นวนิยาย The Catcher in the Rye โดย เจ.ดี. ซาลินเจอร์ (J. D. Salinger) ที่เราเก็บไว้บนชั้นหนังสือตรงหัวมุมห้องนอนยังคงอยู่ในสภาพเดิม ราวกับว่าเวลาของมันถูกหยุดไว้กับที่ มีเพียงกลิ่นที่แปรเปลี่ยนไปจากเดิม กระดาษแต่ละหน้าให้กลิ่นราวกับเรากำลังเดินเล่นอยู่ในร้านขายหนังสือเก่า ดมเพียงกลิ่นก็สามารถนึกถึงภาพของกระดาษสีเหลืองอ๋อยได้ทันที ไม่ว่าเราจะพยายามทะนุถนอมสิ่งใดไม่ให้เปลี่ยนแปลงเท่าใด เวลาก็ยังทิ้งร่องรอยไว้กับมันได้ไม่มากก็น้อย
แต่เอาเถอะ เราคิดในใจก่อนที่จะพลิกอ่านหน้าแรกเป็นครั้งที่สอง หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกวันที่ 16 กรกฎาคม 1951 ปีนี้มันมีอายุ 68 ปีแล้วตั้งแต่มันวางจำหน่ายและกลายเป็นหนังสือดังชั่วข้ามคืน เวลาผ่านมาสี่ปีแล้ว ตั้งแต่ครั้งแรกที่อ่านหนังสือเล่มนี้
แม้กาลเวลาผ่าน นวนิยายจะมีอายุมากขึ้น ตัวผู้เขียนอย่าง เจ.ดี. ซาลินเจอร์ จากโลกนี้ไปตั้งแต่ปี 2010 แต่เด็กหนุ่มจอมขบถนามว่า โฮลเดน คอลฟิลด์ (Holden Caulfield) ยังมีอายุเพียง 16 อยู่เช่นเดิม และยังคงคอยบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเขาหลังจากถูกไล่ออกจากโรงเรียนประจำเพนซีก่อนปิดเทอมช่วงคริสต์มาส สาเหตุที่ถูกไล่ออกคือสอบตกสี่วิชา ซึ่งขัดกับกฎของโรงเรียน เขาตัดสินใจหนีจากโรงเรียนก่อนจะถูกไล่ออกอย่างเป็นทางการ และเดินทางกลับบ้านของเขาที่นิวยอร์ค ในระหว่างช่วงเวลา 2-3 วันนั้นเขาได้พบกับผู้คนมากมาย ตั้งแต่โสเภณีไปจนถึงคุณครูเก่าของเขา เราจะได้เห็นความคิดเห็นที่โฮลเดนมีต่อผู้คนในสังคม ซึ่งมองว่าผู้ใหญ่ทุกคนล้วนเป็นคนโกหกตอแหล (phony)
“เขาคือคนที่โคตรโกหกตอแหลที่สุดที่ผมเคยเจอในชีวิต” เขาบรรยายถึง ครูใหญ่ฮาส ที่สอนอยู่ที่โรงเรียนเอลค์ตันฮิลล์ โรงเรียนเก่าอีกโรงเรียนของโฮลเดน เขาเล่าว่า ครูใหญ่ฮาสมักจะเลือกปฏิบัติกับผู้ปกครองของเด็กนักเรียนเสมอ เขาจะไม่พูดคุยกับผู้ปกครองที่แต่งตัวแย่ และหันไปประจบประแจงกับผู้ปกครองที่แต่งตัวดี เขาระบายว่า รอยยิ้มตอแหลของครูใหญ่ทำให้เขารู้สึกเครียดชนิดที่แปลเป็นไทยได้ประมาณว่า “เครียดจนจะเป็นบ้า”
แม้แต่เพื่อนประจำหอพักของเขาอย่าง สตรัทเลเทอร์ ก็ถูกด่าไม่เว้น สตรัทเลเทอร์ถูกมองว่าเป็นคนไม่จริงใจ เพราะเขาโกนหนวดและแต่งตัวให้ดูดีเมื่อออกไปเดท ทั้งๆ ที่เขาไม่เคยดูแลภาพลักษณ์ตัวเองเมื่ออยู่กับโฮลเดนเลย “คนทุกคนในโลกใบนี้ใส่หน้ากากเข้าหากัน ทั้งๆ ที่มันไม่ควรเป็นแบบนั้น” โฮลเดนคงคิดเช่นนั้น
ความคิดของเขาเหมือนจะเป็นความคิดขวางโลกไร้สาระ แต่มันกลับสอดคล้องกับความรู้สึกจริงที่ผู้อ่านส่วนใหญ่ประสบในช่วงชีวิตวัยรุ่น และนั่นแหละคงเป็นสาเหตุให้โฮลเดนกลายเป็นฮีโร่ในดวงใจของผู้อ่านหลายคน
เราอ่านหนังสือเล่มนี้ครั้งแรกตอนกำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยม 6 ขณะนั้นเรามีอายุมากกว่าโฮลเดนเพียงหนึ่งปี เราในตอนนั้นไม่รู้ว่านิวยอร์คเป็นเช่นไร แต่ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะโยงความรู้สึกของตัวเองกับความอัดอั้นใจของโฮลเดน (แต่คงไม่ขบถเท่าโฮลเดนหรอก) เรามักตั้งคำถามกับการกระทำของเพื่อน ผู้ใหญ่ หรือแม้กระทั่งพ่อแม่ที่ไม่ได้จริงใจเท่าคนรุ่นเด็ก
เราอาจเริ่มตั้งคำถามเช่นนี้เพราะตัวเราเริ่มก้าวพ้นวัยเด็กแล้ว เราเลยสามารถหันกลับมาเห็นความแตกต่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เราในตอนนั้นเริ่มพยายามแต่งตัวให้ดูดีเวลาเจอใครบางคน ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนก็ไม่ได้สนใจอะไร เราคุยกับเพื่อนคนที่เราอยากคุยด้วยเท่านั้นและกีดกันคนอื่นออกไป สิ่งที่เราทำไม่ต่างจาก ‘การโกหกตอแหล’ ที่โฮลเดนชิงชังเลย เพราะเหตุนั้น เราเลยคิดว่าเราทุกคนคงทำความจริงใจตกหล่นไประหว่างทางในขณะที่พวกเรากำลังเติบโตขึ้น
จำได้ว่าเราเคยนั่งคุยกับเพื่อนอีกคนที่เคยอ่านนวนิยายเล่มนี้บนโต๊ะกินข้าวช่วงพักเที่ยง พวกเราเห็นพ้องต้องกันว่าการเติบโตมันน่ากลัวเหลือเกิน แต่อย่างน้อยการอ่านนวนิยายเล่มนี้ทำให้เราเข้าใจสิ่งที่ คุณครูแอนโตลินีต้องการจะบอกโฮลเดน
คุณครูแอนโตลินีคือคุณครูวิชาอังกฤษที่โรงเรียนเก่าของโฮลเดน เขาถูกโฮลเดนยกย่องและมองว่าเป็นคนที่ฉลาดและมีหัวใจ เขาให้คำปรึกษาแก่โฮลเดนว่า “เธอจะค้นพบทีหลังว่าเธอไม่ใช่คนแรกที่รู้สึกสับสนและหวาดกลัวจากพฤติกรรมน่าขยะแขยงของมนุษย์ เธอไม่ได้รู้สึกอย่างโดดเดี่ยว คนหลายคนก็เคยประสบปัญหานี้ทั้งในแง่ศีลธรรมและจิตวิญญาณ” ในตอนนั้นนวนิยายบอกเราว่า โฮลเดนก็เจ็บช้ำใจเพราะสังคมเช่นเดียวกับเรา เพื่อนของเราที่อยู่ตรงข้ามโต๊ะอาหารก็รู้สึกเช่นเดียวกับเรา กลายเป็นว่าคนที่ทำให้เราแบ่งปันความรู้สึกอันแสนเดียวดายกับเพื่อนได้ก็คือโฮลเดนอีกเช่นกัน
เป็นที่ชัดเจนว่าโฮลเดนเกลียดผู้ใหญ่ ส่วนสิ่งที่โฮลเดนยกย่องคือความจริงใจที่ใสสะอาดของเหล่าเด็กๆ ซึ่งตรงข้ามกับสังคมหน้ากากของพวกผู้ใหญ่โดยสิ้นเชิง เห็นได้จากน้องสาวของเขาที่ชื่อ ฟีบี เธอมีอายุ 10 ปี แต่โฮลเดนอธิบายว่าเธอคือ “คนที่มีหลักเหตุผลอะไรทำนองนั้น”
ความเป็นจริงนี้สะท้อนออกมาจากรูปลักษณ์ภายนอกของคนที่โฮลเดนเจอ ในขณะที่โฮลเดนมองผู้ใหญ่ในภาพที่อัปลักษณ์แม้แต่รูปลักษณ์ภายนอก ตั้งแต่ใบหน้าของเพื่อนที่เต็มไปด้วยหัวสิวสีขาวไปจนถึงขาของผู้ใหญ่ที่ซีดเผือดและเต็มไปด้วยขน โฮลเดนกลับสาธยายฟีบีและ อัลลี (น้องชายของโฮลเดนที่ตายไปเพราะโรคลูคีเมีย) ราวกับว่าพวกเขาบริสุทธิ์ดีงามทั้งรูปลักษณ์ภายนอกและจิตใจภายใน พวกเขาคือผู้วิเศษที่มีร่างกายและใบหูที่สวยงาม เด็กเล็กไม่ใส่หน้ากากเข้าหากัน รอยยิ้มของพวกเขาไม่ใช้รอยยิ้มตอแหล พวกเขาพูดจากสิ่งที่ตนรู้สึก ปฏิบัติกับคนอื่นอย่างตรงไปตรงมา
เมื่อฟีบีถามโฮลเดนถึงสิ่งที่เขาอยากจะทำในอนาคต โฮลเดนอ้ำอึ้งอยู่นาน ก่อนที่จะตอบฟีบีว่า
“พี่ชอบจะนึกเสมอถึงเด็กเล็กๆ กำลังเล่นเกมอะไรกันอยู่ในทุ่งข้าวไรย์กว้างๆ เด็กเล็กๆ เป็นพันๆ คน แล้วก็ไม่มีใครเลย ไม่มีใครอยู่แถวนั้นเลย พี่หมายถึงคนโตๆ นะ ยกเว้นพี่ และพี่ก็ยืนอยู่ที่ขอบผาบ้าบอแถวนั้น และสิ่งที่พี่จะทำก็คือพี่จะคอยคว้าใครก็ตามที่กำลังจะตกจากหน้าผานั้น พี่หมายความว่าหากพวกเขาวิ่งเล่นกันโดยไม่ดูตาม้าตาเรือว่าเขาวิ่งไปทางไหน พี่ก็จะโผล่ออกมา จากที่ไหนสักแห่งแล้วก็คว้าพวกเขาไว้ นี่แหละคือสิ่งที่พี่จะทำทั้งวันเลย พี่ขอเป็นเพียงคนคว้าเด็กในทุ่งข้าวไรย์ อะไรทำนองนั้นแหละ พี่รู้ว่ามันเป็นเรื่องบ้า แต่มันเป็นสิ่งเดียวที่พี่อยากจะเป็นจริงๆ พี่รู้ว่ามันเป็นเรื่องบ้า”
โฮลเดนอยากเป็นผู้ปกป้องไม่ให้เด็กเล็กเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงไป เขาอยากเห็นเด็กเหล่านั้นเล่นอย่างสนุกสนานตลอดไปโดยที่พวกเขาไม่สูญเสียตัวตนให้ความเป็นผู้ใหญ่ที่มาพร้อมกับหน้ากาก
เราจะเห็นความปรารถนาเช่นนี้จากตอนที่โฮลเดนคิดจะเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ Metropolitan เขาเล่าว่าเขาชอบการเดินเล่นในพิพิธภัณฑ์เพราะของทุกอย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างอยู่อย่างที่มันเคยอยู่ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน สิ่งเดียวที่เปลี่ยนไปคือตัวของเขาเองที่เติบโตขึ้น การเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของโฮลเดนจึงไม่ใช่การเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ในความหมายทั่วไป โฮลเดนเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เพื่อหันกลับมาและพบตัวตนที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่คนเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เพื่อหาความรู้เกี่ยวกับวัตถุจัดแสดง
เรื่องดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโฮลเดนหมกมุ่นกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการเติบโตของมนุษย์ ท้ายที่สุดแล้วเขาเปลี่ยนใจไม่เข้าพิพิธภัณฑ์ เพราะเขาคงรับไม่ได้ที่จะค้นพบว่าตนข้ามผ่านวัยเด็กอย่างหวนคืนไม่ได้
เราอ่านหนังสือเล่มนี้อีกครั้งเมื่อมันมีอายุ 68 ปี เราพบว่าเรากลายเป็นโฮลเดนที่เข้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ซะงั้น เนื้อหาในนวนิยายไม่ได้เปลี่ยนไปจากสมัยที่เราอ่านมันครั้งแรกเลย ต่างกันตรงที่เราไม่รู้ว่าเราจะค้นพบอะไร เมื่อเป็นเช่นนั้นเราหันกลับมามองตัวเองเหมือนที่โฮลเดนเกรงกลัวและบอกกับตัวเองว่า “เราเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม”
เราบอกลาโรงเรียนมัธยมและเริ่มต้นชีวิตมหาวิทยาลัยเมื่อกาลเวลาผ่าน เราพบผู้คนมากมาย และเมื่อเราพบเจอคนเหล่านั้นเราปฏิบัติต่อพวกเขาแตกต่างกันออกไป เราสวมบทบาทเป็นเพื่อน ลูกศิษย์ เพื่อนร่วมงาน รุ่นพี่ รุ่นน้อง ลูก แฟน คนแปลกหน้า คนไม่รู้จัก เราเข้าหาสังคมเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง เราโกหกและปลอบตัวเองว่ามันเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ลึกลงไปเราถามตัวเองในใจว่าเรากำลังใส่หน้ากากเข้าหาคนอื่นหรือไม่
ตอนนี้เราได้กลายเป็นคนโกหกตอแหลที่สมบูรณ์แบบไปแล้ว บทบาทที่เราแสดงบนโลกแห่งละครทำให้คนแต่ละคนจดจำเราแตกต่างกันไป บทบาทพวกนั้นคือสิ่งที่สังคมเขียนบทให้เราแสดง ดังเช่นบทบาทของทุกคนในนวนิยายของซาลินเจอร์ พวกเขาล้วนแล้วแต่มีพื้นที่ในนวนิยายตามบทบาทที่พวกเขาแสดง ไม่ว่าจะทั้งครู ครูใหญ่ ครูโรงเรียนเก่า เพื่อน เพื่อนสมัยก่อน โสเภณี แฟน เด็กกดลิฟต์ “พวกเราทุกคนแม่งโคตรโฟนี่เลย”
และเมื่ออ่านเสร็จเราหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเพื่ออัพเดทในเฟซบุ๊คและไอจีว่าเราอ่านหนังสือเล่มนี้เป็นครั้งที่สองในชีวิต ถ้าหากโฮลเดนเห็นผู้อ่านเรื่องของตนเป็นแบบนี้เขาคงส่ายหัวและด่าถึงความเฟคของคนในยุคที่เขาไม่คุ้นเคยสักครั้งในใจ เขาคงอยากจะบอกให้เผาหนังสือเล่มนี้ทิ้งซะ เพราะเขาไม่อยากเห็นหนังสือเล่มนี้อยู่ในกระบวนการผลิตความตอแหล
อาจจะไม่ใช่เรื่องเกินจริงที่จะกล่าวว่านวนิยายเล่มนี้ล้าสมัยไปแล้ว ทุกคนในโลกยุคศตวรรษที่ 21 อาจจะเป็นคนตอแหลไปกันหมดแม้แต่เด็กที่ใช้โซเชียลมีเดียแต่เยาว์วัย แต่อย่างน้อยเสียงของโฮลเดนก็ยังคงทำให้ผู้อ่านรู้ว่าเราไม่ได้ถามหาความจริงใจที่ขาดหายไปจากโลกใบนี้แต่เพียงผู้เดียว
อ้างอิงข้อมูลจาก: ครบรอบสี่สิบปี The Catcher in the Rye: คิดถึง โฮลเดน คอลฟิลด์ โดย ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ “แม่ง โคตรโฟนี่เลย” โดย ไอดา อรุณวงศ์, กล่าวในงานการประชุมทางความคิด ‘อ่านคนละเรื่อง’ ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ |