เราจะจดจำเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ด้วยรูปแบบใดได้บ้าง การอ่าน บันทึกเสียง หนังสือพิมพ์ งานวิชาการ ภาพถ่าย งานศิลปะ วรรณกรรม และนิทรรศการ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งการรำลึกเหตุการณ์ที่ถือว่าเป็นการสังหารหมู่ที่อุกอาจครั้งหนึ่งในไทย คือการเป็นพยานรู้เห็นประวัติศาสตร์ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการ
‘นิทรรศการแขวน’ เป็นการผสมผสานหลักฐาน ข้อเท็จจริง พื้นที่ เทคโนโลยี นำเสนอใหม่ในพื้นที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริเวณรอบหอประชุม เชิญชวนให้ผู้สนใจทั่วไปเข้าไปสบตากับอาชญากรรมโดยรัฐที่อื้อฉาวที่สุดในการเมืองไทยสมัยใหม่
ประตูแดงและ AR
ประตูซึ่งเคยเป็นวัตถุ ‘แขวน’ คอพนักงานไฟฟ้า 2 คน หลังถูกทำร้ายขณะออกไปติดใบปลิวต่อต้านการกลับประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร คือหนึ่งในเหตุการณ์ความรุนแรงที่เปิดฉากก่อนการสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะเกิดขึ้นจริงตามมาไม่นาน
ประตูนี้ถูกค้นพบและปลดออกมาจากสถานที่จริง มานำเสนอในงานเสมือนเป็นทางเข้าสู่ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ
เช่นเดียวกับ เทคโนโลยี AR หรือ ‘Augmented Reality’ ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีภาพเสมือนเหตุการณ์จริงของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ในรูปแบบ 3 มิติ มาจำลองเข้าสู่โลกจริงผ่านกล้องและการประมวลผลที่จะนำวัตถุมาทับซ้อนเข้าเป็นภาพเดียวกัน ผู้ชมสามารถมองผ่านกล้องได้โดยตรง เช่น ดูผ่านแทบเล็ต ส่องไปยังสนามหลวง ก็จะปรากฏภาพการแขวนคอผู้ชุมนุม ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 หรือกระดานจำลองภาพตรงบริเวณสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันเป็นพื้นที่ชุมนุมหลักของนักศึกษา ประชาชน
หนังสือพิมพ์
หนังสือพิมพ์ เป็นสื่อสาธารณะไม่กี่ประเภทในทศวรรษ 2510 นอกเหนือไปจาก วิทยุและโทรทัศน์ และยังทรงพลังในการส่งต่อการรับรู้ไปยังผู้คนในวงกว้าง ที่สำคัญมันกลายเป็นจุดลั่นไกที่ส่งผลร้ายต่อหนุ่มสาวในยุคนั้นด้วย ผู้จัดนิทรรศการได้คัดสรรหนังสือพิมพ์และนำมาจัดวางใหม่ ล้อไปกับทางเดินยาวที่ลำดับเหตุการณ์ความรุนแรงไว้อย่างไม่ซับซ้อน แต่ลุ่มลึกในแง่วิธีการนำเสนอ ทำให้ผู้เข้าชมอาจจะรู้สึกพรั่นพรึง และชวนติดตาม
เสื้อนักเรียน ลำโพง กับต้นมะขาม
จารุพงษ์ ทองสินธุ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิตหลายคน และถูกกองกำลังที่เข้าล้อมปราบในเช้าวันนั้นทำร้ายศพ ถูกนำเสนอผ่านชุดที่เขาสวมใส่ในวันนั้น มีข้อความบรรยายไว้บางส่วน ถัดไปอีกนิดเป็นลำโพงของขบวนการนักศึกษาในยุคนั้น ที่ถูกยิงจากอาวุธสงครามจำนวนกระสุนหลายสิบนัด
ในโซนชั้นบนของนิทรรศการยังได้นำกางเกงยีนส์ของ นายดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง เหยื่อที่ถูกสังหารโหดมาจัดแสดง รวมไปถึงภาพถ่ายรางวัลพูลิตเซอร์เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ นักศึกษาถูกฆ่าแขวนคอใต้ต้นไม้แล้วถูกฝ่ายเห็นต่างใช้เก้าอี้ฟาด ผลงานช่างภาพ AP นีล อุลเลวิช ถูกนำมาขยายใหญ่เท่าของจริง มาจัดแสดงบอกเล่าเรื่องราว
เช่นเดียวกับการนำแทบเล็ตเข้ามาช่วยให้มุมมองของผู้เข้าร่วมชมนิทรรศการมีมติมากขึ้น ผู้เข้าชมสามารถมองผ่านกระจกของหอประชุม ไปยังท้องสนามหลวง ที่มีต้นมะขาม อันเป็นจุดแขวนคอนักศึกษา และฟาดศพผู้เสียชีวิต ท่ามกลางการโห่ร้องยินดีของคนไทยจำนวนหนึ่ง สิ่งที่น่าทึ่งคือบริเวณที่กระทำการอุจาดนั้นอยู่ตรงเบื้องหน้าพระราชวัง และที่ทำการศาลฎีกา
การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบอกเล่าเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ในวาระ 44 ปี ครั้งนี้ เกือบทุกจุดผู้ชมสามารถชมผ่านอุปกรณ์แทบเล็ตนับสิบเครื่อง จากทางเข้าหอประชุมใหญ่ มธ. ผู้เข้าชมสามารถสแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อให้ได้เห็นภาพจริงของ 2 ศพพนักงานการไฟฟ้าที่ถูกแขวนคอบนประตูแดงก่อนเข้างาน และภายในโถงของหอประชุม มีการนำภาพท้องสนามหลวงในปัจจุบันมาติดไว้ เพื่อให้ผู้เข้าชมสามารถสแกน เพื่อชมเหตุการณ์ การแขวนคอประชาชนในท้องสนามหลวงทุกจุด
จากการติดตามของ โครงการบันทึก 6 ตุลา พบว่า ผู้เสียชีวิตที่ถูกแขวนคอในวันนั้น มีทั้งสิ้น 5 ศพเป็นอย่างน้อย และในนิทรรศการผู้ชมสามารถไปที่บริเวณฝั่งหน้าต่างของหอประชุมใหญ่ฝั่งสนามฟุตบอล มธ. สแกนเหตุการณ์การสังหารหมู่ในสนามฟุตบอล และหน้าต่างหอประชุมฝั่งสนามหลวง ก็สามารถเห็นเหตุการณ์กองกำลังที่เข้าปิดล้อมฆ่านักศึกษาผ่านแทบเล็ต พร้อมต้นฉบับเสียงการออกอากาศจริงของสถานีวิทยุยานเกราะ ปลุกระดมการเข่นฆ่านักศึกษาในวันเกิดเหตุ