เปรู: แบน GMO แต่ไม่แก้อาหารแพง

peru-food-price-1

 

ขณะที่บราซิล อาร์เจนตินา ชิลี โคลอมเบีย และโบลิเวีย ให้การต้อนรับบรรษัทเทคโนโลยีชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Monsanto แต่เปรูกลับตัดสินใจเลือกทำตรงกันข้าม ด้วยการออกประกาศแบนการนำเข้าและการเพาะพันธุ์พืชที่มีการดัดแปรพันธุกรรม (genetically modified organisms: GMOs) ตั้งแต่ปลายปี 2011 เป็นระยะเวลา 10 ปี

ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของมันฝรั่งพื้นเมืองกว่า 4,200 ชนิด พริกอีกไม่ต่ำกว่า 150 ชนิด รวมถึงธัญพืชที่มีถิ่นกำเนิดแถบเทือกเขาแอนดีส อาทิ ควินัว คิวิชา และคานิฮัว (quinoa, kiwicha, cañihua) เกษตรกรรายย่อยของที่นี่ราว 2 ล้านรายจะสามารถทำการผลิตอาหารปลอดภัยของพวกเขาได้ต่อไป ทั้งยังสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้สำหรับฤดูกาลต่อไปได้ด้วยตนเอง

การตัดสินใจของรัฐบาลเปรูในประเด็น GMO น่าจะทำให้ประชาชนและชาวโลกที่ต่อต้านอาหาร GMO ใจชื้นขึ้นมาบ้าง แต่จากบทความที่กล่าวถึงอาหารในเปรูว่า ทุกอย่างล้วนปลอดสารเคมี ปลอดภัย ไร้ GMO นอกจากนั้น ราคายังถูกเหลือเชื่ออีกด้วย (‘Everything Is Organic & Non-GMO In Peru And Food Prices Are Insanely Cheap. This Is How.’) อาจเป็นการบอกความจริงเพียงครึ่งเดียว

แม็กซิโม โทเรโน นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยนโยบายอาหารนานาชาติ (International Food Policy Research Institute) ผู้เชี่ยวชาญด้านลาตินอเมริกาและอาจารย์ประจำ Universidad del Pacífico ในกรุงลิมา เปรู ให้ข้อมูลอีกด้านเกี่ยวกับสถานการณ์อาหารปลอดภัยในประเทศปลอด GMO

โทเรโนกล่าวถึงราคาอาหารในเปรู ต้องถือว่าค่อนข้างสูง เขาบอกว่า ถ้าคุณทำงานในกรุงลิมาและมีรายได้ปานกลาง การเข้าร้านอาหารดีๆ ที่นี่ราคาพอๆ กับในวอชิงตัน ดีซี เลยทีเดียว

นิตยสาร Washington State Magazine นำเสนอกราฟิกราคาอาหารที่ประชาชนทั่วโลกต้องเสียเมื่อเทียบกับรายได้ และภาวะทุพโภชนาการในเด็กอายุไม่เกิน 5 ขวบ โดยพบว่าเฉลี่ยแล้ว ชาวเปรูต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านอาหารราวร้อยละ 30 ของรายได้ ขณะที่มีเด็กอายุไม่เกิน 5 ขวบอยู่ในภาวะทุพโภชนาการระหว่างร้อยละ 30-40 (ขณะที่คนไทยเสียค่าอาหารเฉลี่ยร้อยละ 25 และเด็กๆ ที่มีปัญหาทุพโภชนาการอยู่ที่ร้อยละ 5-10)

หากจะแก้ไขพาดหัวบทความข้างต้นให้ถูกต้องตามความเป็นจริง จะได้ว่า เปรูแบน GMO จริง แต่ราคาอาหารไม่ถูก และเด็กๆ ที่นี่ยังมีปัญหาขาดสารอาหาร

 

ที่มา: grist.org

lab.org.uk

logo

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า