กุลลดา เกษบุญชู มี้ด: สมบูรณาญาสิทธิราชย์ จุดเริ่มต้นและการล่วงเลย

สมบูรณาญาสิทธิราชย์คืออะไร?

ความเข้าใจคลาดเคลื่อนประการหนึ่งคือ ระบอบการปกครองที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจเบ็ดเสร็จสูงสุด ซึ่งอาจไม่ถูกต้องตรงตัวนัก

‘รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์’ เป็นวิวัฒนาการลำดับถัดมาจาก ‘รัฐศักดินา’ ที่อำนาจจัดการและจัดสรรทรัพยากรทั้งแผ่นดินกระจัดกระจายอยู่ในมือขุนนาง

ปรากฏการณ์สำคัญเริ่มต้นขึ้นในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่ออำนาจดังกล่าวถูกรวบมาอยู่ ณ จุดศูนย์กลาง ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ นี่คือก้าวแรกสู่ความเป็น ‘รัฐสมัยใหม่’ ของสยามประเทศ

การเกิดรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือช่วงเวลาสำคัญของสังคมไทย เป็นจุดเปลี่ยนผ่านจากสังคมเก่าไปสู่รัฐสมัยใหม่ อย่างไรก็ตาม รัฐมีวิวัฒนาการ เมื่อมีจุดเริ่มต้น ก็ต้องมีวันที่ระบบภายในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยุติการทำงาน เมื่อคนกลุ่มหนึ่งในนาม ‘คณะราษฎร’ เปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ประชาธิปไตย

จากการศึกษาประวัติศาสตร์สมบูรณาญาสิทธิราชย์มานานกว่าสองทศวรรษ รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด นักวิชาการอาวุโส ผู้เขียน ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิวัฒนาการรัฐไทย (The Rise and Decline of Thai Absolutism) อธิบายว่า สมบูรณาญาสิทธิราชย์คือระบบที่ ‘กินตัวเอง’ อาจกล่าวได้ในเบื้องต้นว่า กลุ่มคนที่ทำให้สมบูรณาญาสิทธิราชย์สิ้นสุดลงในปี 2475 คือชนชั้นใหม่ที่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สร้างขึ้นมา เรียกว่า ‘กระฎุมพีข้าราชการ’

อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และวันล่วงเลยของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การเดินทางผ่านความเปลี่ยนแปลงของสถาบันหลัก โครงสร้างทางสังคม และประชาชน ล้วนมีเหตุปัจจัยและตัวแสดงเข้ามามีบทบาทมากมาย ตั้งแต่การค้ายุคต้นรัตนโกสินทร์ สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ชนชั้นใหม่ในสังคม การเกิดขึ้นของระบบราชการและค่านิยมศักดินา การเข้ามาของทุนนิยม ไปจนถึงการปะทะของพลังเก่าและพลังใหม่ ที่กลายมาเป็นรากฐานของ ‘อนุรักษนิยม’ และ ‘ฝ่ายก้าวหน้า’ ในปัจจุบัน

เพื่ออธิบายความหมายของ ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์’ คาบประวัติศาสตร์สำคัญของสยามประเทศช่วงนี้ จึงไม่อาจสรุปให้สั้นและง่ายเพียงแค่ไล่ลำดับเหตุการณ์บนเส้นเวลา

 

‘รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์’ เกิดขึ้นเมื่อไหร่

ถ้าดูตามบริบทของไทย ‘รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์’ หรือ ‘รัฐสมัยใหม่’ (Modern State) เราอาจจะเรียกว่าเป็นรัฐสมัยใหม่ได้ไม่เต็มปาก เพราะมันไม่ครบทุกองค์ประกอบ แต่สามารถเรียกได้ว่าเป็นรัฐรูปแบบเดียวกับ New Monarchy ที่ได้เกิดขึ้นในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานับศตวรรษ ในกรณีของไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้สร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากของวิวัฒนาการรัฐไทย

รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อาจจะมองว่าเป็นช่วงส่งต่อระหว่างรัฐ Feudal (ระบบศักดินา) ไปสู่รัฐทุนนิยม อย่างไรก็ตาม นักวิชาการคนสำคัญ เพอร์รี แอนเดอร์สัน (Perry Anderson) มองว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นวิวัฒนาการขั้นสุดท้ายของรัฐศักดินา ทีแรกดิฉันไม่เห็นด้วยกับเขา เพราะมองว่าวิวัฒนาการของรัฐไทยก็ไม่ได้สอดคล้องกับทฤษฎีของเขาที่เกิดขึ้นจากการศึกษาบริบทรัฐในยุโรป

ดิฉันมองว่า ขณะที่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ในยุโรปใช้เวลามากกว่าสองศตวรรษถึงจะเกิดการปฏิวัติ แต่ของเราเพิ่งเกิดรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อไม่นานมานี้ และสิ้นสุดลงภายในระยะเวลาอันสั้น

สมบูรณาญาสิทธิราชย์

รัฐศักดินาเปลี่ยนมาเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้อย่างไร

มีกระบวนการที่สำคัญสองประการคือ หนึ่ง-การดึงเอาอำนาจในการควบคุมทรัพยากรจากขุนนางมาอยู่ในการควบคุมของพระมหากษัตริย์ สอง-การใช้ทรัพยากรที่ได้มาสร้างระบบราชการที่สามารถเอื้อมไปควบคุมในดินแดนที่เดิมทีรัฐไทยไม่ได้มีอำนาจ

แต่เดิมอำนาจของรัฐไทยมีอย่างเข้มข้นที่บริเวณศูนย์กลางเท่านั้น สำหรับหัวเมืองชั้นนอก อำนาจของรัฐไทยเปรียบเสมือนแสงเทียนที่ยิ่งอยู่ไกลก็ยิ่งค่อยริบหรี่ไปเรื่อยๆ สิ่งที่รัชกาลที่ 5 พยายามทำคือ การหยั่งอำนาจให้ไปถึงทุกบริเวณที่เป็นรัฐไทย รวมถึงบางส่วนของรัฐประเทศราช

เดิมทีรัฐศักดินาของไทยไม่เคยคุมทรัพยากรของประเทศราช ประเทศราชบริหารทรัพยากรของเขาเอง รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีความต้องการที่จะทำให้ประเทศราชเหล่านี้เข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจของสยาม ซึ่งทำสำเร็จในบางรัฐประเทศราช เช่น เชียงใหม่ และปัตตานี เป็นต้น การหยั่งอำนาจของกรุงเทพฯ ลงไปในบริเวณเหล่านี้ทำให้สยามเข้าไปบริหารจัดการทรัพยากรได้อย่างเป็นระบบ

ก่อนการเอาอำนาจของกรุงเทพฯ เข้าไปหยั่งตามหัวเมืองหรือรัฐประเทศราช ขุนนางมีสิทธิในการเก็บทรัพยากร ซึ่งการจัดการทรัพยากรลักษณะนี้มีลักษณะเป็น one way process คืออยู่ในมือของขุนนางเท่านั้น พอเกิดเป็นรัฐสมัยใหม่ขึ้น ระบบการจัดการทรัพยากรเปลี่ยนไป รายได้จะขึ้นไปอยู่ที่ส่วนกลางและกลายเป็นระบบ budget สมัยนั้นใช้คำทับศัพท์ พอเก็บเป็น budget ของรัฐได้แล้ว ก็สามารถนำมากระจายเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า two way process ถือว่าเป็นการเกิดระบบงบประมาณขึ้นเป็นครั้งแรก

หมายความว่าอำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากรทั้งหมดอยู่ที่พระมหากษัตริย์?

พระมหากษัตริย์ได้ดึงเอาทรัพยากรที่เคยอยู่ในการครอบครองของขุนนางศักดินาให้มาอยู่ภายใต้การควบคุมของพระองค์ นี่คือความหมายที่แท้จริงของคำว่ารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังนั้น สิ่งที่เข้าใจกันทั่วไปว่า ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือการที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจสูงสุดเด็ดขาด จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

จริงๆ แล้วต้องบอกว่า การเริ่มเกิดรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือการเริ่มต้นของกระบวนการที่ศูนย์กลางทางอำนาจรัฐพยายามเข้าไปควบคุมและจัดการทรัพยากรในบริเวณต่างๆ ดังนั้นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นเพียงขั้นตอนแรกของการเกิดรัฐสมัยใหม่

และอีกเงื่อนไขหนึ่งของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือ ระบบราชการสมัยใหม่ นั่นคือมีข้าราชการที่ผ่านการศึกษาของโรงเรียนสมัยใหม่ ขณะเดียวกันคนเหล่านี้ก็ต้องสามารถไปปกครองและเอาอำนาจของกรุงเทพฯ หยั่งไปในที่ที่ไม่ได้มีอำนาจปกครองมาก่อน แทนที่การปกครองของหัวเมืองชั้นนอกและประเทศราช

สมบูรณาญาสิทธิราชย์

รัฐสมัยใหม่มีหลักการสำคัญอย่างไร

รัฐสมัยใหม่เกิดขึ้นเมื่อรัฐไทยได้เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับระบบทุนนิยมโลก นับตั้งแต่ สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ก่อนหน้านั้นรัฐไทยก็มีการค้าขาย แต่การค้าขายซึ่งเป็นไปตามหลักการพาณิชยนิยม (Mercantilism) ซึ่งรัฐผูกขาดการค้า แต่เมื่อทำ สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง กลายเป็นการนำเอาหลักการของเสรีนิยม (Liberalism) มาใช้เป็นครั้งแรก

หลักการเสรีนิยมคืออะไร ลักษณะประการแรกคือ มีการปฏิบัติต่อประเทศต่างๆ เท่าเทียมกัน ประการที่สอง มีความพยายามจาก สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ที่ต้องการให้รัฐไทยลดกำแพงภาษีลง อันนี้เป็นไปตามหลักการการค้าเสรี เกิดการขยายตัวทางการค้าขนานใหญ่ ทำให้มีทรัพยากรเพิ่มมากขึ้น และพระมหากษัตริย์สามารถดึงเอาทรัพยากรมาอยู่ภายใต้การควบคุม ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของการสร้างรัฐ

เมื่อพระมหากษัตริย์ควบควบคุมทรัพยากรได้แล้ว ก็สามารถสร้างเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กินเงินเดือน ก็กลายเป็นรัฐสมัยใหม่ที่มีการจ่ายเงินเดือนให้กับข้าราชการเป็นครั้งแรก

แสดงว่าทุนนิยมเป็นฐานที่สำคัญของการเกิดรัฐสมัยใหม่ใช่ไหม

สยามได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับทุนนิยมโลกตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ โดยที่โลกเศรษฐกิจจีนเข้ามามีบทบาททั้งในไทยและภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ก่อนแล้ว

ทีนี้รูปแบบการซื้อขายของป่าเปลี่ยนมาเป็นการซื้อขายสินค้าอุตสาหกรรม มีการปลูกอ้อย ทำน้ำตาลส่งไปขายเมืองจีน ทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการขยายตัวทางการผลิตอย่างมาก การขยายตัวทางเศรษฐกิจสะท้อนออกมาผ่านการเก็บ Tax Farm 38 อย่าง กลายเป็นพื้นฐานสำคัญในการเกิดรัฐสมัยใหม่ เราจะเห็นภาพการเก็บภาษีที่ได้จากการทำน้ำตาล อีกด้านหนึ่งก็สะท้อนการบริโภคของคนงานจีนที่อยู่ในไทยด้วยเช่นกัน เช่น การเกิดภาษีกระทะ หรืออะไรที่เป็นการบริโภคของคนจีนก็จะถูกเก็บเป็นภาษีเสียหมด

ก่อนหน้านี้เรามีการเก็บอากรมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปลายรัชกาลที่ 2 ขณะที่ Tax Farm ที่เก็บเพิ่มเป็น 38 อย่างคือภาษี ภาษีก็คือ Tax Farm ประเภทใหม่ที่เกิดขึ้นในปลายรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา จึงทำให้รายได้ของรัฐไทยถูกเรียกว่า ภาษีอากร ซึ่งถือเป็น State Revenue (รายได้ของรัฐ)

ขณะเดียวกันทุนอังกฤษที่เข้าไปอยู่ในอินเดีย ก็ต้องมองหาสินค้าเพื่อมาขายกับคนภูมิภาคนี้ สิ่งที่คนยุโรปต้องการคือ ‘ข้าว’ เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมในยุโรป สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง เป็นการขยายฐานรายได้ของรัฐให้ขึ้นอยู่กับการผลิตข้าวเป็นสำคัญ

สมัยรัชกาลที่ 4 มีการขุดคลองเปิดที่ทำกิน แต่รายได้ที่เพิ่มขึ้นขนาดนี้ไปตกอยู่กับใคร ภายหลังจากการทำสนธิสัญญาเสร็จ รายได้ไปตกอยู่ในมือกลุ่มขุนนางโดยไม่มีการแบ่งรายได้ให้พระมหากษัตริย์ แม้รายได้ของรัฐจะขยายตัว แต่พระมหากษัตริย์กลับไม่มีอำนาจใดๆ อำนาจที่ว่าคือการควบคุมและจัดสรรทรัพยากรรัฐ ตรงนี้คือพลังที่สำคัญผลักดันให้รัชกาลที่ 5 ทำการปฏิวัติการปกครอง

ดิฉันขอเรียกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 5 ว่าเป็นการ ‘ปฏิวัติ’ ไม่ใช่ ‘ปฏิรูป’ เพราะเป็นการนำเอาอำนาจของพระมหากษัตริย์กลับคืนมายังสถาบันพระมหากษัตริย์

สมบูรณาญาสิทธิราชย์

อยากให้อาจารย์อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับทุนนิยมในยุคนั้น

ดิฉันไปเจอหนังสือที่ว่าด้วยทุนนิยมในศตวรรษที่ 16-18 ของ แฟร์นองต์ โบรเดล (Fernant Breaudel) ก็เลยเข้าใจว่าแนวคิดมาร์กซ์ไม่อธิบายเรื่องนี้ เพราะมันพูดถึงเรื่องอุตสาหกรรม แต่เมืองไทยปลูกข้าว จะไปอธิบายได้ยังไง แต่พอโบรเดลบอกว่า รูปแบบของทุนนิยมที่แท้จริงนั้นมากกว่าเรื่องของอุตสาหกรรม นั่นคือการค้าระยะไกล ดิฉันก็เลยเข้าใจภาพทั้งหมด ว่าต้องเชื่อม สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง เข้ากับสิ่งที่เกิดขึ้น

ดังนั้นเรามีทุนนิยมตั้งแต่ตอนที่ จอห์น เบาว์ริ่ง (John Bowring) มาเคาะประตู พอเซ็นสนธิสัญญา เราก็เข้าไปเชื่อมกับระบบทุนนิยม แต่ไปเชื่อมด้านการค้า ไม่ได้เชื่อมผ่านด้านการผลิต อย่างน้อยคำอธิบายของโบรเดลก็ทำให้เห็นพลังของทุนนิยม เราเป็นผู้ผลิต ผลิตมากขึ้น เขาก็ขนข้าวไปมากขึ้น

ในยุคของรัฐสมัยใหม่ การเกิดขึ้นของชนชั้นใหม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองได้อย่างไร

ขออธิบายเพิ่มเติมเล็กน้อย เราควรจะต้องไปดูต้นกำเนิดลัทธิชาตินิยมของสังคมไทย ความเข้าใจส่วนใหญ่คือ ลัทธิชาตินิยมนี้เกิดในสมัยรัชกาลที่ 6 ดิฉันได้เอาข้อเขียนทั้งหมดของพระองค์ท่าน โดยเฉพาะข้อเขียนเกี่ยวกับลัทธิชาตินิยมของพระองค์และขบวนการเสือป่ามาวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน แล้วพบว่าพระองค์ท่านกำลังสู้กับอะไรบางอย่าง ในที่สุดก็ได้คำตอบ ท่านกำลังสู้กับคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งได้แก่ข้าราชการแบบใหม่ หรืออาจจะเรียกว่า ‘กระฎุมพีข้าราชการ’ (ฺBureaucratic Bourgeoisie) ซึ่งเป็นผลจากการได้รับการศึกษาแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 นั่นคือเกิดชนชั้นใหม่ที่ไม่ใช่ทั้งไพร่และขุนนางดังเช่นที่เป็นอยู่ในสังคมศักดินา

ในยุคนั้น การที่รัฐจะรับคนเข้ารับราชการโดยจำเป็นต้องผ่านระบบการศึกษา นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะนอกจากเกิดการเปลี่ยนแปลงในเกณฑ์การเข้ารับราชการ จากที่เคยรับเฉพาะลูกหลานของชนชั้นผู้ปกครองมาเป็นคุณสมบัติในด้านการศึกษา ซึ่งเปิดโอกาสให้คนชั้นล่างได้มีโอกาสเป็นขุนนาง สิ่งที่เห็นคือการเลื่อนชั้นทางสังคมอย่างมากมาย

นอกจากนั้นยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางค่านิยมในหลายเรื่อง ตัวอย่างเช่น ในโรงเรียน คนเป็นครูปฏิบัติกับลูกเจ้าขุน เจ้าพระยาเท่าเทียมกับลูกของคนธรรมดา ทำให้มีคอนเซ็ปต์ความเท่าเทียมขึ้น เราต้องเข้าใจว่าสังคมก่อนหน้านั้นมันเป็นศักดินามากๆ พอเกิดการศึกษาขึ้น ก็ทำให้เกิดค่านิยมใหม่ในสังคม

ปัญหาที่รัชกาลที่ 6 เจอคือ ข้าราชการกลุ่มนี้มีภาคภูมิใจในการศึกษาของตน จนบางครั้งก็ถูกมองว่ามีความยโส คือพวกเขาถือตัวว่าเรียนมา เมื่อเข้าสู่ระบบราชการ ก็รู้สึกว่าต้องได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมกับความสามารถของตน แต่ผู้หลักผู้ใหญ่สมัยนั้นก็ยังเชื่อในหลักการของระบบศักดินา ให้ความสำคัญกับชาติกำเนิด สิ่งที่ควรจะเป็น เช่น การเลือกตามคุณสมบัติในการได้รับตำแหน่งก็ไม่เกิด กลายเป็นใครรู้จักเจ้านายดีกว่าก็ได้รับการชุบเลี้ยง นี่คือที่มาของความรู้สึกไม่พอใจต่อระบบที่เป็นอยู่ ต่อความไม่เท่าเทียม ซึ่งนี่คือประเด็นสำคัญและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ถ้าอ่านหนังสือพิมพ์ยุครัชกาลที่ 6 ถึงต้นรัชกาลที่ 7 จะมีคำว่า ‘ประจบ’ จำนวนมาก ซึ่งมันหมายความถึงการพะเน้าพะนอผู้เป็นเจ้านาย เราต้องเข้าใจก่อนว่าสังคมตอนนั้น มันเป็นระบบอุปถัมภ์ (Patronage-client Relationship) ต้องมีผู้ใหญ่ที่จะต้องดูแลเรา แกนกลางของระบบศักดินาไม่ได้หายไป แต่ยังคงเป็นวิถีปฏิบัติที่สำคัญ ข้าราชการสมัยใหม่จะรู้สึกอุ่นใจถ้ามีผู้ใหญ่อุปถัมภ์ นั่นคือพลังของศักดินาที่ยังมีอิทธิพลในสังคมรัฐสมัยใหม่ ผู้ที่หาคนคุ้มหัวไม่ได้จึงเกิดความรู้สึกไม่มั่นคง นำมาสู่ความไม่พอใจในระบบที่เป็นอยู่ในหมู่ราชการที่เป็นชนชั้นใหม่ เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นในหมู่คนกลุ่มนี้

สมบูรณาญาสิทธิราชย์

สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในตอนนั้น เช่น การศึกษา การรับคนเข้าเป็นข้าราชการ มีความหมายทางตรงถึงความเท่าเทียมใช่ไหม

มันก็ไม่ถึงกับเท่าเทียม ใช้คำว่า ‘ความยุติธรรม’ จะเหมาะกว่า อย่างน้อยคนก็ได้รับการปฏิบัติที่ตรงกัน มันสำคัญที่จะส่งผลไปสู่การเปลี่ยนแปลงจากระบบเดิม ระบบศักดินา ความยุติธรรมถูกตัดสินลดหลั่นไปตามฐานะในสังคมศักดินา แต่รัฐสมัยใหม่สร้างความเชื่อ ค่านิยม อุดมการณ์ ต่างไปจากรัฐศักดินา

หลังจากนั้นระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ล่มสลายลงได้อย่างไร

ดิฉันมองว่าระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบบที่กินตัวเอง การจบลงของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปี 2475 มันสะท้อนความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการที่ดิฉันเรียกว่า ‘กระฎุมพีข้าราชการ’ เพราะจริงๆ แล้วความขัดแย้งปะทุออกมาตั้งแต่ปี 2455 ในรูปแบบของกบฏ ร.ศ. 130

พูดได้ว่า ภาพของ 2475 เกิดจากการรอเวลาให้มีจำนวนของผู้ที่ไม่พอใจเพิ่มขึ้น จนในที่สุดก็นำมาซึ่งการล่มสลายของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ถ้ารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ล่มสลายลงจากความไม่พอใจของชนชั้นใหม่ เหตุการณ์ปี 2475 ก็ไม่ถือว่าเป็นการชิงสุกก่อนห่ามใช่ไหม

ดิฉันไม่คิดว่าเหตุการณ์เมื่อ 2475 คือการชิงสุกก่อนห่าม แต่มีสาเหตุเกิดจากความไม่พอใจของคนกลุ่มหนึ่งที่เกิดขึ้น เป็นภาพสะท้อนการปะทุของพลังใหม่ต่อต้านพลังอนุรักษ์ พลังอนุรักษ์คือผู้ที่ถืออำนาจรัฐ ขณะที่พลังใหม่ก็คือพลังของกลุ่ม ‘กระฎุมพีข้าราชการ’ ซึ่งเกิดขึ้นจากกระบวนการสร้างรัฐสมัยใหม่ อาจมีการมองได้ว่า เหตุการณ์ปี 2475 เกิดจากผู้นำในระบบราชการกลุ่มเล็กๆ โดยไม่มีมวลชนเข้ามาเกี่ยวข้อง

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว ผู้ก่อการก็เอาหลักการที่ใช้เวลานานในสังคมตะวันตกที่ใช้เวลานานกว่าจะได้รับการยอมรับมาใช้ในรัฐธรรมนูญไทย หลักการประชาธิปไตยของประเทศที่ต้องใช้เวลาเพื่อพัฒนาให้เป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งสะท้อนผลประโยชน์ส่วนต่างๆ ของสังคมตะวันตก เรานำหลักการนั้นมาใช้ในปี 2475 เช่น ประชาชนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกตั้งโดยไม่มีข้อจำกัด โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้าใจหรือความตื่นตัวทางการเมือง

ดิฉันมักจะพูดว่า ปรากฏการณ์ทักษิณ (ชินวัตร) เป็นครั้งแรกที่ประชาชนส่วนใหญ่ของสังคมมีความตื่นตัวทางการเมือง แต่การล่มสลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ปี 2475 ตรงนี้ยังไม่ใช่ มันเป็นเรื่องของคนกลุ่มเล็กๆ ที่ต้องการเข้ามามีบทบาทในกระบวนการทางการเมือง เพราะระบบที่เป็นอยู่ไม่อนุญาตให้เขามีบทบาท

เพราะฉะนั้นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยก็คือ ความต้องการของคนจำนวนหนึ่งที่อยากจะเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการทางการเมือง ถ้าระบบที่เป็นอยู่ไม่เปิดโอกาส เขาต้องหาทางออก ว่าควรทำวิธีไหน

สมบูรณาญาสิทธิราชย์

การเกิดขึ้นของรัฐทุนนิยมเกิดจากการล่มสลายของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใช่ไหม

ดิฉันเคยมองว่ารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือวิวัฒนาการสุดท้ายของรัฐศักดินา ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นรัฐทุนนิยม ตอนที่ทำวิจัยก็เห็นว่ามันล่มสลายด้วยความขัดแย้งที่เกิดจากทุนนิยม อาจารย์คริส เบเคอร์ (Chris Baker) ก็เคยวิจารณ์คำอธิบายของดิฉันไว้ว่า ทำไมรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงเกิดขึ้นเพราะทุนนิยม แต่ทำไมพอล่มสลายลงในปี 2475 กลับไม่มีปัจจัยของทุนนิยมมาเกี่ยวข้อง ดิฉันก็มองว่ามันไม่มีในตอนแรก แต่ 20 ปีให้หลัง ดิฉันก็เห็นภาพชัดมากขึ้นว่า หลัง 2475 ผู้มีอำนาจรัฐมีบทบาทในรัฐทุนนิยมโดยรัฐ (State Capitalism) ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของรัฐทุนนิยม

สมบูรณาญาสิทธิราชย์

ที่ว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นวิวัฒนาการขั้นสุดท้ายของรัฐศักดินา หลังจากนั้นเรายังเห็นหลักเกณฑ์บางอย่างของรัฐศักดินาอยู่หรือไม่

รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังใช้หลักการชาติกำเนิดของรัฐศักดินาอยู่ สมัยของรัชกาลที่ 6 ก็เลยมีการทำให้ชัดเจน โดยพระองค์เคยทรงตั้งคำถามว่ารถสี่ล้อมันไม่มั่นคงกว่าสองล้อหรือ คนที่ชาติกำเนิดดีกว่าก็สมควรได้รับการพิจารณาก่อน

เรื่องชาติกำเนิดถือว่ายังสำคัญในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก่อนหน้านี้ข้าราชการจะเป็นลูกหลาน คนใกล้ชิด แต่เมื่อมีคนหน้าตาแปลกๆ ไม่รู้จักที่มาที่ไปมาเป็นข้าราชการ ก็เป็นที่มาของเสื้อราชปะแตนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมพระยาดำรงฯ จึงให้คนที่มาเรียนเป็นข้าราชการแต่งตัวเป็นมหาดเล็กเสีย ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 นิสิตโรงเรียนมหาดเล็กหลวงต้องใส่เครื่องแบบมหาดเล็กเพื่อให้ในหลวงสบายใจว่าพวกเขาเป็นมหาดเล็กหลวง นี่คือสองอย่างที่แสดงให้เห็นว่ามีการปรับเอาหลักการศักดินามาใช้ในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์

หลังปี 2475 รูปแบบการเปลี่ยนแปลงของรัฐเป็นอย่างไร

ตอนปี 2475 มันเกิดรัฐแบบใหม่ขึ้นมา ดิฉันคิดว่ามันมีสองชื่อ ชื่อแรกคือ ‘รัฐชาติ’ นักวิชาการส่วนใหญ่จะบอกว่ารัฐชาติเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เพราะมันไปตรงกับนิยามต่างๆ ดิฉันอยากเสนอว่า รัฐชาติคือการโอนอำนาจอธิปไตยจากกษัตริย์ไปสู่ประชาชน รัฐชาติตามคำนิยามที่คนมักเข้าใจผิดกันคือ ‘รัฐชาติแบบเวสฟาเลีย’ (Treaty of Westphalia ในปี 1648 ทำให้เกิดรัฐสมัยใหม่ที่ไม่ขึ้นต่อศาสนจักร) นิยามของรัฐชาติชนิดนี้คือการที่อำนาจพระมหากษัตริย์ย้ายมาอยู่ที่ประชาชน ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ยังไม่ใช่ อำนาจยังไม่ได้ลงมาถึงประชาชน

ขณะที่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีคนจำนวนมากเข้าใจว่าเป็นการเกิดขึ้นของรัฐชาติ แต่ถ้ามองตอนนั้น เราจะยังไม่เห็นพลังชาติที่ผลักดันให้เกิด ‘รัฐชาติ’ เหมือนในรัฐอาณานิคมอื่นที่มีพลังของชาติผลักดันให้รัฐอาณานิคมสิ้นสุดลง เพราะรัฐสมัยใหม่ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะพระมหากษัตริย์

ดิฉันได้มีโอกาสไปร่วมวงเสวนาหนึ่ง มีไอเดียที่น่าสนใจมากของ อาจารย์ไชยันต์ รัชชกูล เรื่องชื่อของ สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ภาษาอังกฤษเขาใช้ชื่อว่า Treaty of Friendship and Commerce between the British Empire and the Kingdom of Siam ฟังดูเข้าท่านะ แต่รู้ไหมชื่อภาษาไทยคืออะไร เขาใช้คำว่า หนังสือสัญญากรุงเทพมหานครกับกรุงอังกริษเปนทางไมตรีค้าขายกัน กรุงเทพฯ นะ (เน้นเสียง) เพราะอะไรถึงใช้คำว่า ‘กรุงเทพฯ’ ก็เพราะว่าเรายังมองรัฐนั้นว่าเป็นลักษณะของ ‘กรุง’ เช่น กรุงเทพฯ กรุงธนฯ กรุงศรีอยุธยา กรุงสุโขทัย

อาจารย์ไชยันต์ก็เสนอว่า ที่ชื่อฝรั่งเป็นแบบนั้น เพราะฝรั่งเขามีวิธีคิด วิธีมอง เรื่องรัฐชาติที่เกิดจากสนธิสัญญาเวสฟาเลียในช่วงศตวรรษที่ 17 ซึ่งเป็นการแบ่งอาณาจักรของฝรั่ง แบ่งออกมาตัวใครตัวมัน ตรงนั้นฝรั่งเศส ตรงโน้นเยอรมนี และรัฐอื่นๆ โดยที่ต่อไปนี้ไม่ต้องขึ้นกับโป๊ปหรือศาสนจักรแล้วนะ ศาสนจักรไม่มีอิทธิพลอะไรกับแต่ละรัฐแล้ว

อีกชื่อหนึ่งตามทฤษฎีของมาร์กซ์ คือ ‘รัฐทุนนิยม’ ทำให้เราเรียกเหตุการณ์ 2475 ว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านรูปแบบจากรัฐศักดินาสู่รัฐทุนนิยม ในยุโรปเห็นได้ชัดว่าการเปลี่ยนจากรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นทุนนิยม เพราะเกิดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากระบบทุนนิยม เช่น ฝรั่งเศส มันเกิดจากการที่คนได้รับผลกระทบจากทุนนิยม

บางบริเวณในเอเชียอาคเนย์ เราจะเห็นว่าทุนนิยมเข้าไปอยู่ในรูปแบบการผลิตด้วย อย่างพม่าในศตวรรษที่ 19 มีการลงทุนบุกเบิกผ่านที่ทำกินด้วยการสร้างระบบชลประทาน มีการขนแรงงานจากอินเดียมาปลูกข้าวเพื่อส่งออก ลุ่มแม่น้ำอิรวดีเป็นแหล่งปลูกข้าวที่ใหญ่มาก รองจากแม่น้ำโขง และแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะที่ของไทยไม่มีการทำระบบชลประทาน ทำได้มากสุดแค่การขยายที่ทำกิน เราไม่ได้ใช้ระบบทุนนิยมมาช่วยเลย ยกเว้นโครงการรังสิต พอไม่มีการใช้ทุนนิยมเข้ามาช่วย ก็เกิดเป็นภาพการเคลื่อนไหวที่ขาดลำตัว

ตอนเกิดยุคข้าวยากหมากแพงในช่วงก่อน 2475 ทำไมเราไม่มีขบวนการชาวนา เรามีแต่ยื่นฎีกา แต่ในฟิลิปปินส์ ชวา พม่า มันมีขบวนการเรียกร้องเกิดขึ้น เรียกร้องกับเจ้าอาณานิคม ขณะที่ของเรามีแค่ส่วนหัว หัวคือชนชั้นกลางที่ได้รับการศึกษาสมัยใหม่ ทั้งภูมิภาคมีคนแบบนี้อยู่ ในสังคมไทย หากไม่พอใจกับระบอบกษัตริย์ก็ต่อต้านสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ถ้าในสังคมอาณานิคมไม่พอใจเจ้าอาณานิคมก็ต่อต้านเจ้าอาณานิคม ส่วนที่เป็นลำตัวคือกลุ่มชาวนา ซึ่งบ้านเราไม่มีเลย

ดังนั้นการทำความเข้าใจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยการแบ่งประเทศที่เป็นอาณานิคมกับไม่เป็นอาณานิคม มันใช้ไม่ค่อยได้ เราควรแบ่งเป็นประเทศที่ใช้ทุนนิยมและไม่ใช้ทุนนิยมน่าจะดีกว่า

สมบูรณาญาสิทธิราชย์

จากการมีเพียงส่วนหัวในขบวนการชาตินิยม ปัจจุบันรูปแบบของรัฐไทยเป็นอย่างไร และทุนนิยมเข้ามาเป็นสาเหตุของความขัดแย้งมากน้อยแค่ไหน

ก็เป็นรัฐสมัยใหม่ที่ยังมีพัฒนาการอยู่ ยังอยู่ขั้นต้น มาได้ไม่ไกลเลย เพราะว่าสองพลัง พลังเก่า-พลังใหม่ ยังไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ ถ้าหากดูบริบทรอบในเอเชียอาคเนย์ มันมีความขัดแย้งอันเกิดจากระบบทุนนิยมที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ และมันก็แก้ปัญหาความขัดแย้งของตัวเองเรียบร้อยแล้วในทศวรรษ 60 อย่างเช่นอินโดนีเซีย ทหารและอิสลามลุกขึ้นมาฆ่าคอมมิวนิสต์ หรือในมาเลเซีย ที่มีคนจีนกับมุสลิมขัดแย้งกัน หรือจะเป็นสงครามกลางเมืองในเวียดนาม ซึ่งเป็นการปะทะกันระหว่างคนที่ได้ประโยชน์จากทุนนิยมกับคนที่ถูกทุนนิยมกดขี่

เราชอบไปคิดว่าเราก้าวผ่านมาโดยไม่มีความขัดแย้ง แต่พอลองมองย้อนกลับไปใหม่ คือเรายังไม่ได้ผ่าน เพราะยังไม่ได้จัดการกับปัญหา ขณะที่ของเขาทะเลาะกันจนแก้ปัญหาจบแล้ว

ถ้ามองในมุมของพลังเก่า-พลังใหม่ เหมือนตอนนี้ไทยกำลังเผชิญหน้ากับพลังเก่า ซึ่งมีลักษณะระบบศักดินาหลงเหลืออยู่?

คือมันเป็นพลังอนุรักษ์รูปแบบหนึ่ง ที่เกิดขึ้นมาเพื่อจะจัดการกับพลังใหม่แบบทักษิณยังไงมากกว่า อันนี้สำคัญนะ เพราะสังคมยังคงมีความเป็นศักดินาอยู่ในรัฐสมัยใหม่ จึงได้ใช้ประโยชน์จากค่านิยมที่ยังหลงเหลืออยู่

เรื่องสำคัญที่สุดคือ ความเป็นไทย ดิฉันพยายามค้นหาว่าความเป็นไทยคืออะไร ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่า มันคือสังคมศักดินาก่อน modernization ทั้งหมด นั่นแหละความเป็นไทย ไม่ใช่เรื่องวัฒนธรรมอะไรเลย

ตอนนี้ค่านิยมของระบบศักดินาถูกนำมาใช้กันแบบไม่อาย คนไม่มีการศึกษาไม่มีสิทธิเลือกตั้ง เสียงเธอเสียงฉันคุณภาพไม่เท่ากัน มันไม่ถูกต้องเลยนะแบบนี้ นี่คือความเป็นศักดินาอย่างชัดเจน

นี่คือพลังเก่าที่ออกมาต้านกับพลังใหม่ หมายถึงพลังใหม่ที่ใหม่กว่ากระฎุมพีข้าราชการนะ เพราะกระฎุมพีข้าราชการที่เคยออกมาต้านพลังเก่า ก็กลายสภาพเป็นส่วนหน้าของพลังเก่านั้นเสียเอง

จนถึงวันนี้ ที่ค่านิยมศักดินายังถูกนำมาใช้ ดูเหมือนว่าระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถทำงานได้ในไทยเท่าที่ควร

มันมีเหตุผลอยู่สองข้อที่ทำให้เราต้องหันมาใช้ประชาธิปไตย มีคำอธิบายของ แกร์รี โรแดน (Garry Rodan) ที่ว่า ผู้นำจำเป็นต้องยอมให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน (participation) เพื่อสามารถจัดการกับความขัดแย้งอันเกิดจากการทำงานของระบบทุนนิยม แต่ปัญหาของเราก็คือ 2475 มันตั้งขึ้นมาได้ด้วยหลักการประชาธิปไตย มันก็ต้องยอมให้มี แต่ก็มีประชาธิปไตยแบบกระท่อนกระแท่นตลอด

แต่เหตุการณ์ 14 ตุลา ทำให้หลักการประชาธิปไตยมีความเข้มแข็งขึ้นมา ตอนนั้นทุกคนยอมรับหลักการประชาธิปไตยหมด ทหารต้องถอดเครื่องแบบออกไป นายกรัฐมนตรีต้องมาจากรัฐบาลพลเรือน มันคือการสร้างภาพประชาธิปไตย

คนที่ทำให้การเมืองไทยถอยหลัง ประชาธิปไตยกระท่อนกระแท่นก็นำโดยกองทัพ?

กองทัพเป็นส่วนหนึ่งของกระฎุมพีข้าราชการ ซึ่งได้แก่ทหารกับข้าราชการพลเรือน ซึ่งก็มีเนติบริกรที่พร้อมจะไปรับใช้เขา

ดิฉันมานั่งครุ่นคิดว่า ทำไมพวกที่แอคทีฟทางการเมืองที่เคยก้าวหน้าในอดีตถึงกลายเป็นขวาจำนวนมาก มันตอบได้ด้วยผลประโยชน์ พอมองไปในอนาคตแล้วคิดว่าผลประโยชน์จะอยู่กับใคร บางทีมันทุลักทุเล งั้นอยู่กับทหารดีกว่า มันอธิบายไม่ได้หรอก

เอาตรงๆ ตอนเขาเป็นนักศึกษา ทหารเป็นใหญ่ พวกเขาสิ้นหวัง มองไม่เห็นอนาคตของตัวเอง เขาก็เลยออกมาต่อต้าน มันเกิดความเปราะบาง (insecurity) ก็เลยทำให้เกิดความรู้สึกว่าทหารต้องล้มไป พวกเขาไม่ได้เอาตัวเองไปผูกติดกับประชาธิปไตยจริงๆ

คนที่เขาผูกติดกับประชาธิปไตยจริงๆ มันเพิ่งเกิดขึ้นเพราะนโยบายของทักษิณนี่เอง ไม่ใช่นักศึกษาในยุคนั้น เอาจริงๆ ก็มี แต่มีแค่จำนวนหนึ่ง คนกลุ่มนั้นที่เคยต่อสู้และเปลี่ยนแบบกลับหลังหันมันก็อธิบายได้ด้วยเรื่องของผลประโยชน์นี่แหละ ผลโยชน์มันสำคัญกว่าหลักการของประชาธิปไตย เราก็เลยเห็นคนที่เปลี่ยนท่าทีทางการเมืองแบบหน้ามือเป็นหลังมือเยอะหน่อย

สมบูรณาญาสิทธิราชย์

สถานการณ์ในตอนนี้ ทำไมเราถึงเห็นบทบาทของชาตินิยมกลับมีความสำคัญในสังคม

ชาตินิยมสมัยใหม่กลายเป็นเรื่องของความเป็นไทยและความเกลียดชังนักการเมือง เป็นวาทกรรมที่ประสบความสำเร็จมาก มีคนจำนวนมากเห็นแบบนั้นด้วย แทนที่จะมองว่าเป็นความขัดแย้งทางความคิด ดิฉันมองว่าเป็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของทุนสองกลุ่ม แล้วในกระบวนการของความรู้สึกที่ว่าเราไม่ได้ประโยชน์ ดิฉันยังมองเห็นอีกอย่างหนึ่งว่า รัฐมีความพยายามที่จะสร้างอุดมการณ์ชาตินิยมโดยรัฐ (Official Nationalism) ขณะเดียวกัน ในหมู่ของคนที่ไม่พอใจระบบ ก็ได้สร้างลัทธิชาตินิยมขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง

ภาพนี้ในอดีตก็เคยเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการสร้างแนวคิดเรื่องชาตินิยมที่มีความยึดโยง ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นลักษณะชาตินิยมโดยรัฐ แต่ในหมู่ผู้มีการศึกษาพวกเขามีความรู้สึกชาตินิยมอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเป็น Liberal Nationalism คือมองว่าพวกเขารักษาผลประโยชน์ของชาติได้ดีกว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ มันจึงเกิดเป็นความขัดแย้งที่ว่า ใครจะเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของชาติ ชาตินิยมโดยรัฐในหมู่ของกลุ่มอนุรักษนิยมก็กลับมาอีกระลอกในปัจจุบัน

มีการผูกความเป็นชาติกับสถาบันพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6?

แนวคิดชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นของต่างประเทศ สมัยรัชกาลที่ 5 มีการสร้างความเป็นชาติขึ้นมา แต่ไม่ได้เป็นความพยายามปกป้องสถาบันกษัตริย์เท่าไหร่ พอรัชกาลที่ 6 ท่านรู้สึกถูกคุกคามโดยชนชั้นกระฎุมพีข้าราชการ ก็เลยมีการนำคำว่าชาติไปผูกกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ว่าการจงรักภักดีต่อชาติก็เหมือนกับการจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์

การทำงานของระบบทุนนิยมกับอำนาจรัฐไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไร

ดิฉันมองว่าตรงนี้มันเป็นเครื่องมือของระบบทุนกลุ่มหนึ่งที่กีดกันไม่ให้ทุนอีกกลุ่มหนึ่งขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองได้อีกต่อไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ยุคสมัยทักษิณเป็นความสำเร็จของทุนรุ่นที่สอง ลักษณะของทุนนิยมเป็นคนละรูปแบบกับในอดีต มีการพึ่งอำนาจรัฐน้อยกว่าทุนรุ่นแรก

ภายใต้การบริหารจัดการรัฐโดยทุนแบบใหม่ เขาได้สร้างฐานสนับสนุนขึ้นมาด้วย เป็นปรากฏการณ์ที่ไปด้วยกัน ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นอกจากสร้างฐานสนับสนุนขึ้นมาแล้ว ยังทำให้คนมี commitment กับประชาธิปไตย เพราะความเป็นประชาธิปไตยของเขามันเห็นได้จากประโยชน์จากนโยบายของรัฐที่มาจากระบอบประชาธิปไตย

ภายใต้รัฐบาลทหารอย่างทุกวันนี้ยิ่งเห็นชัดเจนว่ารัฐเอื้อประโยชน์กับทุน ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่มีวันเกิดภายใต้อำนาจทางการเมืองของทุนอีกกลุ่ม เพราะฉะนั้นก็เกิดการต่อสู้ การต่อสู้ที่จะต้องไม่ให้ทุนอีกกลุ่มขึ้นมามีอำนาจหรือยึดอำนาจรัฐได้

ที่ดิฉันบอกว่ามันถอยหลังกลับไปเยอะ เพราะว่าต้องสร้างมาตรการอะไรก็ได้ ทำอะไรก็ได้ ที่ไม่ให้ทุนใหม่ขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองอีก ซึ่งรวมถึงการนำแนวคิดชาตินิยมกลับมาใหม่

จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์สนับสนุนรัฐบาลทหาร?

ใช่ จริงๆ เป็นพลังอนุรักษ์ที่ใช้วิธีการต่อต้านระบบประชาธิปไตยทั้งหมดเลย เพื่อให้ตัวเองอยู่ในอำนาจได้ ดิฉันมองว่ามันคือการเดินหน้าแบบถอยหลัง เราไม่เคยเห็นเผด็จการที่ไหนที่มันถอยหลังเท่ายุคนี้อีกแล้ว ในอดีตเราเคยมีเผด็จการ ถ้าพูดถึง สฤษดิ์ (ธนะรัชต์) ตัวสฤษดิ์เองก็ยังสร้างการยอมรับ รวมถึงในหมู่ปัญญาชน มีความเป็นผู้นำ มีความเด็ดขาด แล้วเขาก็สร้างความชอบให้เกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง แต่ พลเอกประยุทธ์ (จันทร์โอชา) ไม่ใช่ ทำอะไรไม่ได้เท่าสฤษดิ์เลย

ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของฝ่ายอนุรักษ์กับฝ่ายก้าวหน้า คนที่เกลียดทักษิณ อิงสถาบัน ก็จะเลือกพลเอกประยุทธ์ มันก็มีความพยายามในการจัดลำดับผังอำนาจกันใหม่ สะท้อนให้ผ่านวาทกรรมทักษิณล้มเจ้า ความเกลียดชังทักษิณ มองทักษิณว่าเป็นศัตรูของสถาบัน มาจากคนกลุ่มชนชั้นกลาง (middle class) ชั้นกลางระดับบน (upper middle class) เพราะคนกลุ่มนี้คือคนที่กลัวทักษิณ

ดิฉันมองตรงกับทฤษฎีของ อาจารย์ผาสุก (พงษ์ไพจิตร) คนกลุ่มนี้มีความรู้สึกกลัว เพราะว่าทักษิณเป็นคนทำให้คนชนชั้นล่างมีโอกาสมากขึ้น พอมีโอกาสมากขึ้นมันก็ไปท้าทายและสั่นคลอนสถานะของคนกลุ่มนี้ได้ในบางกรณี เป็นการยกฐานะของชนชั้นล่าง (ที่ตอนหลังถูกเรียกว่าพวกควายแดง) ขึ้นมา นี่คือเหตุผลพื้นฐานในการต่อต้านทักษิณ และจะต่อต้านก็ต้องสร้างวาทกรรมว่าล้มเจ้า อะไรต่อมิอะไรขึ้นมา พื้นฐานเลยมันเป็นภาพของ socioeconomic status เป็นสงครามระหว่างชนชั้น

สมบูรณาญาสิทธิราชย์

ถ้าย้อนไปดูระบบราชการในยุคทักษิณ เป็นอย่างไร

เขาปรับโครงสร้างระบบราชการใหม่ ก่อนที่เขาจะนำนโยบายของเขามาปรับใช้ เขาจัดระบบราชการเยอะมาก เช่น การตั้ง กพร. (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ) ขึ้นมา เพราะเขามองว่า กพ. (คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) มันล้าหลัง เขาก็ต้องการเทรนคนใหม่ มีการทำ fast track ข้าราชการยุคนั้นเอนจอยกับการที่ต้องตื่นเช้ามาทำงาน มันสนุก ซึ่งเป็นภาพที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

แต่บางส่วนเขาก็ไม่ค่อยชอบนะ เพราะว่าไม่อยากทำงาน ก็เป็นคนกลุ่มเดียวกันกับกลุ่มที่ไม่เอาทักษิณนั่นแหละ ทักษิณเปลี่ยนวิธีการทำงานของข้าราชการเยอะมาก มันเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมนโยบายของทักษิณถึงไปได้ดี เพราะมีคนที่ถูกเทรนขึ้นมา มีการรับลูก แต่ปัจจุบันพังหมด รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ไม่ได้สานต่อตรงนี้ มีแต่ฉุดระบบราชการให้ย้อนหลังกลับไปเลย

ดิฉันมองว่ารัฐไทยตอนนี้เหมือนยุโรปในศตวรรษที่ 19 มีการใช้วิธีเด็ดขาด สร้างความจงเกลียดจงชัง สร้างศัตรูให้ชัดเจน และกองทัพตอนนี้มีอำนาจมากๆ ลงไปถึงในระดับหมู่บ้าน การควบคุมคนในสังคมแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

สมัยก่อนเราก็มองเผด็จการไทยภาพลักษณ์โอเค แต่ไม่ถึงกับมาก แต่ตอนนี้ไม่ใช่ เพราะเผด็จการแบบเดิมตั้งเป้าหมายว่าคนบางคนต้องถูกจัดการ ไม่ได้เข้ามามีอำนาจกับประชาชนแทบทุกหย่อมหญ้าขนาดนี้ วิธีการที่รัฐบาลทหารทำคือลงไปคุมถึงระดับล่างของสังคม และระดับของการเอื้อประโยชน์ให้กับราชการ มันไม่เคยมีมาก่อน มีการขยายระบบราชการอย่างใหญ่โตมาก

ผู้คนไปให้น้ำหนักกับขบวนการนักศึกษาและการเกิดขึ้นของประชาธิปไตยในยุค 14 ตุลาว่าเป็นหมุดหมายมากเกินไปหรือเปล่า เพราะประชาธิปไตยก็มีวิวัฒนาการของมันอย่างที่อาจารย์เล่าไปข้างต้น

เราให้น้ำหนักกับพลังประชาธิปไตยในยุค 70s มากเกินไป ว่ามันเป็นทั้งหมดของการต่อสู้ แต่คนที่ไม่อยากให้มีประชาธิปไตยมาก (ทีเดียว) แต่ก็ต้องยอมให้มี ถ้าวันหนึ่งประชาธิปไตยไม่รับใช้ผลประโยชน์ของพวกเขา เขาก็พร้อมทำลาย

ดิฉันอ่านเอกสารยุค 70s พบว่าคนส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้มีการสนับสนุนประชาธิปไตย มันเป็นเพียงพลังที่อยู่ในหมู่นักศึกษา คนชนชั้นกลาง เราเอามาเทียบกับปัจจุบันไม่ได้ เพราะปัจจุบันคน ‘ทุกคน’ รู้ว่าตัวเองมีส่วนได้ส่วนเสียกับระบอบประชาธิปไตย เป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม นี่คือความแตกต่างของรัฐไทยในแต่ละช่วง เป็นความแตกต่างที่สำคัญมาก

อาจารย์คริส เบเคอร์ ไปพูดที่สมาคมผู้สื่อข่าวว่า แน่นอนคนรุ่นใหม่มีความสำคัญ แต่ที่สำคัญมากกว่าก็คือคนระดับล่าง คนระดับล่างที่ถูกปลุกโดยทักษิณ เพราะรัฐบาลทักษิณสามารถให้ผลประโยชน์ทางระบบเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมได้ คนกลุ่มนี้ไม่ได้เชื่อในประชาธิปไตยในฐานะคอนเซ็ปต์ แต่เชื่อในรัฐบาลที่กินได้ เขาก็ต้องการอย่างนั้นต่อไป

ตอนที่ทักษิณอยู่คนก็อาจจะยังไม่รู้สึก แต่พอทักษิณไปแล้ว คนก็เริ่มรู้สึกว่าผลประโยชน์ของพวกเขาถูกรัฐลิดรอน ความเป็นประชาธิปไตยเป็นของที่ต้องกินได้ ไม่ใช่แค่ความเชื่อในหลักการ

คนเพิ่งเรียนรู้ประชาธิปไตยหลังจากทักษิณหายไปแล้ว?

ใช่ โดยตัวคอนเซ็ปต์นะ เป็นการตระหนักถึงคุณค่าของความเป็นประชาธิปไตย

ก่อนหน้านั้นเราไม่เคยเป็นประชาธิปไตยจริงๆ เลยหรือ

จริงๆ แล้ว ยุค พลเอกชาติชาย (ชุณหะวัณ) ก็ถือว่าเป็นประชาธิปไตยได้อยู่นะ หลังจาก คุณอานันท์ (ปันยารชุน) รัฐบาลคุณชวน (หลีกภัย) คุณบรรหาร (ศิลปอาชา) แล้วก็รัฐบาล คุณชวลิต (ยงใจยุทธ) ก็ถือเป็นประชาธิปไตย แต่ของคุณทักษิณจะเป็นประชาธิปไตยแบบ mass politics

คนมักจะเข้าใจว่าหลัง 14 ตุลา อะไรก็ได้ที่ต้องเป็นประชาธิปไตย ความเป็นประชาธิปไตยเป็นของที่ปฏิเสธไม่ได้ หลังจาก 14 ตุลา มันเกิดเหตุการณ์สำคัญ ทหารต้องถอดเครื่องแบบ ต้องไม่แสดงตัว ห้ามกร่าง เพราะความเป็นประชาธิปไตยมันเกิดขึ้น

คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า พลังประชาธิปไตยนี่แหละที่ล้มรัฐบาล จอมพลถนอม (กิตติขจร) จอมพลประภาส (จารุเสถียร) แต่การวิเคราะห์ของดิฉันมันไม่ใช่ มันมีความไม่พอใจ มีความขัดแย้งที่อยู่ในโครงสร้างอำนาจของถนอม-ประภาส ที่มีส่วนทำให้การเคลื่อนไหวของนักศึกษาประสบความสำเร็จ เราก็เลยมีประชาธิปไตย ประชาธิปไตยที่ชนชั้นนำจำใจต้องให้

สมบูรณาญาสิทธิราชย์

ความรับรู้เรื่องประชาธิปไตยที่เคยว่ากันว่าเริ่มต้นในยุค พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ต่างจากประชาธิปไตยในยุคทักษิณอย่างไร

รูปแบบมันเป็นประชาธิปไตย แต่การเข้าไปมีส่วนร่วมยังไม่ใช่ ตอนนั้นคนที่มีความสุขคือนายทุน มันเป็น buffet cabinet ระหว่างคนที่มีสตางค์ แต่นโยบายเขาไม่ได้ลงไปถึงข้างล่าง สิ่งที่พลเอกชาติชายพยายามทำคือการลดอำนาจของรัฐราชการ ยกตัวอย่าง สภาพัฒน์ฯ มันคือการต่อสู้กันของระดับบน ให้นักการเมืองเข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็เอื้อกับผลประโยชน์ของเขาจริงๆ ตอนนั้นมันเป็น bourgeoisie politic (การเมืองชนชั้นกลาง) ไม่ใช่ mass politic ที่ถูกปลุกหลังทักษิณลงจากอำนาจแล้ว

พอคนข้างล่างถูกปลุก ก็เลยทำให้มีการเข้าไปควบคุมแบบ คสช. ในยุคปัจจุบัน?

ใช่ มันก็น่าตลกดีที่มีขันแดง มีปฏิทิน กินแซนด์วิชแล้วก็ถูกจับ ซึ่งไม่มีใครเคยทำมาก่อน

นี่คือสิ่งที่สังคมไทยกำลังเจอ เราไม่เคยเจอมาก่อนใช่ไหม

ใช่ ไม่เคยเจอ ขอบเขตของการใช้อำนาจของรัฐไม่เคยมากขนาดนี้มาก่อน รวมทั้งวิธีการที่รัฐและผู้มีอำนาจพยายามที่จะสืบทอดอำนาจ ลักษณะแบบนี้มันเคยเกิดขึ้น เมื่อจอมพลถนอมพยายามจะใช้วิธีการเลือกตั้งเพื่อเปลี่ยนสภาพตัวเอง มีการถอดเครื่องแบบทหารมาใส่เครื่องแบบสากล การขึ้นมามีอำนาจของถนอมในระบอบประชาธิปไตยมันไม่ได้เกิดจากแรงกดดันภายในและแรงกดดันจากภายนอก อย่าลืมว่าปัจจุบันมีการเข้าไปอยู่ในโลกาภิวัตน์มากกว่ายุคนั้น

โดยหลักการ เราควรจะเรียกระบอบการปกครองของไทยตอนนี้ว่าอะไร

เป็นเผด็จการทหารที่แชร์ลักษณะสำคัญกับระบอบฟาสซิสต์ในยุโรป

Author

รุ่งรวิน แสงสิงห์
อดีตนักศึกษาการเมือง ดื้อดึง อวดดีและจอมขบถ ผู้หลงรักในการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา เธอปรารถนาที่จะแสดงออกให้ชัดเจนที่สุดโดยเฉพาะบนตัวอักษรที่ออกมาจากมือของเธอ

Author

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
จากผู้อ่าน WAY อดีตภูมิสถาปนิก ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตมาทำงานหนังสือ ต้นทุนด้านการอ่าน ความสนใจที่หลากหลายและลงลึก เขาจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ทุกคนในองค์กรยอมรับ ยกเว้นรสนิยมทางดนตรี เพราะทุกวันนี้ยังต้องใส่หูฟังคนเดียวเงียบๆ

Photographer

เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล
นักเทคนิคการแพทย์ ช่างภาพ เจ้าของแบรนด์กระเป๋า Soul goods และนักเดินทาง ทั้งหมดรวมอยู่ในตัวของคนๆเดียวที่ดำเนินชีวิตด้วย passion และ inspiration รับงานถ่ายภาพหลากหลายไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ นอกจากนี้ยังสามารถถ่ายคนให้น่ากินเหมือนอาหารได้อีกด้วย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า