WAY Awards: ที่สุดของความเป็น ‘แม่’

ภาพประกอบ: Antizeptic

พร่ำเพรื่อกันจริงเชียว! เดี๋ยวนี้เอะอะอะไรก็เห็นพวกเด็กๆ ในโซเชียลเที่ยวเรียกใครต่อใครว่า ‘ขุ่นแม่’ ไปเสียหมด รู้มั้ยว่าพฤติกรรมแบบนี้มันทำลาย ‘อุดมการณ์’ ความเป็นแม่อย่าง #แม่ของลูกในอุทร หรือ #แม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง ไปหมดนะยะ – เดี๋ยวแม่ตี! เราต้องจงรักภักดีต่อแม่บังเกิดเกล้าคนเดียวสิ

และถ้าเขาถามแว้ดกลับว่า “ใครแม่แก (มึง)” จะไปตอบเขาว่าอะไร หา?!

แม้ไม่ได้อยากส่งเสริมโศกนาฏกรรมทางการใช้ภาษาของเด็กสมัยนี้ (เอ่อ… ต้องแรงเบอร์นี้เหรอ? – กองบรรณาธิการ) แต่พี่ – พี่เรียกตัวเอง – ก็เห็นว่าในความหมายที่เคลื่อนเปลี่ยน แต่ ‘แม่ก็คือแม่’ นะคะน้อง และในเมื่อแม่ล้านคนก็ล้านความสัมพันธ์ จะแปลกอะไรถ้าพี่จะพูดว่าเราจะมี ‘แม่’ ในความหมายอื่น ซึ่งไม่ถูกจำกัดความอยู่แค่ ‘แม่’ ที่เป็นมารดาคลอด เฝ้าฟูมฟัก และเลี้ยงลูกน้อยในอุทรอุ่นๆ สักหน่อย – ไม่ใช่แม่คุณแม่ทูนหัวด้วยนะ

WAY Magazine ในฐานะผู้ใหญ่ใจดี๊ดี ขอเลยตามเลยในเดือนสิงหาคม เดือนแห่งแม่ จัดประกาศรางวัล WAY Award: ที่สุดของความเป็น ‘แม่’ ครั้งที่ 1 ขึ้นเพื่อมอบรางวัลให้กับ ‘ขุ่นแม่’ แห่งปีที่ฮอตฮิตเข้าตาและเข้าข่าย เริ่ด และมีผลงานดีเด่นโดดเด้งในช่วงปีนี้

ไปดูกันค่ะ ว่าแคนดิเดทผู้ลุ้นมงกุฎและสายสะพาย ‘ขุ่นแม่แห่งปี’ มีใครบ้าง

หมายเหตุ: เพื่อความโปร่งใส พี่จะไม่เปิดเผยเกณฑ์การพิจารณามอบรางวัลนะคะ

 

1. ขุ่นแม่ลิเบอรัล

ถ้าแคนดิเดททั้งสามท่านมาอ่าน คงจะคิดในใจจนแทบจะออกมาเป็นเสียงดังๆ ว่า “ใครแม่แก(มึง)?” แน่นอน – ฮา

เอาจริงสังคมดูจะรังงอนกับคำนี้ แต่ ‘ขุ่นแม่ลิเบอรัล’ ไม่ใช่คนโกรธโลกที่ยืนพ่นไฟ ฟาดไม่ยั้งเมื่อลูกหยิบนกหวีดมาเล่น หรือยืนตาต่อตากับลูกถ้าพวกเขาทวีตไล่ดาราเด็กให้ออกนอกประเทศไป ไม่ใช่โว้ย เอ้ย นะคะ…แต่คือมนุษย์แม่ค่ะ มนุษย์แม่ที่พร้อมจะยืนเคียงข้างหลักการของสิทธิมนุษยชน แม้ต้องแลกกับการที่สเตตัสเฟซบุ๊คถูกแชร์ไปด่าบ่อยๆ และมีสิทธิ์ถูกไล่ออกจากประเทศทุกเมื่อก็ตาม

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี: คนนี้เผ็ชแซ่บ ในวงวารนักวิชาการ ดีกรีความแซ่บของแม่เป็นที่กล่าวขาน (แม่เคยได้รับเกียรติเชิญเข้าบ้านเพื่อไป ‘ปรับความคิด’ เมื่อต้นปี 2016 ด้วยนะ) แต่ผลงานที่ทำให้เธอเข้าท้าชิงในปีนี้ หนีไม่พ้นดราม่าเรื่อง ‘เอ็นจีโอ’ ในช่วงเดือนที่ผ่านมา

จากบทสัมภาษณ์ส่วนหนึ่งในหนังสือเรื่อง แผ่นดินจึงดาล เกี่ยวกับการทำงานของเอ็นจีโอปัจจุบันว่า ทำงานเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง และไม่ยึดโยงกับปัญหาของชาวบ้านถูกเผยแพร่ แม่ปิ่นแก้วถูกวิจารณ์อย่างหนักหน่วง ถึงกับมีข้อความลอยลมจากเอ็นจีโอสุภาพบุรุษผ่านคอมเมนต์เฟซบุ๊คว่า “ฝากตบปาก ผมไม่ตลกกับนักวิชาการพวกนี้”

ภัควดี วีระภาสพงษ์: อาจเรียกว่าเธอคือวีรสตรีลิเบอรัลที่มียอดฟอลโลเวอร์มากที่สุด ณ ขณะนี้

อันที่จริงแม่คือนักแปลผู้มีผลงานขลังๆ สถิตอยู่บนชั้นหนังสือและหัวนอนนักอ่านทุกสีเสื้อ ดุจเอาโลกมาทำปากกา เอานภามาแทนกระดาษ อาทิ สมัญญาแห่งกุหลาบ ของ อุมแบร์โต เอโค, อมตะ ของ มิลาน คุนเดอรา หรืองานวิชาการอย่าง The Great Transformation ของ คาร์ล โปลันยี ก็ผ่านมือแม่มาแล้ว

นอกจากความกล้าหาญและซื่อตรงทางความเชื่อในเสรีภาพการแสดงออกที่ปรากฏอยู่บนสเตตัสเฟซบุ๊คและกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคมอยู่บ่อยครั้ง อีกเหตุผลหนึ่งที่เราผลักเธอเข้าท้าชิง คือ บทรีวิวเชิงวัฒนธรรมแห่งการดื่มคราฟท์เบียร์และไวน์แสนวิไล โดยแม่ไม่เคยซ่อนเร้นความกรึ่มของเธอเลย – ชอบมาก

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์: ถ้าคุณไม่รู้จัก ขอแนะนำให้เปิดเพจ ‘ไข่แมว’ แน่นอนว่าบทความแสนขยี้ใจ แสบ จริงๆ น่ากลัวนะคะน้องๆ (ที่หลายครั้งห้ามไลค์และไม่ควรแชร์) ทำให้นักวิชาการศูนย์ตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยเกียวโต กลายเป็นหนึ่งในบุคคลที่ทางการไทยต้องการตัวที่สุดในขณะนี้ ทำให้เขาขึ้นท้าชิงตำแหน่งอย่างสง่างาม

แต่เหตุผลจริงๆ ที่พี่เน้นเป็นสาระ คือ ความต่อเนื่อง และไม่ยอมแพ้ในการติดตามประเด็นทางการเมือง และการตามไป #มองบน ใส่ดารา LGBTQ ผมสั้น อักษรย่อ มอ. ทุกครั้งที่นางเผลอแสดงความคิดเห็นแบบ ‘วืดๆ’ ออกมา

The winner goes to: ภัควดี วีระภาสพงษ์

ยากมากจริงๆ สำหรับเลือกสุดยอดขุ่นแม่ลิเบอรัลนี้ แต่ที่เราขอยื่นมงให้กับแม่ภัควดี เพราะความร้อนแรงจากสเตตัสที่ตั้งคำถามต่อปัญญาชนสาธารณะเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากเป็นการจุดคำถามและการตรวจสอบกันเองในหมู่ฝ่ายก้าวหน้าปัญญาชนครั้งสำคัญ สรรพนามและน้ำเสียงแม่ยังเปิดเผยความปรี๊ดอย่างซื่อสัตย์กงไปกงมา แต่เมื่อเกิดเหตุบานปลายจากปัญหารสนิยมของเพจแซะ แม่ยังหลักดีและใจใหญ่ออกมาบอกว่าอะไรเหมาะอะไรควร สมกับเป็นขุ่นแม่โดยแท้ (ลายแทงหาได้ในกูเกิลนะคะ พี่ไม่มีวาร์ป)

2. ขุ่นแม่ผู้สร้างแรงบันดาลใจ

บทบาทหนึ่งของแม่คือการมีตัวตนในโลกของลูกนะคะ โดยส่วนตัว พี่ชอบแม่ที่มอบพลังและสร้างความเข้มแข็งให้ลูกมากๆ แต่กับสังคมล่ะคะ แม่คนนะคะ ไม่ใช่ปลาโมลาออกไข่เป็นล้าน แล้วใครล่ะคะ ที่จะมาทำหน้าที่ขุ่นแม่ผู้สร้างแรงบันดาลใจ จนลูกซึ้งแนบอกใน น้ำตาไหลพราก

รางวัลนี้จึงชูขึ้นเพื่อมอบให้แก่มนุษย์แม่ที่ทำหน้าที่อันสำคัญนี้ต่อสังคมค่ะ

ครูอ้อย-ฐิตินาถ ณ พัทลุง: เธอคนนี้จะหลุดจากโผเป็นมิได้ ถ้าหลุดถือว่าพวกน้องพลาด เธอคือเจ้าของตำนานท่า ‘เอามือหมุนๆๆ’ แล้วเงินทองจะไหลมาเทมา แม่เป็นแรงผลักทางจิตวิญญาณ ชีวิตจะดีได้ด้วยการ ‘เปลี่ยนความคิด แล้วชีวิตจะดีเอง’ แม้ใครจะตั้งคำถามยากๆ กับแม่เรื่องค่าคอร์สที่แพงเกินไป หรือกล่าวหาแม่ว่าใช้วิธีการแบบลัทธิอะไรสักอย่าง แต่แม่คือแม่ค่ะ เรื่องแบบนี้ ความเชื่อใคร (และเงินใคร) ก็ของใคร #ป่ะคะ

พี่ฉอด-สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา: แม้ปีนี้เธอจะถูกเลื่อนขั้นให้เป็น ‘ป้า’ ซุ่มทุ่มไม่อั้น (พี่เองก็แอบใจชื้น) แต่เธอก็ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแม่แห่งวงการศิราณีมาตั้งแต่ Club Friday เริ่มลงหลักปักฐาน ใครผิดหวังจากความรัก ไม่ว่าจะอยู่ทีมเมียน้อย ห้อยท้ายเมียหลวง หรือควงทีละห้าหกคน พี่ฉอดก็ไม่รังเกียจนะคะ เพราะสุดท้ายแล้วป้า เอ้ย แม่ฉอดจะมีคำพูดที่มาจากความปรารถนาดี ตักเตือนให้คนทุกคนกลับเข้าสู่เส้นขนบศีลธรรมอันดีของสังคมค่ะ  

เบสท์-อรพิมพ์ รักษาผล: ตัดประเด็นดราม่าเรื่องเธอรับเงินจากใคร เท่าไหร่ ขุ่นแม่วัยจิ๋วจี๊ดได้วีซ่าไปพูดที่ต่างประเทศหรือยัง และเข้าไปพูดในวงวารของกองทัพได้อย่างไร เพราะคุณูปการผลงานเริ่ดๆ คือ เป็นนักพูดระดับอินเตอร์ เป็นผู้ที่ทำดีไม่หวังผล อุทิศตัวเพื่อศีลธรรม ปรับความคิดของคนทั้งในและต่างประเทศให้ถูกต้อง นอกจากนี้ วิธีพูด จังหวะ และชั้นเชิงของเธอก็น่าสนใจ พี่ขอให้หามาดูนะคะ ขุ่นแม่เบสท์นี่เรียกได้ว่าของจริงไม่อิงบทละครแน่ๆ

แต่ก็มีคนอ้างค่ะ ว่าหากอ้างอิงจากข้อมูลของนักสืบพันทิพ จะเห็นว่า ไม่ว่ากี่คลิป แม่จะมีวิธีการพูดและจังหวะการร้องไห้แบบเดียวกันทั้งหมด แปลว่าเธอเป็นคนทำการบ้านมาดีและอย่างหนัก นี่ค่ะ ทักษะและความเพียรส่วนตัวล้วนๆ

The winner goes to: ครูอ้อย-ฐิตินาถ ณ พัทลุง

แม้ว่าปีนี้แม่อ้อยจะเจอกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมอย่างหนักหน่วง รวมทั้งเพื่อนผองดาราที่เคยเดินไปด้วยกัน ก็ต่างออกมาประกาศว่า “ไม่ได้เจอกับครูอ้อยมานานแล้ว” กันทั้งนั้น แต่เราเชื่อมั่นว่าเธอจะผ่านประสบการณ์แย่ๆ นี้ไปได้ และฝากกำลังใจผ่านรางวัล ‘ขุ่นแม่ผู้สร้างแรงบันดาลใจ’ นี้ไปให้เธอค่ะ 🙂

3. อุ ‘แม่’ โว้ย

‘อุแม่โว้ย’ คือการถอดเสียงหลังพี่พบ ‘ลุค’ และ ‘ตัวตน’ ของพวกเขาตามหน้าเฟซบุ๊คและไอจี พี่พบเลยค่ะ ว่าพวกเขาคือแฟชั่นนิสต้าที่แท้ทรูและเรียลมากๆ แหวกและแหกทุกขนบของการเป็นแฟชั่นไอค่อน พวกเขาไม่แคร์และไม่รอวันที่ช่างภาพจะเดินมาพบและถ่ายภาพเขาลงนิตยสารสตรีทแฟชั่น เมื่อมีเทคโนโลยีอยู่ในมือ พวกเขาทำงานหนักเพื่อเป็น ‘คนที่พวกเขาอย่างเป็น’ นี่แหละค่ะ ซีเรียสลี่ คือความมั่นใจที่ควรค่าแก่การถูกยกย่องเป็นขุ่นแม่  

ม๊าเดี่ยว-อภิเชษฐ์ เอติรัตนะ: เธอคือผู้พลิกวงการดีไซเนอร์ ไม่ใช่แค่ของไทยแต่ของโลก! หลักฐานคือการได้รับเชิญเป็นดีไซเนอร์ร่วมในรายการ Asia Next Top Model ซีซั่น 4 และได้รับการการันตีจากนิตยสาร Time ช่วงเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา ว่าเป็นดีไซเนอร์หน้าใหม่ด้วยเอกลักษณ์ที่บ้าบิ่นไม่มีใครเหมือน นี่คือขุ่นแม่ระดับโลกที่พี่ภูมิใจ

เจนนี่ ปาหนัน: หรือชื่อจริงๆ ว่า วัชระ สุขชุม หากเข้าไปดูในไอจีของเธอ @jennie_pannhan จะเห็นสไตล์แฟชั่นแสนเปรี้ยวจี๊ดเข็ดฟันของเธอ ถ้ามีหน้าไหนกล้าดีมาขวางแม่ล่ะก็… ฆ่าได้ก็คงฆ่าให้ตาย แต่สิ่งที่สาวงามสะตอพลัดถิ่น แดนไก่ทอดหาดใหญ่ ทำให้โลกทั้งใบต้องหยุดมองและยิ้มกรุบให้เธอคงหนีไม่พ้น MV เพื่อแม่บริทฯ (บริทนีย์ สเปียร์ส) อย่างเพลง ‘Toxic’ และ ‘Everday I’m Hungry’ ที่โด่งด่งจน 9GAG หยิบไปโพสต์แชร์ให้ เอาซิ! ดูเหมือนว่าระดับความฮอตให้สุด ไม่รู้ว่าจะหยุดอยู่ที่จุดไหน พี่ล่ะอยากให้แม่หอก (สเปียร์ส) ชวนขุ่นแม่ของเราไปร่วมงานจริงๆ

เพจจือปาก: เฮ้ย…เพจนี้มันส์มากค่ะ พี่พยายามทำท่า จือออ ปาก คือท่ามกลางการแข่งขันในวงการรีวิวเครื่องสำอางในปัจจุบัน พี่เพิ่งรู้ว่าไทยแลนด์มีเพจที่ขายนวัตกรรมแห่งการแต่งหน้าใหม่ๆ ที่แทรกความสนุกผ่านน้ำเสียงของผู้รีวิว ‘จือปาก’ คือการรวมตัวกันของเพลง ‘แดนซ์’ บนรถทัวร์ พี่อดขยับไม่ได้จริงๆ ความไม่อยู่ในมาตรฐานความงามของสังคมของผู้รีวิว (นางอวบ) ความช้อนตาไปมาอย่างตั้งใจล้อเลียนกับจริตจะก้าน พร้อมกับเสียงบรรยายที่ให้ความรู้สึกว่า หยาบกร้านแต่เข้าถึงและเป็นมิตร  

The winner goes to: เพจจือปาก

เหตุผลไม่มีอะไรมากไปกว่าการการแหกทุกขนบของวงการแฟชั่นชั้นสูง #กรี๊ด ความหวือหวาในการรีวิว และการกล้าเล่นกับจังหวะ ‘ตื๊ดๆ’ ชวนให้คนมาเต้นท่า ‘ดึงดาว’ พี่ต้องไปหัดเต้นตามจนคุณหมอบอกว่า “กระดูกคนรุ่นพี่ไม่ควรทำแบบนั้นแล้ว” ค่ะ ค่ะ ค่ะ  

4. คุณแม่แรงทะลุจอ

‘เพื่อลูกแล้ว แม่ทำได้ทุกอย่าง’ คือคำนิยามของรางวัลนี้ จริงค่ะ ถูกต้อง โดยยอดคุณแม่ที่พี่เลือกมาเป็นตัวละครที่มีบทบาทสำคัญในซีรีส์สามเรื่องสามสไตล์ ถ้าน้องมีทีวี มีอินเทอร์เน็ต น้องคงเคยดู ขุ่นแม่ทั้งหมดที่เลือกมาล้วนยึดโยงชีวิตด้วยคำเดียวกันคือ ‘ลูก’      

แม่ตั้ม – แม่แตง จาก Side by Side: ‘พี่ยิม’ เด็กออทิสติกลูกแม่ตั้ม กับ ‘โด่ง’ เด็กธรรมดาลูกแม่แตง ถูกเลี้ยงดูมาด้วยกันและมีความฝันร่วมกันคือ การเป็นนักกีฬาแบดมินตันชายประเภทคู่ที่เก่งที่สุดในโลก เด็กสองคนร่วมมือกันต่อสู้กับคู่แข่งในอีกฟากเน็ต ส่วนแม่อีกสอง ต่างต่อสู้กับภาวะบีบคั้นทางจิตใจอันหนักหน่วงของตัวเองในฐานะแม่และน้าของเด็กออทิสติกคนหนึ่ง – ด้วยความพยายามอย่างยิ่ง ซึ่งพี่ชมด้วยใจจริงนะคะ พี่ไม่ชอบดราม่า

แม่เซอร์ซี แลนนิสเตอร์ (Cersei Lannister) จาก Game of Throne: ขุ่นแม่เซอร์ซีคนสวยผู้ ‘โหดสัส’ พี่พูดได้เต็มปาก พูดตามนะคะ “โหด-สัส” แม่สามารถทำทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกชายได้ขึ้นเป็นราชาแห่งบันลังก์เหล็ก ซีรีส์นี้คนติดงอมแงมกันครึ่งโลกได้มั้งคะ

ซึ่งหนทางสู่การเป็นแม่มารดากษัตริย์ของเซอร์ซีแน่นอนว่าไม่ราบเรียบ และเต็มไปด้วยกลิ่นคาวเลือด พูดตามนะคะ “โหด-สัส” เพื่อลูก แม่ทำได้ทุกอย่างจริงๆ ทำได้แม้กระทั่งการกำจัดศัตรูโดยการระเบิดวิหารทิ้งแบบ #โนสนโนแคร์ ว่าจะมีคนบริสุทธิ์ล้มตาย – ต้องพูดตามพี่อีกมั้ยคะ

แม่จอยซ์ บีเยอร์ (Joyce Byers) จาก Stranger Things: พลังความเป็นแม่แสนเกรี้ยวกราดที่ทุ่มเททั้งตัวและหัวใจในการตามหาและช่วยเหลือลูกชายของเธอ ‘วิล’ ที่หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย มีหรือที่คณะกรรมการผู้ทรงเกียรติ (เกลียดค่ะ) จะไม่เห็นความศรัทธาที่เชื่อมั่นอย่างแรงกล้าของจอยซ์ ในเมื่อคุณแม่ระเบิดอารมณ์แทบทุกตอนใส่ทุกคนว่า ลูกเธอยังไม่ตาย จนถึงขั้นพังบ้านตัวเอง และนั่งคุยกับหลอดไฟขนาดนี้ ก็คงต้องยอมเธอแหละค่ะซิส  

The winner goes to: แม่ตั้ม-แม่แตง จาก side by side  

เราไม่สามารถมอบมงกุฎยอดคุณแม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งได้ เราจึงทำออกมาสองอันและมอบให้สองพี่น้องที่ช่วยกันเลี้ยงลูกอย่างสุดกำลังความสามารถ แม้ผู้หญิงสองคนช่วยกันเลี้ยงดูลูกและหลานของตัวเองด้วยวิธีที่ต่างกัน แม่ตั้มดูเหมือนจะหมดหวังไปแล้วกับการทำให้ยิมสามารถมีพื้นที่ในสังคม เธอใช้ไม้แข็งและไม่ประนีประนอมกับลูก

แต่ในขณะเดียวกันเธอก็ทำหน้าที่อย่างเต็มที่เท่าที่แม่คนหนึ่งจะทำได้ ทั้งหาเงิน รองรับอารมณ์เกรี้ยวกราด คำด่าและความเกลียดชังที่ลูกมีต่อเธอ ส่วนแม่แตง สายเอาน้ำเย็นเข้าลูบ นอกจากจะช่วยยิมให้ได้ทำตามความฝัน เธอยังต้องจัดการกับความรู้สึกของโด่ง ที่ดูเหมือนจะน้อยใจแม่อยู่บ่อยๆ เพราะแม่มักขอให้เขาเสียสละเกือบทุกอย่างเพื่อยิม ผู้หญิงสองคนเก็บซ่อนความเปราะบางของชีวิต และทำหน้าที่ในแบบของตัวเองด้วยความสตรองเกอร์ทูเกเตอร์ ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อลูกนั่นเอง

   

5. ซูเปอร์วูแม่

ความเฮลตี้รักสุขภาพ คือ เทรนด์แห่ง ‘ความคูล’ พี่เชื่อค่ะ เพื่อข้ามกำแพงเรื่องเพศ เฟมินิสต์ทั้งหลายจงมารวมตัวกัน แล้วประกาศว่า ซิกแพ็คไม่ได้มีเฉพาะของผู้ชาย ผู้หญิงสมัยนี้ก็สามารถผลิตลอนสวยๆ บนกล้ามท้องได้อย่างน่ารัก เซ็กซี่ น่าเอ็นดู รางวัลซูเปอร์วูแม่จึงพยายามเฟ้นหา และคัดสรรขุ่นแม่ผู้รักการออกกำลังกาย มีระเบียบวินัยต่อการรีดเหงื่อรักษาความเป๊ะของตัวเองมาขึ้นแท่นแคนดิเดทดังนี้

เบเบ้-ธันย์ชนก ฤทธินาคาเน็ตไอดอลรุ่นแรกๆ สมัยพี่ยังสาวนะคะ ที่เดี๋ยวนี้รักการออกกำลังกายเป็นชีวิตจิตใจ น้องควรยึดเป็นแบบอย่าง ภาพของเบเบ้หญิงสาวหน้าหวานตาใสในอดีต ไม่มีแล้วค่า แม่ค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยภาพของสตรีผู้มีเรือนร่างสมส่วน ลอนหน้าท้องสวยๆ และใบหน้าเปื้อนเหงื่อในชุดออกกำลังกาย มันปฏิเสธไม่ได้ว่าทำให้เธอดูเซ็กซี่ชะมัดเลย  

ชมพู่-อารยา อัลเบอร์ตา ฮาร์เก็ต: คุณแม่ที่เราเห็นหน้าในป้ายโฆษณาทั่วกรุงเทพฯ ตั้งแต่บรายันเครื่องซักผ้า แม่ชมก็เป็นสาวสวยอีกคนที่ชื่นชอบการออกกำลังกาย แม้ขณะตั้งครรภ์ท้องโย้เธอก็ยังไม่ละเลยการดูแลสุขภาพและร่างกาย แถมเธอยังมีท่าออกกำลังกายมาแบ่งปันคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็น ‘แม่ของแม่’ จริงๆ   

กาละแมร์-พัชรศรี เบญจมาศ: พิธีกรเซเลบผู้ยืนระยะยาวนาน ตั้งแต่พี่ผมดำยันหงอก ปัจจุบันก็เป็นอีกหนึ่งคนที่หลงรักการฟิตเรือนร่างให้เฟิร์ม ด้วยวัย 30 ปลายๆ คล้ายๆ พี่ หุ่นของเธอสวยงามไม่แพ้เพื่อนสาวผู้ท้าชิงอย่างแม่ชมเลย ที่สำคัญ เธอมีวินัยในการใช้ชีวิตอย่างยิ่ง ทั้งกินทั้งอยู่ พี่เชียร์ บรรดาเวิร์คกิงวูแม่ควรยกให้แม่แมร์เป็นไอดอลนะคะ และนอกจากออกกำลังกาย พี่ยังอยากจิไปหากระทะแบบที่นางใช้มาแปะครัวไว้สักใบ พี่ว่าพี่จะเฮ้วตี้ขึ้น (อิอิ)

The winner goes to กาละแมร์: พัชรศรี เบญจมาศ

ในจำนวนผู้ท้าชิงทั้งสามคน มงกุฎ ‘ซูเปอร์วูแม่’ จะลงที่ใครไม่ได้นอกจากพัชรศรี แม่แมร์ของพวกเรา เพราะเธอได้พิสูจน์แล้วว่า ได้อุทิศตัวเพื่อเป็นแบบอย่างที่ทำได้ ทำจริง ให้เห็นว่าการออกกำลังกายนั้นดียังไง เช่น การจ้างเทรนเนอร์ส่วนตัวมาสอนการออกกำลังกายที่บ้าน ทำคลิปวิดีโอแนะนำการออกกำลังกายในออฟฟิศ เพื่อชีวิตที่ดีกว่า จำไว้นะคะ ควรยึดหลักของแม่แมร์ ถามตัวเองบ่อยๆ ว่า “คุณมีวิธีการออกกำลังกายอย่างไร”

6. แม่ก็คือแม่

ราชบัณฑิตไม่ได้อธิบายคำว่า #แม่ก็คือแม่ ว่ามาจากไหน ใครนิยาม และความหมายที่แท้จริงคืออะไร แต่ดูเหมือนชาวออนไลน์พร้อมใจกันเข้าใจ และนำถ้อยความนี้ไปใช้กับ ‘ขุ่นแม่’ ในวงการ LGBTQ กันอย่างแพร่หลาย  

และท่ามกลางคณะกรรมการคัดเลือกแคนดิเดท #แม่ก็คือแม่ เพื่อให้เหลือเพียงสามท่าน (ซึ่งยากนัก) มติที่ประชุมต้องขอจบการโต้เถียงเพราะพี่ทุบโต๊ะ! และหยิบตัวท็อปของวงการ LGBTQ ที่ฮอตระเบิดระเบ้อ และเป็น talk of the town อยู่ใน พ.ศ. นี้  

ป้าตือ-สมบัษร ถิระสาโรช: ขุ่นแม่ผู้คร่ำหวอดในวงการบันเทิงนานกว่าสองทศวรรษ เจ้าแม่ออร์แกไนซ์คิวทอง ที่ดูจะอยู่ในวงการและเป็นที่รู้จักอยู่เนืองๆ มาตลอด ซึ่งพี่ก็รู้จัก แต่เขาไม่รู้จักพี่ แต่ที่ดูจะเปรี้ยงปร้างกว่าเดิม ก็เมื่อป้าตือหันมาทำรายการออนไลน์ที่ชื่อว่า ‘ตือสนิท’ ชวนเหล่าวงวารมิตรสหายมานั่งเม้ามอย วี้ดว้าย สร้างเสียงหัวเราะ ดังแค่ไหนคงไม่ต้องพูดกันมาก แค่เปิดตัวมาได้เดือนเดียวแต่ยอดวิวรวมกันก็พุ่งไปแล้วกว่า 1,315,000 วิว แล้วนะจ๊ะ (ยอดล่าสุด 10/08/17)

เบน ชลาทิศ หรือ ชลาทิศ ตันติวุฒิถ้าเรื่องเสียงร้องอันเพราะพริ้ง แบบแอดลิบไปเลย 18 ชั้นของแม่เบน คงไม่ต้องพูดอะไรกันมากนะคะ แต่ที่ดูเหมือนจะทำให้ เบน ชลาทิศ กลับมาอยู่ในหน้าฟีดของพี่และของประชาชนอีกครั้ง ด้วยความถี่แทบจะทุกๆ 3 นาที คงหนีไม่พ้นรายการ ‘ล้างตู้เย็น’ ว้าย… พาเข้าครัวไปรีวิวและสอนทำอาหารง่ายๆ ด้วยระดับภาษาแบบเพื่อนๆ ดอกไม้บานเต็มสวน เข้าถึงประชาชนแทบทุกระดับ ยอดวิวและยอดไลค์พุ่งทะยานไม่หยุด จนตอนนี้ยอดฟอลโลเวอร์ของเพจนี้เกินครึ่งล้านเป็นที่เรียบร้อยแล้วนะคะน้อง

พอลลีน งามพริ้ง: พินิจ งามพริ้ง เคยเป็นที่รู้จักในฐานะอดีตแกนนำกลุ่มเชียร์ไทยพาวเวอร์ ปี 2556 เคยลงสมัครชิงตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอล แต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา วงการฟุตบอลไทยและฟีดเฟซบุ๊คของประชาชนก็ต้องเด้งอย่างรุนแรงอีกครั้งกับข่าวการ come out ของแม่ และด้วยชื่อใหม่ว่า ‘พอลลีน’

The winner goes to: พอลลีน งามพริ้ง

ข่าวการ come out ของพอลลีนทำให้คณะกรรมการคัดเลือกของพี่ต้องล้มกระดานและเปลี่ยนผู้ชนะประเภทนี้ใหม่ แม้ว่าจะยังไม่ปรากฏบทสัมภาษณ์ของแม่อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย มีเพียงการให้สัมภาษณ์ไซส์มินิในรายการ ‘ถามตรงๆ กับจอมขวัญ’ ของไทยรัฐ แต่ก็นับว่า นั่นคือการต้านแรงกดดันของสังคม และความจำเกี่ยวกับฟุตบอลไทยว่า ต้องเป็นผู้ชายกำยำเข้มแข็งเท่านั้นจึงจะหลงใหลในกีฬาบอยๆ แบบฟุตบอลได้ การ come out ของเธอในฐานะนักฟุตบอล พี่เห็นด้วยว่าแนวคิดนี้จะสะกิดเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับบทบาทของ LGBTQ ได้ ว่าบทบาทของทรานส์หญิง ไม่ต้องเท่ากับความอ่อนโยน แต่อาจเท่ากับฟุตบอลซึ่งเป็นสัญลักษณ์กีฬาของบุรุษเพศก็ได้  

7. ไม่ใช่แม่ก็เหมือนแม่

เราขอนิยามหมวดนี้อย่างรวบรัดมัดตึงให้เข้าใจง่ายที่สุด นี่ไม่ใช่การจัดอันดับเพจเลี้ยงลูกที่มีอย่างล้นหลามท่วมท้นอยู่ในเฟซบุ๊ค แต่คือการรวบรวมขุ่นแม่ที่ #ไม่ใช่แม่ก็เหมือนแม่ บุคคลที่ทำหน้าที่เหมือนแม่ สั่งสอน เลี้ยงดูให้พวกเขาเติบโตมาเป็นคนดีศรีสังคม แน่นอนว่า ไม่สนใจเพศสภาพหรือจำนวนคนด้วย (สบัดบ็อบ)

Little Monster: เป็นแคนดิเดทเดียวที่เข้าข่ายเพจเลี้ยงลูกมากที่สุด คือ พี่ไม่มีลูก แต่พี่คิดว่า ควรค่าแก่การกดไลค์และติดตาม บอกเล่าประสบการณ์ เรื่องราวของการเป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ความยากลำบากในการเลี้ยงลูกในโลกแห่งศตวรรษที่ 21 ที่หมุนเร็ว เหวี่ยงแรง และถ้าเกาะไม่แน่นพอมีสิทธิ์หล่นตุ้บ สำหรับความน่าสนใจของเพจนี้ คือการส่งต่อความรักอย่างร่าเริงที่แม้แต่คนที่ไม่รักเด็ก (อย่างพี่ค่ะ) ไม่อยากมีลูก (อย่างพี่เองค่ะ) ก็ยังเผลอเห็นด้วยกับทัศนคติเลี้ยงลูกจากเพจนี้

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์: แม้จะไม่ใช่ ‘แม่’ จริงๆ แต่ด้วยผลงานมากมาย ที่ทุ่มเทให้กับจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น รวมถึงระบบสุขภาพและสังคม ผ่านงานเขียนทั้งในโลกออนไลน์และโลกออฟไลน์ สิบนิ้วก็นับไม่ครบ ผู้ให้ความรู้และถ่ายทอดวิทยายุทธ์ในการรับมือเและเลี้ยงดูพวกเขาให้เติบโตอย่างเหมาะสมกับโลกตอนนี้ แคนดิเดท #ไม่ใช่แม่ก็เหมือนแม่ คงเป็นใครไม่ได้ ถ้าไม่ใช่คุณหมอคอลัมนิสต์คนนี้

ป้ามล-ทิชา ณ นคร: พี่ปลื้มที่ผู้หญิงคนนี้เลี้ยงลูกคนอื่น และเลี้ยงลูกคนอื่นซึ่งก่ออาชญากรรมร้ายแรง ในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก หรือ ‘คุกเด็ก’ ด้วย แม่ทิชาไม่ใช่แค่เลี้ยงอย่างให้ปัจจัยสี่ และ ‘สั่งสอน’ ให้เป็นคนดี แต่ต่อสู้กับระเบียบของรัฐที่คิดและทำกับคุกเด็กกว่า 19 แห่งทั่วประเทศ ทิชาเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด ออกแบบกระบวนการเพื่อเตรียมเด็กคนหนึ่งให้เข้าใจความผิดพลาดในอดีต เข้าใจผลกระทบที่ได้ทำ และเตรียมพร้อมกลับไปอยู่บ้านจริงๆ ของพวกเขาอีกครั้ง

The winner goes to: ป้ามล-ทิชา ณ นคร

บอกแล้วว่าพี่ปลื้ม และผลการตัดสินที่อยู่ในมือพี่ เหตุผลคือ ทิชาทำงานกับเด็กและเยาวชนที่ต้องโทษ กับลูกและหลานของคนอื่น และเป็นลูกและหลานที่สังคมตราหน้าและพร้อมจะกันออกไปจากสังคมอยู่ตลอดด้วย ดังนั้น รางวัล ‘ไม่ใช่แม่ก็เหมือนแม่’ คงไม่พ้นต้องเป็นป้ามล และคงเป็นแม่ของใครหลายคนที่ฝากชีวิตไว้กับเธอ

 

8. แม่ (รุ่ม) รวย สอนลูก

ความรุ่มรวยที่ว่าไม่ได้หมายถึงเงินทอง ความหรูหรา น้องๆ ต้องอดออมไม่ฟุ่มเฟือย แต่พี่กำลังจะพูดถึงความมีรสนิยมและความรุ่มรวยในวัฒนธรรมของขุ่นแม่ทั้งหลาย ตั้งแต่การใช้ชีวิต ทัศนคติต่อสังคม สไตล์การแต่งตัว อาหารการกิน รสนิยมในการเลือกของใช้และการใช้ภาษาที่บ่งบอกถึงความรุ่มรวยคลังภาษา ที่แสดงผ่านหน้าเฟซบุ๊คและงานเขียนของพวกเธอที่สมควรถูกยกเป็น ‘แม่’ ในมงกุฎที่ 8 นี้

ชมพู-อุรุดา โควินท์นักเขียนสาว แม่ค้าขายน้ำพริก และคอลัมนิสต์เรื่องอาหาร คุณแม่ชมพูเป็นตัวแทนภาพของผู้หญิงที่เต็มไปด้วยรสนิยมการแต่งตัว รักการแต่งหน้า ให้ความสำคัญเรื่องความประณีตในการทำอาหาร สมบัติจานชามช้อนบนภาพอาหารเช้าที่เธอโพสต์ลงเฟซบุ๊คทุกวัน ก็ encourage ให้พี่อยากไปให้ถึงความวิไลของชีวิตแต่ละวันบ้าง  

เบียร์-มนทกานติ รังสิพราหมณกุล: หัวเรือใหญ่ของนิตยสารแฟชั่นหัวนอก Madame Figaro Thailand ทั้งยังมีบทบาทเป็นนักแสดงละครเวทีโรงเล็ก และเป็นนักวาดภาพประกอบด้วย เธอเป็นสาวสวยผมสั้นกุดที่มีการแต่งตัวสมกับเป็นเจ้าแม่หนังสือแฟชั่น เสียงพูดของเธอเป็นเอกลักษณ์ทุ้มสูงราวกับเสียงแซกโซโฟนที่พี่ว่าน่าฟังเคียงกับเพลงแจ๊ซเหลือเกิน แม่เบียร์มักมีมุมมองต่อสิ่งรอบตัวที่น่าสนใจ ทั้งเรื่องราวในชีวิตทั่วไป การพูดถึงหนังสือที่ได้อ่าน เกร็ดประวัติศาสตร์แฟชั่นทั่วโลก หรือกระทั่งเรื่องราวของแมวสีดำสุดน่ารัก ’หน้ากากแอ็คชั่น’

แหม่ม-วีรพร นิติประภานักเขียนเจ้าของรางวัลซีไรต์สุดพั้งค์ ที่ใน พ.ศ.นี้ ไม่มีใครไม่รู้จักความจัดจ้านสุดเปรี้ยวแสน ‘เกร๋’ ของผู้หญิงชุดดำ ปากแดง ผมหยิก สวมผ้าคาดผม แว่นตาดำและรองเท้าบูท – ภาพจำที่เราคุ้นตา ยามไปปรากฏตัวตามงานเสวนาหรือแวดวงนักเขียนต่างๆ หากสังเกตดีๆ แล้ว อาภรณ์ทุกอย่างของเธอล้วนมีดีเทลไม่ซ้ำเดิม พี่ต้องไปเดินหาซื้อผ้ามาให้ดีไซเนอร์ห้องเสื้อของพี่ตัดตามชุดแม่แหม่ม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พี่ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยคือ ทัศนคติเกี่ยวกับชีวิตของเธอ โดยเฉพาะความเข้าใจสังคมยุคปัจจุบันอย่างถ่องแท้ผ่านสายตาของมารดาที่แท้จริง ผู้เข้าใจถึงการเคลื่อนไปของโลก ภาระและเสรีภาพที่คนยุคใหม่มีไม่เหมือนและเท่าเทียมคนยุคเก่า

The winner goes to: วีรพร นิติประภา

คงไม่มีใครปฏิเสธความมีบทบาทของนักเขียนหญิงคนนี้ ผู้บอกเล่าความมัวเมาในความรัก ความเละเทะของคนยุคก่อนที่ต่างมีความยึดถือบางอย่างที่แตกต่างจากคนยุคปัจจุบันเอาไว้ ผู้เป็นต้นแบบให้กับน้องๆ คนรุ่นใหม่ได้อย่างสมบูรณ์

9. ขุ่นแม่ท่าแซะ

ขุ่นแม่ประจำอำเภอท่าแซะ เอาง่ายๆ ตรงๆ เว้ากันซื่อๆ รางวัลสาขานี้สำหรับเพจต่างๆ ที่มีคาแรคเตอร์เป็นแม่ๆ ที่แซะทุกสิ่งทุกอย่างได้เจ็บแสบแซ่บถึงทรวง ชนิดที่เรียกว่าบางครั้งพี่ก็ตบหน้าขาด้วยความถูกใจในความสร้างสรรค์ของเพจเหล่านี้ เชิญชมจ้า

jaidee tv: ต้นกำเนิดจาก youtuber พี่ปอนด์ใจดีทีวี แม่บ้านฝรั่งผู้มีมุมมองสุดแสนตลกขบขัน และมุมมองชีวิตที่น่าสนใจ มาสู่เพจใจดีทีวีที่เป็นภาพ meme ของตัวพี่ปอนด์ในบริบทเฟียสๆ พร้อมกับข้อความสุดจี๊ด พี่อยากให้น้องๆ ทุกคนหลับตานะคะ ลองจินตนาการภาพของผู้หญิงที่มีรอยยิ้มแบบเย้ยหยัน พร้อมข้อความที่ว่า “คนสะใจกับคนเสียใจทะเลาะกันไปมา คนดูแลการคมนาคมรอด”

พระนพดล สิริวํโส (เพจปลอม): เพจที่มีจุดยืนที่ท้าทายความเชื่อทางศาสนาอย่างถึงราก ด้วยการสร้างคาแรคเตอร์ของพระสงฆ์ที่มีตัวตนจริงๆ มาผนวกกับภาษาที่แสดงถึงความหลากหลายทางเพศ

ด้วยหลักธรรมคำสอนที่นำมาประยุกต์กับบทเพลงสตริง ป็อป และลูกทุ่ง หลวงพี่ไม่เคยตกกระแสโลกแห่งกิเลส หากถามถึงหลักธรรมเพื่อให้เข้าถึงสัจธรรมชีวิตอย่างถ่องแท้ละก็ โยมซิสทั้งหลาย จะต้องได้ยินทั่นกล่าวว่า #อาตมาจะมิสนheสนthatใดๆ ช่างเป็นปริศนาธรรมดีแท้…

เพจน้องง (ต้องมี ง.งู สองตัว): กลัวมากถ้าต้องนิยามเพจน้อง พี่กลัวแต้มบุญไม่ถึง และกลัวว่าจะลดทอนความหมายที่แท้จริงของนวัตกรรมเพจน้องไป อาจพูดให้คลุมเครือเข้าไว้ว่า เพจนี้สร้างความสั่นสะเทือนและนับเป็นปรากฏการณ์แห่งความแซะที่แท้จริง เข้าถึงทั้งความดำมืดทุกกลุ่มคน ด่าคนเหมือนไม่แคร์ความถูกต้องทางการเมือง แต่เหมือนว่ามันก็ดูมีหลักการบางอย่างที่น่าเชื่อถือ อาจเรียกว่าแอดมินมัน ‘เฬว’ แบบ sophisticated ไหม แม้ว่าดีกรีความร้อนแรงและความถี่ในการยิงทิ้งยิงขว้างในช่วงปีนี้จะน้อยลง แต่ยังถือว่ายังมีบารมีในความเป็นเพจพี่อาวุโส ที่ต้องถูกนับเป็นแคนดิเดทในปีนี้

The winner goes to: พระนพดล สิริวํโส (เพจปลอม)

ไม่แปลกใจเลย ว่าทำไมจำนวนลูกศิษย์ลูกหาที่กดติดตาม ศรัทธาในตัวท่านดลลี่ถึงพุ่งเกิน 500,000 ไลค์ไปเรียบร้อย หนึ่งสเตตัสที่เรารักและไม่เคยลืมคือ “อาตมาท้อง” คุณพระช่วย! พระท้อง นี่แหละ เพจพระนพดล ที่ควรคู่กับรางวัลสุดท้าย ‘ขุ่นแม่ท่าแซะ’

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า