไปไหม?
ค่าสมัครสอบวิชาละ 100 บาทขึ้นไป ซึ่งแพงมาก คนคนนึงไม่ได้สอบแค่วิชาเดียว ตรงนี้มันตัดโอกาสเด็กหลายคนที่รายได้ไม่เพียงพอ จนเขาไม่ได้ทำตามความฝันของตัวเองเลยค่ะ แถมยังมีค่ายื่นอันดับอีก สูงสุดถึง 900 บาท เทียบกับค่าแรงขั้นต่ำประเทศไทยแล้วไม่รู้ว่าตั้งสูงขนาดนั้นไปทำไม ถ้าจะเก็บค่าธรรมเนียมค่าสอบค่ายื่นอันดับก็เก็บได้ เข้าใจว่ามีค่าบุคลากรค่าสถานที่ค่ากระดาษ แต่องค์กรที่เกี่ยวข้องควรนำเงินมาช่วยเหลือในส่วนนี้ เพื่อลดภาระการจ่ายของเด็กและผู้ปกครอง ให้จ่ายแค่หลักสิบอะไรประมาณนี้คงจะดีมาก
โควิด-19 กับการแก้ปัญหาที่ล่าช้าของรัฐบาล สร้างผลกระทบอะไรต่อเราบ้าง
โควิดเริ่มระบาดช่วงปิดเทอมที่กำลังจะขึ้น ม.6 ระลอกแรกซึ่งยังไม่ระบาดมากช่วงนั้นก็อ่านหนังสือเตรียมตัวสอบเข้ามหา’ลัยปกติ ทำตามตารางอ่านหนังสือของตัวเองได้ทุกอย่าง พอเริ่มระบาดหนักขึ้นในช่วงกำลังจะเปิดเทอมทำให้ต้องเรียนออนไลน์ ตารางเวลาของการอ่านหนังสือทุกอย่างเลยรวนมากๆ จนต้องหยุดอ่านหนังสือสอบเข้ามหา’ลัยไปพักหนึ่ง ปัญหาของการเรียนออนไลน์อย่างแรกก็คือทำให้การโฟกัสในเนื้อหาลดประสิทธิภาพลงจากการเรียนออนไซต์ เพราะสภาพแวดล้อมไม่เหมาะกับการเรียนเท่าที่โรงเรียน แถมยังเสียสายตามากจากการที่ต้องจ้องหน้าจอทั้งวัน ไหนจะครูบางคนที่ภาระงานเยอะกว่าปกติ หรือปัญหาใหญ่ๆ เลยคือบางคนไม่มีอุปกรณ์หรืออินเทอร์เน็ตที่พร้อมสำหรับการเรียนในรูปแบบออนไลน์
มาจนถึงช่วงสอบ ปัญหาคือวันสอบที่ติดกันจนเกินไป เด็ก 64 ต้องสอบทั้งหมด 22 วัน ไม่มีวันได้หยุดพัก อันนี้อยากให้ผู้ใหญ่หลายคนลองมาเป็นเด็กดู จะได้รู้ว่าการจัดตารางสอบที่ติดๆ กันขนาดนี้มันเหนื่อยมากขนาดไหน สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เกิดปัญหาย่อยอีกหลายอย่างตามมา เช่น สุขภาพจิตของเด็กที่แย่ลง ไม่มีความสุขกับการเรียน ไร้ความฝัน หาความชอบไม่เจอ ไม่รู้ตนเองว่าชอบอะไร เมื่อก่อนเคยเป็นคนภูมิใจในตัวเองอยู่เสมอ เป็นคนเข้มแข็งมาก แต่ตอนนี้รู้สึกไร้ชีวิตชีวา
อย่างเพื่อนหนู มีความฝันอยากชิงทุนไปเรียนประเทศจีน แต่ต้องเจอกับโควิดระลอก 3 ทำให้ไม่ได้ไป เพราะรัฐบาลจัดการอะไรไม่ได้เลย หนูพูดกับเพื่อนตลอดว่า ทำไมเด็กต้องทิ้งความฝันของตนเองเพราะรัฐบาลชุดนี้ด้วย บางคนสามารถไปไกลได้กว่านี้ด้วยซ้ำ
จุดบกพร่องของระบบ TCAS เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กหลายคนเลือกเข้ามหาวิทยาลัยเอกชนหรือเปล่า
คิดว่าเป็นปัจจัยหนึ่ง เรื่องการสมัครสอบ ระบบที่ยุ่งยาก บางคนเลยเลือกตัดปัญหาโดยการเข้าเอกชน จะได้ไม่ต้องเผชิญกับปัญหาของระบบที่ไม่มีความเสถียรแบบนี้ บางคนก็คิดว่า เลือกเข้าเอกชนไปเลยดีกว่า จะได้ไม่ต้องแข่งขัน การเตรียมตัวสอบมันเหนื่อยมาก ไม่รู้ด้วยว่าข้อสอบจะออกมาในขอบเขตที่อ่านไหม แนวข้อสอบจะเปลี่ยนไหม หลายคนเลือกเรียนเอกชนเพราะเหตุผลนี้ เมื่อไม่ต้องมาเตรียมตัวสอบก็มีเวลาทำอะไรเยอะแยะมากมายตามที่อยากทำเลย ไม่ต้องมาเครียดและเสียเวลาเป็นเดือนๆ ด้วยค่ะ
คิดอย่างไรกับวัฒนธรรม เรียนเยอะๆ อ่านหนังสือเยอะๆ เพื่อไปเจอวิชาสอบที่เยอะกว่า
ไม่เห็นด้วยกับการเรียนเพื่อไปสอบเข้าเฉยๆ คิดว่ามันผิดตั้งแต่รูปแบบการสอน เราเรียนเยอะแยะไปหมดแต่บางอย่างก็ไม่จำเป็นเลย ถ้าจะแก้ไขไม่ใช่มาแก้ไขที่ปลายทางคือการสอบเข้า แต่ควรแก้ไขตั้งแต่หลักสูตร วิธีการสอน เพราะปัญหาการศึกษาตอนนี้มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง อยากให้รื้อและแก้ไขให้หมด
มองตัวเองในอีก 4-6 ปีข้างหน้าของการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยไว้แบบไหน
หนูพยายามอย่างหนักเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย สูญเสียทั้งเวลา ทั้งเงิน ทั้งความฝันที่แท้จริง มีประโยคหนึ่งที่ผู้ใหญ่หลายคนมักจะบอกก็คือ “ลำบากวันนี้ สบายวันหน้า การเรียนคือการลงทุน” หนูลงทุนกับระบบที่สร้างความมั่นคงให้กับชีวิตไม่ได้
ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ใกล้จะถึง เด็ก ม.6 ที่เข้าปี 1 ต้องมาเจอกับประเทศไทยที่จมอยู่กับโควิด เหมือนวนลูปการเรียนแบบเดิม เจอปัญหาเดิมๆ รัฐบาลไม่มีมาตรการรองรับที่มีประสิทธิภาพ ขนาดวัคซีนยังต้องแย่งกันลงทะเบียนเลยค่ะ เคยตั้งคำถามกับตัวเองเวลามองการศึกษาในประเทศอื่น อย่าง ประเทศฟินแลนด์ เขาไม่เห็นต้องลำบากอะไรขนาดนั้น แต่ทำไมเขาถึงมีอนาคตที่ดีกว่าพวกเรา เป็นไปได้ไหมที่ผู้ใหญ่จะหันมามองเด็กๆ มองถึงโครงสร้างปัญหาที่แท้จริง ไม่ปล่อยให้จุดสีดำตรงนี้มันอยู่ตลอดไป ไม่แก้ปัญหาแบบผ่านๆ ให้มองระยะไกลด้วย การเติบโตในสังคมปัจจุบันมันยากลำบากมาก
เราสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่เราก็ไม่รู้ว่าเมื่อจบมาแล้วเราจะไปทำอะไรอีก มันไม่ใช่ความผิดของเด็กที่พวกเขาโตมาไม่มีความฝัน ไม่มีสิ่งที่อยากทำ แต่เป็นเพราะการบริหารประเทศที่ล้มเหลวของผู้ใหญ่หลายคนต่างหากที่ทำให้เด็กไร้จุดหมาย