เรื่องและภาพ: นิธิ นิธิวีรกุล
ภาพประกอบ: Shhhh
แม้ว่าจะมีวรรณกรรมละตินอเมริกาหลายเล่ม แต่ดูเหมือน หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว จะมีอิทธิพลสูงในแวดวงวรรณกรรมไทย เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?
หนึ่งในคำถามบนเวทีเสวนาในหัวข้อ ‘อิทธิพลของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ในประเทศไทย’ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อ 11 กันยายน ในงาน ‘กึ่งศตวรรษมหัศจรรย์: กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ โดยมี วีรพร นิติประภา, กิตติพล สรัคคานนท์ และ ผศ.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ ร่วมสะท้อนความเห็นบนเวที สะท้อนข้อเท็จจริงที่บางคนรู้แล้ว บางคนอาจยังไม่รู้ แต่อีกข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธเช่นกันว่าชั่วๆ ดีๆ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ได้ปักหมุดอันสำคัญไว้บนหน้าประวัติศาสตร์โลกและวรรณกรรมไทย หลังจากมาร์เกซได้พาครอบครัวบูเอนดิยา (ตามสำนวนของ ร.จันเสน) หรือ บวนเดีย (ตามสำนวนจากภาษาสเปนของ มานา ชุณห์สุทธิวัฒน์) ขึ้นไปรับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมในปี 2525
ประสบการณ์แห่งหนึ่งร้อยปี
วีรพร นิติประภา นักเขียนรางวัลซีไรต์ปี 2558 กล่าวว่า งานเล่มนี้ให้ความรู้สึกที่ค่อนข้างน่าตกใจกับวิธีการเล่าเรื่องของมาร์เกซในห้วงปีนั้น ซึ่งเล่าเรื่องของครอบครัวหนึ่งซึ่งกินระยะเวลาร้อยปีได้อย่างสนุก
ส่วน กิตติพล สรัคคานนท์ กล่าวว่า ตนเองได้มาอ่าน หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ในช่วงปี 2540 นับจากครั้งแรกที่มีการแปลออกมาในภาคภาษาไทยในปี 2529 ซึ่งในตอนแรกกิตติพลรับรู้มาก่อนแล้วว่ามีวรรณกรรมเล่มนี้ แต่ไม่ได้สนใจจนเมื่อมาเริ่มเขียนหนังสือ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ 1001 ราตรี จึงได้เริ่มอ่าน หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ด้วยความรู้สึกอิจฉาในความเก่งกาจของมาร์เกซ
ในงานชิ้นนี้มีทุกอย่างที่งานเขียนที่ดีควรจะมี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวอันน่าอัศจรรย์ใจ เรื่องของลีลาการเล่า
ขณะที่ ผศ.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า งานของมาร์เกซไม่ใช่งานของนักเขียนละตินอเมริกาคนแรกที่ได้อ่าน แต่เป็นงานของ หลุยส์ ฆอร์เก บอร์เจส ซึ่งโดดเด่นในเรื่องราวแฝงปรัชญาอันล้ำลึก ยากแก่การตีความและเข้าใจ แตกต่างจากงานของมาร์เกซที่ใช้วิธีการเล่าง่ายกว่า ถึงกระนั้นสุรเดชก็มองว่า งานของมาร์เกซไม่ได้มีท่าทีของปัญญาชนด้อยไปกว่างานของบอร์เจส แต่มาร์เกซหยิบเอาความเป็นท้องถิ่นของวัฒนธรรมละตินอเมริกามาใส่ลงไปมากกว่า
“มันเหมือนกับนักเขียนได้รับอิทธิพลจากกระแส modernize แต่ว่าพอมาถึงรุ่นของมาร์เกซ สิ่งที่ทำให้ผมประทับใจคือเรื่องของการประยุกต์วิธีการนำเสนอที่ซับซ้อนตรงนี้กับเนื้อหา หรือชีวิตของชาวละตินอเมริกาได้อย่างมีเสน่ห์”
ผศ.สุรเดชไม่ได้ปฏิเสธว่างานของบอร์เจสไม่มีกลิ่นของความเป็นละตินอเมริกา แต่งานของบอร์เจสเป็นงานที่ความเป็นสากลสูง โดยได้รับอิทธิพลมาจากวรรณกรรมของอาหรับในเรื่อง พันหนึ่งราตรี และจากตะลุยอ่านดะเองของตัวบอร์เจส ซึ่งจะแตกต่างกับมาร์เกซ ที่รับอิทธิพลของเรื่องเล่าจากแม่ คนเฒ่าคนแก่ในครอบครัว และตำนานพื้นบ้าน ทำให้งานของมาร์เกซมีเสน่ห์ และสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่างานของนักเขียนละตินอเมริกาคนอื่นๆ
เมจิคัลในงานของมาร์เกซ
วีรพรกล่าวว่าความเป็นลักษณะพิเศษของ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว คือ เมื่อเวลาผ่านไป งานเล่มนี้กลับยิ่งฉายภาพกลับมายังตัวเธอและครอบครัวได้ชัดเจนยิ่งขึ้น จากเรื่องราวที่เล่าถึงครอบครัวในห้วงเวลาหนึ่งร้อยปี ไม่แต่เพียงเท่านั้น ยังสะท้อนความเป็นประวัติศาสตร์พื้นถิ่นของละตินอเมริกาไว้ในนิยายที่หากเทียบกับประวัติศาสตร์ทั้งหมดของละตินอเมริกาแล้ว ถือเป็นหนังสือที่มีขนาดเล็กมากๆ
“ความจริงมาร์เกซถือเป็นนักเขียนที่เขียนได้ดีทั้งในรูปแบบเรื่องสั้นและนิยาย”
กิตติพลบอกว่า นอกจาก หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว งานเรื่องสั้นอื่นๆ ของมาร์เกซก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน นอกจากนี้งานของมาร์เกซยังทำให้รู้สึกว่าเราไม่สามารถเป็นตัวละครในเรื่องได้เลย ตรงกันข้าม เมื่อได้อ่าน เรากลับกลายเป็น ‘ส่วนหนึ่ง’ ของเรื่องราวอันน่าอัศจรรย์ในโลกของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ซึ่งถ้าให้เปรียบกับนักเขียนชาวละตินอเมริกาคนอื่น กระทั่งนักเขียนไทย กิตติพลมองว่า ความชำนาญในการสร้างโลกทั้งใบขึ้นมาเหมือนในงานของมาร์เกซยังทำได้ไม่ดีเท่า และปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งอาจมาจากทักษะในการเป็นนักข่าวของมาร์เกซเอง
ทุกวันนี้ก็ยังเป็นปริศนาอยู่ว่า วิธีการร้อยรัดข้อมูลต่างๆ มันทำให้เราเกิดความพิศวง และผมก็คิดว่าหัวใจสำคัญของนิยายคือ การทำให้เราไม่ชิน ไม่ว่าจะเป็นตัวเรื่องหรือนิยายโดยรวม มันได้สร้างความแปลกบางอย่างให้เรา
โลกที่ไม่ได้มีแค่ขาว/ดำ
“มันสอนให้เราได้รู้จักว่าโลกไม่ได้มีแค่ขาวกับดำ มันมีคนที่กระหายอำนาจ แต่เขาไม่ได้เป็นคนเลว เขาอาจแค่จับพลัดจับผลูขึ้นมามีอำนาจ แต่ในที่สุดเขาก็ผละออกมาเลี้ยงปลาทอง มันแสดงให้เห็นสีเทาเยอะมาก มีทั้งคนตะหนี่ขี้เหนียวและคนใจกว้าง คือมนุษย์ในเรื่องนี้มันมีความหลากหลายที่เยอะมาก” ผศ.สุรเดชอธิบายมุมมองที่มีต่อ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ในแง่มุมของความเป็นมนุษย์ในงานของมาร์เกซที่ทุกตัวละครต่างๆ มีด้านขาวและดำในตัวเอง เกิดเป็นสีเทาๆ ที่ไม่อาจชัดลงไปได้ว่าใครชั่วใครดี
“คือถ้าใครที่คิดว่าทำไมเมืองไทยถึงไม่พัฒนา อ่านเรื่องนี้แล้วคุณอาจจะ เอ้อ…รักเมืองไทยจัง เพราะเมืองไทยมีหลายอย่างที่คล้ายละตินอเมริกา”
แม้จะพูดในเชิงยั่วล้อ แต่ความคล้ายคลึงระหว่างประเทศไทยและละตินอเมริกาก็มีข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกับสิ่งที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี อดีตบรรณาธิการ โลกหนังสือ ผู้เคย ‘แนะนำ’ ชีวิตและงานของมาร์เกซลงใน ‘เรื่องจากปก’ ในปี 2526 ได้กล่าวไว้ในคำนำของ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ปี 2529 โดยอิงคำพูดของ มาริโอ บาร์กัส โยซา นักเขียนเปรูที่ว่า
…มันคงต้องเป็นสังคมที่ผุกร่อน สังคมที่กำลังจะต้องเปลี่ยนไปแบบนี้เท่านั้นแหละครับ ถึงจะกระตุ้นให้เกิดงานเขียนแบบนี้ขึ้นมาได้…
อิทธิพลต่อวรรณกรรมไทย
นับตั้งแต่ที่มีการแปลผลงานของมาร์เกซออกมา แสงอันริบหรี่ของแวดวงวรรณกรรมไทยที่พยายามไปให้พ้นจากกรอบของคำว่า ‘เพื่อชีวิต’ ก็เจิดจ้าขึ้นมาอีกครั้ง และอาจจะพูดได้ว่า นับจากปี 2529 จนมาถึงปัจจุบัน อิทธิพลของมาร์เกซยังคงอยู่อย่างไม่เสื่อมมนต์
วีรพรมองในฐานะที่มีคนนำผลงานเล่มล่าสุดของเธอ (พุทธศักราชอัสดงในทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ) มีความคล้ายคลึงกับ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว วีรพรกล่าวว่าอันที่จริง งานที่มีอิทธิพลมากกว่า กลับเป็นงานของ ฆวล รุลโฟ ในเรื่อง เปโดร ปาราโม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งนักเขียนละตินอเมริกาที่มาร์เกซเองก็กล่าวว่าตนได้รับอิทธิพลจาก เปโดร ปาราโม จึงได้เขียน หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ออกมาเช่นกัน
ในส่วนของกิตติพลมองอิทธิพลของวรรณกรรมของมาร์เกซผ่านการ ‘นำเข้า’ ของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ที่ส่งอิทธิพลต่อเนื่องมาอย่างสูงในแวดวงวรรณกรรมไทย ด้วยสถานะของความเป็นผู้ก่อตั้งรางวัลเรื่องสั้น ‘ช่อการะเกด’ ผู้สร้างนักเขียนรุ่นใหม่ขึ้นมาประดับวงการ ดั่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดครั้งหนึ่งในการมอบรางวัลช่อการะเกดที่มี วินทร์ เลียววารินทร์ ในฐานะนักเขียนแนวทดลอง กับ มหรรณพ โฉมเฉลา ในฐานะนักเขียนแนว magical realism ที่ผลปรากฏออกมาเป็นมหรรณพที่ได้รับรางวัลไป
“ตรงจุดนี้มันเลยเกิดสิ่งที่ทำให้เกิดความใกล้ชิดกับนักเขียนไทย เพราะในตอนนั้น งานเขียนเพื่อชีวิตมันเริ่มมาถึงทางตันแล้ว ซึ่ง magical realism ได้เข้ามาสวมทับพอดี เพราะมันมีการเล่าเรื่องบางอย่างที่ทำให้ไม่ต้องกลับไปเขียนแบบเดิม สามารถเอาตรงนี้มาเล่าเรื่องบางเรื่องได้”
เช่นเดียวกันกับ ผศ.สุรเดชที่มองว่า หลังจาก หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ได้รับการตีพิมพ์ กระแสของวรรณกรรมเพื่อชีวิตที่ฉายภาพชนบทอย่างแร้นแค้นได้มาถึงทางตันกับคำถามที่ว่า “จะไปทางไหนต่อ?” กระทั่งมี หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ที่นำเสนอภาพถ้องถิ่นที่แตกต่างไปจากเดิม
“สิ่งที่เราเห็นก็คือว่าเราสามารถนำเสนอท้องถิ่นในมุมมองที่เปลี่ยนไป คือไม่จำเป็นต้องแร้นแค้นขนาดนั้น คือมีอารมณ์ขัน และที่สำคัญก็คือว่า มันสามารถนำเสนอการปะทะกันระหว่างท้องถิ่นกับเมือง เรามีความศิวิไลซ์ที่เต็มไปด้วยเหตุผล แต่ในขณะเดียวกัน เราก็มีภาพท้องถิ่นที่มีสีสันที่เต็มไปด้วยเรื่องราวเหลือเชื่อ เรื่องราวที่เหนือธรรมชาติ และสิ่งที่ผมเห็นใน หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว มันทำให้การเล่าเรื่องแบบนี้เกี่ยวกับไสยศาสตร์มันถูกนำเสนออกมาได้โดยไม่รู้สึกว่าไร้สาระ ซึ่งตรงนี้ผมว่าสำคัญมาก สำหรับคนที่ต้องการแสดงให้เห็นถึงอำนาจของท้องถิ่น หรือวัฒนธรรมของท้องถิ่น”