ประเด็นเรื่องพืชดัดแปรพันธุกรรมหรือ GMO นอกจากข้อถกเถียงถึงอันตรายที่อาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวแล้ว ต้องไม่ลืมเรื่องของสารเคมีปราบศัตรูพืชที่ใช้ระหว่างขั้นตอนการเพาะปลูกก่อนส่งถึงมือผู้บริโภคเป็นสำคัญ
นี่เป็นตัวอย่างบางส่วนจากรายงานหลายชิ้นเกี่ยวกับ GMO ที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ ที่ผู้บริโภคควรทราบ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจหากในอนาคตอันใกล้อาหารที่มาจากการดัดแปรพันธุกรรมจะเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้น
1. ผลการศึกษาโดย International Agency for Research on Cancer (IARC) หน่วยงานหนึ่งขององค์การอนามัยโลก ประกาศว่า สารเคมีในกลุ่มสารปราบวัชพืช (Herbicide) ชนิด ไกลโฟเสต (glyphosate) ถือเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ โดยรายงานดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Lancet Oncology เมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งถูกทางมอนซานโตโจมตีเรื่องความน่าเชื่อถือและเรียกร้องให้เพิกถอนข้อมูลดังกล่าว
2. บทความเรื่อง ‘GMO Science Deniers: Monsanto and the USDA’ โดย แอนดรู คิมเบรลล์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาอาหารปลอดภัย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ huffingtonpost ชี้เป้าไปยังสิ่งที่เราต่างทราบกันดีจากการเรียนในชั้นประถมว่า พืชต่างๆ มีความสามารถในการวิวัฒนาการเพื่อปรับและเอาตัวรอดในธรรมชาติ พืชพันธุ์ที่แข็งแรงที่สุดเท่านั้นที่จะอยู่รอดได้
ขณะที่บรรษัทอุตสาหกรรมเกษตรยักษ์ใหญ่อย่างมอนซานโตกลับหันไปพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ปราบวัชพืชในนาม ‘superweeds’ ขึ้นแทน และที่น่าตกใจกว่านั้นคือการที่กระทรวงเกษตรสหรัฐ ยังสนับสนุนให้เกษตรกรใช้สารปราบวัชพืชเหล่านี้อยู่
3. การเปิดเผยข้อมูลโดยทนายความที่เคยมีประสบการณ์ทำคดีพิพาทกรณีละเมิดกฎหมายของหน่วยงานรัฐโดยตรงอย่าง สตีเฟน ดรูเกอร์ ในหนังสือ Altered Genes, Twisted Truth: How the Venture to Genetically Engineer Our Food Has Subverted Science, Corrupted Government, and Systematically Deceived the Public ระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (Food and Drug Administration: FDA) เพิกเฉยต่อคำเตือนของทีมนักวิทยาศาสตร์ประจำหน่วยงาน และกลายเป็นหน่วยงานรัฐอย่าง FDA ที่ละเมิดกฎหมายว่าด้วยอาหารปลอดภัยเสียเอง
ทำให้ในที่สุด อาหารดัดแปรพันธุกรรมได้รับการรับรองความปลอดภัยโดย FDA ด้วยการจัดให้อยู่ในหมวด ‘Generally Recognized as Safe’ (GRAS) ซึ่งทำให้ผู้ผลิตสามารถวางจำหน่ายวัตถุดิบและอาหาร GMO ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบด้านความปลอดภัย
4. หนังสือ Poison Spring: The Secret History of Pollution and the EPA เขียนโดย อี. จี. วาลลิอนาโตส อดีตเจ้าหน้าที่ของ EPA (U.S. Environmental Protection Agency) ระหว่างปี 1979-2004 ให้ข้อมูลน่าสนใจในประเด็นการคอร์รัปชันและการใช้หลักฐานอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์ชนิดผิดที่ผิดทาง
จากประสบการณ์การทำงานใน EPA 25 ปี วาลลิอนาโตสระบุว่า EPA อนุญาตให้มีการใช้งานสารปราบวัชพืชที่มีส่วนผสมของไกลโฟเสตได้ ขณะที่ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา นั่นคือปัญหาการปนเปื้อนของสารดังกล่าวในดินและน้ำที่เป็นแหล่งผลิตอาหารโดยตรง ซึ่งในที่สุดก็มีหลักฐานยืนยันว่า สารไกลโฟเสตเป็นสารก่อมะเร็ง
5. เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา รายงาน ‘Seedy Business: What Big Food is hiding with Its Slick PR Campaign on GMOs’ โดย แกรี รัสกิน จาก US Right to Know องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่เริ่มต้นผลักดันโครงการ California Right to Know รณรงค์ให้ติดฉลากระบุว่ามีส่วนผสมของ GMO ในอาหารที่รัฐแคลิฟอร์เนีย เปิดเผยประวัติศาสตร์อันยาวนานและความสามารถของบรรษัทอาหารยักษ์ใหญ่ในการแทรกแซงสื่อ ผู้มีอำนาจตัดสินใจเชิงนโยบาย และเทคนิคการสื่อสารต่อสาธารณะ ด้วยงบประมาณกว่า 100 ล้านดอลลาร์ต่อปี
นอกจากนี้ ยังเปิดประเด็น ‘15 ข้อที่บรรษัทอาหารยักษ์ใหญ่ไม่อยากให้ผู้บริโภคทราบ’ อาทิ บรรษัทอุตสาหกรรมเกษตรเก็บความลับเรื่องความปลอดภัยของสารเคมีไม่ให้สาธารณะรับทราบได้อย่างไร? FDA ทำการทดสอบความปลอดภัยของอาหาร GMO จริงหรือไม่?
ที่มา: alternet.org
huffingtonpost.com
mbio.asm.org