ภาพประกอบ: Shhhh
วันที่ 28 พฤษภาคมคือ วันเยรูซาเลม (Jerusalem Day)
วันที่ชาวอิสราเอลทุกคนพากันโบกธงชาติ พื้นธงสีขาว ดาวหกแฉกสีฟ้าตรงกลาง และขนาบข้างด้วยแถบสีฟ้า ชาวยิวรำลึกถึงวันที่อิสราเอลได้รับชัยชนะใน ‘สงครามหกวัน’ (Six-Day War) หรือที่รู้จักกันว่าเป็นสงครามระหว่างชาวอาหรับและชาวยิวครั้งที่ 3 แม้ผ่านมาแล้ว 50 ปีแต่กลิ่นอายแห่งความขัดแย้งที่มีจุดเริ่มต้นจากสงครามหกวันดูเหมือนไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด ในพื้นที่ที่ในปัจจุบันได้รับการขนานนามว่า ‘ไร้สันติภาพ’
หลังจากสถาปนารัฐอิสราเอลเมื่อปี 1948 ความขัดแย้งระหว่างชาวยิวและอาหรับในภูมิภาคดังกล่าวก็ร้อนเป็นไฟ รัฐอาหรับไม่เห็นด้วยกับการที่ชาวยิวสถาปนารัฐตัวเองขึ้นมาท่ามกลางประเทศเพื่อนบ้านที่รายรอบไปด้วยชาวอาหรับ เกิดการปะทะกันอย่างต่อเนื่องและกลายเป็นสงครามย่อยๆ อยู่หลายครั้งในช่วงปี 1950-1960 แต่สงครามหกวันที่ระเบิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายนปี 1967 – ถือเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของชาวยิว
สงครามหกวันเกิดจากเส้นความตึงเครียดของทั้งสองฝ่ายขาดสะบั้นลง และเป็นการโจมตีโต้ตอบกันระหว่าง PLO หรือกลุ่มองค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Palestine Liberation Organization) และอิสราเอล โดยมีประเทศอียิปต์ จอร์แดน ซีเรีย อิรัก เป็นกองกำลังสำคัญสนับสนุน PLO อย่างไรก็ตามกองทัพอาหรับกลับต้องพ่ายแพ้ให้กับกองทัพอิสราเอล ส่งผลให้อิสราเอลสามารถยึดฉนวนกาซ่า คาบสมุทรไซนายจากอียิปต์ ยึดพื้นที่เวสต์แบงก์ทั้งหมด เขตเยรูซาเลมตะวันออกจากจอร์แดน รวมถึงยึดที่ราบสูงโกลันจากซีเรีย อิสราเอลจึงสามารถขยายดินแดนออกไปจากเดิมได้ถึงสี่เท่าตัว เพียงเวลาแค่หกวัน
อิสราเอลกับปาเลสไตน์คือความขัดแย้งครั้งใหญ่บนเส้นประวัติศาสตร์โลก ทั้งการเจรจาทางการเมือง การรุกไล่ การต่อสู้ และสงครามที่เกิดขึ้นหลายครั้งระหว่างชาวยิวและชาวอาหรับ หากจะกล่าวว่าความขัดแย้งของทั้งสองชาตินั้นได้พ้นกรอบจากเรื่องศาสนาไปสู่ประเด็นอื่นๆ และตัวแสดงอื่นๆ ก็คงไม่ถือว่าเป็นการกล่าวเกินเลยไป ในเมื่อพื้นที่แห่งนี้ยากจะหาสันติได้
สถานะของเยรูซาเลม ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ เขตแดน ความมั่นคง สิทธิน้ำ สิทธิเสรีภาพของชาวปาเลสไตน์ในเวสต์แบงก์และเยรูซาเลมตะวันออก รวมถึงการสร้างที่อยู่อาศัยในเวสต์แบงก์ของชาวยิว ทั้งหมดคือประเด็นใหญ่ๆ ที่ทำให้ความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน และไม่มีทีท่าว่าจะสามารถเจรจาสันติภาพได้ แม้ตอนนี้คนจำนวนไม่น้อยจากทั้งสองคู่ขัดแย้ง เริ่มเห็นพ้องกันแล้วว่า สงครามไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น และปมปัญหาดังกล่าวก็คลี่คลายยากไปกว่าเดิมมากขึ้นเรื่อยๆ
ปมเก่ารื้อใหม่: การตั้งถิ่นฐานในเวสต์แบงก์ของชาวยิว
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา ‘โครงการสร้างพื้นที่อยู่อาศัยของชาวอิสราเอลในเขตเวสต์แบงก์’ ผ่านไฟเขียวอย่างเป็นเอกฉันท์ จากสภาความมั่นคงแห่งชาติอิสราเอลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยรัฐบาลหยิบยกประเด็นดังกล่าวเข้าสู่สภาอีกครั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ไม่นาน เมื่อประชาคมโลกรับรู้ถึงแผนการดังกล่าว ก็พากันกล่าวประณามอิสราเอลว่า พวกเขากำลังสร้างอุปสรรคต่อกระบวนการสร้างสันติภาพ
การรุกคืบข้ามเส้นดินแดนนี้ สำนักข่าวท้องถิ่นอิสราเอล Ynet รายงานว่า สำนักงานบริหารพลเรือนของอิสราเอล (Israeli Civil Administration) เห็นชอบให้สร้างเขตพื้นที่อยู่อาศัยใหม่ และกำหนดสถานที่ให้ตั้งอยู่ใจกลางเวสต์แบงก์ คือเขต Amichai และ Emek Shilo ตามที่นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) เคยให้สัญญาเอาไว้เพื่อชดเชยให้กับชาวยิวที่ถูกขับไล่ออกนอกเขต Amona ตามคำสั่งศาลสูงสุดของอิสราเอลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวถือว่าเป็นที่ดินส่วนบุคคลของปาเลสไตน์
อันโตนิโอ กูเตอร์เรส (António Guterres) เลขาธิการองค์กรสหประชาชาติ แสดงท่าทีเป็นกังวล และกล่าวว่า “ช่างเป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง” ส่วนฝั่งปาเลสไตน์ ฮานาน อาชราวี (Hanan Ashrawi) สมาชิกสภาราษฎรปาเลสไตน์ ได้ออกมากล่าวว่า “อีกครั้งที่อิสราเอลแสดงให้เห็นว่า ต้องการปลอบประโลมประชาชนของตัวเองมากกว่าที่จะยึดมั่นตามหลักการอยู่ร่วมกันของทั้งสองรัฐ แผนการไปสู่สันติภาพและความมั่นคงในพื้นที่แห่งนี้”
เวสต์แบงก์และเยรูซาเลม: ดินแดนที่ความขัดแย้งไม่สิ้นสุด
สำหรับอิสราเอลแล้ว เวสต์แบงก์ถือเป็นดินแดนศักดิ์สิทธ์ตามหลักศาสนา พวกเขาเรียกพื้นที่แห่งนี้ว่า ‘จูเดียและซาแมเรีย’ (Judea and Samaria) โดยอิสราเอลเข้ายึดครองเขตเวสต์แบงก์และนครเยรูซาเลมตะวันออกในช่วงสงครามหกวัน เมื่อปี 1967 แม้เขตเวสต์แบงก์จะไม่ได้ถูกผนวกเข้ากับอิสราเอล แต่ก็อยู่ใต้การปกครองของกองทัพอิสราเอล (ยกเว้นพื้นที่เยรูซาเลมตะวันออก) จึงเท่ากับว่า การตัดสินใจเข้ายึดครองเวสต์แบงก์ ถือเป็นความสำเร็จของกองทัพอิสราเอล ไม่ใช่ฝ่ายพลเรือน
หลังจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ในสงครามหกวัน เวสต์แบงก์ก็ถูกแบ่งออกเป็นสามพื้นที่ ได้แก่ A, B และ C ตามข้อตกลงสันติภาพออสโล (Oslo Accords) ปี 1993 ทำให้ดินแดนแห่งนี้กลายเป็นประชาคมนานาชาติ (International Community)
เขตพื้นที่ A ครอบคลุมพื้นที่ในเวสต์แบงก์ 20 เปอร์เซ็นต์ สิทธิทั้งหมดในพื้นที่นี้เป็นของปาเลสไตน์ ส่วนเขตพื้นที่ B เป็นการปกครองร่วมกันระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอล มีพื้นที่ทั้งหมด 20 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน สุดท้ายคือ เขตพื้นที่ C ซึ่งครอบคลุมเขตเวสต์แบงก์มากที่สุด 60 เปอร์เซ็นต์ มีรัฐบาลอิสราเอลเป็นผู้ดูแล และเป็นพื้นที่ที่ชาวยิวเข้าไปตั้งรกรากมากที่สุด
ส่วนรอบเขตเวสต์แบงก์ พื้นที่หลักที่ชาวยิวเข้าไปอยู่อาศัยมากที่สุดคือ Ariel ทางตอนเหนือของเวสต์แบงก์ Ma’ale Adumim ใกล้กับเยรูซาเลม และ Gush Etzion ทางตอนใต้ของเวสต์แบงก์ และจากรายงานเดือนกันยายนปี 2016 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติอิสราเอลเปิดเผยว่า มีชาวยิวตั้งถิ่นฐานอยู่ในเวสต์แบงก์มากกว่า 126 ชุมชน
แม้อิสราเอลพยายามรุกคืบ แต่สำหรับชาวมุสลิมทั่วโลก นี่คือ ‘ดินแดนของปาเลสไตน์ที่ถูกอิสราเอลเข้ายึดครอง’ เพราะตามหลักของข้อตกลงสันติภาพออสโล ถือเป็นการประกาศว่า โลกได้ยอมรับให้มีดินแดนปกครองตนเองที่ชื่อ ‘ปาเลสไตน์’ ในเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซ่า โดยข้อตกลงดังกล่าวเป็นการประนีประนอมกันครั้งแรกระหว่างองค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ ซึ่งนำโดย ยัสเซอร์ อาราฟัต (Yasser Arafat) และนายกรัฐมนตรีอิสราเอล ยิตซัค ราบิน (Yitzhak Rabin)
ผิด?
โครงการสร้างพื้นที่อยู่อาศัยของอิสราเอลถือว่าผิดกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะนอกจากจะละเมิดข้อตกลงสันติภาพออสโลในปี 1993 แล้ว ยังละเมิดสนธิสัญญาเจนีวาฉบับที่สี่ (Fourth Geneva Convention) ตามมาตรา 49 ที่บัญญัติไว้ว่า “ห้ามให้ประเทศใดครอบครองหรือนำประชาชนของตนเข้าไปอยู่ในพื้นที่ตรงนั้น” และหากดูจากมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติก็ “ไม่ถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศ” ข้อมติที่ 242, 338, 446, 452, 465, 476, 478, 1397, 1515 และ 1850
เหตุผลสำคัญที่ไม่อนุญาตให้รัฐใดๆ เข้าครอบครองพื้นที่ดังกล่าว คือ เพื่อให้มั่นใจว่าพื้นที่ตรงนั้น ปราศจากการยึดครองจากกลุ่มใดๆ ให้คงไว้ซึ่งสถานะชั่วคราว และป้องกันไม่ให้รัฐใดๆ เข้าไปครอบครองสถานะทางทหารในนั้น ซึ่งอาจนำมาสู่ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ในภายหลัง
อย่างไรก็ตาม นักกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศของอิสราเอลกลับมองว่า พวกเขามีสิทธิ์ที่จะดำเนินการใดๆ ก็ได้ในพื้นที่ดังกล่าว โดยอ้างตามเหตุผลทางศาสนาและทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากพวกเขาอาศัยอยู่ในบริเวณแห่งนี้มานานนับพันปี และปัจจุบันก็ยังคงเป็นของพวกเขาอยู่ อีกทั้งหากอ้างตามหลักกฎหมาย เมื่อปี 2012 นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู ได้เผยแพร่รายงาน Levy Commission Report ซึ่งปฎิเสธหลักกฎหมายที่สนธิสัญญาเจนีวาฉบับที่สี่ทั้งหมด และอ้างว่า พื้นที่ในเขตเวสต์แบงก์ไม่เคยเป็นของรัฐอาหรับอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม รายงานชิ้นดังกล่าวก็ไม่ได้รับการยอมรับในเวทีนานาชาติ
เยรูซาเลม ดินแดนที่ชาวปาเลสไตน์ไม่มีตัวตน
เป็นความจริงที่น่าเศร้า ชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในเยรูซาเลม ไม่ถือว่าเป็นประชากรของอิสราเอล ไม่ถือว่าเป็นประชากรของจอร์แดน และไม่ใช่ประชากรของปาเลสไตน์
ปัจจุบัน ชาวปาเลสไตน์กว่า 420,000 คนในเขตเยรูซาเลมตะวันออก แม้จะมีบัตรประจำตัวถิ่นที่อยู่ถาวร (Permanent Residency) แต่พวกเขาก็ต้องถือพาสปอร์ตจอร์แดนชั่วคราว โดยปราศจากเลขประจำตัวประชาชนจอร์แดนในนั้น หมายถึงว่า พวกเขาไม่ใช่ประชาชนจอร์แดน หากต้องการทำงานในจอร์แดน ก็ต้องได้รับการอนุญาต รวมถึงไม่สามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการใดๆ จากทางภาครัฐ เช่น สิทธิด้านการศึกษา เป็นต้น
รัฐบาลอิสราเอลปฏิบัติกับชาวปาเลสไตน์เช่นเดียวกับแรงงานต่างชาติทั่วไป แม้ว่าพวกเขาจะเกิดและเติบโตที่นั่นก็ตาม แต่หากใครไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า เติบโตในเยรูซาเลมจริงๆ และยังใช้ชีวิตในพื้นที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ก็แทบจะสูญเสียสิทธิ์ที่ควรจะได้แทบทุกอย่างจากภาครัฐ ส่วนคนที่สามารถแสดงหลักฐานได้ ก็ต้องยื่นทุกอย่างที่มีในชีวิตตามขั้นตอนแสนยุ่งยาก ตั้งแต่โฉนดที่ดิน ไปถึงสลิปเงินเดือน ตรงกันข้ามกับชาวยิวทั่วโลก ซึ่งมีสิทธิ์ได้สัญชาติอิสราเอล และอาศัยอยู่ในอิสราเอลอย่างง่ายดาย
ไม่มีเสียงใดๆ จาก โดนัลด์ ทรัมป์
โดนัลด์ ทรัมป์ เดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรก หลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่วันที่ 19-27 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีกำหนดเดินทางไปตามประเทศและเมืองต่างๆ ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย เยรูซาเลม เวสต์แบงก์ นครวาติกัน เบลเยียม และเข้าร่วมสุดยอดการประชุม G7 Summit ที่ซิซิลี ประเทศอิตาลี เป็นที่สุดท้าย
อย่างไรก็ตาม เมื่อทรัมป์ไปเยือนเวสต์แบงก์ กลับไม่ได้พูดถึงแนวคิดที่จะให้ปาเลสไตน์เป็นรัฐเอกราช แม้ว่า ‘แนวทางแก้สองรัฐ’ (Two-state Solution) เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างสองฝ่าย จะเป็นข้อเสนอที่นานาประเทศ รวมถึงเป็นนโยบายสำคัญของสหรัฐ ที่ต้องการสนับสนุนให้อิสราเอลและปาเลสไตน์มีสถานะเป็นรัฐที่มีอำนาจในการปกครองตนเอง และมีสิทธิ์ในดินแดนบางส่วนร่วมกัน – แม้อิสราเอลจะไม่เห็นด้วยก็ตาม
ทรัมป์เดินทางไปเยือนเยรูซาเลมเพียง 28 ชั่วโมงในวันที่ 22 พฤษภาคม และกล่าวสุนทรพจน์ที่พิพิธภัณฑ์อิสราเอลในเยรูซาเลม ท่ามกลางผู้เข้าร่วมงานกว่าร้อยชีวิตว่า “ผมเชื่อมั่นว่าชาวปาเลสไตน์และชาวอิสราเอลพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการสร้างสันติภาพ ทั้งสองประเทศต่างแสวงหาความหวังในการมีชีวิตอยู่ และเรารู้ว่าสันติภาพเกิดขึ้นได้ ถ้าเราพวกเราลืมความเจ็บปวดในอดีตไปเสีย”
ชาวอิสราเอลส่วนใหญ่ค่อนข้างคาดหวังว่า ทรัมป์จะสนับสนุนโครงการก่อสร้างพื้นที่อยู่อาศัยในเวสต์แบงก์ และมองว่า ทรัมป์คือ ‘ความหวังใหม่’ สำหรับพวกเขา โดยเฉพาะกลุ่มนักการเมืองฝ่ายขวาอิสราเอล ก่อนหน้านี้ ในสมัยอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา เคยผลักดันให้คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ (UNSC) ลงมติคัดค้านการตั้งถิ่นฐานของชาวอิสราเอลในเขตเวสต์แบงก์เมื่อธันวาคมปีที่ผ่านมา
และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทรัมป์ก็เพิ่งแสดงความคิดเห็นว่า เขาไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว
ส่วนหนึ่งที่ทำให้ชาวอิสราเอลมองว่าทรัมป์คือความหวัง เป็นเพราะทรัมป์เคยเสนอให้ย้ายสถานทูตสหรัฐในอิสราเอล จากกรุงเทลอาวีฟ (Tel Aviv) ไปยังเยรูซาเลม ซึ่งการกระทำเช่นนั้นหมายความว่า สหรัฐยอมรับให้เยรูซาเลมเป็นส่วนหนึ่งของอิสราเอล
จากความคาดหวังนี้ หลังจาก โดนัลด์ ทรัมป์ เข้าสู่พิธีสาบานตนได้ไม่นาน อิสราเอลก็ประกาศว่า จะเดินหน้าสร้างบ้านในเวสต์แบงก์กว่า 2,500 หลังทันที และคาดหวังว่าภายในห้าปีข้างหน้าจะสามารถขยายให้รองรับได้ถึง 10,000 ครัวเรือน
แต่อิสราเอลคาดผิด เพราะสำหรับสหรัฐแล้ว โครงการดังกล่าวถือเป็นปัญหาด้านนโยบายทางการทูตมาโดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากสหรัฐสนับสนุนแนวทางแก้สองรัฐ ดังนั้น การสร้างที่อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าว จึงเป็นก้างขวางคอชิ้นใหญ่ และแม้สหรัฐพยายามที่จะเป็นคู่เจรจาที่ดีกับทั้งสองฝ่าย แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ประสบผลสำเร็จ
ความซับซ้อนกว่านั้นคือ CNN ได้เปิดเผยรายงานภาษีของ โดนัลด์ ทรัมป์ และ The Charles and Seryl Kushner Family Foundation ซึ่งเป็นมูลนิธิการกุศลของ จาเร็ด คุชเนอร์ (Jared Kushner) ลูกเขยของทรัมป์ ว่าทั้งคู่ต่างเคยบริจาคเงินให้กับโรงเรียนในพื้นที่ขัดแย้งดังกล่าวถึง 10,000 ดอลลาร์ เมื่อปี 2011 และ 2013
สงครามหกวัน: เมล็ดพันธุ์ของความขัดแย้ง
สงครามหกวันเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อิสราเอล
คือคำพูดที่ นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู เคยกล่าวเอาไว้เมื่อไม่นานมานี้
แต่ชาวอิสราเอลรุ่นใหม่กลับเห็นต่างและมองว่า สงครามหกวันคือเมล็ดพันธุ์ของความขัดแย้งที่เติบโตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเขาเริ่มรับรู้ถึงปัญหาที่ต้องแบ่งแยกดินแดนระหว่างเวสต์แบงก์ เยรูซาเล็มตะวันออก และฉนวกกาซ่า จากอียิปต์ และปัจจุบัน ชาวอาหรับที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ก็มีจำนวนมากไม่แพ้ชาวยิวเช่นกัน พวกเขากลายเป็นคนที่เติบโตในดินแดนแห่งความขัดแย้งร่วมกัน และต่างฝ่ายก็ต้องเผชิญกับโจทย์ใหญ่ร่วมกัน ที่ยาก (เกินกว่า) จะแก้
หลายต่อหลายครั้งที่การเจรจาสันติภาพล้มเหลว ท้ายสุดนำมาซึ่งความรุนแรง เพราะอุปสรรคสำคัญคือ ดินแดนศักดิ์สิทธิ์อย่างเยรูซาเลม ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างก็ต้องการพื้นที่ในบริเวณดังกล่าว อิสราเอลที่ไม่ยอมแพ้ ยิ่งอิสราเอลเร่งเดินหน้าสร้างที่อยู่อาศัยในเวสต์แบงก์มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้กระบวนการสร้างสันติภาพเดินสู่ทางแคบขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา การเจรจาสันติภาพระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ก็ล้มเหลวเหมือนอีกหลายๆ ครั้ง แม้จะมีตัวแทนจาก 70 ประเทศสมาชิกสหประชาชาติเข้าร่วมประชุมที่กรุงปารีส แต่คนสำคัญอย่าง เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลกลับไม่ยอมเข้าร่วมการประชุม โดยให้เหตุผลว่าฝรั่งเศสหนุนหลังปาเลสไตน์ ส่วนฝั่งปาเลสไตน์ก็มองว่าสหรัฐก็หนุนหลังอิสราเอลเช่นกัน
ผลสำรวจความเห็นของชาวปาเลสไตน์และชาวอิสราเอลเกี่ยวกับแนวทางแก้สองรัฐ ซึ่งจัดทำโดยสถาบันประชาธิปไตยอิสราเอลซึ่งเผยแพร่เมื่อสิงหาคมปีที่แล้ว โดยผลสรุปออกมาว่า ชาวปาเลสไตน์ 51 เปอร์เซ็นต์ และชาวอิสราเอล 59 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยกับแนวทางแก้ดังกล่าว
พวกเขาหวังว่า ด้วยกระบวนการสันติภาพ สักวันหนึ่ง ชาวยิวกับปาเลสไตน์จะสามารถอยู่ร่วมกันได้ บนดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก:
maannews.com
apnews.com
edition.cnn.com
aljazeera.com
telegraph.co.uk