สมาคม Consumer Healthcare Products Association เผยสถิติยอดขายยาโดยไม่ต้องใช้ใบสั่งยาจากแพทย์ (over-the-counter: OTC) ในปี 2013 กว่า 33,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นี่คือตัวเลขที่ยืนยันว่าคนอเมริกันยังนิยมซื้อยาเพื่อบรรเทาอาการป่วยเล็กๆ น้อยๆ ด้วยตัวเอง ขณะที่มีผลวิจัยยืนยันว่ายาส่วนใหญ่ที่สามารถซื้อเองได้ตามร้านขายยาทั่วไปนั้น ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพในการรักษาเท่าที่ควร และบางครั้งยังอาจเกิดผลข้างเคียงและอาการแพ้ตามมาได้
นี่คือยา 5 ชนิดที่ผู้บริโภคสมควรตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพในการรักษาเมื่อเทียบกับราคาที่ต้องจ่าย
1. ยาแก้ไอชนิดน้ำ
แต่ละปี ชาวอเมริกันต้องเสียค่าใช้จ่ายกว่าพันล้านดอลลาร์ไปกับผลิตภัณฑ์บรรเทาอาการระคายคอ ปกติเวลาผู้ป่วยมีไข้ นอกจากยาลดไข้แล้ว พวกเขามักจะใช้ยาแก้ไอควบคู่กันไปด้วย ขณะที่มีงานศึกษาหลายชิ้นยืนยันว่ายาแก้ไออาจไม่ได้มีประสิทธิภาพที่จะช่วยให้หยุดไอได้จริง
ดร.ริชาร์ด เออร์วิน จากวิทยาลัยแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยแมสซาชูเสตต์ส (University of Massachusetts Medical School) และประธานกรรมการสมาคมแพทย์ทรวงอกอเมริกัน (American College of Chest Physicians: ACCP) ให้ข้อมูลว่างานวิจัยหลายชิ้นสรุปไปในแนวทางเดียวกันว่ายาแก้ไอแทบจะไม่แสดงผลการรักษา
ปัญหาของยาแก้ไอชนิดน้ำเชื่อมที่สามารถซื้อได้ตามร้านยาโดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ ก็คือมีปริมาณตัวยาต่ำเกินกว่าจะออกฤทธิ์ได้ ทาง ACCP จึงแนะนำให้ใช้ยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการไอ เพราะตัวยาจะไปช่วยแก้ที่ต้นเหตุมากกว่า หรือจะผสมน้ำผึ้งกับน้ำมะนาวดื่มครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ ร่วมกับการดื่มน้ำมากๆ ก็ช่วยได้เช่นกัน
2. ยาลดไข้สำหรับเด็ก
เวลาเด็กๆ มีไข้ พ่อแม่มักจะพยายามทำทุกอย่างที่จะช่วยให้ไข้ลดโดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม เมื่อสาเหตุของไข้คือไวรัส ซึ่งจะสามารถอยู่ในร่างกายเราได้ตั้งแต่ 1-3 สัปดาห์ ฉะนั้น การใช้ยาลดไข้อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง
ในสหรัฐ ยาลดไข้เด็กหลายตัวสามารถซื้อหาได้โดยไม่ต้องใช้ใบสั่งยาเช่นกัน ในปี 2012 องค์การความร่วมมือคอเครน (Cochrane Collaboration) องค์กรอิสระนานาชาติด้านสุขภาพที่มีอาสาสมัครเข้าร่วมทบทวนงานวิจัยด้านการรักษาพบว่า งานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของยาลดไข้เด็กหลายชิ้นยืนยันตรงกันว่า ไม่มีหลักฐานเพียงพอจะสรุปว่ายาลดไข้เด็กใช้ได้ผลจริง
นอกจากนั้น เมื่อใช้ยาไปแล้ว ผู้ป่วยต้องสังเกตผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น อาทิ หัวใจเต้นเร็ว มีอาการง่วงซึม คลื่นไส้หรือวิงเวียน หากเกิดอาการเหล่านี้ขึ้น ควรพิจารณาหยุดยาทันที
รายงานจากคอเครนชิ้นหนึ่งระบุว่า ยาแก้ไอแบบมีเสมหะ หรือยาขับเสมหะทั้งสองประเภทในท้องตลาด (1. expectorants ออกฤทธิ์ให้ร่างกายสร้างสารน้ำหล่อเลี้ยงทางเดินหายใจมากขึ้น และ 2. mucolytics ออกฤทธิ์ต่อเสมหะโดยตรงจนเสมหะลดความเหนียวข้นลง) ให้ผลลัพธ์ที่ไม่ต่างกันและยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าใช้ได้ผลในเด็ก
3. ยาทาแก้แมลงกัดต่อย
เมื่อถูกยุงกัด น้ำลายยุงจะถูกฉีดเข้าสู่ผิวหนัง และนี่คือสาเหตุที่ทำให้เกิดตุ่มแดงและอาการคัน ซึ่งหลายๆ คนจะต้องหาขี้ผึ้งแก้แมลงสัตว์กัดต่อยขึ้นมาทาแทบจะทันที
วารสาร Drugs and Therapeutics Bulletin ในอังกฤษให้ข้อมูลว่า ขี้ผึ้งแก้แมลงกัดต่อยที่มีวางขายในหลากหลายลักษณะล้วนมีประสิทธิภาพเพียงเล็กน้อยและบางครั้งอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ขึ้นได้
เมโทฟลูธริน (metofluthrin) คือหนึ่งในสารเคมีกันยุงหลายๆ ตัวที่วารสาร Consumer Reports โดยสมาคมผู้บริโภคแห่งสหรัฐให้ข้อมูลว่า หากได้รับในปริมาณมากๆ อาจส่งผลต่อระบบประสาท
ครั้งต่อไป ถ้าถูกแมลงกัดต่อยเป็นตุ่มหรือผื่นขึ้นเล็กน้อยและไม่เกิดอาการแพ้ สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ใช้คือสารละลายแอมโมเนีย แต่ทางที่ดีที่สุดคือการป้องกันไว้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นการสวมถุงเท้า กางเกงขายาว หรือเปิดพัดลมจ่อบริเวณที่นั่ง รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้สบู่หรือแชมพูที่มีกลิ่นหอมของดอกไม้ผลไม้ตามฤดูกาล เพราะยุงและแมลงก็ชื่นชอบกลิ่นเหล่านี้เช่นกัน
4. ยานอนหลับ
จากสถิติในสหรัฐพบว่า ร้อยละ 12 ของผู้ที่พักผ่อนน้อยกว่าคืนละ 6 ชั่วโมงมีแนวโน้มจะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร แม้การนอนหลับไม่เพียงพอจะไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ แต่ถ้าคุณเริ่มมีอาการนอนไม่หลับ อย่าเพิ่งรีบไปหาซื้อยานอนหลับมาใช้เอง
ชาวอเมริกันมีสถิติการใช้ยานอนหลับค่อนข้างน่าตกใจ พวกเขาใช้จ่ายเพื่อรักษาอาการนอนไม่หลับนับร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (Food and Drug Administration: FDA) ก็ออกมายืนยันว่า ยาบางตัวที่พวกเขาใช้นั้นไม่ได้ผล
เนื่องจาก Tylenol PM และ Excedrin PM โดยสรรพคุณแล้วเป็นยาแก้ปวด แต่ได้รับการขยายสรรพคุณให้ผู้บริโภครับทราบว่า สามารถช่วยบรรเทาอาการนอนไม่หลับได้ แม้ไม่ใช่ยานอนหลับโดยตรง แต่เมื่อสามารถซื้อหามารับประทานได้เอง จึงเป็นที่นิยมของคนทั่วไป
แม้จะเป็นยานอนหลับที่แพทย์สั่ง งานวิจัยโดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health) ก็ให้ข้อมูลว่ายาดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ใช้หลับได้เร็วกว่ายาหลอกเพียง 13 นาที
ยิ่งกว่านั้น ยาช่วยหลับซึ่งมีสรรพคุณหลักเป็นยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของ อเซตะมิโนเฟน (acetaminophen) นับเป็นตัวยาอันดับแรกๆ ที่ทำให้เกิดอาการตับวายในผู้ป่วยชาวสหรัฐ
ก่อนตัดสินใจซื้อยารับประทานด้วยตัวเอง ลองสำรวจดูว่าสาเหตุของการนอนไม่หลับคืออะไรกันแน่ หากเป็นปัญหาชีวิตหรือการงาน น่าจะปรึกษานักจิตวิทยาเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเรา ซึ่งจะได้ผลมากกว่าการใช้ยา
5. ยาลดความอ้วน
การมีน้ำหนักเกินถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่อาการป่วยนานาประการ หลายคนจึงพยายามหาทางลัดที่จะลดน้ำหนักด้วยการใช้ยา
แต่การใช้ยาลดน้ำหนักโดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์อาจไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมนัก หลายครั้งอาจเป็นอันตรายได้ การที่มันได้วางขายอยู่ในร้านขายยาทั่วไปไม่ใช่การการันตีว่าเมื่อใช้แล้วจะปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์
ข้อมูลจาก FDA เมื่อปี 2011 และฐานข้อมูลยา Natural Medicines Comprehensive Database ในปีเดียวกัน ให้ข้อมูลว่า ยาลดน้ำหนักยอดนิยมอย่าง Alli (ชื่อสามัญ orlistat) ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมไขมันจำเป็นต้องใช้ควบคู่กับการคุมอาหาร แต่ก็มีผลข้างเคียงคืออาจทำให้อุจจาระเหลวและมีสีซีด เกิดอาการปวดท้อง และอาจทำให้ตับวาย แต่ก็เกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก
แน่นอนว่า สิ่งที่จะช่วยให้การลดน้ำหนักได้ผลโดยไม่ต้องใช้ยาก็คือการออกกำลังกายและดูแลเรื่องอาหารการกิน
ที่มา: alternet.org